ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 15, 2016, 08:53:17 pm »เคารพตน...เคารพท่าน...เคารพโลก : มองนอกดูใน โดย แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
ปี ค.ศ. ๒๐๑๒ เป็นช่วงเวลาครบรอบ ๒๐ ปีของการจัดประชุม Earth Summit องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้จัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๑๒ หรือ ‘Rio+20’ ขึ้นที่เมืองริโอ เดอจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ มิถุนายน โดยมีหัวข้อการประชุมหลัก ๒ เรื่อง คือ Green Economy in the Context of Sustainable Development and Poverty Eradication และ Institutional Framework for Sustainable Development โดยมีประมุขของรัฐและประมุขของรัฐบาลรวม ๑๓๒ ประเทศ รวมทั้งผู้แทนรัฐบาลทุกรัฐบาลทั่วโลก ประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน เข้าร่วมด้วย การประชุมครั้งนี้เป็นการจัดในโอกาสครบ ๒๐ ปี จากการจัดการประชุมริโอซัมมิท หรือการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม ค.ศ.๑๙๙๒
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ และทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยตามคำกราบทูลเชิญของประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลไปทรงร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.๒๐๑๒ ด้วย
นอกจากนี้ยังมีการจัดการประชุมของหลายภาคส่วนอยู่ทั่วเมืองริโอ เดอจาเนโร อาทิ People Summit ซึ่งเป็นการประชุมของภาคประชาชนจากทั่วโลก โดยทั้งหมดทั้งมวลเป็นการประชุมที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น GPIW (Global Peace Initiative of Women) ก็ได้จัดการเสวนาขึ้นทั้งในงาน People Summit และที่ Aldeia Nova Terra ป่าดงดิบในภูเขาที่ร่มรื่น และข้าพเจ้าก็ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในทั้งสองส่วน และเข้าร่วมประชุมในส่วนของ Earth Summit ด้วย
การประชุมของ GPIW เริ่มต้นขึ้นด้วยการกล่าวเปิดประชุมของผู้เป็นประธาน...ดีน่า มีร์เรียม
“การประชุม Rio+20 เน้นเรื่อง ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ ซึ่งมีความหมายหลากหลาย เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยความกรุณาทำให้เกิดระบบการพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งให้ความสำคัญกับท่วงทำนองแห่งธรรมชาติและความจำเป็นที่ต้องใช้พลังจากธรรมชาติ รวมทั้งการดูแลสรรพสิ่งที่มีชีวิต และหลักการทางจิตวิญญาณอะไรที่ควรเป็นพื้นฐานของวิสัยทัศน์นี้...”
นอกจากนี้ยังมีผู้แสดงทัศนะที่น่าสนใจยิ่ง อาทิ
“เมื่อ ๓-๔ ปีก่อนผมได้ทำสถิติโดยตั้งคำถามให้กลุ่มคนอายุ ๑๓-๓๕ ปี ตอบว่า หากมีสิ่งของสองราคา จะเลือกซื้ออะไรระหว่าง หนึ่ง...ราคาถูก สอง...ราคาแพงขึ้นมาหน่อยแต่ได้ช่วยสิ่งแวดล้อม ๗๐% ของเด็กอายุ ๑๓-๑๙ ปี เลือกซื้อของราคาถูก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเราคงต้องทำงานมากขึ้นเพื่อทำให้เยาวชนเข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม...
“หากเราตระหนักว่า พวกเราทุกคนเป็นทั้งปัญหาและทางออก ไม่ใช่เฉพาะผู้นำประเทศหรือนักการเมืองที่จะแก้ไขปัญหา และศาสนาเป็นพื้นฐานในการหล่อหลอมทัศนคติของชุมชน เมื่อไรที่ศาสนาเริ่มกระตุ้นให้คนในชุมชนมองทุกเรื่องอย่างเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ก็จะเกิดการกระทำของชุมชนที่ช่วยเหลือธรรมชาติ ผมเชื่อว่าเรามีความหวัง เพราะในฐานะคนในศาสนาและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน...เรากำลังทำสิ่งนี้อยู่” เป็นคำกล่าวของ บาทหลวงริชาร์ด ซีซิค ประธานองค์กร นิวอิแวนเจลิคอล จากประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับข้าพเจ้า ได้แลกเปลี่ยนกับที่ประชุมตอนหนึ่งว่า
“เราเกิดมาเพื่อไป โลกนี้ไม่ใช่ของเรา เราเป็นแค่เพียงผู้อาศัย เป็นผู้ขอยืม อย่าติดหนี้แล้วจากไปอย่างทิ้งความทุกข์ไว้กับโลกใบนี้ กลับมามีความสุขเล็กๆ กับลมหายใจเข้าที่อ่อนโยน ได้ออกซิเจนจากต้นไม้ และคืนคาร์บอนไดออกไซด์อย่างคนที่มีความรักให้กับทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้...ข้าพเจ้าขอนำเสนอความสุข ๓ แบบที่เราทำได้ทันที สุขแรกคือ การกลับมามีความสุขง่ายจากการใช้น้อย สุขที่สอง คือมีความสุขกับการเป็นผู้สร้าง ไม่ใช่สุขในฐานะของผู้เสพ สุขที่สามสำคัญมาก คือเราต้องสุขกับการมีจิตที่คิดจะให้ เราต้องช่วยกันทำเศรษฐกิจประเภทที่จะมีความสุขที่ได้จากการให้มากกว่าความสุขที่ได้จากการรับ เรามีชีวิตที่มีร่างกายและจิตใจ แต่เราก็บังคับทั้งกายและใจไม่ได้ แต่เราสามารถอยู่กับกายกับใจของเรา โดยอยู่ในปัจจุบันขณะอย่างที่เคารพชีวิตของเราได้ และถ้าเราเคารพชีวิตของเราได้ เราก็เคารพคนที่อยู่ข้างหน้าเราได้ เคารพโลกได้”
ติดตามทัศนะอันหลากหลายและน่าสนใจเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร ‘ธรรมสวัสดี’ ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ โดยรับได้ที่สถานีรถไฟฟ้า BTS และที่เสถียรธรรมสถาน หรือ www.sdsweb.org
ธรรมสวัสดี
จาก http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/134422