ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: มิถุนายน 28, 2016, 09:28:08 am »‘ยายยิ้ม’ 80 ปี คือธรรมมะ ใช้ชีวิตมีคุณค่า
ท่ามกลางป่าเขาที่กว้างสุดลูกหูลูกตา ถูกปกคลุมไปด้วยป่าหนาทึบ ห่างไกลผู้คนและเงียบสงัด แต่ที่นั่นเป็นเหมือนบ้านที่อบอุ่นท่ามกลางอ้อมกอดของธรรมชาติ จะมีคนแก่สักกี่คนที่เลือกใช้ชีวิตบั้นปลายในวัย 80 กว่า เพียงลำพังอย่างเดียวดาย
“ยายยิ้ม” เลือกที่จะใช้ชีวิตในป่ากว้าง แน่นอนว่าความเป็นอยู่ย่อมลำบาก อ้างว้าง เงียบเหงา แต่นี่เป็นเพียงสิ่งที่คนภายนอกมองและตัดสิน ความเป็นจริงกลับตรงข้าม ทุกเวลาที่ผ่านไปของ “ยายยิ้ม” ล้วนมีคุณค่า แต่ละวันหมดไปกับการปลูกต้นไม้ ทำฝายเล็กๆ ที่ยายได้อาศัยยามหน้าแล้ง สิ่งที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตกว่า 80 ปี คือธรรมะ
การเลือกดำเนินชีวิตตามเส้นทางนี้ของ “ยายยิ้ม” ไม่ใช่เพราะไม่มีทางเลือก ยายยังมีลูกหลาน ที่ต่างมีฐานะที่พอจะดูแลยายได้สบาย หลายคนทักท้วงการตัดสินใจ ขอร้องให้ยายกลับลงมาอยู่ที่บ้าน แต่ “ยายยิ้ม” ยังคงยืนกรานที่จะใช้ชีวิตอยู่บนเขาอย่างที่ผ่านมา
ลำพังคนหนุ่มสาว จะให้เดินขึ้นลงเขาสัก 7-8 กิโลเมตร ยังเล่นเอาเหงื่อตก แต่สำหรับ "ย่ายิ้ม" หญิงชราวัยใกล้ร้อย การกระทำข้างต้นถือเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอทุกวันพระ เพราะไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง ย่าก็ต้องไปถึงวัดไม่เคยขาด
ระยะทางไกลที่เต็มไปด้วยหล่มโคลน ถนนเป็นร่อง ขรุขระ ไม่ได้เป็นอุปสรรค หรือส่งผลต่อใบหน้าเปื้อนยิ้มของหญิงชราผู้มีอารมณ์ดีอยู่เป็นนิตย์ โดยทุกวันพระ ย่ายิ้ม จะออกเดินเท้าจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด แต่อย่าถามเลยว่ากี่โมง เพราะบ้านของแก ไม่มีทั้งนาฬิกา และปฎิทิน แกรู้เพียง มืดก็นอน สว่างก็ตื่น ตะวันตรงหัวก็เที่ยง และเมื่อกลับจากวัด แกก็จะมานับวันหลังจากนั้นไปถึงวันโกนวันพระอีกที ซึ่งไม่เคยพลาด หรือคลาดเคลื่อน
ทุกวันนี้แม้วัยจะล่วงเลยมาถึง 83 ปี แต่ ย่ายิ้ม ยืนยันว่า ร่างกายยังแข็งแรงดี และก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรนักกับการที่ต้องอยู่ในบ้านกลางป่าเพียงลำพัง
"ความเจริญอยู่ที่ไหน มันก็ทุกข์ยากที่นั่น อยู่บนเขานี้ ไม่มีเงินย่าก็ยังอยู่ได้ แต่ถ้าอยู่ในตัวเมือง ไม่มีเงินอยู่ไม่ได้เลยหนา ต้องซื้อเอาทุกอย่าง ไปอยู่ก็จะเดือดร้อนเขา"
ถึงอย่างนั้น วิถีบ้านป่าแบบ ย่ายิ้ม ก็ใ ช่จะสบายอย่างปากว่า ในช่วงฤดูฝน ดูจะโหดร้ายเป็นที่สุด เพราะหนทางในป่านั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ หากมีน้ำหลากลงจากเขา จนข้ามห้วยไม่ได้ ย่ายิ้มก็จะไม่ออกจากบ้าน ซึ่งช่วงที่ไม่ได้ลงเขาหลายวัน ข้าวสารก็มักจะไม่มีเหลือให้หุงให้กิน ครั้นจะแจ้งบอกข่าวฝากไปถึงใครก็ไม่มี
"ก็ต้องอดเอามั่ง บางทีเกือบ ๆ อาทิตย์ไม่ได้กินข้าวเลย กินแต่หัวกลอยป่าเอามานึ่งกับมะพร้าวคั่ว"
ด้วยความเป็นคนจริงเรื่องการทำบุญ และรอยยิ้มที่ไม่เคยหายจากใบหน้าสมชื่อ ย่ายิ้ม ทำให้แกได้รับมิตรภาพดี ๆ จากคนในชุมชนบ้านไร่เชิงเขา ... บ่อยครั้ง ย่ายิ้ม ได้รับอาหาร ของฝาก รวมทั้งความเป็นห่วงเป็นใยจากคนที่ไม่ใช่ญาติ
ศรศักดิ์ มากมา ลูกชายคนที่ยังอยู่ใน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก พูดถึงแม่ว่า
"แม่เขาจะบอกว่าไม่ต้องเอามาให้มากนะ ในชีวิตเขา แม่เขาไม่เคยอยากได้อะไรเลย เคยถามเขาก็บอกว่า เขาพอแล้ว สมัยยังเด็กบ้านเราจนกันมาก พ่อก็ตายตอนที่เรายังเล็ก ๆ แต่แม่คนเดียวก็หาเลี้ยงลูกได้ มานึกดูแกต้องทำงานหนักมาก แม่ถึงเน้นสอนให้เข้มแข็ง หนักเอาเบาสู้ไม่เลือกงาน"
ตลอดหลายปีกับชีวิตกลางป่าเขาเพียงลำพัง ย่ายิ้ม สารภาพว่า เมื่อไหร่ที่ลูกขึ้นมาหาและมานอนด้วย แกก็ดีใจทุกครั้ง แต่พอกลับกันไป แค่เห็นเดินคล้อยหลังก็นั่งใจละห้อยแล้ว...แต่ถึงอย่างไร แกก็ยังยืนหยัดว่าจะขออยู่ในป่าในเขาอย่างนี้ไปจนตาย และคำขอสุดท้ายที่ฝากไว้กับลูกคือ...ถ้าแม่ตาย ก็ให้เผาให้ฝังไว้ที่ไร่บนเขานี้
"ย่าไม่อย ากตายหรอกหนา แต่ไม่เคยกลัว ถึงเวลาจะต้องละแล้ว ก็ต้องไป..."
คัดและเรียบเรียงใหม่...จากบางตอนของกระปุกดอทคอม
จาก http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=truthoflife&month=12-2010&date=04&group=14&gblog=1