ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 26, 2016, 05:10:36 am »พระโพธิสัตว์เดินดิน
พระโพธิสัตว์ หมายถึง ผู้ที่กำลังบำเพ็ญบารมีอย่างยิ่งยวดเพื่อบรรลุพระโพธิญาณในอนาคต เมื่อบรรลุพระโพธิญาณแล้วสถานภาพพระโพธิสัตว์ก็สิ้นสุดลง ต่อจากนั้นเราจะเรียกพระองค์ว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
ตามคติพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทพระโพธิสัตว์จะมีเพียงองค์เดียว คือพระโพธิสัตว์ที่กำลังบำเพ็ญบารมีเพื่อที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป แต่ตามคติพระพุทธศาสนาฝ่ายอาจริยวาทพระโพธิสัตว์มีได้หลายองค์
เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ชัดเจนขึ้น ขอคัดคำบรรยายเรื่องพระโพธิสัตว์ที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายและได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคติการนับถือพระโพธิสัตว์มาให้พิจารณาดังนี้
“…ต่อมาพระพุทธศาสนายุคหลังต้องแข่งกับฮินดูมากขึ้น ฮินดูมีเทพเจ้าไว้ให้ชาวบ้านอ้อนวอนบวงสรวง ศาสนาพราหมณ์นั้นก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วเขามีพิธีบูชายัญ ขนาดเอาคนมาบูชายัญ
“สภาพความเชื่อถือแบบนี้ล้างยากมากคนจำนวนมากที่ชอบที่จะให้คนอื่นมาช่วยยิ่งเป็นอำนาจยิ่งใหญ่มหัศจรรย์มาช่วย ก็ยิ่งครึ้มใจ ส่วนเรื่องที่จะเพียรพยายามด้วยตัวเองโดยใช้ปัญญานั้นแสนยาก มนุษย์จำนวนมากจึงมีความโน้มเอียงที่จะหันไปหาการอ้อนวอนขอผลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์
“เป็นไปได้ว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นี้ได้พยายามเริ่มเอาอกเอาใจประชาชน ด้วยการสนองความต้องการแบบนี้ขึ้นมาบ้าง โดยคิดว่า ทำอย่างไรดีจะหาอะไรมาช่วยปลอบขวัญประชาชนให้เขามีสิ่งที่จะมาช่วยได้บ้าง
“ทีนี้ก็คิดไปถึง คติพระโพธิสัตว์คือ เรามีคติโพธิสัตว์อยู่เดิมก่อนแล้วพระโพธิสัตว์ก็คือพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้หมายถึงท่านผู้บำเพ็ญบารมีมาเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์นั้นตั้งใจบำเพ็ญความดีอย่างยอดยิ่ง อย่างสูงสุด โดยไม่ยอมแก่ความลำบากยากแค้น และสามารถเสียสละแม้แต่ชีวิตของตนเองเพื่อบำเพ็ญความดี
“ในการบำเพ็ญความดีนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การช่วยเหลือผู้อื่นอย่างที่เห็นในชาดกต่าง ๆ ที่พระโพธิสัตว์เสียสละตัวเอง เสียสละทรัพย์สินสมบัติ เสียสละเลือดเนื้ออวัยวะ และเสียสละแม้แต่ชีวิตเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์หรือสัตว์อื่นได้
“ก็เป็นอันว่าพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีมีความเสียสละที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์หรือสัตว์อื่นได้
“คติโพธิสัตว์เดิม มีความหมายต่อชาวพุทธว่า พระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่างแก่เราทุกคนในการทำความดี ให้ชาวพุทธเอาอย่างพระโพธิสัตว์ในการจะทำความดีและช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่เห็นแก่ตัวเองเลยยอมเสียสละแม้แต่ชีวิตของตัวเองเพื่อทำความดีและเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้ เป็นคติที่สอนเพื่อให้ทำตามอย่างพระโพธิสัตว์
“แต่มหายานทำไปทำมาคนกลายเป็นมองคติโพธิสัตว์ใหม่ ในแง่ว่าพระโพธิสัตว์ท่านมีมหากรุณาและอานุภาพที่ยิ่งใหญ่ที่จะช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย เลยทำให้เป็นจุดเน้นไปว่า ถ้ามนุษย์เราหวังความช่วยเหลือ เราก็ไปหาพระโพธิสัตว์ขอให้ท่านช่วยได้ คล้ายกับไปขอผลจากเทวดา ตกลงก็เลยมีคติโพธิสัตว์แบบมหายานขึ้นมา
“อย่างไรก็ตาม พระโพธิสัตว์ที่เราพูดถึงทั่วไปแต่เดิมคือพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น พระโพธิสัตว์ก็ได้เสียชีวิตไปก่อนหมดแล้ว พระโพธิสัตว์ของเถรวาทมุ่งเอาพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันซึ่งได่้ทำความดีเอาไว้เป็นแบบอย่างให้เราทำอย่างนั้นบ้าง แต่ท่านสิ้นชีวิตไปหมดแล้วแม้แต่องค์พระพุทธเจ้าเองก็ได้ปรินิพพานไปแล้ว
“มหายานก็คิดว่า แล้วจะทำอย่างไรให้มีพระโพธิสัตว์ที่ยังรอช่วยผู้คนอยู่ได้
“ถึงตอนนั้นก็นึกได้ถึงหลักการแต่เดิมที่ว่า ความเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ผูกขาดอยู่กับพระพุทธเจ้าองค์ใด ใครบำเพ็ญบารมีจนครบบริบูรณ์ก็เป็นพระพุทธเจ้าได้พระพุทธเจ้าก็มีเรื่อยไป เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้าอีกมากมายก็ยังบำเพ็ญบารมีเป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็คือยังช่วยเหลือสัตว์โลกอยู่
“ถ้าอย่างนั้น เราก็เอาพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้ามาสิจะได้มาช่วยมนุษย์ในปัจจุบันได้
“ตกลงมหายานก็เลยไม่เอาพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน แต่หันไปหาพระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ตรัสรู้ ยังไม่เป็นพุทธะ ซึ่งยังบำเพ็ญบารมีอยู่ แล้วเอามาให้ชาวพุทธนับถือ จะได้มาช่วยเหลือคนทั้งหลายได้
“ตอนนี้เท่ากับว่าทางพุทธศาสนามหายานนี้ได้คู่แข่งที่จะมาช่วยชดเชยความเชื่อแบบอ้อนวอนเทพเจ้าได้แล้ว คือมีพระโพธิสัตว์มาช่วยสัตว์ทั้งหลายที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถขอร้องพระโพธิสัตว์อย่างพระอวโลกิเตศวรผู้เต็มไปด้วยพระมหากรุณาให้มาช่วยเรา
“เพราะฉะนั้น ชาวพุทธก็ไปขอร้องไปอ้อนวอนพระโพธิสัตว์แบบใหม่นี้ ท่านก็มาช่วยเหลือ คราวนี้คุณไม่ต้องอ้อนวอนเทพเจ้าฮินดูนะ ไม่ต้องไปอ้อนวอนพระพรหม ไม่ต้องไปอ้อนวอนพระนารายณ์แต่คุณมาหาพระโพธิสัตว์ก็ได้ พระโพธิสัตว์ก็ช่วยได้
“เป็นอันว่า พุทธศาสนามหายานก็มีพระโพธิสัตว์มาแข่งกับเทพเจ้าฮินดู
“แต่ก็อีกนั่นแหละ ของพุทธนี่แข่งไม่ได้เต็มที่ เพราะว่าเทพเจ้าของฮินดูนั้นเขาแสดงกิเลสได้เต็มที่เลย เทพเจ้าสามารถใช้ฤทธิ์ประหัตประหารคนอื่น ยกทัพทำสงครามกันก็ได้ แต่พระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนา ท่านบำเพ็ญคุณธรรม มีแต่ความดี ไม่มีการทำร้ายใคร
“ทีนี้มนุษย์ที่เป็นปุถุชนนี้มันมีเรื่องโกรธแค้นกัน อยากจะทำร้ายผู้อื่นบ้างอยากจะแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวให้เต็มที่โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของใครบ้าง เมื่อมาหาเทพเจ้า เทพเจ้าก็สนองความต้องการได้เต็มที่ จะฆ่าจะทำลายศัตรูก็ได้ แต่มาหาพระโพธิสัตว์ ท่านมีคุณธรรมมีแต่เมตตากรุณา ท่านไม่ทำสิ่งที่ร้าย
“เพราะฉะนั้น การอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ก็ไม่สามารถทดแทนเทพเจ้าฮินดูได้จริง เพราะจำกัดด้วยขอบเขตของคุณธรรม ถึงตอนนี้ก็คือพระพุทธศาสนานอกจาก เสียหลัก แล้วยัง เสียเปรียบ เขาด้วย
“คติโพธิสัตว์เดิม นั้นคือเป็นแบบอย่างให้ทุกคนต้องเพียรพยายามทำความดีให้ได้อย่างนั้น ๆ แม้แต่เสียสละตนเองหรือชีวิตของตนเพื่อทำความดีอย่างเต็มที่
“แต่ตอนนี้ตาม คติโพธิสัตว์ใหม่ กลายเป็นว่า มีพระโพธิสัตว์ผู้เสียสละคอยช่วยเราอยู่แล้ว เราก็ไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ เราไม่ต้องทำ
“เมื่อเป็นอย่างนี้ ความหมายของพระโพธิสัตว์ก็พลิกไปเลย
“ถ้าเรามาดูในปัจจุบันนี้ที่นับถือกันอย่าง เจ้าแม่กวนอิม ก็คือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ที่เดิมเกิดมีขึ้นในประเทศอินเดียตามหลักมหายานอย่างที่ว่ากันเมื่อกี๊ ต่อมาเมื่อเข้าไปในเมืองจีนแปลชื่อภาษาจีนแล้ว ศัพท์กร่อนลงมาเหลือแค่กวนอิมและเพศก็กลายเป็นหญิงไป”
ตามเรื่องที่เคยเล่ามาหลายครั้งแล้วตำนานหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงจีนประชวรหนัก ไม่มีแพทย์หลวงหรือแพทย์ราษฎร์ที่ไหนจะรักษาได้ ก็ร้อนถึงพระอวโลกิเตศวรกวนอิม ก็เลยต้องแปลงร่างเป็นสตรี แล้วเข้าไปรักษาพระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนให้หาย เสร็จแล้วแปลงร่างกลับไม่ได้ เลยกลายเป็นหญิงสืบมา
ปราชญ์สันนิษฐานว่า คติพระโพธิ-สัตว์อวโลกิเตศวรหรือกวนอิมนี้เข้าจีนไปราว พ.ศ. ๖๐๐ ซึ่งเป็นระยะแรก ๆ ของการเกิดคติพระโพธิสัตว์แบบมหายาน
“น่าสังเกตว่า พระโพธิสัตว์ พระองค์ต่าง ๆ ของมหายานนี้พัฒนาขึ้นในระยะเดียวกับที่ พระศิวะ (อิศวร) และ พระวิษณุ(นารายณ์) กำลังเริ่มปรากฏองค์เด่นขึ้นมาในศาสนาฮินดู (พระพรหมด้อยลง) และเป็นยุคเดียวกันกับที่ศาสนาคริสต์กำลังเกิดขึ้นด้วย
“แต่รวมแล้ว ก็เป็นคติที่แข่งกับฮินดูซึ่งมีการอ้อนวอนขอผล ถ้าเราไม่ระวังรักษาหลักการให้ดี พระพุทธศาสนาก็จะโน้มเอียงไปทางศาสนาฮินดู เมื่อมหายานมาเป็นอย่างนี้ก็ต้องถือว่าเสียหลัก และการที่เสียหลักนี้ก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กลืนกับศาสนาฮินดูได้ต่อมา
“การที่ เสียหลัก ก็คือ ย้ายจุดเน้นจากการที่ใช้ความเพียรพยายามทำกรรมดีต่าง ๆ ด้วยฉันทะ วิริยะ อุตสาหะไปเป็นลัทธิอ้อนวอนขอผลอะไรต่าง ๆ ก็เลยใกล้กับศาสนาฮินดู…”
[จาริกบุญ จารึกธรรม :พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต) หน้า 470 - 475]
ประวัติและพัฒนาการของพระโพธิสัตว์ที่กล่าวมา พอจะสรุปได้ว่า การนับถือพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้องนั้นก็คือ การเจริญรอยตามพระโพธิสัตว์ในแง่ที่ว่าเราควรดูท่านเป็นตัวอย่างในการเสียสละอุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์เพื่อคนอื่นอย่างไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และการช่วยเหลือคนอื่นของพระโพธิสัตว์นั้น สามารถช่วยอย่างถึงที่สุดถึงขั้นสละชีวิตให้เป็นทานก็ยังได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาคติพระโพธิสัตว์แบบมหายานขึ้นมาใหม่นั้น การนับถือพระโพธิสัตว์แบบเดิมเริ่มผิดเพี้ยนไป กลายเป็นว่าเรามีพระโพธิสัตว์ไว้เพื่อ “ขอ” ให้ท่านมาช่วยเรา เราอยากได้อะไรก็ขอให้ท่านช่วยให้สมปรารถนา แทนที่จะเจริญรอยตามท่าน (แบบหินยาน / เถรวาท) คือ การช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ด้วยตัวเรา ก็เลยเพี้ยนเป็นขอให้ท่านมาช่วยเราให้พ้นทุกข์ไปเลย
ไป ๆ มา ๆ เวลานี้ผู้ที่นับถือพระโพธิสัตว์กวนอิม (เช่น ปางพันเนตร พันกร) ก็เลยขอให้ท่านมาช่วยตนเองสารพัด
แต่ท่ามกลางคติการนับถือพระโพธิสัตว์ที่นับวันกำลังผิดเพี้ยนไปนี้ ก็ยังโชคดีอยู่บ้างที่ยังพอมีผู้ที่ “ไม่หลงประเด็น” หลงเหลืออยู่ไม่น้อย อย่างน้อยก็ที่ประเทศไต้หวันซึ่งเวลานี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีพระโพธิสัตว์เดินดินมากมายที่สุดในโลกก็ว่าได้
พระโพธิสัตว์เดินดินที่ว่านี้หมายถึงท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน ภิกษุณีผู้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้ องค์กรการกุศลที่ใหญ่ด้วยคุณภาพและปริมาณสมาชิกอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก มูลนิธิแห่งนี้คือแรงบันดาลใจให้สังคมไทยได้ยินคำว่า “จิตอาสา” บ่อยขึ้นและกำลังเริ่มจุดติดในสังคมไทยในรอบหลายปีมานี้
ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนมีชีวิตที่น่าสนใจมาก ซึ่งหากมีเวลาจะทยอยเล่าสู่กันฟังต่อไป ฉบับนี้ขอเล่าแนวคิดเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ให้อ่านกันก่อน ท่านธรรมาจารย์ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งในสายตาของศิษยานุศิษย์นับล้าน โดยท่านนำปรัชญาของพระโพธิสัตว์มาประยุกต์เป็นแนวทางในการทำงาน ปรัชญาที่ว่าก็คือ “จะยินดีช่วยเหลือคนไปจนกว่าจะไม่มีคนชั่วเหลืออยู่ในนรกอีกเลย” และ
“ใต้หล้านี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่รัก
ใต้หล้านี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่เชื่อใจ
ใต้หล้านี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่ให้อภัย”
ด้วยปรัชญานี้ ท่านจึงมุ่งมั่นทำงานด้วยการ “มอบความรักอันยิ่งใหญ่ให้แก่มนุษยชาติ” ผ่านการก่อตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้และมุ่งมั่นทำการกุศลถึงขนาดกล่าวกันว่าหากเกิดภัยพิบัติขึ้นมาในโลก ภายใน 15 นาที คนของฉือจี้ก็สามารถออกไปช่วยเหลือได้แล้ว และในการช่วยเหลือนั้น ท่านคำนึงถึง “ความเป็นมนุษย์” ก่อนเรื่องอื่นใด เช่น ในกรณีที่ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่มีภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ท่านก็ส่งคนเข้าไปช่วยในเหตุการณ์นี้ ทำให้ชาวไต้หวันจำนวนมากไม่พอใจ แต่ท่านก็ไม่เคยหวั่นไหวท่านบอกว่า ยินดีเป็นจำเลยของคนไต้หวันทั้งประเทศ ยังดีกว่ามองเห็นเพื่อนมนุษย์ตกทุกข์ได้ยากแล้วอยู่เฉย ๆ นอกจากนี้ท่านยังกล่าวอีกว่า “ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ก็ว่ากันไป หน้าที่ของฉันคือการช่วยเหลือคน”
นี่คือความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือคนของพระโพธิสัตว์ที่ต่อให้มีคนเข้าใจผิดนับล้านก็ไม่อาจสั่นคลอนปณิธานในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ของท่านได้
ท่านธรรมาจารย์เป็นผู้ตีความพระโพธิสัตว์กวนอิมปางพันเนตร พันกรด้วยมุมมองที่ถูกต้อง (ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อของคนทั่วไปที่มักเชื่ออย่างผิด ๆ) ว่า
“เวลาที่เรากราบพระโพธิสัตว์กวนอิมปางพันเนตร พันกรนั้น เราไม่ได้กราบเพื่อขอให้ท่านใช้ตาตั้งพัน ใช้มือตั้งพันมาช่วยให้เราสมปรารถนา แต่เรากราบท่านเพื่อขอให้ตัวเราเองมีมือสักพันข้าง มีตาสักพันดวง ทั้งนี้เพื่อที่จะได้มองเห็นคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากจากทั่วโลก เพื่อที่จะได้หยิบยื่นความช่วยเหลือให้มวลมนุษยชาติอย่างทั่วถึง…”
ด้วยการตีความที่ถูกต้องตามคติพระโพธิสัตว์แบบเดิมแท้นี่เอง ท่านจึงใช้ชีวิตสุดสมถะ ทรัพย์สินบรรดามีที่มีผู้น้อมถวายแก่ตัวท่าน ท่านยกให้เป็นของมูลนิธิทั้งสิ้นว่ากันว่า คราวหนึ่งมีลูกศิษย์เห็นว่าผ้าห่มของท่านที่ใช้อยู่เป็นประจำนั้นเก่ามาก จึงไปหยิบผ้าห่มใหม่มาวางไว้แทน ทันทีที่ท่านกลับเข้าห้องมา พอเห็นผ้าห่มผืนใหม่ท่านแสดงอาการดีใจมาก แต่ไม่ได้ดีใจที่จะได้นำมาใช้ ท่านดีใจว่าจะได้นำไปแจกต่างหาก
พระโพธิสัตว์เห็นประโยชน์สุขของคนอื่นมาก่อนประโยชน์ส่วนตัวเสมอ และในใจนั้นก็ปรารถนาแต่จะให้คนอื่นดีกว่าตัวเองอยู่ร่ำไป
จาก http://www.secret-thai.com/article/dharma/6050/prapotisat1/