ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
ระหว่างความดีกับความไม่ดี เราจะเลือกทำสิ่งใดจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้จริง ( เลือกตอบแค่ ความดี กับ ความไม่ดี ครับผม):
คนที่มีจิตใจอ่อนโยนส่วนใหญ่มัก คิดถึงสิ่งใดก่อนเสมอ  ( เลือกตอบแค่ ตัวเอง กับ คนอื่น ครับผม ):
กัน-ละ-ยา-นะ-มิด เขียนเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องว่าอย่างไรครับ:
คุณเชื่อในศรัทธาของความดีไหมครับ ( เลือกตอบแค่ เชื่อ กับ ไม่เชื่อ ครับผม):
คุณเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ใต้ร่มธรรม:
เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วยกมือขึ้น (สาธุ) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ  สาธุ:
ท่านจะปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อตกลงของเว็บใต้ร่มธรรมทุกประการหรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ใต้ร่มธรรมเองก็จะเป็นไปตามวัฐจักรนี้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น (เป็นจริง) หรือ (ไม่จริง):
ธรรมะคือ ธรรมชาติ พิมพ์คำว่า (ธรรมะชาติ) ครับ:
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 15, 2016, 11:39:26 pm »



วารสาร “ผู้ไถ่” ในมุมที่ พระไพศาล วิสาโล รู้จัก
และวิสัชนา ประเด็น สังคมบริโภคนิยม กับ โลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค


สัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล
โดยวารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๑๐๐ ม.ค. - เม.ย. ๒๕๕๙

ในโอกาสที่วารสาร “ผู้ไถ่” ดำเนินมากระทั่งถึงฉบับที่ ๑๐๐ ขึ้นปีที่ ๓๗ แล้วนั้น มีบุคคลท่านหนึ่งซึ่งถือเป็น “กัลยาณมิตร” ของ ยส. มายาวนานเท่าการก่อเกิดของวารสาร “ผู้ไถ่” ท่านผู้นี้รู้จัก ยส. มาตั้งแต่ท่านยังไม่เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ขณะนั้นท่านเป็นเพียงนายไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ คนหนุ่มไฟแรงเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี ผู้มีความหวังความฝันที่จะร่วมสร้างสังคมที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้น ท่านทำงานอยู่ในกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม หรือ กศส. ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยมีพระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ผู้ก่อตั้ง ยส. และผู้ให้กำเนิดวารสาร “ผู้ไถ่”, อาจารย์สุลักษณ์  ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม, บาทหลวงประสิทธิ์ สมานจิต รองประธาน ยส., อาจารย์โกศล ศรีสังข์ เลขาธิการสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย และอาจารย์โคทม อารียา ร่วมกันสถาปนาสันติธรรมให้บังเกิดขึ้นด้วยหลักอหิงสา ในห้วงเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองในยุคหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เป็นต้นมานั้น เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความรุนแรง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทำร้าย และลอบสังหารฝ่ายที่เห็นแย้งกับรัฐบาลและผู้มีอำนาจ  กศส.ขณะนั้น จึงทำงานรณรงค์เผยแพร่ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และดำเนินแนวทางสันติวิธี ด้วยเชื่อว่าความยุติธรรมและการปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยสันติวิธีเป็นหนทางเดียวที่จะนำความสมานฉันท์กลับคืนสู่บ้านเมือง 

บุคคลท่านนี้คือ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ และวัดป่ามหาวัน อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ พระนักคิดนักเขียน ผู้แสวงหาทางออกให้แก่สังคมและโลกด้วยแนวทางสันติวิธี กระทั่งได้ชื่อว่าเป็นพระนักสันติวิธี ท่านได้ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์หัวก้าวหน้าในจำนวนน้อยนิดที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ด้านพุทธธรรม มาอธิบายปรากฏการณ์ของชีวิตและสังคมในบริบทสังคมสมัยใหม่ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม เข้าใจได้ง่าย และมีทักษะในการอธิบายหลักธรรมที่ยากและลึกซึ้งให้เห็นเป็นเรื่องใกล้ตัว ทำให้คนทั่วไปเห็นความสำคัญของเรื่องธรรมะว่าเป็นเรื่องที่น่าใคร่ครวญศึกษาและปฏิบัติ

หลวงพี่ไพศาล เคยเขียนไว้ในหนังสือ ๒๐ ปี คณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งประเทศไทย (ยส.) ความว่า “สำหรับพวกเราที่อยู่ในกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ไม่ว่าจะเป็นกรรมการหรือผู้ปฏิบัติงาน ย่อมถือว่า คณะกรรมการยุติธรรมและสันติ (ยส.) เป็นยิ่งกว่ามิตรสหาย จะเรียกว่าญาติก็เห็นจะไม่ผิด เพราะใช่ว่า ยส. จะเป็นเพื่อนร่วมทางกับ กศส.มานานถึง ๒๐ ปี เพียงเท่านั้นก็หามิได้ ทั้งสององค์กรยังมีประธานคนเดียวกัน ซึ่งพวกเราเรียกได้อย่างสนิทใจว่า “คุณพ่อ” แม้ว่าสมณศักดิ์ของท่านจะเป็นถึงบิชอป หรือสังฆราช”

ผ่านกาลเวลามาถึงวันนี้  แม้ผู้เป็นดั่งเสาหลักของ ยส. และผู้เป็นกัลยาณมิตรของหลวงพี่ไพศาล คือ พระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ได้ละจากโลกนี้ไปพบพระผู้เป็นเจ้าแล้วก็ตาม แต่อุดมการณ์ความมุ่งหวังของท่านที่จะมีส่วนร่วมสร้างความยุติธรรมและสันติให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ยังเป็นภารกิจหลักที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ยส. และผู้จัดทำวารสาร “ผู้ไถ่” ในยุคปัจจุบันจะสานต่อภารกิจนี้สืบต่อไป

และในโอกาสนี้ “ผู้ไถ่” จึงขอนำความคิดเห็นจากหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ที่มีต่อวารสาร “ผู้ไถ่” ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พร้อมคำแนะนำต่อการทำงานของ ยส. และวารสาร “ผู้ไถ่” ซึ่งผู้จัดทำขอน้อมรับไว้ด้วยความยินดียิ่ง

“ผู้ไถ่” ที่หลวงพี่รู้จักตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

อาตมารู้จักมาเกือบ ๔๐ ปีแล้ว  คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๑ สมัยนั้นอาตมายังทำงานให้กับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ซึ่งประธานก็คือ พระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ท่านเป็นประธานของ ยส. ด้วยเพราะฉะนั้นกิจกรรมของ ยส.หลายอย่าง พวกเราที่กศส.จะทำร่วมกัน  จำได้ว่าอาตมาไปร่วมกิจกรรมของยส. ครั้งแรกที่บ้านเซเวียร์ ซึ่งตอนนั้นจัดงานวันสันติสากล เดือนมกราคม ประมาณ ปี ๒๕๒๑   เป็นเหตุให้ได้รู้จักกับ กรรมการ และเจ้าหน้าที่ ยส. หลายคน  รวมทั้งได้รู้จัก “ผู้ไถ่” ด้วย ตอนนั้นทาง กศส.ก็ทำหนังสือ “ศานติสังคม” ด้วย พูดถึงเนื้อหาแล้ว เราก็ไปในแนวเดียวกัน เพียงแต่ “ศานติสังคม” มีความเป็นพุทธมากหน่อย ส่วน“ผู้ไถ่” มีเนื้อหาที่เป็นคำสอนทางคริสตศาสนา   รวมทั้งมีการพูดถึงความยุติธรรมทางสังคม การพัฒนาสังคม ถือว่าเป็นวารสารที่ก้าวหน้าในแวดวงของคาทอลิก

พูดถึงวารสารในแวดวงทางคาทอลิกมีเยอะมาก  แต่ “ผู้ไถ่” ถือว่าก้าวหน้า สมัยนั้นประเด็นเรื่องความยุติธรรมทางสังคม สิทธิมนุษยชน ความยากจน เป็นประเด็นที่ตื่นตัวกันมากในหมู่คนที่สนใจการพัฒนาสังคม หรือในแวดวงคนหัวก้าวหน้า เพราะฉะนั้นเนื้อหาของ “ผู้ไถ่” ก็จะมีความเข้มข้น แต่ก็ไม่ถึงกับออกไปในทางซ้ายอย่างบางช่วงของ “สังคมพัฒนา” ซึ่งตอนนั้นบ.ก.มีแนวคิดในเชิงซ้ายหน่อย ๆ อย่างไรก็ตามอาตมาเห็นว่า การวิพากษ์สังคมโดยอาศัยมุมมองแบบสังคมนิยม จะมีความชัดเจนกว่าและลุ่มลึกกว่าถ้าเป็นเรื่องความยากจน ความอยุติธรรมในสังคม ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน

ประมาณช่วงปี ๒๕๓๐-๒๕๔๐ รู้สึกว่า “ผู้ไถ่” ค่อยๆ แผ่วลง หนังสือก็ทำเล่มเล็กลง ความคุ้นเคยของอาตมากับ ยส. ก็น้อยลงเพราะบวชพระตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ แต่ก็ยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกันอยู่ เช่น มาอภิปราย มาบรรยายในงานต่างๆ เป็นครั้งคราว  แต่หลังจากที่คุณพ่อวิชัย โภคทวี ท่านลาออก และพระสังฆราชบุญเลื่อนวายชนม์ อาตมาก็แทบไม่เกี่ยวข้องกับทาง ยส. เลย แต่ “ผู้ไถ่” ยังได้รับประจำ และเห็นว่าทำได้น่าอ่าน ตอนนี้รูปเล่มก็น่าอ่านกว่าเมื่อก่อน เนื้อหาสาระก็มีมากขึ้น  ต่างจากก่อนหน้านั้นเนื้อหาค่อนข้างเบา  เหมือนกับว่ากำลังคนไม่ค่อยมี ทุนรอนก็คงไม่ค่อยมีด้วย แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเนื้อหามีความหลากหลาย แล้วก็พยายามสื่อให้ถึงเยาวชน นักเรียน บุคลากรในโรงเรียน  จึงไม่หนักมาก แต่ก็ยังมีสาระเหมือนเดิม ยังจับประเด็นเรื่องความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน สันติภาพ และสิ่งแวดล้อม

ในหนังสือ ๒๐ ปี ยส. ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ หลวงพี่เคยกล่าวว่า “เรื่องอันตรายของอุดมการณ์ตลาดเสรีที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์หรือบริโภคนิยม ขอฝากภารกิจนี้ให้ ยส. ในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า” หลวงพี่ คิดว่า “ผู้ไถ่” ได้ดำเนินไปตามแนวทางนี้มากน้อยแค่ไหน

เท่าที่ดูอาตมาเห็นว่ายส.พยายามทำนะ แต่ว่าส่วนใหญ่จะไม่พูดโดยตรง แต่แทรกลงไปเวลาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม  อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ปัญหาพื้นฐานของโลกยุคนี้ก็คือ ผู้คนหลงใหลในบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยมมาก   ทำให้จริยธรรมขั้นพื้นฐานลดน้อยถอยลง เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันหมั่นเพียร หรือว่าความเสียสละ จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม สำนึกทางด้านมนุษยธรรม อาตมาคิดว่านี้เป็นประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งที่ต้องปลูกฝังกันใหม่ เพราะว่าถึงแม้ผู้คนจะเข้าใจเรื่องโลกาภิวัตน์ เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือสำนึกในทางจริยธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ควรมองข้าม ที่ผ่านมาสำนึกดังกล่าวลดน้อยถอยลงไปเยอะในหมู่ผู้คน  อาตมาคิดว่านี่เป็นประเด็นเร่งด่วนสำหรับคนในวงการคาทอลิกซึ่งมีโรงเรียนต่างๆ มีนักบวชมากมาย ควรจะเร่งทำในเรื่องนี้
 

ปุจฉา - วิสัชนา

และในวาระพิเศษเช่นนี้ซึ่งหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ได้กรุณาสละเวลาให้ทีมงาน “ผู้ไถ่” ได้มีโอกาสสนทนาธรรมในประเด็นที่เข้ากับยุคสมัยนี้อย่างปรากฏการณ์ของสื่อใหม่ หรือโซเชียลมีเดียที่เข้ามาแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ที่กำลังล้มหายตายจากกันไปทีละฉบับ และโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่าง    เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ซึ่งกลายเป็นพื้นที่หลักของผู้คนในสังคมไทยและสังคมโลกไปแล้ว แต่ละคำตอบที่เป็นดั่งการเทศน์สอนนี้ เชื่อได้ว่าจะช่วยให้ผู้อ่านเกิดปัญญา ได้ประโยชน์จาก ปุจฉา – วิสัชนา ที่ “ผู้ไถ่” ได้นำมาไว้ ณ ที่นี้

ประเด็นสื่อใหม่และบทบาทของสื่อในยุคปัจจุบัน

การที่สื่อใหม่อย่างโซเชียลมีเดียที่มาแรง ส่งผลให้นิตยสารทยอยปิดตัว บ้างก็ต้องปรับตัวไปเป็นสื่อในโลกโซเชียลเพื่อความอยู่รอดกันไปหมด  ดังมีข่าวรายงานว่า ปีที่ผ่านมา (๒๕๕๘) อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เข้าขั้นวิกฤติ พฤติกรรมผู้อ่านเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี เลิกอ่านข้อมูลบนหน้ากระดาษ เปลี่ยนมาสไลด์จอ ดูสิ่งที่สนใจผ่านโลกออนไลน์ งานสัปดาห์หนังสือคนหด สำนักพิมพ์สะเทือน คนมาเดินงานลดลง  ยอดขายลดลง ๒๕% หลวงพี่มองอย่างไร


มองได้สองแง่คือ หนึ่ง คนมีเวลาอ่านหนังสือน้อยลง เพราะหมดเวลาไปกับสมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย เกมออนไลน์  หรือ สอง  คนไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลง เพียงแต่เขาเปลี่ยนช่องทางในการอ่าน จากหนังสือกระดาษ เป็น E-book ซึ่งสะดวกกว่า อาตมาคิดว่าทั้งสองเป็นเหตุผลสำคัญ  คือ คนอ่านหนังสือที่เป็นอีบุ๊กมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็แทบจะไม่อ่านหนังสือเลย ไม่ว่าจะเป็น E-book หรือ hard copy เพราะไม่มีเวลา  เนื่องจากหมกมุ่นอยู่กับโซเชียลมีเดีย และเกมออนไลน์  ซึ่งเป็นอินเตอร์แอคทีฟ เสพติดได้ง่ายกว่า

เท่าที่มองการทำหน้าที่ของสื่อปัจจุบันเห็นเป็นอย่างไรบ้าง

เดี๋ยวนี้สื่อโอนอ่อนตามกระแสมากเพราะต้องการเอาตัวรอด เนื่องจากสื่อต้องใช้เงินมาก และเดี๋ยวนี้คนทำสื่อก็อยากรวยกันแทบทั้งนั้น สื่อจึงกลายเป็นธุรกิจมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องตามกระแส สนองความต้องการของผู้คน ทั้งผู้อ่านและเอเยนซี่โฆษณา  ถ้าเรตติ้งสูง เงินค่าโฆษณาก็จะไหลมา  ดังนั้นจึงต้องทำเนื้อหาและรูปแบบให้สอดคล้องกับกระแส  ในเมื่อตอนนี้กระแสบริโภคนิยมมาแรงมาก สื่อก็ต้องสนองกระแสบริโภคนิยมเป็นธรรมดา จึงมีความหวือหวาและฉาบฉวยมากขึ้น

บทบาทของสื่อในยุคนี้ควรไปในทิศทางไหน

จะต้องรักษาคุณภาพไว้ ไม่เร่งรีบผลิต สมัยนี้สื่อทั้งหลายแข่งกันมากในเรื่องการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ว่าใครจะเสนอก่อน  ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย  อาตมาจึงมีความเห็นว่า ประการแรก จะเร่งรีบแข่งกับเวลาอย่างไรก็ต้องรักษาคุณภาพเอาไว้ สอง การวิเคราะห์เจาะลึกยังจำเป็น เพราะว่าถึงแม้จะมีคนส่วนน้อยที่อ่านงานประเภทนี้ แต่มันเป็นสิ่งจำเป็น  คนเดี๋ยวนี้สนใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ แค่ who ใคร what ทำอะไร where ที่ไหน when เมื่อไหร่ แค่นั้น  หรืออย่างมากก็สนใจว่า how อย่างไร แต่แค่นั้นไม่พอ  ต้องถามว่า  why หรือ ทำไมด้วย  เหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะอะไร  แล้วก็ต้องไม่ตามกระแสมาก ต้องคอยเตือนกระแสบ้าง แต่นี่เป็นโจทย์ที่ยาก เนื้อหาดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำให้น่าอ่าน น่าสนใจด้วย ตรงนี้ยาก แต่ไม่เหลือวิสัยของคนทำสื่อ 

มันเป็นเรื่องท้าทายมากหากมีสื่อดีๆ ที่สามารถดึงคนให้มาติดตามอ่านได้ และประเทืองปัญญาของเขาในเวลาเดียวกัน  เพียงแต่ว่าสื่อต้องเปลี่ยนรูปแบบ และต้องชัดเจนว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร ทำให้ใครอ่าน ถ้ากลุ่มเป้าหมายไม่ชัดก็จะพลาด เช่น กลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นไหน รุ่นอายุ ๔๐-๕๐ ปี หรือว่าคนรุ่น ๒๐-๓๐ ปี รุ่น Gen X Y หรือ Z ต้องให้ชัด รู้ว่าอะไรเป็นหลัก อะไรเป็นรอง

พื้นที่สำหรับปัญหาความอยุติธรรมในสังคม เรื่องสิทธิมนุษยชน ดูว่าตรงนี้คนไม่ค่อยให้ความสำคัญ

ประเด็นเหล่านี้ยังจำเป็นต้องทำ แต่ต้องทำให้น่าอ่าน มีมิติด้านชีวิตมากขึ้น ให้มีเรื่องเล่า หรือ story อย่ามีแต่ข้อมูล สถิติ ตัวเลข เท่านั้น ประเด็นเรื่องความอยุติธรรม ถ้าสื่อผ่านเรื่องราวหรือชีวิตของตัวบุคคลจะน่าสนใจ จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกเห็นใจ กระตุ้นมโนธรรมของผู้คนได้

ปุจฉา - วิสัชนา ประเด็น ปัญหาทุนนิยม บริโภคนิยม กับ โลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค

“กิน กาม เกียรติ ปัญหาของทุนนิยม บริโภคนิยม”
“สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นภาพสะท้อนสังคมบริโภคนิยม
 เป็นตัวหล่อหลอม และตัวกำหนดสังคม กระตุ้น โกรธ เกลียด กลัว ให้เพิ่มมากขึ้น”


ตั้งแต่ปี ๓๓ ที่หลวงพี่เขียนถึงเรื่องโลกาภิวัตน์ บริโภคนิยมที่เข้ามา เห็นว่าหลวงพี่ให้ความสนใจปัญหานี้มาตลอด มาถึงปัจจุบันดูเหมือนปัญหาจะรุนแรงหนักขึ้น พระสันตะปาปาเองก็ทรงกล่าวถึงเรื่องวัฒนธรรมทิ้งขว้างด้วย ทำให้สงสัยว่าทุนนิยมบริโภคนิยมมันจะมีจุดสิ้นสุด หรือไปทางไหน

เมื่อสัก ๗๐-๘๐ ปีก่อน ทุนนิยมไม่ใช่เป็นอุดมการณ์เดียวและอุดมการณ์หลักของโลก มันมีอุดมการณ์อื่นที่เข้ามาเป็นคู่แข่งขัน เช่น ฟาสซิสต์ และสังคมนิยม ซึ่งเน้นการผูกขาดโดยรัฐ หรือการวางแผนเศรษฐกิจโดยรัฐ สองอุดมการณ์นี้สมัยหนึ่งเคยได้รับความนิยมมาก จนดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่น่าสนใจกว่าทุนนิยม เห็นได้ชัดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างทุนนิยม ฟาสซิสต์ และสังคมนิยมหรีอคอมมิวนิสต์ แต่จบลงด้วยชัยชนะของทุนนิยม แต่ก็ยังมีคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมเป็นคู่แข่งขันสำคัญ ซึ่งตั้งมั่นในรัสเซียและจีน แต่ปัจจุบันรัสเซียก็ไม่ได้เป็นสังคมนิยมแล้ว จีนก็เป็นสังคมนิยมแต่รูปแบบ เป็นทุนนิยมเสียเยอะแล้ว

การที่ทุนนิยมสามารถอยู่รอดและมีชัยชนะเหนืออุดมการณ์อื่นได้ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการพยายามที่จะรับเอา หยิบยืมเอาแนวคิดบางอย่างจากสังคมนิยมไปใช้ เช่น การมีสวัสดิการสังคม หลักประกันสุขภาพ   บางแห่งก็มีการปฏิรูปที่ดิน  การปรับเปลี่ยนดังกล่าวทำให้ทุนนิยมได้รับความนิยมและอยู่รอดได้  อันนี้เป็นลักษณะเด่นของทุนนิยม

แต่ว่าตอนนี้ปัญหาสำคัญของทุนนิยม ก็คือ การบริโภคทรัพยากรแบบล้างผลาญ และกำลังพามนุษยชาติไปถึงจุดตีบตัน ถึงแม้เรามีความเชื่อว่า นวัตกรรมของทุนนิยมสามารถลดการใช้พลังงานและทรัพยากรได้  สมัยก่อนรถยนต์กินน้ำมันมาก ตอนหลังเป็นเพราะทุนนิยมจึงเกิดเครื่องยนต์ที่ประหยัดน้ำมัน สมัยก่อนเคยมีการพนันกันในหมู่นักวิชาการระดับโลกว่า แร่ธาตุและวัตถุดิบต่างๆ ในโลกจะแพงขึ้นเพราะว่ามันเหลือน้อยลง แต่ปรากฏว่าไม่เป็นจริง  เพราะว่าทุนนิยมสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่ได้ผลผลิตเท่าเดิม เช่น น้ำมัน หรือมีวัสดุอย่างอื่นมาทดแทนแร่ธาตุที่กำลังเหลือน้อยลง ทำให้ราคาของมันไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก อย่างไรก็ตาม อาตมาคิดว่า ถึงที่สุดแล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมจะรุนแรงขึ้น ไม่ใช่เพราะว่าทรัพยากรมีน้อยลง  ทรัพยากรมีน้อยลง อันนี้แน่นอน โดยเฉพาะที่มาจากธรรมชาติ เช่น น้ำมัน หรือสัตว์น้ำ  แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือเรื่องของโลกร้อน ตอนนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างแท้จริง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ไม่ใช่คำตอบเพราะมันทำให้เกิดมลภาวะโดยเฉพาะกัมมันตรังสีซึ่งอันตรายมาก

เพราะฉะนั้นอาตมาคิดว่าทุนนิยมกำลังจะพาโลกไปถึงจุดตันในเรื่องสิ่งแวดล้อม ตอนนี้สถานการณ์ชัดเจนขึ้น  อากาศร้อนขึ้น น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายเร็วมาก  ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น  ใน ๔๐ –๕๐ ปีวิกฤตจะชัดเจนและรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน   อาตมาเชื่อว่ามนุษย์ทั้งโลกต้องมีการปรับตัวมากขึ้น จึงจะอยู่รอดได้ แต่ว่าจะปรับอย่างไรในรูปไหนก็ไม่ทราบ

ขณะเดียวกัน ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนก็ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในอเมริกาชัดเจนมาก ในหลายทวีปทั่วโลก ช่องว่างระหว่างคนจนที่ประเทศต่าง ๆ เคยคิดว่าแก้ปัญหาได้ หรือทำให้ลดน้อยถอยลง ตอนนี้ก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้คนไม่พอใจกับทุนนิยมแบบเสรี  เกิดขบวนการ occupy wall street ในอเมริกา กลุ่มประท้วงทำนองนี้มากมายในหลายประเทศ อาตมาก็ไม่รู้ว่าทางออกจะเป็นอย่างไร มีความพยายามที่จะหาทางออก เสนอแนวทางต่างๆ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าไร



หลวงพี่เคยเขียนบทความ “ศาสนากับการพัฒนาสังคมในโลกยุคใหม่” ใน “ผู้ไถ่”  ฉบับปี ๒๕๔๔  ว่า

“ความทุกข์พื้นฐานของผู้คนก็คือความรู้สึกพร่อง การเปรียบเทียบกับผู้อื่น โดยเฉพาะการนำเสนอของสื่อซึ่งไร้พรมแดน ทำให้ผู้คนรู้สึกด้อยเสมอเมื่อพบว่าตนยังมีน้อยกว่าคนอื่น ขี้เหร่กว่าคนอื่น ไม่ดูดีเหมือนคนอื่น สื่อที่ถูกครอบงำโดยบริโภคนิยมในด้านหนึ่งทำให้ผู้คนเกิดความต้องการที่เลอเลิศสูงส่งราวกับฝันกลางวัน แต่อีกด้านก็ทำให้ผู้คนไม่พอใจกับสภาพปัจจุบันของตน....” มาถึงยุคปัจจุบัน เรื่องของสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คที่กลายเป็นพื้นที่หลักของสังคมยุคนี้ หลวงพี่มองปรากฏการณ์ในสังคมยุคนี้อย่างไร

แต่ก่อนสื่อกระแสหลัก เช่น โทรทัศน์ มักกระตุ้นเร้ากิเลสและทำให้คนรู้สึกพร่องอยู่แล้ว แต่ว่าตอนนี้มันไม่มีพลังเท่ากับโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น และทำให้ผู้คนรู้สึกด้อยมากขึ้น รู้สึกว่าตัวเองพร่องมากขึ้น พอเห็นภาพโปรไฟล์ของคนนั้นคนนี้ว่าเขาหน้าตาดี เป็นคนที่ไม่ได้ไกลจากเรา ไม่ใช่ดาราด้วยซ้ำ แต่เขาหน้าตาดีกว่าเรา มีความสุขกว่าเรา  พอคิดแบบนี้ผู้คนก็จะรู้สึกพร่องขึ้นมา รู้สึกว่าเราขี้เหร่ สู้เขาไม่ได้ ตรงนี้ยิ่งทำให้ผู้คนรู้สึกเป็นทุกข์มากขึ้น

อาตมาคิดว่าทุกวันนี้เฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียทำให้คนเป็นทุกข์มากกว่ามีความสุข จริงอยู่มันสามารถขยายกรอบความรู้ของเราให้กว้างขวางมากขึ้น แต่ถ้าพูดถึงในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกแล้ว คนจะเป็นทุกข์มากกว่า ไม่ใช่เพราะถูกกระตุ้นให้เกิดความโลภมากขึ้น เกิดความรู้สึกพร่องมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีความโกรธ ความเกลียด ความกลัว มากขึ้นด้วย ตรงนี้นอกจาก กิน กาม เกียรติ ซึ่งเป็นปัญหาของทุนนิยมบริโภคนิยมแล้ว โกรธ เกลียด กลัว ก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยมีจุดกระตุ้นก็คือ ความแตกต่างทางด้านความคิด หรืออุดมการณ์ เช่น สีเหลือง สีแดง ความแตกต่างทางศาสนา เช่น พุทธ คริสต์ มุสลิม ความแตกต่างทางเศรษฐกิจ เช่น  คนรวยกับคนจน ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียกระตุ้นกระพือความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ให้มากขึ้น ทำให้คนไม่มีความสุข แต่ก็รู้สึกว่าขาดมันไม่ได้  ถ้าไม่ได้ดูเฟซบุ๊กแล้วจะรู้สึกขาดอะไรไปบางอย่าง แต่พอดูแล้วก็รู้สึกพร่อง

ตัวเฟซบุ๊กเองสักวันหนึ่งคงถึงจุดสิ้นสุด ไม่ได้รับความนิยม แต่ก็จะมีอย่างอื่นมาแทน มีอานุภาพในการทำให้คนหลงและติดได้มากขึ้น

ความรวดเร็วของการบริโภคข่าวสาร มาไวไปไว ข้อมูลที่ท่วมท้น คนไม่ทนอ่านอะไรยาวๆ  สะท้อนถึงผู้คน สังคม และยุคสมัยนี้อย่างไร

มันทั้งสะท้อนและหล่อหลอม ในแง่หนึ่งมันสะท้อนถึงชีวิตที่เร่งรีบ เต็มไปด้วยข้อมูลที่ท่วมท้น และสะท้อนถึงความฉาบฉวย ผู้คนไม่มีเวลาจะครุ่นคิดอะไรจริงจัง สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมมุ่งเสพมากกว่ามุ่งทำ เสพข้อมูล คือ เสพไม่หยุด  แต่ไม่ค่อยได้ครุ่นคิดหรือวิเคราะห์  โต้ตอบไปตามความรู้สึก เหมือนกับการกินอาหาร คนสมัยนี้กินเอา ๆ ๆ กินไม่หยุด แต่ไม่มีเวลาย่อย   ผู้คนเสพข้อมูลข่าวสารเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็น สนองกิเลสตัณหา แต่ว่าไม่มีเวลาใคร่ครวญข้อมูลที่ได้เสพ เพราะฉะนั้นมันจึงสามารถเป็นพิษกับจิตใจได้ เหมือนอาหารที่เรากินเอา ๆ เพื่อสนองความอยาก โดยไม่ได้ใคร่ครวญถึงประโยชน์หรือโทษของมัน แถมไม่มีเวลาย่อยอีก ก็จะเกิดโทษต่อร่างกาย

นอกจากสะท้อนภาพของผู้คนเวลานี้แล้ว  มันยังเป็นตัวหล่อหลอมผู้คนและสังคมด้วย เช่นทำให้คนมีสมาธิในการอ่านน้อยลง มีการค้นพบว่า คนที่ใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น รวมทั้งเสพข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ทางเว็บไซต์ ทางบล็อกต่างๆ  จะมีสมาธิกับการอ่านหนังสือน้อยลง  ส่วนใหญ่จะทนอ่านหนังสือเล่มหนา ๆ ไม่ได้  เดี๋ยวนี้หลายคนพบว่าตอนที่ตัวเองอายุ ๒๐-๓๐ ปี อ่านนิยายเล่มหนาๆ ได้สบาย แต่ตอนนี้พออายุ ๔๐-๕๐  หลังจากที่คลุกคลีกับโซเชียลมีเดีย ท่องเน็ตนานหลายปี  เขาไม่ค่อยมีสมาธิอ่านหนังสือยาวๆ   อันนี้เป็นเพราะอะไร  มีการค้นพบว่าการเสพข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ บล็อก และโซเชียลมีเดีย มีผลต่อสมองของคนเรา ซึ่งก็ส่งผลต่อวิธีคิด ทัศนคติ รสนิยมด้วย ในแง่นี้มันไม่ใช่แค่ภาพสะท้อน แต่เป็นตัวหล่อหลอม เป็นตัวกำหนดสังคมด้วย

เหมือนเป็นสิ่งเสพติดชนิดใหม่ไหมคะ

ใช่ มันสนองความอยากรู้อยากเห็นของคน เมื่อกี้ได้พูดไปแล้วว่ามันกระตุ้น กิน กาม เกียรติ ซึ่งทำให้เกิดตัณหา อยากได้อยากมี ขณะเดียวกันระยะหลังก็กระตุ้นโกรธ เกลียด กลัว แม้จะเป็นความรู้สึกตรงข้ามกับกิน กาม เกียรติ คือ เป็นความรู้สึกผลักไส ไม่ใช่อยากเข้าหา แต่ว่ายิ่งคนเราโกรธอะไร เราก็ยิ่งจดจ่อกับสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัวมากขึ้นจากโซเชียลมีเดีย ก็ยิ่งทำให้อยากดู อยากรู้มากขึ้น ทั้งที่เสพแล้วก็ทุกข์ กลัวมากขึ้น เกลียดมากขึ้น โกรธมากขึ้น แต่ก็เลิกไม่ได้ ยังอยากดู อยากติดตาม เหมือนคนที่กลัวผีแต่ก็อยากจะดูหนังผี เวลาผีปรากฏตัวก็เอามือปิดตาแต่ก็ไม่วายถ่างนิ้วออกเพื่อแอบดูผี

เสน่ห์อีกอย่างของโซเชียลมีเดียที่ทำให้คนติดง่ายคือ  หนึ่ง มันตอบสนองความต้องการเพื่อน ความต้องการเชื่อมโยงกับผู้คน  คนในสังคมเมืองส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมัน จึงรู้สึกโดดเดี่ยว แต่มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ลึกๆ เราทุกคนล้วนโหยหาการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คน แต่เราก็ไม่อยากติดต่อสัมพันธ์กันแบบใกล้ชิด เพราะว่าหวงแหนความเป็นส่วนตัว หรืออยากคงความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้ หรืออาจเพราะไม่มีเวลา  โซเชียลมีเดียตอบสนองตรงนี้ได้มาก คือทำให้เรามีโอกาสติดต่อเชื่อมโยงกับผู้อื่น ทำให้เราไม่เหงา ไม่ว้าเหว่ คนสมัยนี้เหงาว้าเหว่มากนะ ถึงต้องมีตุ๊กตาลูกเทพ แต่คนบางคนก็ไม่ใช้ตุ๊กตาลูกเทพ แต่ใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องบรรเทาความเหงา ความโดดเดี่ยว

สอง โซเชียลมีเดียตอบสนองความอยากแสดงตัวตน เซลฟี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน มันสนองความอยากแสดงตัวตน อยากมีภาพลักษณ์ที่สวยงาม  อยากบอกให้คนทั้งโลกรู้ว่าฉันมีความสุขมาก ๆๆ  เวลาไปเที่ยวไหนก็อยากประกาศให้โลกรู้  นี้คือความต้องการของผู้คนในยุคนี้ มันสะท้อนถึงความมีตัวตนหรืออีโก้สูง ถ้าไม่ได้อวดไม่ได้โชว์ก็ไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นถ้าวันไหนไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กก็จะรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง

มีตัวอย่างเพื่อนฝูงที่รู้สึกชีวิตไปจมอยู่ในโลกโซเชียลและอยากถอนตัวออกมา ลองได้ ๑ เดือนก็ต้องกลับเข้าไปใหม่ ทำให้รู้สึกว่าสื่อแบบนี้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดมาก

เดือนเดียวยังดี บางคนทำได้แค่วันเดียวเอง สมัยนี้คนส่วนใหญ่เป็นแบบนี้  ดีชั่วรู้หมดแต่อดใจไม่ได้ คือสมองรู้ว่าอะไรดีไม่ดี แต่ใจมันอดไม่ได้ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องโซเชียลมีเดียเท่านั้น เรื่องกินก็ด้วย หลายคนรู้ว่ากินไอศกรีมช็อกโกแลตมาก ๆ ไม่ดี เพราะน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากแล้ว ผอมก็อยากผอม แต่ก็ยังอยากกินขนมเหล่านี้ รู้ว่าไม่ดี แต่ก็อดไม่ได้

คนปัจจุบันไม่ค่อยมีการฝึกจิตให้รู้จักคอยหรือหักห้ามใจ เราถูกฝึกให้คิดเก่ง แต่จิตใจอ่อนแอ เห็นใครมีก็อยากมีบ้าง  เขาใช้เฟซบุ๊ก ก็อยากใช้บ้าง  คนที่พยายามเลิกเฟซบุ๊ก ถ้าไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ไม่เล่นเฟซบุ๊ก เขาอาจไม่รู้สึกกระวนกระวายเท่าไร เช่น ไปอยู่วัด ไม่มีใครเล่นเฟซบุ๊ก เขาก็ไม่กระวนกระวายเท่าไหร่ เพราะไม่มีการพูดถึง แต่ถ้าอยู่ท่ามกลางคนที่ใช้เฟซบุ๊กกันทั้งนั้น เขาจะหักห้ามใจได้หรือ เหมือนคนที่พยายามเลิกบุหรี่ ถ้าอยู่ท่ามกลางคนสูบบุหรี่ จะอดได้กี่วัน

ทิศทางของสังคมที่ไปในทางนั้น แล้วเราศาสนิกที่จะควบคุมตัวเอง ไม่ไหลไปตามกระแสแบบนี้ได้อย่างไรบ้าง

ต้องมีสติ คือเมื่อไหลไปตามกระแสก็ต้องถามว่ารู้ตัวไหม ส่วนใหญ่ไหลเพราะไม่รู้ตัว แต่ถ้าเรามีสติเมื่อไร เราจะไม่ไหลไปตามกระแสง่ายๆ สติทำให้มีปัญญา ทำให้ใคร่ครวญว่าถูกหรือผิด ดีมีประโยชน์ หรือว่ามีโทษ ถ้าเรามีสติ เราก็จะใคร่ครวญว่าไหลไปตามกระแสอย่างนี้มันดีไหม คนที่มีสติก็จะเห็นว่าถ้าไหลไปตามกระแสแบบนี้มันน่าสงสารนะ แต่พอไม่มีสติ ก็ปล่อยตัวปล่อยใจไหลไปตามกระแสเหมือนกับสวะ ทำให้ไม่รู้ว่าเป็นโทษอย่างไรบ้าง สติจึงสำคัญมากในเวลานี้ สติทำให้รู้จักเลือกเฟ้นและใคร่ครวญ ไม่หลงเชื่อง่ายๆ

เดี๋ยวนี้ผู้คนเชื่อง่ายเพราะว่าไม่มีสติ อะไรที่ถูกใจก็กดไลค์ อะไรไม่ถูกใจก็ด่า โดยที่ไม่ได้ใคร่ครวญว่า  ที่เขาเขียนนั้นมันจริงหรือเปล่า และที่เรา comment หรือแสดงความคิดเห็นลงไป ถูกไหม สมควรไหม สาเหตุที่ผู้คนไม่มีสติส่วนหนึ่งเพราะวิถีชีวิตปัจจุบันเร่งรีบมาก ทำให้คนมีสติน้อยลง  นอกจากเร่งรีบแล้ว ยังมีเรื่องให้ทำเยอะจนไม่มีเวลาจะคิด

เด็ก เยาวชน แม้กระทั่งเด็กตัวเล็กๆ พ่อแม่เล่นมือถือ และให้แท็บเล็ตกับลูก ก็ถือว่ามีเวลาให้ครอบครัวแล้ว ตรงนี้หลวงพี่เป็นห่วงเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นอย่างไร

ความรักแสดงออกด้วยการให้เวลา มีบางคนบอกว่า “ความรักสะกดว่า เ-ว-ล-า” ความรักต้องมาพร้อมกับการให้เวลา ถ้าให้อย่างอื่นก็ไม่ใช่ความรักที่แท้ ถ้าเรารักลูก เราต้องมีเวลาอยู่กับลูก มีความสุขที่จะอยู่กับลูก และต้องไม่ลืมว่าลูกจะอยู่กับพ่อแม่เพียงแค่ ๑๓-๑๔ ปี และหลังจากนั้นเขาก็จะไปอยู่กับคนอื่น อยู่กับเพื่อนฝูง ถ้าพ่อแม่ไม่อยู่กับลูกตอนนี้ ลูกก็จะทิ้งพ่อแม่ไปในที่สุด

พ่อแม่ควรเป็นกัลยาณมิตรของลูก แต่ทุกวันนี้พ่อแม่ปล่อยให้โทรศัพท์ โทรทัศน์ วีดีโอ คอมพิว เตอร์ เป็นเพื่อนของลูกไปเสียแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้พ่อแม่ของลูกที่แท้จริงไม่ใช่คน แต่เป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แต่ก่อนก็โทรทัศน์ ถามว่าพวกนี้เป็นมิตรที่ดีกับลูกของเราหรือเปล่า มันมีแต่ปลุกเร้า กระตุ้น กิน กาม เกียรติ และโกรธ เกลียด กลัว ใช่ไหม ถ้าพ่อแม่ไม่ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรของลูก ลูกเราก็จะตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ และต่อไปจะไม่ใช่โทรทัศน์ที่พาลูกเสีย ต่อไปจะมีบางคนคอยฉกฉวยประโยชน์จากเด็ก เช่น  พวกมิจฉาชีพ มาชักจูงลูกของเราให้เสียผู้เสียคนผ่านโซเชียลมีเดีย เด็กจำนวนมากเสียคนหรือเสียตัว ก็เพราะว่าพ่อแม่ปล่อยให้คนแปลกหน้ามาล่อลวงลูกผ่านโซเชียลมีเดีย นี่จะเป็นความเสียหายที่กู้กลับคืนมาไม่ได้

ปุจฉา - วิสัชนา ประเด็นความหวังต่อโลกที่ดีขึ้น

“ต้องมีศรัทธาในความดี ศรัทธาในตัวมนุษย์  มีธรรมะ เพื่อนำพาโลกสู่ความสงบสันติ”

มองโลกยุคต่อไปยังมีความหวังไหมคะ

อาตมามีความหวังเสมอ จะว่าไปแล้ว โลกมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ นะ ในหลายส่วน  มีนักเขียนคนหนึ่งชื่อ สตีเฟน พิงเกอร์ เขาเขียนหนังสือเล่มหนาเลยชื่อว่า The Better Angels of Our Nature  เขาชี้ว่าทุกวันนี้โลกดีขึ้น เช่น  ความรุนแรงลดน้อยลง  คนมีความสุขขึ้น สุขภาพดีขึ้น สิทธิได้รับการคุ้มครองมากขึ้น  เขามีข้อมูลมากมายมายืนยันข้อสรุปดังกล่าว  คนส่วนใหญ่คิดว่าทุกวันนี้โลกแย่ลง  แต่ถ้าเทียบกับอดีตแล้ว  โลกทุกวันนี้ดีกว่าเมื่อก่อนมาก เช่น คนตายเพราะการฆ่ากันน้อยกว่าคนตายเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่แน่นอนแต่ถ้าเราไปเฉพาะเจาะจงที่ซีเรียหรืออัฟกานิสถาน หรือเมืองไทย มันแย่ลง  แต่ในหลายๆ แง่มันดีขึ้น

ศาสนิกเองควรจะมีภูมิต้านทานหรือมีความหวังต่อโลกที่ดูไม่ค่อยน่าอยู่อย่างไรบ้าง

เราต้องมีศรัทธาในความดี ถ้าเป็นชาวคริสต์ก็ต้องศรัทธาในพระเจ้า ถ้าเป็นชาวพุทธก็ศรัทธาต้องในพระธรรม  ที่สำคัญอีกอย่างคือ เราต้องมีศรัทธาในตัวเองที่จะพัฒนาตน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ถ้ามีศรัทธาในพระเจ้า หรือศรัทธาในพระธรรม เราก็จะมีกำลังใจในการทำให้โลกนี้ดีขึ้น  อันที่จริงถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว โลกก็ดีขึ้นในหลายๆ เรื่อง อย่างน้อยก็ดีขึ้นกว่าร้อยปีที่แล้ว  ตอนที่เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง  โลกเลวร้ายมาก  เหมีอนกับนรกแตก  แต่ว่าทุกวันนี้มนุษยชาติก็หลุดจากภาวะนั้นมาได้ไกลแล้ว แม้จะยังมีสงครามมากมาย แต่เราก็ไม่มีสงครามโลกมากว่า ๗๐ ปีแล้ว

ศรัทธาอีกอย่างที่เราควรมี คีอศรัทธาในมนุษย์ด้วยกัน เพราะมนุษย์นั้นสามารถรู้ผิดรู้ชอบ และสามารถพัฒนาตนได้ และทำโลกให้ดีขึ้นได้


อ้างอิงจาก  http://irrigation.rid.go.th/
 หนังสือที่จัดทำขึ้นพิเศษ ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ เนื่องในโอกาสฉลอง ๒๐ ปี การก่อตั้ง ยส.

วารสาร “สังคมพัฒนา” สื่อเผยแพร่ของ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนา (คพน.) หรือ สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา (สคทพ.) ในอดีต

คุณพ่อวิชัย  โภคทวี ประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)  ช่วง ปี ๒๕๔๑-๒๕๔๖

ปุจฉาวิสัชนา แปลว่า ถามตอบกัน หมายถึงการถามและตอบกันไปมา เป็นการหาความรู้ความเข้าใจจากอีกฝ่ายหนึ่ง ปุจฉาวิสัชนาจึงเป็นคำเรียกการเทศน์ที่มีการถามตอบกันเช่นนั้นว่า เทศน์ปุจฉาวิสัชนา คือพระรูปหนึ่งเป็นผู้ถาม อีกรูปหนึ่งเป็นผู้ตอบ โดยถามกันในเรื่องธรรมบ้าง เรื่องอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังบ้าง
ปุจฉาวิสัชนาเป็นวิธีสอนอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า โดยทรงเปิดโอกาสให้พระสงฆ์หรือผู้เข้าเฝ้าถามปัญหาได้ และพระองค์ทรงตอบเอง เป็นทางเกิดปัญญาอย่างหนึ่ง เป็นการเปิดโอกาสให้คู่สนทนาได้ซักไซ้ไล่เลียงถามจนกระทั่งได้คำตอบที่พอใจ เป็นวิธีการให้ความรู้ตรงแก่ผู้สงสัยในเรื่องนั้นๆ และเป็นการสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองในการเรียนการสอน หรือการสนทนา  อ้างอิงจาก https://th.wikipedia.org

จาก http://visalo.org/columnInterview/phutai100.html