ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 15, 2016, 10:45:15 pm »ศรัทธาธรรม เมล็ดพันธุ์แห่งโพธิ
นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2906
สัมภาษณ์พิเศษ พระไพศาล วิสาโล
ศรัณยา เรื่อง / ทวีทรัพย์ ภาพ
เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ได้รับนิมนต์ให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อรับรางวัล “ศรีบูรพา” ประจำปี ๒๕๕๓ โดยเป็นมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ประยอม ซองทอง ประธานกองทุนศรีบูรพา ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ท่านอาจารย์พระไพศาล วิสาโล มีวัตรปฏิบัติและมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมนุษยชาติเป็นเวลายาวนาน พอแก่การสรุปได้ว่า ‘กาลเวลาพิสูจน์คน’ อย่างชัดเจน และเหมาะแก่ช่วงเวลาการนำผู้คนในสังคมให้หันมาเอาใจใส่และปฏิบัติตนต่อเพื่อนมนุษย์โดยใช้ธรรมะเป็นธงนำชีวิต
พระไพศาล วิสาโล นามเดิม ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ เกิดเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๐ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ แผนกศิลปะ โรงเรียนอัสสัมชัญ และสำเร็จการศึกษาชั้นอุดมศึกษาจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ ขณะที่เป็นนักศึกษาสนใจเข้าร่วมกิจกรรมด้านศาสนาเพื่อสังคม กระทั่งปี ๒๕๒๖ อุปสมบท ณ วัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ เรียนกรรมฐานจากหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ วัดสนามใน ก่อนไปจำพรรษาที่วัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ โดยศึกษาธรรมกับหลวงพ่อคำเขียน สุวณโณ จากนั้นก็อยู่ในสมณเพศมาตลอด ๒๗ ปี
พระไพศาลยืนยันว่า ‘ชีวิตอาตมา เป็นแค่พระอย่างเดียว ก็เป็นเกียรติ และประเสริฐสุดในชีวิตแล้ว ไม่มีอะไรสูงสุดกว่าการเป็นพระ ที่เหลือเป็นส่วนเกิน’
ก่อนหน้านี้ท่านอาจารย์พระไพศาล วิสาโล ได้สร้างสรรค์งานเขียนเพื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนแห่งพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งงานเขียนบทความ งานแปล และงานบรรณาธิกรณ์ มีผลงานเขียนมากกว่า ๑๐๐ เล่ม โดยเฉพาะเมื่อปี ๒๕๔๘ หนังสือชื่อ “พุทธศาสนาไทยในอนาคต : แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ” ได้รับรางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธ์” ในสาขาศาสนาและปรัชญา
วันที่ ๕ พฤษภาคม ปี ๒๕๕๓ พระไพศาล วิสาโล ในฐานะนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ได้รับคำประกาศเกียรติคุณว่าท่านเป็นนักธรรมผู้สร้างสะพานเชื่อมธรรมะสู่คนรุ่นใหม่ ได้ชื่อว่าเป็นพระภิกษุสงฆ์นักกิจกรรมหัวก้าวหน้า สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางด้านพุทธธรรมมาอธิบายปรากฏการณ์ของชีวิตและสังคมในบริบทของสังคมสมัยใหม่อย่างเข้าใจง่าย ชัดเจนเป็นรูปธรรม มีทักษะในการอธิบายหลักธรรมที่ยากและลึกซึ้งให้เป็นเรื่องง่ายต่อการทำความเข้าใจ ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดศรัทธา เห็นความสำคัญของธรรมะว่าเป็นเรื่องใคร่ครวญน่าศึกษา อีกทั้งปฏิบัติได้ไม่ยาก นอกจากนั้น พระไพศาลท่านยังเป็นนักคิด นักปราชญ์ เป็นปัญญาชนสยาม เป็นนักเขียนชั้นแนวหน้าที่มองเห็นปัญหาทั้งในเชิงปัจเจกและในเชิงโครงสร้างของสังคม ท่านเป็นกำลังสำคัญในหมู่ผู้แสวงหาทางออกให้สังคมไทยและโลกโดยสันติวิธี
เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกใจใดๆเลยที่ได้มายินมาฟังท่านอาจารย์พระไพศาล กล่าวให้สัมภาษณ์แก่สกุลไทยถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานเขียน...
“อาตมามองว่าธรรมะมีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง อยู่ในประสบการณ์ของทุกผู้คน ธรรมะไม่ได้อยู่แต่ในพระไตรปิฎก หรืออยู่ในตำรา คัมภีร์ อาตมาจึงพยายามลบมายาคติที่ว่าธรรมะล้วนอยู่ในพระไตรปิฎก หรือต้องห่อหุ้มด้วยภาษาบาลี ในการเขียนบทความเชิงธรรมะ บางครั้งอาตมาก็หยิบยกเรื่องราวจากประสบการณ์ชีวิตของคนผู้เป็นฆราวาสมาเล่าถ่ายทอดเป็นบันทึก เพื่อให้คนอ่านเห็นว่านี่ก็เป็นธรรมะนะ จริงๆแล้วธรรมะไม่ใช่เรื่องไกลตัว ธรรมะเป็นเรื่องใกล้ตัว อยู่ที่ว่าเรามองเป็นหรือไม่ ถ้าใครมองธรรมะไปที่ตำราหรือคัมภีร์ ก็เข้าใจผิดแล้ว เราควรมองมาที่ประสบการณ์ของตัวเราเองด้วยว่าประสบการณ์นั้นเป็นบทเรียนสอนธรรมะได้หรือไม่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านก็เคยกล่าวว่า สำหรับผู้มีปัญญา ธรรมะล้วนอยู่ในทุกหย่อมหญ้า ไม่จำเป็นต้องเรียนปริยัติ จึงจะเข้าถึงธรรมะได้ สำหรับในงานเขียนของอาตมาก็บอกเป็นนัยว่าธรรมะมีอยู่ทุกหนแห่ง อาตมาไม่อยากให้คำบาลีมาเป็นอุปสรรคขวางกั้นในการอ่าน”
และถ้าให้ย้อนกาลเวลากลับไปสู่ช่วงวัยอันเป็นรากฐานชีวิตเดิม ก่อนครองผ้ากาสาวพัสตร์ พระไพศาลเล่าว่า...
“อาตมาเป็นลูกคนจีน ฐานะทางบ้านไม่ถึงกับดีนัก ก็ปานกลาง เพราะว่ามีหลายครั้งตอนเด็กๆที่โยมแม่ต้องมีปัญหาในการหาเงินค่าเล่าเรียน เพราะว่าการใช้จ่ายเงินของโยมพ่อไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่นัก พอใกล้ถึงเวลาที่ต้องจ่ายค่าเทอม กับโยมพ่อก็ต้องรบเร้าเรื่องเงินทองกันพอสมควร เพราะฉะนั้นจะบอกว่าอาตมาเป็นผู้ที่มีความเป็นอยู่ในขั้นฐานะดีไม่ได้ สมัยที่อาตมาเรียนหนังสือชั้น ป.๑ ป.๒ มีเงินติดกระเป๋าไปโรงเรียนแค่วันละ ๕๐ สตางค์ แต่ก็ไม่เคยถึงกับอดมื้อกินมื้อ
คือโยมแม่ท่านเป็นแม่บ้าน โยมพ่อก็ทำงานที่โรงเลื่อย มีหน้าที่วัดไม้ การวัดไม้ต้องอาศัยความชำนาญ อาตมามีพี่น้อง ๔ คน ตัวอาตมาเป็นเด็กเรียนดี ขยันเรียน ชีวิตในวัยเด็กไม่มีกิจกรรมอะไรทำเป็นพิเศษ นอกจากการเรียนหนังสือ เลิกเรียน กลับมาบ้าน ตั้งใจทำการบ้าน
โรงเรียนอัสสัมชัญขึ้นชื่อว่าการบ้านเยอะ จะเกเรไม่ได้ ไม่อย่างนั้นถูกตี จึงมุ่งเรียนหนังสือเป็นหลัก ชีวิตในวัยเด็กไม่ถึงกับมีความสุขนัก
ตอนเด็กๆอาตมาชอบด้านวิทยาศาสตร์ และหวังจะเอาดีทางวิศวกรรม วางแผนว่าจบม.ปลายที่โรงเรียนอัสสัมชัญ จะสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากสนใจกิจกรรมวิทยาศาสตร์ ประสบความสำเร็จทางด้านนี้ เคยได้รับรางวัลเกี่ยวกับการแข่งขันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาหลายรางวัล แต่ว่าพอเรียนอยู่ช่วงม.ศ.๓ ได้มีโอกาสอ่านหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) ก็ทำให้ตามไปอ่านสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ จึงเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องบ้านเมืองมากขึ้น...”
ตรงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของท่านก็ว่าได้
“...ยุคนั้นสังคมไทยกำลังมีปัญหา มีความยากจน มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คนไทยถูกเอารัดเอาเปรียบจากญี่ปุ่นบ้าง อเมริกาบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยนั้นประมาณปี ๒๕๑๕ ประเทศไทยตกอยู่ใต้อำนาจทหาร อาตมาเองยังเป็นนักเรียนอยู่ เริ่มหันมาทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น ออกค่ายต่างจังหวัด เยี่ยมบ้านเด็กกำพร้า คือเริ่มมีจิตที่อยากช่วยสังคม และสำนึกทางการเมืองก็ตามมาด้วย ตอนนั้นรู้สึกว่าบ้านเมืองเป็นเผด็จการ เราต้องออกไปเรียกร้องประชาธิปไตย อยากให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อยากให้ผู้นำประเทศมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขณะเดียวกันอาตมาก็อ่านหนังสือเยอะมาก จนได้รับแนวคิดแบบสังคมนิยม ได้อ่านหนังสือประวัติชีวิตเชกูวารา และอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสด้วย เพราะฉะนั้น จึงเกิดการสั่งสมความรู้แนวสังคมนิยมและพุทธศาสนาไปพร้อมๆกัน โดยไม่รู้สึกขัดแย้ง”
จนกระทั่งปีถัดไป เกิดเหตุการณ์ ‘๑๔ ตุลา’
“มีผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาตมาไปร่วมชุมนุมประท้วงกับพวกนักศึกษาด้วย แต่บังเอิญว่าวันที่ ๑๔ ตุลา ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์
พอขึ้นม.ศ.๕ อาตมาเปลี่ยนเข็มทิศด้านการเรียน อยากเลือกสอบเข้าคณะศิลปศาสตร์ วิชาเอกประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเริ่มซ้ายแล้วด้วยนะ แต่ว่าซ้ายได้ไม่นานหรอก เพราะไปพบปรัชญาอหิงสา
เพื่อนหลายคน เช่น พจนา จันทรสันติ ก็สนใจแนวอหิงสา จิตวิญญาณ ปรัชญาเต๋า อาตมาเองก็ซ้ายอยู่ได้สักพักหนึ่ง แต่พบว่าแนวทางพระพุทธศาสนาและอหิงสาดีกว่า”
พระไพศาลขยายความคำว่า ‘ซ้าย’ ให้ฟังพอสังเขป...
“ซ้ายแบบจีนซึ่งปกครองประเทศด้วยระบอบสังคมนิยม ต้องมีการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเพื่อขับไล่ขุนศึกศักดินาและจักรวรรดินิยม เป้าหมายสูงสุดของระบอบสังคมนิยม ก็เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชน แต่ต่อมาอาตมาไม่เชื่อเรื่องการใช้ความรุนแรง เกิดความสนใจแนวทางของพระพุทธศาสนามาก พอสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ จึงไปเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมพุทธ ชักชวนเพื่อนนั่งทำสมาธิ
ชีวิตในสมัยวัยรุ่นของอาตมาไม่ได้มีสีสันอะไร ส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการเรียน และออกค่าย ร่วมงานกิจกรรมต่างๆเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมบ้าง ไม่มีคำว่าเที่ยว ไม่มีคำว่ามั่วสุม และด้วยความที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ทำให้อาตมากลายเป็นคนที่จริงจังกับชีวิต อยากแสวงหาคุณค่าชีวิตอันแท้จริง อยากค้นหาอุดมคติในชีวิต
หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา จึงค้นพบว่าเราควรต้องทำอะไรต่อไป คนกลุ่มหนึ่งอาจจะศรัทธาลัทธิสังคมนิยม แต่อาตมามองอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น ยุคแสวงหาของอาตมาช่วงนั้น จะว่าไปมันก็มีสีสัน มีความสนุก คือเราได้หลุดจากกะลา และโลกมันเปลี่ยนไปเลย คราวนี้การเรียนหนังสือของอาตมาไม่ใช่เรื่องเบื่อหน่าย แต่เรียนด้วยความสนุก เมื่อก่อนเรียนเพราะต้องเรียน แต่พอเราต้องการแสวงหาอะไรบางอย่าง เริ่มอ่านหนังสือมากขึ้นๆ เหมือนชีวิตมีจุดมุ่งหมาย เหมือนกับชีวิตเพิ่งตื่นขึ้นมา”
ทำให้มาถึงวันที่ตั้งคำถามกับตนเอง...
“ถามตัวเองก่อนว่าเราเรียนเพื่ออะไร นี่คือคำถามพื้นฐาน หลายคนต้องผ่านคำถามนี้กันมา บางคนบอกเรียนเพื่อเอาคะแนน บางคนเรียนเพราะอยากได้ความรู้ แต่ถึงจุดหนึ่ง ก็ต้องได้คำตอบว่าเรียนเพื่อช่วยเหลือสังคม และเมื่ออาตมาสนใจเรื่องพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดคำตอบว่าเรียนเพื่อพัฒนาตน”
ขณะเดียวกันก็เบนเข็มสนใจเรียนสาขาวิชาประวัติศาสตร์แทนสายวิศวกรรมศาสตร์
“อาตมาเป็นคนสนใจเรื่องประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน ชอบอ่านเรื่องที่เป็น Story สมัยเรียนประถมปลายก็ชอบอ่านหนังสือประวัติบุคคล ชอบประวัติพระยาพิชัยดาบหัก รู้สึกว่าท่านเป็นฮีโร่ในใจ เป็นผู้เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง พักหลังต่อมาได้อ่านงานของเสฐียรโกเศศ พระยาอนุมานราชธน และสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แนวใหม่ เป็นต้นว่า งานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นงานเขียนเชิงประวัติศาสตร์แนววิพากษ์ ถ้าเราเข้าใจประวัติศาสตร์ เราก็เข้าใจสังคมได้ เข้าใจชีวิตด้วย
ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยอาตมาเริ่มไม่เห็นด้วยกับซ้าย เริ่มวิพากษ์ซ้าย อาตมาไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีมาร์กซิสต์หรือลัทธิสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ ส่วนหนึ่งที่อยากเรียนประวัติศาสตร์ก็เพื่อจะได้ไปโต้กับกลุ่มซ้าย ซึ่งช่วงนั้นยังไม่ได้คิดว่า หากจบประวัติศาสตร์แล้ว จะไปทำอะไรต่อ เพียงแต่อยากเรียนเพื่อไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนกลุ่มซ้ายที่เราไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเขา...”
ท่านได้อรรถาธิบายต่อถึงแง่มุมบางมุมที่ไม่เห็นด้วยกับมาร์กซิสต์ นั่นคือ
“เรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น หรือเห็นว่าชนชั้นกรรมาชีพดีไปหมด ซึ่งข้อนี้อาตมาเองไม่ได้เห็นด้วย เนื่องจากการที่มนุษย์เป็นคนดีหรือไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนชั้น ถ้าเปรียบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน บางคนอาจจะมองว่าเหลืองดี แดงไม่ดี หรือแดงดี เหลืองไม่ดี อาตมาไม่มองอย่างนี้ เพราะคนจะดีหรือไม่ดี ไม่ได้อยู่ที่ยี่ห้อ ในความเป็นสีเหลือง คนที่ไม่ดีก็มี ในความเป็นสีแดง คนที่ไม่ดีก็มี คืออาตมามองว่าคนที่ดีหรือไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานภาพ ยี่ห้อ หรือชนชั้น แต่ว่าการต่อสู้ทางชนชั้นของระบบมาร์กซิสต์นั้นละเอียดลึกซึ้งมาก ถ้าต้องมานั่งอธิบายกันตอนนี้ ต้องใช้เวลามาก แต่ขณะที่เรียนประวัติศาสตร์ได้ทำให้เข้าใจอะไรต่างๆดีขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น และสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานเพื่อสังคม ยิ่งมาร่วมอยู่ในชมรมพุทธศาสนา เราก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของสังคม แต่ต้องไม่ใช่ด้วยวิธีการใช้กำลังอาวุธ จึงมีบ้างที่อาตมาถูกเพื่อนฝ่ายซ้ายในมหาวิทยาลัยต่อว่าว่าเป็นพวกหน่วงเหนี่ยวการปฏิวัติ แต่สำหรับตัวอาตมาเองจะยึดแนวทางอหิงสา ซึ่งอหิงสาไม่มองอะไรแบบแบ่งแยกเป็นขาวเป็นดำ และไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่มองว่านี่เรานี่เขา แม้ว่าคนที่คิดต่างจากเรา เราก็ไม่เห็นว่าเขาคนละพวกกับเรา ขณะที่คนส่วนใหญ่มักมองว่ามีกูมีมึง มีเรามีเขา”
พระไพศาลมีทัศนะที่เชื่อมั่นในแนวทางอหิงสาว่า
“สาเหตุที่อาตมาเชื่อมั่น ก็แปลกนะ จำได้ดีเลยวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ทางการเขาจับต้อนนักศึกษาให้วิ่งขึ้นรถแถวบริเวณสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัย สองข้างทางมีประชาชนผู้รักชาติคอยเตะคอยถีบพวกเรา อาตมาเองก็โดนเตะไปสองสามที รู้สึกเจ็บและจุกเลยนะ แต่ช่วงขณะที่หันมามองหน้าคนที่ทำร้ายเรา กลับสงสารเขา ไม่นึกโกรธเขาเลย เราเห็นหน้าเขาก็เข้าใจว่าเหตุที่เขาทำร้ายเราก็เพราะความโกรธความเกลียดที่ปะทุขึ้นในใจ ในเวลานั้นเขาไม่มีเค้าของความเป็นมนุษย์เลย ทำให้รู้สึกสงสาร และให้อภัย ส่วนตัวอาตมาเองตอนนั้นได้รู้เลยว่าความโกรธความเกลียดนี่แหละคือศัตรูที่แท้จริงของคนเรา จึงคิดว่าเราควรต้องต่อสู้กับความโกรธความเกลียด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อาตมามั่นใจในอหิงสา เพราะแนวคิดอหิงสาไม่มุ่งทำร้ายคน มีแต่มุ่งต่อสู้กับความโกรธเกลียดในตนเองและในคนอื่นด้วย โดยเฉพาะถ้าไม่ใช่เราที่มีความโกรธเกลียด เราก็ไม่ควรไปเพิ่มพูนความโกรธเกลียดให้แก่คนอื่นอีก ยิ่งถ้าเราไปตอบโต้หรือไปด่าว่า ความโกรธเกลียดนั้นก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น”
จากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ครั้งนั้น พระไพศาล วิสาโลในสถานะนักศึกษาผู้เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงได้ถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเรือนจำ ๓ วัน พ้นโทษออกมาทำงานอยู่กับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม
“...สมัยนั้นยังไม่มีคำเรียก ‘เอ็นจีโอ’ อาตมาสนใจทำงานนี้เพราะอยากช่วยรณรงค์ไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยุคนั้นคำว่าสิทธิมนุษยชนก็ยังเป็นคำใหม่ สมัยเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว เมืองไทยถูกเพ่งเล็งเรื่องปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนจากต่างชาติมาก อย่างการจับคนติดคุกนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายมาก การทำงานของอาตมาตอนนั้น ถือว่าเสี่ยงอยู่พอสมควร เพราะรัฐบาลถูกครอบงำด้วยเผด็จการทหาร แต่กลุ่มของเราประกาศตัวชัดว่าเราเป็นนักสิทธิมนุษยชน เป็นศาสนิกชน ยึดแนวทางสันติวิธีในการทำงาน อาตมายึดคติว่าพึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความชั่วด้วยความดี ชนะความตระหนี่ด้วยการให้ ชนะความเท็จด้วยความจริง เรียกว่ากลุ่มของเราถือหลักใช้ความดีเอาชนะความชั่ว และยังยึดถือหลักพุทธพจน์ที่ว่าบุคคลพึงควรสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และพร้อมที่จะสละทรัพย์ สละอวัยวะ สละชีวิต เพื่อรักษาธรรมะ ในการทำงานช่วงนั้น อาตมาคิดว่าตนเองพร้อมสละทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่อิสรภาพ ก็สามารถสละได้ แต่ขอยกเว้นไว้อย่างเดียว คือการสละชีวิต เพราะยังกลัวตายอยู่ แต่ไม่กลัวติดคุกนะ มันทำให้เราพร้อมทุ่มเทเพื่อการทำงาน เพราะฉะนั้น ด้วยความที่ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย อาตมาจึงจบช้ากว่าคนอื่น แต่ก็จบ”
อย่างไรก็ดี ท่านเปิดเผยความเห็นที่มีต่อคุณค่าวิชาประวัติศาสตร์ ชวนให้น่าขบคิด...
“ประวัติศาสตร์ทำให้เราเข้าใจความเป็นมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน ขณะเดียวกันทำให้เราเห็นถึงความผิดพลาดที่เกิด เพื่อเราจะได้ไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดนั้น ถ้าจดจำบทเรียนจากประวัติศาสตร์ ก็จะเป็นข้อเตือนใจไม่ให้ทำผิดซ้ำอีก ประวัติศาสตร์ทำให้เรามีต้นทุน และทำให้เรารู้ว่าเราควรแก้ปัญหาอย่างไรโดยอาศัยบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกจากนั้น ประวัติศาสตร์ยังเป็นประโยชน์ในแง่การดำเนินชีวิต เพราะว่าอาตมาชอบอ่านประวัติชีวิตบุคคล ก็เห็นตัวอย่างบุคคล สำเร็จหรือล้มเหลวได้อย่างไร น่าสังเกตว่าบุคคลที่ประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก แต่ชีวิตระทม เรียกว่าชีวิตประสบความสำเร็จ แต่ไม่มีความสุข ตรงนี้เป็นข้อเตือนใจให้ไม่หลงไปกับชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง เพราะลาภยศสรรเสริญนั้นไม่เที่ยง และบางทีก็ไม่คุ้มค่ากับความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามมา”
เมื่อเรียนถามถึงแบบอย่างบุคคลที่เลื่อมใสศรัทธา ก็ได้รับคำตอบว่า
“ท่านมหาตมะ คานธีเป็นต้นแบบทฤษฎีอหิงสา สันติวิธี อาตมาศึกษาประวัติชีวิตและการต่อสู้ของท่านคานธีจากหนังสือหลายๆเล่มมาก เพราะอยากเรียนรู้ชีวิตและมุมมองทางศาสนาและการต่อสู้ทางการเมืองจากแบบอย่างของท่านมหาตมะ คานธี”
ขณะที่ยังสนุกกับการทำงาน แต่เหตุไฉนจึงหยุดโคจรโลดแล่น ละทิ้งโลกฆราวาส เข้าสู่โลกแห่งธรรม พระไพศาลกล่าวด้วยสีหน้าและดวงตาแจ่มใส...
“ถือเป็นความบังเอิญนะ เพราะไม่ได้คิดว่าจะต้องบวชนาน แต่เนื่องจากเครียดจากการทำงานมา ๗ ปี ถึงจุดหนึ่งเริ่มเสียศูนย์ คนเราเวลาเครียด ย่อมนอนไม่หลับ บางครั้งหงุดหงิดใส่เพื่อนร่วมงาน เป็นเหตุให้ต้องวิวาทะกัน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องหาเรื่องออกนอกบ้าน จิตกระสับกระส่าย ถ้าเป็นวัยรุ่นสมัยนี้ อาจจะโทรศัพท์คุยกับเพื่อนทั้งวัน หรือเล่นอินเทอร์เนตตลอดวัน
โชคดีที่อาตมารู้ตัวเองดีว่ากำลังมีปัญหา ควรไปปฏิบัติธรรมดีกว่า และการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุด ก็คือการบวช จะได้ไม่พลุ่งพล่าน หนีไปไหนไม่ได้ด้วย จึงบอกโยมพ่อโยมแม่ว่าอยากบวชสัก ๓ เดือน โดยบวชที่วัดทองนพคุณ และไปปฏิบัติธรรมเข้าเรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภที่วัดสนามใน
ช่วง ๒ สัปดาห์แรกที่บวชเป็นพระ อาตมาก็ยังเครียด เพราะอยากปฏิบัติธรรมให้ใจนิ่งสงบโดยเร็ว ยิ่งกดข่มความคิด ยิ่งเครียดหนัก หมดหวัง ตอนนั้นคิดว่าการเจริญสติ เดินจงกรม รู้กายเคลื่อนไหวเพื่อให้จิตเรานิ่ง คงทำไม่ได้แล้ว อยากเลิกปฏิบัติธรรม หลวงพ่อเทียนท่านแนะนำว่าให้ทำเล่นๆแต่ทำจริง ทำทั้งวัน แรกๆก็ไม่เข้าใจ พออาตมาเลิกหวังกับการเจริญสติทำจิตให้นิ่งสงบ กลับทำได้ ทำให้เรียนรู้ว่ายิ่งเครียด ยิ่งไม่นิ่ง แต่พอปล่อยวาง เลิกหวัง จิตกลับมานิ่งได้ เกิดความปีติสุข เมื่อตอนก่อนบวช อาตมาได้ยินเสียงตนเองดังอยู่ในหัวตลอดเวลาจากการคิด แต่เดี๋ยวนี้เสียงเหล่านั้นเงียบหายไป เกิดเป็นความว่างโล่ง สงบจากเดิมมาก
หลวงพ่อเทียนท่านเน้นให้รู้ทันความคิด ให้มีสติ รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก ให้เห็นความคิด ให้เท่าทันความคิด เพราะมนุษย์เราทุกข์เพราะความคิด หลวงพ่อเทียนท่านสอนให้อาตมารู้จักมีสติกับการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ตรงกับที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวไว้ การทำงานคือการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น ถึงแม้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ก็ยังออกไปทำงานเพื่อสังคม โดยไม่ได้ขัดแย้งกับการปฏิบัติธรรม ควบคู่กับการศึกษาหลักธรรมะ เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ คือถ้าเราคิดแต่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงตนเอง ย่อมไม่เกิดผลดีทั้งต่อในงานและตัวเราเอง ยิ่งทำให้มีความทุกข์ แล้วก็ไประบายความทุกข์ใส่คนอื่น
เมื่อตั้งใจปฏิบัติธรรม อาตมารู้สึกว่าได้ผล เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจ จึงอยากศึกษาธรรมะให้เต็มที่ จาก ๓ เดือนแรก อาตมาขออยู่ในเพศบรรพชิตต่ออีก ๖ เดือน โยมพ่อโยมแม่ท่านดีใจ อนุโมทนาบุญด้วย และต่อมาอาตมาก็ขอจำพรรษาต่อไปเรื่อยๆโดยไม่สึก รวมเวลาบวชถึงปัจจุบันนับได้ ๒๗ ปีมาแล้ว”
กล่าวคือ การค้นพบสภาวะจิตใจอันเที่ยงแท้ในตนเองจึงทำให้ท่านอาจารย์พระไพศาล วิสาโลต้องการครองเพศสมณะของภิกษุต่อไปโดยไม่ลาสิกขา เนื่องเพราะ...
“การปฏิบัติธรรมทำให้เห็นถึงอานุภาพและพลังแห่งสติ เมื่อก่อนเราเป็นทาสความคิด แต่พอฝึกสติให้มีสติ เรากลับเป็นนายความคิด รู้ทันความคิด สามารถปล่อยวาง ละวางความคิดได้ หากคิดต่อไปก็รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร เรียกว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าประหลาดมาก คิดปุ๊บ รู้ตัวว่าคิด คิดแล้ววางความคิดลงได้ทันที แต่เมื่อก่อนไม่ใช่อย่างนี้ ทำไม่ได้ พอทำได้ รู้สึกเกิดปีติขึ้นมา อยากปฏิบัติธรรมต่อ และยังทำให้อาตมาเกิดความสมดุลภายในจิตใจ เกิดความสมดุลระหว่างงานส่วนตัวกับงานส่วนรวม เพราะไม่ปล่อยใจให้เครียด ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้ง ถึงเวลาต้องวางความคิดลง ก็ละวางได้
และยังประจักษ์ต่อความจริงในชีวิตว่า การบวช การปฏิบัติธรรม ทำให้อาตมารู้จักตนเองตั้งแต่เรื่องพื้นๆเช่น อุปนิสัยใจคอของตนเอง รวมถึงกิเลส ตัณหา การยึดถือตัวตนหรือที่เรียกกันว่าอีโก้ ได้เห็นว่าตัวอีโก้มันครอบงำเราอย่างไร มันพาเราเข้ารกเข้าพงอย่างไร มันเล่นงานเราอย่างไรบ้าง แต่ในที่สุดด้วยการเข้าถึงหลักแห่งธรรม ทำให้อาตมาเป็นมิตรกับตนเองได้มากขึ้น ไม่ขัดแย้งกับตนเอง ชีวิตไม่เสียศูนย์ ความสงบ โปร่ง เบาจึงตามมา
อาตมาก็เลยพบว่าการเป็นพระแล้วมีความสุข ง่ายกว่าการเป็นฆราวาสแล้วมีความสุข เพราะการอยู่ในเพศฆราวาส มักมีเรื่องเข้ามากระทบมาก ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง ดำเนินไปตามกระแส ขาดความสมดุล ยิ่งถ้ามีครอบครัวต้องดูแลด้วย ยิ่งลำบาก อาตมาเองได้เห็นชีวิตของโยมพ่อโยมแม่ รู้ว่าท่านทั้งสองมีทุกข์ในชีวิตคู่ไม่น้อย คือถ้าอาตมายังใช้ชีวิตอยู่ในโลกฆราวาส คงมีความทุกข์มากกว่านี้ ชีวิตก็อาจจะกลับสู่วงจรเสียศูนย์อีกครั้งหนึ่ง แต่การที่ได้มาบวช ใช้ชีวิตอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ทำให้เกิดความสมดุล และได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสอน ได้ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามากขึ้น รู้สึกมีความมั่นคงในวิถีทางแห่งธรรมมากขึ้น และพบว่าเราเลือกที่จะไม่ทุกข์ได้ แม้ถูกกระทำ ไม่ต้องถูกครอบงำด้วยสัมผัสสะภายนอก การบวชเป็นพระนี้ก็ทำให้อาตมาสามารถทำประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านไปได้พร้อมๆกันด้วย”
เมื่อครั้งก่อนบวชเป็นภิกษุสงฆ์ เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโตรูปนี้ เคยคิดว่าโลกของฆราวาสนั้นมีเสรีภาพมาก หากปัจจุบันท่านค้นพบแล้วว่าภิกขุนั้นมีเสรีภาพอันยิ่งใหญ่อยู่ภายในใจซึ่งยั่งยืนถาวรกว่าโลกแห่งเสรีภาพภายนอก
“อาตมาเชื่อนะว่าถึงจุดหนึ่งมนุษย์เราทุกคนต้องมุ่งไปสู่ความหลุดพ้น เพราะมนุษย์เรามีความสามารถที่จะเป็นอิสระ อิสรภาพจากความทุกข์ อิสรภาพจากโลกธรรม มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน แล้วถ้าเราพัฒนาความสามารถตรงนี้ เราก็จะสามารถบรรลุถึงเสรีภาพได้อย่างแท้จริง อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านคือต้นแบบในการบรรลุธรรมขั้นสูงสุด ไม่ใช่ว่าพระองค์เป็นเทวดา พระองค์ก็ถือกำเนิดในโลกมนุษย์ปุถุชน แต่พระพุทธเจ้าท่านใช้ศักยภาพทั้งหมดที่มี กระทั่งพัฒนาถึงที่สุด เหมือนกับต้นโพธิ์ที่สูงใหญ่ ก็มาจากเมล็ดเล็กๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นเมล็ดเล็กๆ เราอย่าไปดูถูก เพราะสักวันก็สามารถเจริญงอกงามจนเป็นต้นไม้ที่สูงใหญ่ได้ เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคนซึ่งมีเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิอยู่แล้ว ถ้าเราบ่มเพาะดูแลด้วยการทำความดี ด้วยการบำเพ็ญภาวนา เมล็ดพันธุ์แห่งโพธินี้ ก็จะเติบโตกลายเป็นต้นกล้า แทงยอดสูงใหญ่ วันหนึ่งก็จะเป็นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขา เป็นที่พึ่งให้แก่สัตว์เล็กสัตว์น้อย ให้ร่มเงาแก่ทุกชีวิตได้
...ถึงที่สุดแล้ว ความเป็นตัวของตัวเองจะมิใช่เรื่องสำคัญสำหรับเรา เราจะไม่สนใจว่าเอกลักษณ์ของเราคืออะไร เรามีแบบฉบับของตัวเองหรือไม่ คนภายนอกมีอิทธิพลต่อเรามากน้อยเพียงใด เพราะสิ่งที่มีความหมายกว่านั้นก็คือ การดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญาอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง และอำนวยประโยชน์แก่สรรพชีวิตให้มากที่สุด...”
พระไพศาล วิสาโล
จาก http://visalo.org/columnInterview/sakulthai2906.htm