ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กรกฎาคม 06, 2016, 01:11:54 pm »ทางที่เดินมา กับ เวลาที่เดินไป บนสะพานไม้แห่งธรรม ภูทอก จ.บึงกาฬ
ถ้าคุณคิดว่าจะได้เห็นและสัมผัสอะไรแบบนั้น มันสมควรที่เราจะต้องมาเดินบนสะพานไม้แห่งนี้ให้ได้สักครั้งในชีวิตไม่ใช่หรือ.?
ภูทอก..ต้อนรับพวกเราด้วยฝนปรอยๆ เช้านี้...จึงเป็นการเริ่มต้นการเดินทางที่แฝงความสดชื่นไว้อย่างประหลาด เหมือนมีพลังของความแจ่มใสเจืออยู่ในความเย็นฉํ่าของเม็ดฝนเหล่านั้น และฝนก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคกับวิถีชีวิตยามเช้าของที่นี่แต่อย่างไร
พระสงฆ์ยังคงเดินออกบิณฑบาตเท้าเปล่าเปลือยยังคงเดินไปตามถนนฉํ่าฝน สองข้างทางเป็นวิวสวนยางที่เจริญงอกงามไม่ต่างไปจากภาคใต้เมื่อพระไม่กลัวฝน ชาวบ้านริมสวนยางก็ไม่กลัวเปียก ตลอดเส้นทางที่มุ่งไปยังภูทอกซึ่งเป็นที่ตั้งของ วัดเจติยาคิรีวิหาร เราจึงได้เห็นชาวบ้านออกมานั่งรับฝนพรำ ๆ รอใส่บาตรข้าวเหนียวตามวิถีของคนพุทธที่นี่
ภูทอก มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน โดยวัดจากฐานถึงยอด 460 เมตร เป็นที่ธรณีสงฆ์ 78 ไร่ 3 งาน 18 ตารางวา ทำให้พวกเรามองเห็นภูทอกตั้งแต่เข้ามาตามเส้นทางบึงโขงหลง ตามประวัติว่าไว้ว่า วัดเจติยาคิรีวิหาร หรือ ภูทอก ถูกค้นพบโดยพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ กับพระครูสิริธรรมวัฒน์ ที่ได้มาปักกลดอยู่ในถํ้าภูทอก ด้วยเห็นว่าที่นี่มีบรรยากาศที่เหมาะสมกับการนั่งปฏิบัติธรรม ต่อมาชาวบ้านคำแคนพร้อมใจกันอาราธนาให้สร้างเป็นวัดขึ้นที่ภูทอก มาจนถึงปี 2512 จึงได้ริเริ่มจัดสร้างสะพานไม้และบันไดขึ้นชมทัศนียภาพรอบๆ ภูทอก เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธรักษ์
ใครที่ได้มาเห็น มาเดินบนสะพานไม้ที่รายล้อมเป็นทางเดินวนไปรอบภูทอกแห่งนี้ จะต้องรู้สึกเหลือเชื่อว่าช่างท้องถิ่นบ้านนาคำแคน เค้าทำอย่างไรถึงสร้างบันไดและสะพานไม้ไต่หน้าผาที่สูงชันขนาดนี้ ไม่ใช่สั้น ๆ นะครับ เพราะสะพานแห่งนี้สูงและวนรอบภูเขาขึ้นไปถึง 6 ชั้น เลยทีเดียว (ปัจจุบันภูทอกมี 7 ชั้น) และแม้สะพานไม้มันจะดูเสียววาบ เหมือนว่าจะร่วงหล่นลงมาวินาทีไหนก็ได้ แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ดั้นด้นเดินทางมาก็เพราะเสน่ห์ของสะพานแห่งนี้แหละครับ ผมเองก็เช่นกัน ต่างแค่ว่าผมมาไม่ใช่เพราะแค่อยากสัมผัสสะพานไม้ แต่ผมชอบความหมายของคำว่า ภูทอก ที่แปลว่า ภูเขาอันโดดเดี่ยว
ยิ่งน่ากลัว...ยิ่งท้าทาย ยิ่งปีนป่าย...ยิ่งเข้าถึง ทางขึ้นภูทอก ทำเป็นซุ้มสวยงาม มีป้ายบอกว่าภูผาแห่งนี้ คือ บริเวณวัด ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป เพราะฉะนั้นการเดินขึ้นภู จึงควรปฏิบัติและให้เกียรติสถานที่ คือ เดินด้วยสมาธิ ไม่ส่งเสียงดัง และสำหรับท่านสุภาพสตรีก็ห้ามใส่กางเกงขาสั้นเสมอหูขึ้นไปนะครับ สำหรับใครที่ติดนํ้าขวดขึ้นไปกินก็อย่าลืมเอาลงมาด้วย
ช่วงแรกของการขึ้นภูทอกชั้นที่ 1 และ 2 เราจะเจอกับทางขึ้นที่เป็นบันไดไม้ที่ค่อนข้างสูงชัน ผมเรียกว่าเป็น “เส้นทางช่วงปรับทัศนคติ” เพราะจะมีป้ายที่เขียนเป็นคติเตือนใจไว้ตลอดทาง ซึ่งผมว่าก็เหมาะมากแล้ว เพราะบันไดช่วงนี้ถ้าจะให้เดินรวดเดียวก็คงเป็นลมกันพอดี เมื่อมีป้ายคำคม ๆ ความหมายดี ๆ เราก็ค่อย ๆ เดินอ่านขึ้นไปเรื่อยๆ แค่หนึ่งเพลิน เราก็มาถึงทางแยกของบันได
ทีมงานบางส่วนแยกเดินไปทางซ้าย ส่วนผมเลือกเดินไปทางขวา เพราะอยากรู้ว่าจะเจออะไรเหมือนๆ กันหรือเปล่า เดินขึ้นมาไม่นานก็มาเจอสะพานไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันลงมือทำ แม้วันนี้จะมีการทำใหม่ดูแข็งแรงขึ้น แต่เมื่อมายืนอยู่บนสะพานไม้ที่สูงขนาดนี้ก็อดเสียววูบทุกก้าวเดินไม่ได้
ผมเดินวนไปตามทางผ่านชั้นสามและชั้นสี่ มีทางลัดตรงไหนก็ไม่ขึ้นเพราะอยากเดินไปเห็นในทุก ๆ รายละเอียดของสะพานแห่งนี้ เมื่อเดินขึ้นมาถึงชั้นห้า...ก็รู้สึกได้ว่าน่าหวาดเสียวที่สุด โดยเฉพาะหลายโค้งหักศอกที่เวลาเดินแล้วเหมือนตัวเราจะยื่นออกในอากาศ ทุกคนที่ขึ้นมาถึงชั้นนี้ จึงล้วนเดินด้วยความสงบนิ่ง ใครที่เคยเดินเท้าหนัก จะลงฝีเท้าแบบนุ่มเนียนไปโดยปริยาย ผมเองก็เดินแบบค่อย ๆ ก้าวขาไปทีละก้าว บางช่วงเสียวเท้าจนต้องหยุดเดิน
เดินไปเรื่อย ๆ ก็มาเจอกับสะพานหินธรรมชาติที่เชื่อมภูทอกไปยังภูเขาเล็ก ๆ ด้านบนยอดมีหินก้อนใหญ่ตั้งอยู่คล้ายจะหล่นลงไปได้ทุกเมื่อ และเมื่อเดินไปตามสะพานหินธรรมชาติก็พบว่าใต้หินก้อนใหญ่นั้น คือ พุทธวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พวกเรานั่งอยู่ที่นี่นานมาก เพราะยิ่งนั่งก็ดูเหมือนยิ่งสบาย ไม่ใช่เพราะเหนื่อยล้าจากการเดิน แต่เป็นความสบายของจิตใจที่ผ่อนคลายและรู้สึกสงบร่มเย็น ผมเองก็รู้สึกเช่นนั้น
เมื่อผ่านชั้นห้าไปยังชั้นหก แม้จะสูงขึ้นไปอีกชั้นก็ไม่น่าหวั่นวิตกอะไรแล้ว เพราะรู้แล้วว่า เราสมควรจะต้องเดินแบบไหนจึงจะถูกกาลเทศะและรู้สึกไม่หวาดเสียว บนชั้นหกนี้ก็มีจุดที่ตั้งพระพุทธรูปหลายจุด ความสูงทำให้เรามองออกไปเบื้องหน้า เห็นความเขียวชอุ่มของสวนป่ายางขนาดใหญ่ชนิดสุดลูกหูลูกตา เมื่อเดินไปจนสุดทางจะมีบันไดขึ้นไปชั้นเจ็ดซึ่งเป็นชั้นสูงสุดและเป็นทางเดินป่าซึ่งผมตัดสินใจไม่ขึ้นไป
ไม่มีเส้นทางที่เราคุ้นเคย มีคนบอกว่าใครทำธุรกิจ ให้มาเดินที่นี่แล้วจะรู้ว่าจริง ๆ แล้วไม่มีเส้นทางไหนที่เราคุ้นเคย แม้จะเดินผ่านมาแล้ว หรืออีกนัยนึงก็คือ อย่าหลงไปคิดว่าประสบการณ์ที่ผ่านมา จะทำให้เรารู้จักเส้นทางนั้น ๆ อย่างถ่องแท้ เพราะทางที่เราเห็น ๆ อยู่นั้น อาจไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป
ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจ แต่เมื่อขาเดินลงภูทอกจึงถึงบางอ้อ เพราะตอนแรกก็คิดว่าขึ้นมาอย่างไรก็ลงไปทางนั้น แต่ที่ไหนได้ สะพานไม้ที่เดินมากลับดูหลอกตาเหมือนกันไปหมด นึกว่าเดินลงทางเดิม แต่จริง ๆ เราอาจเผลอลงไปอีกทาง และผมก็หลงลงไปอีกทางจริง ๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็พาให้ได้มาเจอเวิ้งถํ้าสวยงามจุดหนึ่งที่เรียกว่า “กุฏิถํ้ายาว” บริเวณนี้มีการจัดวางรูปหล่อองค์พระเกจิอาจารย์แทบจะเรียกได้ว่าเกือบครบทุกองค์ เฉพาะที่นับได้ในขณะนี้ี มี 40 องค์ ใครนับถือเกจิอาจารย์องค์ไหนก็มีให้กราบไหว้แน่นอน
จุดนี้จึงเป็นจุดที่ดูขลังเอามาก ๆ และเป็นมุมที่สวยด้วยลวดลายของหินที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมาจนแทบไม่เห็นเหลี่ยมหินแหลมคม แต่บริเวณนี้มีแต่หินลักษณะโค้งมนกลมกลึงเหมือนมีใครเอากระดาษทรายมาขัดภูเขาส่วนนี้ยังไงอย่างงั้น
จากนั้นเราก็ต้องเดินลอดช่องหินแคบ ๆ ระยะนึง เมื่อโผล่ออกมาก็เจอบันไดเชื่อมสู่ชั้นที่ 2 แบบไม่รู้ตัว มันทำให้ผมรู้สึกว่าต่อให้เราเดินขึ้นไปอีกสักสองสามครั้ง ผมก็เชื่อว่า เราไม่มีทางเก็บรายละเอียดต่าง ๆ บนภูทอกนี้ได้หมด พิสูจน์ด้วยการถามเพื่อนที่ขึ้นไปอีกทางนึง สิ่งที่เค้าไปเจอ คือ ถํ้าต่าง ๆ มีถํ้าพญานาคและถํ้าฤษี ที่ผมไม่ยักจะเห็น และอื่น ๆ จนเหมือนขึ้นไปคนละภู
ถ้าถามว่าคุ้มไหมกับการเดินทางไกลไปบึงกาฬ เพื่อจะแค่มาขึ้นเดินบนสะพานไม้บนภูทอก คงต้องตอบว่า ถ้าคิดว่ามันเป็นแค่สะพานไม้ที่ท้าทายละก็ จะมาก็ได้ ไม่มาก็ได้ครับ แต่ถ้ามองว่า ไม้แต่ละขั้น ตะปูแต่ละดอก ที่ตอกตรึงให้สะพานไม้เหล่านี้ กำลังพาเราเดินไปสัมผัสกับบันไดชีวิต ฉุดให้เราได้คิด ได้เห็น ได้ทบทวนกับทุกก้าวย่างที่ผ่านมา ทั้งก้าวที่สำเร็จ และก้าวที่เคยผิดพลาด ถ้าคุณคิดว่าจะได้เห็นและสัมผัสอะไรแบบนั้น มันสมควรที่เราจะต้องมาเดินบนสะพานไม้แห่งนี้ให้ได้สักครั้งในชีวิตไม่ใช่หรือ.?.
รัฐรงค์ ศรีเลิศ-เรื่อง/ทีมงานนิตยสารหนีกรุง-ภาพ
www.Facebook/neekrungmagazine
ขอบคุณภาพและบทความจาก : http://www.dailynews.co.th/article/505906
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=21685.msg69102;topicseen#msg69102