ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 28, 2016, 05:29:56 am »เปิดพงศาวดาร... พระเจ้าตากฯ กับความปรารถนาในพุทธภูมิ!!
ตามคติธรรมของพระพุทธศาสนา... "พุทธภูมิ" หมายถึงภูมิธรรมของผู้ที่ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล
แต่ความจริงแล้ว มิใช่เพียงบรรพชิตเท่านั้นที่สามารถจะปรารถนาในพุทธภูมิได้ ดังเช่นกรณีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชอาณาจักรสยาม ตามหลักฐานจากพงศาวดารที่จะได้รับการเปิดเผยดังต่อไปนี้ :
ก่อนศึกรบพม่าที่บางแก้ว พระเจ้าตากฯ ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธปฏิมากรที่วัดกลางดอยเขาแก้ว บ้านระแหง แขวงเมืองตาก แล้วได้ทรงถามพระสงฆ์ในวัดว่า จำพระองค์ได้หรือไม่? ... ความตอนนี้ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีว่า
"พระผู้เป็นเจ้าจำได้หรือไม่? เมื่อโยมยังอยู่บ้านระแหง โยมยกระฆังแก้วขึ้นชูไว้กระทำสัตยาธิษฐาน เสี่ยงพระบารมีว่า ถ้า ฯข้าฯ จะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในอนาคตกาลเป็นแท้แล้ว ฯข้าฯ ตีระฆังแก้วเข้า บัดนี้ให้ระฆังแก้วแตกจำเพาะแต่ที่จุก จะได้ทำเป็นพระเจดีย์ฐานแก้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ"
ในครั้งนั้น เมื่อได้อธิษฐานแล้วตีระฆัง ก็ปรากฏว่าระฆังแตกเฉพาะแต่ที่จุกดังคำอธิษฐาน พระและผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างเห็นเป็นเรื่องอัศจรรย์
พระสงฆ์ก็ตอบว่า "จำได้... เป็นจริงตามที่พระองค์ทรงเล่า"
ความปรารถนาในพุทธภูมินี้เป็นสิ่งที่อยู่ในพระทัยมาตั้งแต่ก่อนจะ ปราบดาภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ (ซึ่งเป็นความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่ในระดับเดียวกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยัง เป็นปุถุชนคนธรรมดาย้อนไปหลายร้อยพันกัลป์) และเป็นสิ่งที่อยู่ในพระทัยมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ความที่ยกมาในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีตอนนี้ก็มิใช่ครั้งแรกและครั้งเดียว ที่กล่าวถึงความปรารถนาแห่งพระโพธิญาณของพระเจ้าตากฯ ดังเมื่อครั้งเสร็จศึกอะแซหวุ่นกี้ ปี ๒๓๑๙ ก็ได้ทรงโปรดให้มีงานบุญใหญ่พระราชพิธีบังสุกุลพระอัฐิของพระมารดา พระเจ้าตากฯ ก็ทรงอธิษฐานว่า
"เดชะผลทานบูชานี้ ขอจงยังพระลักขณะ พระปีติทั้ง ๕ จงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า แล้วอย่าได้อันตรธาน และพระธรรมซึ่งยังมิได้บังเกิดขึ้น ขอจงบังเกิดภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้น อนึ่ง ขอจงเป็นปัจจัยแก่พระปรมาภิเษกสมโพธิญาณในอนาคตกาลภายภาคหน้า" ("พระราชพงศาวดาร" อ้างใน ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์)
ตามพระราชประวัติที่ เราพอรับรู้รับทราบ พระเจ้าตากฯ ทรงเรียนหนังสือไทย หนังสือขอม และพระไตรปิฎก กับพระอาจารย์ทองดีตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ เมื่ออายุ ๒๑ ครบบวช ก็ทรงผนวชอยู่ในสำนักพระอาจารย์ทองดี ๓ พรรษา จึงลาสิกขาออกมารับราชการ ทั้งนี้อนุมานว่า น่าจะทรงรู้พระธรรมวินัยและพระไตรปิฎกอยู่ในระดับดี แต่ก็ไม่มีตรงไหนที่โยงใยไปถึงสาเหตุหรือที่มาของความปรารถนาในพุทธภูมิ
แต่ในสมัยของพระองค์นั้น ความปรารถนาในพุทธภูมิอาจมิใช่เรื่องแปลกใหม่ และที่น่าสังเกตก็คือ ไม่จำเป็นว่าเฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะปรารถนาเช่นนี้ได้ เพราะแม้แต่ชาวบ้านก็ปรารถนาได้เช่นกัน
ภิกษุณีธัมมนันทา (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อีกมุมมองว่า ความปรารถนาในพุทธภูมิของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ดูจะแปลกไปจากคติของ พุทธเถรวาทในปัจจุบันที่มุ่งปรารถนา "พระนิพพาน" หรือ "อรหันตภูมิ" มากกว่าที่จะมุ่งบำเพ็ญเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป แต่คติพุทธในเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนใน ฝ่ายมหายานที่ปรารถนาพุทธภูมิด้วยกันทั้งสิ้น
ตรงนี้จะสอดคล้องกับข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ระบุว่า การตัดสินพระทัยเป็นพระมหากษัตริย์หลังทรงกู้แผ่นดินคืนมาจากพม่าได้นั้น เป็นไปโดยมีเหตุผลทางธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง มิใช่เหตุผลทางการเมืองล้วนๆ นั่นคือทรงคิดว่า การเป็นกษัตริย์ช่วยเหลือเหล่าอาณาประชาราษฎร์นั้นเป็นการบำเพ็ญบารมีตาม วิถีแห่งพระโพธิสัตว์ (จึงทำให้ไม่ทรงเลือกเดินบนวิถีแห่งพระอรหันต์ในตอนนั้น) ซึ่งก็แน่นอนว่า พงศาวดารย่อมต้องมีบันทึกถึงการบำเพ็ญพระบารมีของพระเจ้าตากฯ ตั้งแต่ครั้งที่ยังทรงครองราชย์ใหม่ๆ ...
"ครั้งนั้น หมู่คนอาสัตย์ซึ่งคุมพรรคพวกตั้งอยู่ กระทำโจรกรรม ณ หัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา มิได้เชื่อพระบรมธิคุณและตั้งตัวเป็นใหญ่นั้น ก็บันดาลให้สยบสยองพองเศียรเกล้า ชวนกันนำเครื่องราชบรรณาการต่างๆ เข้ามาถวายเป็นอันมาก ทรงพระกรุณา...พระราชทานโอวาทานุศาสตร์ สั่งสอนให้เสียพยศอันร้าย ให้ตั้งอยู่ในยุติธรรม ขณะนั้น ลูกค้าวาณิชได้ทำมาค้าขายเป็นสุข บริบูรณ์ด้วยอาหาร ได้บำเพ็ญทศบุญกิริยาวัตถุกุศลต่างๆ ฝ่ายสมณะก็รับจัตุปัจจัยทานเป็นสุข บริโภคให้บำเพ็ญสมณธรรมตามสมณกิจ ... จำเดิมแต่นั้นมา พระพุทธศาสนาก็ค่อยๆ วัฒนาการรุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นเหมือนแต่ก่อน และสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เจริญพระราชกฤดาธิคุณ ไพบูลย์ภิยโยภาพยิ่งขึ้นไป ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็ค่อยมีความผาสุก สนุกสบายบริบูรณ์ คงคืนขึ้นเหมือนเมื่อครั้งแผ่นดินกรุงเก่ายังปกติดีอยู่นั้น"
อย่างไรก็ตาม จากข้อความในพงศาวดารดังกล่าวก็พอจะสะท้อนเรื่องนี้ได้บ้างประมาณหนึ่ง แต่คำถามก็คือ มีอะไรหรือไม่ที่เป็นร่องรอยให้เห็นว่า พระเจ้าตากฯ ทรงมุ่งมั่นในพระโพธิญาณจริงๆ มิใช่การเขียนพงศาวดารในธรรมเนียม "ยอพระเกียรติ"?
กิจการในพระศาสนาของพระเจ้าตากฯ ไม่ว่าจะเป็นการให้รวบรวมจารคัมภีร์บาลี ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา ฯลฯ ทรงโปรดให้สร้างสมุดภาพไตรภูมิ สร้างกุฏิ สร้างวัด สนับสนุนพระภิกษุสงฆ์ทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ หรือกระทั่งชำระภิกษุสงฆ์ที่ทำผิดพระธรรมวินัยนั้น ก็เหมือนมีบันทึกว่า ดำเนินไปไม่ต่างจากที่พระมหากษัตริย์พระองค์อื่นๆ ได้ทรงกระทำ
ในประเด็นนี้อาจมองได้ว่าเป็น "คติเทวราชา" ที่รับมาจากศาสนาพราหมณ์ (พระมหากษัตริย์คือองค์อวตารผู้ลงมาทำหน้าที่ปกป้องพิทักษ์ราษฎร) กับคติที่มองว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ (ผู้ถือเอาการสร้างความผาสุกให้แก่อาณาประชาราษฎร์เป็นการบำเพ็ญเพียรสร้าง สมบารมี) โดยผสมผสานสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังจะเห็นได้จากการถวายพระนามของพระมหากษัตริย์ดุจเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งอนุมานได้ว่า ถึงแม้ความปรารถนาในพระโพธิญาณของพระเจ้าตากฯ จะมีมาก่อนที่จะทรงเป็นกษัตริย์ แต่เมื่อได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์แล้ว ความปรารถนาดังกล่าวก็แยกไม่ออกจากคติ "พระพุทธเจ้าอวตาร" ที่มีมาแต่ก่อนเก่า
ที่สำคัญ เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับเหตุการณ์เมื่อคราวติดศึกที่บางแก้วจนมิได้กลับมา เฝ้าพระพันปีหลวงตอนสวรรคต เพราะหลักฐานว่าพระเจ้าตากฯ ทรงพระกรรมฐาน ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อคราวที่จัดงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิของ สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงบำเพ็ญฌานบารมีถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระมารดา และหลังจากนั้นก็ทรงปฏิบัติเรื่อยมาอย่างจริงจัง
การบำเพ็ญ "ฌานบารมี" หรือทรง "พระกรรมฐาน" ของพระเจ้าตากฯ จึงเป็นประจักษ์พยานอันสำคัญยิ่ง... ประจักษ์พยานที่ชัดเจนถึงความมุ่งมั่นในพระโพธิญาณ!!
อ้างอิง : หนังสือ "ธรรมะของพระเจ้าตาก" โดย เวทิน ชาติกุล
จาก http://panyayan.tnews.co.th/contents/198336/