ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 25, 2015, 01:28:21 pm »“อย่าไปถามเรื่องผล”
ถาม : อาการหรือสภาวะสักแต่ว่ารู้ กับอุเบกขา มีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับนิโรธยังไงคะ
พระอาจารย์ : มันก็อันเดียวกันนั้นแหละ นิโรธก็คือการดับทุกข์ เวลาจิตรวมสงบกิเลสไม่ทำงาน ทุกข์ก็ไม่เกิดมันก็นิโรธ เวลาจิตสงบมันก็เป็นอุเบกขา มันตัวเดียวกัน มันถึงจุดนั้นแล้วมันก็เหมือนกินข้าวอิ่ม อิ่มแล้วก็สบายอยากจะนอนอย่างเดียวไม่อยากจะทำอะไร จะถามว่าตัวไหนเป็นตัวไหนมันก็ตัวเดียวกัน เวลาหิวก็นอนไม่หลับใช่ไหม แต่เวลาอิ่มนี้มันก็อยากจะนอน มันไม่อยากจะทำอะไร มันสบายมันมีความสุข เวลาจิตสงบมันก็นิโรธ ทุกข์ก็ไม่มี มันมีแต่อุเบกขา สักแต่ว่ารู้เฉยๆ
ดังนั้นมันเป็นตัวเดียวกัน ถ้าปฏิบัติได้เห็นผลแล้วมันก็จะเข้าใจ ที่ถามนี้ก็แสดงว่ายังไม่ได้เห็นผล ตอบไปก็สู้ปฏิบัติเองไม่ได้ ดังคำพูดที่ว่า ๑๐ ปากว่าไม่เท่า ๑ ตาเห็น ดังนั้นต้องเห็นด้วยตัวเองของเรา เห็นด้วยการปฏิบัติ
คำถามแบบนี้ไม่ควรจะถาม ควรจะถามว่าทำอย่างไรให้มันเข้าสู่อุเบกขาได้จะดีกว่า อย่าไปถามเรื่องผล พระพุทธเจ้ามักจะไม่ตอบเรื่องผลเท่าไหร่ จะตอบแต่เรื่องเหตุว่าควรจะเจริญเหตุอย่างไร เพื่อให้ได้ไปถึงผลอันนั้นเพราะถ้าเล่าถึงผลแล้ว คนฟังมันจะจินตนาการไปแล้วมันจะไม่ตรงกับความจริง เหมือนคนที่ไม่เคยไปสหรัฐฯนี้ ถามคนที่ไปสหรัฐฯมาว่าสหรัฐฯเป็นอย่างไร พูดไปอย่างไรคนฟังมันก็จะไม่เห็นตามความเป็นจริง มันก็จะจินตนาการไปตามความคิดเท่านั้นเอง พอไปถึงอเมริกาเองแล้วมันก็จะเห็นเองว่าอเมริกาเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปถามให้เสียเวลา ควรจะถามว่าไปอเมริกาอย่างไรจะดีกว่า ไปอเมริกาก็ต้องทำพาสปอต วีซ่า ซื้อตั๋วเครื่องบิน
ดังนั้นถ้าอยากจะเห็นผลอยากจะรู้ผลก็ควรจะศึกษาเหตุดีกว่าว่า ทำอย่างไรจึงได้ผลอันนั้น เพราะต่อให้เราตอบเรื่องผลเล่าเรื่องผลให้ฟังกี่ร้อยกี่พันครั้งคนฟังก็ไม่ได้ผลอยู่ดี แต่ถ้าบอกให้คนฟังว่าลองทำอย่างนี้ซิ เช่นอยากจะให้จิตเป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ เป็นนิโรธก็ลองเจริญสติดูซิ บริกรรมพุทโธไปตั้งแต่ตื่นจนหลับดู หรือเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกายตลอดเวลา ในขณะที่มีการเคลื่อนไหว มีการกระทำต่างๆ พอมีเวลาว่างก็นั่งเลย หาที่สงบมุมสงบไม่มีอะไรมารบกวน แล้วก็นั่งมันทำใจให้มันรวมเข้าไปสู่ความสงบ พอมันเข้าถึงความสงบแล้วมันไม่ไปถามแล้วว่านิโรธเป็นยังไง สักแต่ว่ารู้เป็นยังไง อุเบกขาเป็นอย่างไร มันเห็นกับตาแล้ว
ดังนั้นควรที่จะให้ความสำคัญต่อเหตุมากกว่าผล ผลก็พอทราบเพียงคร่าวๆก็พอ ขอให้รู้ว่าผลมันจะเป็นอย่างนี้ แต่มันจะเป็นแบบไหนละเอียดละออขนาดไหนนี้ต้องอยู่ที่การประสบด้วยตนเอง
ขอให้พวกเราพยายามสร้างเหตุให้มาก อย่างวันนี้ที่พูด
เหตุที่สำคัญที่สุดก็คือการเจริญสติ.
ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ “สติคือหัวใจของความเพียร”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
#ควรถามเหตุมากกว่า #อุเบกขา #สักแต่ว่ารู้
>>> F/B ธรรมรักษา ได้แชร์รูปภาพของ
คณะศิษย์พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี
***********************************************
“ยินดีกับทุกสิ่งทุกอย่าง”
ปัญหาของเราคือเราชอบเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ชอบยินดีกับทุกสิ่งทุกอย่าง ชอบยินดีกับการเจริญ แต่รังเกียจกับการเสื่อม พอเวลาพบกับความเสื่อมก็เลยต้องทุกข์กับมัน แต่ถ้าเรายินดีทั้งกับการเจริญทั้งกับการเสื่อม เวลาเจริญเราก็จะมีความสุข เวลาเสื่อมเราก็จะมีความสุข เพราะเรามีความยินดีเท่ากัน เราให้ความเสมอภาคกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มาอย่างไหนก็รับได้ เสื่อมลาภก็รับได้ เจริญลาภก็รับได้ เสื่อมยศก็รับได้ เจริญยศก็รับได้ สรรเสริญก็รับได้ นินทาก็รับได้ สุขก็รับได้ ทุกข์ก็รับได้ นี่คือใจของพระพุทธเจ้า “โลกะวิทู” ใจของพระอรหันตสาวก ท่านปฏิบัติเพื่อให้มาถึงจุดนี้เอง มาถึงกับจุดที่รับกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้ได้หมด ไม่ว่าจะขึ้นหรือจะลง ท่านจะไม่มีการลำเอียง ท่านจะให้ความยุติธรรมกับทุกสภาวะธรรม เพราะท่านพิจารณาด้วยปัญญาแล้วว่า สภาวะธรรมทั้งปวงนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปเลือกไม่ได้ ไปชอบไปชังไม่ได้ เพราะจะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่เลือกไม่ชอบไม่ชัง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มาอย่างไรก็ยินดีกับอย่างนั้น
เช่นท่านพูดว่าให้ยินดีกับสิ่งที่มีอยู่ หรือให้พอใจกับสิ่งที่ได้รับ ให้พอใจกับสิ่งที่มีอยู่หรือยินดีกับสิ่งที่ได้รับ มันก็จะไม่มีปัญหาอะไร ขอให้เราฝึกคำว่ายินดีไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง จะยินดีได้เราก็ต้องมีปัญญา จะมีปัญญาได้ก็ต้องมีสมาธิ ต้องมีใจที่สงบ ใจที่สักแต่ว่ารู้ ให้ยินดีแบบสักแต่ว่ารู้เท่านั้น คือรับรู้ว่าตอนนี้กำลังเจริญ ตอนนี้กำลังเสื่อม รับรู้แล้วก็ยินดีกับการรับรู้นั้นไป ใจก็จะไม่ทุกข์ไม่เครียด ใจจะไม่ต่อต้าน เวลาสัมผัสกับสิ่งที่ไม่ชอบก็จะไม่ต่อต้าน ไม่เกิดความอยากให้สิ่งที่ไม่ชอบหายไป เพราะถ้าเกิดความอยากให้สิ่งที่ไม่ชอบหายไป ก็จะเกิดความเครียด เกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่ต่อต้านยอมรับความจริงว่ามันเป็นอย่างนี้แล มันจะมาอย่างไรในรูปแบบใด มันก็เป็นเรื่องของมัน แต่เราไม่ต้องไปทุกข์กับมันได้ ถ้าเราไม่ไปต่อต้านไม่ไปมีความอยากให้มันเป็นอย่างอื่นไป มันเป็นอย่างนี้ก็ปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ไป อย่าไปอยากให้มันเป็นอย่างอื่น พออยากแล้วมันจะเครียด เพราะมันจะไม่ได้ดังใจอยาก
นี่คือการปฏิบัติที่จะก้าวมาตามลำดับ จากการเริ่มต้นที่การเจริญสติที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติอย่างตลอดเวลา เพราะว่าเวลาใดที่ไม่ได้เจริญสติ เวลานั้นก็เป็นเวลาของข้าศึกศัตรู ที่จะมาบุกทำลายจิตใจของเรา สตินี้เป็นเหมือนกับทหารที่คอยปกป้องประเทศชาติ ถ้าวันไหนทหารหยุดงานพักงาน วันนั้นบ้านเมืองก็จะไม่มีรั้วคอยป้องกันข้าศึกศัตรู ข้าศึกศัตรูก็จะลุกเข้ามาในบ้านเมืองได้ เพราะข้าศึกศัตรูนี้เขาทำงานตลอดเวลา คือกิเลสตัณหาในใจของพวกเรานี้ทำงานตลอดเวลา พอตื่นขึ้นมาก็เริ่มทำงานเลย ตื่นขึ้นมาก็เกิดความอยาก อยากทำโน่นอยากทำนี่ บางทีก็อยากเข้าห้องน้ำก่อนตื่นขึ้นมาอยากแล้ว เข้าห้องน้ำเสร็จก็อยากจะดื่มน้ำต่อ ดื่มน้ำเสร็จก็อยากจะรับประทานขนมต่อ อยากไปเรื่อยๆ มันมีเรื่องให้อยาก มันทำงานตลอดเวลา ถ้ามีสติมันก็จะคอยสกัดไว้ได้ ถ้ามีปัญญามันก็จะแยกแยะว่าความอยากอันไหนไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อจิตใจ คือเป็นความจำเป็น เช่นอยากถ่าย อยากปัสสาวะ มันเป็นเรื่องของร่างกายไม่ใช่เรื่องของกิเลสตัณหา ก็ปล่อยมันได้ แต่มันอยากจะดื่มกาแฟอยากจะกินขนมนี้ ทั้งๆที่ยังไม่ถึงเวลาก็อย่าเพิ่งไปดื่ม อย่าเพิ่งไปรับประทาน รอให้ถึงเวลาก่อนแล้วค่อยไปดื่มไปรับประทาน ต้องรับประทานอาหารตามความต้องการของร่างกาย เหมือนกับการรับประทานยา อย่ารับประทานตามความอยาก เพราะมันจะเกิดโทษทั้งกับจิตใจและกับร่างกาย รับประทานมากเกินไป ร่างกายก็มีน้ำหนักเกิน ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ขึ้นมาได้โดยไม่จำเป็น
โรคภัยที่ไม่จำเป็นจะต้องเกิด เกิดจากความอยากรับประทานแบบไม่มีเวล่ำเวลา ถ้ารับประทานแบบมีเวล่ำเวลา ก็จะเหมือนกับการรับประทานยา จะไม่มีโทษ ถ้ารับประทานยาแบบไม่มีเวล่ำเวลา นึกอยากจะรับประทานก็รับประทานไป เดี๋ยวก็ต้องแพ้ยา เดี๋ยวก็จะต้องตายเพราะยา แทนที่จะอยู่ได้เพราะยา กลับตายเพราะยา ฉันใดคนเรานี้แทนที่จะอยู่ได้เพราะอาหารก็กลับตายเพราะอาหาร ตายเพราะรับประทานอาหารแบบไม่มีขอบไม่มีเขต รับประทานอาหารตามความอยาก
นี่คือการทำงานของความอยาก มันทำตลอดเวลาตั้งแต่ลืมตาขึ้นมามันทำ ถ้าเราไม่ต่อต้านมัน ด้วยการสร้างสติขึ้นมา มันก็จะบุกเข้ามาทำลายจิตใจสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติของเราก็เลยไม่มีวันที่จะคืบหน้าไปไหนได้ เพราะเราไม่ได้ต่อสู้กับข้าศึกศัตรูนั่นเอง.
ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
“สติคือหัวใจของความเพียร”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
>>> F/B Gamm BuddhaBucha ได้แชร์รูปภาพของ Phra Suchart Abhijato