ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 28, 2016, 06:07:11 pm »แหม่ม – วิชุดา พินดั้ม “ชีวิตนี้ไม่คิดยืมจมูกคนอื่นหายใจ” (1)
เมื่อสูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ เราสัมผัสได้ถึงความโปร่งเบาของร่างกาย เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย แต่หากวันหนึ่งเราไม่สามารถหายใจได้ด้วยตนเอง เมื่อนั้นความสุขในชีวิตคงหล่นหายไปเช่นกัน
การที่เรายังหายใจได้ด้วยตัวเอง สำหรับ แหม่ม (วิชุดา พินดั้ม) แล้วเปรียบได้กับการที่เรายังพึ่งพาตัวเองได้ รู้จักยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง หรือจะเรียกว่ามีตนเป็นที่พึ่งของตนก็ว่าได้ ตั้งแต่เล็กจนโต แหม่มได้รับการสั่งสอนจากคุณแม่ว่า “เราต้องรู้จักพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อน ถึงจะเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้”
ด้วยความที่เข้ามาอยู่ในวงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 13 -14 ปี ทำให้แหม่มเรียนรู้เรื่องการใช้ชีวิตเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน ชีวิตส่วนใหญ่ที่ต้องอยู่ตามกองถ่ายละครช่วยสอนให้เข้าใจโลกยิ่งกว่าในห้องเรียนหลายร้อยเท่า ได้เห็นอารมณ์และนิสัยใจคอของผู้คน ได้เห็นความโลภ โกรธ หลงที่จริงเสียยิ่งกว่าในละคร จากเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง แหม่มได้ซึมซับเรื่องราวเหล่านี้ไว้จนกลายเป็นความคิดความอ่านและกลายเป็นมุมมองในการใช้ชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน
20 ปีแล้วที่แหม่มเข้ามายืนอยู่ในวงการบันเทิง ได้รับบทบาทต่างๆ มากมายทั้งในละคร ภาพยนตร์ ละครเวที งานโฆษณา และพิธีกร ปัจจุบันหลายคนรู้จักแหม่มในบทบาทของ “เจ้มิ้นท์” ที่ทั้งเค็ม ทั้งเฮี้ยบ แต่จิตใจดีในละครเรื่อง เป็นต่อ
แม้จะเคยได้รับทั้งบทนางเอกและบทนางร้าย แต่ยังไม่มีบทบาทไหนทำให้แหม่มมีความสุขได้เท่ากับการได้รับบทเป็นผู้ให้ในชีวิตจริง เพราะนอกจากจะเป็นผู้ให้กับครอบครัวแล้ว แหม่มยังเป็นผู้ให้กับสังคมอีกด้วย แต่ก่อนที่จะให้คนอื่นได้นั้น ชีวิตของแหม่มก็มีทั้งสุข เศร้าเคล้าน้ำตามาไม่น้อยเช่นกัน
ความจริง…ที่ได้รู้
แหม่มเพิ่งมารู้ว่าตัวเองไม่ใช่ลูกของคุณพ่อคุณแม่ตอนอายุ 17 ปี ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้คิดสงสัยอะไรมากมาย แม้ว่าตอนเด็กๆ จะโดนล้อว่าเป็นเด็กที่ถูกเก็บมาจากถังขยะ แต่แหม่มก็คิดตามประสาเด็กว่า ไม่มีชีวิตของใครเป็นอย่างในหนังเรื่อง ดาวพระศุกร์ หรอก จึงรู้สึกว่าเป็นเรื่อง “ขำๆ” ไม่ได้คิดอะไรมาก จนกระทั่งวันหนึ่งแหม่มและคุณพ่อคุณแม่ได้รับเชิญให้ไปออกรายการ “เที่ยงวันกันเอง” ที่มี พี่แซม – ยุรนันท์ ภมรมนตรี เป็นพิธีกร
รายการนี้เป็นเกมโชว์ที่ถามคำถามเกี่ยวกับครอบครัว ในวันนั้นมีคำถามหนึ่งถามว่า “มีคนชอบล้อว่าแหม่มไม่ใช่ลูกของคุณพ่อคุณแม่ลองพูดให้ลูกชื่นใจหน่อยซิว่า แหม่มเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ใช่หรือเปล่า” คำถามที่ดูเหมือนง่ายนี้ ทุกคนในรายการคาดคิดว่าคำตอบคงเป็นไปอย่างที่เข้าใจว่า “แหม่มเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่” แต่การณ์กลับพลิกผันไปจนทุกคนตกใจ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตอบด้วยคำพูดเรียบๆ ว่า “ไม่ใช่”
ดังนั้นจากที่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองไม่ใช่ลูกที่แท้จริงของคุณพ่อคุณแม่ก็ได้รู้โดยบังเอิญ วันนั้นหากคุณพ่อคุณแม่จะปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับก็ได้ แต่ด้วยความที่ท่านทั้งสองเป็นคนต่างจังหวัด ทำให้คิดว่าการพูดโกหกคนอื่นผ่านสื่อ หากวันหลังโดนจับได้จะเป็นเรื่องใหญ่
หลังตอบคำถามนั้นเสร็จแล้ว ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ร้องไห้อย่างหนัก พูดไปก็ร้องไห้ไป เหมือนเรื่องราวในอดีตคงทำให้ท่านเจ็บปวดมาก แหม่มเห็นทั้งคู่ร้องไห้ก็พลอยร้องตามไปด้วย แต่ด้วยความที่เป็นคนเข้มแข็งมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเห็นคุณพ่อคุณแม่ร้องไห้มากๆ แหม่มก็หยุดร้องไห้ และปลอบท่านว่า “ไม่เป็นไร พอแค่นี้ดีกว่า นี่เป็นเรื่องส่วนตัวภายในครอบครัวของเราแล้วค่ะ” หลังจากนั้นก็อัดรายการนี้ต่อไปตามปกติ นับตั้งแต่นั้นมาแหม่มก็ไม่เคยถามท่านอีกเลยว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร แม้ว่าจะมีหลายคนเข้ามาถามแหม่มถึงเรื่องนี้ แต่แหม่มก็ตอบได้เพียงว่า แหม่มก็ไม่ทราบรายละเอียดจริงๆ และที่ไม่เคยคิดจะถามเพราะคิดว่า
หนึ่ง การที่คุณพ่อคุณแม่พูดออกไป ท่านไม่ได้เต็มใจจะพูดหรือเต็มใจจะเล่า แต่เป็นเพราะสถานการณ์บังคับ สองคือท่านทั้งสองร้องไห้หนักขนาดนี้ แสดงว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สะเทือนใจท่านเป็นอย่างมาก แหม่มจึงไม่อยากจะรื้อฟื้นให้ท่านต้องทุกข์ใจอีก
แหม่มคิดว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่แหม่มจะต้องไปรู้ความจริงบนความทุกข์ของคนที่มีบุญคุณกับแหม่ม แหม่มคิดว่าถ้าวันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่จะเล่าก็คงเล่าให้ฟังเอง แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวแหม่มรู้สึกอึดอัดใจ คือการที่มีคนเดินเข้ามาถามคุณพ่อคุณแม่ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร ลำพังแหม่มคนเดียว แหม่มยังเข้มแข็งพอที่จะบอกว่า “แหม่มก็ไม่ทราบอะไรมาก เรื่องมันคงซับซ้อนมั้ง”
แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่แล้วแหม่มไม่อยากให้ใครถามท่านถึงเรื่องนี้ หรือถามเราต่อหน้าท่าน เพราะแหม่มห่วงความรู้สึกของท่าน แหม่มขอรับรู้ว่าท่านทั้งสองมีพระคุณกับแหม่มก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข เรื่องไหนที่เป็นอดีตก็ปล่อยให้เป็นอดีตไป
ชีวิตนี้ต้องยืนด้วยขาตัวเอง
คุณพ่อคุณแม่ของแหม่มเป็นคนต่างจังหวัดที่มาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ คุณพ่อเป็นคนนครสวรรค์ ส่วนคุณแม่เป็นคนเชียงราย สมัยก่อนคุณพ่อเป็นนักมวยใช้ชื่อว่า “เจนศึก สกุลไทย” คนรุ่นก่อนๆ จะรู้จักและจำได้ว่าคุณพ่อเป็นแชมป์มวยไทย ซึ่งมีโอกาสไปต่อยมวยที่ต่างประเทศอยู่บ่อยๆ สมัยก่อนตอนเด็กๆ เวลาขึ้นแท็กซี่ คนขับแท็กซี่จำคุณพ่อได้ เขาก็จะชื่นชมเหมือนคุณพ่อเป็นดาราหรือฮีโร่ ทำให้แหม่มพลอยภูมิใจในตัวท่านไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้คุณพ่อจะเป็นนักมวย แต่ก็ไม่เคยสอนเรื่องเตะต่อยให้แหม่มเลย เพราะท่านมีความรู้สึกว่าแหม่มเป็นลูกผู้หญิง อยากให้เรียนรู้เรื่องอื่นมากกว่า ส่วนสิ่งที่ท่านสอนคือเรื่องของความเข้มแข็งอดทน สอนให้อดทนด้วยการฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาในชีวิตให้ได้
สำหรับตัวท่านเองเป็นแบบอย่างในเรื่องการช่วยเหลือคนอื่น ท่านมีน้ำใจกับคนรอบข้างเสมอ แม้ว่าตัวเองจะต้องลำบาก แต่ก็ต้องช่วยเหลือคนอื่นให้ได้ ด้วยเหตุนี้คุณพ่อจึงเป็นที่รักของคนรอบข้าง แม้ว่าฐานะของครอบครัวเราจะค่อนข้างลำบาก เรียกได้ว่าหาเช้ากินค่ำ แต่คำสอนหนึ่งของคุณแม่ที่ยังติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้คือ “ให้อดตายก็ห้ามยืมเงินใคร”
จำได้ว่าตอนเด็กๆ เรียนอยู่ ป. 1 เคยยืมเงินเพื่อนแล้วเพื่อนมาทวงที่บ้าน คุณแม่รู้เข้าก็โดนลงโทษและสอนด้วย คำพูดประโยคนี้ แหม่มจดจำคำสอนนี้มาจนโต ในชีวิตไม่เคยเอ่ยปากยืมเงินใคร และในชีวิตก็ไม่เคยถึงจุดอับจน ไม่มีความคิดว่าต้องพึ่งคนอื่น มีแต่ความคิดว่าเราต้องยืนด้วยลำแข้งของเราให้ได้ แหม่มเชื่อว่า ถ้าเรามานั่งคิดว่าเดี๋ยวไม่มีเงินก็ขอยืมคนนั้นคนนี้ได้ ถ้าคิดแบบนี้ก็ต้องพึ่งคนอื่น ยืมจมูกคนอื่นหายใจไปเรื่อยๆ สมมุติยืมคนนี้เสร็จ ยืมได้ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สองเขาก็ไม่มีให้เราแล้ว เราก็ต้องไปยืมคนโน้นคนนี้ต่อไปอีก แต่ถ้าเราไม่เคยหยิบยืมเงินใคร เมื่อเราเดือดร้อนจริงๆ ก็จะมีคนยื่นมือมาช่วยเราเอง เพราะเขารู้ว่าเราไม่เคยเรียกร้อง แต่ที่สำคัญเราต้องรู้จักช่วยเหลือคนอื่นด้วย ไม่ใช่เห็นแก่ตัวไม่เคยช่วยเหลือใคร แล้วใครที่ไหนจะมาช่วยเหลือเรา
แหม่มคิดว่าการช่วยเหลือกันของคนในสังคม ไม่ว่าจะเพื่อนช่วยเพื่อนหรือการช่วยคนที่ไม่รู้จักเป็นบุญอย่างหนึ่งเพราะทำให้จิตใจเรามีความสุข เช่นเดียวกับที่แหม่มเริ่มต้นช่วยคนอื่นด้วยการ “ถักไหมพรม” หรือถักนิตติ้ง
ความจริงแล้วความคิดในการทำบุญของแหม่มมาจากการที่เห็นคุณพ่อป่วย ท่านป่วยเป็นอัมพฤกษ์เดินไม่ได้ ด้วยความเป็นลูก แหม่มก็อยากให้ท่านหายเป็นปกติ จึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้อาการของท่านดีขึ้น นอกจากรักษาทางการแพทย์แล้ว แหม่มพยายามทำบุญมากขึ้น ทั้งปล่อยนกปล่อยปลา ทำบุญใส่บาตร ไปวัดปฏิบัติธรรม นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำบุญในรูปแบบอื่นๆ ตามมา
ตอนแรกแหม่มถักนิตติ้งไม่เป็นเลยแม้แต่นิดเดียว จนวันหนึ่งคิดอยากถักขึ้นมาเฉยๆ จึงไปซื้อไหมพรมที่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีบริการสอนถักนิตติ้งด้วย แรกๆ เรียนไปเหมือนจะจำได้ แต่พอกลับถึงบ้านก็ลืม แหม่มจึงใช้วิธีเปิดอินเทอร์เน็ตเพื่อศึกษาด้วยตัวเอง สมัยนั้นเว็บไซต์ที่สอนถักนิตติ้งมีแต่ภาษาอังกฤษ แม้แหม่มจะหน้าตาเป็นฝรั่ง แต่ความรู้ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ดีมากนัก แต่เมื่อตัดสินใจว่าต้องทำให้ได้แหม่มก็ตะลุยแปลศัพท์ภาษาอังกฤษ พร้อมๆ กับหัดถักนิตติ้งไปด้วย แทบไม่น่าเชื่อ เช้าของอีกวัน ด้วยความพยายามและเอาจริงเอาจัง แหม่มก็ถักนิตติ้งเป็นจนได้
เมื่อถักเป็นแล้ว คราวนี้เริ่มนำไปถักระหว่างพักในกองถ่ายละครหลายคนเห็นเข้าก็สนใจ แหม่มจึงช่วยสอนด้วยวิธีง่ายๆ ในแบบของแหม่ม เมื่อสอนคนอื่นมากๆ เข้า แหม่มเกิดความคิดว่า เราน่าจะสอนคนรอบข้างเราให้ไปสอนคนอื่นๆ ได้ด้วยคงจะดี เพราะบางคนที่ตกงานก็น่าจะทำเป็นอาชีพได้
และแล้วหลังจากนั้น การถักไหมพรมเล่นๆ ของแหม่มก็กลายเป็นงานบุญขึ้นมา งานบุญที่ว่านี้เปลี่ยนแปลงชีวิตแหม่มไปมากมาย…
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
Secret Box
“ถ้าไม่ทำความดี ชีวิตอยู่ร้อยปีก็ไม่มีค่า”
วิชุดา พินดั้ม
จาก http://www.secret-thai.com/article/inspiration-story/2173/mam-vichuda1/
แหม่ม – วิชุดา พินดั้ม “ชีวิตนี้ไม่คิดยืมจมูกคนอื่นหายใจ”(จบ)
ก่อนหน้านี้แหม่ม (วิชุดา พินดั้ม)ไม่เชื่อเรื่องเวรกรรมมากนัก คิดแต่เพียงว่า ถ้าเราจริงใจกับใคร เขาก็คงจริงใจตอบ แต่ความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะบางครั้งอาจมีกรรมไม่ดีบางอย่างที่เราเคยกระทำกับเขามาแต่ชาติปางไหนก็ไม่ทราบติดตามมาด้วย และนี่ก็เป็นสาเหตุที่เราต้องมาใช้หนี้เวรร่วมกันในชาตินี้
เมื่อคุณพ่อล้มป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์และตัวเองต้องตกเป็นข่าวทะเลาะกับคนอื่น ความจริงที่ว่ากรรมเวรมีจริงก็ปรากฏให้แหม่มเห็นอย่างเด่นชัด ในช่วงที่คุณพ่อป่วย นอกจากแหม่มจะพาไปหาหมอเพื่อทำกายภาพบำบัดอาทิตย์ละ 3 วันแล้ว แหม่มก็คิดว่าเราน่าจะทำบุญ เพื่อขอให้ผลบุญหนุนส่งให้ท่านหายจากอาการเจ็บป่วยโดยเร็ว
ทำบุญเพื่อพ่อ
เมื่อถักไหมพรมเป็นแล้ว แหม่มก็ช่วยสอนคนอื่น ตอนแรกไม่ได้คิดอะไรมาก ใครอยากถักก็สอนให้ จนนานวันเข้ามีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับวันหนึ่งแหม่มนั่งดูทีวี วันนั้นมี น้องเจี๊ยบ – สุนันทา แซ่เฮ้า ที่ถูกรถมินิบัสทับจนพิการมาออกรายการ ฟังเรื่องราวของเขาแล้วแหม่มก็ร้องไห้ เพราะมีความรู้สึกว่า เด็กคนนี้จิตใจเข้มแข็งมากทำให้แหม่มพลอยรู้สึกมีกำลังใจตามไปด้วย เลยคิดอยากตอบแทนเขาที่เขาสอนเราทางอ้อม ด้วยการทำหนังสือเกี่ยวกับไหมพรมที่เราถนัดออกจำหน่าย อย่างน้อยๆ ก็มีประโยชน์กับคนที่อ่าน แล้วก็จะได้นำเงินนี้ไปช่วยเหลือน้องเจี๊ยบ
หลังจากนั้นไม่นาน แหม่มก็ได้รับรู้เรื่องราวของ คุณป้าสำรวย โตพฤกษา ซึ่งเลี้ยงสุนัขนับร้อยๆ ตัวอยู่ที่จังหวัดนครนายก พอไปเจอตัวได้พูดคุยแล้ว แหม่มรู้สึกทึ่งในความรักสัตว์ของป้า เพราะว่าแหม่มก็รักสุนัข ที่บ้านคุณแม่เลี้ยงสุนัขเป็นสิบๆ ตัวเหมือนกัน ด้วยความที่อยากช่วยเหลือทั้งน้องเจี๊ยบและคุณป้า แหม่มจึงแบ่งรายได้จากการจำหน่ายหนังสือ “ยานวิเศษ” ให้กับทั้งสองท่าน
แหม่มไม่รู้ว่าการช่วยเหลือคนอื่นจะเป็นการทำบุญที่มีอานิสงส์มากแค่ไหน รู้แต่เพียงว่า สิ่งนี้ทำให้แหม่มมีกำลังใจในการดูแลคุณพ่อคุณแม่ของตัวเอง และการได้ช่วยคนที่อ่อนแอกว่าทำให้แหม่มสบายใจ จนวันหนึ่งแหม่มก็เริ่มอยากทำบุญอย่างจริงจังมากขึ้น จึงไปปรึกษา พี่แหม่ม – พัชรี พรหมช่วย พิธีกรรายการ “โต๊ะข่าวบันเทิง”ว่าอยากทำงานช่วยเหลือสังคม เพื่อจะได้อนุโมทนาบุญที่ทำให้คุณพ่อ ที่สุดจึงกลายมาเป็นโครงการ “อิ่มบุญ อุ่นใจ ด้วยไหมพรม” โดยมีรายการโต๊ะข่าวบันเทิงช่วยประชาสัมพันธ์และจัดการด้านต่างๆ ให้ เช่น เรื่องสถานที่ ซึ่งขออนุญาตใช้อาคารของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในการจัดงาน นอกจากนั้นงานนี้ยังมีผู้ใหญ่อีกหลายท่านให้การสนับสนุน โดยเฉพาะผู้บริหารของสถานีแห่งนี้
“อิ่มบุญ อุ่นใจ ด้วยไหมพรม” เป็นงานที่แหม่มชักชวนให้คนที่ถักไหมพรมเป็นและไม่เป็นมาร่วมกันถักไหมพรมร่วมกัน โดยคนที่ถักเป็นมี 50 คนแล้วสอนให้คนที่ถักไม่เป็นอีก 100 คน หรือคนไหนไม่มีเวลามาร่วมงานในวันนั้น ก็อาจนั่งถักอยู่ที่บ้าน แล้วส่งงานที่ทำเสร็จแล้วมาก็ได้
งาน “อิ่มบุญ อุ่นใจ ด้วยไหมพรม” ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 แหม่มชักชวนให้ช่วยกันถักหมวกไหมพรมเพื่อมอบให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ผ่านการทำคีโมมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะร่วง รวมทั้งถักหมวกถวายพระธุดงค์ สำหรับไว้ใช้ในหน้าหนาว ส่วนงาน “อิ่มบุญ อุ่นใจ ด้วยไหมพรม” ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด แหม่มก็ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลต่างๆ และจากทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เช่นเดิม ครั้งนี้นอกจากจะชักชวนให้ผู้ใจบุญร่วมกันถักหมวกแล้ว แหม่มและคนอื่นๆ ยังได้ร่วมกันถักอังสะเพื่อถวายพระเพิ่มด้วย โดยงานนี้ คุณอรัญญา มาลีนนท์ นำทีมผู้จัดละครและดารา – นักแสดงของช่อง 3 รวมไปถึงแฟนๆ รายการโต๊ะข่าวบันเทิง มาร่วมใจกันถวายหมวกไหมพรมที่ถักเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงเครื่องอัฐบริขารและเครื่องยาเวชภัณฑ์ ให้ “พระครูวินัยธรนิคม สิริวฑฺฒโน” ประธานศูนย์ปฏิบัติธรรม เทิดพระเกียรติ พระธุดงค์ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตำบลวังม่วง จังหวัดนครราชสีมา
หลายคนอาจคิดว่าการทำบุญต้องใช้เงินมาก แต่สำหรับแหม่มยิ่งทำบุญก็ยิ่งมีแต่ได้ (แบบไม่ได้ตั้งใจ) จากแต่ก่อนที่คนรู้จักแหม่มว่า เป็นดาราที่ชอบถักไหมพรม ก็กลายมาเป็น “แหม่ม – วิชุดาคนนี้ไงที่ถักหมวกถวายพระ” ฟังแล้วรู้สึกดีใจและภูมิใจที่งานอดิเรกของเราซึ่งเป็น แค่สิ่งเล็กๆ ได้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับคนอื่นๆ ในสังคม
นอกจากนั้น บางปีแหม่มจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้ซื้อไหมพรมเพื่อถักหมวกถวายพระ เช่นปีที่แล้วแบ่งไว้ 8,000 บาท เมื่อมีคนรู้ว่าแหม่มทำบุญด้วยวิธีนี้ หลายคนที่ถักไหมพรมไม่เป็นและไม่มีเวลาก็พยายามช่วย บางคนบอกกับแหม่มว่า “แหม่ม…พี่ถักไม่เป็น พี่พยายามแล้ว พี่ให้ 500 บาทไว้ซื้อไหมพรมละกันนะ” พอมีคนหนึ่งให้ เดี๋ยวคนโน้นคนนี้ที่แหม่มรู้จักก็ให้ตามกันมา มีร้อยก็ให้ร้อย มีพันก็ให้พัน จนเงินที่ได้มามากเกินกว่าที่แหม่มตั้งใจไว้ว่าจะใช้ซื้อไหมพรม เงินส่วนเกินนี้ แหม่มก็นำไปถวายพระอีกต่อหนึ่งจนหมดทุกบาททุกสตางค์
ทำบุญแต่ละครั้งแหม่มจึงไม่เคยมีคำว่าขาดทุน การลงแรงกายแรงใจของแหม่ม ผลที่ได้กลับคืนมานั้นมีแต่คนชื่นชมยินดีและอนุโมทนาสาธุด้วย และทุกวันนี้ ด้วยผลบุญนี้ก็ทำให้คุณพ่ออาการดีขึ้น ซึ่งทำให้แหม่มพลอยมีความสุขไปด้วยค่ะ
กรรมร้ายที่ต้องชดใช้
แต่ในขณะที่ชีวิตได้ทำกรรมดี กรรมไม่ดีบางอย่างที่แหม่มก็นึกไม่ออกว่าเคยทำมาตั้งแต่ชาติปางไหนก็ตามมาให้ผลแหม่มมีข่าวปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีเรื่องขัดแย้งกับพิธีกรท่านหนึ่ง สื่อต่างๆ เขียนข่าวว่าเป็นเพราะแย่งชิงคนรัก แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือเรื่องการเอารัดเอาเปรียบกัน ยิ่งเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ แหม่มไม่ยอม เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งมันกลายเป็นเรื่องของจิตใจ เรื่องของความไม่ยุติธรรม ในขณะที่แหม่มพยายามจะเคลียร์กับฝ่ายตรงข้าม แต่เขากลับไม่ต้องการ
แหม่มคิดว่าทำไมเราต้องเป็นศัตรูกับคนคนหนึ่งด้วยเรื่องแค่นี้ เราไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนรักกัน หรือเจอกันแล้วไม่ต้องเข้าไปกอดกันก็ได้ แหม่มไม่ได้ต้องการยื้อแย่งแข่งขันกับใคร แต่ทุกวันนี้ต้องกลายเป็นศัตรูกันไปโดยปริยาย ต่างคนต่างอยู่ เพราะอีกฝ่ายไม่พร้อมจะเปิดใจกับแหม่ม
สุดท้ายเมื่อทำอะไรไม่ได้แล้ว แหม่มก็ได้แต่ทำใจว่าชาติที่แล้ว เราคงทำเขาไว้ ชาตินี้เขาถึงมาเอาคืน แหม่มอยากให้เราอโหสิกรรมแก่กัน แล้วอยากบอกว่าเรามาทำดีให้กันเถอะ เราจะมีชีวิตอีกสักกี่ปีกี่วัน ก็ไม่มีใครรู้ได้ ทุกวันนี้แหม่มจึงไม่พยายาม “ต่อกรรม” ให้ยืดเยื้ออีกต่อไป และหวังว่าเรื่องราวจะจบลงแต่เพียงเท่านี้
อย่างไรก็ตาม เพื่อนที่รู้จักแหม่มจะรู้ว่าแหม่มเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย ไม่กลัวอะไร นิสัยคล้ายผู้ชาย ลุยๆ ไม่จุกจิกหยุมหยิมและเป็นคนจริงใจ ไม่ซับซ้อน ถ้าแหม่มให้ใจใครแล้ว แหม่ม “ให้”จนคน “รับ” อาจตกใจว่าทำไมต้องทำดีขนาดนี้ แต่นั่นเป็นความรู้สึกจากใจของแหม่มจริงๆ ส่วนเวลาไม่เข้าใจอะไร แหม่มก็จะถามตรงๆ บางครั้งน้ำเสียงท่าทางอาจเหมือนหาเรื่อง แต่ความจริงไม่มีอะไร ที่ถามเพราะไม่รู้จริงๆ ค่ะ
ทุกวันนี้แหม่มใช้ชีวิตอยู่บนความจริง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดไม่ยึดติดกับอะไรมาก และพยายามทำแต่สิ่งดีๆ เพื่อคุณพ่อคุณแม่เพราะถ้าไม่มีท่าน แหม่มก็ไม่อาจมีวันนี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น แหม่มยังจินตนาการไม่ออกเลยว่าวันหนึ่งถ้าไม่มีท่านทั้งสองแล้วชีวิตจะเป็นอย่างไร
เมื่อเติบโตขึ้น หลายคนอาจคิดถึงการแต่งงานมีครอบครัว แต่สำหรับแหม่ม คุณพ่อและคุณแม่คือครอบครัว คือทุกสิ่งทุกอย่างของแหม่ม และแหม่มจะขอมีชีวิตเพื่อทดแทนพระคุณของท่านทั้งสองค่ะ
Secret Box
“การรู้จักเอาตัวรอดเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องกลายเป็นคนแข็งกระด้าง ลองมีน้ำใจกับคนรอบข้างบ้าง แล้วชีวิตจะมีความสุขเอง”
แหม่ม – วิชุดา พินดั้ม
จาก http://www.secret-thai.com/article/2182/mam-vichuda2/