ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 03, 2016, 10:46:14 pm »“ลุงไกร” เกษตรกรศิลปินวังน้ำเขียว ปลูกผักสร้างรายได้ปีละ 20 ล้าน
ในอดีตที่ผ่านมาเกษตรกรไทยถูกยัดเยียดความยากจนให้ ซึ่งความยากจนนั้นไม่ได้หมายถึงเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงจนความรู้ จนหนทาง จนแนวคิด หากแต่วันนี้มีเกษตรกรหลายรายลุกขึ้นมาต่อสู้กับความยากจน คิดใหม่ ทำใหม่ ในมุมที่แตกต่าง จนชีวิตของพวกเขาค้นพบความยั่งยืนอย่างพอเพียง เฉกเช่น นายไกร ชมน้อย หรือลุงไกร เกษตรกรศิลปินแห่งวังน้ำเขียว วัย 63 ปี ผู้ประสบความสำเร็จจากการปลูกผักปลอดสารพิษ และยังเป็นแบบอย่างในการทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งพลิกฟื้นผืนดินที่ราบสูงอย่างวังน้ำเขียวให้กลายเป็นบ่อทองของเกษตรกรในปัจจุบัน
ความสุขถูกถ่ายทอดผ่านเสียงเพลงและกีตาร์ในจังหวะโฟล์คซองเพื่อชีวิตบรรเลงขับกล่อมให้แปลงผักรับฟังในทุกเช้าสอดประสานกับความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ คือมนต์เสน่ห์อันลงตัวในสวนผักของลุงไกร บนพื้นที่กว่า 15 ไร่ ที่ดึงดูดให้ผู้คนแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนอย่างไม่ขาดสาย
ลุงไกร ชมน้อย เกษตรกรบ้านสุขสมบูรณ์ ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เล่าว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา พื้นที่ส่วนใหญ่ของ อ.วังน้ำเขียวยังคงปลูกข้าวโพดหรือพืชเชิงเดี่ยว ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ราคาผลผลิตไม่แน่นอนประจวบกับในอดีตเคยไปทำงานในต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสได้พบเห็นการเกษตรในที่ต่างๆ จึงเกิดความสนใจในการปลูกผักเมืองหนาวและได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้
“ผมเคยไปทำงานด้านช่างในต่างประเทศ ได้เห็นการทำเกษตรที่หลากหลาย จึงตัดสินใจปลูกผักสลัดทั้งที่ยังไม่มีความรู้ด้านเกษตรกรมาก่อน ช่วงนั้นคนมองว่าบ้า เพราะผมเอาผักเมืองหนาวมาปลูกในแผ่นดินอีสาน แต่ก็ไม่เคยสนใจ ผมเอาความวิริยะบวกความเพียรเข้าสู้ ตลอด 20 กว่าปีในการเรียนรู้วิธีปลูกผักสำหรับผม เหมือนโรงเรียนที่ยังเรียนไม่จบ เราต้องแสวงหาความรู้เรื่อยๆ อยู่นิ่งไม่ได้ ที่ผ่านมาวิธีปลูกผักของผมจะใช้วิธีการเพาะเมล็ดทั้งหมด โดยพื้นที่ 1 ตร.ม. จะได้ผัก 12 กอ ต้องคำนวณว่าในแต่ละฤดูได้กอละกี่ขีด แล้วใช้วิธีขายตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และพยายามมองหาผักใหม่ๆมาทดลองปลูกอยู่เสมอรวมถึงประเมินความต้องการของตลาด” ลุงไกรกล่าว
ลุงไกรเล่าต่อว่าเริ่มแรกที่ปลูกก็เริ่มโดยที่ไม่รู้การตลาด ต่อมาทางเลมอนฟาร์มก็เข้ามาติดต่อซื้อ หลังจากนั้นก็มีซิสเลอร์ติดต่อเข้ามาทำให้มีตลาดประจำและปัจจุบันปลูกผักป้อนให้กับทางซิสเลอร์อย่างเดียว เนื่องจากต้องการเน้นคุณภาพผลผลิตและเหมาะสมตามกำลังของตนเอง
“ปัจจุบันเราส่งผักขายให้กับซิสเลอร์เท่านั้น ที่เหลือจะขายหน้าร้านภายในไร่ สำหรับปริมาณที่ขายภายในไร่เฉลี่ยวันหนึ่งขายได้รวมกันทุกชนิด 200-300 กิโลกรัม ยิ่งเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ขายได้ราวครึ่งตันกำไรต่อเดือนก็ราวๆ 2 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าคนงานต่อเดือนประมาณ 3 หมื่นบาท รายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 20 ล้านบาท” ลุงไกรเล่าให้ฟัง
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ลุงไกรเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จต่างจากเกษตรกรคนอื่นๆ ก็คือแนวคิดในการทำตลาด ซึ่งลุงไกรจะใช้วิธีทำการเกษตรโดยเป็นฝ่ายเลือกตลาดเองไม่ให้ตลาดมาเลือกด้วยวิธีการขายตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งมักจะถูกกดราคาเพื่อนำไปทำกำไรต่อ ภายใต้โจทย์ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะผลิตผักได้อย่างที่ลูกค้าต้องการ เพราะเขาเชื่อว่าในการทำเกษตรจริงๆ การเป็นผู้นำการผลิต ไม่จำเป็นต้องเน้นปริมาณ
“ผักที่ผมปลูกเป็นผักตระกูลสลัด มีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ คือ สลัดแก้ว, สลัดครอส, กรีนโอ๊ก, เรดโอ๊ก, บัตเตอร์เฮดและสลัดใบแดง ซึ่งผักแต่ละชนิดเราจะเพาะต้นกล้าให้แข็งแรงก่อนถึงจะนำไปลงแปลงปลูก เพื่อดูแลต้นกล้าให้อยู่ในวงจำกัดและทั่วถึงและสิ่งสำคัญคือต้องปลูกผักสลับชนิดกันร่วมกับปลูกพืชในการกำจัดแมลงศัตรูพืช อย่างมะเขือเทศราชินี หรือข้าวโพดคั่นระหว่างแปลงผักเพื่อให้แมลงได้แทะกิน เป็นการควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีตามธรรมชาติแทนการใช้สารเคมี” ลุงไกรกล่าว
จากจุดเริ่มต้นในการทำเกษตรที่แปลกและแตกต่างของลุงไกร ทำให้เกิดการต่อยอด เรียนรู้ และสร้างรายได้ให้กับสมาชิก และสร้างอาชีพให้เกิดกลุ่มปลูกผักมากมายใน อ.วังน้ำเขียว จนกลายมาเป็นจุดขายที่ผลักดันให้วังน้ำเขียวแจ้งเกิดในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่อุดมไปด้วยโอโซน แหล่งผลิตพืชผักปลอดสารพิษ กลายเป็นธุรกิจต่อเนื่องและกระจายรายได้สู่ชุมชนคนวังน้ำเขียวจวบจนปัจจุบัน
จาก http://www.suemuanchon.com/index.php?page=ArgicultureLuangkrai
อีกมากมาย https://www.youtube.com/playlist?list=PL7CpFvIS6ahj3bgkuNiePbKQ8SjCZ-CHb