ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 19, 2016, 11:38:11 pm »“พุทธทาสภิกขุ” นามนี้ดังก้องโลก หลายคนอาจเคยมีโอกาสเดินตามรอยท่าน จากบทธรรมคำสอนที่ฝากเอาไว้อย่างมากล้น มากเสียจนแม้กระทั่งผู้ที่ไม่เคยก้าวย่ำลงไปศึกษาพระธรรมด้วยตนเอง คงเคยได้รับอานิสงส์แห่งความเมตตาไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง ผ่านตัวอักษรในหน้าหนังสือ ผ่านคำเทศน์ที่ยังถูกเปิดซ้ำๆ ดั่งเจ้าของสำเนียงไม่เคยลาลับไปไหน
ในวาระครบรอบ 20 ปีมรณกาล และรำลึกเดือนแห่งการเกิดของท่าน (พ.ค.) จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ตามรอย ปัดฝุ่นอดีตผู้ยิ่งใหญ่ จากปากคำของคนใกล้ชิด ในอีกหลายแง่มุมที่คุณอาจไม่เคยรู้!
เด็กชายเงื่อม (ท่านพุทธทาสภิกขุ)
เลือด “ศิลปิน” จากโยมพ่อ
“เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า
ตายเปล่าเลย ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง”
“มองแต่แง่ดีเถิด” คือหนึ่งในบทธรรมคำสอนจากท่านพุทธทาส หากลองติดตามงานเขียนของท่าน จะรู้ว่าบทกลอนคือกลวิธีอีกอย่างหนึ่งที่มักถูกหยิบมาใช้เพื่อถ่ายทอดธรรมะ สะท้อนให้เห็นอารมณ์ศิลปินในตัวท่านที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ว่ากันว่าคุณสมบัติข้อนี้สืบทอดมาจากโยมพ่อ “นายเซี้ยง พานิช” ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน มีทักษะในการต่อเรือและมีศิลปะในการวาดภาพ
ตามรอยไปยังบ้านเกิด
ลองตามรอยท่านไปยังสถานที่เกิด ณ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงแม้จะถูกเปลี่ยนมือ เปลี่ยนผู้อยู่อาศัยมาหลายรุ่นแล้ว แต่ตัวบ้านยังคงสภาพรอยอดีตเดิมเอาไว้ ไม่ได้ทุบทิ้งไปไหน ตัวเรือนมีความกว้างประมาณ 3 เมตร และลึกเข้าไปสัก 9 เมตร ยังคงเป็นอู่ต่อเรือซึ่งเชื่อมต่อกับลำธารกว้างใหญ่ ความร่มรื่นและร่มเย็นของบรรยากาศโดยรอบในขณะนี้ ช่วยให้พอจะจินตนาการได้ว่า “เด็กชายเงื่อม พานิช” หรือ “ท่านพุทธทาส” ที่ใครๆ ต่างเทิดทูนในวันนี้ โตมากับความสงบเงียบเช่นไร
ถึงแม้บ้านเก่าของท่านจะเป็นร้านขายของชำประจำหมู่บ้าน “ร้านไชยาพานิช” มีชีวิตอยู่กับเรื่องเงินๆ ทองๆ ซื้อมาขายไปตลอดเวลา แต่ท่านกลับไม่ได้พกเอานิสัยเห็นแก่ได้อย่างที่พ่อค้าทั่วๆ ไปมักติดตัวมาด้วย ทั้งที่เคยใช้เวลาอยู่ดูแล เป็นผู้จัดการร้านแทนโยมแม่ “นางเคลื่อน พานิช” หลังโยมพ่อเสียชีวิตอยู่ระยะหนึ่ง อาจเป็นเพราะท่านเอาจิตใจใส่ลงไปในกองหนังสือมากมายภายในร้านมากกว่า
เพราะบ้านของท่าน นอกจากจะขายสินค้าเรือกสวนไร่นาและสินค้าจากทะเลแล้ว ยังมีสินค้าประเภทหนังสือขนส่งมาจากกรุงเทพฯ ด้วย เป็นหนังสือเหลือเอามาโละขายลดราคา ทางร้านจึงรับซื้อไว้ ทำให้เด็กชายใฝ่รู้ตัวน้อยๆ ในตอนนั้นติดหนังสือ และกลายเป็นนักอ่านตัวยงตลอดชีวิตของเขา
“มัธยัสถ์” เช่นโยมแม่
ส่วนนิสัยประหยัด-มัธยัสถ์ น่าจะได้มาจากโยมแม่ ด้วยความที่เป็นพี่ชายคนโต มีน้องชายหนึ่งคน น้องสาวอีกหนึ่งคน เด็กชายเงื่อมจึงต้องแบกความรับผิดชอบเอาไว้แต่เล็กๆ ต้องค้าขายช่วยคุณพ่อ ควบคู่กับการช่วยงานครัวคุณแม่ ทำให้สามารถทำกับข้าว-เข้าครัวได้อย่างไม่เคอะเขิน และช่วยให้ซึมซับวินัยหลายๆ อย่างจากคุณแม่มาไว้กับตัว
ยกตัวอย่างง่ายๆ ในสมัยก่อนนั้น ทุกคนยังคงดื่มน้ำจากขันกันอยู่ ทั้งๆ ที่น้ำสมัยก่อนเป็นน้ำฝน ไม่ใช่น้ำประปา เรียกว่าเป็นน้ำฟรีก็ว่าได้ แต่ท่านจะถูกสอนให้ตักกินแต่พอดี ไม่ให้ตักดื่มครึ่งหนึ่งแล้วเททิ้งอย่างที่หลายคนนิยมทำ เพราะคุณแม่สอนไว้ว่าถือเป็นการสิ้นเปลือง
แม้กระทั่งเรื่องการใช้ฟืนใช้ไฟในระหว่างหุงต้ม ฟืนแดงๆ หลังหุงข้าวเสร็จก็ไม่ให้เปล่าประโยชน์ ให้วางแผงใช้ทำอย่างอื่นต่อ เช่น การปิ้งปลา การคั้นกะทิก็ต้องให้คุ้ม คนอื่นอาจจะคั้นกันแค่ 2 เที่ยว แต่โยมแม่ของท่าน สอนให้คั้นถึง 4 เที่ยว โดยให้เอาฝอยมะพร้าวเหล่านั้นมาตำให้ละเอียดหลังจากคั้นไปแล้ว 2 รอบ แล้วมาคั้นอีก 2 รอบ จะช่วยให้ได้น้ำจากกะทิออกมาเพิ่มขึ้น
ในสมัยที่ยังเรียนหนังสือ ท่านได้ค่าขนมเพียงวันละ 1 สตางค์ เทียบกับปริมาณอาหารสมัยนั้น แทบแลกอะไรกินไม่ได้เลย ถ้าวันไหนไม่ได้หอบอาหารมาจากบ้าน ก็ต้องซื้อขนมจีนอย่างเดียว และอาศัยเด็ดยอดผักบุ้งละแวกนั้นเอามาใส่จานกินเพิ่มให้อิ่มท้อง ซึ่งท่านได้เขียนเล่าชีวิตในช่วงนั้นเอาไว้ว่า “ก็อิ่มท้องและอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้” ยิ่งช่วยตอกย้ำให้เห็นนิสัยมัธยัสต์ของท่านได้อย่างชัดเจน
นิสัย “ช่างคิด” ก็เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่บ่มเพาะอยู่ในตัวท่านพุทธทาส จากเรื่องเล่าการเป็นเด็กวัดบางช่วงบางตอน สามารถบอกเล่าความมีวินัยในตัวท่านได้อย่างน่าทึ่ง
“สุภาพบุรุษเด็กวัด ตื่นสายไม่ได้ ต้องตื่นก่อนไก่ลงคอน ถ้าไก่ลงจากคอนแล้วยังนอนอยู่ จะโดนเพื่อนเอาน้ำสาดและโดนแกล้งด้วย, สุภาพบุรุษเด็กวัดต้องอดกลั้นอดทน ไม่เป็นคนช่างฟ้อง ถ้าเพื่อนแกล้ง สุภาพบุรุษเด็กวัด ไม่ฟ้องอาจารย์, รู้จักจัดสำรับให้พระให้พร้อม รวมทั้งน้ำดื่มน้ำใช้ ระหว่างที่พระฉันอาหาร ไปไหนไม่ได้ ต้องคอยรับใช้ไม่ให้มีผิดพลาด,
ถอยอาหารเมื่อพระฉันเสร็จ แบ่งให้หมาแมวกินก่อนคน, กินอาหารต้องไม่มูมมาม ต้องอย่าเคี้ยวเสียงดัง สั่งขี้มูก แคะขี้มูกไม่ได้, ล้างถ้วยจานชามเก็บให้เรียบร้อย เรียนหนังสือ อ่านหนังสือ สวดมนต์ทำวัดเช้า-เย็นได้ นี่ประโยชน์ของการเป็นเด็กวัด, นวดเฟ้นบีบนวดพระอาจารย์ จะได้ฟังเรื่องตลกๆ เรื่องตาเถร-ยายชี เป็นเรื่องตลก ไม่หยาบ, หัดมวยไว้ป้องกันตัว เมื่อจะต้องชกต่อยกับวัดอื่นเพื่อแสดงความเป็นนักสู้”
สมุดพกของเด็กชายเงื่อม
บวกกับบันทึกแห่งประวัติศาสตร์ “สมุดพกชั้นประถมศึกษาของเด็กชายเงื่อม” แห่งโรงเรียนวัดโพธาราม บันทึกด้วยแรงมือของอาจารย์ผู้ดูแล บอกเล่าอุปนิสัยการเล่าเรียนเอาไว้ว่า “ประพฤติเป็นคนอยู่ปกติไม่ค่อยได้ ท่าทางอยู่ข้างองอาจ ในเวลาทำการมักชักเพื่อนคุย มารยาทพอใช้ ทำการงานสะอาด” ทั้งยังเขียนสรุปรวบยอดในปลายปีว่า “1.มีความหมั่นดีทำการงานรวดเร็ว 2.ยังไม่เคยประพฤติรังแกเพื่อน และยังไม่เคยต้องบังคับให้มาเรียน 3.นิสัยจำอะไรแม่น และชอบทำสิ่งที่เป็นจริง 4.ปัญญาพออย่างธรรมดาคน”
หลายคนอาจเคยวาดภาพไว้ว่า ผู้ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก สร้างผลงานอันล้ำค่ามากมายประดับเอาไว้อย่าง “พุทธทาส อินทปัญโญ” จะต้องเป็นเติบโตมาบนเส้นทางสวยหรู เป็นเด็กหน้าห้อง หรือมีไอคิวระดับสูงสุดๆ แต่ตัวท่านเองเคยพูดถึงช่วงชีวิตวัยเรียนของท่าน ขณะเรียนโรงเรียนสารภีอุทิศ ชั้นมัธยมฯ เอาไว้ว่า
“การเรียนหนังสือนั้น ผมไม่รู้สึกว่าเรียนเก่ง แต่สอบได้ไม่เคยตก แต่เรียนไม่ค่อยสนุกแรกๆ ไปคิดถึงบ้าน ยังไม่ทันหยุดตอนเที่ยงก็คิดถึงบ้าน เศร้า คิดถึงบ้านเหมือนอย่างกับเราไปเสียไกลจากพ่อแม่ เรียนมันไม่สนุก สอบซ้อม สอบไล่พอทำได้” และหลังจากจบชั้น ม.3 ท่านก็ต้องลาออกจากโรงเรียน เพราะโยมพ่อเสียชีวิตด้วยโรคลมปัจจุบัน ชีวิตในช่วงต่อมาจึงเป็นช่วงลองเรียนลองรู้นอกโรงเรียนด้วยตัวท่านเองทั้งสิ้น
“พระบ้า” ที่น่านับถือ
ตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น ยังไม่ได้ตัดสินใจละทางโลกอยู่ในผ้าเหลือง นายเงื่อมมีนิสัยใฝ่ธรรมตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ศึกษานักธรรมตรี-โท-เอก มาตั้งแต่ก่อนบวช และมักจะใช้พื้นที่บริเวณบ้าน โต้ธรรมะกับบุรุษไปรษณีย์นายหนึ่งอยู่เสมอ ผลัดกันโต้แย้งแสดงเหตุผลว่าธรรมะข้อไหนเป็นอย่างไร ทำแบบนี้เป็นกิจวัตรทุกเช้า จนเป็นที่รู้กันว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้ “นายดาว ใจสะอาด” บุรุษไปรษณีย์นายนั้นไปทำงานสายเป็นประจำ
หลังจากมีอายุครบบวช 20 ปี ฉายาทางธรรม “อินฺทปญฺโญ” ซึ่งแปลว่า ผู้มีปัญญามาก ก็เกิดขึ้น เริ่มเดินอยู่บนครรลองแห่งธรรมจากนั้นก็บวชแบบไม่สึกอีกเลย หลังบวชไม่นาน ท่านก็สามารถออกเทศน์ได้ เพราะศึกษานักธรรมมาล่วงหน้านานแล้ว ว่ากันว่าญาติโยมนิยมฟังเทศน์จากพระรูปนี้มาก เพราะท่านเทศน์ไม่เหมือนรูปอื่นๆ พระรูปอื่นมาถึงก็จะกางใบลาน เทศน์ตามตัวหนังสือ รุ่นไหนมาก็เทศน์เหมือนกัน
แต่ท่านพุทธทาส ใช้วิธีกางใบลาน เริ่มต้นเทศน์ตามธรรมเนียม แต่หยิบเรื่องที่ท่านค้นพบมาแทรก เอาเหตุการณ์ปัจจุบันมาพูดถึง ชาวบ้านก็เลยติดฟังเทศน์จากท่าน ติดมากถึงขนาดถ้ามีพระรูปไหนเทศน์ชนกับท่านในวันเดียวกัน จะไม่มีใครไปฟังเลย จนต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดตารางไม่ให้ชนกัน
กุฏิกลางวัดร้าง “ตระพังจิก”
แล้วก็มาถึงช่วงชีวิตพลิกผัน เมื่อท่านเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนภาษาบาลีและคาดหวังว่าจะได้เจอพระอรหันต์ แต่กลับผิดหวังเมื่อพบว่าพระที่กรุงเทพฯ ไม่เคร่งเท่าพระบ้านนอกเสียด้วยซ้ำ บวกกับนิสัยคิดไม่เหมือนใคร ชอบตีความพระธรรมในความหมายต่างออกไป ทำให้สอบไม่ผ่าน เกิดกลายเป็นความรู้สึกเบื่อหน่ายกรุงเทพฯ จนลั่นวาจากับตัวเองไว้ว่า
“เอาดีที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ก็ต้องกลับมาเอาดีที่บ้านแทน” จึงตัดสินใจหาทางค้นพบพระอรหันต์ด้วยตนเอง มองหาสถานที่ที่จะสามารถสืบทอดการปฏิบัติและเผยแผ่ธรรม จนได้มาเจอเข้ากับวัดร้าง “ตระพังจิก” และกลายมาเป็นสวนโมกข์แห่งแรก เป็นต้นกำเนิดแห่ง “โมกขพลาราม” มาจนถึงทุกวันนี้
80 ปี คืออายุของวัดที่ร้างมานานก่อนท่านจะเข้ามาบุกเบิก เข้ามาอยู่ในป่าเพียงลำพังพร้อมสมบัติติดตัวไม่กี่ชิ้น สร้างเพิงเล็กๆ ขึ้นมาเป็นกุฏิเพื่อเขียน-อ่าน และจำพรรษา ไม่มีแม้กระทั่งมุ้งลวดไว้กันยุง ทั้งที่รู้กันดีว่า ท่ามกลางป่าอับชื้นเช่นนี้ ยุงป่าช่างดุร้ายกระหายเลือดยิ่งนัก แต่ท่านก็ใช้วิธีหลบยุง คือออกจากกุฏิก่อนมืด แล้วค่อยกลับมาใหม่หลัง 2 ทุ่ม และไม่เคยตบฆ่ายุง
ถึงคราวพลาดพลั้ง เผลอลูบตามเนื้อตัวแล้วฆ่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้โดยไม่ตั้งใจ ท่านจะลงโทษตัวเองด้วยการเข้าไปนั่งในป่าให้ยุงกินเลือด ฆ่าไปตัวหนึ่ง ท่านจะชดใช้ให้ยุงกัดกินไปอีก 10-20 ตัว เพื่อทดแทน
ที่ประจำ นั่งอ่าน-เขียน
ชาวบ้านละแวกนั้นต่างลือกันว่าท่านเป็น “พระบ้า” ที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ มารักษาตัวอยู่ที่นี่ เพราะไม่เชื่อว่าพระสติดีๆ ที่ไหนจะมาอยู่ท่ามกลางป่าร้าง อยู่กับสิงสาราสัตว์มากมาย ทั้งกระจง ค่าง กระรอก ไก่ป่า และหมูป่า มีหมด อันตรายรอบตัว แต่ท่านสามารถสร้างความคุ้นเคยกับสถานที่และหาความสุขสงบจากการปฏิบัติธรรมได้
ด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้าในพุทธศาสนา เวลาจึงพิสูจน์ว่าท่านไม่ใช่พระบ้า แต่คือพระที่ญาติโยมต่างเคารพศรัทธา เดินทางมากราบไหว้และขอเดินตามรอยท่านนับแต่นั้นมา สมกับนาม “พุทธทาส” ที่มีความหมายว่า ทาสของพระพุทธเจ้า
และนี่คือตอนหนึ่งของบทสวดมนต์ทำวัตรเย็น ซึ่งเป็นที่มาของนาม “พุทธทาส”... “ข้าพเจ้ามอบชีวิตและร่างกายนี้แด่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุดั่งว่ามานี้ ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า พุทธทาส (ทาสของพระพุทธเจ้า)”
ห้องพักก่อนวาระสุดท้าย
ภายในห้องพัก ช่างเรียบง่าย
“เราจะตายแล้วโว้ย!!”
ในโลกแห่งธรรม คำสอนของท่านยังคงเคลื่อนไหวอยู่เสมอ... ทุกขณะจิต แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านก็ยังคงใช้ร่างกายและจิตใจของตน พิจารณาสังขาร เป็นแบบอย่างให้คนบนโลกนี้ได้เดินรอยตาม โดยเฉพาะ “พระอาจารย์สิงห์ทอง เขมิโย” พระอุปัฏฐาก หรือพระผู้คอยดูแลรับใช้มากว่าสิบปี ตั้งแต่ท่านยังสุขภาพดี กระทั่งอาพาธด้วยโรคตามอายุขัย ได้บอกเล่าลมหายใจช่วงสุดท้ายของท่านด้วยสำเนียงซื่อๆ เอาไว้ว่า
“ด้วยพระเดชพระคุณของหลวงพ่อ ตื่นมาตอนตีสี่ ปลุกเราบอก “ทอง ตื่นๆๆ เราจะตายแล้วโว้ย” เรายังนอนไม่ตื่น เอามือลูบที่ตา มองไปแล้วเห็นท่านนั่งเขียนหนังสืออยู่ เราก็คิดในใจ จะตายก็สมควรตาย ถ้ายังเขียนหนังสือได้แบบนี้ (หัวเราะ) เราก็คิดแบบคนซื่อน่ะนะ
ท่านบอกให้ไปตามคนที่ดูเรื่องพิมพ์หนังสือมาให้ท่าน ท่านบอกว่า “ไม่ไหวแล้วโว้ย เอามันไม่อยู่แล้ว” แสดงว่าท่านดูร่างกายและจิตใจตัวเองไปทุกขณะ รู้ตัวมีสติตลอด เรื่องกายและลมหายใจที่ท่านสอนมา ท่านเอามาใช้แม้กระทั่งลมหายใจสุดท้าย”
พระสิงห์ทอง พระผู้คอยดูแลรับใช้อย่างใกล้ชิด
ตอนที่ท่านป่วยหนัก เรื่องได้ยินถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงส่งหมอหลวงมานิมนต์ให้ไปรักษาตัว “มาถึงก็รายงานตัวเลยว่าเป็นหมอ เป็นตัวแทนในหลวงมานิมนต์ เป็นคนทั่วไปจะตอบว่าอะไร คงรีบไปเลย ดีใจมาก แต่ท่านตอบว่า “เราไม่หอบสังขารหนีความตายโว้ย ไปบอกในหลวงท่านด้วย” แล้วหมอเขาจะกล้าไปรายงานแบบนี้ไหม (หัวเราะ) นี่คือความเด็ดขาดของท่าน พอถึงเวลาที่รู้ว่าสู้กับมันไม่ไหวแล้ว ท่านก็พิจารณามันไปเรื่อยๆ และปล่อยวางไปตามอาการ”
ด้วยโรคที่รุมเร้ามากมาย ในหลวงท่านจึงทรงส่งหมอมาดูแล “ท่านป่วยเป็นความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคเก๊า เป็นสารพัดโรค กินยาวันละเป็นกำๆ ตอนนั้นก็อายุ 80 กว่าแล้ว แต่ท่านไม่เคยมีปัญหาเรื่องอารมณ์ ไม่เคยหงุดหงิดเลย เพราะถ้าเป็นแบบนั้น คงจะไม่เป็นพุทธทาส ถ้าคุณทำได้แบบท่าน คุณรวยอารมณ์แน่นอน
บทเรียนจากร่างกาย ฝากไว้ให้พุทธศาสนิกชน
ท่านเป็นโรคเก๊า ปวดจนลุกไม่ขึ้น ก็แค่เอายาลดกรดเล็กๆ เข้าไปในปาก แล้วบอกว่าไปตามคนทำหนังสือมา มาทำหนังสือกัน ถ้าเป็นเรา เราจะมีใจทำไหม ปวดเก๊าแบบนี้ แต่ท่านรู้ทันไง ท่านก็ปล่อยให้ร่างกายเจ็บปวดไป ส่วนท่านก็เอาจิตไปเพ่งไว้ที่การเขียนหนังสือ ไม่เดือดร้อนกับมัน ในเมื่อเอามันไม่อยู่ ห้ามมันไม่ได้ ก็ปล่อยมันไป ให้พิจารณาหนังสือ พร้อมกับปล่อยให้มันปวดไป เดี๋ยวความปวดมันก็หายไปพร้อมๆ กับหนังสือเสร็จตอนเย็นนั่นแหละ
เวลานัดใคร เขาจะมาไม่มาก็ช่าง นายกฯ จะมาเยี่ยมก็ช่างเขา ไม่ไปนั่งกังวล ท่านก็นั่งเขียนหนังสือของท่านไปเรื่อย พอแขกมาท่านก็ไปต้อนรับ เสร็จท่านก็มาเขียนหนังสือต่อ ท่านจัดสรรชีวิตของท่าน ไม่เคยปล่อยให้ขึ้นลงไปตามอารมณ์ แต่คนทั่วไป ไม่เคยจัดสรร เพราะมัวแต่ไปนอนกอดอารมณ์ ทุกข์มันก็เลยเกิด”
เวลาล่วงเลย จากตอนปลุกพระสิงห์ทองจนถึงหกโมงเช้า ท่านสั่งลาว่า “เธอฉันเพลแทนเราด้วยนะ” แล้วก็หยิบพวงกุญแจที่บั้นเอวออกมาและบอกว่า “เราไม่อยากตายคาพวงกุญแจ” จากนั้น ยื่นพระสิงห์ทอง
“ท่านจัดการทุกอย่างไว้หมดเลย แสดงว่าท่านรู้ว่ากำลังจะตาย จนประมาณ 7 โมง คนอื่นที่นั่งเฝ้าอยู่ด้วยกันก็เลยบอกว่า อย่ากวนท่านเลย ไปเถอะ หลังจากนั้น 30 นาทีให้หลัง ท่านก็ถึงเริ่มบอกว่า “ทอง ลิ้นเราแข็งแล้วนะ”
ท่านลองตามอาการไปเรื่อยๆ นี่แหละคือธรรมะข้อสุดท้ายที่ท่านให้ไว้ ใช้สังขารของท่านสอน ให้ตามรู้ตามเห็นทุกอย่าง ท่านไม่เผลอ มองเห็นสภาวะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายทุกขณะจริงๆ”
กระทั่งวาระปลงศพในวัย 87 “พุทธทาส อินทปัญโญ” ก็ยังได้แสดงธรรมบทสุดท้ายเอาไว้ เป็นธรรมบนกองเพลิงให้เห็นความไม่เที่ยงแท้ ทั้งยังฝากฝังแนวคิดสำคัญ เตือนใจพุทธศาสนิกชนทุกผู้ทุกนามเอาไว้ว่า
“โลงศพของอาตมา ก็คือ ความดีที่ทำไว้ในโลก ด้วยการเผยแผ่พระธรรม, ป่าช้าสำหรับอาตมา ก็คือ บรรดาประโยชน์และคุณทั้งหลาย ที่ทำไว้ในโลกเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LITE
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
จาก http://astv.mobi/Azu0Efs