ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: มิถุนายน 15, 2015, 06:25:03 pm »พระราชปุจฉา กับ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
#พระราชปุจฉา : คำว่า ภาวนา และ บริกรรม ต่างกันอย่างไรขอรับ คือเคยฟังพระเถระผู้ใหญ่บอกว่า การภาวนานี้ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน แม้ไม่อยู่ในสมาธิ แม้ทำอะไร ก็สามารถทำได้อยู่ได้ตลอดเวลาใช่ไหมขอรับ
#หลวงพ่อพุธ : ใช่แล้ว คำว่า ภาวนา กับ บริกรรม มีต่างกัน ภาวนา หมายถึง การอบรมคุณงามความดีให้เกิดขึ้น เป็นสมบัติของผู้อบรม เช่น อบรมใจให้มีความเลื่อมใสในการบำเพ็ญภาวนา ก็ได้ชื่อว่า ภาวนา แต่บริกรรมนั้น หมายถึง จิตของผู้ปฏิบัตินึกอยู่ในคำใดคำหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น พุทโธ เป็นต้น ซ้ำๆ อยู่ในคำเดียวเรียกว่า "บริกรรม" บริกรรมก็คือส่วนของภาวนานั่นเอง
#หลวงพ่อพุธ : เมื่อตะกี้ได้ถามอะไรอาตมาอีก
#พระราชปุจฉา : ภาวนาทำได้ตลอดเวลาทุกสถานที่หรือไม่
#หลวงพ่อพุธ : การภาวนานี้ทำได้ตลอดเวลา ทุกที่ ทุกสถานที่ ไม่เลือกกาล ไม่เลือกเวลา เช่นอย่างภาวนาในขั้นบริกรรมภาวนา เช่น ภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ตลอดทุกอิริยาบถ บริกรรมภาวนาพุทโธ พุทโธ ได้ ทีนี้ถ้าหากว่าไม่นึกบริกรรมภาวนา พุทโธ การกำหนดรู้ทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ทำ พูด คิด รู้อยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นการภาวนา จุดมุ่งหมายของการภาวนา หรือบริกรรมภาวนา ก็อยู่ที่ความต้องการความมีสติสัมปชัญญะ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีแล้ว จิตก็มีสมรรถภาพในการคุ้มครองตัวเอง ให้ยืนยันอยู่ในความเป็นอิสรภาพ ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นอิสรภาพโดยเด็ดขาดทุกอย่างก็ตาม ตราบใดที่จิตยังตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์กิเลสและสิ่งแวดล้อม จิตก็รู้ตัวว่ายังหย่อนสมรรถภาพ อยู่ในอำนาจของสิ่งแวดล้อม จิตก็ย่อมรู้ การบริกรรมภาวนา บางท่านเมื่อจิตไม่ตรงกับนิสัยบริกรรมภาวนาเป็นปีๆ จิตไม่สงบก็มีอุบายที่จะปฏิบัติได้ คือ ต้องกำหนดรู้ดูความคิดของตนเองตลอดเวลาว่าเราคิดอะไรก็รู้ สิ่งที่คิดมันหายไปก็รู้ อันใหม่เกิดขึ้นมาก็รู้ กำหนดรู้ตามไปเรื่อยๆ เมื่อจิตมีสติกำหนดตามรู้ความคิด กำหนดทันความคิดของจิตเมื่อใด เมื่อนั้นจิตจะสงบเป็นสมาธิได้
#พระราชปุจฉา : คำว่า วิญญาณ หมายความว่า "ธาตุรู้" ใช่ไหมขอรับ
#หลวงพ่อพุธ : คำว่า วิญญาณ คือ "ธาตุรู้" วิญญาณในเบญจขันธ์หมายถึง วิญญาณรู้จากของ ๒ อย่างกระทบกัน เช่น ตากับรูปกระทับกัน เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า จักขุวิญญาณ เสียงกับหูกระทบกัน เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า โสตวิญญาณ กลิ่นกับจมูกกระทบกัน เกิดภูมิรู้ เรียกว่า ฆานวิญญาณ ลิ้นกับรสกระทบกัน เกิดภูมิรู้ เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ กายกับสิ่งสัมผัสกระทบกัน เกิดภูมิรู้ขึ้นเรียกว่า กายวิญญาณ จิตนึกคิดอารมณ์เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า มโนวิญญาณ อันเป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ทีนี้วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง ปฏิสมาธิวิญญาณ คือ วิญญาณรู้ผุด รู้เกิด
#พระราชปุจฉา : พอจิตนิ่ง ลมหายใจจะหายไป และคำภาวนาก็หายไปพร้อมกัน แต่รู้สึกเช่นนี้เพียงเดี๋ยวเดียวก็หายไป ควรจะทำอย่างไรต่อไป
#หลวงพ่อพุธ : เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว จิตจะสงบละเอียดไปถึงจุดที่เรียกว่า "อัปปนาสมาธิ" ลมหายใจก็ทำท่าจะหายขาดไป คำภาวนาก็หายไป พอรู้สึกว่ามีอาการเป็นอย่างนี้เกิดขึ้น ก็เกิดอาการตกใจ แล้วจิตก็ถอนจากสมาธิ เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ถ้ายังเสียดายความเป็นของจิตในขณะนั้น ให้กำหนดจิตพิจารณาใหม่ จนกว่าจิตจะสงบลงไป จนกว่าลมหายใจจะหายขาดไปคำภาวนาจะหายไป ถ้าตอนนี้เราไม่เกิดเอะใจ หรือเปลี่ยนใจขึ้นมาก่อน จิตจะสงบนิ่งละเอียดลงไปกว่านั้น ในที่สุดจิตก็จะเข้าสู่อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นตัวก็หายไปหมด ยังเหลือแต่จิตรู้สงบสว่าง อยู่อย่างเดียว ร่างกายตัวตนไม่ปรากฏ แต่ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เมื่อลมหายใจหายไป คำภาวนาก็จะหายไป แล้วก็จะรู้สึกตัวขึ้นมา เลื่อนให้จิตมาพิจารณา พิจารณาโดยเพ่งกำหนดลงที่ใดลงหนึ่ง จะบริเวณร่างกายลงที่ใดที่หนึ่ง จะบริเวณร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น กระดูก
พิจารณาจนจิตเห็นกระดูกแต่ตายังไม่เห็นก่อน ให้พิจารณาจนจิตสงบเห็นกระดูกชัดเจน ในทำนองนี้จะทำให้จิตเป็นสมถกรรมฐานเร็วขึ้น ซึ่งเคยมีตัวอย่างครูบาอาจารย์ให้คำแนะนำกันมา คือ ท่านอาจารย์องค์หนึ่งภาวนาพุทโธมาถึง ๖ ปี จิตสงบลงไป แต่ทำท่าว่าลมหายใจจะหายไป คำภาวนาก็หายไป แล้วสมาธิก็ถอนออก จิตไม่ถึงความสงบสักที อาจารย์องค์นี้จึงไปถามอาจารย์อีกองค์หนึ่ง ซึ่งอาจารย์องค์นี้เป็นชีผ้าขาวไม่ได้บวชเป็นเณรว่า "ทำอย่างไรจิตมันจะสงบดีๆ สักที" อาจารย์องค์นั้นก็ให้คำแนะนำว่า "ให้เพ่งลงที่หน้าอก พิจารณาให้เห็นกระดูก โดยพิจารณาลอกหนังออก แล้วจึงจ้องจิตบริกรรมภาวนาลงไปว่า อัฐิ อัฐิ อัฐิ" อาจารย์ที่ถามจึงนำวิธีการนี้ไปปฏิบัติ ก็เกิดจิตสงบเป็นสมาธิ ในครั้งแรกก็มองเห็น เศษกระดูกตรงนั้น จิตมันก็นิ่งจ้องอยู่ตรงนั้น และผลสุดท้ายก็มองเห็นโครงกระดูกทั่วตัวไปหมด ในเมื่อมองเห็นโครงกระดูกอยู่ชั่วขณะหนึ่ง โครงกระดูกก็พังลงไป และสลายตัวไป สลายไปหมด ยังเหลือแต่จิตสงบนิ่ง สว่างอยู่อย่างเดียว และในอันดับต่อไปนั้น จิตจะสงบนิ่ง สว่างอยู่เฉยๆ ภายหลังเมื่อจิตสงบสว่างอยู่พอสมควรแล้ว ก็ เกิดความรู้อันละเอียดขึ้นมาภายในจิต แต่ไม่ทราบว่าอะไร มันมีลักษณะรู้ขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป มันเหมือนกับกลุ่มเมฆที่มันผ่านสายตาเราไปนั่นแหละ จิตก็นิ่งเฉย สงบนิ่ง สว่างอยู่ตลอดเวลา ที่มีให้รู้ให้เห็นก็ผ่านไปเรื่อยๆ เราลองนึกภาพดูว่า ที่เกิดขึ้นเช่น นี้เรียกว่าอะไร
อาการเป็นเช่นนี้เป็นภูมิรู้ภูมิปัญญาอย่างละเอียดของจิตเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความจริงที่อยู่เหนือสมมติบัญญัติ สภาวธรรมส่วนที่เป็นสัจธรรมเกิดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติ มีแต่สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งท่านอาจารย์มั่นเรียกว่า "ฐีติภูตัง" ซึ่งมีความหมายว่า "ฐีติ" คือ ความตั้งเด่นของจิต อยู่ในสภาพที่สงบนิ่งเป็นกิริยาประชุมพร้อมของอริยมรรค ยังจิตให้บรรลุถึงความสุคติภาพโดยสมบูรณ์ เมื่อจิตประชุมพร้อม ภายในจิตมีลักษณะ สงบ นิ่ง สว่าง อำนาจของอริยมรรคสามารถปฏิบัติจิตให้เกิดภูมิรู้ ภูมิธรรมอย่างละเอียด ภูมิรู้ ภูมิธรรมซึ่งเกิดขึ้นอย่างละเอียด ไม่มีสมมติบัญญัติ เรียกว่า "ภูตัง" หมายถึงสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่โดยธรรมชาติของมันอย่างนั้น แต่ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าอะไร สงสัยต่อไปในเมื่อเราไม่สามารถจะเรียกว่าอะไร ทำอย่างไรเราจึงจะ รู้สิ่งนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกไว้ แม้แต่ท่านแสดงธรรมจักรฯ ให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ฟัง เมื่อท่านอัญญาโกณฑัญญะรู้ธรรม เห็นธรรม ก็รู้แต่ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา"
G+ Suchart Good
Shared publicly - 15/6/2558 3:46 PM