ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2016, 02:28:13 am »Tales from Country Side : ภัตตาคารบ้านทุ่ง
เมื่อไม่กี่ปีที่แล้วจุดเด่นของรายการอาหาร คือการที่มีดารามาเป็นพิธีกรพาไปชิมอาหารเลิศหรูตามร้านอาหารชั้นนำ เอ่ยเชยชมจานตรงหน้าว่าอร่อยมากเพียงใด ควรค่าแก่การมาเยือนเพื่อลิ้มลองรสชาติอันพิถีพิถันนี้แค่ไหน แต่แล้วคุณผู้ชมก็มีโอกาสได้รู้จักกับ “ภัตตาคารบ้านทุ่ง” ทางช่องไทยพีบีเอส รายการที่บุกป่า ลุยคลอง ขึ้นเขา เพื่อตามหาวัตถุดิบท้องถิ่นที่แม้แต่ชื่อยังไม่เคยได้ยิน ยิ่งได้เห็นผู้ดำเนินรายการ คุณสตังค์-จรงค์ศักดิ์ รองเดช ชายสำเนียงทองแดงผู้ชื่นชอบการร่ายกลอน ทำให้รู้เลยว่าเขาเป็นพิธีกรที่โดดเด่นจากพิมพ์นิยมอย่างชัดเจน
“ภัตตาคารบ้านทุ่งเป็นรายการที่บอกเล่าความงดงามของสังคมไทย และวัฒนธรรมการกินในวิถีชาวชนบท อาหารแต่ละชนิดมันมีรากเหง้า มีภูมิปัญญาอยู่ในนั้น ที่สำคัญต้องฟังอร่อยหู ดูอร่อยตา แล้วพาอร่อยใจ การฟังคือใช้คำกลอนในการเล่าเรื่อง เพื่อที่คนฟังจะได้เข้าใจได้ง่ายที่สุด และกล้าการันตีว่าถ้าปิดเสียงทีวียังไงก็ดูรายการนี้รู้เรื่อง แล้วยังจะกลืนน้ำลายด้วย เพราะเราเล่าเรื่องด้วยภาพ ส่วนอร่อยใจเนี่ย ก่อให้เกิดจิตสำนึกรักบ้าน ไม่ได้แค่กินให้อิ่ม แต่กินอย่างไรให้เกิดภูมิปัญญาอยู่ชั่วลูกชั่วหลานด้วย เราจะเห็นความงามของการแบ่งปัน เห็นวิถีชีวิตของเขา ทั้งบ้านเรือน และธรรมชาติอย่างที่รายการอื่นจะถามว่านี่ถ่ายนกเอี้ยงมาทำไม แต่ก็บอกอยู่ไงว่านี่คือวิถีชีวิตบ้านเรา”
ทุกครั้งหลังจากได้ชมขั้นตอนการปลูก การเพาะ การเลี้ยง และอีกสารพัดกระบวนการการได้มาซึ่งวัตถุดิบ ก็มาถึงช่วงทำอาหารแบบบ้านๆ และวัตถุดิบที่เราจะขาดไม่ได้เลยคงไม่พ้นหอม กระเทียม ที่ต้องมีติดอยู่ทุกครัว ซึ่งคุณสตังค์อยากให้ผู้ชมเห็นว่าอาหารพื้นบ้านสามารถเพิ่มมูลค่าไปเสิร์ฟในร้านอาหารหรูๆ ได้ และเพียงแค่รายการออนแอร์ ก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของคนตัวเล็กให้เห็นว่าไม่ใช่แค่อาหาร แต่เกิดเป็นมิติชุมชน และวิถีวัฒนธรรมอย่างไรต่างหากคือสิ่งสำคัญ ยิ่งทำให้เห็นถึงความต่างระหว่างคนเมืองกับชาวชนบท ที่เด่นชัดคงไม่พ้นเรื่องของอาหารการกิน
“คนเมืองหลายคนถึงแม้จะเลือกกินได้ แต่ก็ไม่เกินสิบอย่าง เพราะถูกบังคับจากระบบเกษตร มันมีอะไรบ้างล่ะ ผักบุ้ง คะน้า แตงกวา ถั่วฝักยาว แต่คนบ้านนอกเขามีผักอีนูน แขยง ชะมวง รากสามสิบ ไผ่ผาก มีวัตถุดิบที่เป็นตัวเลือกให้ไปรังสรรค์เมนูได้ไม่รู้จบ และเพราะความไม่รู้ว่ามันมีอยู่ เราจึงไม่เห็นค่า ไม่รักษา ไม่หวงแหน ได้มรดกที่ดินจากพ่อแม่มา ไม่รู้ว่าพืชที่เห็นคือผักอีนูนกินได้ เขาก็ตัดทิ้งหมดไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวแทน”
แม้ว่าการถ่ายทอดเรื่องราวเช่นนี้จะมีอุปสรรคในเรื่องการให้ข้อมูลของชาวบ้าน และอากาศอันร้อนแรงจัดจ้า ที่หากพวกเขาลงมือทำอะไร ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมใด พิธีกรก็จะทำเหมือนกันทุกอย่างไม่มีกั๊ก ซึ่งนั่นไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นของคุณสตังค์ลดลงแม้แต่น้อย เพราะมันมีทางเลือกอยู่สองทางนั่นคือล้มเลิก หรือสู้ต่อไป
“ผมโตมาในครอบครัวที่ยากลำบาก เลยเห็นการใช้ชีวิตเพื่อมีชีวิตอยู่ และเพื่อดำรงชีวิตอยู่ มันเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการแสวงหาความร่ำรวย ซึ่งไม่ได้วัดที่ตัวเงิน แต่สำหรับผมมันอยู่ที่คุณรู้จักพอรึเปล่า สตังค์เนี่ยร่ำรวยมาก เพราะหนึ่ง ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองเลือก สอง ผมสามารถเดินเข้าบ้านของชาวบ้านได้โดยที่ไม่ต้องไปเบียดเบียนเขาเลย กับข้าวที่เรานั่งล้อมวงกินกันในรายการเรารับผิดชอบหมดทุกบาททุกสตางค์ มันเป็นความภาคภูมิใจของคนทำสื่อนะที่เราไม่ไปทำให้เขาเดือดร้อนอะไรเพิ่ม สาม เรารู้แล้วว่าชีวิตนี้ควรทำอะไรถึงจะเกิดประโยชน์โดยที่ไม่หนักแผ่นดิน”
ตัวตนของชายผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังภัตตาคารบ้านทุ่งกว่าสองร้อยตอนถูกสลายลงด้วยเรื่องราวที่ได้พานพบ ผ่านการเดินทางมากมาย บ้างทุกข์ยาก บ้างสุขล้น จากการสัมผัสความเนิบช้าของชีวิตอันหลากหลายไปด้วยความต่าง ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง จึงไม่แปลกนักหากเราจะเห็นชายผู้นี้ยิ้มกว้างเกินกว่าใคร
จาก http://foodstylistchannel.com/talk/90secret-ingredient/
เมื่อไม่กี่ปีที่แล้วจุดเด่นของรายการอาหาร คือการที่มีดารามาเป็นพิธีกรพาไปชิมอาหารเลิศหรูตามร้านอาหารชั้นนำ เอ่ยเชยชมจานตรงหน้าว่าอร่อยมากเพียงใด ควรค่าแก่การมาเยือนเพื่อลิ้มลองรสชาติอันพิถีพิถันนี้แค่ไหน แต่แล้วคุณผู้ชมก็มีโอกาสได้รู้จักกับ “ภัตตาคารบ้านทุ่ง” ทางช่องไทยพีบีเอส รายการที่บุกป่า ลุยคลอง ขึ้นเขา เพื่อตามหาวัตถุดิบท้องถิ่นที่แม้แต่ชื่อยังไม่เคยได้ยิน ยิ่งได้เห็นผู้ดำเนินรายการ คุณสตังค์-จรงค์ศักดิ์ รองเดช ชายสำเนียงทองแดงผู้ชื่นชอบการร่ายกลอน ทำให้รู้เลยว่าเขาเป็นพิธีกรที่โดดเด่นจากพิมพ์นิยมอย่างชัดเจน
“ภัตตาคารบ้านทุ่งเป็นรายการที่บอกเล่าความงดงามของสังคมไทย และวัฒนธรรมการกินในวิถีชาวชนบท อาหารแต่ละชนิดมันมีรากเหง้า มีภูมิปัญญาอยู่ในนั้น ที่สำคัญต้องฟังอร่อยหู ดูอร่อยตา แล้วพาอร่อยใจ การฟังคือใช้คำกลอนในการเล่าเรื่อง เพื่อที่คนฟังจะได้เข้าใจได้ง่ายที่สุด และกล้าการันตีว่าถ้าปิดเสียงทีวียังไงก็ดูรายการนี้รู้เรื่อง แล้วยังจะกลืนน้ำลายด้วย เพราะเราเล่าเรื่องด้วยภาพ ส่วนอร่อยใจเนี่ย ก่อให้เกิดจิตสำนึกรักบ้าน ไม่ได้แค่กินให้อิ่ม แต่กินอย่างไรให้เกิดภูมิปัญญาอยู่ชั่วลูกชั่วหลานด้วย เราจะเห็นความงามของการแบ่งปัน เห็นวิถีชีวิตของเขา ทั้งบ้านเรือน และธรรมชาติอย่างที่รายการอื่นจะถามว่านี่ถ่ายนกเอี้ยงมาทำไม แต่ก็บอกอยู่ไงว่านี่คือวิถีชีวิตบ้านเรา”
ทุกครั้งหลังจากได้ชมขั้นตอนการปลูก การเพาะ การเลี้ยง และอีกสารพัดกระบวนการการได้มาซึ่งวัตถุดิบ ก็มาถึงช่วงทำอาหารแบบบ้านๆ และวัตถุดิบที่เราจะขาดไม่ได้เลยคงไม่พ้นหอม กระเทียม ที่ต้องมีติดอยู่ทุกครัว ซึ่งคุณสตังค์อยากให้ผู้ชมเห็นว่าอาหารพื้นบ้านสามารถเพิ่มมูลค่าไปเสิร์ฟในร้านอาหารหรูๆ ได้ และเพียงแค่รายการออนแอร์ ก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของคนตัวเล็กให้เห็นว่าไม่ใช่แค่อาหาร แต่เกิดเป็นมิติชุมชน และวิถีวัฒนธรรมอย่างไรต่างหากคือสิ่งสำคัญ ยิ่งทำให้เห็นถึงความต่างระหว่างคนเมืองกับชาวชนบท ที่เด่นชัดคงไม่พ้นเรื่องของอาหารการกิน
“คนเมืองหลายคนถึงแม้จะเลือกกินได้ แต่ก็ไม่เกินสิบอย่าง เพราะถูกบังคับจากระบบเกษตร มันมีอะไรบ้างล่ะ ผักบุ้ง คะน้า แตงกวา ถั่วฝักยาว แต่คนบ้านนอกเขามีผักอีนูน แขยง ชะมวง รากสามสิบ ไผ่ผาก มีวัตถุดิบที่เป็นตัวเลือกให้ไปรังสรรค์เมนูได้ไม่รู้จบ และเพราะความไม่รู้ว่ามันมีอยู่ เราจึงไม่เห็นค่า ไม่รักษา ไม่หวงแหน ได้มรดกที่ดินจากพ่อแม่มา ไม่รู้ว่าพืชที่เห็นคือผักอีนูนกินได้ เขาก็ตัดทิ้งหมดไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวแทน”
แม้ว่าการถ่ายทอดเรื่องราวเช่นนี้จะมีอุปสรรคในเรื่องการให้ข้อมูลของชาวบ้าน และอากาศอันร้อนแรงจัดจ้า ที่หากพวกเขาลงมือทำอะไร ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมใด พิธีกรก็จะทำเหมือนกันทุกอย่างไม่มีกั๊ก ซึ่งนั่นไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นของคุณสตังค์ลดลงแม้แต่น้อย เพราะมันมีทางเลือกอยู่สองทางนั่นคือล้มเลิก หรือสู้ต่อไป
“ผมโตมาในครอบครัวที่ยากลำบาก เลยเห็นการใช้ชีวิตเพื่อมีชีวิตอยู่ และเพื่อดำรงชีวิตอยู่ มันเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการแสวงหาความร่ำรวย ซึ่งไม่ได้วัดที่ตัวเงิน แต่สำหรับผมมันอยู่ที่คุณรู้จักพอรึเปล่า สตังค์เนี่ยร่ำรวยมาก เพราะหนึ่ง ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองเลือก สอง ผมสามารถเดินเข้าบ้านของชาวบ้านได้โดยที่ไม่ต้องไปเบียดเบียนเขาเลย กับข้าวที่เรานั่งล้อมวงกินกันในรายการเรารับผิดชอบหมดทุกบาททุกสตางค์ มันเป็นความภาคภูมิใจของคนทำสื่อนะที่เราไม่ไปทำให้เขาเดือดร้อนอะไรเพิ่ม สาม เรารู้แล้วว่าชีวิตนี้ควรทำอะไรถึงจะเกิดประโยชน์โดยที่ไม่หนักแผ่นดิน”
ตัวตนของชายผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังภัตตาคารบ้านทุ่งกว่าสองร้อยตอนถูกสลายลงด้วยเรื่องราวที่ได้พานพบ ผ่านการเดินทางมากมาย บ้างทุกข์ยาก บ้างสุขล้น จากการสัมผัสความเนิบช้าของชีวิตอันหลากหลายไปด้วยความต่าง ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง จึงไม่แปลกนักหากเราจะเห็นชายผู้นี้ยิ้มกว้างเกินกว่าใคร
จาก http://foodstylistchannel.com/talk/90secret-ingredient/