ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: มิถุนายน 28, 2016, 10:04:58 pm »“ความโลภ” หรือ โลภะ หนึ่งในกิเลสตัวร้ายตามหลักพุทธศาสนา หมายถึง ความทะยานอยาก โดยไม่สนใจความถูกต้อง เป็นความอยากได้อยากมี ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด มีแต่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ความโลภจึงเปรียบเป็นเส้นขนานกับ “ความพอเพียง” ที่มีคุณลักษณะเด่นในด้านรู้จักความเหมาะสม ความพอดีในการกระทำสิ่งต่างๆ และสำคัญต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
แก่นธรรมข้างต้น เป็นสิ่งที่แฝงในภาพยนตร์แอนิเมชั่น “กังฟู แพนด้า” ภาค 3
ในภาค 2 ผู้เขียนเคยหยิบยกภาพยนตร์เรื่องนี้ มาอธิบายอ้างอิงหลักคิดตามแนวพุทธศาสนามาแล้ว เพราะพื้นฐานของภาพยนตร์ที่ใช้ “กังฟู” เป็นตัวเดินเรื่อง ตลอดจนปรัชญาความเชื่อแบบชาวเอเชีย ล้วนมีส่วนผสมของหลักธรรม ทั้งด้านความอุตสาหะ ฝึกฝนวิชาให้สำเร็จ ความถ่อมตน ไม่นำความสามารถที่มีไปใช้ในทางที่ผิด ตลอดจนความกตัญญูรู้คุณเป็นต้น เรื่องราวของ “โป” แพนด้าตัวอ้วน ในภาคนี้ก็ไม่แตกต่างจากก่อนหน้า ที่เนื้อหายังเปี่ยมด้วยข้อคิดสะกิดใจเป็นอย่างมาก
จุดเริ่มต้นของภาค 3 เกิดขึ้นที่การต่อสู้ในปรโลกระหว่าง “ไค” นักรบวัวกระทิงผู้กระหายอำนาจ กับ “อูเกว” ปรมาจารย์เต่ากังฟู ผู้เปรียบเสมือนอรหันต์ ละทิ้งเรื่องทางโลกไปแล้ว
ไคถูกจองจำอยู่ในภพปรโลกโดยอาจารย์อูเกว เนื่องจากความต้องการเป็นใหญ่ในแผ่นดินของไค สามารถทำลายล้างทุกคนที่ขวางหน้าได้ แม้ว่าอยู่ในภพปรโลก เขาก็ยังหาหนทางกลับสู่โลกเบื้องบน และการต่อกรกับอาจารย์อูเกวครั้งล่าสุด นักรบกระทิงก็เอาชนะได้สำเร็จ
นอกจากดึงพลังของปรมาจารย์เต่า มาเก็บไว้ในตัวได้แล้ว ไคยังเดินทางกลับไปโลกเดิมได้อีก แต่ทว่าอูเกวคล้ายกับหยั่งรู้อนาคต โดยก่อนที่พลังของเขาจะถูกดูดไป เขายิ้มอย่างเยือกเย็น พร้อมกล่าวเป็นปริศนาว่า ผู้พิชิตจอมวายร้ายอย่างไคนั้น ไม่ใช่ตน แต่เป็นผู้อื่นซึ่งถูกกำหนดไว้แล้ว
เมื่อไคกลับมาสู่โลกได้สำเร็จ เขาก็ใช้ความสามารถเยี่ยงนักรบอันเก่งกาจ ไล่ล่าผู้มีวิชากังฟูทุกคนในยุทธภพ เพื่อดูดกลืนพลังจากยอดฝีมือเหล่านั้น เข้ามาเก็บเป็นพลังของตนเอง เพื่อต้องการเป็นผู้มีอำนาจไร้เทียมทาน ที่ไม่มีใครเอาชนะได้
ขณะเดียวกัน อีกฟากฝั่งแผ่นดิน อันเป็นหมู่บ้านแสนสงบของ “เสี่ยวโป” หรือ “โป” แพนด้าฮีโร่ขวัญใจประชาชน ผู้ปราบเหล่าอธรรมได้ในภาคก่อน
อาจารย์ชิฟู เห็นว่าถึงเวลาที่จะมอบภารกิจสำคัญให้โป สืบทอดวิชากังฟู โดยยกให้เป็นอาจารย์ถ่ายทอดให้เพื่อนร่วมสำนัก ได้แก่ นางเสือ พยัคฆ์ไทเกรส, นกกระเรียน เครน, ตั๊กแตน แมนทิส, ลิงจ๋อจอมบู๊ มังกี้ และอสรพิษ ไวเปอร์
แต่ด้วยขาดทักษะในการสอน ไม่เคยถ่ายทอดวิชาให้ใครมาก่อน ภารกิจการเป็นอาจารย์กังฟูวันแรกของแพนด้าตัวอ้วน จึงทำเอาเพื่อนร่วมสำนัก สะบักสะบอมไปตามๆกัน
แล้วเรื่องราววุ่นๆ อีกเรื่องก็เกิดขึ้น ภายในร้านบะหมี่เกี๊ยวของ “มิสเตอร์พิง” ห่านคอยาว ซึ่งเป็นพ่อบุญธรรมของแพนด้า เพราะเลี้ยงแพนด้าโปมาตั้งแต่แบเบาะ ได้พบความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เมื่อมี “แพนด้ายักษ์” นามว่า “ลี่” ปรากฏกายขึ้นในร้านของเขา พร้อมกับบอกว่า ออกมาตามหาลูกชายแพนด้าที่หายสาบสูญไปเมื่อหลายปีก่อน
เมื่อโปกับลี่ได้พบหน้ากัน ความผูกพันบางอย่างก็เกิดเป็นเคมีถูกชะตา พร้อมความจริงที่เปิดเผยว่า นี่ล่ะ พ่อที่แท้จริงของแพนด้าเสี่ยวโป ที่พลัดพรากจากกัน
แพนด้าสองพ่อลูกสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าความสุขก็ไม่ยืนยาวมากนัก เมื่อเหล่ายอดกังฟูที่โดนไคดูดพลัง และตกอยู่ใต้อำนาจบังคับของเขา ถูกส่งมาสืบข่าวพร้อมทั้งก่อความเดือดร้อนภายในหมู่บ้าน กระทั่งเกิดการปะทะกับยอดกังฟู ศิษย์ของปรมาจารย์ชิฟู เปรียบเสมือนเป็นการแนะนำตัวว่า ศัตรูที่ยิ่งใหญ่อย่าง “ไค” กำลังจะมาเยือนในไม่ช้า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ชิฟูเข้าไปสืบค้นข้อมูลในพงศาวดาร ค้นพบตำนานโบราณว่า แท้จริงแล้ว ไคกับอาจารย์เต่าอูเกว เคยเป็นสหายร่วมรบด้วยกัน วันหนึ่งอูเกวบาดเจ็บ จึงถูกนำตัวไปรักษาที่หมู่บ้านแพนด้า ซึ่งเหล่าแพนด้าที่แสนจะธรรมดา รักสงบ ไม่น่าจะมีวิทยายุทธใด ทว่ากลับมีวิชาด้านหนึ่ง คือ กำลังภายใน ที่ช่วยฟื้นสภาพอาการบาดเจ็บได้ ทำให้ไคคิดการใหญ่ อยากครอบครองวิชาทั้งหมด เพื่อสร้างอำนาจตนให้มากขึ้น จุดพลิกผันครั้งนั้น อาจารย์อูเกวจึงส่งเพื่อนร่วมรบลงไปอีกภพ ฝากเป็นรอยแค้นในใจของไคที่สั่งสมไว้รอวันชำระ
วิชาของหมู่บ้านแพนด้าตามตำนานดังกล่าว จึงน่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่การพิชิตไคได้ ลี่กับโป แพนด้าสองพ่อลูก จึงออกเดินทางไปตามหาหมู่บ้านแพนด้า ที่หลายคนคิดว่าสาบสูญไปแล้ว โดยมีมิสเตอร์พิง ห่านคอยาว ผู้เป็นพ่อบุญธรรม ติดสอยห้อยตามไปด้วย
เมื่อการเดินทางอันยาวนานสิ้นสุดลง โปค้นพบว่า หมู่บ้านแพนด้าทั้งแปลก ทั้งน่ารัก กว่าที่คิด แพนด้าทุกตัวใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานตามธรรมชาติ จนแพนด้าลูกครึ่งที่เติบโตในสังคมอีกแบบอย่างโป ต้องปรับตัวยกใหญ่
อย่างไรก็ตาม ศึกใหญ่กำลังคืบคลานเข้ามา เพราะในฟากของหมู่บ้านเดิมที่เขาจากมา ไคกับเหล่าสมุนเดินทางมาปราบยอดฝีมือเกือบหมด เหลือเพียงนางพยัคฆ์ไทเกรส ที่หนีรอดมาแจ้งข่าวได้
ไทเกรสหนีออกมาตามคำสั่งของอาจารย์ชิฟู ที่พ่ายแพ้ไค และถูกดูดกลืนพลังเข้าไป พร้อมกับลูกศิษย์รายอื่น เธอตามหาหมู่บ้านแพนด้าจนเจอ พร้อมบอกสถานการณ์ให้โปรับรู้ว่า ไคเก่งเกินกว่าจะรับมือได้เพียงคนเดียว วิธีที่จะต่อกรกับนักรบกระทิงจอมโหดได้ คงต้องใช้กองทัพแพนด้าทั้งหมดในหมู่บ้าน มาฝึกวิชาการต่อสู้
อย่างที่บอกแล้วว่าโปไม่รู้หลักการสอนวิชากังฟู แต่แล้วในวิกฤตก็เกิดปัญญา เมื่อโปมองว่า เขาไม่จำเป็นต้องสอนกังฟูให้เพื่อนแพนด้าตัวอื่น เพียงแต่ต้องสอนทักษะในสิ่งที่ทุกตัวมีและทำได้ดีอยู่แล้ว เพื่อนำมันมาใช้รับมือกับไค
บทสรุปในสงคราม กองทัพแพนด้ากับไค จึงเป็นไปตามคาดหมาย เพราะไคไม่สามารถใช้สมุนไปต่อกรกับแพนด้านับร้อยตัวในหมู่บ้านได้เลย แต่ทว่าสิ่งที่พลิกความคาดหมาย เกิดขึ้นในการต่อสู้ระหว่างกระทิงจอมโหด กับแพนด้าจอมกวน แบบตัวต่อตัว ความสามารถของไคนั้นเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด สุดท้ายแล้ว โปจึงเสียสละด้วยการใช้พลังท่าไม้ตาย นำทั้งตัวเองและไค กลับคืนสู่ปรโลกด้วยกัน เพื่อให้เพื่อนๆรายอื่นปลอดภัย
การต่อสู้ในปรโลก เพิ่มความโกรธแค้นให้ไคเป็นอย่างมาก เพราะไม่คิดว่าจะมีใครกล้าสละตัวเองดึงเขากลับมา แต่ก่อนที่โปจะเพลี่ยงพล้ำอีกรอบ เหล่าแพนด้า รวมทั้งมิสเตอร์พิง และไทเกรส ต่างร่วมแรงร่วมใจส่งพลังจิตไปให้โป จนสามารถเอาชนะจอมวายร้ายได้ และกลับมายังภพปกติได้ด้วย
ภาพยนตร์จบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง โดยแพนด้าอ้วนผันตัวเองมาเป็นอาจารย์สอนกังฟูอย่างเต็มตัว และหมู่บ้านก็กลับคืนสู่ความสงบสุขอีกครั้ง
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เราสามารถแยกแยะได้ไม่ยากว่า “ไค” เป็นตัวแทนของ “โลภะ” ที่เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด หวาดระแวง กลัวว่าผู้อื่นจะเหนือกว่า ความอยากได้อำนาจ และพลังของคนอื่นมาเพิ่มพูนให้ตนไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด เป็นลักษณะของคนที่ไม่มีความสุขอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าจะได้สิ่งใดมาก็ไม่มีวันพอใจ และ “โลภะ” ก็เป็นกิเลสประเภทหนึ่ง ที่เป็นตัวทำลายศีลธรรมได้อย่างน่ากลัว
ส่วน “โป” เป็นตัวแทนของ “ความสุขอย่างพอเพียง” เมื่อตัวเองมีความสุขแล้ว ก็ใช้ความสามารถที่ตนมีช่วยเหลือชาวบ้าน โดยไม่มีความคิดอยากเป็นอาจารย์สอนกังฟู เพราะรู้ว่าตนเองยังไม่พร้อม ซึ่งเปรียบได้กับการรู้จักประมาณตน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เขาจึงเริ่มฝึกฝนตนเอง พร้อมกับใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา ก่อนจะกลายเป็นผู้นำของหมู่บ้านแพนด้าในที่สุด
ความสุขพอเพียงเสมือนหลักพุทธเรื่องทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นการเลือกปฏิบัติชีวิต ให้เกิดความสมดุล ไม่มาก ไม่น้อย ทำให้ชีวิตไม่เดือดร้อน และก่อให้เกิดปัญญาได้มากกว่าคนที่ถูกโลภะ เข้าครอบงำจิตใจ
การเลือกยึดความพอเพียงยังทำให้ไม่ตกไปสู่อำนาจของกิเลสได้โดยง่าย จึงเป็นความสุขที่ยั่งยืน รวมทั้งเกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นอย่างแท้จริง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 185 พฤษภาคม 2559 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)
จาก http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9590000044715