ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: มิถุนายน 29, 2016, 08:13:14 pm »โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 มีนาคม 2559
ทุกครั้งที่มีโอกาสและเวลา ผมจะออกไปชมและแสวงหาความงามในสวน ไม่ว่าจะเป็นสวนที่บ้าน สวนที่โรงแรมที่ไปพัก แหล่งท่องเที่ยวที่ไปชม เพราะทุกครั้ง จะได้ชมและค้นพบความงามที่แปลกใหม่ไม่เหมือนเดิมตลอดเวลา ช่วยให้ผ่อนคลาย ตื่นตาตื่นใจ เพลิดเพลิน และมีความสุข โดยเฉพาะความงามเล็กเล็กที่ละเอียดอ่อน ละมุนละไม เช่นดอกไม้ เกสรดอกไม้ ลวดลายและสีสันของดอกไม้ ใบหญ้า จากที่ไม่เคยสนใจเป็นพิเศษเพราะคุ้นชินสายตา เช่นดอกกะเพรา หรือโหระพา แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ สังเกตอย่างรอบด้าน ก็มองเห็นความงามที่ละเอียดอ่อนของสิ่งที่สังเกต ทึ่งและประทับใจในความงามตามธรรมชาติ ทำให้ผมเริ่มสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างมีสติเพิ่มมากขึ้น ช้าลง ไม่เร่งรีบ เพราะยิ่งช้า ยิ่งมีสติ ยิ่งสังเกตเห็นมหัศจรรย์ความงามของธรรมชาติมากขึ้นทุกที มองเห็นความงาม คุณค่า และความหมายของสิ่งเล็กเล็กที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ทั้งระหว่างสิ่งเล็กเล็กด้วยกันไปจนถึงสิ่งที่ใหญ่กว่าเช่นโลก เช่นจักรวาล
ผมเริ่มเก็บภาพความงามเล็กเล็กที่ผมพบด้วยกล้องในมือถือ แล้วส่งต่อความงามเหล่านั้นให้เพื่อนๆและคนที่รู้จัก เพียงเพราะอยากแบ่งปันความสุขเล็กเล็กที่มอบให้ได้
ผมเรียนรู้ที่จะขอบคุณอย่างลึกซึ้งต่อสรรพสิ่งที่ช่วยให้ผมได้พบ ได้เห็น ได้สัมผัส และเข้าใจความจริง ความดี และความงามที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไป ขอบคุณจริงๆ ...จักรวาล โลก ขุนเขา แม่น้ำ ดอกไม้ใบหญ้า คน สัตว์ เซลล์ โมเลกุล อะตอม ควาร์ค...ขอบคุณสำหรับความงาม คุณค่า และความหมายที่ให้
ปัจจุบัน ผมให้โอกาส ผมให้เวลากับตัวเองเพื่อค้นพบความเปลี่ยนแปลงที่งดงามตามธรรมชาติเสมอ ความสุขช่างงดงาม หาได้ง่ายๆ ใกล้ตัว ไม่แพง
เมื่อสุขภาวะทางจิตวิญญาณดี สุขภาพจิต และสุขภาพกายก็ดีตามไปด้วย
ผู้สูงอายุ หรือผู้เชี่ยวชาญชีวิต ควรให้เวลาและโอกาสกับตัวเอง ออกไปชื่นชมกับสิ่งเล็กเล็กรอบบ้าน อยู่กับเขาอย่างมีสติ ช้าๆ ไม่เร่งรีบฉาบฉวย สังเกตความงดงามของเขาตามธรรมชาติ เราจะเพลิดเพลินและมีความสุข ระบบการหายใจ ระบบชีวิตของเราก็จะดีขึ้น เราจะรู้สึกว่าเวลามันผ่านเร็ว และมีความหมายกับชีวิตมากเหลือเกิน เราจะเรียนรู้ว่า สรรพสิ่งแม้จะเล็กแค่ไหนก็มีความหมายในตัวเอง เมื่อเราค้นพบและเห็นคุณค่าของเขา แล้วเราจะพบว่าความงามเป็นคุณค่าของชีวิต ความคิดและจิตใจ ซึ่งจะส่งผลต่อการคิด การพูดและการกระทำของเราในท้ายที่สุด
ครูอาจารย์ลองพาลูกศิษย์ออกไปสังเกต เรียนรู้ ค้นหาความงามของสิ่งเล็กๆ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ นอกห้องเรียนดูบ้าง ให้เวลาอยู่กับสิ่งนั้น บันทึกสิ่งที่สังเกตเห็น ความรู้สึก สิ่งที่คิด บทเรียนที่ได้รับ แล้วนำกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เราอาจจะได้นักวิทยาศาสตร์ชั้นยอด หรือศิลปินชั้นเยี่ยมในอนาคตก็ได้
ผู้บริหารลองลงมาสัมผัสกับความงาม ค้นหาและให้คุณค่าของลูกน้องคนเล็กๆ ระดับล่างดูบ้าง หากลูกน้องเขารู้สึกและรับรู้ได้ว่าผู้บริหารเห็นคุณค่าของเขา เขาน่าจะทำงานอย่างทุ่มเทและอย่างมีความสุขเพิ่มมากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขารู้สึกหรือรับรู้ว่าผู้บริหารไม่เห็นคุณค่าในตัวเขา เขาจะทำงานในลักษณะใด ลองจินตนาการดู
ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สนใจแต่การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สนใจแต่ความเก่งที่ได้มาจากการทำข้อสอบเพื่อที่จะแข่งกับระดับโลก ก็จะเอาแต่ออกนโยบาย มาตรฐาน เกณฑ์และตัวชี้วัดเพื่อผลักดันความเก่ง ส่วนความดี ความงามและความสุข กลับไม่ให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกับความเก่ง อะไรจะเกิดขึ้นกับคุณภาพของประชากรของประเทศในอนาคต เราคงมีแต่คนเก่งที่เห็นแก่ตัวและพวกพ้องเต็มไปหมด เก่งคอร์รัปชั่นในทุกระดับ จับไม่ค่อยได้ ไล่ไม่ค่อยทัน ลองหันมาคิดพิจารณาเรื่องการทำความดี ความงามเล็กเล็กที่แต่ละคน แต่ละสถานศึกษาสามารถจะทำได้ สมจริง สอดคล้องกับบริบทของเด็ก โรงเรียน และชุมชนดูบ้าง โดยไม่ต้องยัดเยียดมาตรฐานประเทศ มาตรฐานโลกลงไปกดทับ ไม่แน่นะครับ ในอนาคตเราอาจเป็นต้นแบบที่คนทั้งโลกหลั่งไหลมาดูงานและอ้างอิงถึง เป็นโรงเรียนที่เก่งในเรื่องความสุข ความดี ความงาม
นักวิทยาศาสตร์เขาสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กเล็ก เขาก็สนใจศึกษาค้นคว้า ต่อมาก็กลายเป็นองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ได้และเป็นประโยชน์สุขต่อมนุษยชาติได้
นักการเมืองลองทำความดีความงามเล็กเล็ก โครงการเล็กเล็กที่เกิดประโยชน์และสร้างสุขแก่ชุมชนอย่างแท้จริง แล้วทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ ท่านก็จะเป็นนักการเมืองที่ยิ่งใหญ่ได้
หากพวกเราทุกคนทุกหมู่เหล่า เริ่มคิด และทำสิ่งเล็กเล็กที่ดีที่งาม ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากการมองเห็นความงาม คุณค่า และความหมายของสิ่งนั้นก่อน แล้วมุ่งมั่นทำอย่างต่อเนื่อง เราก็จะเห็นความงาม คุณค่า และความหมายของสิ่งที่ใหญ่กว่าเช่นสังคมไทย โลกและจักรวาลได้
จาก http://jitwiwat.blogspot.com/2016/03/blog-post_18.html#more