ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กรกฎาคม 26, 2016, 01:55:08 pm »อาณานิคมก่อนสมัยน้ำท่วม
ศัมภาลาตอนเหนือ
หนังสือพิมพ์เซี่ยงไฮ้ในทศวรรษที่ยี่สิบ ได้ลงบทความของด็อกเตอร์เล่าจินเกี่ยวกับการเดินทางของตนไปยังเมืองในฝันในเอเชียกลาง จากการบอกเล่าอย่างน่าฟัง เรื่อง เส้นขอบฟ้าที่สาบสูญ ของเจมส์ ฮิลตัน ศัลยแพทย์ได้พรรณนาถึงการเดินทางที่อันตราย โดยใช้เกวียนไปกับโยคีชาวเนปาล ถึงที่ราบสูงแห่งทิเบต ในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยเทือกเขาที่แยกตัวออกมาอย่างโดดเดี่ยว นักผจญภัยทั้งสองได้พบหุบเขาที่เร้นลับ มีสายลมทางเหนือที่พัดอย่างรุนแรงคอยขวางกั้น และสดชื่นรื่นรมย์กับสภาพอากาศที่อบอุ่นกว่าภูมิภาคโดยรอบ นายแพทย์เล่าจินกล่าวถึงหอคอยศัมภาลาและห้องทดลองที่น่าสงสัย ผู้เยี่ยมเยือนทั้งสองได้เห็นการบรรลุผลสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงของผู้พำนักในหุบเขานั้น พวกเขายังเฝ้าดูความสามารถอันเลอเลิศในการถ่ายทอดกระแสจิตที่กระทำขึ้นในระยะห่างไกลกันมาก นายแพทย์ชาวจีนท่านนี้ยังจะมีเรื่องเล่าอีกมากมายเกี่ยวกับการพักอยู่บนหุบเขานั้น หากมิได้สัญญากับผู้คนที่นั่นว่าจะไม่เปิดเผยเรื่องทั้งหมดนั้น
จากเรื่องเล่าของผู้คนทางตะวันออกของศัมภาลาตอนเหนือ ซึ่งปัจจุบันพบแต่ทรายและทะเลสาบน้ำเค็มเท่านั้น กล่าวว่าครั้งหนึ่งยังมีทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลในเอเชียกลาง ทะเลแห่งนี้มีเกาะแห่งหนึ่งที่ปัจจุบันไม่มีสิ่งใดคงอยู่เลย เว้นแต่ภูเขาในยุคอันไกลโพ้นย้อนหลังไปนั้น มีเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่บังเกิดขึ้น “ด้วยเสียงแผดคำรามร้องอย่างทรงพลัง จากลมที่พัดลงมาจากความสูง สุดจะคะเนได้ รายรอบด้วยไฟสว่างเจิดจ้า วาบวาวไปทั่วท้องฟ้า โชติช่วงทั่วอากาศ เห็นราชรถของโอรสแห่งไฟ เจ้าแห่งเพลิงจากวีนัส สรรพสิ่งทั้งปวงนี้ปรากฏคละเคล้าอยู่เหนือเกาะสีขาวที่นอนยิ้มอยู่ในอ้อมกอดแห่งทะเลโกบี”
กษัตริย์แห่งศัมภาลา
เมื่อเราได้ยินภูมิหลังของการถกเถียงในทุกวันนี้ เรื่องยานจากนอกโลกมาชนที่ทังกัสกา ในไซบีเรีย เราอย่าได้ขบขันกันเรื่องเล่าของอินเดียนี้เลย
ในเรื่องพื้นบ้านและบทเพลงของทิเบตและมองโกเลีย กล่าวว่า ศัมภาลาถูกยกขึ้นสูงยังจุดที่คาดว่าเป็นรูปของความจริงสูงสุด ในช่วงการเดินทางสู่เอเชียกลาง นิโคลัส เรอริชได้ผ่านเสาหลักแดนสีขาวที่ถือเป็นด่านแห่งหนึ่งในสามแห่งของศัมภาลา และเพื่อจะแสดงว่าพระลามะทั้งหลายเชื่อมั่นในเรื่องศัมภาลา เราจึงขอยกอ้างคำพูดของพระทิเบตรูปหนึ่งที่บอกเรอริชว่า “ชาวศัมภาลาบางครั้งโผล่ขึ้นมาสู่โลก พวกเขาพบกับผู้ร่วมงานของศัมภาลาบนโลก และพวกเขามอบของกำนัลล้ำค่าให้ อันเป็นของที่ระลึกอันน่าพิศวงเพื่อแสดงถึงความเป็นมนุษย์ ”
หลังจากพิจารณาเรื่องเล่าทางพุทธศาสนาในทิเบตแล้ว โซมา เด โกโรส ค.ศ.1784 – 4842 ระบุว่าศัมภาลาอยู่ไกลจากแม่น้ำไซร์ดาเรีย ระหว่างละติจูด 45 – 50 องศาเหนือ นับเป็นเรื่องจริงที่น่าสนใจมาก ที่แผนที่สมัยศตวรรษที่สิบเจ็ด (พิมพ์ในเมืองอันท์แวป ประเทศเบลเยียม) ได้แสดงถึงประเทศศัมภาลาด้วย
นักเดินทางชาวคริสต์สมัยต้นที่เดินทางในเอเชียกลาง เช่นหลวงพ่อสตีเฟน คาเซลลา ได้บันทึกการมีอยู่ของอาณาจักรที่ไม่มีใครรู้จัก เรียกว่า “เซมพาลา”
นายพัน เอ็น.เอ็ม. ปริวัลสกี้ และ ด็อกเตอร์เอ.เอช. แฟรงค์ ได้ระบุถึงศัมภาลาไว้ในงานของตน งานแปลคัมภีร์ทิเบตโบราณ โดย ศาสตราจารย์ กรีนเวเดล เรื่อง เส้นทางสู่ศัมภาลา เป็นเอกาสารที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จุดชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นมีความคลุมเครือโดยจงใจ นับว่าไม่มีประโยชน์แก่ใครเลย ถ้าไม่คุ้นเคยอย่างทะลุปรุโปร่งกับชื่อโบราณและชื่อสมัยใหม่ของสถานที่และอารามต่าง ๆ เหล่านั้น การบ่งบอกทางภูมิศาสตร์อาจจะมีความสับสนจากเหตุผลสองประการ นั่นคือผู้ที่รู้จักอาณานิคมนั้นจริง ๆ จะไม่เปิดเผยบริเวณที่ปรากฏจริง เพื่อมิให้ไปรบกวนงานของผู้พิทักษ์ดังกล่าว อีกกรณีหนึ่งเป็นการอ้างอิงแหล่งพำนักเหล่านี้กับเรื่องพื้นบ้านและวรรณคดีของตะวันออกซึ่งในบางครั้งก็ดูเหมือนจะเป็นการขัดแย้ง เพราะกล่าวถึงชุมชนต่าง ๆ ในตำแหน่งอันหลากหลาย
หลังจากได้ศึกษาเรื่องนี้อยู่หลายปี ผู้เขียนได้เขียนบทนี้ในเทือกเขาหิมาลัยและสำหรับผู้เขียนแล้ว ชื่อ ศัมภาลา นั้นครอบคลุมเกาะสีขาวในโกบี หุบเขาเร้นลับและอุโมงค์ใต้ภูเขาในเอเชียและที่อื่น ๆ และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย
เล่าจื้อ (ศตวรรษที่หกก่อนคริสตกาล) ผู้ก่อตั้งลัทธิเต๋า ได้เดินทางแสวงหาที่พำนักของ ซีหวังมู เทวีแห่งทิศตะวันตก และท้ายสุดก็ได้พบเรื่องเล่าของเต๋ายืนยันว่า เทวีองค์นี้เป็นมนุษย์เมื่อหลายพันปีก่อน หลังจากกลายเป็นเทพ นางก็คอยพิทักษ์เทือกเขาคุนลุน พระจีนยืนยันว่ามีหุบเขาอันสวยสดงดงานยิ่งในเทือกเขานั้น ที่นักเดินทางทั่วไปไม่อาจจะไปถึง หากไม่มีคนนำทาง หุบเขาดังกล่าวเป็นที่อยู่ของซีหวังมู ผู้เป็นประธานการประชุมของเทพเจ้า เทพเหล่านี้อาจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่องที่สุดในโลกก็ได้
จากความสัมพันธ์นี้ พบว่าการมองเห็นยานประหลาดเหนือคาราโครัม (ซึ่งเป็นปลายสุดของเทือกเขาคุนลุ้น) จากการสำรวจของเรอริชนั้นเป็นเรื่องแปลกมาก จานประหลาดดังกล่าวอาจจะมาจากสนามบินของเทพเจ้าก็ได้
จากสิ่งที่กล่าวอยู่ในขณะนี้ คงจะเห็นได้ชัดเจนถึงความยากที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อาศัยในชุมชนลึกลับนั้น แต่การพบเช่นนี้ก็ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าในรายงาน การไม่ปรากฏในรายงานนั้น เป็นเพราะผู้พบเห็นได้รับคำสาบานว่า จะไม่เปิดเผยถึงความลับเรื่องชุมชนโบราณ ด้วยเหตุผลที่เหมาะสม “มหาตมะ” เหล่านั้นไม่ต้องการจะถูกรบกวนจากผู้แสวงหาที่อยากรู้อยากเห็น หรือจากบรรดานักล่าสมบัติ เพราะพวกเขาเป็นผู้พิทักษ์แห่งศาสตร์โบราณ และเป็นผู้รักษาสมบัติแห่งยุคสมัย
คงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่จะยกอ้างจดหมายฉบับหนึ่งของมหาตมะเองที่กล่าวถึงขอบเขตของกิจกรรมการทำงานของตน “เพราะผู้คนหลายชั่วอายุนับไม่ถ้วน มีความชำนาญในการสร้างโบสถ์วิหารด้วยศิลาที่ไม่ผุกร่อน หอคอยยักษ์แห่งความคิดชั่วนิรันดร์ที่มียักษ์อาศัยอยู่ภายใน และหากมีความจำเป็นก็จะพำนักแต่ผู้เดียว เพียงแต่ปรากฏออกมาเมื่อปลายวัฏจักรเวลาเท่านั้น เพื่อเชิญผู้รับเลือกไปร่วมทำงานกับตน และช่วยมนุษย์ผู้ล้ำลึกและรู้แจ้งเป็นการตอบแทน” งานนี้ มหาตมะกูต ฮูมี เขียนไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1881
จุดกำเนิดของชุมชนที่ไม่รู้จักเหล่านี้ได้สาบสูญไปในเวลาชั่วคืนเดียว เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ยิ่งกว่าเรื่องที่บรรพบุรุษของเราในวิวัฒนาการ สั่งผู้คนจากแอตแลนติสให้เพิกถอนจากกฎอันดีงาม
การบรรลุผลสำเร็จทางจิตใจและวัตถุตามแบบฉบับของแอตแลนติสอันยิ่งใหญ่ อาจจะยังคงมีอยู่ในอาณานิคมอันลึกลับนี้ แม้ว่ามิได้มีตัวแทนอยู่ในองค์การสหประชาชาติ แต่สาธารณรัฐขาดเล็กนี้ก็อาจจะเป็นรัฐถาวรเพียงแห่งเดียวในโลกราหูนี้ และเป็นแหล่งพิทักษ์ความรู้วิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่พอ ๆ กับหินผาก็ได้ ผู้สงสัยจะระลึกไว้ในใจว่า ข่าวสารจากมหาตมะนั้นยังคงเก็บรักษาอยู่ในที่เก็บเอกสารสำคัญของรัฐในประเทศไหนสักแห่งหนึ่ง
ในเรื่องพื้นบ้านของรัสเซีย มีนิทานปรัมปราเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับนครใต้ดินชื่อ คิเจช มีการปกครองอย่างเป็นธรรม สาวกเก่าแก่เมื่อถูกข่มเหงจากรัฐบาลแห่งซาร์ ก็แสวงหาดินแดนในฝัน “จะไปหาที่ไหน ?” คนหนึ่งถาม “ตามเส้นทางแห่งบาตู” บาตูข่านวัยชรา นักรบแห่งทาร์ทาร์ตอบ เขามาจากมองโกเลีย เดินทางไปทางตะวันตก ทิศทางนั้นหมายถึงดินแดนในฝันที่บังเกิดขึ้นในเอเชียกลาง
ตำนานอีกเรื่องหนึ่ง ชี้ถึงทะเลสาบเวลต์โลยาร์ในรัสเซีย แต่ไม่มีพื้นฐานรอรับ เพราะเคยมีการสำรวจใต้ท้องทะเลสาบนั้นแต่ไม่พบสิ่งใดเลย ดูเหมือนว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับคิเจชนั้น ควรจะอยู่บริเวณเดียวกับศัมภาลาตอนเหนือ เรื่องทำนองเดียวกันนี้ยังมีอีกในกรณีของเบโลวอดยี
ในวารสารของสมาคมภูมิศาสตร์รัสเซีย เมื่อปี ค.ศ.1903 มีบทความหนึ่งของโคโรเลนโก ชื่อ “การเดินทางของอูรัล คอสแซคส์ เข้าสู่อาณาจักรเบโลวอดยี” ขณะเดียวกันสมาคมภูมิศาสตร์ไซบีเรียตะวันตกก็ตีพิมพ์เรื่องหนึ่งเมื่อปี ค.ศ.1916 เขียนโดย เบโลสลิอูดอฟ ชื่อบทความว่า “สู่ประวัติศาสตร์แห่งเบโลวอดยี”
จากเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ของทั้งสองบทความนี้ นับเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยบทความนั้นกล่าวถึงเรื่องเล่าประหลาด ซึ่งขจรขจายไปในบรรดาสตาโรเวรี หรือสาวกเก่าแก่ในรัสเซีย กล่าวคือ สวรรค์บนโลกมีอยู่ในพื้นที่บางแห่งในเบโลวอดยี หรือ เบโลกอร์ยี อันเป็นดินแดนแห่งน้ำสีขาวและภูเขาสีขาว ตอนนี้ขอให้นึกถึงศัมภาลาตอนเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ในเกาะสีขาวเช่นกัน
ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของอาณาจักรลี้ลับนี้ อาจจะคลุมเครือเล็กน้อยเมื่อปรากฏแก่สายตาในตอนแรก มีทะเลสาบน้ำเค็มมากมายในเอเชียกลาง บ้างก็แห้งและมีชั้นผิวขาวอยู่เต็ม ส่วนเทือกเขาชานชุง และคุนลุ้นก็มีหิมะปกคลุมอยู่ตอนบน
เมืออยู่ที่เทือกเขาอัลไต นิโคลัส เรอริชได้ทราบว่ามีหุบเขาลีลับไกลโพ้นจากทะเลสาบกว้างใหญ่ และเทือกเขาสูง เขาทราบมาว่า คนส่วนมากพยายามจะไปให้ถึงเบโลวอดยี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม มีบางคนได้พบและอยู่ที่นั่นเป็นเวลาสั้น ๆ เมื่อศตวรรษที่สิบเก้า มีชายสองคนได้ไปถึงดินแดนในฝันนี้ และพักอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง เมื่อพวกเขากลับมาก็ได้พรรณนาถึงความน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับอาณานิคม ที่สาบสูญดังกล่าว แต่ “ในบรรดาความน่าอัศจรรย์อื่น ๆ พวกเขาไม่ยอมให้เรากล่าวถึง”
เรื่องนี้มีหลายจุดที่คล้ายคลึงกับเรื่องของนายแพทย์เล่าจินที่เล่ามาก่อนนี้
เรื่องที่ผู้คนในอาณานิคมลี้ลับเหล่านี้มีความสำนึกทางวิทยาศาสตร์ อาจจะสรุปได้จากเรื่องของเรอริช เกี่ยวกับพระลามะผู้กลับจากหนึ่งในอาณานิคมเหล่านี้ไปยังอารามของตน พระรูปนี้พบกับชายสองคนที่นำแกะพันธุ์ดีเยี่ยมเดินทางตามเส้นทางใต้ดินแคบ ๆ สัตว์ตัวนี้เป็นที่ต้องการขยายพันธุ์ทางวิทยาศาสตร์ในหุบเขาลับนั้น
เอกสารของสำนักวาติกันได้เก็บรายงานหายากเรื่องมิชชันนารีในศตวรรษที่สิบเก้า ที่ยืนยันว่าในคราววิกฤต จักรพรรดิแห่งจีนเคยส่งตัวแทนไปยัง “เทพเจ้าแห่งขุนเขา” เพื่อขอคำปรึกษา เอกสารเหล่านี้มิได้แสดงว่าม้าด่วนคนนั้นไปยังที่ใด แต่บอกเพียงว่าไปยังเทือกเขาชานตุง คุนลุ้น หรือหิมาลัย
บันทึกเหล่านี้ของมิชชันนารีคาทอลิก (และงานของมองซินอีเยอร์ เดลาปลาซ เรื่อง บันทึกประจำปี การประกาศศรัทธา (Annales de la Propagation de la Foi) บ่งบอกถึงความเชื่อของนักพรตชาวจีน ที่เชื่อในมนุษย์วิเศษผู้อาศัยอยู่ในส่วนเร้นลับยากจะเข้าถึงในประเทศจีน พงศาวดารนั้นพรรณนาถึง “ผู้พิทักษ์แห่งจีน” ว่า มีลักษณะทั่วไปคล้ายมนุษย์ แต่ทางสรีระต่างกัน
แอนดรูว์ โทมัส เขียน
ธวัชชัย ดุลยสุจริต แปล
จาก http://www.atom.rmutphysics.com/charud/oldnews/0/286/15/1/ATLANTIS/atlan11.htm