ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 15, 2016, 10:13:38 pm »พระไพศาล วิสาโล พระนักเขียนรางวัล 'ศรีบูรพา' ปี 2553
โดย : พรชัย จันทโสก : รายงาน
กรุงเทพธุรกิจ : วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓
Life Style : Read & Write
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
พระไพศาล วิสาโล ได้ชื่อว่าเป็นพระนักปราชญ์ เป็นนักคิด-นักเขียนชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ผู้มองเห็นถึงปัญหาทั้งในเชิงปัจเจกและในเชิงโครงสร้างของสังคม และเป็นกำลังสำคัญในหมู่ผู้แสวงหาทางออกให้กับสังคมไทยและโลกโดยสันติวิธี โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองขณะนี้แนวทางสันติวิธีหรือมาตรการปรองดองแห่งชาติน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ 27 ปี พระไพศาล วิสาโล เป็นนักธรรมผู้สร้างสะพานเชื่อมธรรมะสู่คนรุ่นใหม่ เป็นพระสงฆ์นักกิจกรรมหัวก้าวหน้าที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางด้านพุทธธรรมมาอธิบายปรากฏการณ์ของชีวิตและสังคม ในบริบทของสังคมสมัยใหม่อย่างเข้าใจง่าย ชัดเจนเป็นรูปธรรม อธิบายหลักธรรมที่ยากและลึกซึ้งให้เป็นเรื่องง่ายต่อการทำความเข้าใจ รวมทั้งยังเป็นผู้ถ่ายทอดและสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานเขียน งานแปล และงานบรรณาธิกรณ์ โดยมีผลงานเขียนมากกว่า 100 เล่ม และเมื่อปี 2548 หนังสือชื่อ 'พุทธศาสนาไทยในอนาคต : แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ' ยังได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ในสาขาศาสนาและปรัชญาอีกด้วย
ล่าสุด คณะกรรมการ กองทุนศรีบูรพา ได้ประกาศเกียรติคุณให้ พระไพศาล วิสาโล เป็นผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2553 นับเป็นผู้ได้รับรางวัลลำดับที่ 22 โดยพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็น 'วันนักเขียน' ของทุกปี โดยภายในงานมีนักเขียนหลากรุ่นมาร่วมสังสรรค์กันอย่างคึกคัก
"รางวัลศรีบูรพานั้นถือกันว่าเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติอย่างยิ่งสำหรับนักเขียนนักประพันธ์ในประเทศนี้ แต่อาตมาขอสารภาพว่าการขึ้นมากล่าวสุนทรกถาในฐานะผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพานั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะบังเกิดกับตนเอง เพราะแม้อาตมาจะเขียนหนังสือมานานกว่า 30 ปี แต่ก็ไม่สามารถกล่าวอย่างเต็มปากว่าตนเองเป็นนักเขียนนักประพันธ์ จะเป็นได้อย่างมากก็นักเขียนสมัครเล่น ซึ่งไม่อาจเทียบชั้นเสมอนักเขียนชั้นครูหรือนักประพันธ์อาวุโสทั้งหลายที่เป็นเจ้าของรางวัลอันทรงเกียรตินี้ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา
“ยิ่งกว่านั้นงานเขียนของอาตมาก็ไม่เคยแม้แต่จะเฉียดกรายเข้าใกล้แวดวงวรรณกรรมหรือวงการหนังสือพิมพ์ อันเป็นแวดวงที่ศรีบูรพาได้บุกเบิกสร้างสรรค์และฝากผลงานไว้มากมาย ทั้งนี้มิจำเป็นต้องเอ่ยว่าในอดีตไม่เคยมีพระภิกษุที่ได้รับรางวัลนี้ ด้วยเหตุนี้การได้รับรางวัลศรีบูรพาจึงเป็นเรื่องที่เหนือการคาดคิดของอาตมา"
นั่นคือบทเริ่มต้นสุนทรกถาในโอกาสรับรางวัลศรีบูรพาของ พระไพศาล วิสาโล ก่อนจะกล่าวถึง 'ศรีบูรพา' หรือ 'กุหลาบ สายประดิษฐ์' ว่าเป็นนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของไทย เป็น 'สุภาพบุรุษ' ที่มั่นคงในอุดมคติและเปี่ยมด้วยคุณธรรมอันน่ายึดถือเป็นแบบอย่าง
"ชีวิตของศรีบูรพาคือชีวิตของผู้ที่อยู่แถวหน้าในการต่อสู้กับเผด็จการและอำนาจที่ไม่เป็นธรรม แม้จะประสบเภทภัยเพียงใด ก็ไม่ท้อแท้ท้อถอย หากยังคงมุ่งมั่นต่อสู้ตามอุดมคติปณิธานของตน นั่นเป็นเพราะท่านมีจิตใจมั่นคง แข็งแกร่ง และกล้าหาญ ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือ ท่านเป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม อันได้แก่โภคทรัพย์ และชื่อเสียง เกียรติยศ จึงสามารถอดทนต่อการคุกคามของผู้มีอำนาจและไม่ยอมตนเป็นเครื่องมือของนายทุน จึงสามารถบำเพ็ญตนเยี่ยงเสรีชนได้อย่างยั่งยืนยาวนาน"
พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า..."สังคมไทยวันนี้กำลังถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมสองกระแสใหญ่ๆ ซึ่งอาตมาขอเรียกว่าวัฒนธรรมแห่งความละโมบ และวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง วัฒนธรรมแห่งความละโมบนั้นได้ปลุกกระตุ้นให้ผู้คนถือเอาวัตถุเป็นสรณะ มีชีวิตเพื่อการเสพสุข เพราะเชื่อว่าความสุขจะได้มาก็ด้วยการเสพและครอบครองวัตถุ ยิ่งมีมากเท่าไรก็เชื่อว่าจะมีความสุขมากเท่านั้น ภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าว ผู้คนจึงมีความต้องการอย่างไร้ขีดจำกัดและไม่รู้จักพอ ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันอย่างกว้างขวาง นำไปสู่ช่องว่างที่ถ่างกว้างระหว่างผู้คน ตอกย้ำความไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้การทุจริตคอร์รัปชัน และอาชญากรรมนานาชนิดแพร่ระบาด รวมทั้งก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“ขณะเดียวกันวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง ได้ปลุกเร้าให้ผู้คนเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเพียงเพราะมีความแตกต่างทางความเชื่อ ศาสนา อุดมการณ์ ชาติพันธุ์ รวมทั้งสถานะทางสังคม ความกลัวและความหวาดระแวงทำให้มองผู้ที่คิดต่างจากตนเป็นศัตรู ทุกวันนี้การแบ่งฝักฝ่ายขยายตัวจนกระทั่งมองเห็นคนที่ใส่เสื้อคนละสีกับตน เป็นคนเลว เพราะปักใจเชื่อล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่ามีแต่คนเลว ไม่รักชาติ เหยียดหยามประชาชน อกตัญญูต่อสถาบัน เท่านั้นที่สวมใส่เสื้อสีนั้นๆ หรือสมาทานความเชื่อทางการเมืองที่ผูกติดกับสีนั้น ต่างฝ่ายต่างติดป้ายติดฉลากให้แก่กันจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ผลก็คือพร้อมที่จะห้ำหั่นประหัตประหารกัน"
การแสวงหาทางออกของพระนักสันติวิธีนั้น มองว่า "หากปรารถนาสังคมที่สงบสุข จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเสมอภาค ยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตย แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมมิได้มีแต่มิติด้านการเมืองเศรษฐกิจเท่านั้น มิติทางจิตวิญญาณก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน จะว่าไปแล้วมิติทั้งสองแยกจากกันไม่ออก จิตวิญญาณของผู้คนมิอาจเจริญงอกงามได้หากอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เลวร้าย ในทางกลับกันระบบเศรษฐกิจการเมืองย่อมไม่อาจเจริญงอกงามได้หากจิตวิญญาณของผู้คนถดถอย อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของสองมิติดังกล่าวมักจะถูกมองข้ามไป ทำให้การเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันละเลยมิติด้านจิตวิญญาณ ส่วนผู้ที่ใส่ใจกับมิติด้านจิตวิญญาณก็มักจะไม่สนใจสังคม หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเฉพาะตน ด้วยเหตุนี้สิ่งหนึ่งที่อาตมาพยายามทำก็คือการเชื่อมโยงทั้งสองมิติให้ประสานกัน
“แน่นอนว่าในฐานะพระภิกษุ ย่อมไม่มีอะไรดีกว่าการพยายามนำพาผู้คนให้ตระหนักถึงมิติด้านจิตวิญญาณ และช่วยกันเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณเพื่อขับเคลื่อนชีวิตและสังคมให้เป็นไปในทางที่ดีงาม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการกระตุ้นเชิญชวนให้ผู้คนเห็นศักยภาพภายในที่สามารถนำพาตนให้บรรลุถึงอิสรภาพทางจิตใจได้ ขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองเพื่อให้เห็นคุณงามความดีและความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามร่วมกันโดยสันติวิธี เมื่อคำนึงถึงความสามารถที่มีอยู่อาตมาได้เลือกเอาการเขียนหนังสือเป็นหนทางหนึ่งในการบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว อาตมาเชื่อว่าภารกิจดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะในยามที่ผู้คนพากันประดิษฐ์ถ้อยคำห้ำหั่นกัน ใส่ร้ายป้ายสีหรือกระตุ้นความเกลียดชังกันอยู่ในขณะนี้
“สิ่งที่สังคมไทยต้องการก็คือถ้อยคำที่เชิญชวนให้ผู้คนมีเมตตาต่อกัน เข้าใจความทุกข์ของกันและกัน รวมทั้งเชื่อมั่นในพลังแห่งความรักยิ่งกว่าพลังแห่งความโกรธเกลียด"
นอกจากส่วนหนึ่งของสุนทรกถาข้างต้นแล้ว พระไพศาล วิสาโล ยังได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่รัฐบาลได้เสนอแผน 'การปรองดองแห่งชาติ' ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งขณะนี้ว่า...
"อาตมาเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมน่าสนับสนุนเพราะว่าตอนนี้มีทางเลือกเหลือน้อยมาก และทางเลือกที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นสูงมากคือการสลายการชุมนุมซึ่งจะทำให้เกิดความสูญเสียมาก อาตมาคิดว่าการเสนอมาตรการปรองดองนี้ช่วยลดความตึงเครียดได้ และถ้า นปช.ยอมรับด้วยยิ่งทำให้การชุมนุมยุติในเร็ววัน และการนองเลือดก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ในระยะนี้"
แต่หลายฝ่ายยังเป็นห่วงต่อไปอีกว่าแม้จะยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แต่ความรู้สึกเกลียดชังของคนในสังคมไทยยังคงไม่หายไป และจะเกิดปัญหาความวุ่นวายตามมาอีก
"เราต้องรู้ว่าความเกลียดชังเกิดจากอะไร ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ โดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10, 22, 28 เมษายน เมื่อมีคนตาย ก็ต้องมีคนรับผิดชอบ อาตมาคิดว่าการเยียวยาจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย 'ความจริง' ต้องทำความจริงให้ปรากฏว่าการตายนี้เกิดจากใคร ใครรับผิดชอบ และถ้าสามารถนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ จะทำให้ความรู้สึกคับแค้นโกรธเคืองบรรเทาไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ว่ายังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง เช่น ฝ่ายต่อต้านเสื้อแดงไม่เชื่อว่าคนเสื้อแดงจงรักภักดีต่อสถาบันหรือถึงขั้นจะล้มเจ้า เรื่องนี้ก็ต้องทำความจริงให้กระจ่างด้วย
“กระบวนการยุติธรรมจะช่วยได้ คือทำให้เห็นว่าเขาผิดจริงไหม อย่างไรก็ตามอาตมาคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องระยะสั้น ระยะยาวนี้ก็ต้องทำให้เกิดการเข้าอกเข้าใจกันในฐานะที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน คือตอนนี้ความโกรธความเกลียดเกิดขึ้นรุนแรงเพราะว่าต่าง 'กลัว' อีกฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากมีการวาดภาพว่าเขาเป็นปีศาจเป็นมาร ตรงนี้อาตมาคิดว่าต้องทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้จักกันให้มากขึ้น อาตมาคิดว่ามิติความเป็นมนุษย์ขาดหายไป ทำให้ทั้งสองฝ่ายมองซึ่งกันและกันเป็นยักษ์เป็นมาร ต้องทำให้คนสองกลุ่มนี้เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันให้มากขึ้น
“อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม หรือเรื่องสองมาตรฐาน นี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่มีมาแต่เดิม ก็ต้องแก้ด้วย เป็นเรื่องดีที่มาตรการปรองดองแห่งชาติระบุว่าจะแก้ตรงนี้ด้วย ทีนี้อารมณ์ความรู้สึกโกรธเกลียดมันมีหลายชั้น เริ่มจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เลยมาประท้วง พอมาประท้วงก็เกิดการปะทะกัน มีการโจมตีกล่าวหากัน เกิดความรู้สึกโกรธเกลียดพยาบาท มองอีกฝ่ายว่าเป็นตัวเลวร้าย และเมื่อมีการปะทะกัน มีการฆ่ากันตาย ความโกรธความเกลียดก็มากขึ้น ความโกรธความเกลียดมันมีหลายชั้น ก็ต้องแก้กันไป และต้องแก้หลายชั้นด้วย ชั้นหนึ่งก็เป็นเรื่องของกฎหมาย ใครผิดก็ต้องว่ากันไปตามผิด ส่วนการทำให้คนเห็นความเป็นมิตรของกันและกันก็ต้องทำด้วยเช่นกัน
“อันนี้เป็นมิติของความเป็นมนุษย์ ส่วนเรื่องของความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างก็ต้องแก้ด้วย เต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปโครงสร้าง ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกันด้วย"
ในแง่ของหลักธรรมที่จะเข้ามาช่วยเยียวยาหรือสร้างความปรองดองให้ประสบความสำเร็จนั้น
"ในพระพุทธศาสนามีธรรมะที่ช่วยสร้างความปรองดองหรือการมีความรักต่อกันอย่างน้อย 2 หมวด หมวดแรกคือ สังคหวัตถุ 4 คือธรรมทำให้เกิดความรักใคร่กัน ได้แก่ ๑. ทาน คือแบ่งปันกัน ไม่ใช่แค่การแบ่งปันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ แต่ต้องแบ่งปันระหว่างชนชั้นด้วย เพราะตอนนี้ชนชั้นนำ-ชนชั้นกลางผูกขาดทรัพยากรไว้ ต้องแบ่งปันให้กับคนชั้นล่างด้วย อันนี้เป็นเรื่องความเป็นธรรมในสังคม ๒.ปิยวาจา คือ คำพูดที่ไพเราะ ที่สุภาพ ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ไม่ใช่ด่ากัน ๓. อัตถจริยา คือ การทำความดี การประพฤติดี การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ๔. สมานัตตา คือ ความเสมอต้นเสมอปลาย หรือการปฏิบัติต่อกันอย่างไม่ถือเขาถือเรา การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานเลยเพราะว่าการแบ่งแยกเป็น 'ไพร่' เป็น 'อำมาตย์' เกิดขึ้นเพราะไม่มีสมานัตตา ไพร่คิดว่าตัวเองด้วยกว่าอมาตย์ แต่สมานัตตาช่วยให้รักกันได้
“อีกหมวดหนึ่งได้แก่สารณียธรรม 6 คือ ธรรมที่ทำให้เกิดความรักกันความสามัคคี ประกอบด้วย เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ศีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา และสาธารณโภคี ทิฏฐิสามัญญตาหมายถึงการมีความเห็นที่สอดคล้องกัน ไปในทางเดียวกัน เช่น เชื่อมั่นในประชาธิปไตยเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรเหมือนกันก็ได้ เพราะตอนนี้สังคมไทยจะคิดเหมือนกันนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าควรมองไปข้างหน้า มีจุดร่วมเหมือนกัน มีความคิดที่เห็นพ้องต้องกันว่าอะไรเป็นความดี อะไรเป็นความชั่ว ส่วนสาธารณโภคี คือ การกินการใช้ร่วมกัน รวมถึงการกระจายทรัพยากรไปให้แก่ผู้คนในสังคมอย่างทั่วถึง หลักธรรมนี้จะช่วยให้เกิดความปรองดองเกิดความเข้าอกเข้าใจกัน
“แต่ก่อนที่จะปรองดองนั้นได้ต้องรู้จักทะเลาะกันอย่างสันติวิธีหรือว่าถกเถียงกันอย่างอารยชน เพราะตอนนี้เหมือนจะฆ่ากันให้ตาย ทำอย่างไรถึงจะทะเลาะกันอย่างอารยชน คือว่าใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ด่ากัน ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน ตอนนี้แม้กระทั่งผัวเมีย พ่อกับลูก บางทีก็ไม่ยอมกัน เถียงกันเอาเป็นเอาตาย สถานการณ์เมืองไทยตอนนี้เอาแค่นี้ก่อนก็ช่วยได้มากแล้ว ต่อมาค่อยก้าวมาสู่การปรองดอง"
เหตุการณ์ที่ผ่านมาถือว่าให้บทเรียนกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก
"สังคมไทยตอนนี้เปราะบางมาก เพราะว่ามีความขัดแย้งเชิงโครงสร้างสูงมาก และขาดการสื่อสารระหว่างคนที่ขัดแย้งกัน และขาดกลไกที่จะแก้ปัญหาโดยสันติวิธี อันที่จริงกลไกที่จะแก้ปัญหาโดยสันติวิธีมีอยู่มากมายในสังคมไทย เช่น ศาล รัฐสภา แต่ว่าตอนนี้ล้มเหลวหมด แม้แต่การเลือกตั้งก็ไม่มีใครเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้เพราะว่าฝ่ายหนึ่งบอกว่าเลือกตั้งทีไรก็มีการซื้อเสียง จึงไม่ยอมยุบสภา เพราะกลัวว่าถ้ายุบสภาเลือกตั้งก็ซื้อเสียงกันอีก แม้แต่กระบวนการเลือกตั้งซึ่งควรจะเป็นกระบวนการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ก็ไม่มี คนจำนวนมากไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ ตรงนี้แสดงว่าเมืองไทยขาดกลไกแก้ปัญหาโดยสันติวิธีและขาดพื้นที่จะมีการต่อรองกันในทางการเมืองแบบสันติวิธี
“การเมืองระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างกลุ่มต่างๆ ถ้าระบบมันดีก็ทำให้ผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ต่อรองกันได้อย่างสันติวิธี แต่ว่าตอนนี้คนไม่เชื่อ ก็เลยออกมาต่อสู้ตามท้องถนน พันธมิตรก็มาที่ท้องถนน เสื้อแดงก็มาที่ท้องถนน พอมาแล้วก็พยายามทำให้เกิดความปั่นป่วน จนรัฐบาลปกครองไม่ได้ จะได้ยอมตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม สังคมไทยเคยมีพื้นที่มากมายในการต่อรองกัน ไม่ใช่แค่บนท้องถนน แต่ตอนนี้พื้นที่การต่อรองหรือแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีมีน้อยมาก หรือไม่เปิดพื้นที่ให้เขา ผู้คนเลยมาใช้ท้องถนนแทน
“ยุบสภาแล้วจะเกิดความสงบได้ ก็ต้องมีกระบวนการก่อนการเลือกตั้ง จะต้องมีการทำสัตยาบันหรือข้อตกลงแบบสุภาพชน ที่จะเป็นกติกายอมรับร่วมกัน เช่น ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ รวมทั้งมีข้อตกลงเรื่องการใช้สื่อ เรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง เรื่อง กกต. ทั้งหมดนี้ต้องมีการตกลงในเรื่องกติกา ถึงจะไม่นำไปสู่ความรุนแรงอีก"
นั่นคือทรรศนะของ พระไพศาล วิสาโล นักสันติวิธีตัวจริงซึ่งอยากเห็นการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงและแนวทางการปรองดองน่าจะเป็นทางเลือกที่จะทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่สันติได้โดยไม่สูญเสียอีก
อภิชาตศิษย์
.......................
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ปี 2537 ผู้ถือเป็นครูและแบบอย่างในด้านการเขียนของ พระไพศาล วิสาโล นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ปี 2553 ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีในพิธีมอบรางวัลครั้งนี้ด้วยว่า...
"ถ้าใครมีลูกก็อยากมีลูกเป็นอภิชาตบุตร และพระไพศาล วิสาโล เรียกได้ว่าเป็น 'อภิชาตศิษย์' คือสามารถดีกว่าครูบาอาจารย์ทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องชีวิตพรหมจรรย์อันเป็นชีวิตอันประเสริฐ ในขณะที่ครูบาอาจารย์ยังย่ำอยู่กับที่อยู่กับ 'หินชาติ' ของฆราวาส พร้อมกันนี้อยากจะเรียนยกย่องคณะกรรมการรางวัลศรีบูรพาที่ตัดสินเลือก 'พระไพศาล วิสาโล' ให้ได้รับรางวัลในปีนี้ เพราะการเป็นกรรมการตัดสินให้รางวัลนั้นไม่ใช่ของง่าย ตัดสินมีทั้งผิดและถูก และรางวัลศรีบูรพาเป็นรางวัลประเสริฐ แต่หลายๆ ครั้งกรรมการตัดสินให้รางวัลคนซึ่งไม่ประเสริฐให้ได้รับรางวัลนี้ รวมถึงตัวผมด้วย (ฮา)
พูดอย่างนี้อยากจะเตือนคณะกรรมการไว้ว่าปีนี้พระไพศาลได้รับรางวัลแล้ว และปีต่อๆ ไปคณะกรรมการจะต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น อย่าให้คุณภาพของผู้ได้รับรางวัลลดน้อยถอยลงไปกว่านี้ เรียกว่าปีนี้ขึ้นถึงจุดสุดยอด เพราะถ้าหาคนไม่ได้จริงๆ เว้นเสียบ้างก็ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ทุกปี อันนี้ผมอยากเตือนด้วยความเคารพ เพราะรางวัลนั้นจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อผู้รับรางวัลมีคุณภาพ ไม่จำเป็นจะต้องมีปริมาณ
พระไพศาลเอ่ยถึงคุณวัลลภ แม่นยำ ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไป พัลลภเป็นนักเขียนการ์ตูน ดังที่รางวัลนี้เคยให้ 'ชัย ราชวัตร' ผมเชื่อว่าถ้าเขาอยู่ไปน่าจะได้รางวัลนี้ด้วย เพราะการ์ตูนของพัลลภนั้นเป็นการ์ตูนที่มีฝีมือ มีอารมณ์ขันหยอกล้อทางการเมือง ในขณะที่เวลานี้ทั้งเสื้อแดง-เสื้อเหลืองไม่มีอารมณ์ขันเลย และผมเห็นว่าการเมืองจะให้ได้ผลนอกจากมีมิติทางจิตวิญญาณอย่างที่พระคุณเจ้าว่าแล้วต้องมีอารมณ์ขันเป็นปัจจัยสำคัญ พระไพศาลเอ่ยถึง 'ท่านพุทธทาส' ถ้าใครเคยได้ยินท่านเทศน์ท่านจะหัวเราะไปเรื่อยๆ อารมณ์ขันเป็นสิ่งสำคัญ เวลานี้พระที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก คือ 'องค์ทะไล ลามะ' ไปเทศน์ที่ไหนก็เอาอารมณ์ขันไปด้วย หัวเราะ และที่สำคัญท่านหัวเราะตัวท่านเองตลอดเวลา และตรงกับที่พระไพศาลพูด การแก้ไขปัญหาในสังคมให้ตรงนั้นท่านเริ่มที่แก้ปัญหาตัวเอง สันติภาวะภายในตน และนำสันติภาวะนั้นออกมาเพื่อเกื้อกูลชาวโลกและค้ำจุนโลก
อีกอย่างหนึ่งคือการแก้ไขปัญหาสังคมนั้น พระไพศาลเน้นต้องมี 'สภาวะทางจิต' ผมไม่ได้ชอบคำว่า 'จิตวิญญาณ' เป็นภาวะทางจิตใจมากกว่า นอกจากมีอารมณ์ขัน ภาวะทางจิตใจแล้ว อีกมิติหนึ่งซึ่งสำคัญมากคือ 'มิติทางความงาม' คนไทยเวลานี้ขาดมิติทางความงามมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯเป็นเมืองที่อัปลักษณ์ที่สุด มีความถ่อย มีความน่าเกลียดทั้งทางกายภาพ และมันนำมาสู่สังคมการเมืองอย่างทุกวันนี้ อยากฝากคณะกรรมการศรีบูรพาด้วย พยายามมองหาคนที่มุ่งทางความงาม และความงามนั้น เป็นความดีและความจริง"
จาก http://visalo.org/columnInterview/bkkBizNew530509.htm