ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2016, 04:15:24 pm »องค์ดาไลลามะที่ 14
องค์ดาไลลามะ คือ ตำแหน่งสูงสุดในประเทศธิเบต ซึ่งเป็นทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นผู้นำทางการเมือง การปกครอง ทรงมีตำหนักโปตาลาและตำหนักนอร์บูลิงกาเป็นที่ประทับและเป็นสถานที่สำหรับประชุมคณะรัฐมนตรี ตำแหน่งดาไลลามะนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบันนี้นับเป็นองค์ที่ 14 ชาวธิเบตนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายานซึ่งได้เผยแพร่เข้าสู่ประเทศธิเบตในราวพุทธศตวรรษที่ 9 – 10 ใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะเอาชนะ ศาสนาบอน ซึ่งเป็นศาสนาท้องถิ่นได้ ต่อมาชาวธิเบตก็หันมายอมรับหลักคำสอนในพุทธศาสนากันอย่างแพร่หลายในทุกระดับสังคม จึงทำให้เปลี่ยนจากเผ่าพันธุ์ที่ดุดันและชอบรบพุ่ง มาเป็นชาวพุทธผู้อารีย์และรักสงบ จนกระทั่งถูกประเทศจีนบุกเข้ายึดครอง องค์ดาไลลามะต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศอินเดียจนถึงทุกวันนี้
ความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดและการเข้าทรงของชาวธิเบตนั้น เป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในสายเลือดของชาวธิเบตมานาน การกลับชาติมาเกิดชาวธิเบตเรียกว่า “ตุลกู” หมายถึงผู้ที่เลือกที่จะกลับมาเกิดใหม่ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของตนต่อไปหรือเลือกที่จะมาเกิดเพื่อโปรดสัตว์เพื่อช่วยสัตว์โลก ให้พ้นทุกข์เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์ ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางของพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่มุ่งปฏิบัติให้สำเร็จพระโพธิญาณ เพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ยังไม่ถึงนิพพาน เพื่อคอยโปรดสัตว์ผู้ยังมีทุกข์ให้พ้นจากสังสารวัฏ ทั้งๆที่สามารถนิพพานได้ นับเป็นการเสียสละที่น่ายกย่องยิ่งนัก ชาวธิเบตถือว่าการกลับชาติมาเกิดนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะในประเทศธิเบตมี “ตุลกู” คือผู้ที่กลับมาเกิดใหม่อยู่นับพันคน แต่ที่พิเศษไปกว่าตุลกูธรรมดา ก็คือการกลับชาติมาเกิดใหม่ขององค์ดาไลลามะหรือลามะชั้นสูงของธิเบต ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการ “อวตาร” มาเกิดก็ได้ ที่ผ่านมามีองค์ดาไลลามะและลามะชั้นสูงได้กลับชาติมาเกิดแล้วหลายท่าน
“ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้าสู่ทิเบตประมาณพุทธ ศตวรรษที่ 11 ในรัฐสมัยของกษัตริย์ซองต์เชน กัมโป (พ.ศ. 1151-1193) ทิเบตมีศาสนาอยู่ก่อนแล้ว คือศาสนาบอน (Bon) หรือ บอนโป ซึ่งมีความเชื่อในการถือโชคลางไสยศาสตร์ และเทพเจ้า พิธีกรรมบางอย่างน่ากลัว เพราะต้องมีการสละเลือดเพื่อเซ่นสังเวยแด่เทพเจ้า เหมือนในความเชื่อของทางอินเดียโบราณ” ผู้เขียนแสดงความเห็นแม้แต่ความเชื่อของชาวสยามเองก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนักเป็นที่น่าสังเกตว่า “พระพุทธศาสนามักจะเกิดขึ้นและเจริญรุ่งเรืองในประเทศที่เคยนับถือเรื่องโชคลาง ไสยศาสตร์ แม้แต่ในสยามประเทศเองการที่พระพุทธศาสนาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมินี้ได้ก็เพราะการผสมผสานระหว่างความเชื่อเก่ากับความเชื่อใหม่ การนับถือพระพุทธศาสนาไม่ได้ทำลายความเชื่อเดิม ชาวไทยยังคงสวดมนต์ไหว้พระพร้อมกับประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ไปด้วย บางแห่งพระสงฆ์กลายเป็นผู้เข้าทรงเสียเอง นี่อาจจะเป็นคุณลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของพุทธศาสนาคือการผสมผสานแนวคิดเดิมกับความเชื่อใหม่เหมือนกับการต่อกิ่งต้นมะม่วงของชาวสวน ในขณะที่มะม่วงต้นเดิมยังอยู่ แต่มีมะม่วงพันธ์ใหม่เกิดขึ้นที่ต้นมะม่วงต้นเดิม พระพุทธศาสนาในทิเบตก็เช่นเดียวกัน ความเชื่อเก่ายังมีอยู่แต่มีความเชื่อใหม่คือพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น
“กษัตริย์ซองต์เซน กัมโป ของทิเบตมีพระมเหสี 2 พระองค์คือ เจ้าหญิง เวน เชงหรือบุ้นเช้งจากจีน และเจ้าหญิงภฤกฏเทวี จากเนปาล พระมเหสีทั้งสองเป็นพุทธศาสนิกชนได้นำเอาพระพุทธศาสนาเข้าไปด้วย ดังนั้นในยุคแรกพระพุทธศาสนาในทิเบตจึงเป็นการผสมระหว่างมหายายแบบจีน เนปาล และไสยศาสตร์ของทิเบต”ผู้ที่วางรากฐานของพระพุทธศาสนาในทิเบต คือท่านปัทมะสัมภาวหรือคุรุปัทมสัมภวะ(Padmasambhava) กับ ท่านศัณฑะรักขิต(สังฆรักขิต) ภิกษุจากแคว้นแคชเมียร์ ประมาณพุทธศักราช 1308-1363) ได้สร้างวัดแรกขึ้นชื่อวัดซัมเย การเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคแรกเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก เพราะถูกผู้นิยมในศาสนาเก่าคือศาสนาบอนคอยขัดขวาง แต่มีพระทิเบตจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาทั้งจากจีนและอินเดียมีการแปลคัมภีร์เป็นภาษาทิเบตเป็นจำนวนมากทำให้คำสอนของพระพุทธศาสนาแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 เรื่อยมา พระพุทธศาสนาในทิเบตมีความเจริญและแตกเป็นนิกายต่าง ๆ 4 นิกาย คือ
1. นิกายญิงมาปะ (Rnin-ma-pa ) ให้กำเนิดโดยท่านคุรุปัทมะสัมภวะ ภิกษุชาวแค็ซเมียร์ กษัตริย์ตริซอง เด็ทเซ็น ได้อาราธนาไปวางรากฐานพระพุทธศาสนาในทิเบต ระหว่างพุทธศักราช (1308-1363) ท่านได้ตั้งคณะสงฆ์ชาวทิเบตขึ้น มีการแปลพุทธธรรมและบทบัญญัติต่างๆเป็นภาษาทิเบต เมื่อท่านมรณภาพแล้วได้มีคณาจารย์สืบต่อกันเรื่อยมา เป็นพุทธศาสนาแบบตันตระ (Tantra) สวมหมวกแดง เครื่องแต่งกายสีแดง
2. นิกายการยุดปะ ((Bka-rgyud-pa) ก่อตั้งโดยท่านนาโรปะ ( Naropa พ.ศ.1555-1642 ) ภิกษุชาวอินเดีย นิกายนี้นิยมสีขาวในการประกอบพิธีบางครั้งพระจะห่มผ้าสีขาว กำแพงวัด วิหารล้วนนิยมสีขาว จึงมักนิยมเรียกนิกายนี้ว่า นิกายขาว (White Sect) พระในนิกายนี้ที่โด่งดังมากที่สุดรูปหนึ่งคือท่านมิราเลปะ (Milarepa) ผู้ประพันธ์ A Hundred Thousand Songs) ซึ่งบางตอนของบทเพลงตามนี้ ร. บุญโญรส ได้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยในชื่อธรรมคีตาของมิลาเรปะ
3. นิกายศากยะ (Sa-skya-pa) ก่อตั้งโดยท่านอติษะ (Atisa พ.ศ. 1536-1593) ชาวอินเดีย นิกายนี้มีความเชื่อว่าสัจธรรมของพระโพธิสัตว์สามารถจะบรรลุได้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาตามลำดับขั้น ต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัดและหมั่นศึกษาพุทธธรรมอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังเน้นที่การประสานงานระหว่างอาจารย์ลูกศิษย์สัจธรรมจนกลายเป็นหนึ่งเดียว
4. เกลุกปะ (Dge-lugs-pa) ก่อตั้งโดยท่านซองขะปะ (Tsong kha-pa พ.ศ. 1890-1962)ภิกษุชาวทิเบต ซึ่งปฏิรูปมาจากคำสอนของท่านอติษะ แห่งนิกายศากยะ เมื่อเริ่มก่อตั้งเรียกว่าคาแดมปะ (Kha-dam-pa) ซึ่งเน้นหนักที่มายาศาสตร์ ท่านซองขะปะนักบุญชาวทิเบตได้ปฏิรูปนิกายนี้เสียใหม่ โดยเน้นที่ความเป็นเลิศทางศีลธรรมและสติปัญญา พระในนิกายนี้นิยมเรียกว่าพระหมวกเหลือง (เกี่ยวกับการจำแนกนิกายในทิเบต ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก Buddhism in Tibet โดย Donald S. Lopez, Jr. รวมพิมพ์ใน Companion Encyclopedia of Asian Philosophy พิมพ์ในปีคริสตศักราช 1997)
ผู้เขียนไม่แปลกใจว่าทำไมทิเบตจึงยอมรับพระพุทธศาสนานิกายตันตระก่อนนิกายอื่น เพราะนิกายตันตระ ออสติน แวดเดล (Austin Waddel ) ได้อธิบายตันตระไว้ในหนังสือพุทธศาสนาประวัติระหว่าง 2500 ปีที่ล่วงแล้วหน้า 251 ว่า “ลัทธิตันตระในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากลัทธิพุทธ ผีสางเทวดา” ลักษณะพิเศษของตันตระคือเชื่อในเทพเจ้าและเทพี ชาวตันตระเชื่อว่าด้วยความโปรดปรานของเทพเจ้าจะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุ “สิทธิ” หรือความสำเร็จได้ ซึ่งความเชื่อแบบนี้สอดคล้องกับความเชื่อดังเดิมของชาวทิเบตคือความเชื่อในอำนาจของเทพเจ้า ชาวทิเบตรับเอาพุทธศาสนานิกายตันนตระเพราะตรงกับความเชื่อแบบ ดั้งเดิมของพวกเขา เป็นการเสริมพลังอำนาจให้เข้าใกล้ตัวเทพเจ้ามากยิ่งขึ้น ดังนั้นตันตระซึ่งยังคงมีอิทธิพลต่อชาวทิเบตตลอดมา
นิกายที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือนิกายเกลุกปะ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2086 ผู้นำชาวมองโกลชื่อ อัลตานข่าน (Altan Khan) ได้มองเห็นความสำคัญของลามะในนิกายเกลุกปะ จึงได้สถาปนาผู้นำนิกาย เกลุกปะ ชื่อสอดนัมยาโส ประมุขสงฆ์องค์ที่ 3 ขึ้นเป็นดาไลลามะ แต่ให้มีผลย้อนหลังไปยังประมุขสงฆ์องค์ที่ 1คือเกดัน ทรัปปะ ดังนั้นคำว่า “ดาไลลามะ”(Dalai Lamas) จึงเริ่มต้นในปี 2121 และสืบต่ออำนาจเรื่อยมา ดาไลลามะที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือองค์ที่ 5 พระนามว่า งาวัง โลซัง กยัตโส มีอายุระหว่างพ.ศ. 2158-2223 พระองค์เป็นทั้งนักปราชญ์และนักปกครอง ได้ทรงรวบรวมประเทศทิเบตให้เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งกษัตริย์มองโกล ซึ่งมีอำนาจปกครองทิเบตในขณะนั้น ได้มอบอำนาจให้ดาไลลามะเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองทิเบตอย่างเด็ดขาดทั้งฝ่ายราชอาณาจักรและศาสนจักร ทิเตจึงถือเป็นปีระเพณีสืบต่อกันมาว่า ดาไลลามะคือผู้ปกครองประเทศที่มีอำนาจสูง (การสถาปนาลามะ ความเป็นไปของคณะสงฆ์ในทิเบต ผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติมได้จาก The Tibet : The Rise and Fall of a Monastic Tradition โดย Per Kvaerne รวมพิมพ์ใน World of Buddhism พิมพ์ในปีค.ศ.1984)
ปัจจุบันทิเบต มีดาไลลามะองค์ที่ 14 มีพระนามว่าจัมเฟล ลอบซัง เยเซ เท็นซิน กยัตโส (ชื่อเดิมคือลาโม ทอนดุป ลูกชายชาวนาแห่งหมู่บ้านตักเซอร์ แคว้นอัมโด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชายแดนระหว่างทิเบตกับจีน ทิเบตมีนายกรัฐมนตรี 2 ตำแหน่งคือลามะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และนายกรัฐมนตรีฆราวาสเป็นผู้นำทางการเมือง ส่วนดาไลลามะเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศที่ตัวเองต้องลี้ภัยในการเมือง มีรัฐบาลที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศของตน แต่ที่ทำการรัฐบาลตั้งอยู่ในเมืองธรรมศาลาหรือธรัมศาลา (Dharamsala ) ประเทศอินเดีย ในปี 2532 พระองค์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วย มีเพียงประเทศเดียวในโลกที่ประมุขของประเทศเป็นพระสงฆ์คือดาไลลามะแห่งทิเบต
การกลับชาติมาเกิดของดาไลลามะ เพราะเคยดูจากภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha ดร. วังยัลได้อธิบายให้ฟังว่า “การกลับชาติมาเกิดเป็นความเชื่อที่ชาวทิเบตเชื่อถือกันมานาน บุคคลที่จะเป็นดาไลลามะจะถูกเรียกว่าลามะตุลกู (Lamas tulku)เป็นผู้มีพลังจิตสูง เมื่อมรณภาพไปแล้ว ย่อมกลับชาติมาเกิดอีกเพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากความทุกข์ พระองค์เป็นพระราชาและพระสังฆราชของทิเบต จะไม่ทอดทิ้งชาวทิเบตจึงต้องเวียนว่ายตายเกิดเพื่อทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งเป็นเพราะพลังอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ดังนั้นองค์ดาไลลามะตั้งแต่องค์ที่ 1 จนถึงองค์ปัจจุบันจึงเป็นองค์เดียวกัน คือเปลี่ยนแปลงเพียงร่างกายส่วนวิญญาณคือดวงเดียวกัน”ทิเบตมีคณะผู้ค้นหาองค์ดาไลลามะโดยเฉพาะ ลามะชั้นสูงต้องตรวจสอบด้วยสมาธิชั้นสูงเพื่อหาสถานที่เกิดแห่งวิญญาณของดาไลลามะองค์ก่อนจุติ เมื่อพบแล้วจะทำการพิสูจน์โดยนำสิ่งของที่ดาไลลามะเคยใช้มาให้เลือก โดยปนไว้กับสิ่งของชนิดเดียวกันหลายๆอย่าง ถ้าเด็กเลือกได้ถูกก็ให้ตั้งสมุติฐานไว้ก่อนว่าคือองค์ดาไลลามะ บางครั้งต้องใช้เวลาค้นหาหลายปีจึงจะพบ ท่านซองโปลามะชาวอิตาเลี่ยนพูดแทรกขึ้นมาว่า “จะแน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นองค์ทะลไลามะกลับชาติมาเกิดจริงๆ”
ดร.วังยัลจึงชี้แจงต่อว่า “แน่ใจได้สิ เพราะเหตุผลง่ายๆว่า ถ้าไม่ใช่วิญญาณที่ระลึกชาติได้จริง จะไม่มีทางจดจำเรื่องราวในอดีตได้ จะต้องมีการเลือกที่ผิดๆถูกๆ เมื่อดาไลลามะสิ้นพระชนม์เด็กที่เกิดในช่วงนั้นหรือประมาณ 1-3ปี มีสิทธิ์เป็นดาไลลามะกลับชาติมาเกิด การค้นหาวิญญาณดาไลลามะในร่างใหม่ถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ เด็กที่ผ่านการคัดเลือกยังต้องเตรียมตัวอีกหลายปี ด้วยการให้การศึกษาอย่างเต็มรูปแบบภายใต้การควบคุมดูแลของลามะชั้นสูง ต้องฝึกงานทุกอย่างแม้แต่การเข้าร่วมฟังการประชุมคณะรัฐมนตรี”
ช่วงเวลาแห่งชีวิตก่อนที่จะได้รับการสถาปนาเป็นองค์ดาไลลามะมิใช่เรื่องง่าย วิชาที่ถูกบังคับให้เรียนตามบันทึกของดาไลลามะองค์ปัจจุบันท่านบันทึกไว้ในหนังสือ Freedom in Exile มีใจความตอนหนึ่งว่า “อาตมาจะตื่นนอนเวลา 6 นาฬิกาทุกเช้า แต่งตัวเสร็จสวดมนต์บำเพ็ญสมาธิ เวลา 7 นาฬิกาฉันอาหาร หลังจากนั้นเข้าเรียนช่วงแรก เมื่อเรียนอ่านได้แล้วจึงเรียนเขียน ท่องจำพระสูตรและคัมภีร์ 10 โมงเช้า เข้า
ร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรี แล้วกลับไปเรียนต่อที่ห้อง” ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวันกว่าจะผ่านวัยเด็กไปได้คงต้องใช้ความอดทนเป็นพิเศษ
เกี่ยวกับหลักสูตรที่ดาไลลามะต้องเรียน เป็นหลักสูตรเดียวกันกับที่ลามะรูปอื่นใช้ศึกษาในระดับปริญญาเอก ท่านบันทึกไว้ว่า “หลักสูตรที่ต้องเรียนเป็นวิชาเอก 5 วิชา วิชาโท 5 วิชา วิชาเอกได้แก่ ตรรกศาสตร์, ศิลปและวัฒนธรรมทิเบต,ภาษาสันสกฤต,วิชาแพทย์และพุทธปรัชญา โดยเฉพาะวิชาพุทธปรัชญายังแบ่งเป็นรายวิชาย่อยอีกคือปรัชญาปารมิตา,มัธยามิกะ,วินัยบัญญัติ,อภิธรรมปิฎก,และประมาณทวิทยา วิชาโท 5 สาขาได้แก่ กาพย์กลอน,ดนตรีและการละคร,โหราศาสตร์,วากยสัมพันธ์และคำสมาส วิชาพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ในระบบการศึกษาของลามะในทิเบตคือวิภาษวิธี (Dialectic) ซึ่งใช้เป็นศิลปะในการตอบโต้ธรรมะ” (ประวัติและความเป็นมาของดาไลลามะองค์ปัจจุบัน ศึกษาได้จากหนังสือที่พระองค์นิพนธ์เองคือ Freedom in Exile)
เมื่ออ่านจากหนังสือที่องค์ดาไลลามะนิพนธ์เองแล้ว ต้องยอมรับว่าการกลับชาติมาเกิดแม้จะถือเป็นหลักการใหญ่ แต่การจัดการศึกษาในช่วงระยะเวลาต่อมาก่อนที่จะได้รับการสถาปนาเมื่อายุ 18 ปี นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า ผู้ที่จะเป็นผู้นำของทิเบตจึงต้องมีความรู้แทบทุกสาขาเทียบเท่าปริญญาเอก จึงไม่น่าแปลกใจที่พระพุทธศาสนาแบบทิเบตได้เผยแผ่ไปทั่วโลกได้ในเวลารวดเร็ว เพราะภูมิรู้ของลามะโดยเฉาะดาไลลามะองค์ปัจจุบันเป็นผู้มีความรู้ลึกซึ้งทั้งทางโลกและทางธรรม
ถึงจะมีความรู้และความสามารถขนาดไหน ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้ชาวทิเบตได้รับเอกราช จากจีน แม้แต่พระองค์เองก็กลายเป็นราชาและสังฆราชาที่ต้องลี้ภัยการเมืองอาศัยแผ่นดินของชาติอื่นเป็นที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2505 ร่วมเสพเคาะห์กรรมกับพลเมืองทิเบตที่ต้องจากมาตุภูมิกลายเป็นผู้ไร้แผ่นดิน แต่ไม่สิ้นชาติ เพราะทุกวันนี้ชาวทิเบตยังคงกู่ร้องหาอิสรภาพด้วยสันติวิธีตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายปีแล้วก็ตาม
เคราะห์กรรมของชาวทิเบตที่ต้องกลายเป็นผู้ไร้อิสรภาพ ต้องอพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอาศัยแผ่นดินของผู้อื่นอยู่ ท่านจิบน้ำชาที่รสชาติเริ่มจืดชืด ผู้เขียนจึงสั่งเด็กชาวเนปาลให้นำโค็กมาให้พอดื่มและหายเหนื่อยแล้วท่านวังยัล ก็เริ่มจะสาธยายชีวิตความเป็นอยู่ของชาวทิเบตในภารตะประเทศต่อไป แต่ท่านธูปเท็น ชองโป โบกมือขอให้พอก่อนพร้อมด้วยประโยคที่ชาวอิตาเลี่ยนและชาวโลกไม่เคยลืมเลือนว่า “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว” พวกเราจึงเข้าใจ และจบการสนทนากึ่งวิชาการบนดาดฟ้าอาคารหอวัฒนธรรมทิเบต ริมฝั่งแม่น้ำยุมนา ในขณะที่ดวงตะวันยามสายัณห์กำลังจะเลือนหายไปจากขอบฟ้าเบื้องปัจฉิมทิศ ฝูงนกกากำลังกลับรวงรังเหนือสายน้ำที่กำลังเอื่อยไหล หลังจากอ่อนล้าจากการแสวงหาอาหาร คงจะได้พักผ่อนเสียที ผู้เขียนรู้สึกอิจฉานกกาที่ยังมีรวงรังให้หวนกลับ แต่ศากยบุตรรูปนี้ไร้รัง เพราะต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนมาร่อนเร่พเนจรเหมือนนกจากรัง แฝงตัวอยู่ในท่ามกลางของผู้คนที่แตกต่างทางวัฒนธรรม พูดกันคนละภาษา อาหารการกินมีรสชาติที่ไม่ค่อยจะถูกลิ้น แต่ยังดีที่มีร่องรอยแห่งพระพุทธศาสนาให้ศึกษาผ่านวัฒนธรรมที่แตกต่างนั่นเอง
ดร.ลอบชัง วังยัล จบการสนทนาด้วยประโยคที่น่าคิดว่า “เวลาที่มนุษย์มีอิสรภาพมักจะมองไม่เห็นคุณค่าของอิสรเสรี แต่เมื่อใดที่คุณเป็นผู้ลี้ภัยจึงจะเห็นคุณค่าของอิสรภาพว่ามีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด ทุกวันนี้ชาวทิเบตประมาณหกล้านคน ยังคงคิดอยู่เสมอว่าจีนจะใจกว้างยอมให้ทิเบตปกครองตนเองโดยเสรี เมื่อนั้นพวกเราชาวทิเบตคงจะมีประเทศเป็นของตัวเองเสียที ”
ในรอบหลายปีที่ผ่านมาองค์ดาไลลามะยังคงเดินทางพบปะผู้นำประเทศต่างๆทั่วโลก แม้จะมีนัยแอบแฝงทางการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่มีผลตามมาคือชาวโลกได้รู้จักพระพุทธศาสนามากขึ้น และมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงหลายท่านหันมานับถือพระพุทธศาสนาตันตรยานแบบทิเบต หากจำไม่ผิดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีจะมีงานใหญ่เฉลิมฉลองในกลุ่มชาวทิเบตที่เมืองธรรมศาลา อินเดีย ในช่วงเวลานั้นจะมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากทุกมุมโลกเดินทางมาร่วมงาน
จาก http://supattrapanyabut.blogspot.com/?view=classic