ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 10, 2016, 04:41:31 pm »รสนา โตสิตระกูล : บนหนทางเพื่อชีวิตและสังคม
กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย – หลังจากใช้เวลาสามชั่วโมงอยู่ท่ามกลางจราจรที่ติดขัดและให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับภาวะการเมืองที่สับสนวุ่นวาย – ทั้งในสภาและบนท้องถนน – รสนา โตสิตระกูลดูเป็นปรกติและผ่อนคลายขณะที่ก้าวเข้ามาในห้องเพื่อร่วมประชุมโต๊ะกลม หัวข้อของเธอ: ชีวิตในฐานะชาวพุทธในการเคลื่อนไหวทางสังคม
วงสนทนาเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประจำเดือนร่วมกับกลุ่มจิตวิวัฒน์ ซึ่งริเริ่มขึ้นโดยท่านอาจารย์ประเวศ วะสี
ทันที ที่เพิ่งมาถึง นักเขียนหนุ่ม วิจักขณ์ พานิช ได้เข้าไปหาและมอบหนังสือเล่มใหม่ของเขาที่ว่าด้วยการเรียนรู้ที่นำไปสู่การ เปลี่ยนแปลงตนเอง “สำหรับนักรบสตรี” เป็นคำอุทิศที่เขียนไว้
รสนาที่สวมแว่นตาออกจะงงอยู่สักหน่อย “ดิฉัน ค่อนข้างจะชอบไอเดียนี้นะ มันเป็นสิ่งที่ดิฉันมองเห็นภาพตัวเองเวลาที่ต้องสู้เพื่ออะไรบางอย่าง เพื่อไปข้างหน้าและบรรลุสู่จุดหมาย” รสนา โตสิตระกูลกล่าว เธออายุ ๕๕ ปี นักกิจกรรมทางสังคมมือเก๋าและวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งคนล่าสุดของกรุงเทพมหานคร “เป้าหมายไม่ใช่การได้รับตำแหน่งสูงหรือรวยล้นฟ้า เป็นการต่อสู้เพื่อความถูกต้องยุติธรรม จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้นั่นแหละที่ทำให้ฉันมีชีวิตอยู่” เธอกล่าว ดวงตาเป็นประกาย
สำหรับแนวคิดเรื่องนักรบนั้น รสนากล่าวว่า เธอได้รับแรงบันดาลใจจากภาพของนักรบในหนังสือ ชัมบาลา: หน ทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ โดย เชอเกียม ตรุงปะ ธรรมาจารย์ชาวทิเบต ซึ่งอรรถาธิบายเกี่ยวกับแนวคิดของปัจเจกบุคคลในการสร้างสังคมอุดมคติ อันเป็นเช่นเดียวกันกับถ้อยความของมิเกล เดอ เซรบานเตสในดอน กิโฆเต อัศวินวิปลาสผู้ต่อสู้กับความอยุติธรรม
และนั่นก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้เธอเข้าสู่การเมืองระดับชาติ ถึงแม้จะมีคำเตือนจากทุกฝ่ายว่าการเมือง “สกปรก” หากความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขสิ่งผิดให้ถูกของเธอก็สอดคล้องกับท่วงทำนองของผู้ มีสิทธิ์เลือกตั้งในกรุงเทพฯ พวกเขามอบหมายผ่านให้เธอด้วยคะแนนเสียง ๗๔๐,๐๐๐ เสียง
รสนา สนใจกิจกรรมทางสังคมมาตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ เธอทำงานทางด้านพุทธศาสนาเพื่อสังคมและการเคลื่อนไหวเชิงสันติวิธีแบบติดดิน มาตลอดจนกระทั่งปีที่เศรษฐกิจตกต่ำ พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อเธอเป็นผู้น้ำกลุ่มประชาสังคม ๓๐ กลุ่มขุดคุ้ยการทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่นักการเมืองที่เคยเป็นถึงรัฐมนตรีต้องถูก คุมขังในคุกด้วยข้อหาทุจริต
รสนากลาย เป็นชื่อสามัญประจำบ้านเมื่อเธอทำงานร่วมกับกลุ่มคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการเคลื่อนไหวต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย และปตท. ยักษ์ใหญ่ของประเศทางด้านกาซและน้ำมัน
“ดิฉันไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมืองหรือมุ่งหวังที่จะเป็นวีรสตรี” นักสันติวิธีที่ได้รับการยกย่องกล่าว “สิ่งที่ทำเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามแนวพุทธ – พุทธศาสนาเพื่อสังคม”
ในทัศนะของเธอ การปฏิบัติตามแนวพุทธมิใช่การพูดเชิงปรัชญาหรือทำสมาธิบนโซฟา หากแต่เป็นการกระทำที่เต็มไปด้วยความกรุณา ความกล้าวหาญ และความเข้าใจที่จะช่วยกำจัดความทุกข์
พุทธศาสนาเพื่อสังคมคือการเอามือเท้าของเราเข้าไปคลุกกับดินโคลน นำการปฏิบัติไปสู่การกระทำ เธอกล่าว “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิต ดิฉันจะถือว่าเป็นเสมือนบทเรียนบนหนทางแห่งการฝึกฝน”
นั่นคือ การดำรงจิตอยู่ในความสงบ ปราศจากความหวั่นไหว และเต็มไปด้วยความกรุณา ถึงแม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนักคิดแบบ “ถอยหลังเข้าคลอง” และ “ฝ่ายซ้าย” ซึ่งฉุดดึงบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศลงมา ถึงแม้ว่าจะถูกฟ้องในศาลหลายคดีโดยข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองที่กำลัง มีอำนาจ การได้รับคำขู่ฆ่าหรือมีระเบิดใกล้ที่ทำงานถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแลก เปลี่ยนกับเรื่องดังกล่าว
ผู้คนมักจะประทับตราให้กับอีกฝ่าย เธอกล่าว “ถ้า คุณไม่ใช้ขวา คุณก็ต้องเป็นซ้าย ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับเรา คุณก็เห็นด้วยกับพวกเขา พุทธศาสนาสอนไม่ให้เราสุดโต่ง ซึ่งไม่ง่ายเลย ฉันต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอไม่ให้หลุดและหลงทางไปกับเรื่องเหล่านี้”
ในยามที่เธอมีความลังเลสงสัยว่ากำลังอยู่บนหนทางที่ถูกต้องหรือไม่ เธอก็จะนึกถึงสิ่งที่หลวงพ่อคำเขียน สุวรรณโณ พระอาจารย์ที่เธอเคารพยิ่ง เคยแนะนำไว้ “ครั้ง หนึ่งหลวงพ่อเคยสอนว่า เมื่อไหร่ที่ใจของเราไม่เป็นปรกติหรือไม่เป็นกลาง ถือว่าผิด ไม่ว่าเราจะให้เหตุผลดีเพียงใดต่ออารมณ์ของเราและสาเหตุที่เราทำ มันก็ยังผิดอยู่นั่นเอง การโกรธหรือคิดแค้นไม่เคยถูกเลย”
“ถึงแม้จะพูดไปอย่างนั้น ต้องขอยืนยันว่าดิฉันยังคงอยู่ในกระบวนการเรียนรู้และพยายามอยู่”
ที่มาแห่งแรงบันดาลใจ
ขณะ ที่เป็นนักศึกษาทางด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ยุคที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน แรงบันดาลใจของรสนาที่จะเปลี่ยนแปลงก่อรูปขึ้นจากนักคิดชาวพุทธร่วมสมัย อย่างพุทธทาสภิกขุ ติช นัท ฮันห์ พระเซ็นชาวเวียดนาม และมาโซบุ ฟูกูโอกะ ผู้บุกเบิกการทำเกษตรกรรมธรรมชาติชาวญี่ปุ่น รวมทั้งมหาตมคานธี คุรุด้านอหิงสา เหล่านี้เป็นที่มาของแรงบันดาลใจแห่งเธอทั้งสิ้น
การ เป็นนักอ่านระดับหนอนได้สร้างธรรมเนียมปฏิบัติขึ้นมา ด้วยการแปลหนังสือปีละเล่มเพื่อนำแนวคิดในหนังสือที่อ่านซึมซาบเข้าไปใน เนื้อตัว โดยทำในช่วงเข้าพรรษาสามเดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เธอไปภาวนาในวัดป่า
ช่วง ที่แปลหนังสือหลายเล่มของติช นัท ฮันห์ เธอได้รับเอาแนวคิดเรื่องชุมชนสังฆะเข้ามาในชีวิตและงาน ในการดำเนินชีวิตตามแนวคิดดังกล่าว รสนากับเพื่อนอีก ๑๔ คน ร่วมกันตั้งกลุ่ม “เทียบหิน” ขึ้นมา โดยพบปะกันทุกสองสัปดาห์เพื่อทวนศีล ๑๔ ข้อ ซึ่งช่วยชี้แนะหนทางการดำเนินชีวิตด้วยความตระหนักรู้และการทำงานเพื่อ สันติภาพและรับใช้สังคม
รสนากล่าว ว่าเธอได้เรียนรู้บทเรียนอันล้ำค่านานับประการจากติช นัท ฮันห์ ซึ่งเธอเรียกท่านว่า ไถ่ (ครู) ทั้งจากหนังสือของท่านและจากการได้ใกล้ชิดท่านช่วงที่พำนักอยู่ในประเทศไทย เมื่อ ๓๐ ปีก่อน
“ถึง แม้ว่าท่านจะเป็นพระและครู ไถ่ไม่พยายามที่จะยัดเยียดความเห็นและการปฏิบัติให้ดิฉันเลย ท่านเป็นเพียงตัวท่านเอง สิ่งนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับดิฉันในการปฏิบัติตามแนวทางและคำสอนของ ท่าน”
หลักการหนึ่งที่เธอถือไว้อย่างมั่นคงก็คือ “การเห็นต่างไม่ใช่ปัญหา ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเราพยายามที่จะบังคับผู้อื่นให้ยอมรับความเห็นของเรา” รสนากล่าว
พุทธศาสนาสนับสนุนให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนด้วยความกรุณา เธอกล่าว “แต่ หนทางของพระพุทธเจ้านั้นใช้เวลา แต่คนยุครีโมต-คอนโทรล ในปัจจุบันไม่มีเวลาอย่างนั้น เราคุ้นชินกับการได้มาซึ่งสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็วและสำเร็จรูป แล้วเราก็นำเอาทัศนะแบบนี้เข้ามาในวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ”
รสนาชี้ให้เห็นว่า ทัศนะ แบบพุทธนั้น การทำงานกับความอยุติธรรมหรือความป่วยไข้ของสังคมจำต้องใช้ความกรุณาเป็นอย่างยิ่ง รวมท้งความเข้าใจในความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่ง เธอกล่าวว่า เธอได้เรียนรู้สิ่งนี้จากการเข้าไปทำงานในแปลงเกษตรกรรมช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๖
หลัง จากแปลหนังสือคลาสสิกตลอดกาล ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว โดย มาซาโนบุ ฟูกุโอกะ เจ้าพ่อเกษตรธรรมชาติ รสนาได้สมัครขอทุนแลกเปลี่ยนไปทำงานในไร่ที่ญี่ปุ่น วัตถุประสงค์ที่แท้จริงก็คือการไปหาปราชญ์ชาวนาผู้มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล อย่างฟูกุโอกะ
“พอทำงานในไร่ได้เก้าเดือน และใช้เวลาสองวันขึ้นลงรถไฟ ๓๐ เที่ยว ดิฉันก็ไปถึงไร่ของลุงฟูกุโอกะจนได้” เธอเล่าถึงความหลังด้วยรอยยิ้ม “ครั้งหนึ่ง ตอนที่เราขึ้นรถไฟไปเที่ยวเมืองอื่นด้วยกัน ลุงฟูก็บอกว่า ‘รสนา เราไม่ต้องกังวลว่าจะถึงที่หมายหรือเปล่า เราควรสนใจว่าเราอยู่บนขบวนที่ถูกหรือยัง ถ้าเราอยู่บนรถไฟถูกขบวน ก็มั่นใจได้ว่าเราจะไปถึงที่หมาย ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง’”
เธอใช้เวลาสองสามเดือนอยู่กับฟูกุโอกะและเรียนรู้ปรัชญาของธรรมชาติและการเกษตรแบบ “อกรรม” ตลอดจนศิลปะแห่งการใช้ชีวิต
“ทั้ง หมดทั้งนั้นก็คือการรักษาสมดุล พืชไม่ได้งอกงามขึ้นถ้าเราปรับคุณภาพดินให้ดีขึ้น โดยมากแล้ว พืชแย่ๆ มักจะงอกในดินที่เสียแล้ว มันเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องโดยธรรมชาติก่อนที่ดินจะกลายเป็นทะเลทราย เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องสู้กับระบบที่เลวร้ายโดยตรง สิ่งที่เราทำได้ก็คือการบ่มเพาะสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อให้สิ่งดีงามงอกงาม เติบโตได้”
เธอ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถปรับใช้กับการเมืองได้เหมือนกัน สำหรับรสนาแล้ว ผืนดินของการเมืองแบบรัฐสภาสามารถบ่มเพาะให้เข้มแข็งผ่านการเมืองภาคประชาชน และการกระจายอำนาจ และนี่ก็คือเหตุผลที่เธอให้ความเคารพนับถือต่อคานธีเป็นอย่างสูงในฐานะที่ เป็นแบบอย่างอันดี
“คาน ธีสร้างแรงบันดาลใจให้กับดิฉันเป็นอย่างมากทีเดียว ท่านได้ทดลองความคิดของท่านด้วยชีวิตของท่านเอง ท่านปรารถนาที่จะนำสัจจะมาสู่การเมือง ท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างขวาง สามารถมองเห็นการณ์ไกลว่าในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดียจากอ้อมอกอังกฤษ ผู้คนจำต้องพึ่งพาตนเองให้ได้” เธอกล่าว
ทัศนะ ของคานธีว่าด้วยเรื่องการพึ่งพาตนเองได้เป็นแรงผลักดันให้เธอริเริ่มโครงการ สมุนไพรพึ่งตนเอง ซึ่งต่อมากระตุ้นให้เกิดความสนใจต่อการแพทย์สมุนไพรและแผนโบราณในวงกว้าง โครงการนี้ได้เติบใหญ่กลายเป็นมูลนิธิสุขภาพไทที่มุ่งเน้นความสำคัญของ สุขภาพแบบองค์รวมและความรุ่มรวยขององค์ความรู้พื้นถิ่นด้านนี้
แนว รบอีกด้านของรสนาก็คือลัทธิบริโภคนิยม อันเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนเชื่อว่าความสุขของเขาเหล่านั้นขึ้นอยู่ กับการเป็นเจ้าของครอบครองวัตถุ กิจกรรมนวดเด็กทารกเป็นโครงการเล็กๆ หนึ่งโครงการของเธอที่ช่วยให้ผู้คนมองเห็นความเท็จในความเชื่อชนิดนั้น
“ดิฉัน อยากจะให้ผู้คนมองเห็นว่าความสุขอยู่ในมือของเราเองนี้แหละ ง่ายมากเลย ลองไปนวดเด็กดูสิแล้วคุณจะพบกับความร่าเริงเบิกบาน ความสุขของเราไม่ได้เกิดจากการบริโภคหากเกิดจากการให้ต่อผู้อื่น” เธอกล่าว
นอกเหนือจากกิจกรรมนวดเด็กแล้ว รสนายังใช้การปิดทองพระเป็นงานอดิเรก “เป็นงานอดิเรกที่ช่วยทำให้เกิดสมาธิและให้คุณประโยชน์อย่างมาก ทำให้ดิฉันมีพลังใจ”
“การ ทำงานด้านสังคมและการต่อสู้กับความอยุติธรรมต้องใช้เวลา ความสำเร็จไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายดายและฉับพลัดทันที และในช่วงเวลาเหล่านั้น หัวใจคุณอาจจะถูกบีบคั้นอย่างหนัก ดิฉันเลยต้องมีบางอย่างที่ช่วยให้พลังกับจิตวิญญาณของตัวเอง บางอย่างที่ดิฉันสามารถทำได้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนด”
“สิ่งเหล่านั้นช่วยให้ดิฉันผ่านพ้นงานอันหนักหน่วงยาวนานได้”
ชะตากรรมมนุษย์และชมพูพันธุ์ทิพย์
แน่ ล่ะ หนทางของรสนาย่อมมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เธอเคยหมดแรงใจหลายครั้งหลายหน ตัวอย่างเช่น โครงการสมุนไพรพึ่งตนเองของเธอได้รับผลกระทบจากนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค เป็นอย่างมาก “ผู้คนต่างหันกลับไปสู่การรักษาด้วยยาแทนการป้องกันตนเอง” เธอขยายความ
ความพยายาม ๓๐ ปีของเธอจะเหลวเปล่ากระนั้นหรือ? การพึ่งพาตนเองจะกลับกลายเป็นสิ่งไร้ความหมายกระนั้นหรือ? “บางครั้ง ดูเหมือนเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ที่จะต่อสู้ ที่จะแก้ไขสิ่งต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นงานที่ไร้จุดจบ”
ความ ยอกย้อนของชีวิตทำให้เธอนึกถึงชะตากรรมของซิซิฟุสในตำนานกรีก โดยเฉพาะการตีความของอัลแบร์ต กามูส์ นักเขียนชาวฝรั่งเศสที่มีเชื้อสายอัลแกเรีย
“ชะตา กรรมของมนุษย์ก็เหมือนกับซิซิฟุสน่ะแหละ เขาถูกสาปให้ทำงานที่ไร้ความหมายซ้ำไปซ้ำมาอยู่นั่นแล้ว นั่นคือ การเข็นก้อนหินขึ้นสู่ยอดเขา เพียงเพื่อที่จะเห็นมันกลิ้งลงมาอีกรอบ ดูเปล่าประโยชน์และไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง”
เธอเล่าต่อ “กระนั้น กามูส์ชี้ให้เห็นว่า วันหนึ่งนั้นเอง ขณะที่ซิซิฟุสกำลังเข็นหินขึ้นสู่ยอดภู เขาก็เหลือบไปเห็นดอกไม้เล็กๆ ดอกหนึ่ง กำลังบานอยู่ข้างทาง เพียงเท่านั้น เขาก็เป็นสุข”
“บาง ที มันอาจจะเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงยังต้องทำงานที่ไร้ความหมายและน่าเหน็ดหน่ายอย่างต่อเนื่อง ก็เพราะว่า ยังมีความงามอยู่ระหว่างทางนั่นเอง”
ถ้อย คำของกามูส์เข้ากันได้ดีกับตัวเธอมากทีดียว รสนาพบว่าตนเองมีความละม้ายคล้ายคลึงกับนักเขียนนวนิยายผู้นี้โดยเหตุที่เธอ เองก็พบความสุขจากดอกไม้ – ชมพูพันธุ์ทิพย์ หรือดอกซากุระของไทย
“ทุกปี พอถึงฤดู ดิฉันจะรู้สึกตื่นเต้น คล้ายกับว่าเพื่อนเก่ากำลังจะมา”
ปีละครั้ง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม รสนาจะขับรถไปบริเวณที่ดอกชมพูพันธุ์ทิพย์กำลังบาน
ต้น ชมพูพันธุ์ทิพย์มีความวิเศษมาก ดำรงตนอยู่สันโดษ แผ่กิ่งก้านอย่างสง่า ดอกสีชมพูก็งามอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ถึงแม้ภาวะแวดล้อมจะไม่ค่อยเหมาะนัก แต่ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ก็ยังคงภักดีต่อฤดูกาล ทั้งเติบใหญ่และเบ่งบานอย่างองอาจห้าวหาญ
“สัจจะ แท้จริงย่อมเผยตัวออกมาอย่างสามัญธรรมดา เมื่อเรามอบเวลาให้กับตนเองเพื่อพิจารณาใคร่ครวญถึงธรรมชาติที่แท้จริงแล้ว เราย่อมเปี่ยมพลังและกระตือรือล้น” รสนากล่าว
เมื่อฤดูกาลผ่านพ้น รสนาได้ถ่ายภาพต้นชมพูพันธุ์ทิพย์เก็บไว้ดูเพื่อเตือนให้รำลึกถึงงานเข็นครกขึ้นภูเขา เช่นเดียวกับซิซิฟุส
“เรามีหน้าที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำอย่างต่อเนื่องและต่อเนื่อง เพื่อสร้างเหตุแห่งกุศลกรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งจะดูแลผลหลังจากนั้นเอง” เธอกล่าว
“คุรุ ทางจิตวิญญาณของดิฉันเคยกล่าวไว้หนหนึ่งว่า พระพุทธองค์จักทรงฉวยโอกาสเท่าที่มีในการทำสิ่งที่ถูกต้อง และแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง แม้จะเป็นการกระทำอันเล็กน้อย ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะสำเร็จหรือล้มเหลว โดยเหตุที่พุทธศาสนาเป็นทั้งหนทางและเป้าหมายในตัวเอง”
บทความชิ้นนี้ แปลโดย ชลนภา อนุกูล
จากงานเขียนภาษาอังกฤษของ กรรณจริยา สุขรุ่ง
บางกอกโพสต์, ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๑
จาก http://happymedia.blogspot.com/search?updated-max=2008-12-30T21:05:00%2B07:00&max-results=4&start=12&by-date=false