ตอบ

ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
กัน-ละ-ยา-นะ-มิด เขียนเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องว่าอย่างไรครับ:
คุณเชื่อในศรัทธาของความดีไหมครับ ( เลือกตอบแค่ เชื่อ กับ ไม่เชื่อ ครับผม):
คิดว่าความดีทำยากไหม( เลือกตอบแค่ ยาก กับ ไม่ยาก ครับผม):
ถ้าเราโกรธใคร ธรรมะจะเป็นหนทางผ่อนคลายความโกรธนั้นลงได้ใช่ไหม ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม ):
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
คุณเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ความดีนำทาง:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ใต้ร่มธรรม:
การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ นิยมใช้คำว่า (อนุโมทนา) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ อนุโมทนา:
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
ธรรมะคือ ธรรมชาติ พิมพ์คำว่า (ธรรมะชาติ) ครับ:
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มีนาคม 29, 2015, 01:48:03 pm »



ปฏิจจสมุปบาท มีองค์หรือหัวข้อ 12

(การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน, ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึง เกิดมีขึ้น — the Dependent Origination; conditioned arising)
1 และ 2. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี(Dependent on lgnorance arise Kamma-Formations)
3. สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี(Dependent on Kamma-Formations arise Consciousness)

4. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป จึงมี(Dependent on Consciousness arise Mind and Matter)

5. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี(Dependent on Mind and Matter arise the Six Sense-Bases.)
6. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี(Dependent on the Six Sense-Bases arises Contact)
7. ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงมี(Dependent on Contact arise Feeling)

8. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี(Dependent on Feeling arise Craving.)
9. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี(Dependent on Craving arises Clinging.)
10. อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ จึงมี(Dependent on Clinging arises Becoming.)
11. ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ จึงมี(Dependent on Becoming arises Birth.)
12. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี(Dependent on Birth arise Decay and Death.)

โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม
(There also arise sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)

เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ.
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้
(Thus arises this whole mass of suffering.)

แสดงตามลำดับ จากต้นไปหาปลายอย่างนี้ เรียกว่า อนุโลมเทศนา (teaching in forward order) ถ้าแสดงย้อนกลับจากปลายมาหาต้น ว่า ชรามรณะเป็นต้น มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ฯลฯ สังขาร มีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เรียกว่า ปฏิโลมเทศนา (teaching in backward order)
องค์ (factors) หรือหัวข้อ 12 นั้น มีความหมายโดยสังเขป ดังนี้
1. อวิชชา ความไม่รู้ คือไม่รู้ในอริยสัจ 4 หรือตามนัยอภิธรรม ว่า อวิชชา 8 ดู [208] อวิชชา 4; [209] อวิชชา 8
2. สังขาร (Kamma-formations) สภาพที่ปรุงแต่ง ได้แก่ [120] สังขาร 3๒ หรือ [129] อภิสังขาร 3
3. วิญญาณ (consciousness) ความรู้แจ้งอารมณ์ ได้แก่ [268] วิญญาณ 6
4. นามรูป (mind and matter) นามและรูป ได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ หรือตามนัยอภิธรรมว่า นามขันธ์ 3 + รูป ดู [216] ขันธ์ 5 (ข้อ 2, 3, 4); [38] รูป 2๑, 28; [39] มหาภูต หรือ ภูตรูป 4; [40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24; [41] รูป 2๒
5. สฬายตนะ (six sense-bases) อายตนะ 6 ได้แก่ [276] อายตนะภายใน 6
6. ผัสสะ (contact) ความกระทบ, ความประจวบ ได้แก่ [272] สัมผัส 6
7. เวทนา (feeling) ความเสวยอารมณ์ ได้แก่ [113] เวทนา 6
8. ตัณหา (craving) ความทะยานอยาก ได้แก่ ตัณหา 6 มีรูปตัณหา เป็นต้น (ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย และในธัมมารมณ์) ดู [74] ตัณหา 3 ด้วย
9. อุปาทาน (clinging; attachment) ความยึดมั่น ได้แก่ [214] อุปาทาน 4
10. ภพ (becoming) ภาวะชีวิต ได้แก่ [98] ภพ 3 อีกนัยหนึ่งว่า ได้แก่ กรรมภพ (ภพคือกรรม — active process of becoming ตรงกับ [129] อภิสังขาร 3) กับ อุปปัตติภพ (ภพคือที่อุบัติ — rebirth-process of becoming ตรงกับ [98] ภพ 3)
11. ชาติ (birth) ความเกิด ได้แก่ ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะ
12. ชรามรณะ (decay and death) ความแก่และความตาย ได้แก่ ชรา (ความเสื่อมอายุ, ความหง่อมอินทรีย์) กับมรณะ (ความสลายแห่งขันธ์, ความขาดชีวิตินทรีย์)

ทั้ง 12 ข้อ เป็นปัจจัยต่อเนื่องกันไป หมุนเวียนเป็นวงจร ไม่มีต้นไม่มีปลาย เรียกว่า ภวจักร (วงล้อหรือวงจรแห่งภพ — wheel of existence) และมีข้อควรทราบเกี่ยวกับภวจักรอีกดังนี้
ก. อัทธา (periods; times) คือ กาล 3 ได้แก่
1) อดีต = อวิชชา สังขาร
2) ปัจจุบัน = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ
3) อนาคต = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

ข.สังเขป หรือ สังคหะ 4 (sections; divisions) คือ ช่วง หมวด หรือ กลุ่ม 4 ได้แก่
1) อดีตเหตุ = อวิชชา สังขาร
2) ปัจจุบันผล = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
3) ปัจจุบันเหตุ = ตัณหา อุปาทาน ภพ
4) อนาคตผล = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

ค. สนธิ 3 (links; connection) คือ ขั้วต่อ ระหว่างสังเขปหรือช่วงทั้ง 4 ได้แก่
1) ระหว่าง อดีตเหตุ กับ ปัจจุบันผล
2) ระหว่าง ปัจจุบันผล กับ ปัจจุบันเหตุ
3) ระหว่าง ปัจจุบันเหตุ กับ อนาคตผล

ง. วัฏฏะ 3 ดู [105] วัฏฏะ 3
จ. อาการ 20 (modes; spokes; qualities) คือองค์ประกอบแต่ละอย่าง อันเป็นดุจกำของล้อ จำแนกตามส่วนเหตุ (causes) และส่วนผล (effects) ได้แก่
1) อดีตเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
2) ปัจจุบันผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
3) ปัจจุบันเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
4) อนาคตผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
อาการ 20 นี้ ก็คือ หัวข้อที่กระจายให้เต็ม ในทุกช่วงของสังเขป 4 นั่นเอง

ฉ. มูล 2 (roots) คือ กิเลสที่เป็นตัวมูลเหตุ ซึ่งกำหนดเป็นจุดเริ่มต้นในวงจรแต่ละช่วง ได้แก่
1) อวิชชา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงอดีต ส่งผลถึงเวทนาในช่วงปัจจุบัน
2) ตัณหา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงปัจจุบัน ส่งผลถึงชรามรณะในช่วงอนาคต

พึงสังเกตด้วยว่า การกล่าวถึงส่วนประกอบของภวจักรตามข้อ ก. ถึง ฉ. นี้ เป็นคำอธิบายในคัมภีร์รุ่นหลัง เช่น อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น

การแสดงหลักปฏิจจสมุปบาท ให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรมต่างๆ โดยอาศัยปัจจัยสืบทอดกันไปอย่างนี้ เป็น สมุทยวาร คือฝ่ายสมุทัย ใช้เป็นคำอธิบายอริยสัจข้อที่ 2 (สมุทัยสัจ) คือ แสดงให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงแบบนี้ เรียกว่า อนุโลมปฏิจจสมุปบาท — direct Dependent Origination)
การแสดงในทางตรงข้ามกับข้างต้นนี้ เป็น นิโรธวาร คือฝ่ายนิโรธ ใช้อธิบายอริยสัจข้อที่ 3 (นิโรธสัจ) เรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท (reverse Dependent Origination ซึ่งความจริงก็คือ Dependent Extinction นั่นเอง) แสดงให้เห็นความดับไปแห่งทุกข์ ด้วยอาศัยความดับไปแห่งปัจจัยทั้งหลายสืบทอดกันไป ตัวบทของปฏิจจสมุปบาทแบบปฏิโลมนี้ พึงเทียบจากแบบอนุโลมนั่นเอง เช่น
1/2. อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ
(Through the total fading away and cessation of lgnorance, cease Kamma-Formations.)
3. สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
(Through the cessation of Kamma-Formations. ceases Consciousness.)
ฯลฯ
12. ชาตินิโรธา ชรามรณํ เพราะชาติดับ ชรามรณะ (จึงดับ)
(Through the cessation go Birth, cease Decay and Death.)

โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
(Also cease sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)

เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ.
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
(Thus comes about the cessation of this whole mass of suffering.)

นี้เป็นอนุโลมเทศนาของปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท ส่วนปฏิโลมเทศนา ก็พึงแสดงย้อนว่า ชรา มรณะ เป็นต้น ดับ เพราะชาติดับ ชาติดับเพราะภพดับ ฯลฯ สังขารดับเพราะอวิชชาดับ อย่างเดียวกับในอนุโลมปฏิจจสมุปบาท
ปฏิจจสมุปบาทนี้ มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก ที่สำคัญคือ อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย — specific conditionality) ธรรมนิยาม (ความเป็นไปอันแน่นอนแห่งธรรมดา, กฎธรรมชาติ — orderliness of nature; natural law) และ ปัจจยาการ (อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน — mode of conditionality; structure of conditions) เฉพาะชื่อหลังนี้เป็นคำที่นิยมใช้ในคัมภีร์อภิธรรม และคัมภีร์รุ่นอรรถกถา.

จาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://www.sdsweb.org/sdsweb/index.php/2010-09-04-06-22-40/2010-09-04-10-30-09/86-2010-09-05-09-32-59
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กันยายน 23, 2011, 06:41:57 am »


                         

   พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๗  พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๔
   กถาวัตถุปกรณ์   
   ปฏิจจสมุปปาทกถา
   
              [๑๐๘๔]สกวาที ปฏิจจสมุปบาทเป็นอสังขตะ หรือ?   
              ปรวาที ถูกแล้ว       
              ส. เป็นนิพพาน เป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้น เป็นที่พึ่ง เป็นที่หมาย เป็นฐานะ อันไม่เคลื่อน เป็นอมตะ หรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. ปฏิจจสมุปบาทเป็นอสังขตะ นิพพานก็เป็นอสังขตะ หรือ?   
              ป. ถูกแล้ว
              ส. อสังขตะเป็น ๒ อย่างหรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. อสังขตะเป็น ๒ อย่าง หรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. ที่ต้านทานก็เป็น ๒ อย่าง ที่เร้นก็เป็น ๒ อย่าง ที่พึ่งก็เป็น ๒ อย่าง
   ที่หมายก็เป็น ๒ อย่าง ฐานะอันไม่เคลื่อนก็เป็น ๒ อย่าง อมตะก็เป็น ๒ อย่าง
   นิพพานก็เป็น ๒ อย่าง หรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. นิพพานก็เป็น ๒ อย่าง หรือ?
              ป. ถูกแล้ว

              ส. มีความสูงและต่ำ มีความเลวและความประณีต มีความอุกฤษฏ์และ
   ทราม มีเขตแดน หรือความแตกต่าง หรือร่อง หรือระหว่างขั้นแห่ง
   นิพพาน ๒ อย่างนั้น หรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
   
              [๑๐๘๕]ส. ปฏิจจสมุปบาทเป็นอสังขตะ หรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. อวิชชาก็เป็นอสังขตะ หรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. อวิชชาเป็นสังขตะ หรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. ปฏิจจสมุปบาทก็เป็นสังขตะหรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. ปฏิจจสมุปบาทเป็นอสังขตะหรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. สังขารที่เกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ก็เป็นอสังขตะ หรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. สังขารที่เกิดเพราะอวิชชา เป็นปัจจัย เป็นสังขตะ หรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. ปฏิจจสมุปบาทก็เป็นสังขารหรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. ปฏิจจสมุปบาทเป็นอสังขตะ หรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. วิญญาณที่เกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย ก็เป็นอสังขตะ หรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. วิญญาณที่เกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย เป็นสังขตะ หรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. ปฏิจจสมุปบาทก็เป็นสังขตะหรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. ปฏิจจสมุปบาทเป็นอสังขตะหรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. นามรูปที่เกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ก็เป็นอสังขตะ หรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. นามรูปที่เกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เป็นสังขตะหรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. ปฏิจจสมุปบาทก็เป็นสังขตะหรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. ปฏิจจสมุปบาทเป็นอสังขตะหรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. ชราและมรณะที่มีเพราะชาติเป็นปัจจัยก็เป็นอสังขตะ หรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. ชราและมรณะที่มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ก็เป็นสังขตะ หรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. ปฏิจจสมุปบาทก็เป็นสังขตะหรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
   
              [๑๐๘๖]ป. ไม่พึงกล่าวว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นอสังขตะ หรือ?
              ส. ถูกแล้ว
              ป. พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
   ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชรา มรณะ มีเพราะชาติเป็นปัจจัย
   โดยพระตถาคตทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือมิอุบัติขึ้นก็ตาม
   ธาตุนั้นได้ตั้งอยู่แล้วเทียว เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม คือความที่
   ธรรมนี้เกิดขึ้นเพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย พระตถาคตตรัสรู้ด้วยปัญญา
   อันยิ่ง ค้นพบด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธาตุนั้น ครั้นตรัสรู้ด้วยปัญญาอัน
   ยิ่งแล้ว ครั้นค้นพบด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว จึงบอก แสดง ประกาศ
   เผย แพร่ ขยาย ทำให้ง่าย และได้ชี้แจงว่า ชราและมรณะมีเพราะ
   ชาติเป็นปัจจัย

   ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ฯลฯ
   สังขารมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย โดยตถาคตทั้งหลายจะอุบัติขึ้น
   หรือมิอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้นได้ตั้งอยู่แล้วเทียว ฯลฯ และได้ชี้แจง
   ว่าสังขารมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ความจริงแท้
   ความไม่คลาดเคลื่อน ความไม่เป็นโดยประการอื่น คือความที่ธรรม
   เกิดขึ้นเพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย สภาวธรรมนั้น
ดังกล่าวนี้ อันใด นี้
   เรากล่าวว่า ปฏิจจสมุปบาท ดังนี้ ๑- เป็นสูตรมีอยู่จริง มิใช่หรือ?
              ส. ถูกแล้ว
              ป. ถ้าอย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาทก็เป็นอสังขตะน่ะสิ
   @๑. สํ. นิ. ข้อ ๖๑ หน้า ๓๐
   
              [๑๐๘๗]ส. ปัจจยาการบทหนึ่งว่า สังขารมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ดังนี้ สภาวะใด
   เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม ในปัจจยาการนั้น สภาวะนั้นเป็นอสังขตะ
   นิพพานก็เป็นอสังขตนะ หรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. อสังขตะเป็น ๒ อย่าง หรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. อสังขตะเป็น ๒ อย่าง หรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. ที่ต้านทาน ก็เป็น ๒ อย่าง ฯลฯ หรือมีระหว่างขั้นแห่งนิพพาน ๒ อย่างนั้น หรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
   
              [๑๐๘๘]ส. ปัจจยาการบทหนึ่งว่า สังขารมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ดังนี้ สภาวะใด
   เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม ในปัจจยาการนั้น สภาวะนั้นเป็นอสังขตะ
   ปัจจยาการอีกบทหนึ่งว่า วิญญาณมีเพราะสังขารเป็นปัจจัย ดังนี้ สภาวะ
   ใด เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม ในปัจจยาการนั้น สภาวะนั้นก็เป็น
   อสังขตะ นิพพานก็เป็นอสังขตะ
หรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. อสังขตะ เป็น ๓ อย่างหรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. อสังขตะ เป็น ๓ อย่างหรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. ที่ต้านทาน ก็เป็น ๓ อย่าง ฯลฯ มีระหว่างขั้นแห่งนิพพาน ๓ อย่างนั้นหรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
   
              [๑๐๘๙]ส. ปัจจยาการบทหนึ่งว่า สังขารทั้งหลายมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ดังนี้
   สภาวะใด เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม ในปัจจยาการนั้น สภาวะนั้น
   เป็นอสังขตะ ปัจจยาการอีกบทหนึ่งว่า วิญญาณมีเพราะสังขารเป็น
   ปัจจัย ดังนี้ สภาวะใด เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม ในปัจจยาการนั้น
   สภาวะนั้นก็เป็นอสังขตะ ฯลฯ ปัจจยาการอีกบทหนึ่งว่า ชรามรณะมี
   เพราะชาติเป็นปัจจัย ดังนี้ สภาวะใด เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม ใน
   ปัจจยาการนั้น สภาวะนั้นก็เป็นอสังขตะ นิพพานก็เป็นอสังขตะ หรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. อสังขตะ เป็น ๑๒ อย่าง หรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
              ส. อสังขตะเป็น ๑๒ อย่าง หรือ?
              ป. ถูกแล้ว
              ส. ที่ต้านทาน ก็เป็น ๑๒ อย่าง ที่เร้นก็เป็น ๑๒ อย่าง ฯลฯ มีระหว่างขั้น
   แห่งนิพพาน
๒ อย่างนั้น หรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
   
(** สังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยปรุง  สังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยมิได้ปรุง)
[ ***ธรรมฐิติ   น. การตั้งอยู่แห่งสิ่งที่เป็นเอง , ความเที่ยงธรรม
ธรรมนิยาม  หมายถึงเป็นธรรมเนียม 
หรือเป็นสภาพธรรมของธรรมนั้นๆที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น
]

ปฏิจจสมุปปาทกถา จบ



:http://www.84000.org/tipitaka/pitaka3/v.php?B=37&A=10459&Z=10580
นำมาแบ่งปันโดย...
i_am
.. : http://agaligohome.com/index.php?topic=456.msg13423;topicseen#msg13423
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กันยายน 23, 2011, 05:04:49 am »


                 

   ป ฏิ จ จ ส มุ ป บ า ท
   หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ (พันธ์ อินทผิว)
   
   ปฏิจจสมุปบาท
   “การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน
   
   เมื่อไม่มี อวิชชา (การไม่รู้)
   สายโซ่ซึ่งยังให้เกิดทุกข์ก็ขาดสะบั้นลง
   เพราะการรู้เข้าไปแทนที่
   
   เธออาจจะเคยได้ยินมาว่า   
   "พระพุทธเจ้าทรงตัดผมของพระองค์เพียงครั้งเดียว
    และผมของพระองค์ก็ไม่ขึ้นมาอีกเลย"   
   ข้อนี้เป็นปริศนาธรรม   
   เมื่อผมถูกตัดออกไป
   มันไม่อาจจะกลับมาติดได้ดั่งเดิม
   
   ข้อนี้ฉันใด การตัดอวิชชาออกไปอย่างเด็ดขาด
   โดยที่มันไม่อาจจะหวนกลับมาได้อีก ก็เป็นฉันนั้น

   
   นี้กฏตายตัวของธรรมชาติ
   ดุจดั่งเชือกที่ขึงตึงไว้กับเสาสองต้น
   เมื่อเราตัดให้ขาดออกจากกันที่ตรงกลาง
   ก็ไม่อาจกลับมาผูกติดกันได้อีก
   
   เมื่อเราเห็นมาถึงจุดนี้เราจะรู้ว่า
   ภาวะเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในคน

   
   แล้วทำไมมันจึงกลายเป็นเรื่องที่ยากเย็น
   มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่าย
   มันเป็นสิ่งที่ทั้งยากและง่าย
   
   ขอขอบคุณที่มา...บางตอนจาก : “แด่เธอ...ผู้รู้สึกตัว"
   ( โดย หลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ, หน้า ๓๓)

   baby@home .. :http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=14451
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: เมษายน 20, 2011, 09:36:08 am »



    10. ภพ เปรียบเหมือนคนท้องแก่ หมายถึงที่อยู่ เด็กในท้องที่มีอยู่แล้ว ภพที่ได้รับ หมายถึงที่อยู่ของกายใจ(รูปนาม) จิตยึดติดว่าเป็นที่อยู่ของเราพวกเรา ติดยึดความคิดว่าเป็นเรา ติดยึดในอารมณ์ที่พอใจรักใคร่และไม่พอใจรักใคร่ ติดอยู่ในความมีความเป็น คือภพ

    11. ชาติ เปรียบเหมือนคนคลอดลูก หมายถึงจิตที่ปฎิสนธิได้กำเนิดได้รับชีวิตแล้วว่าเป็นอะไร เป็นชายหรือหญิง สัตว์ บุคคล และความเกิดของจิตสืบเนื่องในภพต่างๆ โดยการเกิด ชาติคือความเกิดทั้ง 3 ภพ เป็นจิตที่มีเจตสิกสังขารปรุงแต่งเกิดดับ ยินดียินร้าย รักชอบชิงชังในอารมณ์ทั้ง 6 มีความเกิดอยู่ตลอดเวลามิได้ขาดทั้งภพและชาติ จิตที่ติดอยู่ในอารมณืต่างๆ ทั้งอดีตและปัจจุบัน ติดในอารมณ์นั้น

    12. ชรา มรณะ เปรียบเหมือนคนทิ้งบ้าน สะพายของออกไปด้วย หมายถึงทิ้งร่างกายแล้วไม่กลับมาอีก ส่วนที่นำไปด้วยคือบุญและบาป บ้านทั้งหลังคือ กองแห่งรูปและทรัพย์สมบัติก็เอาไปไม่ได้ ชรามรณะอยู่กับโศกปริเทวทุกขโทมนัสเศร้าโศกเสียใจ ผิดหวังอาลัยอาวรณ์ พลัดพรากจากกัน เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต คือความตาย มรณะคือความตาย จิตที่ตายแล้วจากความดี และตายจากความชั่ว ตายจากโลกนี้โลกหน้า ตายจากสมมุติ จิตที่เกิดกับดับ ตายทุกขณะจิตเกิดดับเรียกว่าตายในปัจจุบันตายกองแห่งรูปเรียกว่าตายในภพทั้ง 3 ตายของจิตเกิดดับตายในปัจจุบันอารมณ์ ตายอยุ่ทุกขณะจิตเกิดและดับ (นิพพาน)



http://www.vimokkha.com/paticcat.htm
สุขใจดอทคอม * อกาลิโกโฮม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: เมษายน 20, 2011, 09:33:37 am »



    4. รูป-นาม (กาย-จิต) เปรียบเหมือนชายหญิงที่นั่งอยู่ในเรือ รูปเปรียบเหมือนเรือ นาม เป็นผู้อาศัย ร่างกายเหมือนเรือจิตวิญญาณ คือ คนนั่ง กายกับจิตเป็นคนละอย่าง แต่ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน รุปนามเปรียบเหมือนคนนั่งเรือ

    5. สฬาตนะ เปรียบเหมือนบ้าน มีประตูหน้าต่าง มีทางเข้าออกของทวารทั้งหก มีร่างกาย คือ บ้าน ใจคือเจ้าของบ้าน ตา หู จมูก ลิ้น คือหน้าต่าง

    6. ผัสสะ เปรียบเหมือนชายหญิงกอดกัน หมายถึงการกระทบเป็นจิตที่มีความรู้สึกว่าเป็นชายเป็นหญิง เป็นจิตปรุงแต่งจะเกิดขึ้นมา เกิดกิเลสตัณหาอุปาทาน มีอารมณ์พอใจไม่พอใจ ยินดียินร้าย เป็นการกระทบสัมผัสในอายตนะทั้ง 6 เรียกว่าผัสสะ

    7. เวทนา เปรียบเหมือนคนที่ถูกลูกศรเสียบตา มีความเจ็บปวดมากเป็นจิตเสวยอารมณ์รุนแรงที่ได้สัมผัส เสวยอารมณ์ พอใจและไม่พอใจ ยินดียินร้าย (สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา)

    8. ตัณหา เปรียบเหมือนคนสูบเฮโรอีน หรือยาเสพติด ติดแล้วต้องการอยู่ตลอดเวลา เป็นจิตปรุงแต่งต้องการเพิ่มอยู่เรื่อยๆไม่รู้ปล่อยวาง ไม่รู้จักคำว่าพอใจในการสูบและเสพ เป็นความอยากที่ถมไม่เต็ม เป็นความบกพร่องอยู่เป็นนิตย์

    9. อุปาทาน เปรียบเหมือนลิงเก็บผลไม้ ยึดติดยึดมั่นถือมั่น ยึดว่าเป็นของตัว ขาดปัญญาพิจารณาเหตุผลเสียสละปล่อยวาง

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: เมษายน 20, 2011, 09:31:14 am »



    วงที่ 4

    1. อวิชชา
เปรียบเหมือนคนตาบอด อวิชชาเป็นจิตที่มีโมหะครอบงำ เป็นจิตที่เห็นผิด หลงรูปนาม หลงกายและจิต ยึดติดรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่มีปัญญา พิจารณาแยกฐาตุขันธ์ ยึดกองแห่งรูปมั่นคง หลงตัวว่าไม่เสื่อมสลาย ไม่สามารถแยก กายใจได้ว่าเป็นคนละอัน ไม่รู้ที่เกิดของจิตและที่ดับของจิต หลงความคิดของตัวเชื่อมั่นว่า เป็นเราเป็นเขา ไม่พิจารณาสักแต่ว่าเป็นธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม สักว่าเป็นสังขารวิญญาณ อวิชชา จึงเป็นความหลง คือ โมหะ ไม่รู้ความจริง เปรียบเหมือนคนตาบอด ไปไหนไม่รู้ทาง มองไม่เห็นอะไรทำอะไรไม่ถูกต้อง ทำให้หลงผิดทุกอย่างเมื่อมีอวิชชามาครอบงำ

    2. สังขาร เปรียบเหมือนคนปั้นหมอ พยายามปรุงแต่งสิ่งที่มีอยู่แล้วให้เป็นรูป เป็นร่างขึ้นมา เป็นผู้ปรุงแต่ง รูป รส กลิ่น เสียง โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ กระทบทางใจ สังขาร เป็นจิตที่มีเจตสิกปรุงแต่งให้เกิดความคิดนึกต่างๆนานาเมื่อมีอะไรมากระทบ อารมณ์ กระทบทางทวารทั้ง 6 ก็จะปรุงแต่งไปตามความชอบของใจ ชอบใจก็เป็นบุญ ไม่ชอบใจก็เป็นบาป ทั้งชอบก็เฉย ทั้งไม่ชอบก็เฉย เป็นอเนญชาภิสังขาร ไม่ปรุงเป็น บุญเป็นบาป เรียกว่าเป็นกลาง สังขารจึงเป็นตัวปรุงแต่งอารมณ์ทุกอย่างให้เกิด เรียกว่าสังขาร

    3. วิญญาณ เปรียบเหมือนลิงได้แก้ว ลิง หมายถึง จิตที่ไม่นิ่งเฉย จิตมีเกิดดับตลอดเวลา แก้ว หมายถึง คุณธรรม คุณธรรมดีแก้วก็จะใส ไม่มีคุณธรรม แก้วก็จะเศร้าหมอง วิญญาณเป็นผู้รู้แจ้งในสิ่งที่เห็นและกระทบที่เกิดขึ้น ในอายตนะทั้ง 5 วิญญาณเป็นผู้รู้แจ้งในสิ่งที่กระทบสัมผัส เรียกว่า วิญญาณ

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: เมษายน 20, 2011, 09:29:31 am »



    วงที่ 1

    1. หมู เป็นสัตว์ที่กินไม่พิจารณา ตะกละกินไม่เลือก กินแล้วนอนได้ตลอด อิ่มแล้วใจ ยังหิว ยังอยากกินอยู่ เปรียบได้กับ ความโลภ คือ โลภะ
    2. งู เป็นอสรพิษร้าย มีพิษขบกัดศตรู เป็นตัวพยาบาท เปรียบได้กับ ความโกรธ คือ โทสะ
    3. ไก่ เป็นสัตว์ที่หลงตัวว่าสวยงาม มักชอบอวดความงามของตัว สำคัญตัวเองดีไปทุกอย่าง และมักชอบคุยเขี่ย เปรียบเหมือนกับการสร้าง ความปรุงแต่งอารมณ์ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ เปรียบได้กับความหลง คือ โมหะ

    สัตว์ทั้ง 3 กัดกันเป็นวงกลม เปรียบได้กับตัวจิตที่เกิดดับอยู่ในวง ปฎิจจสมุปบาท คือ สันตติติดต่อสืบเนื่องทำให้เกิดกรรมและไปรับผลเป็นวิบากได้รับสุขทุกข์จาก ความโลภ โกรธ หลง พุทธะ (วิชชาคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) เท่านั้นจะทำลายให้กิเลสดับไปได้ และจึงออกจากวงกลมได้ พุทธะจึงชี้ทางองค์มรรค 8 อริยสัจ 4 ให้ออกไปจากวงปฎิจจสมุปบาท (นิพาน)


    วงที่ 2

    ธรรมดำ ธรรมขาว

    ธรรมดำ คือกรรม เป็นการกระทำด้วยกายวาจาใจ ทีไม่ดี
เนื่องมาจากอวิชชา (ผู้ไม่รู้) หลงไม่รู้เช่นกินไม่พิจารณาว่าเป็นธาตุ หรือสักว่าเป็นธาตุ ยืนเดินนั่งนอน ไม่มีสติพิจารณา กิน ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ยึดมั่น ถือมั่นว่าเป็นเราเป็นเขา เป็นตัว เป็นตน โดยไม่รู้กายใจ ว่าสืบเนื่องหรือต่อเนื่อง ผู้ที่อยู่ในกรรมดำจึงเหมือนอยู่ในที่มืด เปลือยเปล่า สกปรก ไร้ประโยชน์
    ธรรมขาว คือกรรม เป็นการกระทำด้วยกายวาจาใจที่ดี ที่มีพุทธะ (วิชชา ผู้รู้ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) มีสติพิจารณาในอิริยาบททั้ง 4 ยืน เดิน นั่น นอน พูดคิดนึก มีสติต่อสืบเนื่อง พิจารณากายใจเป็นสักว่าธาตุ ไม่ใช่ตัวตนเราเขา โดยเป็นผู้มีสติอยู่ตลอดเวลา จึงเหมือนผู้ที่อยู่ในที่สว่าง มีการประกอบคุณงามความดี เป็น เครื่องอาภรณ์ประดับตกแต่ง สะอาด บริสุทธ์

    ธรรมดำ ทำชั่วได้ชั่ว = กรรมดำ = อกุศลกรรมนำไป นรก เช่น จิตที่เศร้า หมอง เร่าร้อน ไม่ฉลาด โง่

    ธรรมขาว ทำดีได้ดี = กรรมขาว = กุศลกรรมนำไป สู่สุคติ เป็นจิต ที่ผ่องใส สงบ เย็น ฉลาด


    วงที่ 3

    เกี่ยวเนื่องมาจากวงที่ 2 ใน 3 ข้อแรก เมื่อมีวิชชาสร้างกรรมดีแล้วในเบื้องต้นส่งผลให้

    1. มีศีลห้า จิตเป็นมนุษย์ มีการรักษาศีลเจริญภาวนาก็จะไปสวรรค์ จิตรื่นเริง ผ่องใส จิตเป็นเทวดา
    2. เมื่อมีการภาวนารักษาศีลก็จะมีจิตอยู่ในสวรรค์เป็นจิตเทวดา
    3. เมื่อจิตภาวนามากขึ้นเข้าณานขั้นสูงก็ถึงขั้นพรหม จิตเป็นพรหม (มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)

    เมื่อสร้างกรรมชั่วส่งผลให้ (เป็นจิตของมนุษย์ที่มีความโลภ โกรธ หลง สืบเนื่องติดต่อกันไป)

    1. แสดงภพ ภูมิของสัตว์นรก จิตไปนรก คือ จิตโกรธ พยาบาทปองร้ายผู้อื่น
    2. แสดงภพภูมิของเปรต จิตเป็นเปรต คือ จิตที่มีความโลภ อยากได้ของเขา มิใช่ของตน
    3. แสดงภพภูมิของเดรัจฉาน จิตเป็นเดรัจฉาน คือ จิตที่มีความหลงไม่ มีสติ ให้ความโลภโกรธหลงควบคุมจิตใจ ถูกทุกข์ครอบงำจิตใจ จนถึงวันตาย ความหลงเผาผลาญมาก จิตใจตกต่ำมาก จะลงนรกลึกไปเรื่อยๆ ตกต่ำไปตามภาวะของจิต พุทธะ(วิชชา)จะเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อผู้ใดคิดถึงพุทธะได้ จึงจะหนีไปจากนรก เข้าสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: เมษายน 20, 2011, 09:25:51 am »


      พระพุทธเจ้า

    ทรงรู้ว่า "อวิชชา" คือ ตัวตัวเหตุของความทุกข์ อวิชชา คือจิตที่ไม่รู้จิตในจิต ตัวเองหลงจิตจึงจึงทรงใช้มรรคอริยสัจ คือ ตัวรู้ ตัววิชชา(วิชชา คือจิตที่รู้จิต) เข้าประหารอนุสัยที่นอนเนื่องในสันดาน จนพระองค์ทรงรู้แจ้งเห็นจริงในโลกทั้ง สาม รู้จักตัวตนว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน เป็นเพียงส่วนประกอบของธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นเพียงรูปธาตุ นามธาตุ

    อวิชาจึงดับด้วยพระปัญญาของพระองค์เอง ทรงเข้าถึงการดับโดยแท้จริง ดับสภาพ ปรุงแต่งของสังขารด้วยมรรคสัจ ทรงประหารอวิชชา ทรงพ้นจากบ่วงของการเกิด แห่งกองทุกข์ทั้งมวลได้ ด้วยพระปัญญาของพระองค์เอง จนเป็นวิชา เป็นแสงแห่ง คุณธรรมที่สว่างอยู่ในจิตใจของผู้ปฎิบัติ โลกของผู้ปฎิบัติจึงสงบร่มเย็นอยู่จนปัจจุบันนี้

    วิชชาของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมดับทุกข์ เป็นยาดับโรคของความอยากซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ของความหลงในวัฎฎสังสารของมนุษย์

    การเกิดของปฎิจจสมุปบาท
    สาเหตุของการเกิดปฏิจจสมุปบาทเพราะว่า


    อวิชชา เป็นปัจจัยจึงมี สังขาร
    สังขาร เป็นปัจจัยจึงมี วิญญาณ
    วิญญาณ เป็นปัจจัยจึงมี นามรูป
    นามรูป เป็นปัจจัยจึงมี สฬายตนะ
    สฬายตนะ เป็นปัจจัยจึงมี ผัสสะ
    ผัสสะ เป็นปัจจัยจึงมี เวทนา
    เวทนา เป็นปัจจัยจึงมี ตัณหา
    ตัณหา เป็นปัจจัยจึงมี อุปาทาน
    อุปาทาน เป็นปัจจัยจึงมี ภพ
    ภพ เป็นปัจจัยจึงมี ชาติ

    ชาติ เป็นปัจจัยจึงมี ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัส อุปายาส
    ความเกิดของกองทุกข์ทั้งหมดนี้เรียกว่า " ปฏิจจสมุปบาท "
    ปฏิจจสมุปบาทจะดับได้เพราะ


    อวิชชา ดับ สังขาร จึงดับ
    สังขาร ดับ วิญญาณ จึงดับ
    วิญญาณ ดับ นามรูป จึงดับ
    นามรูป ดับ สฬายตนะ จึงดับ
    สฬายตนะ ดับ ผัสสะ จึงดับ
    ผัสสะ ดับ เวทนา จึงดับ
    เวทนา ดับ ตัณหา จึงดับ
    ตัณหา ดับ อุปาทาน จึงดับ
    อุปาทาน ดับ ภพ จึงดับ
    ภพ ดับ ชาติ จึงดับ
    ชาติ ดับ ชรา มรณะ โสกะปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส จึงดับ
    ความดับของกองทุกข์ทั้งมวลนี้ คือ การเดินออกจากบ่วงของปฏิจจสมุปบาท



    องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาท 

    เพราะการหมุนเวียนของวัฏชีวิตที่มีทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หมุนเวียนไปตามองค์ประกอบ ของการเกิด หาจุจบไม่ได้และไม่สามารถหาต้นเหตุได้ว่าอะไร คือ ต้นเหตุของการเกิด และอะไร คือ ปลายเหตุของการดับ เริ่มจากอดดีตสู่ปัจจุบัน ปัจจุบันสู่อนาตค อนาคตกลับมาเป็นอดีต อดีตมาเป็นปัจจุบัน ประดุจห่วงของลูกโซ่ที่ผูกต่อกันไปหาที่สุดมิได้ เรียกว่า เป็นวงจรของปฏิจจสมุปบาท หรือ บาทฐานการเกิดของกองทุกข์ ซึ่งประกอบด้วย :-

    1. อวิชชา
    คือ ความไม่รู้ตามความเป็นจริงในความทุกข์ของจิต ไม่รู้ในเหตุให้เกิดแห่งความทุกข์ไม่รู้ในการดับทุกข์
    ไม่รู้ในปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ อวิชชาเป็นจิตที่ไม่รู้จิตในจิต
    เพราะความไม่รู้หรืออวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีสังขาร

    2. สังขาร
    คือ การปรุงแต่งของจิตให้เกิดหน้าที่
    ทางกาย - เรียกกายสังขาร ได้แก่ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งร่างกายให้เกิดลมหายใจเข้าออก
    ทางวาจา - เรียกวจีสังขาร ได้แก่ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งวาจาให้เกิดวิตกวิจาร
    ทางใจ - เรียกจิตสังขาร ได้แก่ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญญา เวทนา สุข ทุกข์ทางใจ
    เพราะการปรุงแต่งของจิตหรือสังขารเป็นปัจจัย จึงเกิดมีวิญญาณ

    3. วิญญาณ
    คือ การรับรู้ในอารมณ์ที่มากระทบในทวารทั้ง 6 คือ
    ทางตา - จักขุวิญญาณ
    ทางเสียง - โสตวิญญาณ
    ทางจมูก - ฆานวิญญาณ
    ทางลิ้น - ชิวหาวิญญาณ
    ทางกาย - กายวิญญาณ
    ทางใจ - มโนวิญญาณ
    เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

    4. นามรูป
    นาม คือ จิตหรือความนึกคิด ในรูปกายนี้ เป็นของละเอียดได้แก่
    เวทนา คือ ความรู้สึกเสวยในอารมณ์ต่างๆ
    สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ จดจำในเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วทั้งดีและไม่ดีดังแต่อดีต
    เจตนา คือ ความตั้งใจ การทำทุกอย่างทั้งดีและชั่ว
    ผัสสะ คือ การกระทบทางจิต
    มนสิการ คือ การน้อมจิตเข้าสู่การพิจารณา
    รูป คือ รูปร่างกายที่สัมผัสได้ทางตา เป็นของหยาบ ได้แก่ มหาภูตรูป 4 คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม
    เพราะนามรูปเกิด จึงเป้นปัจจัยให้มีสฬายตนะ คือ ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ

    5. สฬาตนะ
    คือ สิ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกันทางวิถีประสาทด้วยอายตนะทั้ง 6 มี
    ตา - จักขายตนะ หู - โสตายตนะ
    จมูก - ฆานายตนะ ลิ้น - ชิวหายตนะ
    กาย - กายายตนะ ใจ - มนายตนะ
    เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

    6. ผัสสะ
    คือ การกระทบกับสิ่งที่เห็นรู้ทุกทวารทั้งดีและไม่ดี เช่น
    จักขุผัสสะ - สัมผัสทางตา โสตผัสสะ - สัมผัสทางเสียง
    ฆานผัสสะ - สัมผัสทางจมูก ชิวหาผัสสะ - สัมผัสทางลิ้น
    กายผัสสะ - สัมผัสทางกาย มโนผัสสะ - สัมผัสทางใจ
    เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา

    7. เวทนา
    คือ ความรู้สึกเสวยอารมณ์พอใจ, ไม่พอใจและอารมณ์ที่เป็นกลางกับสิ่งที่มากระทบพบมาได้แก่
    จักขุสัมผัสสชาเวทนา - ตา โสตสัมผัสสชาเวทนา - เสียง
    ฆานสัมผัสสชาเวทนา - จมูก ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา - ลิ้น
    กายสัมผัสสชาเวทนา - กาย มโนสัมผัสสชาเวทนา - ใจ
    ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเครื่องรับของความรู้สึกต่างๆ
    เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา

    8. ตัณหา
    คือ ความทะยานอยาก พอใจ และไม่พอใจในสิ่งที่เห็นรู้ใน
    รูป - รุปตัณหา เสียง - สัททตัณหา
    กลิ่น - คันธตัณหา รส - รสตัณหา
    กาย - โผฎฐัพพตัณหา ธรรมารมณ์ - ธัมมตัณหา
    เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน

    9. อุปาทาน
    คือ ความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ และที่เกิดขึ้นในขัน 5 มี 4 เหล่า คือ
    กามุปาทาน - ความยึดมั่นถือมั่นในวัตถุกาม
    ทิฎฐุปาทาน - ความยึดมั่นถือมั่นในการเห็นผิด
    สีลัพพตุปาทาน - ความยึดมั่นถือมั่นในการปฎิบัติผิด
    อัตตวาทุปาทาน - ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนในขันธ์ 5
    เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ

    10. ภพ
    คือ จิตที่มีตัณหาปรุงแต่ง เกิดอยู่ในจิตปุถุชนผู้หนาแน่นในตัณหา 3 เจตจำนงในการเกิดใหม่
    ความกระหายในความเป็น เพราะยึดติดในรูปในสิ่งที่ตนเองเคยเป็น มี 3 ภพ คือ

    กามภพ - ภพมนุษย์, สัตว์เดรัจฉาน, เทวดา
    รูปภพ - พรหมที่มีรูป
    อรูปภพ - พรหมที่ไม่มีรูป
    เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ

    11. ชาติ
    คือ ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลง ได้แก่ จิตที่ผูกพันกันมากๆจึงเกิดการสมสู่กัน อย่างสม่ำเสมอ จนปรากฎแห่งขันธ์ แห่งอายตนะในหมู่สัตว์
    เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกปริเทวะทุกขโทมมัส อุปายาส มีความเศร้าโศก เสียใจ ร้องไห้อาลัยอาวรณ์

    12. ชรา มรณะ
    ชรา คือ ความแก่ ภาวะของผมหงอก ฟันหลุด หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่ของอินทรีย์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยงเป็นทุกข์อยู่ในตัว
    มรณะ คือ ความเคลื่อน ความทำลาย ความตาย ความแตกแห่งขันธ์ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์

    บ่อเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ เกิดขึ้นมาได้เพราะอวิชา ดั่งพืชเมื่อเกิดเป็นต้นไม้แล้ว มีราก ลำต้น ใบ ดอก ผล เป็นลำดับไป ไม่ปรากฎว่าเบื้องต้นเกิดมาแต่ครั้งไหน ดั่งรูปนาม ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ปรากฎว่าเบื้องต้นคือ " อวิชชา" เกิดมาตั้งแต่เมื่อไร เพราะ เกิดการผูกต่อกันมาเป็นลำดับ เกิดเป็นปฎิจจสมุปบาทขึ้นมา
    ปุถุชนดับวงของปฎิจจสมุปบาทได้บ้าง เป็นการดับชั่วขณะจึงต้องเกิดอีก เพราะ ตัววิชชายังไม่แจ้งในขันธ์ 5
    ส่วนตัวอริยชนดับวงของปฎิจจสมุปบาทได้สนิท เพราะดับได้ด้วยวิชชาจึงไม่ต้องเกิดอีก เป็นการดับไม่เหลือเชื้อ เพราะวิชชาแจ้งในขันธ์ 5 พ้นจากการเกิด เปรียบเหมือนไฟ ที่สิ้นเชื้อดับไปแล้ว


มีต่อค่ะ  http://www.vimokkha.com/paticcat.htm
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * อกาลิโกโฮม

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: เมษายน 20, 2011, 09:23:38 am »





ส่วนประกอบความทะยานอยากของคนเรา
 
    อาศัย ความพอใจ จึงเกิด ความอยาก
    อาศัย ความอยาก จึงเกิด การแสวงหา
    อาศัย การแสวงหา จึงเกิด ลาภ
    อาศัย ลาภ จึงเกิด การตกลงใจ
    อาศัย การตกลงใจ จึงเกิด ความรักใคร่ผูกพัน
    อาศัย ความรักใคร่ผูกพัน จึงเกิด การพะวง
    อาศัย การพะวง จึงเกิด การยึดถือ
    อาศัย การยึดถือ จึงเกิด ความตระหนี่
    อาศัย ความตระหนี่ จึงเกิด การป้องกัน
    อาศัย การป้องกัน จึงเกิด อกุศลธรรม


    กุศลธรรม - อกุศลธรรม
    ( จิตที่ฉลาด มีปัญญา มีเหตุผล สงบเย็น - จิตที่ไม่ฉลาด ใจเศร้าหมอง ขุ่นมัวฟุ้งซ่าน )

    การกระทำอันเป็นบาป เช่น การฆ่ากัน, การทะเลาะกัน, การแก่งแย่ง, การว่ากล่าว, การพูดส่อเสียด, การพูดเท็จเป็นต้น จิตของคนเราถูกอวิชชาครอบงำ ผูกต่อกัน เป็นลูกโซ่ของความอยาก พร่องอยู่เป็นนิตย์

    ถ้ามนุษย์ทุกคนในโลกนี้ หาทางดับความพอใจละความทะยานอยากซึ่งเป็นสันดานที่นอนเนื่อง อยู่ภายในจิตของตนเอง โดยวิธีการศึกษาเรื่องของปฏิจจสมุปบาท อันเป็นธรรมวิชชา ของพระพุทธเจ้า เป็นตัวดับอกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งอกุศลธรรมเป็นปัจจัยให้มนุษย์ เราตกอยู่ในกองทุกข์ที่เร่าร้อนก็จะดับ ความสงบใจ ความอิ่มใจ ความพอดีก็จะเกิดขึ้น ภายในจิตของมนุษย์ทุกรูปทุกนาม

    ปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมสัจจะที่จำเป็นสำหรับพุทธบริษัทที่จะต้องศึกษา เพราะปฏิจจสมุปบาท คือแนวทางที่จะเรียนรู้เข้าใจถึงสภาพจิตของมนุษย์เราด้วยการ ปฏิบัติธรรม คือ การเจริญสติปัฏฐาน 4 โดยการใช้สติปัญญาพิจารณากาย , เวทนา, จิต, ธรรม เพื่อให้รู้ทุกข์ ให้รู้เหตุเกิดของทุกข์ ให้รู้การดับทุกข์ ให้รู้ปฏิปทาที่ จะให้ถึงความดับทุกข์ได้ เรียกว่า ปฏิบัติธรรมจนเกิดวิชชา เพราะวิชชาเกิด อวิชชาจจึงดับ

    ปฎิจจสมุปบาท แยกออกเป็นหลายรูปแบบหลายนัย เมื่อแจงออกมาแล้วทำให้ ผู้ปฎิบัติเกิดความเข้าใจ จนเกิดปํญญาเป็นวิชาขึ้นมาได้ โดยการปฎิบัติไปตามวงจร ของปฎิจจสมุทปบาท คือ เข้าสู่การดับเป็นขั้นตอน ไปจนเกิดวิชารู้แจ้งในสังสารวัฎ หายสงสัยในเรื่อง การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย จนเกิดญาณปัญญา รู้ทุกข์ เห็น ทุกข์เกิดความเบื่อหน่ายในทุกข์ของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เข้าใจจน พาตัวเองออกจากวงจรของปฎิจจสมุปบาทได้ สามารถดับกิเลส ตัณหา อุปทานได้หมด จนถึงมรรค4 ผล4 นิพาน1 คือ เข้าถึงการดับ เป็นอรหัตตมรรค อรหัตตผล เข้าสู่ นิพานอันเป็นยอดแห่งคุณธรรมของเทวดา และมนุษย์

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: เมษายน 20, 2011, 09:20:49 am »




ปฏิจจสมุปบาท

    ชีวิตมนุษย์เราทุก วันนี้พร่องอยู่เป็นนิตย์ เพราะใจของมนุษย์เต็มไปด้วยความอยาก ซึ่งอยู่ในโลกของความหลง คือ สุขเวทนาและทุกขเวทนา ที่วิ่งพล่านไปตามความพอใจ และไม่พอใจ
    ดังนั้นมนุษย์จึงเร่าร้อนดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ความอยากของตนเต็ม แต่ก็หามีใครทำให้ ความอยากเต็มได้ไม่ยิ่งแสวงหาความเร่าร้อนจากการแสวงหาก็จะเพิ่มมากขึ้นไป เรื่อยๆ ความทุกข์ก็ เกิดตามขึ้นมาตลอด ไร้ความพอ หาความเต็มมิได้ เพราะจิตของมนุษย์ถูก อวิชชาครอบงำ ความ พร่องจึงมีอยู่ในจิตของมนุษย์ตลอดเวลาอยู่เป็นนิตย์

    พระองค์ทรงตรัสว่าทุกข์กำเนิดอยู่ปัจจุบัน ไม่ควรไปคิดเรื่องที่แล้วมา ทุกข์ที่ยังมา ไม่ถึงไม่ควรไปถามหาทุกข์ ผู้ข้องอยู่ด้วยความไม่รู้ หลง ย่อมจะถามว่าวิญญาณมา จากไหน เกิดเมื่อไร ใครเป็นผู้สร้าง พระองค์ทรงตรัสว่าคนกำลังถูกลูกศรยิงบาดเจ็บ อยู่ขณะนี้ กำลังรอ ความช่วยเหลือจากหมอ หมอจะถามผู้ป่วยว่าลูกศรนั้นถูกยิง ตั้งแต่เมื่อไร เวลาเท่าไรและที่ไหน คนยิงคือใครและต้องหาคนยิงมาก่อน จึงจะแก้ไขวางยาให้ถูกและถอนลูกศรออกได้ การแก้ไข ของหมอจะแก้ไขได้หรือ คนไข้จะต้องตาย แน่นอน ฉะนั้นทุกข์ของกายใจเกิดขึ้นตอนปัจจุบัน เราไม่ไปถามหาอดีต เสียเวลา เราควรแก้ทุกข์กันเดี๋ยวนี้คือปัจจุบันที่เราเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราควรจะปฏิบัติธรรม เพื่อความรู้วิธีดับทุกข์กันในวันนี้เลย ไม่ต้องรอช้านาน เพื่อเห็นความเกิด แก่เจ็บตาย โดยเร็วพลัน

    การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยซึ่งกันและกัน จึงมีตัวกฎหรือสภาวะ ปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้า แสดงหลักธรรมชาติ ธรรมหมวดหนึ่งหรือหลักความจริงซึ่งเป็นเรื่องปิดไว้ พระองค์ มาตรัสรู้ความจริง ของธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แล้วใช้ปัญญาค้นโดยรู้จัก ธรรมชาติที่แท้จริง สิ่งเหล่านี้เกิดมาก่อน พระพุทธเจ้าทุกพระองค์และหมุ่พระพุทธเจ้า ไม่มีผู้เกิดทันรู้ไม่ เพราะว่ารูปนามนี้เกิดมานาน ไม่สามารถจะ คำนวณกาลเวลาได้ แต่พระองค์ตรัสรู้ด้วยปัญญาสมาธิญาณ ยิ่งรู้ละเอียดลึกซึ้ง สุดที่สัตว์ปุถุชนจะหยั่ง รู้ธรรมชาติได้แท้จริงดังปัญญาของพระพุทธเจ้าได้ จึงเป็นพยานของธรรม ทรงกล้าตอบปัญหาแก่สมณ พราหมณ์ที่มีปัญหาได้อย่างสง่าผ่าเผยโดยเชื่อแน่ว่า หลักธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของจริง พิสูจน์ ได้โดยการปฏิบัติ มีในแนวทาง ของพระองค์ตรัสรู้เท่านั้น จะพิสูจน์ได้ทางบรรลุธรรมจิตอย่างแท้จริง พระองค์ ทรงตรัสว่าเพราะมีอวิชชา จึงมีสังขาร ฯลฯ

    " ภิกษุทั้งหลาย ? ตถตา ( ภาวะที่เป็นของมันอย่างนั้น ) อวิตถตา ( ภาวะที่ไม่คลาดเคลื่อนไปได้) อนัญญถตา ( ภาวะที่ไม่เป็นอย่างอื่น )
คือหลักอิทัปปัจจยตาดังกล่าว มานี้แลเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท " พระองค์ทรงกล่าวว่าสมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้ได้สามารถรู้ธรรมเหล่านี้ ได้ รู้จักเกิดรู้จักดับของ ธรรม รู้จักดำเนินตาม ธรรมชาติเหล่านี้ ฯลฯ สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล จึงควรยอมรับว่าเป็นผู้มีปัญญา อันยิ่ง บรรลุประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน

    ดังที่กล่าวในพระไตรปิฎก พระอานนท์ได้กราบทูลพระองค์ว่า
    " น่าอัศจรรย์จริงหนอ ไม่เคยมีมาเลย ไม่เคยได้ยินเลย ไม่เคยได้เห็นเลย เป็นบุญตา เป็นบุญใจ เป็นบุญหูจริงที่ได้เกิดมารู้เห็นความจริงที่พระองค์ทรงตรัสเทศนา ช่าง ไพเราะลึกซึ้งละเอียดอ่อนสุขุม คัมภีรภาพและเข้าใจง่ายซาบซึ้งได้แจ่มแจ้ง ดุจของ คว่ำปิดอยู่เป็นความลับ แต่พระองค์มาจับหงายอย่างง่าย ให้คนอื่นได้เห็นตามรู้เห็น ตามธรรมที่ยากมาทำให้ง่ายอัศจรรย์จริงหนอ ของยากพระองค์มาทำให้เป็นของง่าย"

    พระองค์ทรงตรัสว่า
    " อานนท์ อย่ากลัวอย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมอันลึกซึ้ง เป็นของรู้ยาก บุคคลไม่เข้าใจ ไม่รู้ ไม่แทงตลอดในธรรมนี้แหละ หมู่สัตว์จึงพากันวุ่นวายกันไม่รู้ จักจบสิ้นไป ความวุ่นวายยุ่งยากเปรียบ เหมือนเส้นด้ายที่ขอดเข้าหากันจนยุ่งเป็น ปุ่มเป็นปมเหมือนกับหญ้าคาหญ้าปล้องนี่แหละอานนท์หมู่สัตว์จึง วุ่นวายดิ้นรน เดือดร้อนกันมากจึงผ่านพ้นอบายทุคติวินิบาต (นรก) สังสารวัฏไปไม่ได้ "

    " ดุก่อนอานนท์ พระองค์ขอเตือนว่าอย่าประมาท ธรรมที่เราบรรลุแล้วเป็นของรู้ได้ยาก หมุ่ ประชาชนเป็นผู้เริงรมย์อยู่ด้วยความอาลัย ระเริงอยู่ในอาลัยอาวรณ์ ผู้หลง อยู่ในรื่นเริงอาลัยอาวรณ์ ด้วยความประมาทอย่างนี้ ฐานะอย่างนี้เป็นสิ่งที่รู้เห็นได้ยาก กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสุปบาท เห็นได้ยาก รู้ได้ยาก ความสงบของ สังขารทั้งปวง ความสงัด " กิเลส " อุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน พระองค์ทรงดำริเป็นการสอนที่เหนื่อยเปล่า ลำบากแก่พระองค์ผู้แสดง เพราะมีแต่ผู้ประมาท อยู่ ผู้หลงตัวตนอาลัยอาวรณ์อยู่ "

    " อานนท์ จงรู้เถิดว่าธรรมที่เรากล่าวนั้นง่ายสำหรับผู้มีปัญญา ไม่หลงตัวตนอาลัยอาวรณ์ หลงตัวเพลิดเพลิน ผู้นั้นจึงรู้ว่าธรรมของพระองค์ง่าย ฟังแล้วไพเราะลึกซึ้ง ละเอียดอ่อนลุ่มลึก แต่ก็ยากสำหรับคนประชาชนผู้หลงใหลในตัวตน อยุ่ในความ ประมาทลุ่มหลง จึงรู้ธรรมปฏิจจสมุปบาทได้ยาก เป็นของที่เข้าไม่ถึงธรรมอันนี้ เลยตลอดชีวิตของเขาเหล่านั้นเพราะความมีตัวตน อาลัยอาวรณ์สนุกเพลิดเพลินอยู่ "

    หลักปฏิจจสมุปบาทมี 2 นัย นัยหนึ่งคือจากอวิชชา จึงมีสังขาร นัยหนึ่งคือความเกิด ของธรรมชาติ นัยที่สองคือการตรัสรู้ธรรมของธรรมชาติคือความดับ ตอนต้นแสดง ความเกิดของสมุทัย ( ตัณหา ) ตอนท้ายแสดงถึงการตรัสรู้ธรรมคือ นิโรธวาร อนุโลมปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท


    องค์ประกอบ 12 ข้อของปฏิจจสมุปบาทนั้น นับตั้งแต่อวิชชา ถึง ชรามรณะเท่านั้น ( คือ อวิชชา สังขาร>วิญญาณ>นามรูป>สฬาตนะ>ผัสสะ>เวทนา> ตัณหา>อุปาทาน> ภพ>ชาติ>ชรามรณะ ) ส่วนโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นเพียงตัวพลอยผสม เกิดแก่ผู้มีอาสวกิเลสเมื่อมีชรามรณะแล้ว เป็นตัวการหมักหมม อาสวะซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาหมุนวงจรต่อไปอีก
    ในการแสดงปฏิจจสมุปบาทแบบประยุกต์ พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสตามลำดับ และเต็มรูป อย่างนี้ ( คือชักต้นไปหาปลาย ) เสมอไป การแสดงในลำดับและเต็มรูปเช่นนี้ มักตรัส ในกรณีเป็นการแสดงตัวหลัก แต่ในทางปฏิบัติซึ่งเป็นการเริ่มต้นด้วยข้อปัญหามัก ตรัสในรูปย้อนลำดับ ( คือชักปลายมาหาต้น ) เป็น( ชรามรณะ< ชาติ < ภพ < อุปาทาน < ตัณหา < เวทนา < ผัสสะ < สฬายตน < นามรูป < วิญญาณ <สังขาร< อวิชชา )