ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กรกฎาคม 06, 2016, 02:46:05 pm »“เป็นไปไม่ได้ ที่จะมีชีวิตอย่างมีความสุข ถ้าบุคคลไม่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ด้วยความดีและความงาม และก็เป็นไปไม่ได้ ที่จะไม่มีความสุข ถ้าบุคคลดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญา ด้วยความดีและความงาม” (เอพิคิวรัส)
question-markถ้าถามว่า “อะไรคือสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด” หลายคนอาจจะ “ต้องการเงิน” “ต้องการบ้าน” “ต้องการเพื่อน” “ต้องการแฟน” “ต้องการความยุติธรรม” ฯลฯ และหากถามซ้ำอีกว่า เราต้องการสิ่งเหล่านี้ไปทำไม เชื่อแน่ว่า คำตอบที่เราจะได้รับคือ “อยากมีความสุข”
ความสุขดูเหมือนจะเป็นสุดยอดปรารถนาของมนุษย์ทุกคน แต่ความสุขจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อบุคคลคนนั้นเข้าใจว่า ความสุขคืออะไร
มีนักคิด นักปรัชญา นับไม่ถ้วนที่พยายามอธิบายว่า ความสุขคืออะไร เอมานูเอล ค้านท์ กล่าวว่า ความสุขต้องอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่ปนเปื้อนกับเรื่องส่วนตัว ขณะที่อริสโตเติ้ล เห็นว่า “องค์ประกอบของความสุขเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน และความสุขเป็นของคนส่วนใหญ่ ก็ไม่เหมือนกับความสุขของนักปรัชญา”
มาติเยอ ริการ์ (2552) นักบวชในพุทธศาสนาสายทิเบต ผู้ซึ่งเคยเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรมเซลล์ ชาวฝรั่งเศส ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับความสุขไว้ว่า ความสุขหมายถึง ความเบิกบานอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเกิดจากจิตที่มีสุขภาวะดียิ่ง ที่ไม่ใช่แค่ความเพลิดเพลิน ไม่ใช่ความรู้สึกหรืออารมณ์ชั่วครู่ชั่วยาม แต่เป็นภาวการณ์ดำรงที่ดีที่สุด นอกจากนี้ ความสุขยังเป็นวิธีการตีความโลกได้ด้วย เราอาจเปลี่ยนโลกได้ยาก แต่การเปลี่ยนวิธีมองโลกนั้น เราทำได้ตลอดเวลา ส่วนนักบุญออกัสติน กล่าวว่า ความสุขคือการยินดีกับความจริง
ในยุคศตวรรษที่ 20 และ 21 มีแนวคิดทฤษฎีทางจิตวิทยาเกี่ยวกับความสุข โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. Need/Goal satisfaction theories
2. Process/Activity theories
3. Genetic/Personality predisposition (Diener et. al, 2002)
ประเภทแรก นักจิตวิทยาแกนนำที่สำคัญคือ Sigmund Freud และ Abraham Maslow แนะนำว่า การลดความตรึงเครียดหรือความพึงพอใจในความต้องการที่จำเป็นของตน จะนำไปสู่ความสุข นั่นคือ เราจะมีความสุขต่อเมื่อเราบรรลุถึงเป้าหมายหรือความต้องการของเรา
ประเภทที่สอง นักจิตวิทยาที่สำคัญ เช่น Mike Csikszentmihalyi (อ่านว่า ไมค์ ชีคเซนต์มีไฮย์) พบว่า บุคคลที่มีโอกาสทำกิจการต่างๆ ตามที่ตนสนใจและสอดคล้องกับทักษะ หรือศักยภาพของตนจะมีความสุขมาก แนวคิดนี้เน้นว่า ความสุขจะเกิดจากการอุทิศตนทำกิจการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
ประเภทที่สาม นักจิตวิทยาที่สำคัญ เช่น Costa, McCrae, Diener, Tellegen, Watson เป็นต้น กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเห็นว่า ความสุขเป็นสิ่งที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ เนื่องจาก ความสุขจะสัมพันธ์กับบุคลิกภาพและพันธุกรรม จากการศึกษาค้นคว้าทางด้านชีววิทยาหรือตัวบ่งชี้ทางพันธุกรรมพบว่า 40% ของผู้ที่มีอารมณ์ดี และ 55% ของผู้ที่มีอารมณ์เสียมีส่วนเกี่ยวพันกับพื้นฐานทางพันธุกรรม (Tellegen et al. 1988)
อย่างไรก็ดี แม้จะมีนักวิชาการหลากหลายแขนงสาขาวิชาอธิบายความสุขในแง่มุมต่างๆ ทว่าความสุขจะไม่เกิดในใจของบุคคลได้ จนกว่าบุคคลนั้นจะมีประสบการณ์บางอย่างในชีวิตเสียก่อน ความสุขหรือความทุกข์จึงจะตามมา นั่นคือ ความสุขเป็นผลพลอยได้จากการกระทำบางอย่างของเรานั่นเอง
อับราฮัม ลินคอล์น กล่าวไว้ว่า “คนส่วนใหญ่จะมีความสุขเท่าที่ใจเขาคิด” นั่นคือ เราจะสุขหรือจะทุกข์ไม่ได้เกิดจากการที่เราประสบ แต่เกิดจากการรับรู้ของเราที่มีต่อโลก ต่อสิ่งที่เข้ามาในชีวิตของเราต่างหาก ตัวอย่างเช่น เด็กนักเรียนคนหนึ่งรู้สึกเครียดมากที่สอบได้ 3.10 เนื่องจากเทอมที่แล้วเขาได้ 3.45 ขณะที่เพื่อนของเขาได้ 3.10 เท่ากัน แต่กลับดีใจและภูมิใจมาก เนื่องจากเทอมที่ผ่านมา เขาได้แค่ 2.80 แม้จะมีประสบการณ์เดียวกัน แต่รับรู้ต่างกัน ความรู้สึกจึงแตกต่างกันตามไปด้วย
ดังนั้น ตราบใดที่เราไม่อาจยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบันได้ ตราบนั้น ความสุขก็มิอาจเกิดขึ้นในใจของเราได้เช่นกัน แม้เราจะพยายามบอกกับตัวเองว่า “ฉันมีความสุข ฉันมีความสุข” มากมายสักกี่ครั้งก็ตาม เราก็ทำได้เพียงแค่หลอกตัวเองไปวันๆ เท่านั้น
ในทางจิตวิทยา Seligman (2002) ได้แนะนำว่า ชีวิตที่มีความสุขและมีความหมายเป็นผลมาจากการมีสุขภาพจิตที่ดี ขณะที่ Ryff และ Keyes (1995) มีความเห็นว่า ชีวิตที่จะมีสุขภาวะ ควรประกอบด้วยสุขภาวะทางด้านอารมณ์ (เช่น มีความพึงพอใจในชีวิต มีความรู้สึกในเชิงบวก และไม่มีความรู้สึกเชิงลบตกค้างภายในใจ) ด้านสังคม (เช่น ได้รับการยอมรับและความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น) และด้านจิตใจ (เช่น การยอมรับในตนเอง การเติบโตงอกงามส่วนบุคคล การเป็นนายเหนือสภาพแวดล้อม)
อย่างไรก็ตาม สุขและทุกข์เป็นของคู่กันกับมนุษย์ เรามิอาจปฏิเสธความทุกข์และเลือกที่จะรับแต่ความสุข ทว่า ชีวิตย่อมมีทั้งสุขและทุกข์ เพื่อให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองสู่ความสมบูรณ์มากขึ้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เรามิอาจปฏิเสธได้เลยก็คือ เรามิอาจจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้เลย หากเราไม่เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตนเอง เรามิอาจจะได้รับสิ่งใหม่ๆ ใดๆ โดยยังคงกระทำสิ่งต่างๆ เหมือนเดิม ดังภาษิตทิเบตที่กล่าวไว้ว่า “การแสวงหาความสุขจากภายนอกก็เหมือนกับการนั่งรอแดดอยู่ภายในถ้ำ ที่หน้าถ้ำหันไปทางทิศเหนือ” ดังนั้น หากปรารถนาจะมีความสุขในทุกๆ ลมหายใจของชีวิต หรืออย่างน้อยมีความสุขในชีวิตเป็นส่วนใหญ่ เราคงต้องเริ่มมาคิดทบทวนเสียก่อนว่า เราควรจะเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรที่ต่างไปจากเดิมได้อย่างไร
การเปลี่ยนแปลงสู่ความสุขทำได้หลากหลายวิธี แต่สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือ ก้าวแรกของการปรับเปลี่ยน การเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างจะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ถ้าเราไม่เริ่มต้นจากความตั้งใจจริงและเริ่มลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จตามที่มุ่งหวัง ดังนั้น ขั้นตอนแรกของการพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่คือ การเปลี่ยนวิธีคิดและพูดถึงตัวเราเอง ทั้งนี้เพราะเราเป็นคนตัดสินภาพลักษณ์ของตัวเราเอง ตัดสินคุณค่าของตัวเรา และตัดสินว่าเราจะคาดหวังในความสุขได้มากแค่ไหน (แดนดรูว์ แมตทิวส์ 2550)
การปรับเปลี่ยนวิธีคิดนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต และวิถีทางหนึ่งที่นำไปสู่ความสุข คือ การเป็นผู้ให้ น่าแปลกใจ ที่หลายคนคิดว่าการให้เปรียบเสมือนการทำให้ตนเองสูญเสีย แล้วจะมีความสุขไปได้อย่างไร เป็นคำถามที่น่าสนใจ จนมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามแสวงหาคำตอบและค้นพบว่า การให้ก่อให้เกิดผลดีต่อบุคคลที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สู่บุคคลอื่น (Post & Neimark, 2007) ตัวอย่างเช่น
Paul Wink นักจิตวิทยาแห่งวิทยาลัย Wellesley College ทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 200 คน ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมปลายจนเข้าสู่วัยกลางคน ใช้ระยะเวลาศึกษาติดตามกลุ่มตัวอย่าง 50 ปี ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ให้มีสุขภาพกายและจิตใจที่ดีกว่ากลุ่มทดลอง ซึ่งอยู่ในช่วงวัยเดียวกัน
Peter Benson นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่ง Minneaspolis ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างเยาวชนชาย-หญิง พบว่า เยาวชนหญิงเป็นผู้ให้มากกว่าเยาวชนชาย และเยาวชนที่ชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จะมีความสุข มีความกระตือรือร้น มีความรู้สึกท้าทาย ช่วยลดความรู้สึกซึมเศร้าและความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายมากกว่ากลุ่มเยาวชนที่มีพฤติกรรมตรงกันข้าม
Neal Krause แห่งวิทยาลัยสาธารณสุขและสถาบันพฤฒวิทยา มหาวิทยาลัยมิชิแกน ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ที่ไปโบสถ์เป็นจำนวน 976 คน ติดต่อกัน 3 ปี ผลการศึกษาพบว่า การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นช่วยลดความกระวนกระวายใจ จากสถานการณ์ตรึงเครียดทางเศรษฐกิจ และความเครียดในชีวิตโดยทั่วไปได้
Neal Krause และคณะ ทำการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้สูงอายุชาวอเมริกัน จำนวน 989 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 74 ปี ในจำนวนนี้ 46% เป็นชาวอเมริกันผิวขาว 54% เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา ผลการศึกษาพบว่า บุคคลที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นจะรับฟังและมีความเข้าอกเข้าใจมากกว่าบุคคลที่มีพฤติกรรมตรงข้าม อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างการรู้จักให้อภัยความผิดพลาดในชีวิตของตน โดยเฉพาะในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา
จากผลการวิจัยเราจะพบว่า การให้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์หลายประการ ทั้งช่วยลดความตรึงเครียด รู้จักให้อภัย ทำให้มีสุขภาวะทางกายและจิตที่ดี อารมณ์แจ่มใส และเป็นที่ชื่นชมแก่บุคคลที่พบเห็น
อย่างไรก็ดี การให้เป็นวิถีทางหนึ่งของชีวิตที่นำไปสู่ความสุข ทว่าเราไม่อาจพบความสุขได้จากการให้ที่หวังผลตอบแทน นั่นเพราะว่าการให้ที่หวังผลตอบแทน เป็นการให้บนความคาดหวังว่า เราจะได้รับบางสิ่งกลับคืนมา แน่นอนว่า เมื่อไม่ได้ตามที่หวังไว้ เราก็จะพบกับความผิดหวัง อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราคิดจะเริ่มต้นเป็นผู้ให้ เราควรทำความเข้าใจถึงวิถีของการให้ที่นำไปสู่ความสุขเสียก่อน
ประการแรก วิถีของการให้อยู่บนพื้นฐานของความรัก เพราะว่า การให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน เป็นการแสดงออกถึงความรักที่เรามีต่อเพื่อนพี่น้อง ตัวอย่างเช่น สามีภรรยาคู่หนึ่งให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่แม่ม่ายคนหนึ่ง ซึ่งกำลังเดือดร้อนทางการเงินและบ้านอยู่ไม่ไกลกันนัก โดยที่ไม่ได้หวังว่าแม่ม่ายคนนี้จะให้สิ่งใดเป็นการตอบแทน โดยที่ไม่ได้เกรงกลัวว่า แม่ม่ายจะไม่ชอบหน้าตนหรือไม่ หากไม่ได้เงินตามที่ร้องขอ แต่สามีภรรยาคู่นี้ตัดสินใจให้เงินแก่แม่ม่าย เพราะเห็นแก่ความจำเป็นในชีวิตของผู้ร้องขอ และคิดว่า พวกเขาไม่ได้ให้เงิน แต่พวกเขากำลังให้มิตรภาพแก่แม่ม่ายคนนั้น
ประการต่อมา วิถีของการให้เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เนื่องจากว่า เราไม่อาจจะให้สิ่งใดแก่ใครโดยที่ไม่ใส่ใจต่อความต้องการที่แท้จริงของเขา เช่น ถ้าเราให้อาหารแก่คนหิวโหยและไม่มีงานทำ เราอาจช่วยให้เขาอิ่มในวันนั้น แต่วันพรุ่งนี้ เขาก็จะหิวและร้องขออาหารอีก ตรงกันข้าม ถ้าเราสอนเขาให้รู้จักหาอาหาร นั่นเท่ากับว่า เรากำลังสร้างโอกาสในการทำงานเพื่อให้ได้อาหารมาเลี้ยงชีพอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การให้จึงไม่ใช่ให้ตามที่ใจเราต้องการเท่านั้น แต่ต้องให้ในสิ่งที่เขาต้องการอย่างแท้จริง
ประการที่สาม ความเข้าอกเข้าใจทำให้วิถีของการให้สมบูรณ์มากขึ้น ทั้งนี้เพราะ การให้เป็นของขวัญที่เรามอบแก่ผู้อื่น และเป็นรูปแบบความรักที่แลเห็นได้ การให้จึงมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการให้ในรูปแบบของวัตถุสิ่งของ แต่รวมถึงการให้ในรูปแบบของการสนับสนุน การให้กำลังใจ และการรับฟัง
ประการที่สี่ วิถีของการให้เป็นการให้อย่างเห็นคุณค่าของผู้รับ นั่นคือ เราไม่ได้ให้เพราะเห็นว่า เขาต่ำต้อยกว่าเรา เราไม่ได้ให้เพราะเห็นว่า เขาน่าสงสาร แต่เราให้เพราะเราเห็นถึงคุณค่าความเป็นบุคคลของเขาที่มีเช่นเดียวกับเรา
ประการสุดท้าย วิถีของการให้ ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง นั่นคือ การให้อย่างปราศจากเงื่อนไข ให้โดยไม่คิดว่า คนนี้ดีกับเราหรือไม่ คนนั้นเราชอบพอกันหรือไม่ แต่เราให้เพราะเราปรารถนาจะให้โดยไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน
ความสุขมิอาจเกิดขึ้นในใจของผู้ที่เห็นแก่ตัว ตรงกันข้าม ถ้าเราทำให้ผู้อื่นมีความสุข เท่ากับเราจะได้รับความสุขนั้นด้วย ตามธรรมชาติของมนุษย์ เราถูกสร้างให้อยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในรูปแบบของสังคม เรามิอาจโดดเดี่ยวตนเองจากสังคมได้ โดยที่ชีวิตยังคงปกติสุข เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น เพื่อพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านบุคลิกภาพ อารมณ์และการเข้าสังคม นอกจากนี้ ในขณะที่เราเปิดโลกกว้างต่อปัญหาหรือความต้องการของบุคคลอื่น จะช่วยเพิ่มความรัก ความเมตตาภายในใจ ซึ่งเป็นอารมณ์ด้านบวก ที่จะช่วยพัฒนาตัวเราให้มีความสมบูรณ์พร้อมมากขึ้น
นโปเลียน ฮิลล์ (1993) กล่าวไว้ว่า ผู้ที่ผลัดวันประกันพรุ่งไม่มีวันประสบความสำเร็จ ถ้าเราต้องการบรรลุผลสำเร็จ เราต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้ โดยมีเป้าหมายที่แน่ชัด และถ้าเราเชื่อมั่นในตนเองอย่างแรงกล้าในสิ่งที่จะกระทำ และในสิ่งที่ต้องการจะทำ เราจะสามารถเอาชนะทุกอุปสรรค ตลอดจนความยากลำบากต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาได้
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของบุคคลไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น คนที่ชอบรับประทานไม่เป็นเวลา จนกระทั่งมีน้ำหนักและส่วนเกินจำนวนมาก ถ้าวันใดต้องการจะลดน้ำหนัก บุคคลนั้นต้องตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว เชื่อมั่นในตนเองว่า จะทำได้และต้องมีความพากเพียรอดทน เพื่อจะเอาชนะต่อความอยากอาหาร ต่อความอยากสบาย ถึงกระนั้น โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองก็มีอยู่เสมอ ถ้าเราตั้งใจจริง
การให้เป็นหนึ่งในวิถีทางที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของบุคคลสู่ความสุข ถึงกระนั้น ความสุขมิอาจจะเกิดขึ้นในใจของผู้ที่เพียงแค่คิด โดยที่ไม่ออกแรงกระทำสิ่งใด ทว่า ความสุขจะเกิดขึ้นได้ หากผู้นั้นเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีชีวิตของตน
พีรพัฒน์ ถวิลรัตน์ : ผู้เขียน
จาก http://www.kamsonbkk.com/index.php/encouragement/love/2533-0071842