ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
ระหว่างความดีกับความไม่ดี เราจะเลือกทำสิ่งใดจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้จริง ( เลือกตอบแค่ ความดี กับ ความไม่ดี ครับผม):
คนที่มีจิตใจอ่อนโยนส่วนใหญ่มัก คิดถึงสิ่งใดก่อนเสมอ  ( เลือกตอบแค่ ตัวเอง กับ คนอื่น ครับผม ):
คิดว่าความดีทำยากไหม( เลือกตอบแค่ ยาก กับ ไม่ยาก ครับผม):
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆแนวธรรมะในจิตใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ความดีนำทาง:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ใต้ร่มธรรม:
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆในโลกออนไลน์ใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
คุณพ่อคุณแม่เปรียบดั่งพระอรหันต์ในบ้าน พิมพ์คำว่า "คุณพ่อคุณแม่ฉันรักและเคารพท่านดุจพระอรหันต์":
เมื่อให้ท่านเลือก ระหว่าง (หนังสือเก่าๆเล่มหนึ่งที่เรารัก) กับ (มิตรแท้ที่รักเรา) คุณจะะเลือก:
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ใต้ร่มธรรมเองก็จะเป็นไปตามวัฐจักรนี้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น (เป็นจริง) หรือ (ไม่จริง):
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กรกฎาคม 15, 2016, 11:54:51 pm »

พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ-วัดป่าอภัยคีรี

ประวัติพระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ วัดป่าอภัยคีรี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา



<a href="https://www.youtube.com/v/dLr5wF4iAdo" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/dLr5wF4iAdo</a>

ประวัติและปฏิปทา

พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ วัดป่าอภัยคีรี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

๏ นามเดิม : รีด แพรี่ (Reed perry)

๏ เกิด : เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ประเทศแคนาดา

๏ การศึกษา : ปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์

๏ การอุปสมบท

พระอาจารย์มีความสนใจในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษา เมื่อจบการศึกษาแล้ว ท่านได้เดินทางไปหาประสบการณ์ชีวิตในหลายประเทศ จนกระทั่งปี ๒๕๑๖ ท่านได้เดินทางมายังประเทศไทย และเกิดความสนใจในการทำสมาธิภาวนา จึงได้ไปฝึกปฏิบัติที่วัดเมิงมาง จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเพลงวิปัสสนา แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗

๏ ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อชา สุภทฺโท

ในพรรษาแรกนั่นเอง ท่านได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์ของ พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) แห่งวัดหนองป่าพง บ้านพงสว่าง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยการแนะนำของพระอุปัชฌาย์ของท่าน โดยได้พำนักที่วัดหนองป่าพงและวัดสาขาอื่นๆ ตามโอกาสอันสมควร ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ บ้านบุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และได้ปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นเวลา ๑๕ ปี จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙

๏ การสร้างวัดป่าอภัยคีรี

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ ได้สละตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ เพื่อมาก่อตั้งวัดป่าอภัยคีรี และเป็นเจ้าอาวาสร่วมกับพระอาจารย์อมโร ภิกขุ



วัดป่าอภัยคีรี เป็นวัดปฏิบัติในสายพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) แห่งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองซานฟรานซิสโก มีเจ้าอาวาสร่วมกัน ๒ รูป คือ พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จ.อุบลราชธานี และ พระอาจารย์อมโร ภิกขุ อดีตรองเจ้าอาวาสวัดอมราวดี เมืองฮาร์ดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

“อภัยคีรี” เป็นภาษาบาลี มีความหมายว่า “ขุนเขาแห่งความปลอดภัย” ซึ่งเป็นชื่อวัดโบราณในประเทศศรีลังกา ที่ต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ต่างนิกายมาปฏิบัติธรรมร่วมกัน ด้วยความสมัครสมานสามัคคี ด้วยความเชื่อว่า “ทุกชีวิตมีสิทธิ์ในการทำทุกข์ให้สิ้นได้เท่าๆ กัน”

ปัจจุบัน “วัดป่าอภัยคีรี” ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ไม่แตกต่างกันนักคือ ได้เปิดโอกาสให้สาธุชนผู้มีความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ รักในสติ รักในปัญญา ได้เข้าถึงความสงบ สัปปายะ เป็นธรรมชาติตามแนววัดป่าฝ่ายเถรวาท ไม่ว่าผู้นั้นจะนับถือศาสนาใด นิกายไหน มีสีผิวอย่างไร ไม่เลือกเชื้อชาติ เพศ และอายุ



๏ สาขาแรกของวัดหนองป่าพงในอเมริกา

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ หลวงพ่อชาได้รับนิมนต์ไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงธรรมและอบรมกรรมฐานแก่ญาติโยมชาวไทยและชาวตะวันตก ในครั้งนั้นผู้มีศรัทธาได้ปรารภกับหลวงพ่อถึงการเปิดสาขาวัดหนองป่าพงใน อเมริกา หลวงพ่อชาตอบว่า “รอไปเถอะอีก ๒๐ ปีจะมีสาขาในอเมริกา”

พ.ศ. ๒๕๒๗ ท่านพระอาจารย์สุเมโธ (ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) เจ้าอาวาสวัดอมราวดี เมืองฮาร์ดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ) ศิษย์ชาวต่างชาติรูปแรกของหลวงพ่อชา ได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมและอบรมกรรมฐานแก่ชาวเมืองซานฟรานซิสโก และมีผู้ศรัทธาเป็นจำนวนมาก จึงได้รวมตัวกันก่อตั้งมูลนิธิสังฆปาละขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เพื่อจัดหาสถานที่เหมาะสมแก่การสร้างวัดป่าที่ไม่ไกลจากซานฟรานซิสโก

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ คณาจารย์ Hsuan Hua เจ้าอาวาสวัดพระพุทธรูปหมื่นองค์ (The City of Ten Thousand Bhuddhas) ฝ่ายมหายาน ได้เมตตามอบที่ดินจำนวน ๑๒๐ เอเคอร์ ใกล้วัดของท่าน ให้กับคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อชา สุภทฺโท ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ คณาจารย์ Hsuan Hua ได้เคยมาปฏิบัติธรรมในประเทศไทย และประทับใจในแนวทางปฏิบัติฝ่ายเถรวาท มีความปรารถนาที่จะเห็นการปฏิบัติธรรมร่วมกันของพระภิกษุฝ่ายมหายานกับฝ่าย เถรวาทอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อท่านได้พบกับท่านพระอาจารย์สุเมโธ ท่านทั้งสองมีความเคารพนับถือซึ่งกันและกันเป็นอันมาก

ที่ดินดังกล่าวมีลักษณะเป็นป่าบนภูเขา มีความสงบร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม แต่ไม่มีทางเข้า-ออก ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ มูลนิธิสังฆปาละ คณะศิษย์ชาวไทยและต่างประเทศ จึงได้รวบรวมทุนจัดซื้อที่ดินที่มีทางเข้าออก พร้อมบ้านและโรงรถ พอที่จะดัดแปลงให้เป็นที่อยู่อาศัยได้ชั่วคราว ทำให้มีที่ดินรวมทั้งหมด ๒๕๐ เอเคอร์

วัดป่าอภัยคีรี จึงเป็นสาขาแรกของวัดหนองป่าพง ในสหรัฐอเมริกา และเป็นที่น่าประหลาดใจว่า นับเป็นเวลาได้ ๒๐ ปีพอดี จากวันที่หลวงพ่อชาไปเยือนอเมริกา

หลวงพ่อชาได้ให้หลักการไว้ว่า “ให้มุ่งสร้างวัดภายใน” เสียก่อน คือ สร้างกายวาจาใจที่มีวัตรปฏิบัติดี ท่านเคยกล่าวด้วยว่า “ให้พระสร้างคน แล้วคนจะสร้างวัด”

พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ และพระอาจารย์อมโร ภิกขุ ดำเนินตามแนวทางของหลวงพ่อชา ในการอบรมถ่ายทอดความรู้ และสอนการปฏิบัติธรรมให้แก่บุคคลทั่วไป และผู้ปรารถนาจะใช้ชีวิตอย่างสมณเพศ ต่อมาท่านอาจารย์ปสันโน ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ เพื่อความสะดวกในการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรใหม่ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้สนใจบวชเป็นภิกษุได้จะต้องถือศีล ๘ เป็นผ้าขาว ๑ ปี บรรพชาเป็นสามเณร อีก ๑ ปี จึงจะได้รับการพิจารณาให้บวชเป็นพระภิกษุ



ในปีแรกๆ ระหว่างรอการอนุญาตจากเทศบาลมลรัฐให้สร้างวัด ชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดมีศรัทธามาช่วยสร้างกุฏิหลังเล็กๆ โดยซื้อเศษไม้ราคาถูกมาประกอบ และดัดแปลงรถนอนที่ได้รับบริจาคให้พออยู่ได้ หากคราวใดกุฏิไม่พอ ก็ใช้กางเต๊นท์เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุ สามเณร และอานาคาริกะ (ปะขาว) ไปชั่วคราว

ต่อมาเมื่อได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นวัด ทางเทศบาลของมลรัฐกำหนดให้รื้อถอนกุฏิที่พระและญาติโยมสร้างกันเองออก รถนอนและเต๊นท์ก็ห้ามใช้อีกด้วย เทศบาลยังกำหนดเคร่งครัดว่า จะให้พักที่วัดได้ไม่เกินครั้งละกี่คน ทั้งนี้เพราะบางส่วนของวัดอยู่ในเขตที่มีแผ่นดินไหว จึงต้องเคร่งครัดเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้กุฏิจึงมีไม่เพียงพอ กับจำนวนพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ และไม่สามารถบวชภิกษุสามเณรใหม่ หรือรองรับผู้ปฏิบัติธรรมได้ จึงมีการสร้างเสนาสนะต่างๆ ให้กับวัดป่าอภัยคีรี เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันพระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ ท่านยังคงเดินทางมาประเทศไทยเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ และอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ตามโอกาสอันควร



<a href="https://www.youtube.com/v/mCJi3u_KmQQ" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/mCJi3u_KmQQ</a>





พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ พระผู้นำมรดกธรรมหลวงพ่อชาไปเผยแผ่ในแคลิฟอร์เนีย

ปัจจุบันนี้ วัดสาขาของวัดหนองป่าพงทั้งในต่างประเทศ มีอยู่กว่า ๑๐ แห่ง แต่ละแห่งล้วนสร้างขึ้นมาจากความศรัทธา ของเหล่าบรรดาลูกศิษย์ชาวต่างประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่งได้เคย มาฝึกปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อชา อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ด้วยเหตุที่ว่า รูปแบบการเผยแผ่ของธรรมะของ หลวงพ่อชา ง่ายต่อความเข้าใจ ถ้าได้ฝึกปฏิบัติแล้วเห็นผลทันตา สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในภาวะที่สังคมอเมริกันชนมีความทุกข์ทางใจจากวิกฤติเศรษฐกิจและ สภาวะของสงคราม

พระอาจารย์ปสันโน เจ้าอาวาสวัดป่าอภัยคีรี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ ท่านเป็นพระศิษย์สายหลวงพ่อชาอีกรูปหนึ่ง ที่พยายามนำรูปแบบการเผยแผ่ธรรมะของหลวงพ่อชา ไปเผยแผ่ให้ชาวต่างชาติ หลุดพ้นจากความทุกข์ แม้ว่าท่านจะเป็นชาวต่างชาติ แต่ถ้าใครได้สัมผัสถึงวิธีการเผยแผ่ธรรมะแล้วจะต้องประหลาดใจ เพราะขนาดเราคนไทยแท้ๆ ได้เข้าวัดฟังเทศน์มาตั้งแต่เด็ก ยังไม่ซาบซึ้งในรสพระธรรมเท่าท่าน และต่อไปนี้คือ การสนทนาธรรมกับท่านแบบ “คม ชัด ลึก”

พระอาจารย์เริ่มศึกษาพุทธศาสนาเมื่อไรครับ ?

เริ่มจากอ่านหนังสือพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือของลัทธิเซน ครั้งแรกตั้งใจจะเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่ประเทศญี่ปุ่น โดยตั้งใจไว้ว่า ต้องเที่ยวให้เต็มอิ่มก่อน เริ่มจากยุโรป ตะวันออกกลาง อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย เนปาล จากนั้นก็คิดว่า จะแวะเที่ยวที่ประเทศไทยและออสเตรเลีย สุดท้ายก็จะไปตั้งหลักศึกษาที่ญี่ปุ่น

เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยรู้สึกอย่างไรบ้างครับ ?

ก่อนหน้านี้ไม่รู้จักประเทศไทยเลย จนกระทั่งได้มาเที่ยวเมืองไทยไม่ว่าจะเดินทางไปไหน ก็จะเห็นพระและวัดเต็มไปหมด ขณะนั้นคิดเพียงว่า น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ศึกษาพุทธศาสนาด้วย จากนั้นก็เริ่มค้นคว้าหนังสือที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา รวมทั้งหาสถานที่สอนเรื่องการฝึกนั่งสมาธิ ฝึกสมาธิครั้งแรกที่วัดเมืองมาง จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนั้นยังเป็นฆราวาสอยู่

ภาษาเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาธรรมะหรือเปล่าครับ ?

การเรียนต้องผ่านล่ามแปลภาษา ซึ่งค่อนข้างยาก แต่การเรียนรู้ด้วยการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้เข้าใจพุทธศาสนาได้เร็วมากยิ่งขึ้น หลักจากฝึกได้ ๕๖ เดือน ได้ลงมาทำเอกสารทางการทูตที่สถานทูตแคนาดา จากนั้นก็ไปฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ที่วัดเพลงวิปัสสนาอีกประมาณ ๕ เดือนเมื่อได้เป็นนักเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว

ภาษาเป็นอุปสรรคหรือเปล่าครับ ?

มีบ้าง แต่มันขึ้นอยู่กับปฏิภาณไหวพริบและปัญญาของผู้เผยแผ่ว่า เราจะอธิบายอย่างไรให้เข้าใจได้ง่าย บางครั้งคำศัพท์ในภาษาอื่นไม่มี ถ้าเปรียบเทียบระหว่างการเผยแผ่ด้วยภาษาไทยกับภาษาต่างประเทศ อาตมาก็ยังคิดว่าภาษาไทยฟังง่ายกว่า

มีความพยายามที่จะหาคำศัพท์ง่ายๆ มาอธิบายธรรมะหรือเปล่าครับ ?

อาตมาพยายามหาคำพูดง่ายๆ ที่กินใจ เข้าใจง่าย ซึ่งต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่มีเรื่องหนึ่งที่น่ายินดี สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ปัจจุบันนี้ โรงพิมพ์ใหญ่ๆ ในแคลิฟอร์เนียหลายแห่งกำลังค้นหาผู้ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา เพราะขายดีอยู่ในลำดับต้นๆ ของทุกศาสนา เช่น ที่วัดมีญาติโยมเขียนจดหมายมาขอหนังสือธรรมะทุกวัน รวมทั้งขอมาพักที่วัด เพื่อศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมถึงขนาดที่พักไม่พอ

ก่อนที่จะตัดสินใจบวชพระ ท่านคิดอยู่นานหรือเปล่าครับ ?

ครั้งแรกไม่คิดจะบวช เพราะคิดว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้เดินทางไป ขณะเดียวกันก็มีภาระอีกหลายอย่างที่จัดการยังไม่เสร็จ ท่านจึงแนะนำให้บวชเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อน อาตมาจึงตัดสินใจบวช ครั้งแรกคิดว่าจะบวช ๓๔ เดือนเท่านั้น

พระอาจารย์บวชพระเพื่ออะไรครับ ?

อาตมาบวชที่วัดเพลงวิปัสสนา ขณะนั้นมีอายุเพียง ๒๔ ปีเท่านั้น ส่วนเหตุผลที่อยากบวช คือเพราะความอยากรู้ อยากฝึก อยากมีความเข้าใจในวิถีทางที่ไปสู่ความสงบของจิตใจ ขณะจำวัดอยู่วัดเพลงวิปัสสนา ได้ยินนักท่องเที่ยวพูดถึงกิตติศัพท์ของหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะความสามารถเรื่องการสอนวิปัสสนากรรมฐาน รวมทั้งวัตรปฏิบัติ ดังนั้นจึงขออนุญาตไปศึกษาที่วัดหนองป่าพง


รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท)
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม


ระหว่างไปกราบหลวงพ่อชา ท่านพูดอะไรบ้างครับ ?

ครั้งแรกที่ไปกราบหลวงพ่อชา เมื่อท่านรู้ว่าเป็นพระที่บวชในระยะสั้นๆ ท่านจึงบอกว่า ถ้าอยากจะอยู่เพื่อศึกษาวิปัสสนากรรมฐานที่วัดหนองป่าพง ต้องอยู่อย่างน้อยถึง ๕ ปี ครั้งแรกที่ได้ยินก็รู้สึกว่าขัดกับความตั้งใจ แต่เมื่ออยู่ได้ระยะหนึ่ง รู้สึกว่าถ้าจะให้ศึกษา ๕ ปี อยู่ไม่ได้ จึงย้ายไปอยู่ที่สำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี ระหว่างนี้นึกถึงหลวงพ่อชาตลอดเวลา ดังนั้นจึงตัดสินใจกลับไปมอบตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อชาเป็นเวลา ๕ ปี ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อชา เมื่ออยู่ครบ ๕ ปี ก็รู้สึกว่าเวลาที่ผ่านมามันน้อยไป จึงขออยู่ศึกษาต่อ

หลวงพ่อชาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แล้วท่านมีวิธีสอนพระชาวต่างประเทศอย่างไรครับ ?

มีล่ามช่วยแปลให้ ขณะเดียวกันหลวงพ่อชาก็สอนธรรมะง่ายๆ ให้ นอกจากนี้ ท่านยังปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างที่ดีด้วย ไม่ว่าท่านจะพูด จะทำงาน ล้วนเป็นตัวอย่างที่ดี ระหว่างนี้จะไปมาระหว่างวัดป่านานาชาติ สาขาอื่นของวัดหนองป่าพงบ้าง ประมาณ ๘ ปี จนกระทั่งหลวงพ่อชาได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ ระหว่างปี ๒๕๒๕-๒๕๓๙ จากนั้นก็ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา ขณะนั้นจะมีการสร้างวัดใหม่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย

ขณะนี้ที่วัดป่าอภัยคีรีมีพระกี่รูปครับ ?

พระ ๗ รูป สามเณร ๑ รูป แม่ชี ๒ คน และผ้าขาวอีก ๑ คน ทั้งหมดนี้เป็นชาวต่างชาติ แต่ไม่ได้เป็นชาวอเมริกันทุกคน

เหตุผลของการออกบวชพระของคนอเมริกันเหมือนคนไทยหรือเปล่าครับ ?

คนไทยส่วนใหญ่บวชพระเพราะเป็นไปตามประเพณี แต่คนอเมริกันบวชพระเพราะความศรัทธา สนใจในหลักธรรม อยากมีชีวิตที่เรียบง่าย ส่วนเหตุผลที่ชาวอเมริกันมานับถือศาสนาพุทธมากยิ่งขึ้น เพราะเขาอยากแสวงหาความสงบสุข อยากแสวงหาวิถีชีวิตที่ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนใคร ทุกศาสนาล้วนสอนให้เป็นคนดีมีความสามัคคี

แล้วศาสนาพุทธแตกต่างจากศาสนาอื่นอย่างไรครับ ?

ศาสนาพุทธมีคำสอนเรื่องเหตุผลที่ชัดเจนกว่าศาสนาอื่น แม้ว่าทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี แต่ไม่ได้อธิบายว่าทำไมต้องเป็นคนดี ส่วนศาสนาพุทธจะอธิบายทั้งเหตุและผลของการเป็นคนดี

มีคนบอกว่า หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเปรียบได้กับหลักวิทยาศาสตร์ ท่านคิดว่าอย่างไรครับ ?

อาจจะพูดเช่นนั้นก็ได้ แต่พุทธศาสนาลึกซึ้งกว่าวิทยาศาสตร์หลายเท่า เพราะวิทยาศาสตร์ศึกษาเฉพาะปรากฏการณ์ทางกายภาพเท่านั้น แต่พุทธศาสนาศึกษาถึงภายใน มองให้เกิดประโยชน์ภายใน

แล้วท่านสร้างความศรัทธาอย่างไร จึงได้รับเงินทำบุญจากญาติโยม ?

อาตมาใช้หลักปฏิบัติของหลวงพ่อชาและธรรมะของพระพุทธเจ้าในการสร้างศรัทธา การรักษาศีล การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้ปรากฏ เท่านี้ก็เกิดศรัทธา เมื่อมีศรัทธา คนก็ทำบุญเอง

ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการบูชาวัตถุมงคล ?

วัตถุมงคลไม่ใช่สิ่งไม่ดี ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะส่งเสริม เพราะไม่ตรงเป้าหมายของพระพุทธศาสนา แต่ก็สามารถใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างกำลังใจ ให้ความคุ้มครองได้ แต่คนมักจะหลงและนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง

ศาสนาอื่นๆ มีวัตถุมงคลให้ศาสนิกชนได้บูชาเหมือนศาสนาพุทธในประเทศไทยหรือเปล่าครับ ?

ทุกศาสนามีวัตถุมงคลให้ยึดเหนี่ยวจิตใจ สุดแล้วแต่จะมีความเชื่ออย่างไร แม้ว่ารูปลักษณ์ของวัตถุมงคลจะแตกต่างกัน แต่จุดประสงค์ก็คล้ายๆ กัน คือไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ

มีใครเคยมาขอวัตถุมงคลบ้างหรือเปล่าครับ ?

มีเพียงแค่ครั้งเดียว และก็เป็นชาวต่างชาติด้วย ซึ่งอาตมาเข้าใจว่า เขาน่าจะรู้ว่าเป็นนักบวช ทั้งนี้อาตมาได้ให้พระพุทธรูปองค์เล็กๆ ไป

แล้วที่วัดป่าอภัยคีรี มีการสร้างวัตถุมงคลหรือเปล่าครับ ?

ในหลักคำสอนของหลวงพ่อชาไม่เน้นวัตถุมงคล แต่จะมุ่งเน้นให้สร้างคนให้เป็นนักบวช สร้างคนให้เป็นมงคล ถือว่าเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม

ท่านช่วยอธิบายเรื่องปาฏิหาริย์และแคล้วคลาดว่าแท้ที่จริงแล้วเกิดจากอะไร ?

ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้เสมอ มันเป็นไปตามหลักธรรมชาติ มีเหตุก็ต้องมีผล ถ้าเหตุไม่มีแล้วผลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

พระอาจารย์ต้องออกเดินบิณฑบาตเหมือนพระในเมืองไทยหรือเปล่าครับ ?
อาทิตย์ละครั้ง โดยต้องเดินทางไปหมู่บ้าน ซึ่งมีระยะทางห่างจากวัดประมาณ ๒๕ ไมล์ อาตมาต้องนั่งรถไปก่อน เมื่อถึงหมู่บ้านก็ลงเดิน



ครั้งแรกที่ท่านออกบิณฑบาตเป็นอย่างไรบ้างครับ ?

การบิณฑบาตสำหรับเมืองไทยถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่กลับกลายเป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับคนแคลิฟอร์เนีย วันแรกไม่ได้อะไรเลย มิหนำซ้ำบางคนก็หัวเราะ บางคนก็ตะโกนด่า เยาะเย้ย บางคนก็ทำท่าจะทำร้าย ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนไม่เข้าใจวัฒนธรรมของพุทธศาสนา ให้หลังจากนั้นประมาณ ๒ เดือน นักข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไปถ่ายภาพและสัมภาษณ์ว่า สิ่งที่ทำนั้นคืออะไร เพื่ออะไร การบิณฑบาตเป็นวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ให้คนรู้จักทำบุญทำทาน เมื่อหนังสือพิมพ์ออกเผยแพร่ ในที่สุดคนก็เข้าใจ

เคยมีคนใส่บาตรด้วยแฮมเบอร์เกอร์บ้างหรือเปล่าครับ ?

เชื่อไหมว่า ตลอดระยะเวลาที่ออกบิณฑบาต ไม่มีใครใส่บาตรด้วยแฮมเบอร์เกอร์ อาหารที่ในบาตรส่วนใหญ่จะเป็นอาหารพวกมังสวิรัติ เพราะว่าศีลข้อที่ 1 ห้ามเรื่องฆ่าสัตว์ เขาจึงพลอยไม่กินเนื้อสัตว์ไปด้วย

มีกระแสต่อต้านจากศาสนาอื่นๆ หรือเปล่าครับ ?

มีบ้าง เล็กๆ น้อยๆ แต่ในเมืองที่อยู่เขาเปิดใจกว้างเรื่องการนับถือศาสนา ถ้าไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ก็จะสนับสนุน ส่วนเมืองอื่นๆ จะมีปัญหาค่อนข้างมากเพราะจิตใจคับแคบ

การสวดมนต์ที่วัดสวดแบบไหนครับ ?

สวดเป็นภาษาบาลีเช่นเดียวกับเมืองไทย และก็แปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อสร้างความเข้าใจให้ง่ายมากยิ่งขึ้น

มีวัฒนธรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทยอะไรบ้างที่ไปพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ?

ปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมของพุทธศาสนาแยกกันเกือบไม่ออก เช่นการเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา การทำบุญในวันเทศกาลต่างๆ ทำบุญตักบาตร ทำบุญขึ้น บ้านใหม่ สวดในงานมงคลต่างๆ ฯลฯ

ศาสนสถานที่วัดแตกต่างจากวัดในเมืองไทยอย่างไรครับ ?

แตกต่างกันมาก เพราะต้องสร้างให้สอดคล้องกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ ขณะเดียวกันวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งค่าแรงก็ แพงมาก ดังนั้นการที่จะสร้างอะไรขึ้นมา ต้องคิดอย่างรอบคอบ

ช่วงที่มีอากาศเย็นจัด ห่มจีวรเพียงอย่างเดียวพอหรือครับ ?

ฤดูหนาวที่นั่นหนาวมาก ถ้าห่มจีวรเพียงอย่างเดียวคงตายไปนานแล้ว ดังนั้นอาตมาและพระลูกวัดต้องใส่เสื้อกันหนาว แขนกุดสีเหลืองขมิ้นไว้ด้านใน จากนั้นก็ห่มจีวรทับอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งดูแล้วจะไม่รู้เลยว่าข้างในมีเสื้อกันหนาว แม้ว่าพระธรรมวินัยจะกำหนดให้ใช้เครื่องนุ่งห่มได้เพียง ๓ ชิ้น คือ สบง อังสะ และจีวร แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นในบางกรณีเพื่อรักษาชีวิตให้คงอยู่

วัดของท่านมีความแตกต่างจากวัดที่มีเจ้าอาวาสเป็นพระคนไทยอย่างไรครับ ?

วัดที่มีพระคนไทยเป็นเจ้าอาวาส ส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมคนไทยในชุมชนนั้น เพื่อที่จะสมาคมสังสรรค์ และเป็นที่รักษาวัฒนธรรม ถ่ายทอดวัฒนธรรมให้ลูกหลานคนไทย แต่สำหรับของอาตมานั้น จะเป็นสถานที่มุ่งในการเผยแผ่พุทธศาสนาให้กับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะการนั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวทางของหลวงพ่อชา

พุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกาเจริญมากน้อยเพียงใด ?

อาตมากล้ายืนยันว่า เจริญขึ้นทุกวัน เพราะคนขาดที่พึ่งทางใจ เขามีความสนใจมาก ทั้งการนั่งสมาธิภาวนาและปรัชญาของพระพุทธศาสนา รวมทั้งคนที่อยากออกบวชเป็นพระก็มีมากเช่นกัน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าคนสนใจมาก แต่ผู้สอนที่มีความรู้จริงยังมีน้อย ปัญหานี้อาจจะทำให้พุทธศาสนาเจริญเติบโตช้าลง ปัจจุบันนี้ ชาวต่างชาติสนใจพุทธศาสนามากขึ้น ขณะเดียวกันคนไทยก็สนใจนับถือศาสนาอื่น

หากเกิดขึ้นท่านคิดว่าเกิดจากอะไรครับ ?

ในต่างประเทศคนเป็นทุกข์ทางใจมากขึ้น แต่ไม่มีวิธีที่ดีแก้ไข เมื่อได้ศึกษาพุทธศาสนาก็เห็นว่าเป็นคำสอนที่ดี ส่วนคนไทยนั้น ทุกวันก็มีความทุกข์ทางใจ ไม่มีหลักไม่มีที่พึ่งทางใจ ที่สำคัญคือ ไม่เข้าใจในหลักของพุทธศาสนาซึ่งเป็นรากฐานของชาติไทย ซึ่งอาจจะพูดได้ว่า คนไทยใกล้เกลือกินด่าง มีของดีแต่ไม่รู้ว่าของนั้นใช้และดีอย่างไร

สุดท้ายนี้ท่านมีธรรมะอะไรจะฝากถึงญาติโยมบ้างหรือเปล่าครับ ?

คนไทยต้องรู้จักใช้สมบัติตัวเองที่มีอยู่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษ ได้ฝากสมบัติอันล้ำค่าไว้ สิ่งนั้นก็คือพุทธศาสนา ถ้าคนไทยรู้จักใช้รู้จักนำไปปฏิบัติ คนไทยก็จะได้รับผลประโยชน์อันมหาศาล หลักธรรมของพระพุทธเจ้า สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเรื่องของจิตใจ


พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ กับ พระอาจารย์ฟิลลิป ญาณธมฺโม และพระเถระรูปอื่นๆ
ในงานทอดกฐินเมื่อวันที่ ๒๑ ต.ค. ๔๙ ณ วัดป่ารัตนวัน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา


ข้อมูลอ้างอิงจาก : dhammajak.net
ที่มา : http://www.web-pra.com

จาก http://www.lakdharma.com/

<a href="https://www.youtube.com/v/0ByGZ-W1NGw" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/0ByGZ-W1NGw</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/ogtK5_WRUsE" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/ogtK5_WRUsE</a>



This is a documentary about the community at the Abhayagiri Buddhist Monastery in Redwood Valley, CA.

Shared with permission by the director, Tony Anthony.

หนังสารคดี เกี่ยวกับ พระป่า ถ่ายทำที่ วัดป่าอภัยคีรี

<a href="https://www.youtube.com/v/sDwVI9-G1t0" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/sDwVI9-G1t0</a>
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กรกฎาคม 15, 2016, 11:02:32 pm »




ความเป็นมาวัดอภัยคีรี

พระอาจารย์ปสันโนภิกขุ
วันถวายผ้าป่าสามัคคี 10 ปี วัดอภัยคีรี
วันที่ 8 ตุลาคม 2549
ณ บ้านบุญ ไร่ทอสี อ.ปากช่อง

อาตมาก็ขออนุโมทนากับทุกคนที่มาร่วมงานกันในวันนี้ คือปีนี้อาตมาได้มาเมืองไทยก็มาอยู่วิเวกรูปเดียว เลยไม่ค่อยได้พบผู้คนมากนัก ยิ่งในวันนี้เห็นผู้คนมาเยอะก็เลยรู้สึกว่าคนมากเน๊าะ เพราะนานๆทีถึงจะเห็นคนมาก (พระอาจารย์ปสันโน ปลีกวิเวก 1 ปี พำนักอยู่ที่ถ้ำเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา)

แต่ก็ชื่นใจ เพราะวันนี้ได้มีโยมจัดผ้าป่า ซึ่งมีเป้าหมายในการช่วยกฐินที่วัดอภัยคีรี ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งอาตมาเองก็ได้ไปอยู่ที่นั่น และสร้างวัดอภัยคีรีได้ 10 ปีแล้ว ซึ่งถ้าคิดว่า 10 ปี ก็รู้สึกเหมือนว่าจะนาน แต่ความรู้สึกของอาตมาเองก็เหมือนว่าเพิ่งไปไม่นาน และบางคนก็คิดว่าเหมือนกับท่านเพิ่งไปอเมริกา แต่แท้จริงก็ 10 ปีล่วงไปแล้ว

วัดอภัยคีรีได้เกิดขึ้นเพราะศรัทธาของชาวอเมริกันที่อยู่ที่นั่น เขามีความศรัทธาและเลื่อมใสในสายหลวงพ่อชา เขาต้องการที่จะมีวัดสาขาของหลวงพ่อชาที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับเมืองซานฟรานซิสโก และเขาก็มีความสัมพันธ์อันดีกับวัดอมราวดีของท่านอาจารย์สุเมโธที่อยู่ในประเทศอังกฤษ และยังเคยไปที่วัดป่านานาชาติที่จังหวัดอุบลฯ

อันที่จริงแล้วเขาได้ตั้งมูลนิธิไว้เพื่อจะตั้งสาขาที่อเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 แต่ในสมัยนั้นคณะสงฆ์เรายังไม่พร้อม ถึงแม้ว่าจะมีสาขาในต่างประเทศหลายสาขา แต่ก็ยังไม่มีในอเมริกา เพราะเห็นว่าเป็นภาระมากเกินไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนรู้สึกว่าพร้อม ก็ได้มีการประชุมสงฆ์ที่ประเทศอังกฤษถึงเรื่องการจะไปตั้งวัดสาขาที่อเมริกา ซึ่งแต่เดิมนั้นกลุ่มพุทธศาสนิกชนในอเมริกา เขาก็มีความสัมพันธ์กับวัดสาขาที่ประเทศอังกฤษมากกว่า ท่านอาจารย์อมโรซึ่งเป็นพระอีกรูปหนึ่งซึ่งอยู่ด้วยกันกับอาตมา ในขณะนั้นท่านจะไปเทศน์อบรมสั่งสอนทุกปี ครั้งละ 1 เดือนบ้าง 2-3 เดือนบ้าง

ต่อมาจึงได้มีการประชุมที่วัดอมราวดี ที่ประเทศอังกฤษ และมีมติสงฆ์ออกมาว่า ควรที่จะเริ่มหาที่ดินเพื่อที่จะใช้ปลูกสร้างเป็นสถานที่ใช้ปฏิบัติธรรมได้ เพราะว่าเดิมทีนั้นกรรมการของมูลนิธิก็จะนิมนต์พระไปเทศน์ที่อเมริกาทุกปี และเมื่อมาแต่ละครั้งก็ต้องหาที่พัก พอท่านอยู่ได้ 2-3 เดือน ก็ต้องยุบ แล้วปีต่อมาก็หาที่ใหม่อีก จึงได้มาร่วมกันคิดว่าควรจะหาที่ดินไว้เพื่อที่จะได้ก่อสร้างสถานที่สำหรับที่จะใช้ประโยชน์ได้เป็นประจำ ดังนั้นจึงได้มีการลงมติสงฆ์ให้มีการเริ่มต้นที่จะตั้งสาขาได้ พอในวันนั้นหลังจากมีการลงความเห็นตรงกันแล้ว ปรากฏว่าเช้าวันรุ่งขึ้นก็ได้รับโทรศัพท์จากทางอเมริกาว่ามีพระจีนซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ แล้วมีวัดอยู่ใกล้ๆกันกับวัดที่เราอยู่ในปัจจุบัน ท่านได้ถวายที่ดินไว้ 300 ไร่ จึงเป็นจังหวะพอดีที่จะใช้เป็นสถานที่ในการเริ่มต้นได้



แต่เมื่อได้ไปเห็นสถานที่จริงแล้ว ปรากฏว่าไม่มีอาคารไม่มีน้ำไม่มีไฟ หรือแม้แต่ถนนเข้าไปที่ดิน ซึ่งพอพิจารณาดูแล้วก็ลำบากเหมือนกัน ดังนั้น กรรมการจึงคิดว่าจะไปเช่าที่บริเวณใกล้เคียงแล้วค่อยดูว่าพื้นที่นี้จะมีการพัฒนาได้หรือเปล่า และเมื่อได้ไปสืบถามดูพื้นที่ใกล้เคียงที่เราสามารถที่จะขอเช่าได้ ก็พบว่าที่ดินติดกันนั้นมีคนเช่าอยู่ จึงได้ติดต่อไปยังเจ้าของที่ดิน เพื่อที่จะขอเช่าที่ดินแปลงนั้นต่อ ถ้าผู้ที่เช่าอยู่เลิกเช่า ปรากฏว่าความเป็นจริงแล้ว เจ้าของที่ดินก็ต้องการที่จะขายที่ดินแปลงนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ติดประกาศเท่านั้น เป็นจังหวะพอดีเหมือนกับเทวดาช่วยจริงๆ ทางกรรมการจึงได้ไปเจรจาขอซื้อที่ตรงนั้น ซึ่งมีบ้าน 1 หลัง กับโรงรถเก่าๆ มีน้ำมีไฟ พอที่จะใช้ประโยชน์ในการเริ่มต้นที่เข้าไปอยู่ได้ จึงตกลงซื้อ



ท่านอาจารย์อมโรก็เข้าไปอยู่ก่อน ตอนนั้นอาตมาเองก็ยังไม่พร้อม เพราะยังมีภาระอยู่ที่วัดป่านานาชาติ เมื่อท่านอาจารย์อมโรไปในระยะแรกนั้น ท่านก็ต้องกางเต็นท์ ไม่ได้อยู่สะดวกสบาย แต่เมื่อมีคนมาเห็น เขาก็เกิดศรัทธาและเข้ามาช่วย แต่ก็ยังไม่สามารถทำการก่อสร้างได้ เขาจึงเอาเทรลเลอร์ แบบที่ใช้ลากไปกับรถซึงสามารถเคลื่อนย้ายได้ มาตั้งไว้ แล้วก็ได้มีชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆแถวนั้นเขาเป็นช่าง พอดีเขาขับรถผ่านแล้วมองเห็นป้ายวัด ก็เลยแวะเข้าไปดู เพราะพี่ชายเขาเคยบวชอยู่ที่ศรีลังกา ตัวเขาเองก็ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็เลยตั้งใจเข้ามาช่วย ในปีแรก เขาได้ช่วยสร้างกุฏิ 5 หลัง พระสงฆ์ที่นั่นก็เลยได้เข้าพักอาศัยจึงทำให้มีความสะดวกสบายขึ้น



ข้อดีอีกประการหนึ่งของที่แห่งนั้นก็คือ อยู่ติดกับวัดคริสต์ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ จึงทำให้บริเวณนั้นเป็นสถานที่สงบและหลังจากตั้งวัดอภัยคีรีได้ 3 ปี ก็มีพระลูกศิษย์ของหลวงพ่อทูล ทีปปัญฺโญ จังหวัดอุดรธานี ก็ไปซื้อที่ติดกันอีกประมาณ 700 ไร่ ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นที่สงบและพื้นที่เป็นป่าเขา จึงทำให้เหมาะสมมากในการที่จะมีพระป่าไปอยู่ เมือเราได้ไปอยู่ที่นั่น ก็มีคนสนใจในการปฏิบัติธรรม หรือสนใจในการบวชเข้ามาอยู่เรื่อยๆ แต่สถานที่ของเรานั้นไม่เพียงพอแก่ความต้องการของญาติโยม มีผู้สนใจติดต่อเข้ามาเพื่อปฏิบัติธรรม ก็ไม่สามารถรับได้ทั้งหมด คนที่อยากจะบวชที่พักก็ไม่พอ จึงต้องมีการปฏิเสธไปเป็นครั้งคราว จึงได้แนะนำให้มาเมืองไทยบ้าง ไปที่อังกฤษบ้าง

เท่าที่สังเกตดู โอกาสที่จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่อยากมาปฏิบัติธรรมนั้นน้อย เพราะมีผู้ต้องการใช้ประโยชน์มาก แต่สถานที่ไม่เพียงพอ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ เพราะชาวอเมริกัน เขามีความสนใจ ศรัทธา อยากศึกษาปฏิบัติและอยากบวช และสาเหตุหนึ่งในเรื่องของที่พักอาศัย คือไม่เพียงพอที่จะต้อนรับกับผู้สนใจ ก็เพราะว่า กฎหมายของเมืองนอกนั้นไม่ง่ายเหมือนในเมืองไทย เมืองไทยนั้นเราอยากจะสร้างหรือทำอะไร แบบไหนก็ได้ แต่ที่อเมริกานั้นจะทำอะไร จำเป็นต้องมีแบบแผน ในการนำเสนอต่อเทศบาล เทศบาลจะต้องตรวจ และในระหว่างการก่อสร้างก็ต้องมาตรวจดูเป็นขั้นตอน ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากมาก



แต่ในอีกแง่หนึ่ง ผลดีก็คือเป็นการชะลอการขยายการเติบโตของวัด เพราความตั้งใจหนึ่งของอาตมา ก็คือความต้องการให้ วัดอภัยคีรีนี้เป็นที่ที่สงฆ์จะได้อยู่อย่างเข้มแข็ง และอบอุ่น ซึ่งถ้าหากว่ามีการเติบโตเร็วเกินไป ก็ยากที่จะสร้างลักษณะของหมู่คณะที่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน และร่วมมือร่วมใจกันด้วยดี


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวต่างประเทศนั้น พื้นฐานทางพุทธศาสนาน้อยมากทั้งในแง่คำสอน หรือเรื่องคุณธรรมที่ชาวพุทธสรรเสริญ เช่นการให้การเคารพก็ดี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การให้ หรือแม้แต่เรื่องศีล บางครั้งก็อ่อนมาก เพราะไม่เป็นที่นิยม แต่เราก็ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างนิสัยให้เขา ในส่วนนี้อาตมาก็มีความพอใจในผลที่เกิดขึ้น เมื่อเราสร้างวัดนี้ขึ้นมา แต่ก็ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมือนที่อาตมาเคยเล่าให้ฟังว่า ปีแรกสร้างกุฏิได้ 5 หลัง พอสร้างเสร็จ ก็มาทราบว่า ที่สร้างมานั้น มันผิดแบบแผนของทางเทศบาล แต่เจ้าหน้าที่เขาก็ดี เขาก็พยายามที่จะช่วย แต่กฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมาย เราก็ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ได้มาตรฐานที่เขาต้องการ แม้แต่เทรลเลอร์หรือคาราวานที่ญาติโยมนำมาถวายไว้ก็ผิดกฎหมายเหมือนกัน ในที่สุดเราก็ต้องเอาออกไป เอาไปถวายลูกศิษย์หลวงพ่อทูล ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นนะ เพราะว่าวัดเราเป็นที่สาธารณะ และอยู่ในสายตาชุมชนและชาวบ้านแถวนั้น เราจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องพยายามทำให้ดี และให้ถูกต้องตามระเบียบ

ณ เวลานี้ ก็ต้องดำเนินการให้เป็นขั้นเป็นตอน เกี่ยวกับการเข้าพักอาศัยในสถานที่นี้ ก็ต้องเริ่มต้นที่ระดับที่หนึ่ง คือเขาจะกำหนดจำนวนคน ทั้งบรรพชิต และฆราวาส เข้าพักได้ 13 คน และภายในปีนี้ที่อาตมาออกมาปลีกวิเวกที่เมืองไทย ทางวัดอภัยคีรี ก็ผ่านขั้นตอนของระดับที่หนึ่งเรียบร้อยแล้ว และกำลังดำเนินการขยายให้ถึงระดับที่ 2 ของการรับคนเข้าพัก คือสามารถรับได้ 20 คน นี่ก็คือเป้าหมายหนึ่งของการนำปัจจัยกฐินไปใช้ เพราะมีญาติโยมบางคนได้ถาม



และอีกส่วนหนึ่งก็คือ ที่วัดอภัยคีรี มีพื้นที่ 700 ไร่ บริเวณข้างล่างก็เป็นบ้านเก่า ซึ่งได้ใช้ต้อนรับญาติโยมทั่วๆไป ใช้สำหรับเป็นที่ฉันอาหาร และได้ดัดแปลงโรงรถเก่าให้เป็นศาลาเล็กๆสำหรับเทศน์โปรดญาติโยม หรือแม้กระทั่งการทำงานเกี่ยวกับงานคอมพิวเตอร์ งานเอกสาร หรือการติดต่องานต่างๆ รวมทั้งรับแขกญาติโยม ซึ่งทั้งพระและโยม ก็จะต้องใช้พื้นที่เดียวกัน จึงค่อนข้างจะไม่สะดวก

ที่วัดจะมีบริเวณซึ่งใช้สร้างกุฏิพระ ซึ่งอยู่บนเขา ใช้เวลาเดินลงมาประมาณ 15 นาที กุฏิพระซึ่งตั้งอยู่ในป่า มีบริเวณห่างกันพอสมควร มีทางเดินจงกรม ก็ทำให้มีบรรยากาศเงียบสงบ และเหมาะกับการปฏิบัติจริงๆ อาตมาจึงได้มีความคิดว่า ถ้าเราได้สร้างศาลาหรืออาคารเล็กสักหลังหนึ่ง ภายในบริเวณนั้น เพื่อพระสงฆ์จะได้ทำการประชุมย่อย ทำกิจกรรมของสงฆ์ รวมไปถึงการสร้างห้องน้ำ ห้องส้วม เพื่อที่จะมีบริเวณสำหรับซัก ย้อมผ้า เย็บผ้า เก็บของสำหรับพระสงฆ์ จะได้อยู่อย่างเอกเทศ จะได้ไม่ปะปนกับฆราวาส ก็เป็นเป้าหมาย ที่อาตมาคิดไว้ว่า จะเป็นส่วนที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับพระสงฆ์ เพื่อท่านจะได้มีสถานที่ที่สะดวก เมื่อพระได้อยู่อย่างสะดวก ท่านก็สามารถทำการประพฤติปฏิบัติด้วยจิตใจที่เบิกบาน มีความยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสงบเรียบร้อย และจะเป็นที่สบายตาสบายใจของญาติโยมที่ได้พบเห็น เพราะบางครั้งญาติโยมไปเจอวัดบางวัด พระมีความเคร่งเครียด ไม่มีความสงบเสงี่ยม มีความไม่สบายใจ ก็พลอยให้ญาติโยม ไม่สบายใจไปด้วย

ในการสร้างคน หรือการสร้างพระ ส่วนหนึ่ง ก็ต้องอิงอาศัยสถานที่เหมือนกัน ถึงแม้ว่า เราพยายามจะเน้นที่ตัวคนก็จริงอยู่ แต่ก็ต้องอาศัยสิ่งภายนอกด้วย และวัดเราก็เป็นวัดในสายหลวงพ่อชาเพียงแห่งเดียวในอเมริกา จึงเป็นเหตุที่ทำให้คนเกิดความสนใจ และก็เป็นเรื่องที่น่าแปลก ที่ว่าหลวงพ่อชาท่านก็ไม่ได้เทศน์มา 20 กว่าปีแล้ว เพราะว่าท่านมรณภาพไป 10 กว่าปีแล้ว แต่คนก็ยังมีความศรัทธา เลื่อมใสในตัวท่าน และยึดเอาปฏิปทาของท่านที่วางไว้เป็นโครงสร้าง ชาวต่างประเทศที่อยู่ที่นั้น เขาจึงมีความเลื่อมใสมาก อยากศึกษา อยากสัมผัส



ยิ่งพูดถึงรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีคนหลากหลายประเภท และคนที่มาวัดส่วนใหญ่ ก็จะเป็นชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นชาวตะวันตก และชาวไทยที่อยู่ที่นั่นก็ไป แต่ไม่มากนัก เพราะจากซานฟรานซิสโก ไปที่วัด ก็ค่อนข้างลำบาก ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง นี่ก็เป็นวัตถุประสงค์เดิมในการสร้างวัดของอาตมากับท่านอาจารย์อมโร ตั้งแต่ก่อนที่จะมีที่ดินด้วยซ้ำ คือ จะต้องให้ห่างจากเมืองใหญ่ประมาณ 2 ชั่งโมง ไม่อย่างนั้น วัดเราจะล้นและถูกทับด้วยคน เพราะว่าคนหลั่งไหลมามากเกินไป แล้วจะทำให้สถานที่ไม่สงบ ไม่เหมาะสมกับการจะฝึกนักบวช และฝึกญาติโยมที่มีศรัทธา

ดังนั้น การเดินทางที่ลำบาก จึงกลายเป็นข้อดี ให้ผู้ที่จะไปเป็นผู้ที่ตั้งใจดีจริงๆ และสำหรับเจ้าอาวาสก็เลยสบาย เพราะถ้าผู้ที่ไปเป็นผู้ที่สนใจในการประพฤติปฏิบัติจริงๆ ทำให้เราไม่ต้องมาตอบคำถามที่น่าเบื่อ

ผู้ที่ไปวัด นอกจากชาวไทย ชาวลาว ชาวเขมร ชาวเวียดนาม ชาวศรีลังกา ชาวจีน ก็มีหลายชาติ และเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ ที่ได้มีสาขาของหลวงพ่อชาที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งคนที่ได้ยินได้ฟัง เรื่องของวัดเรา ในวงการชาวพุทธ ก็ไม่น้อย ที่เขาเล่าต่อๆกัน และเขาก็มีความเคารพความศรัทธาในวัดของเรา และก็เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ น่าอนุโมทนาจริง สำหรับญาติโยมชาวไทยเราที่ยังช่วยกันให้การสนับสนุนทำบุญ ดังเช่นวันนี้เป็นตัวอย่าง ญาติโยมก็ได้นำผ้าป่ามาช่วยวัดอภัยคีรี อาตมาก็ขออนุโมทนาในบุญกุศลที่ญาติโยมได้ทำไว้ และขอให้ผลบุญกุศลที่ญาติโยมได้มาร่วมกันทำนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เกิดความสุข ความเจริญแก่พวกเราทุกๆคน

จาก http://pantip.com/topic/34303376

http://fearlessdiary.exteen.com/category/Monastic

<a href="https://www.youtube.com/v/QKIpG529TyM" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/QKIpG529TyM</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/v-UnzaHSM2E" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/v-UnzaHSM2E</a>

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กรกฎาคม 15, 2016, 10:48:33 pm »



วัดป่าอภัยคีรี

  วัดป่าอภัยคีรี เป็นวัดในสายหลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งแรกในสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองซานฟรานซิสโก มีเจ้าอาวาสร่วมกัน 2 รูป คือ พระอาจารย์ปสันโน อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ และพระอาจารย์อมโร อดีตรองเจ้าอาวาสวัดป่าอมราวดี

   "อภัยคีรี" เป็นภาษาบาลี มีความหมายว่า "ขุนเขาแห่งความปลอดภัย" ซึ่งเป็นชื่อวัดโบราณในศรีลังกา ที่ต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ต่างนิกายมาปฏิบัติธรรมร่วมกัน ด้วยความสมัครสมานสามัคคี ด้วยความเชื่อว่า "ทุกชีวิตมีสิทธิ์ในการทำทุกข์ให้สิ้นได้เท่าๆ กัน"

   ปัจจุบัน วัดป่าอภัยคีรี ในอเมริกา ก็ไม่แตกต่างกันนั้นคือ ได้เปิดโอกาสให้ผู้มีความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ รักในสติ รักในปัญญา ได้เข้าถึงความสงบ สัปปายะ เป็นธรรมชาติตามแนววัดป่าฝ่ายเ๔รวาท ไม่ว่าผู้นั้นจะนับถือศาสนาใด นิกายไหน มีสีผิวอย่างไร ไม่เลือก เชื้อชาติ เพศ อายุ



กว่าจะเป็น "อภัยคีรี" 

   เมื่อ พ.ศ. 2520 หลวงพ่อชา ได้รับนิมนต์ไปสหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงธรรม และอบรมกรรมฐานแด่ญาติโยมชาวไทยและตะวันตกในครั้งนั้น ผู้มีศรัทธาได้ปรารถกับหลวงพ่อ ถึงการเปิดสาขาวัดหนองป่าพงในอเมริกา หลวงพ่อตอบว่า "รอไปเถอะอีก 20 ปีจะมีสาขาในอเมริกา"

   พ.ศ. 2527 ท่านอาจารย์สุเมโธ ศิษย์ชาวต่างชาติรูปแรกของหลวงพ่อชา ได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมและอบรมกรรมฐานแด่ชาวเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศอเมริกา และมีผู้ศรัทธาเป็นจำนวนมาก จึงได้รวมตัวกันก่อตั้ง มูลนิธิสังฆปาละ ขึ้นในปี พ.ศ. 2531 เพื่อจัดหาสถานที่เหมาะสมแก่การสร้างวัดป่าที่ไม่ไกลจากซานฟรานซิสโก



   จนกระทั่ง พ.ศ. 2538 คณาจารย์ Hsuan Hua เจ้าอาวาสวัดพระพุทธรูปหมื่นองค์ (The City of Ten Thousand Bhuddhas) ฝ่ายมหายานได้เมตตามอบที่ดิน จำนวน 120 เอเคอร์ ใกล้วัดของท่านให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อชาก่อนที่ท่านจะมรณภาพ คณาจารย์ Hsuan Hua ได้เคยปฏิบัติธรรมในประเทศไทยและประทับใจในแนวทางปฏิบัติฝ่ายเถรวาท มีความปรารถนาที่จะเห็นการปฏิบัติธรรมร่วมกันของพระภิกษุฝ่ายมหายานกับเถรวาทอีกครั้ง และเมื่อท่านได้พบกับท่านอาจารย์สุเมโธ ท่านทั้งสองมีความเคารพซึ่งกันและกันเป็นอันมาก

   ที่ดินดังกล่าว มีลักษณะเป็นป่าบนภูเขา มีความสงบร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม แต่ไม่มีทางเข้า-ออก ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ มูลนิธิสังฆปาละ คณะศิษย์ชาวไทยและต่างประเทศ จึงได้รวบรวมทุนจัดซื้อที่ดินที่มีทางเข้าออก พร้อมบ้านและโรงรถ พอที่จะดัดแปลงให้เป็นที่อยู่อาศัยได้ชั่วคราว ทำให้มีที่ดินรวมทั้งหมด 250 เอเคอร์

   ในปี พ.ศ. 2540 พระอาจารย์ปสันโน ได้สละตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ เพื่อมาก่อตั้งวัดป่าอภัยคีรี และเป็นเจ้าอาวาสร่วมกับพระอาจารย์อมโร วัดป่าอภัยคีรีจึงเป็นสาขาแรกของวัดหนองป่าพง ในประเทศอเมริกา และเป็นที่น่าประหลาดใจว่า นับระยะได้ 20 ปีพอดี จากวันที่หลวงพ่อชาไปเยือนอเมริกา

อภัยคีรีในปัจจุบัน

"พระสร้างคน"

   หลวงพ่อชาได้ให้หลักการไว้ให้มุ่ง "สร้างวัดภายใน" เสียก่อน คือ สร้างกายวาจาใจ ที่มีวัตรปฏิบัติดี ท่านเคยกล่าวด้วยว่า "ให้พระสร้างคน แล้วคนจะสร้างวัด"

   พระอาจารย์ปสันโน และ พระอาจารย์อมโร ดำเนินตามแนวทางของหลวงพ่อชา ในการอบรมถ่ายทอดความรู้และสอนการปฏิบัติธรรมให้แก่บุคคลทั่วไป และผู้ปรารถนาจะใช้ชีวิตอย่างสมณเพศ ท่านอาจารย์ปสันโน ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ เพื่อความสะดวกในการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรใหม่โดยเฉพาะในอเมริกา

** หมายเหตุ ผู้สนใจจะบวชเป็นภิกษุ จะต้องถือศีล 8 เป็นผ้าขาว 1 ปี บรรพชาเป็นสามเณร อีก 1 ปี จึงจะได้รับการพิจารณาให้บวชเป็นพระภิกษุ



"คนสร้างวัด"

   ในปีแรกๆ ระหว่างรอการอนุญาตจากเทศบาลมลรัฐให้สร้างวัด ชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดมีศรัทธามาช่วยสร้างกุฏิหลังเล็กๆ โดยซื้อเศษไม้ราคาถูกมาประกอบ และดัดแปลงรถนอนที่ได้รับบริจาคให้พออยู่ได้ หากคราวใดกุฏิไม่พอ ก็ใช้กางเต๊นท์เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุ สามเณร อานาคาริกะ (ปะขาว ) ไปชั่วคราว

   ต่อมาเมื่อได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นวัด เทศบาลของมลรัฐกำหนดให้รื๊อถอนกุฏิที่พระและโยมสร้างกันเองออก รถนอนและเต๊นท์ก็ห้ามใช้อีกด้วย เทศบาลยังกำหนดเคร่งครัดว่าจะให้พักที่วัดไม่เกินกี่คน

   ทั้งนี้เพราะบางส่วนของวัดอยู่ในเขตที่มีแผ่นดินไหว จึงต้องเคร่งครัดเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้กุฏิจึงไม่เพียงพอกับพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ และไม่สามารถบวชภิกษุสามเณรใหม่ หรือรองรับผู้ปฏิบัติธรรมได้



BHAYAGIRI BUDDHIST MONASTERY
16201 Tomki Rd. Redwood Valley,
California, 95470
Tel: (707) 485-1630 Fax: (707) 484-7948
e-mail: sangha@abhayagiri.org
website: www.abhayagiri.org

http://fearlessdiary.exteen.com/category/Monastic

<a href="https://www.youtube.com/v/SREWqkQZABs" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/SREWqkQZABs</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/I0hMx5vJRog" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/I0hMx5vJRog</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/_gh56UprdD8" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/_gh56UprdD8</a>