ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 08, 2016, 05:48:01 pm »๓) พระชางคุลีโพธิสัตว์ (Janguli) เป็นหนึ่งในกลุ่มเทวี ๑๒ องค์ที่กลายร่างมาจากธารณีมนตร์เช่นกัน แต่ในทางเทววิทยาว่าเป็นเทพนารีองค์เดียวกับ พระมนัสเทวี หรือพระมนสาเทวีของศาสนาฮินดู
ในคัมภีร์สาธนะมาลากล่าวว่าพระนางปรากฏมาแล้วตั้งแต่พุทธกาล โดยคัมภีร์มหายานฉบับอื่นๆ ก็กล่าวว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสบอกมนตร์ประจำเทวีองค์นี้แก่พระอานนท์ ชาวพุทธฝ่ายมหายานนับถือกันว่าทรงเป็นเทวีผู้ปกปักรักษามนุษย์จากอันตรายของนาคและงู ทั้งอาจรักษาคนที่ถูกพิษงูได้ด้วย และในคัมภีร์สาธนะมาลาก็มีมนต์อยู่ ๔ บทที่เกี่ยวข้องกับเทพนารีองค์นี้ ซึ่งใช้ถอนพิษงูจากแผลที่ถูกงูกัด
พระชางคุลีทรงมีวรรณะขาว มีเศียรเดียวสวมชฎามุกุฎประดับด้วยพังพานนาค ฉลองพระองค์ขาวประดับเพชรและนาคสีขาว (งูเผือก) และยังมีนาคที่ทำเป็นต่างหู และเข็มขัดอีกด้วย พระนางประทับบนนาคหรืองู หรือสัตว์ชนิดอื่นอีก ทรงมี ๔ กร สองพระหัตถ์เล่นพิณ อีกพระหัตถ์จับงูเผือก เทวรูปเช่นนี้ปรากฏทั้งในจีนและทิเบต ส่วนในอินเดียนั้นจะเหมือนกับพระมนัสเทวีมาก คือไม่ถือพิณ
๔) พระมหามายุรีโพธิสัตว์ (Mayuri) ทรงกลายร่างมาจากคาถาที่ใช้แก้พิษงู เป็นเทพนารีองค์หนึ่งในคณะเทวีปัญจรักษา และอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิ พระนางมี ๒ วรรณะที่เด่นๆ คือเขียวและเหลือง ถ้าวรรณะเขียวมี ๓ เศียร ๖ กร และมีรูปพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิบนศิราภรณ์ แต่ถ้าเป็นวรรณะเหลืองมีเศียรเดียว ๒ กร พระหัตถ์ขวาถือนกยูง พระหัตถ์ซ้ายทำปางวรทมุทรา และไม่มีรูปพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิบนศิราภรณ์
พระมหามายุรีมักปรากฏพระองค์พร้อมกับพระสิตตาราและพระมาริจี หรือบางครั้งก็ปรากฏพร้อมกับพระชางคุลีและพระเอกชฎา พระนางทรงได้รับการนับถือทั้งในอินเดีย เนปาล จีน ทิเบต และญี่ปุ่น พระนามภาษาญี่ปุ่นคือ คุชาเมียวโอ
มนต์สำหรับบูชาพระมหามยุรี คือ โอม มะยุรา กรันเต สะวาหะฯ
๕) พระสรัสวดีโพธิสัตว์ (Saraswati) เป็นมหาเทวีที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานได้รับมาจากศาสนาพราหมณ์ ทรงเป็นเทวีแห่งวิชาความรู้ ดนตรีและกาพย์กลอน ชาวพุทธมหายานได้จัดให้เป็นศักติของพระโพธิสัตว์มัญชุศรีซึ่งเป็นเทพแห่งวิชาการเช่นกัน คัมภีร์สาธนะมาลาบรรยายว่าผู้ที่ต้องการความฉลาดรอบรู้ต้องบูชาพระสรัสวดี
พระสรัสวดีทรงมี ๔ ปางที่สำคัญ คือ
มหาสรัสวดี พระหัตถ์ขวาทำปางวรัทมุทรา พระหัตถ์ว้ายถือดอกบัวขวา มีเทพบริวารแวดล้อม ๔ องค์
วัชรวีณาสรัสวดี ทรงถือวีณาในพระหัตถ์ทั้งสอง
วัชรศารทา มี ๓ พระเนตร ทรงสวมศิราภรณ์ประดับด้วยพระจันทร์ พระหัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์ พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว ประทับนั่งบนดอกบัว
วัชรสรัสวดี ทรงถือวัชระและดอกบัวซึ่งมีคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาปรากฏอยู่ด้วย
รูปตันตระของพระสรัสวดีในทิเบตจะทรงมีวรรณะแดง มี ๓ เศียร ๖ กร ส่วนในญี่ปุ่นเป็นรูปสาวงามถือพิณบีวะ เรียกว่า เบ็นเท็น หรือ ไดเบ็นไซเท็น และเป็นหนึ่งในคณะเทพแห่งโชคลาภ ๗ องค์ของศาสนาชินโต
มนต์สำหรับบูชาพระสรัสวดี คือ โอม ปรัชญา วรรธะนี ชะวาลา เมธาวรรธะนี ธีริ ธีริ พุทธิวรรธะนี สะวาหะฯ
๖) พระภฤกุฎีโพธิสัตว์ (Bhrikuti) ตามคัมภีร์สาธนะมาลาว่าทรงอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธอมิตาภะ และปรากฏพระองค์พร้อมกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ในรูปที่เรียกว่าขสรรปณะ) พร้อมด้วยพระนางตารา พระสุธนกุมารและพระหัยครีพ หรือปรากฏพระองค์เฉพาะกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ในรูปที่เรียกว่า รักตโลเกศวร) และพระนางตารา
พระภฤกุฎีทรงมีวรรณะเหลือง มีเศียรเดียว ๔ กร ทำปางวรัทมุทรา ถือสร้อยประคำ กลศ (หม้อน้ำ) และตรีศูล บนศิราภรณ์มีรูปพระธยานิพุทธอมิตาภะ ถ้าปรากฏร่วมกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในรูปขสรรปนะ จะทรงมี ๔ กร ทำปางพุทธศรามณะ (แสดงความเคารพ) ถือสร้อยประคำ ตรีศูลและหม้อน้ำ เทวรูปเช่นนี้นิยมกันมากในชวาโบราณ
๗) พระโพธิสัตว์วสุธารา (Vasudhara) เป็นองค์เดียวกับ พระศรีวสุนธรา หรือพระแม่ธรณีในศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาท แต่ทางมหายานมิได้ให้ความสำคัญกับทิพยภาวะของความเป็นพระแม่ธรณี และบทบาทในพุทธประวัติตอนมารผจญ มักจะบรรยายว่าเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์มากกว่า และในทางมหายานนั้นก็ทรงเป็นศักติของพระโพธิสัตว์ชัมภล หรือพระกุเวรซึ่งได้รับมาจากศาสนาฮินดู
ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะอยู่ ๓ บทกล่าวถึงเทพนารีองค์นี้ บทหนึ่งกล่าวว่าพระนางทรงอยู่ในตระกูลพระธยานิพุทธอักโษภยะ แต่อีก ๒ บทกล่าวว่าทรงอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธรัตนสัมภวะ พระวสุธาราทรงมีพระเศียรเดียว ๒ กร ทำปางวรทมุทราและทรงถือรวงข้าว บนศิราภรณ์มีรูปพระธยานิพุทธอักโษภยะ แต่ในทางตันตระซึ่งพบเห็นได้ง่ายกว่านั้น จะมีถึง ๓ เศียรและ ๖ กร
มนต์สำหรับบูชาพระวสุธารา คือ โอม วะสุธาริณี สะวาหะฯ หรือ โอม ศรี วะสุธารา รัตนะ นิธานะ กะเษตรี สะวาหะฯ
๘) พระหริตีโพธิสัตว์ (Hariti) เดิมเป็นยักษิณีมีนามว่า อภิรดี มีลูกถึง ๕๐๐ ตน แต่ชอบกินเด็ก ได้ขโมยเด็กในเมืองราชคฤห์ไปกินเป็นจำนวนมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำลูกคนเล็กที่นางรักที่สุดไปซ่อนไว้ นางเที่ยวหาจนทั่วก็ไม่พบ จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความเศร้าโศกเสียใจ พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามว่าลูกของนางมีตั้ง ๕๐๐ หายไปคนเดียวทำไมจึงเดือดร้อน ทั้งๆ ที่นางไปกินลูกของมนุษย์ทั่วไปไม่มีความสงสารเลย นางจึงได้คิดและกลับใจ สัญญาว่าจะเลิกกินเด็กโดยเด็ดขาด พระพุทธเจ้าจึงคืนลูกให้ และประชาชนชาวราชคฤห์ก็สัญญาว่าแต่ละครอบครัวจะคอยหาอาหารอื่นให้นางเป็นการตอบแทน
เทวรูปพระหริติมักจะนั่งห้อยขาข้างหนึ่งและอุ้มเด็กไว้บนตัก ส่วนอีกพระหัตถ์หนึ่งถือผลทับทิม ถ้าเป็นรูปยืนจะอุ้มเด็กไว้แนบอก และมีเด็กล้อมรอบ ๕ คน แทนลูกทั้ง ๕๐๐ ของพระนาง บางครั้งปรากฏพร้อมพระสวามีคือยักษ์ปัญจิกาซึ่งถือหอกไว้ในมือขวาและถือถุงเงินในมือซ้าย ในทิเบตเทวรูปพระนางหริติทรงกอดเด็กไว้และพระหัตถ์ทำปางวรทมุทรา อีกพระกรโอบกระรอกไว้และพระหัตถ์ถือภาชนะใส่เพชรพลอย
มนต์บูชาพระหริติ คือ โอม หะริติ ปิณฑะเก ประติจจะ สะวาหะฯ
ปัจจุบันอิตถีโพธิสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จะได้รับความนิยมสูงสุดในศาสนาพุทธวัชรยานสายทิเบตครับ ส่วนในทางพุทธมหายานจีนที่ผ่านมาไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะมหายานจีนไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิง
จนเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้จึงมีการ promote บางองค์ขึ้นมา เช่น พระมหามายุรีโพธิสัตว์ ซึ่งที่จริงก็มีคติการบูชาอย่างเงียบๆ แต่มั่นคงในหมู่ชาวจีนมานานแล้ว และ พระมาริจีโพธิสัตว์ ซึ่งองค์หลังนี้ก็เป็นเพราะอิทธิพลความโด่งดังของของเทศกาลกินเจของชาวจีนโพ้นทะเลนั่นเอง (ต้องเน้นว่า จีนโพ้นทะเล เพราะจีนแผ่นดินใหญ่เขาไม่มีเทศกาลกินเจแบบนี้)
ส่วนพระโพธิสัตว์ตารา ซึ่งชาวทิเบตและชาวตะวันตกนิยมบูชาสูงสุด ทางจีนก็ยังเฉยๆ นะครับ เพราะบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิมแทนอยู่แล้ว กล่าวกันว่า มหายานจีนมีพระโพธิสัตว์กวนอิม วัชรยานทิเบตก็มีพระโพธิสัตว์ตารา ที่ทรงอานุภาพในด้านเมตตาบารมีเหมือนๆ กัน จึงไม่จำเป็นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องรับของอีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปเพิ่มอีก
คนขายพระในท่าพระจันทร์ ถึงได้เรียกเทวรูปพระนางตาราว่า กวนอิมทิเบต ไงครับ