ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2016, 06:47:42 am »คุณภาพของการอยู่ร่วมกันสร้างได้ด้วย ‘สติสื่อสาร’ (1)
มีคำคมประโยคหนึ่งกล่าวไว้ว่า “คนฉลาด…ไม่ใช่ผู้ชนะการโต้แย้ง แต่คนฉลาดคือ ผู้ที่ออกห่างจากการโต้แย้งตั้งแต่เริ่มต้น” น่าสนใจว่า อะไร?
คือเครื่องมือที่ถูกหยิบมาใช้ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวของผู้ฉลาดที่ว่านี้
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และเครื่องมือสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของการอยู่ร่วมกันระหว่างพวกเราก็คือการสื่อสาร ด้วยเพราะองค์ประกอบสำคัญบางอย่างภายในสมอง ทำให้มนุษย์มี ‘ต้นทุนพิเศษ’ ที่แตกต่างจากสัตว์อื่นๆในโลก สิ่งนั้นคือความสามารถในการเรียนรู้เรื่องการพัฒนาจิตหรือการฝึกสมาธิและสตินั่นเอง หากต้นทุนดังกล่าวนี้ถูกนำไปผนวกเข้ากับทักษะการดำรงชีวิตในด้านต่างๆแล้ว ก็จะยิ่งเติมเต็มคุณภาพในการทำงาน ช่วยสร้างเสริมสัมพันธภาพและความสุขในการดำเนินชีวิตได้
โดยปกติแล้ว เมื่อพูดถึงหลักพื้นฐานของการสื่อสาร จะพบว่าทุกคนเป็นคู่สื่อสารโดยเป็นทั้งผู้รับและผู้ส่งสารในเวลาเดียวกันเสมอ และสารที่ถูกส่งออกไปนั้นเป็นได้ทั้ง วจนภาษา (ภาษาที่เป็นถ้อยคำ) และ อวจนภาษา (ภาษาท่าทาง ซึ่งได้แก่ สายตา สีหน้า น้ำเสียง ท่าทาง ระยะห่างและสัมผัสต่างๆ ฯลฯ) ความเข้าใจนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในขณะที่เราเป็นผู้ฟัง เราก็ยังเป็นผู้ส่งสารออกไปด้วยซึ่งก็คืออวจนภาษาต่างๆ ขณะเดียวกันเมื่อเราเป็นผู้พูด เราก็จะรับสารจากผู้ฟังด้วยเช่นกันว่าเขามีการตอบสนองอย่างไร ด้วยความเข้าใจในหลักการนี้เอง จะทำให้เกิดการสื่อสารที่ดีทั้งในฐานะผู้รับและผู้ส่งสาร (ทั้งที่เป็นคำพูดและกริยาท่าทาง) แต่ความเป็นจริง--อาจไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป เพราะแม้เราจะเข้าใจพื้นฐานตรงนี้ดี แต่หลายครั้งการส่งและรับสารนั้นต้องล้มเหลว สาเหตุเพราะถูกอารมณ์และความรู้สึกต่างๆเข้ามาสอดแทรกกลางทาง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ต่อต้าน-โต้เถียงและบางครั้งอาจรุนแรงจนถึงขั้นปะทะกันในที่สุด การพยายามรู้ลมหายใจขณะพูดหรือฟัง หรือการใช้ ‘สติในการสื่อสาร’ จึงเป็นวิธีการของผู้ที่ฝึกจิตสม่ำเสมอเลือกนำมาใช้เพื่อลดปัญหาดังกล่าวและสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างได้ผล
มีศัพท์ที่น่าสนใจอยู่2คำเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือคำว่า‘ภาษาฉัน’(I-Message) และ‘ภาษาแก’(YOU-Message) ในทางจิตวิทยาพบว่าการใช้‘ภาษาฉัน’เพื่อถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกหรือความต้องการ จะทำให้เกิดการสื่อสารที่มีคุณภาพขึ้น ช่วยสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้ง ต่างกับการสื่อสารที่ใช้‘ภาษาแก’ที่แสดงออกในเชิงตำหนิ สั่งสอนหรือบ่นว่าซึ่งบ่อยครั้งสร้างผลลัพธ์ในทางตรงข้าม
“ทำไม เธอถึงมาสายอีกแล้ว!” กับ “ฉันเป็นห่วงที่เธอมาสาย มีอะไรรึเปล่า”
….คือตัวอย่างของการใช้ ‘ภาษาแก’และ'ภาษาฉัน’ ซึ่งน่าจะช่วยเสริมคำอธิบายในย่อหน้านี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ในโลกของการสื่อสาร แม้คนเราจะชอบฟังความจริง…แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับความจริงได้ มีข้อคิดที่น่าสนใจจากโสเครติสว่า ก่อนที่แต่ละคนจะพูดหรือสื่อสารอะไรออกไปนั้น ควรนึกถึงตัวกรอง 3 อย่างก่อนคือ 1. ความจริง 2.สิ่งที่ดี และ 3. เป็นประโยชน์ ทั้งนี้เพราะบางคำพูดนั้นอาจทำลายหรือทำร้ายคนอื่นได้แม้จะเป็น 'ความจริง’ ขณะที่บางสถานการณ์เราก็ไม่จำเป็นต้องพูดออกไปหากพูดแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้น อย่างไรก็ตาม--จะพบความแตกต่างในทางที่ดีขึ้นเสมอหากการสื่อสารแต่ละครั้งนั้นมีสติกำกับอยู่ด้วย เพราะสติจะสร้างวิธีสื่อสารที่มีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้น--เมื่อมีสติ เราจะพบเองว่า 'การปล่อยวาง'นั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริง
เมื่อคนหนึ่งคน…มีอิทธิพลต่อคนอื่นๆ บางครั้งคนหนึ่งคนก็สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย และคนๆเดียวกันนี้อีกเช่นกัน…ยังสามารถเปลี่ยนบรรยากาศในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นให้รื่นรมย์ขึ้นได้ สิ่งที่ไม่ควรลืมถามตัวเองก็คือ จำเป็นหรือไม่...ที่ต้องให้ผู้อื่นเป็นผู้เริ่มก่อน ในเมื่อหนทางหรือจุดเริ่มต้นซึ่งเป็นพื้นฐานจริงๆนั้น อยู่ที่จิตใจของตัวเราเอง
จาก http://www.thaimio.com/
คุณภาพของการอยู่ร่วมกันสร้างได้ด้วย ‘สติสื่อสาร’ (2)
“เ ร า ทุ ก ค น ต้ อ ง ก า ร ที่ จ ะ พู ด
แ ต่ สิ่ ง ที่ ต้ อ ง ก า ร ม า ก ก ว่ า นั้ น
คื อ ต้ อ ง ก า ร ค น ฟั ง”
ว่ากันว่า…สิ่งสวยงามที่สุดอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์คือการยอมรับและรับฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งสอดรับกับสิ่งที่นักจิตวิทยาบอกไว้ว่าหลักพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์ข้อหนึ่งคือความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับ และ'การฟัง’ก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการยกย่องหรือการให้เกียรติที่แต่ละคนสามารถแสดงให้ผู้อื่นเห็นได้ ซึ่งคุณลักษณะนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจิตใจของมนุษย์ได้รับการพัฒนาหรือยกระดับให้สูงขึ้น ใจที่เปิดกว้างเพื่อรับฟังผู้อื่น…จึงเป็นกุญแจอีกดอกหนึ่งซึ่งสำคัญมากในการสื่อสาร
แต่ในบรรดาทักษะทั้งหลายที่มีของคนเรา การฟังกลับคือตัวเชื่อมที่อ่อนที่สุดในระบบการสื่อสาร ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมีความไม่สมดุลเกิดขึ้นระหว่างความเร็วของการพูด (ซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ในอัตรา125คำ/นาที) กับความเร็วของการฟังและการคิดตาม(ซึ่งอัตราอยู่ที่500คำ/นาที) .…นั่นหมายถึงมนุษย์เราสามารถฟังและทำความเข้าใจได้เร็วกว่าพูดถึง4เท่า ช่องว่างตรงนี้นี่เองที่ทำให้ผู้ฟังมีเวลาว่างระหว่างรอผู้พูด เป็นเหตุให้สมองหันเหความสนใจไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ ใจลอย เสียสมาธิ เก็บประเด็นไม่ครบถ้วนส่งผลให้เกิดความล้มเหลวที่จะฟังอย่างมีประสิทธิภาพตามมา
และเมื่อมองออกมานอกตัว ปัญหาหลักในสังคมปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นมาจาก"การไม่ฟังกัน" …ภายในครอบครัว พ่อแม่ไม่ฟังลูก ลูกไม่ฟังพ่อแม่ สามีภรรยาไม่ฟังกันฯลฯ ภายในชุมชนหรือองค์กร ภายในประเทศ ภายในโลก…ไม่มีใครยอมหยุดเพื่อฟังกัน แม้โลกเราจะล้ำหน้าไปด้วยเทคโนโลยีระดับสูงมาก สามารถพูดคุยสื่อสารกันข้ามทวีปหรือกระทั่งข้ามดวงดาวกันได้แล้ว แต่เหลือเชื่อที่บ่อยครั้ง--คนในสังคมเดียวกันกลับพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง สื่อสารกันไม่เข้าใจ ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขาเหล่านั้นละเลยหรือขาดการฝึกฝนในเรื่อง"การฟังอย่างลึกซึ้ง" (Deep Listening) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญมากของทุกคนในสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
...แล้วหลักการของ"การฟังอย่างลึกซึ้ง"หรือDeep Listeningนั้นเป็นอย่างไร ?
คำตอบที่เป็นเทคนิคง่ายๆคือ …//รู้ลมหายใจ....//ฟัง...//ใคร่ครวญ
เป็นการฟังอย่างตั้งใจและฟังเพื่อให้ได้ยิน มีการเฝ้าสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของตนเองในขณะที่ได้ยินเสียงต่างๆผ่านเข้ามากระทบ เป็นการฟังแบบ‘มนุษย์สัมผัสมนุษย์’ โดยละวางภาพลักษณ์ อำนาจ การครอบงำ ไม่ด่วนสรุปหรือวิพากษ์วิจารณ์คำพูด ความคิด และผู้พูด แต่จะฟังเพื่อให้ได้ยินทั้งความหมาย(meaning)ที่แท้จริงที่แต่ละคนต้องการสื่อ และความหมายที่คลี่(unfold)ออก มาจากการสนทนานั้น ขณะเดียวกันก็‘วาง’ชุดความคิด 2 ลักษณะ คือความคิดโต้แย้งกับความคิดที่จะไปต่อยอดหรือความรู้สึกดีๆที่คนอื่นคิดเหมือนเรา พร้อมตระหนักถึงจุดยืนอื่นและการเข้าถึงได้ไม่หมด อย่างไรก็ตาม—แม้ดูแล้วเหมือนไม่ใช่เรื่องยากแต่ทักษะต่างๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติจำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนจนเป็นนิสัย ซึ่งการฝึกสมาธิและสติอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสนับสนุนให้เกิดทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งนี้ได้ดียิ่งขึ้น
ในสังคมของการอยู่ร่วม ใช่หรือไม่ว่าสิ่งที่เยียวยาความทุกข์ได้ชงัด คือการมีใครสักคนรับฟังอย่างจริงใจ สิ่งที่ดับอาการโกรธได้เด็ดขาด คือการที่อีกฝ่ายหยุดฟัง และสิ่งที่ทำให้แต่ละคนรู้สึกว่ายังมีตัวตนอยู่ คือการที่มีคนฟังเสียงของเขาอย่างตั้งใจ การฟังอย่างลึกซึ้งหรือDeep Listening…จึงเสมือนการเยียวยาทางจิตใจที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนั่นเป็นคุณค่าที่เราได้มอบให้กับผู้อื่น องค์กร หรือสังคมที่เราอาศัย แต่สิ่งนอกเหนือไปกว่านั้นคือ คุณค่าที่สะท้อนกลับมาสู่ตัวเราเอง ซึ่งได้แก่ความสุขสงบภายในใจ การหลุดพ้นจากความขัดแย้ง การด่วนตัดสินผู้อื่น หรือการยึดถือความคิดของตัวเองมากจนเกินไป
ที่สำคัญ—'การฟังเป็น' จะทำให้เราคือ‘ชาที่ยังไม่เต็มถ้วย’ซึ่งเป็นสภาวะที่ช่วยเปิดการเรียนรู้และสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้น…ไม่ว่าเราจะอยู่ร่วมกับใครหรือที่ใดก็ตาม
จาก http://www.thaimio.com/