ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
ระหว่างความดีกับความไม่ดี เราจะเลือกทำสิ่งใดจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้จริง ( เลือกตอบแค่ ความดี กับ ความไม่ดี ครับผม):
คนที่มีจิตใจอ่อนโยนส่วนใหญ่มัก คิดถึงสิ่งใดก่อนเสมอ  ( เลือกตอบแค่ ตัวเอง กับ คนอื่น ครับผม ):
คุณเชื่อในศรัทธาของความดีไหมครับ ( เลือกตอบแค่ เชื่อ กับ ไม่เชื่อ ครับผม):
ถ้าเราโกรธใคร ธรรมะจะเป็นหนทางผ่อนคลายความโกรธนั้นลงได้ใช่ไหม ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม ):
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ นิยมใช้คำว่า (อนุโมทนา) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ อนุโมทนา:
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
เมื่อให้ท่านเลือก ระหว่าง (หนังสือเก่าๆเล่มหนึ่งที่เรารัก) กับ (มิตรแท้ที่รักเรา) คุณจะะเลือก:
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ใต้ร่มธรรมเองก็จะเป็นไปตามวัฐจักรนี้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น (เป็นจริง) หรือ (ไม่จริง):
ธรรมะคือ ธรรมชาติ พิมพ์คำว่า (ธรรมะชาติ) ครับ:
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 31, 2016, 04:54:50 am »



สาเหตุที่ทำให้ชาวมอญต้องอพยพ

ชาวมอญที่อพยพออกจากดินแดนถิ่นกำเนิดนั้น สาเหตุที่สำคัญคือการตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพม่า ถูกบีบคั้นทางการเมือง ความเดือดร้อนจากการถูกกดขี่ เกณฑ์แรงงานไปใช้ในการก่อสร้าง ทำการเกษตรรวบรวมเสบียงอาหารให้กองทัพพม่าก่อนการยกทัพเข้าทำสงครามกับชาติต่างๆ มากกว่าจะเป็นความเดือดร้อนจากเรื่องการทำมาหากิน หรือเพราะประชากรเพิ่มจำนวนสูง จนประสบปัญหาที่ทำกิน มีผลผลิตไม่เพียงพอ ทั้งนี้เพราะภูมิประเทศของมอญมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ สภาพเศรษฐกิจจึงอยู่ในระดับมั่งคั่ง ไม่เดือดร้อน ส่วนการที่ชาวมอญเลือกอพยพเข้ามาไทยเป็นหลักมากกว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ นั้น เนื่องจากพื้นที่ของมอญและไทยต่อเนื่องกัน สภาพภูมิอากาศคล้ายกัน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีอาหารการกิน วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีก็เหมือนกัน ที่สำคัญคือ นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน จึงสามารถปรับตัวได้ง่ายเมื่อเข้ามาอยู่ในไทย ประกอบกับไทยมีความรู้สึกเป็นมิตร ไม่มีนโยบายกีดกันชาวมอญ รวมทั้งพระมหากษัตริย์ไทยยินดีต้อนรับชาวมอญให้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเสมอ ชาวมอญเหล่านี้ทราบดีว่ามอญที่ได้อพยพเข้ามาก่อนหน้านั้น ล้วนได้รับการปฏิบัติอย่างดี หลายคนได้รับราชการเป็นขุนนางระดับสูง การอพยพครั้งสำคัญของชาวมอญเข้ามาตั้งหลักแหล่งในไทยมี 9 ครั้ง ดังนี้

การอพยพครั้งที่ 1 (สมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช พ.ศ. 2082)

เมื่อพระเจ้าตะเบงชเวตี้ทำสงครามชนะ มีอำนาจเหนืออาณาจักรหงสาวดี ชาวมอญจำนวนมากพากันอพยพหลบหนีเข้ามายังพระราชอาณาจักรไทย พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯให้ชาวมอญกลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบชานพระนครกรุงศรีอยุธยา

การอพยพครั้งที่ 2 (สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา พ.ศ. 2127)

สืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง นายทหารมอญคือพระยาเกียรติ์ พระยาราม และพระมหาเถรคันฉ่องได้เข้ามาสวามิภักดิ์สมเด็จพระนเรศวร หลังจากนั้นสมเด็จพระนเรศวรจึงชักชวนพระยาเกียรติ์พระยาราม และพระมหาเถรคันฉ่องเข้ามาไทย อีกทั้งชาวเมืองแครงและชาวมอญในเมืองรายทางที่เกลียดชังพม่าเพราะถูกกดขี่มานานจึงอพยพตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามาเป็นจำนวนมาก

การอพยพครั้งที่ 3 (สมัยสมเด็จพระนเรศวร พ.ศ. 2136)

สาเหตุเกิดจากความเดือดร้อนที่ชาวมอญได้รับจากภาวะสงคราม เนื่องจากพม่าสมัยพระเจ้านันทบุเรงพยายามยกทัพเข้ามาปราบปรามเอาชนะไทยหลายครั้งแต่พ่ายแพ้กลับไปทุกครั้ง ทำให้ต้องเกณฑ์พลเมืองเข้ากองทัพเพื่อทำนาและเป็นทหาร ซึ่งชาวมอญเป็นพวกที่เดือดร้อนที่สุดเนื่องจากอยู่ตรงแดนต่อระหว่างไทยกับพม่า ชาวมอญจึงพากันอพยพหนีพม่าเข้ามายังพระราชอาณาจักรไทย

การอพยพครั้งที่ 4 (สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2175)

สาเหตุเกิดจากชาวมอญถือโอกาสที่พม่าผลัดแผ่นดินจึงก่อกบฏขึ้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จถูกพม่าจับประหารชีวิตเป็นจำนวนมาก ชาวมอญจึงพากันอพยพเข้ามายังพระราชอาณาจักรไทย

การอพยพครั้งที่ 5 (สมัยสมเด็จพระนารายณ์ พ.ศ. 2203)

สาเหตุเกิดจากกองทัพจีนฮ่อซึ่งยึดบัลลังก์จากจักรพรรดิ์ยุ่งลีของจีนได้ จักรพรรดิ์ยุ่งลีหนีมาอาศัยอยู่ในดินแดนพม่า กองทัพฮ่อไม่พอใจจึงตามเข้ามาโจมตีพม่า พม่าจึงเกณฑ์ชาวมอญขึ้นไปช่วยรักษาเมืองอังวะ แต่ชาวมอญพากันหนีทัพ พม่าจึงยกกองทัพมาปราบจับชาวมอญฆ่าเผาไฟอย่างโหดเหี้ยม ชาวมอญได้อพยพหนีเข้ามายังพระราชอาณาจักรไทย ร่วม 10,000 คน

การอพยพครั้งที่ 6 (สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2290)

สาเหตุเกิดจากความอ่อนแอของพม่าปลายราชวงศ์ตองอู ขณะที่พม่าต้องประสบภาวะสงครามจีนฮ่อและไทย มอญก็ถือโอกาสรวบรวมกำลังและประกาศอิสรภาพใน พ.ศ. 2283 ภายใต้การนำของสมิงทอพุทธเกษ หลังจากตั้งมั่นที่หงสาวดีได้แล้ว มอญคิดจะขยายอาณาเขตออกไปทางเหนือ เพื่อทำลายล้างอาณาจักรพม่าที่อังวะซึ่งกำลังอ่อนแอให้ราบคาบ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ มอญจึงเริ่มอพยพเข้ามายังพระราชอาณาจักรไทย และอพยพติดตามมาเป็นระลอกย่อยๆ หลายครั้งเมื่อกองทัพพม่าตีโต้กลับมาและปราบปรามอย่างหนัก

การอพยพครั้งที่ 7 (สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ. 2317)

สาเหตุเกิดจากพม่าสมัยราชวงศ์อลองพญาได้เกณฑ์แรงงานมอญเข้ากองทัพเพื่อเตรียมเส้นทางเตรียมยกทัพเข้าโจมตีไทย มีพระยาเจ่ง เจ้าเมืองเตรินเป็นหัวหน้า ทหารมอญอีกส่วนหนึ่งถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารประจำกองทัพ แต่พากันหนีทัพ พม่าจึงจับครอบครัวทหารมอญไปเป็นตัวประกัน และพลอยจับเอาครอบครัวของทหารที่สร้างทางไปด้วย เมื่อทหารเหล่านั้นทราบเข้าจึงไม่พอใจเป็นอย่างมาก ก่อกบฏขึ้นรุกตีเอาเมืองคืนจากพม่า แต่ยกทัพขึ้นไปได้เพียงเมืองย่างกุ้ง (ตะเกิง) พม่าส่งกองทัพมาปราบ พวกมอญสู้ไม่ได้และอพยพเข้ายังพระราชอาณาจักรไทยจำนวนหลายพันคน

การอพยพครั้งที่ 8 (สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. 2358)

สาเหตุเกิดจากพระเจ้าปดุงของพม่า ต้องการสร้างพระเจดีย์มินกุนให้เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงได้เกณฑ์แรงงานเป็นจำนวนมาก ชาวมอญได้รับความเดือดร้อนสาหัส เพราะไม่มีเวลาทำมาหากิน ถูกรีดไถเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่พม่าที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ชาวมอญจึงพากันอพยพเข้าไทย จำนวนกว่า 40,000 คนเศษ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏ ไปรับครัวมอญทางด่านเจดีย์สามองค์

การอพยพครั้งที่ 9 (สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2367)

สาเหตุเกิดจากเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดกองทัพออกไปรับครอบครัวมอญที่เป็นญาติพี่น้องจากเมืองมอญ เนื่องจากขณะนั้นพม่ากำลังรบพุ่งอยู่กับอังกฤษ ซึ่งพื้นที่บางส่วนตกเป็นของอังกฤษแล้ว เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เกรงว่าญาติพี่น้องของตนจะเกิดอันตราย ซึ่งการอพยพครั้งนั้นมีจำนวนชาวมอญเข้ามายังพระราชอาณาจักรไทยไม่มากนัก และเป็นการอพยพครั้งสุดท้ายก่อนพม่าตกเป็นของอังกฤษ

เส้นทางอพยพเข้าสู่ประเทศไทย

มอญที่อพยพเข้ามายังพระราชอาณาจักรไทย โดยมากเป็นมอญจากเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญ เป็นศูนย์กลางการค้า มีความอุดมสมบูรณ์ มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงถูกพม่าควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น เมืองเมาะตะมะ และ เมืองมะละแหม่ง เมืองเหล่านี้อยู่ใกล้ชายแดนไทย มีเส้นทางติดต่อค้าขายมาแต่สมัยโบราณ ชาวมอญคุ้นเคยเส้นทางเหล่านี้ดี จึงสามารถเดินทางมาได้สะดวก ประกอบกับมอญในเมืองเมาะตะมะถูกพม่าบีบคั้นกดดันมากกว่าเมืองอื่น เพราะถูกพม่าใช้เป็นที่ประชุมพล ก่อนยกทัพเข้าตีไทย นอกจากมอญเมืองเมาะตะมะ และเมืองมะละแหม่ง ยังประกอบด้วยชาวมอญจากเมืองหงสาวดี เมืองเร (เย) เมืองแครง เป็นต้น

เส้นทางการอพยพของชาวมอญเข้าสู่ไทย มีด้วยกัน 4 ทางโดยตั้งต้นจากเมืองเมาะตะมะ และเมืองมะละแหม่ง ได้แก่

(1) ทางเหนือ อพยพเข้ามายังเมืองตาก หรือ เมืองระแหง ทางด่านแม่ละเมา เช่น การอพยพในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. 2317 มีสมิงสุหร่ายกลั่นและพระยาเจ่งเป็นหัวหน้า

(2) ทางใต้ อพยพเข้ามายังเมืองกาญจนบุรี ทางด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้กันมาก ทั้งเป็นเส้นทางการค้า การเดินทัพ ทั้งของฝ่ายไทยและฝ่ายพม่า เช่น การอพยพในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และการอพยพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

(3) เข้ามาทางเมืองอุทัยธานี เช่น การอพยพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นการอพยพครั้งใหญ่ อพยพกันเข้ามาหลายเส้นทาง

(4) เข้ามาทางเมืองเชียงใหม่ เช่น การอพยพในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2290 มีพระยาพระราม พระยากลางเมือง และพระยาน้อยวันดีเป็นหัวหน้า โดยตัดมาทางตะวันตกเข้าเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่ส่งลงมาทางเมืองตาก และเจ้าเมืองตากได้ทำหนังสือส่งต่อมาถึงอยุธยา

จากหลักฐานที่ทางการไทยบันทึกไว้ การอพยพของมอญมายังพระราชอาณาจักรไทย มีการจดบันทึกเอาไว้ 9 ครั้ง คือ สมัยอยุธยา 6 ครั้ง สมัยธนบุรี 1 ครั้ง และสมัยรัตนโกสินทร์ 2 ครั้ง อพยพเข้ามาโดยมีสาเหตุและเส้นทางการอพยพเข้ามาที่แตกต่างกันไป

นโยบายทางการไทยที่มีต่อผู้อพยพชาวมอญ

เมื่อชาวมอญมีความเดือดร้อนเพราะถูกกดขี่ข่มเหงจากพม่า ก็มักจะมีหนังสือลับเข้ามากราบบังคมทูลฯต่อพระมหากษัตริย์ไทยก่อน เพื่อขออพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

นโยบายของทางการไทยที่มีต่อชาวมอญอพยพ คือ ยินดีต้อนรับ เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มแรงงานการผลิตในภาคเกษตรกรรมแล้ว ยังเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันและสร้างอาณาจักรไทยให้เข้มแข็ง ทางการไทยจะจัดเตรียมกองทัพพร้อมเสบียงอาหารออกไปรับชาวมอญอพยพ เมื่อชาวมอญเข้ามาอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารแล้ว พระมหากษัตริย์ไทยจะพระราชทานที่ดิน อุปกรณ์ก่อสร้างและจัดสถานที่ให้ปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัย โดยมากเป็นย่านริมน้ำและใกล้พระนครหรือชานพระนคร เนื่องจากสะดวกต่อการสัญจร และมีความอุดมสมบูรณ์ในการดำรงชีวิต ส่วนหัวหน้าชาวมอญที่นำครอบครัวมอญเข้ามาก็มักได้รับพระราชทานรางวัล  ตำแหน่งบรรดาศักดิ์ตามที่ได้รับเมื่อครั้งอยู่ในเมืองมอญ ตั้งตำแหน่งหัวหน้าให้ดูแลปกครองกันเอง และให้สิทธิในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และการประกอบอาชีพโดยอิสระ

สถานที่อยู่อาศัยของชาวมอญในเมืองไทย

การอพยพครั้งที่ 1 (สมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช พ.ศ. 2082) เมื่อพระเจ้าตะเบงชเวตี้ทำสงครามชนะ มีอำนาจเหนืออาณาจักรหงสาวดี ชาวมอญจำนวนมากพากันอพยพหลบหนีเข้ามายังพระราชอาณาจักรไทย พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯให้ชาวมอญกลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบชานพระนครกรุงศรีอยุธยา

การอพยพครั้งที่ 2 (สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา พ.ศ. 2127) ชาวมอญได้รับการโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านใหม่มะขามหย่อง บางลี่ บางขาม ปากน้ำประสบ บ้านบางเพลิง บ้านไร่ ป่าฝ้าย ส่วนครอบครัวพระยาเกียรติ์พระยาราม ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านขมิ้นใกล้พระอารามวัดขุนแสน ใกล้พระราชวัง ครอบครัวและญาติโยมของพระมหาเถรคันฉ่อง ให้ตั้งบ้านเรือนที่ตำบลหัวแหลม ใกล้วัดนก วัดค้างคาว อยู่ใกล้กับวัดสบสวรรค์

การอพยพครั้งที่ 3 (สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ.ศ. 2136) การอพยพครั้งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าชาวมอญได้รับการโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใด แต่คาดว่าให้อยู่แถบชานเมืองรวมกับพวกที่อพยพเข้ามาก่อนหน้านั้น

การอพยพครั้งที่ 4 (สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2175) การอพยพครั้งนี้ไม่ปรากฏในเอกสารฝ่ายไทย มีแต่เอกสารพม่าเป็นหลัก จึงไม่มีหลักฐานระบุว่าโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใด แต่คาดว่าให้อยู่แถบชานเมืองรวมกับพวกที่อพยพเข้ามาก่อนหน้านั้น

การอพยพครั้งที่ 5 (สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2203) ชาวมอญได้รับการโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านสามโคก ปลายเขตแดนกรุงศรีอยุธยาต่อกับเมืองนนทบุรี บางส่วนอยู่ที่วัดตองปุและแถวริมคลองคูจามชานพระนคร

การอพยพครั้งที่ 6 (สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2290) การอพยพครั้งนี้มากันหลายระลอก ไม่ปรากฏหลักฐานว่าชาวมอญได้รับการโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใด แต่คาดว่าให้อยู่แถบชานเมืองรวมกับพวกที่อพยพเข้ามาก่อนหน้านั้น

มอญที่อพยพเข้ามาสมัยอยุธยา ส่วนใหญ่จะได้รับการโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แถบชานพระนครหรือบริเวณใกล้เคียงที่ไม่ห่างจากกรุงศรีอยุธยามากนัก เช่น ปลายเขตแดนต่อกับจังหวัดปทุมธานี

การอพยพครั้งที่ 7 (สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. 2317) ชาวมอญได้รับการโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนทบุรี และสามโคกแขวงเมืองปทุมธานี หัวหน้ากลุ่มจะได้รับพระราชทานยศศักดิ์ให้ทุกคน และได้ตั้งบ้านเรือนรอบกรุงธนบุรี ใกล้เขตพระราชฐานทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

การอพยพครั้งที่ 8 (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. 2358) ชาวมอญได้รับการโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่แขวงเมืองปทุมธานี เมืองนนทบุรี และเมืองนครเขื่อนขันธ์

การอพยพครั้งที่ 9 (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2367) ชาวมอญกลุ่มนี้มีเพียงเล็กน้อย และเป็นญาติกับเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) จึงได้รับการโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งมีมอญอยู่เป็นจำนวนมาก

มอญในภาคกลางของไทย

มอญที่อพยพเข้ามาในเมืองไทยตามที่ปรากฏพระราชพงศาวดารทุกครั้ง พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในภาคกลางของไทยทั้งสิ้น โดยเฉพาะมอญที่อพยพเข้ามาสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่จะได้รับพระราชทานที่ดินทำกินบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดปทุมธานีลงมาจนถึงจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนตามลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำท่าจีน

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ สร้างป้อมปราการที่ปากน้ำ ในครั้งนี้ได้ตัดเอาท้องที่แขวงกรุงเทพมหานครกับแขวงเมืองสมุทรปราการ รวมกันตั้งเป็นเมืองใหม่ แล้วพระราชทานชื่อว่า “เมืองนครเขื่อนขันธ์” (อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ) และให้ย้ายชาวมอญเมืองปทุมธานีพวกเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ที่อพยพเข้ามาสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชไปอยู่ เมื่อสร้างเมืองและป้อมค่ายเสร็จแล้วจึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งสมิงทอมา บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นพระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม ผู้รักษาเมือง

ต่อมาพ.ศ. 2371 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) ไปสร้างป้อมที่ปากคลองมหาชัย และให้แบ่งครอบครัวชาวมอญในเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ไปตั้งบ้านเรือนและทำมาหากินอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร อยู่ดูแลป้อม และขุดลอกคลองสุนัขหอน

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่ออังกฤษเข้ายึดพม่าและมีความคิดที่จะตั้งประเทศมอญขึ้นใหม่ โดยขอตัวเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ไปจากไทย เพื่อตั้งเป็นกษัตริย์มอญ แต่ทางการไทยไม่เห็นด้วย เพราะหากมีประเทศมอญเกิดขึ้นใหม่ ไพร่บ้านพลเมืองมอญที่อพยพเข้ามาก็จะพากันกลับบ้านเมืองของตน และจะเกิดประโยชน์กับฝ่ายอังกฤษ ฝ่ายเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ก็ต้องการอยู่สนองพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย อีกทั้งไม่ต้องการไปอยู่ใต้อาณัติอังกฤษ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดเหตุมีชาวมอญพากันอพยพกลับเมืองมะละแหม่งเป็นจำนวนมาก สร้างความไม่พอใจแก่ทางการไทย เพราะจะทำให้ไพร่บ้านพลเมืองเหลือน้อย เกิดความอ่อนแอขึ้นได้ จึงมีการออกพระราชบัญญัติควบคุมการหลบหนีออกนอกประเทศของมอญ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของพระมหากษัตริย์ในทุกรัชกาลที่ผ่านมา ที่ต้องการแรงงานมอญไว้ใช้ประโยชน์ในพระราชอาณาจักรไทย

สำหรับหัวเมืองชายแดนตะวันตกด้านจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี ซึ่งติดต่อกับประเทศพม่า และเป็นอาณาเขตมอญแต่เดิมนั้นเป็นเส้นทางผ่านในการอพยพ มีการอพยพเข้ามาอยู่เนืองๆ ชาวมอญตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายกันอยู่ ทางราชการจึงจัดให้คนเหล่านี้อยู่รวมกันตามเมืองหน้าด่าน เป็นเมืองหน้าศึกกับพม่ารวม 7 เมือง เรียกว่ารามัญ 7 เมือง ได้แก่ เมืองสิงห์ เมืองลุ่มสุ่ม เมืองท่าตะกั่ว เมืองไทรโยค เมืองทองผาภูมิ เมืองท่าขนุน และเมืองท่ากระดาน ขึ้นตรงกับเมืองกาญจนบุรี เป็นเมืองหน้าด่านคอยสอดแนมสืบข่าวความในฝั่งพม่าแล้วรายงานให้ทางการทราบ และคอยสกัดทัพพม่าก่อนเข้าโจมตีไทย

ชาวมอญเมื่อเข้ามายังพระราชอาณาจักรไทย จะสร้างบ้านเรือนและประกอบอาชีพยังสถานที่ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้ ต่อมาเมื่อที่ทำกินคับแคบ จึงมีการกระจายตัวของชาวมอญ จากพระประแดง ปทุมธานี นนทบุรี และราชบุรี เข้าไปยังบริเวณต่างๆ ตามลุ่มน้ำท่าจีนและแม่กลอง

นายลีล (Leal) ล่ามของร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี่ (Henry Burney) ทูตการค้าชาวอังกฤษ ที่ได้เข้ามาทำสัญญาการค้ากับไทยช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวว่ามีมอญมากถึง 30,000 คน จากช่วงแม่น้ำเจ้าพระยาถึงปากแม่น้ำแม่กลอง ตอนเหนือของแม่น้ำแม่กลองเหนือเมืองราชบุรีมีหมู่บ้านมอญเป็นหย่อมๆ และทางตอนเหนือของกาญจนบุรี นายลีล ยังได้พบเมืองที่มีประชากรประมาณ 5,000 คน โดยมากเป็นมอญที่ย้ายมาจากกรุงเทพฯ เป็นมอญเก่ามีมอญใหม่ปนบ้าง

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการทำสำมะโนพลเมือง พ.ศ. 2446 พบมอญกระจายอยู่ตามมณฑลราชบุรี มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า มณฑลนครราชสีมา และมณฑลปราจีนบุรี อันเป็นหลักฐานแสดงการกระจายตัวของมอญสมัยนั้น

นอกจากหลักฐานดังกล่าว ยังพบว่ามีมอญอาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย อาจเป็นการโยกย้ายกันเองภายหลัง การอพยพตกหล่นตามรายทางแต่เดิมที่เป็นเส้นทางเดินทัพ และเส้นทางอพยพหลบหนี รวมทั้งการหนีเตลิดเข้าป่าลึก เพราะหวาดกลัวสงคราม เมื่อความเจริญเข้าไป มีการสำมะโนพลเมือง จึงปรากฏเป็นชุมชนมอญในภายหลัง เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก อุทัยธานี ลพบุรี นอกจากนี้ยังปรากฏมีชุมชนมอญเล็กๆ กระจายอยู่ในหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์ นครราชสีมา สระบุรี ปราจีนบุรี ชัยภูมิ นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี นครนายก กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า บริเวณที่มีชาวมอญอาศัยอยู่เป็นกลุ่มหนาแน่น ได้แก่ อำเภอบ้านโป่ง และ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอเมือง และ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

บทบาทและการยอมรับในสังคมไทย

เมื่อชาวมอญได้เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ทางการไทยไม่ได้ถือว่าเป็นชนต่างชาติ ให้สิทธิในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ การนับถือศาสนา การประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ และการดำเนินชีวิตตามขนบธรรมเนียมตามแบบอย่างที่ชาวมอญได้เคยยึดถือปฏิบัติกันมาแต่เดิม โดยไม่มีการหวงห้าม ขุนนางมอญและหัวหน้ากลุ่มที่อพยพเข้ามานั้น พระมหากษัตริย์ก็ได้โปรดเกล้าฯให้เป็นขุนนางระดับสูง ส่วนไพร่พลเรือนก็มีเสรีภาพเช่นเดียวกับชาวไทย สามารถเลือกประกอบอาชีพของตนได้ตามความถนัด มีบทบาทอยู่ในสังคมเท่าเทียมกับพลเมืองไทยโดยทั่วไป

บทบาทด้านการเมือง

ชาวมอญที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ได้รับสิทธิเสรีภาพเช่นเดียวกันกับคนไทยทุกประการ ทางการมิได้ถือว่าคนมอญเป็นชาวต่างประเทศ* เพราะนับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกัน รูปร่างหน้าตา วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตก็คล้ายกันกับคนไทย มีการผสมกลมกลืน และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม หลักฐานยืนยันคือ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พ.ศ. 2273 ทางราชสำนักได้นำศิลาจารึกไปปักไว้หน้าประตูโบสถ์คริสต์ ห้ามมิให้เผยแผ่ศาสนาคริสต์แก่คนไทย ลาว มอญ และห้ามคนไทย ลาว มอญ เข้ารีตเป็นอันขาด เพราะ 3 ชาตินี้นับถือศาสนาเดียวกัน คือพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาศักดิ์สิทธิ์ของไทย

ทางการไทยมิได้ปฏิบัติต่อคนมอญเยี่ยงคนต่างชาติ หากปฏิบัติต่อคนมอญเช่นเดียวกันกับคนไทย ให้สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และชายชาวมอญทุกคนต้องรับราชการทหาร มีหน้าที่เช่นเดียวกันกับคนไทย กล่าวคือ ชายฉกรรจ์ชาวมอญ ต้องรับราชการเมื่ออายุได้ 18 ปี ขึ้นทะเบียนเป็นไพร่สม เข้าสังกัดมูลนาย อายุครบ 20 ปี ปลดเป็นไพร่หลวง คือจะต้องมีสังกัดมูลนาย หรือกรมกอง สังกัด ไม่สามารถอยู่ลอยๆ ได้

สมัยอยุธยาไม่มีหลักฐานการแบ่งกรมกองมอญที่ชัดเจน แต่แต่งตั้งหัวหน้ากองมอญในยามสงคราม และให้ควบคุมดูแลกันเอง ตำแหน่งจักรีมอญ มียศเป็นพระยารามัญวงศ์ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการจัดแบ่งหน่วยงานไพร่หลวงรามัญออกเป็น 5 กรม มีเจ้ากรมยศเป็นพระยา และถือศักดินา 1,600 ดังนี้

(1) กรมดั้งทองซ้าย  มีพระยาเกียรติ เป็นเจ้ากรม

(2) กรมดั้งทองขวา  มีพระยาพระราม เป็นเจ้ากรม

(3) กรมดาบสองมือ มีพระยานครอินทร์ เป็นเจ้ากรม

(4) กรมอาทมาตซ้าย             มีพระยาภักดีสงคราม เป็นเจ้ากรม

(5) กรมอาทมาตขวา              มีพระยารัตนจักร เป็นเจ้ากรม

นอกจากกรมกองสังกัดเหล่านี้แล้ว ก็มีบางพวกสังกัดอยู่ในกรมของเจ้า ไม่เกี่ยวกับงานราชการแผ่นดิน เป็นแต่ทำงานตามรับสั่งของเจ้า โดยในสมัยธนบุรีและในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้มีข้อห้ามไม่ให้ชาวมอญเป็นไพร่ในกรมเจ้าทั่วไป ยอมให้มีแต่กรมพระราชวังบวรแห่งเดียว ไพร่รามัญที่สังกัดในกรมพระราชวังบวรแบ่งเป็น 3 กรม เจ้ากรมมียศเป็นพระ คือ

(1) กรมมอญขวา    มีพระปราบอังวะ เป็นเจ้ากรม

(2) กรมมอญซ้าย    มีพระชนะภุกาม เป็นเจ้ากรม

(3) กรมมอญกลาง  มีพระภักดีสรเดช เป็นเจ้ากรม

การเกณฑ์ราชการ การกำหนดให้เข้าประจำการทั้งยามปกติและยามสงคราม ประเภทไพร่หลวงและไพร่ส่วยก็เหมือนกันทั้งไพร่ไทยและไพร่มอญ

ไพร่พลมอญที่เข้ามาอยู่ในพระราชอาณาจักรไทย มีส่วนในการทำสงครามป้องกันประเทศทุกครั้ง สงครามครั้งสำคัญเช่น สงครามเก้าทัพ สมัยพระเจ้าปดุง พ.ศ. 2328, 2329 และ 2330 และสงครามปราบกบฏหัวเมืองปัตตานี พ.ศ. 2381

สำหรับหัวหน้าผู้อพยพชาวมอญ มักได้รับแต่งตั้งจากทางการให้ดำรงตำแหน่งดังเดิมในเมืองมอญ เป็นหัวหน้าควบคุมดูแลกันเอง อีกทั้งให้มีบทบาทสำคัญในกองทัพไทย เช่น พระยาเกียรติ์ พระยาราม ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระยารามัญวงศ์ (มะโดด) ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บุตรหลานชาวมอญได้รับราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน มีหน้าที่การงานระดับสูงในสังคมไทยสืบทอดมานับจากอดีตจวบจนปัจจุบัน

อนึ่งบทบาททางการเมือง ที่ขุนนางมอญเข้าไปมีบทบาท ไม่เพียงแต่เกิดจากขุนนางมอญเท่านั้น ยังมีบทบาทที่เกิดจากพระมหากษัตริย์ เช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินกุศโลบายหลายประการที่เกี่ยวข้องกับมอญ ซึ่งพบว่าได้ทรงใช้ “มอญ” เป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ด้านการเมืองของพระองค์ในการวางรากฐานอำนาจขึ้นสู่ราชบัลลังก์ และการรักษาสถานภาพรวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ของประเทศจนตลอดรัชกาลของพระองค์ ได้แก่

(1) สถาปนาธรรมยุติกนิกาย โดยมีพระมอญเป็นแม่แบบ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายใหม่ขึ้น โดยทรงให้เหตุผลว่า ขณะที่พระองค์ (พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ) ผนวชอยู่ ทรงเกิดความเบื่อหน่าย เนื่องจากพระภิกษุส่วนมากประพฤติผิดพระธรรมวินัย และต้องการจะลาสิกขาบทจากสมณเพศ กระทั่งทรงได้พบและมีพระราชปฏิสันถารกับพระสุเมธมุนี (ซาย พุทธฺวังโส) พระภิกษุมอญ ซึ่งมีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใสเคร่งครัดพระธรรมวินัย

พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎจึงได้อาราธนาพระสุเมธมุนี (ซาย พุทธฺวังโส) ซึ่งบวชมาจากเมืองมอญให้ช่วยร่างแบบแผนคณะสงฆ์ “ธรรมยุติกนิกาย” โดยยึดถือการวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด และการครองจีวรของพระมอญเป็นแม่แบบ

แต่หลังจากพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎสถาปนาธรรมยุติกนิกายแล้ว ก็ไม่ปรากฎหลักฐานและประวัติที่กล่าวถึงพระสุเมธมุนี (ซาย พุทธฺวังโส) อีกเลย ว่าได้มีบทบาทต่อคณะสงฆ์ไทยอย่างไรต่อมาคงเนื่องด้วยพระสุเมธมุนี (ซาย พุทธฺวังโส) เป็นพระภิกษุสงฆ์ที่รักสันโดษ และชราภาพมากแล้ว ได้ปลีกตัวไปอยู่วิเวกตามลำพัง ในบั้นปลายชีวิตพระสุเมธมุนี (ซาย พุทธฺวังโส) ได้มีเหตุบาดหมางกับกรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) จากนั้นก็หายสาบสูญไป กล่าวกันว่าหม่อมไกรสร ขอพระบรมราชานุญาตถอดจากสมณศักดิ์และประหารชีวิต

 (2) มีพระบรมราชินี และเจ้าจอมเป็นมอญจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีบาทบริจาริกาที่เป็นชั้นเจ้าจอมมารดา และ เจ้าจอมเป็นสตรีมอญทั้งสิ้น 6 ท่าน ที่สำคัญมีพระบรมราชินีคือ กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ดังจะเห็นได้ว่าในงานพระบรมศพของกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้มีปี่พาทย์มอญ เพราะทรงดำริว่ากรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์เป็นเชื้อมอญ นอกจากกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระมเหสีเทวีแล้วยังประกอบด้วยเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ที่จะได้กล่าวต่อไปจากนี้ เจ้าจอม พระนม นางกำนัล พระพี่เลี้ยงที่เป็นเชื้อสายมอญจำนวนมาก ซึ่งเป็นปกติธรรมดาด้วยบุคคลใดมีบุญวาสนาเข้ารับราชการในตำแหน่งสูง ก็ย่อมชักนำเครือญาติของตนเข้าไปรับใช้ใกล้ชิด ทั้งความไว้เนื้อเชื่อใจส่วนบุคคล เสริมฐานะของตนเอง และเป็นการช่วยเหลือเครือญาติ จึงเป็นดังที่แอนนากล่าวว่า ราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความเป็นมอญเข้มข้น

(3) อ้างว่าราชวงศ์จักรีสืบเชื้อสายมาจากตระกูลนายทหารมอญ

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ พระองค์ประสบเหตุความยุ่งยากในรัชกาล อันสืบเนื่องมาจากการแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินของกลุ่มขุนนางที่สนับสนุนพระองค์ขึ้นครองราชย์ และการเข้ามาของชาติตะวันตก ประเทศอังกฤษส่ง เซอร์ จอห์น เบาริ่ง เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และได้แสดงให้เห็นว่าพร้อมจะใช้กำลังทหารบีบบังคับ หากรัฐบาลไทยไม่ยินยอมเจรจาและตกลงทางการค้าแบบเสรี แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงต้อนรับคณะทูตด้วยดี โอนอ่อนตามด้วยการที่ทรงแสดงให้เห็นว่ากำลังมีการพัฒนาประเทศ เปิดรับอารยธรรมตะวันตกตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ

พระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ เซอร์ จอห์น เบาวริง เกี่ยวกับราชตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากนายทหารมอญ เพื่อแสดงให้ชาติตะวันตกเห็นว่า ชาติไทยเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนานนั้นระบุว่า บรรพบุรุษข้างบิดาของพระองค์สืบเชื้อสายจากนายทหารที่มาจากเมืองหงสาวดี แสดงว่าความเป็น “มอญ” ในยุคสมัยนั้นมีกิตติศัพท์เป็นที่รู้จักทั่วไป และเป็นที่ยอมรับสามารถอาศัยอ้างอิงได้

บทบาทด้านเศรษฐกิจ

สภาพเศรษฐกิจของชาวมอญในประเทศไทยตั้งแต่แรกตั้งถิ่นฐาน ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็คล้ายๆ กับชาวไทยคือ เป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง ซื้อขายแลกเปลี่ยนผลิตผลหมุนเวียนกันอยู่ภายในชุมชนของตน มีการค้าขายกันระหว่างชุมชนบ้าง เป็นการรับซื้อผลผลิตของเพื่อนบ้านไปขายต่อยังชุมชนที่ห่างออกไป หรือชุมชนที่มีชาวมอญอาศัยอยู่ เช่น การนำฟืน จากมุงหลังคา จากสมุทรสาครไปขายยังปากเกร็ด สามโคก การนำเครื่องปั้นดินเผาจากปากเกร็ด สามโคก มาขายยังสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรี เป็นต้น แต่ไม่ได้ติดต่อการค้าขายกับต่างประเทศอย่างชาวจีนในประเทศไทย

อาชีพของชาวมอญส่วนใหญ่คล้ายกับคนไทยทั่วไป คือ ทำนา ทำสวน นาเกลือ และงานหัตถกรรมท้องถิ่น เช่น เย็บจากมุงหลังคา ตัดฟืน เผาถ่าน  ทำจักสาน ทอเสื่อ ทอผ้า อาชีพที่ขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของชาวมอญ ได้แก่ ทำเครื่องปั้นดินเผา และทำอิฐมอญ แหล่งที่ทำกันมาก คือ ปากเกร็ด และสามโคก อาชีพดังกล่าวได้ก่อให้เกิดอีกอาชีพหนึ่งตามมา คือ พ่อค้าโอ่งและเครื่องปั้นดินเผาทางเรือ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ มีนโยบายเปิดประเทศค้าขายเสรี ภายหลังสนธิสัญญาเบาวริง รูปแบบของเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเป็นแบบเพื่อการค้ามากขึ้น สินค้าที่ส่งออก ทำรายได้ให้กับประเทศช่วงนั้นมากก็คือ ข้าว และชาวมอญก็มีส่วนสำคัญในสภาพเศรษฐกิจแบบใหม่ มีการบุกเบิกที่นาใหม่ๆ ย่านบางนา บางแก้ว บางพลี บางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เขตลาดกระบัง เขตหนองจอก เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น

ชาวมอญนั้นก็ต้องเสียภาษีอากรเช่นเดียวกันกับชาวไทยทุกประการ ไพร่หลวงมอญที่ไม่ต้องการเข้าเวรทำราชการ ก็ใช้วิธีเสียเงินแทน เรียกว่า เงินค่าราชการ

ชาวมอญมีอิสระในการประกอบอาชีพตามความถนัดของตน ตั้งแต่แรกเริ่มเข้ามายังแผ่นดินไทย การประกอบอาชีพต่างๆ ของชาวมอญ ทำให้ได้ผลผลิต ที่นำไปสู่ระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยน การหมุนเวียนของตลาด ชาวมอญมีบทบาทในการผลิตและการค้าขายในระดับหมู่บ้าน แต่ภายหลังจากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแล้ว ชาวจีนก็เข้ามาแทนที่ สามารถกุมระบบเศรษฐกิจของไทยไว้ได้เกือบทั้งหมด ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับประเทศ พระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ถัด ชุมสาย บุตรหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย กับ หม่อมเจ้าสารภี สนิทวงศ์ หม่อมราชวงศ์ถัด ชุมสาย เป็นหลานตาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท) กล่าวว่าเคยทำธุรกิจหลายประเภท แต่ต้องเลิกกิจการไปเพราะ “...ตกลงขายข้าวสารแพ้เจ๊ก ขายเสาแพ้แขก เป็นอันสู้คนต่างชาติไม่ได้...”

บทบาทด้านศาสนา

ไทยรับพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทมาจากอินเดียโดยผ่านทางมอญ  รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีที่ส่งผ่านกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น การค้าขาย และการสมรสระหว่างกัน เป็นต้น โดยเฉพาะด้านศาสนา มีพิธีกรรมในวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องและผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา วิถีชีวิตของคนทั้งสองชนชาติจึงมีความสอดคล้องกลมกลืนกัน จึงเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ชาวมอญที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย ได้รับการยอมรับให้มีการผสมกลมกลืนทางชาติพันธุ์ มีการสมรสระหว่างกัน ทั้งในหมู่ราษฎรทั่วไปและกับพระบรมวงศานุวงศ์

พระสงฆ์มอญเข้ามาพร้อมกับการอพยพลี้ภัยของชาวมอญ ด้วยนโยบายการปกครองของพม่า ที่กดขี่ข่มเหง ฆ่าฟันผู้ที่ขัดขืน ไม่เว้นแม้พระภิกษุสงฆ์ ทั้งที่พม่าเองก็ยอมรับนับถือพุทธศาสนา การเข้ามาของพระสงฆ์มอญทำให้เกิดศาสนาพุทธรามัญนิกายขึ้นในประเทศไทย

คณะสงฆ์รามัญนิกายในประเทศไทย เกิดจากการที่ชาวมอญได้นำพุทธศาสนาแบบของตนเองเข้ามาด้วย เมื่อมีการอพยพตั้งแต่ครั้งที่สองที่มีการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการ คือในสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้มีพระเถระผู้ใหญ่ร่วมขบวนเสด็จมากับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วย คือ พระมหาเถรคันฉ่องและคณะประกอบด้วยภิกษุสามเณรอีกจำนวนมาก สมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชทานที่ทำกินแก่ราษฎร และสร้างวัดถวายพระสงฆ์ อีกทั้งโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้พระมหาเถรคันฉ่องเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะสงฆ์รามัญ ปกครองดูแลคณะสงฆ์มอญทั้งหมด

หลังกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ศาสนิกชนห่างเหินไม่ทำนุบำรุงศาสนา พระภิกษุสงฆ์ไม่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะทรงพยายามฟื้นฟูขึ้นใหม่ แต่ยังไม่ทันเรียบร้อยก็เกิดกรณีที่ทรงเข้าพระทัยว่าทรงบรรลุโสดาบันและทรงบังคับให้พระสงฆ์กราบไหว้พระองค์ พระเถระผู้ใหญ่ที่ขัดขืนต้องถูกถอดสมณศักดิ์เป็นอันมาก รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้ฟื้นฟูกิจการด้านศาสนาขึ้นใหม่ ในส่วนของพระมอญโปรดเกล้าฯตั้งพระราชาคณะฝ่ายรามัญขึ้น 3 รูป และส่งไปปกครองวัดสำคัญซึ่งประกอบด้วย พระสุเมธาจารย์ ให้ปกครองวัดชนะสงคราม ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเพิ่งสร้างเสร็จ พระไตรสรณธัช ส่งไปปกครองวัดบางหลวง เป็นเจ้าคณะรามัญในแขวงเมืองนนทบุรีและสามโคก และพระสุเมธน้อย ส่งไปปกครองวัดบางยี่เรือใน หรือวัดราชคฤห์ ฝั่งธนบุรี

การปกครองคณะสงฆ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แบ่งออกเป็นคณะดังนี้ คือ คณะเหนือ คณะใต้ และคณะกลาง ซึ่งตั้งขึ้นใหม่เพื่อรวบรวมเฉพาะวัดในเขตกรุงเทพฯเข้าไว้ด้วยกัน ส่วนคณะอรัญวาสีนั้นมีแต่ตำแหน่งเจ้าคณะ และคณะรามัญนั้นก็เป็นการรวมเอาวัดรามัญเข้าไว้ด้วยกัน

ธรรมยุติกนิกาย เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มูลเหตุมาจากเจ้าฟ้ามงกุฏขณะที่ทรงผนวชอยู่พบเห็นพระภิกษุโดยมากมีวินัยหย่อนยาน กระทั่งได้พบพระภิกษุมอญมีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใส จึงทำการปฏิรูปคณะสงฆ์ สถาปนานิกายใหม่คือ “ธรรมยุติกนิกาย”

การสวดพระปริตร  เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์มอญมาแต่โบราณ เริ่มมีครั้งแรกเมื่อพระมหาเถรคันฉ่องเข้ามาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา และได้รักษาสืบต่อมาเป็นโบราณราชประเพณีอย่างหนึ่งในราชสำนักไทย ในการสวดพระปริตรรามัญ ที่หอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง เป็นการสวดเพื่อขจัดปัดเป่าภยันตรายต่างๆ เป็นการสืบชะตาเมือง ที่สำคัญคือเพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับองค์พระมหากษัตริย์สรงพระพักตร์ เป็นน้ำโสรจสรง และสำหรับประพรมพระบรมมหาราชวังเพื่อขจัดปัดเป่าภยันตรายของบ้านเมือง ดังหนังสือ วรรณกรรมพระยาตรัง ที่กล่าวถึงการสวดพระปริตรในพระบรมมหาราชวังว่าเนื่องมาจากความ “ขลัง” ของคาถาอาคม ดังความว่า

เรียงโรงคชเศวตไว้ ระวางใน
ทุกประเทศชวนชม ชื่นหน้า
หอพระปริตไข   พุทธเวท
สังฆรามัญห้า  เหตุขลัง

บทบาทด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณี

วัฒนธรรมประเพณีของไทย ได้รับอิทธิพลมาจากหลายชนชาติ เช่น มอญ เขมร อินเดีย จีน ลาว เป็นต้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมประเพณีมอญมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยอย่างมาก วัฒนธรรมมอญที่ปะปนอยู่ในวัฒนธรรมของไทยเริ่มแรกเข้ามาพร้อมกับการยอมรับนับถือศาสนาแล้ว

ก.กฎหมาย

กฎหมายไทยฉบับแรก คือ กฎหมายตราสามดวงมีต้นแบบมาจากพระมนูธรรมศาสตร์ หรือมานวธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคัมภีร์พราหมณ์ของชาวฮินดู และมอญได้นำมาตัดทอนเอาส่วนที่มีลักษณะของพราหมณ์ฮินดูและระบบวรรณะออกไป คงไว้เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับกฏหมายปกครอง และปรับให้เข้ากับพระพุทธศาสนา จึงทำให้พระมนูธรรมศาสตร์ของอินเดียกับพระธรรมศาสตร์หรือธรรมสัตถัมของมอญต่างกัน และพระธรรมศาสตร์ก็มีขนาดเล็กกว่าพระมนูธรรมศาสตร์ด้วย

ข.ภาษา

เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวมอญและชาวไทยมีความใกล้ชิดกันในทางศาสนา และสิ่งที่เข้ามาพร้อมๆ กับอิทธิพลทางศาสนา ได้แก่ ภาษา ที่ผสมกลมกลืน และมีความใกล้ชิดอยู่ในวัฒนธรรมไทยมานาน ตั้งแต่เริ่มมีอักษรไทยในสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงทรงคิดค้นอักษรไทยขึ้น โดยดัดแปลงมาจากภาษาขอมหวัดและมอญโบราณ ซึ่งอารยธรรมมอญมีอิทธิพลอยู่ในเมืองสุโขทัย รวมทั้งพลเมืองในเมืองสุโขทัยก็มีคนมอญจำนวนมาก ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้นในภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้จึงมีภาษามอญปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก

ค.ดนตรี

เครื่องดนตรีมอญที่ไทยรับอิทธิพลเข้ามาอย่างแพร่หลาย คือ ปี่พาทย์มอญ ซึ่งเป็นการบรรเลงเพลงมอญ และสำเนียงมอญ ดนตรีมอญนั้นมีทั้งนำเข้ามาจากเมืองมอญโดยตรงพร้อมการอพยพของคนมอญ และทั้งการปรับปรุงดัดแปลงขึ้นใหม่โดยคนไทยและคนมอญรวมทั้งลูกหลานมอญที่เกิดในเมืองไทย ดนตรีมอญชนิดอื่นๆ ได้แก่ กลองยาว วงซอ วงมโหรี สำหรับใช้ในการแสดงทะแยมอญ นอกจากดนตรีมอญแล้วสิ่งที่มักมาควบคู่กันคือ รำมอญ นาฏศิลป์ การละเล่นการแสดง ได้แก่ สะบ้า ทะแยมอญ กระอั้วแทงควาย

ง.วรรณคดี

วัฒนธรรมประเพณีมอญเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในสังคมไทย วรรณคดีเรื่อง “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารมอญ มีการแปลและแต่งเป็นวรรณคดีไทย ได้รับการยกย่องเป็นวรรณคดีที่ควรค่าแก่การอ่านสำหรับคนไทย เนื้อหาบางตอนถูกนำไปตีพิมพ์เป็นแบบเรียนสำหรับเยาวชน โดยกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนั้นยังมีวรรณคดีไทยหลายเรื่องมีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีมอญ เช่น วรรณคดีไทยพื้นบ้านเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” มีเนื้อหาเป็นเรื่องราวในปลายสมัยอยุธยา และถูกนำมาแต่งเป็นบทร้องเสภาเมื่อสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมีผู้ร่วมแต่งกันหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือสุนทรภู่ ซึ่งแต่งตอน “กำเนิดพลายงาม” เสภาบทดังกล่าวมีสำนวนภาษา และเนื้อหาเกี่ยวกับมอญอยู่หลายแห่ง วัฒนา บุรกสิกร ได้วิเคราะห์ว่า สุนทรภู่น่าจะมีความรู้ภาษามอญ ซึ่งบทเสภาดังกล่าวมีดังนี้

แล้วพวกมอญซ้อนซอเสียงอ้อแอ้    ร้องทะแยย่องกะเหนาะหย่ายเตาะเหย

ออระหน่ายพลายงามพ่อทรามเชย             ขวัญเอ๋ยกกกะเนียงเกรียงเกลิง

ให้อยู่ดีกินดีมีเมียสาว    เนียงกะราวกนตะละเลิ่งเคริ่ง

มวยบามาขวัญจงบันเทิง          จะเปิงยี่อิกะปิปอน

เนื้อหากล่าวถึงมอญในฐานะนักดนตรี “ทะแยมอญ” มีข้อความที่ถอดเสียงมาจากภาษามอญ แทรกอยู่ 6 บาท ดังนั้นผู้แต่งที่มีความรู้ด้านฉันทลักษณ์ไทยและเข้าใจภาษามอญเท่านั้น จึงจะสามารถแต่งกลอนให้มีเสียงและความหมายเป็นมอญ ตรงตามฉันทลักษณ์ได้ แสดงให้เห็นว่ามีคนมอญอยู่ในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก และคนไทยก็คุ้นเคยกับวัฒนธรรมมอญเป็นอย่างดี

วรรณคดีเรื่อง “ขุนช้าง ขุนแผน” สอดแทรกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การแต่งกาย การละเล่น ประเพณี คติความเชื่อ และไสยศาสตร์ของมอญ เช่น ตอนพระไวยแตกทัพ เมื่อพลายชุมพลปลอมตัวเป็นมอญท้าพระไวยออกรบ (พลายชุมพลและพระไวยเป็นบุตรของขุนแผน)

ครานั้นเจ้าพลายชายชุมพล       แยบยลพูดเพี้ยนเป็นหงสา

กูชื่อสมิงมัตรา     บิดากูผู้เรืองฤทธิไกร

ชื่อสมิงแมงตะยากะละออน    ในเมืองมอญใครไม่รอต่อได้

เลื่องชื่อลือฟุ้งทุกกรุงไกร        แม่ไซร้ชื่อเม้ยแมงตะยา

พระครูกูเรืองฤทธิเวท            พระสุเมธกะละดงเมืองหงสา

จะมาลองฝีมือไทยให้ระอา     ถ้าใครกล้ากูจะฟันให้บรรลัย

 

แสดงให้เห็นว่าคนไทยในยุคนั้นคุ้นเคยกับคนมอญเป็นอย่างดี สามารถปลอมตัว เลียนเสียง รวมทั้งเอ่ยชื่อคนมอญ คือผู้ปลอมและผู้ถูกทำให้เชื่อต้องรู้จักมอญอย่างดี จึงสามารถเข้าใจความหมายและเชื่อถือ

การกล่าวอ้างถึงครูด้านคาถาอาคม สื่อให้เห็นว่า ในอดีตชาวมอญมีชื่อเสียงทางด้านไสยศาสตร์ เวทย์มนต์ เป็นที่หวั่นเกรงของคนทั่วไป ส่วน “พระสุเมธ” เป็นตำแหน่งพระมหาเถรฝ่ายรามัญ ที่พระมหากษัตริย์ไทยแต่งตั้งให้ดูแลปกครองพระรามัญด้วยกัน เริ่มตั้งครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยตั้งตามตำแหน่งพระสงฆ์ในเมืองมอญ

จ.ประเพณีและวัฒนธรรม

ประเพณีและวัฒนธรรมของไทยที่เรายึดถือปฏิบัติกันโดยทั่วไป หลากหลายประเพณีมีที่มาจากมอญ เช่นประเพณีสงกรานต์ โดยมอญรับจากอินเดียมาคลี่คลายและปรับใช้ในแบบของมอญ ซึ่งมอญและไทยถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ พิธีปล่อยนกปล่อยปลา ประเพณีค้ำโพธิ์ ส่งข้าวสงกรานต์ ทำบุญกลางหมู่บ้าน ตักบาตรน้ำผึ้ง ตักบาตรเทโว ประเพณีโยนบัว ล้างเท้าพระ เรียกได้ว่าประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาและอยู่วิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ล้วนแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตชาวไทยทั้งในราชสำนักและระดับสามัญชน ซึ่งชาวไทยรับเอาไว้โดยไม่รู้ตัว เช่น ประเพณีโกนจุก ประเพณีการบวช ประเพณีแต่งงาน

ประเพณีแต่งงานของชาวมอญมีการแห่ขันหมาก นอกจากเงินทองและของหมั้น ขนม หมากพลู เหล้า บุหรี่ และผ้าเซ่นผีแล้ว ยังประกอบด้วย หน่อมะพร้าว หน่อกล้วยน้ำว้า และหน่อหมาก ให้คู่บ่าวสาวได้ปลูกและได้เก็บผลกินสำหรับตนและทารกที่จะเกิดใหม่ ซึ่งคู่แต่งงานที่ไม่ผ่านการสู่ขอจากผู้ใหญ่ แอบลักลอบหนีตามกัน หากทำพิธีแต่งงานจะไม่สามารถนำหน่อมะพร้าว หน่อกล้วยน้ำว้า และหน่อหมาก เข้าร่วมในขบวนแห่ได้ และเมื่อมีบุตรหลาน บุตรหลานก็จะไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมในพิธีสำคัญของหมู่บ้าน เช่น สาวเชิญเตียบ พานขันหมากในงานแต่งงาน สาวอุ้มต้นเทียนและเครื่องอัฐบริขารในงานบวชถือเป็นการลงโทษทางสังคม

ของหวานที่เลี้ยงแขกในงานแต่งงานคือ ขนมสี่ถ้วย ซึ่งชาวไทยเรียกว่า “กินสี่ถ้วย” ได้แก่ ไข่กบ (เม็ดแมงลัก) นกปล่อย (ลอดช่อง) มะลิลอย (ข้าวตอก) และ อ้ายตื้อ (ข้าวเหนียว) เป็นขนมมงคลในงานแต่งงาน และการกล่าวถึงคำว่า “กินสี่ถ้วย” ยังมีความหมายถึงประเพณีแต่งงานอีกด้วย ประเพณีแต่งงานดังกล่าวเป็นประเพณีที่ยังมีการปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหมู่ชาวไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีชาวมอญอาศัยอยู่หลายชั่วอายุคนแล้ว รวมทั้งชาวมอญในประเทศพม่าซึ่งยึดถือประเพณีการแห่ขันหมาก รวมทั้งกินขนมในงานแต่งดังกล่าวข้างต้นอย่างเคร่งครัด แต่ไม่ได้มีสี่ถ้วยอย่างในเมืองไทย มีเพียงข้าวเหนียวและลอดช่องและชาวมอญในประเทศพม่าเรียก “ลอดช่อง” ว่า “โหลดช่ง”

ฉ.อาหาร

อาหารไทยหลายชนิด มีที่มาจากอาหารมอญ โดยได้รับอิทธิพลทั้งรูปแบบและรสชาติจากความใกล้ชิดคุ้นเคยกับชาวมอญทั้งในราชสำนัก และในระดับสามัญชน ต่อมาชาวไทยได้นำอาหารของชาวมอญมาดัดแปลง ประยุกต์ให้ได้รสชาติถูกปากคนไทย ซึ่งมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายชนิด ทั้งอาหารหวานและอาหารคาว เช่น ข้าวอีกา (เปิงคะด็อจก์)ข้าวเหนียวแดง (อะลอญฮะเกด) ข้าวเหนียวแดกงา (ฮะเปียง) ขนมกะละแม (กวานฮะกอ) ขนมจีน  (ฮะนอม) และ ข้าวแช่ (เปิงด้าจก์ หรือ เปิงซังกราน) เป็นต้น

ข้าวแช่  ตามประเพณีมอญแต่เดิมเป็นการหุงข้าว เพื่อบูชาเทวดาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สืบเนื่องมาจากตำนานสงกรานต์ของมอญ

ขนมจีน เป็นอาหารมอญ ที่นิยมทำเฉพาะแต่ในเทศกาล และงานสำคัญเท่านั้น เพราะมีขั้นตอนการทำที่ต้องใช้เวลามาก คำว่า "ขนมจีน" มอญเรียกว่า "คนอม" เป็นกริยาแปลว่า ทำ, สร้าง (ในพจนานุกรมภาษามอญ-อังกฤษที่รวบรวมโดย Robert Halliday ได้ให้ความหมายว่า "form") ส่วนคำว่า"จีน" ที่อยู่ข้างหลังคำว่า "ขนม" นั้นไม่มีใช้ในภาษามอญ มีแต่คำว่า "จิน" ซึ่งแปลว่า “สุก” (จากการหุงต้ม) คนมอญนั้นจะเรียก ขนมจีนว่า "คนอม" เท่านั้น หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ สันนิษฐานว่า เกิดจากขณะที่คนมอญกำลังทำ "คนอม" อยู่ ซึ่งมักเกิดความโกลาหนขึ้นในที่ทำครัวเนื่องจากคนหมู่มาก จากการร้องบอกกันต่อๆ ไปว่า "คนอม" สุกแล้ว กินได้แล้ว ก็คือคำว่า “คนอม-จิน” ที่จริงแปลว่า “แป้งเส้น” สุกแล้ว เมื่อคนไทยได้ยิน จึงเรียกอาหารชนิดนี้ว่า “คนอมจิน” และเรียกเพี้ยนมาเป็น "ขนมจีน" อย่างในปัจจุบัน

สรุปได้ว่าศิลปวัฒนธรรมประเพณีมอญหลายประการที่อยู่ในสังคมไทยมาช้านานอย่างน้อย ตั้งแต่สมัยอยุธยา เกิดจากการอพยพเข้ามาของชาวมอญพร้อมกับ ศาสนา ภาษา วรรณคดี อาหาร การแต่งกาย ประเพณี ความเชื่อ และพิธีกรรม ได้เปลี่ยนถ่ายเคลื่อนไหวไปมาในหมู่ชาวมอญและชาวไทย แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทยต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ซึ่งในที่สุดวัฒนธรรมประเพณีมอญจะกลมกลืนหายไปกับศิลปวัฒนธรรมไทย เนื่องจากเกิดการยอมรับไปยึดถือปฏิบัติอย่างไม่รู้สึกแปลกแยกด้วยความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

จาก http://www.baanjomyut.com/library/mon_history.html
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: สิงหาคม 31, 2016, 04:41:08 am »



มอญ (Mon) เป็นชนชาติเก่าแก่ที่สุดของเอเชีย  เข้ามาอาศัยในดินแดนของพม่าราว 11,000 ปีมาแล้ว  แม้แต่ภาษามอญก็เป็นภาษาเก่าแก่มีอายุราว 3-4 พันปี  รวมทั้งยังพบหลักฐานเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์อีกมากมายในประเทศทางแถบอินโดจีน  ที่ระบุว่าเกิดขึ้นในยุครุ่งเรืองของชนชาติมอญ

ชนชาติมอญในอดีตนั้นเหมือนเป็นผู้อาภัพ  อาจเป็นเพราะขาดความชำนาญทางการรบ จึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ามาโดยตลอด  แม้ปัจจุบันก็ยังเป็นชนกลุ่มน้อยของพม่า ไม่ต่างกับ กะเหรี่ยง  คะยิ่น  ไทยใหญ่  ฉาน ฯลฯ

ในประวัติศาสตร์ของไทยกับพม่า  ต่างก็พยายามเข้ามามีอำนาจเหนือชนชาติมอญ  หรือให้เป็นเมืองขึ้นกับตน  เพื่อให้เพิ่มจำนวนกำลังทหาร และเพื่ออาศัยเป็นทางผ่านไปดินแดนของฝ่ายตรงกันข้าม

และเมื่อครั้งที่กษัตริย์พม่าหรือพระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้(มังตรา) ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรก  ก็ต้องรวบรวมชนชาติมอญเข้ามาเป็นสมัครพรรคพวก  ก่อนที่จะเดินทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ (พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีในปัจจุบัน)

แต่การรบในครั้งนั้นพม่าไม่สามารถตีไทยได้   ทำให้ชาติมอญเกิดความกระด้างกระเดื่องต่อพม่า เพราะเห็นว่าพม่าไม่มีความสามารถในการรบกับไทย

ครั้นพระเจ้าบุเรงนองสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระเจ้าตะเบงชะเวตี้  ก็หันมาปราบมอญเพื่อให้มีความภักดีเหมือนเดิม  และเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นของกองทัพ

มอญ อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนไทยเป็นระลอกๆ  ส่วนใหญ่เกิดจากการกดขี่จากพม่า  และเกิดจากการกวาดต้อนของไทยหลังมีชัยเหนือพม่า

มอญรุ่นแรกที่เข้ามาอาศัยในย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรีนั้น ได้เข้ามาในสมัยพระเจ้าตากสิน  ราว พ.ศ. 2316 หรือ 5-6 ปี หลังจากไทยกอบกู้เอกราชจากพม่าได้สำเร็จเป็นครั้งที่สอง และเข้ามาอีกครั้งหนึ่งในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)

ส่วนมอญรุ่นล่าสุด ได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อราว 3-4 ปีมานี้

ไม่ได้โม้นะครับ แต่เป็นเรื่องจริงที่หน้าประวัติศาสตร์ในอนาคตต้องจารึก เพราะปัจจุบันเราสามารถพบคนมอญได้ตามสถานที่ต่างๆ เช่นร้านอาหาร ร้านค้า หรือปั้มน้ำมัน ดูหน้าตาก็ไม่ต่างกับคนไทย เพียงแต่นัยน์ตาจะออกไปทางแขกนิดๆ บางคน(โดยเฉพาะสาวมอญ) หน้าตาก็ดูสระสวย ไม่น่าจะมีอาชีพบีบน้ำมันขายเลย และทุกครั้งที่เห็นสาวต่างชาติในปั้มหน้าตาดี ก็อดไม่ได้ที่จะสอบถามว่าบ้านอยู่หนใด

วันก่อนนำรถไปเติมน้ำมัน เจอเด็ก(สาว)ปั้มพูดสำเนียงแปลกๆ ถามว่าเป็นพม่า หรือเปล่า สาวน้อยหน้าซื่อตอบว่าไม่ไช่ แกบอกว่าเป็น " โมน "

บอกให้พูดอีกทีซิ แกก็พูดชัดถ้อยชัดคำว่า " โมน "

" นึกในใจว่า พม่ามีชาติ โมน ที่ไหนกันวะ นึกไม่ออกครับท่าน "

ถามกี่ครั้งแกก็ตอบ โมน ลูกเดียว

กว่าจะถึงบางอ้อว่า โมน ก็คือ มอญ เพียงแต่เสียงเรียกต่างกัน

จึงบอกสาวปั้ม(หน้าตาดี)ว่า " คนไทยเขาเรียก มอญ ไม่ไช่ โมน อยู่เมืองไทยต้องบอกว่าเป็นคนมอญ รู้หรือเปล่า "

ความสงสัยในเรื่องภาษาจึงกลับมาค้นหาจากเว็บไซต์ ปรากฏว่า ภาษาอังกฤษเขียนว่า Mon ก็คือ โมน ตามที่สาวมอญคนนั้นพูดนั่นแหละ

ต่อไปใครถามเด็กปั้มว่ามาจากไหน หากตอบว่า โมน ก็จะได้เข้าใจว่า เป็นคนมอญ

หลายครั้งที่ถามเด็กปั้มที่พูดไทยไม่ค่อยชัดว่ามาจ่ากไหน ส่วนใหญ่จะตอบว่า " กระเหรี่ยง " ยังแปลกใจว่าทำไมไม่ตอบว่า " พม่า " หรือว่าพวกเค้าต้องการจะปกปิดความจริงบางอย่าง พูดว่าเป็นพม่าก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องบุคคลต่างด้าว

แต่พอศึกษาเรื่องพม่ามากขึ้น จึงถึงบางอ้อ

ประเทศพม่านั้นมีสถานะเป็นสหภาพ เรียกว่าสหภาพพม่า หรือสหภาพเมี่ยนม่า ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Republic of the Union of Myanmar ตรงนี้เองที่แตกต่างกับประเทศไทยที่ไม่มีคำว่าสหภาพ เพราะประเทศไทยคือ หนึ่งเดียว หรือ Union ไม่ว่าใครจะมีเชื้อชาติใดหรือชนชาติใด ทุกคนก็คือคนไทย ไปไหนมาไหนไม่ว่าจะเป็นปักษ์เหนือ ปักษ์ใต้ ก็บอกชาวบ้านว่าเป็นคนไทย

ต่างกับพม่าที่ประกอบไปด้วยชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็รวมตัวอาศัยอยู่ตามป่าเขา ไม่ต่างกับเป็นประเทศเล็กๆที่เป็นอิสระและไม่ขึ้นกับประเทศใหญ่ หรือพม่า บางกลุ่มก็มีกองกำลังเป็นของตนเอง

เมื่อชนกลุ่มน้อยไปอยู่ที่ไหน ก็มักจะเรียกตามชาติพันธ์ของตนเอง ความรู้สึกว่าเป็นคนพม่าจึงเป็นเรื่องรอง หรือรู้สึกเพียงแค่อาศัยอยู่ในดินแดนพม่าเท่านั้น

พม่า กับไทย ในความเป็นประเทศจึงมีความแตกต่างกัน

หากใครเข้าใจในจุดนี้แล้ว ก็คงไม่แปลกใจที่ชนกลุ่มน้อยพยายามปลดแอกตนเอง ต้องการเป็นอิสระภาพ ไม่ขึ้นกับรัฐบาลพม่า ขณะเดียวกันรัฐบาลกลางพม่าก็พยายามปราบปรามชนกลุ่มน้อยที่อาศัยิยู่ตามรอยตะเข็บชายแดนไทย แต่ก็ไม่ง่าย

คำว่าชนกลุ่มน้อยไม่ไช่มีคนเพียงแค่น้อยนิด แต่ละกลุ่มมีประชากรของตนเองเป็นเรือนแสนเรือนล้าน มีกองกำลัง มีการฝึกอาวุธ คล้ายกับเป็นจังหวัดหนึ่งของพม่า

หลายคนอาจสงสัยว่า ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้รัฐบาลพม่าไม่ได้มีงบประมาณสนับสนุน แต่อยู่กันได้กันอย่างไร แถมมีน้ำไฟใช้กันอย่างสะดวกสบาย

น่าแปลกนะครับ

แต่คำตอบก็คือ ชนกลุ่มน้อยมีรายได้จากการปลูกฝื่น ตั้งโรงงานผลิตเฮโรอิน และยาบ้า รวมทั้งลักลอบตัดไม้สักไปขาย

พม่าจึงปกครองไม่ง่าย เพราะหอกข้างแค่เต็มไปหมด ปัจจุบันมีชนกลุ่มน้อยราว 7-8 กลุ่ม รัฐบาลปราบที่ไร ฝ่ายพ่ายแพ้ก็คือทหารรัฐบาลเอง รบทีไรทหารพม่าตายกันเป็นเบือ เพราะความชำนาญการรบตามป่าเขาคงสู้ชนกลุ่มน้อยไม่ได้

วกกลับมาที่บ้านเรา ถามเด็กปั้มชาวพม่าว่ามาจากไหน จึงได้คำตอบที่ไม่เหมือนกัน โมนบ้าง กระเหรี่ยงบ้าง คะยิ่นบ้าง น้อยคนที่จะบอกว่ามาจากพม่า

จาก http://www.photoontour.com/CityTour_HTML/kohkred/kohkred_part02.htm


(ภาพประกอบ : ชาวมอญในพม่า)

ชุมชนชาวมอญในประเทศไทย

ชาวมอญได้อพยพมาพำนักอยู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระยาเกียรติและพระยารามขุนนางมอญที่มีความดีความชอบในราชการและกลุ่มญาติพี่น้องได้รับพระราชทานที่ดินตั้งบ้านเรือน ณ บ้านขมิ้น ซึ่งได้แก่บริเวณวัดขุนแสนในปัจจุบัน มอญในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งกลุ่มชาวมอญเก่าที่อยู่มาแต่เดิมและกลุ่มมอญใหม่ได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งชุมชนอยู่ชานกรุงศรีอยุธยาบริเวณวัดตองปุและคลองคูจาม

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงกลุ่มชาวมอญที่มีอาชีพฆ่าเป็ดไก่ขายที่ตลาดวัดวัวควาย และมีตลาดมอญขายขัน ถาดทองเหลือง ซึ่งเป็นทั้งตลาดสดด้วย ตั้งอยู่ภายนอกกำแพงเมืองด้านใต้ บริเวณปากคลองเกาะแก้วมีชาวมอญบรรทุกมะพร้าว ไม้แสมทะล และเกลือมาจำหน่าย

ในสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ผู้นำชุมชนชาวมอญในกรุงศรีอยุธยาคือสุกี้พระนายกอง ได้อาสากองทัพพม่าทำสงครามกับอยุธยา และรวบรวมกองทัพมอญได้ถึง 2,000 คน ในปัจจุบันแม้จะไม่มีชุมชนของผู้สืบเชื้อสายมอญภายในกรุงศรีอยุธยา อยู่ในบริเวณที่กล่าวถึงในประวัติศาสตร์แต่ก็ยังมีชุมชนมอญและกลุ่มวัฒนธรรมมอญ กระจายอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากพระนครศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงเทพฯหลายชุมชน

ชาวมอญได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปตามที่ราบลุ่มริมน้ำภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี อยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์

และบางส่วนตั้งภูมิลำเนาอยู่แถบภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี

ทางภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา มีบ้างเล็กน้อยที่อพยพลงใต้ อย่าง ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยมากเป็นแหล่งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดฯ พระราชทานที่ดินทำกินให้แต่แรกอพยพเข้ามา
source : wigipedia.com     

ชุมชนมอญในประเทศไทย จำนวน 23 ชุมชน

1 มอญบางจะเกร็ง จ.สมุทรสงคราม
2 มอญบางปลา จ.สมุทรสาคร
3 มอญบ้านเก่า จ.อุทัยธานี
4 มอญสลุย จ.ชุมพร
5 มอญหนองดู่ จ.ลำพูน
6 บ้านมอญ จ.นครสวรรค์
7 มอญบางไส้ไก่ กรุงเทพฯ
8 มอญบ้านโป่ง-โพธาราม จ.ราชบุรี
9 มอญกระทุ่มมืด จ.นครปฐม
10 มอญสามโคก จ.ปทุมธานี
11 มอญบ้านเสากระโดง จ.อยุธยา
12 คลองมอญ กรุงเทพฯ
13 สะพานมอญ กรุงเทพฯ
14 มอญปากเกร็ด จ.นนทบุรี
15 มอญบางกระดี่ กรุงเทพ
16 มอญบางขันหมาก จ.ลพบุรี
17 มอญคลองสิบสี่ (มอญหนองจอก) กรุงเทพฯ
18 มอญลาดกระบัง กรุงเทพฯ
19 มอญปากลัด (มอญพระประแดง) จ.สมุทรปราการ
20 มอญเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี
21 มอญ จ.สมุทรสาคร
22 มอญเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ
23 มอญปทุมธานี จ.ปทุมธานี
source : wigipedia.com

วัดมอญในประเทศไทย

1 วัดบวรมงคล กรุงเทพฯ
2 วัดทรงธรรม จ.สมุทรปราการ
3 วัดหงษ์ปทุมาวาส จ.ปทุมธานี
4 วัดราชคฤห์วรวิหาร ธนบุรี
5 วัดเกาะ จ.สมุทรสาคร
6 วัดปรมัยยิกาวาส จ.นนทบุรี
7 วัดเจ็ดริ้ว จ.สมุทรสาคร
8 วัดสามพระยา กรุงเทพฯ
9 วัดบางกระเจ้า จ.สมุทรสาคร
10 วัดราษฏร์บำรุง กรุงเทพฯ
11 วัดบางกระดี่ กรุงเทพฯ
12 วัดประดิษฐาราม กรุงเทพฯ
13 วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ
source : monstudies.com



ประวัติศาสตร์มอญ

มอญ มีอารยธรรมสืบเนื่องยาวนาน เป็นชนชาติที่มีอารยธรรมสูงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ในปัจจุบันชนชาติมอญจะไม่มีประเทศปกครองตนเอง แต่ยังพบได้ว่าวัฒนธรรมประเพณีชนชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลมอญทั้งด้านภาษา ศาสนา สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีต่างๆ แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน

มอญได้รับการจำแนกจากนักวิชาการทางด้านภาษาศาสตร์และมานุษยวิทยา จัดอยู่ในกลุ่มชนชาติที่พูดภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmar) ตระกูลออสโตร-เอเชียติค (Austro-Asiatic)

ภูมิหลังของมอญ

ที่ตั้งของอาณาจักรมอญนั้น สามารถแยกออกเป็น 2 พื้นที่ คือ มอญในดินแดนไทย และ มอญในดินแดนพม่า จากการศึกษาเท่าที่มีหลักฐาน พบว่าการตั้งอาณาจักรในอดีตนั้นมิได้แยกออกจากกันโดยชัดเจน มีพื้นที่ซ้อนทับกันลื่นไหลไปตามศูนย์กลางของอำนาจ บางครั้งขยายใหญ่กินพื้นที่กว้างครอบคลุมเมืองเล็กเมืองน้อย บางครั้งลีบเล็ก เมื่อเมืองเล็กเมืองน้อยตั้งตนเป็นอิสระ หรือเปลี่ยนแปลงตนเองเข้าหาขั้วอำนาจอื่น เป็นไปตามความสามารถของผู้นำอาณาจักร สภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในขณะนั้น

มอญในดินแดนไทยนั้นอยู่ในข้อสันนิษฐานข้างต้น กล่าวคือเป็นการแผ่อำนาจการปกครองของมอญจากดินแดนพม่า ศิลปวัฒนธรรมและการเมืองมอญจึงอิทธิพลต่อประชากรในดินแดนส่วนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน โดยที่ประชากรในพื้นที่นี้ยังเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม ได้แก่ มอญ ไทย (สยาม) คนพื้นเมือง เป็นหลัก นอกนั้นเป็นชาวต่างชาติ เช่น จีน อินเดีย ซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขาย และเผยแผ่ศาสนา เป็นต้น และต่างยอมรับในวัฒนธรรมมอญที่เป็นวัฒนธรรมสูงกว่า ในด้านศาสนา ตัวอักษร และวัฒนธรรม ผู้นำอาณาจักรอาจเป็นชาติพันธุ์มอญ หรืออาจเป็นชาติพันธุ์พื้นเมืองที่ผู้นำอาณาจักมอญในดินแดนพม่า (มอญ) แต่งตั้งให้ปกครองกันเอง

มอญยุคทวารวดี พงศาวดารทั้งของพม่าและของไทย ยืนยันว่าอารยธรรมมอญรุ่งเรืองในพม่าตอนล่างก่อนพุทธศตวรรษที่ 14 แต่ขาดหลักฐานในส่วนรายละเอียดทางฝั่งพม่า ทั้งนี้เนื่องจากการขุดค้นและศึกษาหลักฐานโบราณคดีทางพม่ามีน้อย ซึ่งในบริเวณพม่าตอนล่างในปัจจุบันยังไม่เคยมีการขุดค้นหรือการศึกษาที่เป็นระบบ หลักฐานทางโบราณคดีส่วนใหญ่จึงเป็นทางด้านไทย ทำให้นักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าอารยธรรมมอญยุคแรกเริ่มอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่มีความเป็นไปได้ว่าทั้งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและทางพม่าตอนล่างเป็นแหล่งอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองควบคู่กันมา     

จดหมายเหตุการเดินทางของพ่อค้าและขุนนางราชวงศ์ถัง พ.ศ. 1132-1405 และบันทึกของพระถังซำจั๋ง พระสงฆ์ชาวจีนที่เดินทางจากจีนไปอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 12 ได้กล่าวถึงรัฐชาวพุทธแห่งหนึ่งชื่อ  โตโลโปตี ซึ่งแซมวล บีล (Samuel Beal) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันได้ตีความชื่อนี้เป็นภาษาสันสกฤตว่า ทวารวดี และเสนอว่ารัฐนี้อยู่ในภาคกลางประเทศไทย ส่วนปอล เปลลิโอต์ (Paul Pelliot) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสเสนอสมมติฐานว่าประชากรของอาณาจักรนี้เป็นมอญ และหลังจากการค้นพบจารึกภาษามอญโบราณในภาคกลางของประเทศไทย ทำให้พบว่าภาษามอญเป็นภาษาเดียวที่มีการจารึกในยุคนี้และในบริเวณนี้ ทำให้ข้อสันนิษฐานข้างต้นน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

คำว่า “ทวารวดี” มาจากชื่อที่ปรากฏบนเหรียญเงิน 2 เหรียญ ซึ่งพบที่พระปฐมเจดีย์ในจังหวัดนครปฐม และที่อินทร์บุรีใกล้จังหวัดลพบุรี เป็นคำจารึกภาษาสันสกฤตว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” มีความหมายว่า “พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” นอกจากนี้ยังได้พบจารึกชื่อ “ทวารวดี” บนฐานบัวศิลาทรายแดงรองรับพระพุทธรูปที่วัดจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12ส่วนนักประวัติศาสตร์ศิลปะได้เรียกชื่อศิลปะแบบมอญในช่วงเวลานี้ที่พบในประเทศไทยว่า “ทวารวดี” ด้วย

รัฐทวารวดีมีอำนาจทางการเมืองอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 และพุทธศตวรรษที่ 12 คาดว่ามีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองนครชัยศรี ประกอบด้วย “บ้านพี่เมืองน้อง”  ซึ่งมีโครงสร้างวัฒนธรรมเดียวกัน แต่ก็มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น ลักษณะทางสังคมเช่นนี้ทำให้อารยธรรม “ทวารวดี”ถูกกลืนไปกับวัฒนธรรมท้องถิ่นกระทั่งเกิดอารยธรรมลักษณะเฉพาะตนขึ้นในประเทศไทย ซึ่งปิแอร์  ดูปองต์ (Pierre Dupont) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสให้เหตุผลการสูญสิ้นของรัฐทวารวดีว่าเกิดจากการรุกรานของกองทัพพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1544-1593) จากเขมร ส่วนฌอง บวสเซอลิเยร์ (Jean Boisselier) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสเชื่อว่าเป็นกองทัพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เข้ามารุกรานเมื่อราว พ.ศ. 1724 ถึงประมาณ พ.ศ. 2267 แต่ เอมมานูเอล จียอง นักวิชาการอีกท่านหนึ่งชาวฝรั่งเศสคิดว่าเป็นการค่อยๆ ซึมซับทางวัฒนธรรม และกลืนกันไปในที่สุดมากกว่า

นักวิชาการส่วนมากเชื่อว่านครชัยศรีเป็นเมืองหลวงของ “รัฐทวารวดี” ซึ่งมีพระปฐมเจดีย์เป็นศูนย์กลางและมีเจดีย์พระปะโทนเป็นองค์ประกอบอยู่ด้านตะวันออก แต่ฌอง บวสเซอลิเยร์ และ ควอริทซ์ เวลส์ (H.G. Quaritch Wales) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษมีความเห็นว่าอู่ทองเป็นเมืองหลวงและยังเก่าแก่กว่าด้วย ผังเมืองนี้เป็นรูปวงรีแบบผังเมืองของมอญ พบเครื่องมือหินใหม่ซึ่งแสดงว่าเป็นแหล่งที่มีการตั้งถิ่นฐานมานานมากแล้ว นอกจากนี้ยังพบแผ่นทองแดงจารึกชื่อกษัตริย์สององค์คือ พระเจ้าหรรษะวรมัน (Harshavarman) และพระเจ้าอีศานวรมัน (Isanavarman) ซึ่งอาจจะแสดงถึงความเป็นเครือญาติกับราชวงศ์เขมรในยุคเดียวกัน นอกจากนี้มีจารึกเขมร ในยุคเดียวกัน กล่าวถึงพวกมอญด้วยชื่อโบราณว่า รามัญ หรือ รมัญ

หลักฐานภาพถ่ายทางอากาศพบว่าในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีเมืองรูปวงรีแบบเดียวกัน ที่มีผู้อยู่อาศัยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6-11 เป็นจำนวนกว่า 20 เมือง เมืองสำคัญในภาคกลางเช่น เมืองอู่ทอง เมืองสุพรรณบุรี เมืองสังขละบุรี เมืองคูบัว เมืองราชบุรี เมืองลพบุรี เมืองนครปฐม เมืองดงศรีมหาโพธิ์ และเมืองศรีเทพ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ เมืองเสมา เมืองพุทไธสง เมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองนครจำปาศรีนาดูน และเมืองกันทรวิชัย ในภาคเหนือได้แก่ เมืองหริภุญไชย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองพิษณุโลก ในภาคใต้ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา เมืองสะทิงพระ เมืองยะรัง กระทั่งในยุคต่อมาคือพุทธศตวรรษที่ 13-14 พงศาวดารปากลัดยังได้กล่าวถึงหัวเมืองมอญ 3 แห่ง คือ เมืองพะสิม เมืองพะโค และ เมืองมะตะบัน

สำหรับประชากรของเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่คงเป็นมอญ และคงมีชนชาติอื่นๆ ปะปนอยู่ด้วย ได้แก่ ไทย (สยาม) เป็นหลัก นอกนั้นเป็นชาวต่างชาติ เช่น จีน อินเดีย ซึ่งเข้ามาติดต่อด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ความสำคัญของเมืองเหล่านี้เกิดจากจากความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรมเพราะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การปลูกข้าว และมีชัยภูมิอยู่ในศูนย์กลางของเส้นทางการค้าโดยรวมและการค้าขายทางทะเล การหลั่งไหลแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นจากการค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก ซึ่งมีอิทธิพลศิลปะอินเดียทั้งในศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ ศิลปะนี้มีวิวัฒนาการต่อมาจนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ศึกษาได้จากเสมาหินที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รูปแบบและคติในการสร้างที่คล้ายคลึงกันกับของอาณาจักรสะเทิมในพม่าตอนล่าง ซึ่งพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกันรวมทั้งมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเดียวกันระหว่างประชากรทั้งสองกลุ่ม

ส่วนจารึกภาษามอญที่เก่าแก่ที่สุดคือจารึกสองชิ้นพบที่วัดโพธิ์ร้าง จังหวัดนครปฐม ซึ่งเอมมานูเอล จียอง สันนิษฐานว่าตัวอักษรที่ใช้ในจารึก มีแหล่งกำเนิดจากอักษรปัลลวะ จากอาณาจักรปัลลวะในอินเดียใต้ และอักษรจากกลุ่มตอนกลางของแม่น้ำกฤษณะ  ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียตัวอักษรดังกล่าวได้ใช้บันทึกภาษามอญตามที่ปรากฏบนจารึกเสาแปดเหลี่ยมที่ลพบุรี และที่ฐานเจดีย์โบตาทอง (Botahtaung) ในย่างกุ้ง นอกจากนี้ยังมีเสาสลักที่แสดงลักษณะการจารึกแบบเดียวกันที่บ้านตลาดในบริเวณที่ราบเวียงจันทน์ของลาว รวมทั้งพระพุทธรูปยืนที่มีลักษณะจีวรและพระศกที่แสดงความสัมพันธ์กับศิลปะทวารวดีในที่ราบภาคกลางของไทย เป็นหลักฐานยืนยันขอบเขตของอารยธรรมทวารวดีซึ่งขยายพื้นที่ออกไปมาก

ศูนย์กลางของทวารวดีในบริเวณจังหวัดนครปฐมเริ่มเสื่อม ศูนย์กลางของทวารวดีจึงเคลื่อนไปอยู่เมืองหริภุญไชยในราวพุทธศตวรรษที่ 13 และเมื่อเมืองทวารวดีในบริเวณจังหวัดนครปฐมตกอยู่ใต้อิทธิพลของเขมรที่ครอบครองอาณาจักรอีศานปุระ ชาวมอญจำนวนหนึ่งจึงอพยพขึ้นทางเหนือสู่หริภุญไชยในราวพุทธศตวรรษที่ 16

มอญยุคหริภุญชัย

เมืองหริภุญชัยเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมมอญในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 นับเป็นการขยายตัวของวัฒนธรรมจากเมืองละโว้ขึ้นมาทางภาคเหนือ เมืองหริภุญชัยจึงเป็นเมืองเหนือสุดที่รับวัฒนธรรมละโว้ เมืองหริภุญชัยเแต่เดิมเป็นศูนย์กลางการค้าของป่า ทำหน้าที่รับสินค้าจากแหล่งต่างๆ ตามเขตหุบเขาตอนบนแล้วส่งผ่านลงสู่เมืองตอนล่างโดยอาศัยลำน้ำปิงเป็นเส้นทางการขยายตัว เมืองหริภุญชัยจึงเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ และเป็นเมืองที่มั่งคั่งจากการค้า

เมืองหริภุญชัย ในระยะแรกคงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐทวารวดี ซึ่งมีเมืองละโว้เป็นศูนย์กลาง ภายหลังหริภุญชัยได้แยกตัวเป็นอิสระ และพัฒนาการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในภูมิภาคนี้ ต่อมาได้รับวัฒนธรรมจากแหล่งอื่นๆ มาผสมผสาน เช่น ศิลปะจากพุกาม ศิลปะอินเดียสมัยปัลลวะ จนสร้างเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น “มอญหริภุญชัย”

ตำนานจามเทวีวงศ์และสังคีติยวงศ์กล่าวถึงการสร้างเมืองหริภุญชัย และการอัญเชิญพระนางจามเทวีจากละโว้มาครองเมืองหริภุญชัย เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 14 มีขุนนางและผู้เชี่ยวชาญศิลปวิทยาการ เช่น พระภิกษุ นักปราชญ์ และช่างแขนงต่างๆ ได้ติดตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก

พระนางจามเทวีจึงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวี เอกสารโบราณของจีนเรียกเมืองหริภุญชัยนี้ว่า “หนี่หวังก๊ก” ซึ่งหมายถึงอาณาจักรที่มีกษัตริย์เป็นผู้หญิง

ส่วนด้านใต้ของหริภุญชัยการตั้งถิ่นฐานขยายตัวตลอดลำน้ำปิงจนถึงเวียงฮอดซึ่งอยู่ใต้สุด ตั้งอยู่บนเส้นทางที่เชื่อมชุมทางการค้าระหว่างล้านนากับอยุธยา และยังสามารถตัดข้ามภูเขาไปยังเมืองหงสาวดีในเขตหัวเมืองมอญได้

หริภุญชัยมีความเจริญรุ่งเรืองบ้านเมืองมีความสงบปราศจากสงคราม มีการทำนุบำรุงศาสนา เช่น การสร้างวัด การกัลปนาผู้คนและที่ดินแก่วัด กษัตริย์ที่สำคัญในสมัยนี้คือ พญาอาทิตยราช ผู้ทรงสร้างพระธาตุหริภุญชัยเมื่อประมาณ พ.ศ.1700 และพญาสววาธิสิทธิ (สรรพสิทธิ์) พบหลักฐานศิลาจารึกภาษามอญจารึกพระราชกรณียกิจของพระองค์ในด้านศาสนา

อาณาจักรสะเทิม

ตามตำนานระบุว่าอารยธรรมของมอญเริ่มมาตั้งแต่ 241 ปี ก่อนพุทธศักราชและเมื่อศึกษาจากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าชาวมอญได้ตั้งถิ่นฐานขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดีในบริเวณพม่าตอนล่าง (Lower Myanmar) ร่วมสมัยกับเขมรและปยู* ราวพุทธศตวรรษที่ 8-13ซึ่งศูนย์กลางอำนาจในยุคนั้นเป็นลักษณะของการตั้งรัฐอิสระที่ไม่ขึ้นตรงต่อกัน บางครั้งมีอาณาเขตที่ทับซ้อนไม่มีเส้นแบ่งเขตชัดเจนแน่นอน มีการเคลื่อนตัวไปมาของประชากรอยู่เสมอเป็นไปตามสถานการณ์ทางการเมืองหรือสังคมในช่วงนั้นๆ เช่น ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 16 เมืองหริภุญชัยเกิดอหิวาตกโรคระบาดต้องอพยพไปอยู่เมืองสะเทิม และหงสาวดี แต่หลังจากโรคร้ายสงบลงก็อพยพกลับมาดังเดิม

ทางตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองสะเทิมในปัจจุบัน มีภูเขาลูกหนึ่งเรียกว่า เกลาสะ ซึ่งตรงกับตำนานเมืองสะเทิมที่มีอยู่ในจารึกต่างๆ ที่พบบริเวณเมืองพะโค ชัยภูมิของเมืองสะเทิมมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม เพราะตั้งอยู่แถบที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ มีการค้นพบงานศิลปะมากมาย เช่น เสมาหิน และศิลาแกะสลักซึ่งมีรูปแบบและยุคสมัยเดียวกันกับงานศิลปะที่เมืองฟ้าแดดสงยาง

ในพุทธศตวรรษที่ 16 อาณาจักรมอญที่สะเทิมเจริญสูงสุดยิ่งกว่าอาณาจักรใดๆ ในบริเวณใกล้เคียง ทั้งทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา และการค้า ขณะนั้นพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 อาณาจักรเขมรได้ขยายอาณาเขตออกไปทางตะวันตก เข้ายึดครองลพบุรีของมอญทวารวดี ก่อให้เกิดการอพยพใหญ่ของมอญที่ลี้ภัยเข้าสู่หงสาวดีและสะเทิม จากนั้นพวกเขมรก็รุกรานเข้าไปในพม่าตอนใต้ กษัตริย์มอญอาณาจักรหงสาวดีได้ขอให้พระเจ้าอโนรธาอาณาจักรพุกามของพม่ายกทัพมาช่วยต้านทานกองทัพเขมร พระเจ้าอโนรธาจึงถือโอกาสขยายอำนาจเข้ามาจนถึงลพบุรี ทั้งนี้พม่ายอมคืนลพบุรีให้เขมร โดยมีข้อแม้ว่าเขมรต้องยอมรับอำนาจเหนือดินแดนที่พม่าตีได้

แม้ว่ามอญจะถูกพม่าปราบจนสิ้นอิสรภาพ แต่อารยธรรมความเจริญของมอญกลับรุ่งเรืองและมีอิทธิพลเหนือพม่า พระเจ้าอโนรธา (พ.ศ. 1587-1626) ได้กวาดต้อนนักปราชญ์ราชบัณฑิตและช่างฝีมือทุกแขนงจากสะเทิมไปยังพุกาม และได้หล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมประจำชาติพม่า ดังจะเห็นได้จากการสร้างและตกแต่งเจดีย์ต่างๆ ในสมัยราชวงศ์พุกาม การดัดแปลงตัวหนังสือของมอญไปใช้เป็นตัวเขียนของพม่า ตลอดจนการรับคำในภาษามอญไปใช้ในภาษาพม่า นอกจากนี้ยังรับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมอื่นๆ ของมอญด้วย โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าครรชิต (จันสิตถา พ.ศ. 1627-1655) ซึ่งครองราชย์ต่อจากพระเจ้าอโนรธา ในสมัยนี้วัฒนธรรมมอญมีอิทธิพลของเหนือพม่าอย่างเห็นได้ชัด มีการสร้างวัดและเจดีย์จำนวนมากตามแบบสถาปัตยกรรมมอญ และจารึกส่วนใหญ่ก็ใช้ภาษามอญ แต่ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าอลองสิทธุ (พ.ศ. 1656-1708) วัฒนธรรมมอญที่เคยมีอิทธิพลเหนือราชวงศ์พุกามก็ถูกกลืนหายไปโดยสิ้นเชิง

นโยบายของพม่าในการที่จะรวมมอญเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร ซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยพระเจ้าอโนรธาได้สืบทอดมายังกษัตริย์องค์ต่อๆ มา แต่มอญพยายามดิ้นรนเพื่ออิสรภาพของตนอยู่เสมอ และในที่สุดก็สามารถฟื้นตัวและตั้งอาณาจักรอิสระขึ้นได้อีก 2 ครั้ง

อาณาจักรเมาะตะมะ

หลังจากที่อาณาจักรพุกามของพม่าถูกกองทัพมองโกลของจักรพรรดิกุบไลข่านทำลายใน พ.ศ. 1820 พวกมอญทางใต้ได้ก่อกบฏ พ่อค้ามอญเชื้อสายไทใหญ่ชื่อ มะกะโท ยึดเมืองเมาะตะมะได้ใน พ.ศ. 1824 ตั้งตนเป็นปฐมกษัตริย์อาณาจักรเมาะตะมะ พระนามว่าพระเจ้าฟ้ารั่ว (Wareru)

พระเจ้าฟ้ารั่วทรงสร้างประมวลกฎหมายใหม่ที่ดัดแปลงมาจากกฎหมายพระมนู เรียกว่า พระธรรมศาสตร์ฉบับพระเจ้าฟ้ารั่ว ซึ่งแปลจากคัมภีร์ภาษาฮินดูเป็นภาษามอญ และปรับปรุงให้เข้ากับหลักพุทธศาสนา และกลายเป็นรากฐานกฎหมายทั้งของพม่าและไทย

ในสมัยพญาอู่ ได้มีการย้ายเมืองหลวงจากเมาะตะมะไปยังหงสาวดีใน พ.ศ. 1912 เพราะถูกโจมตีจากกองทัพไทย คือพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ. 1893-1912) เกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันเองเป็นเวลาหลายปี ทำให้ไทยและไทใหญ่ถือโอกาสรุกราน แต่อย่างไรก็ตามพญาอู่ยังคงรักษาอาณาจักรไว้ได้



อาณาจักรหงสาวดี

อาณาจักรมอญทั้งหมดสามารถรวมเป็นปึกแผ่นได้เป็นครั้งแรก ในสมัยของพระเจ้าราชาธิราช (พ.ศ. 1936-1964) ซึ่งครองราชย์ต่อจากพระบิดาคือ พญาอู่ นอกจากจะทรงจัดระเบียบการปกครองที่ดีแล้ว ยังพยายามผูกมิตรกับอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรข้างเคียง ทำให้สามารถรับศึกจากพม่าและไทยใหญ่ได้เต็มที่ พระเจ้าราชาธิราชประสบภาวะสงครามเกือบตลอดรัชกาลของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคี่ยวกับพม่ากรุงอังวะในสมัยของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง (พ.ศ.1944-1965) แต่พระเจ้าราชาธิราชทรงใช้นโยบายยุยงให้อังวะกับรัฐต่างๆ แตกกัน จึงสามารถป้องกันอาณาจักรไว้ได้

อาณาจักรหงสาวดีในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1966-2082 เป็นยุคแห่งความสงบและรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและการค้าขาย กล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของมอญ มีกษัตริย์ปกครองรวม 8 องค์ ที่สำคัญคือ พระนางพญาท้าว (Shinsawbu พ.ศ. 1996-2013) และพระเจ้าธรรมเจดีย์ (พ.ศ. 2013-2035) เนื่องจากในระยะนั้นพม่าตกอยู่ในภาวะสงครามภายใน ทำการสู้รบกันเอง จึงมิได้มารบกวนมอญ เป็นโอกาสให้มอญสามารถทะนุบำรุงประเทศอย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือ กิจการในพุทธศาสนา ได้แก่ การบูรณะองค์พระเจดีย์ชเวดากอง (พระมหาธาตุเมืองตะเกิง) ในสมัยพระนางเช็งซอบู (มอญเรียกว่า พระนางมิจาวปุ) พระนางได้ถวายทองคำเท่าน้ำหนักตัวปิดทององค์พระธาตุ พระเจ้าธรรมเจดีย์ ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 และการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ คือ อินเดีย มะละกา และหมู่เกาะมาเลย์ เมืองท่าที่สำคัญของมอญได้แก่ เมืองสิเรียม (Syriam) เมืองพะสิม (Bassein) เมืองเมาะตะมะ (Martaban) และเมืองหงสาวดี (Pegu)

พระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองหงสาวดี ล้วนสนับสนุนส่งเสริมกิจการทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระนางเช็งซอบูและพระเจ้าธรรมเจดีย์ได้ทะนุบำรุงพุทธศาสนา บริจาคทรัพย์สิ่งของมีค่าและเครื่องประดับ เพื่อใช้ในการบูรณะและตกแต่งเจดีย์ชเวดากอง (พระมหาธาตุเมืองตะเกิง) ถวายทาสชายหญิงให้เป็นข้าวัด ส่วนพระเจ้าธรรมเจดีย์ได้ส่งทูตไปลังกาเพื่อทำการชำระสมณวงศ์ทั้งด้านพิธีกรรมและวินัยสงฆ์ จำลองแบบสีมามาสร้างขึ้นในหงสาวดี โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่สีมากัลยาณีใกล้เมืองหงสาวดี ซึ่งใช้เป็นสถานที่สำหรับบวชพระ รวมทั้งนิมนต์พระสงฆ์จากประเทศใกล้เคียงให้เข้ามาทำการบวชอีกครั้งหนึ่งทีสีมากัลยาณี ทำให้พิธีการบวชในประเทศใกล้เคียงที่นับถือพุทธศาสนาเป็นลักษณะเดียวกัน เรื่องราวเกี่ยวกับการชำระสมณวงศ์ดังกล่าว พระเจ้าธรรมเจดีย์โปรดฯให้จารึกลงบนศิลา 10 หลัก เรียกว่า จารึกกัลยาณี

มอญในยุคหงสาวดีสิ้นสุดลงเพราะถูกพม่าแห่งราชวงศ์ตองอูรุกราน และรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่าใน พ.ศ. 2082 พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ (พ.ศ. 2074-2093) ทรงมีนโยบายรวมมอญกับพม่าเข้าเป็นชาติเดียวกัน โดยการรับอารยธรรมต่าง ๆ ของมอญมาใช้ในราชสำนักพม่า ให้ชาวมอญเข้ารับราชการในตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ ของกองทัพ รวมทั้งย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงหงสาวดี

สมัยพระเจ้าบุเรงนอง (Bayinnaung พ.ศ. 2094-2124) แม้พระองค์จะยังคงยึดถือนโยบายและปฏิบัติต่อชาวมอญเช่นเดียวกับพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ แต่ความต้องการที่จะสร้างจักรวรรดิพม่าให้ยิ่งใหญ่ ทำให้ต้องเกณฑ์ชาวมอญเข้าในกองทัพเป็นจำนวนมากอยู่เสมอ ขาดแรงงานทำนา จนเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง พวกมอญได้ก่อการกบฏขึ้นแต่ก็ถูกปราบอย่างรุนแรง กษัตริย์พม่าองค์ต่อมาปกครองมอญอย่างกดขี่ บีบคั้นในเรื่องภาษีและการเกณฑ์แรงงาน ทั้งในยามสงบและยามสงคราม เป็นเหตุให้มอญก่อการกบฏอยู่เนืองๆ และเมื่อถูกพม่าปราบหนักเข้า จึงพากันอพยพเข้าสู่ไทย

ปลายราชวงศ์ตองอู ขณะที่พม่าต้องทำสงครามทั้งกับจีนฮ่อและไทย มอญก็ถือโอกาสรวบรวมกำลังและประกาศอิสรภาพใน พ.ศ. 2283 ภายใต้การนำของสมิงทอพุทธเกษ (พ.ศ. 2283-2290) หลังจากตั้งมั่นที่หงสาวดีได้แล้ว มอญคิดจะขยายอาณาเขตออกไปทางเหนือ เพื่อทำลายล้างอาณาจักรพม่าที่อังวะซึ่งกำลังอ่อนแอให้สิ้นซาก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ สมิงทอพุทธเกษจึงสละราชบัลลังก์ใน พ.ศ. 2290

พญาทะละ (พ.ศ. 2290-2300) ขึ้นครองอำนาจต่อมา พยายามขยายอาณาเขตจนยึดกรุงอังวะเมื่อ พ.ศ. 2295 ทำให้ดูเหมือนว่ามอญกำลังจะรวมพม่าเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมอญ แต่ในขณะที่พม่าเพลี่ยงพล้ำ อลองพญา จากเมืองมุกโชโบ (Moksobomyo) นำสมัครพรรคพวกเข้าตีกองทหารมอญแตกยับเยิน  แม้มอญจะส่งกำลังมาเพิ่มเติมแต่ก็พ่ายแพ้กลับไปทุกครั้ง และใน พ.ศ. 2297 พระเจ้าอลองพญาก็ยึดพม่าตอนบนไว้ได้ทั้งหมด ลงมาจนถึงเมืองพะโค ซึ่งพระองค์เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “ย่างกุ้ง” แปลว่า “สิ้นสุดสงคราม” และได้ดินแดนมอญทั้งหมดไว้ในอำนาจโดยเด็ดขาดใน พ.ศ. 2300 มอญจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าตั้งแต่นั้นมาโดยไม่มีโอกาสฟื้นตัวได้อีกจนกระทั่งปัจจุบัน

อาณาจักรมอญทั้ง 3 แห่งคือเมืองสะเทิม หงสาวดี และเมืองเมาะตะมะ ตกอยู่ในภาวะสงครามมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มตั้งอาณาจักร ทั้งสงครามจากการรุกรานของอาณาจักรข้างเคียง และการแย่งชิงอำนาจภายในราชวงศ์ของมอญเอง

เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะสงคราม ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่น การดำเนินชีวิตย่อมมีความยากลำบาก ชาวมอญถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา จึงอพยพโยกย้ายมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินไทยหลายครั้ง ชาวมอญที่อพยพเข้ามานั้นล้วนเป็นที่ความต้องของพระมหากษัตริย์ไทย เพราะโดยปกติสงครามในสมัยก่อน เป็นสงครามกวาดต้อนผู้คน เมื่ออาณาจักรใดมีพลเมืองมาก ก็ย่อมมีแรงงานทำเกษตรกรรมและเป็นกำลังป้องกันประเทศจากการรุกรานของข้าศึกได้ดี

การอพยพของชาวมอญเข้าสู่ประเทศไทย

ชาวมอญในที่นี้ หมายถึงชาวมอญที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเมืองมอญ คือ พม่าตอนใต้ในปัจจุบัน และอพยพจากถิ่นเดิมเข้ามายังแผ่นดินไทย เพราะถูกรุกรานจากอาณาจักรข้างเคียง ภาวะสงครามและการถูกกดขี่ข่มเหง ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันให้ชาวมอญที่ได้รับความเดือดร้อน พากันอพยพครอบครัวหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ล้านนา เขมร เวียดนามลาว และไทย

ในการอพยพเข้าสู่ไทย มีหลักฐานกล่าวถึงเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2082 เมื่อพระเจ้าตะเบงชเวตี้ทำสงครามชนะ มีอำนาจเหนืออาณาจักรหงสาวดี ชาวมอญจำนวนมากพากันอพยพหลบหนีเข้ามายังพระราชอาณาจักรไทย และมีการอพยพเข้ามาอย่างต่อเนื่องอีกหลายครั้ง จนถึง พ.ศ. 2367 ถือเป็นการอพยพเข้ามาอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้าย เนื่องจากอังกฤษเริ่มทำสงครามกับพม่า อังกฤษเข้ายึดครองบริเวณที่เป็นเมืองเก่าของมอญ และผนวกเข้าเป็นจังหวัดหนึ่งของอินเดีย

ประชากรในเมืองหริภุญชัยประกอบด้วยชาติพันธุ์ผสมคือ ชาวเม็ง (มอญ) และลัวะ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์เดิม ในภายหลังจึงปรากฏกลุ่มคนไทย ในยุคหริภุญชัย “เม็ง” เป็นชนชั้นปกครอง เป็นกลุ่มที่รับความเจริญมาจากมอญในแถบภาคกลาง นอกจากนี้ยังมีชาวละโว้ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นมอญที่มากับพระนางจามเทวี

เม็งและลัวะเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมในที่ราบลุ่มน้ำปิง ตำนานจามเทวีวงศ์เรียกชาติพันธุ์เม็งว่า เมงคบุตร ศรีศักร วัลลิโภดม วิเคราะห์ว่า กลุ่มเมงคบุตร เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่เจริญเป็นพวกแรกในแถบที่ราบเชียงใหม่ มีลักษณะสังคมชนเผ่า แบ่งออกเป็นหลายตระกูลแต่ละตระกูลใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ของตน ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาติพันธุ์เม็ง มักกระจายตัวอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง จึงพบคำเก่าแก่ในภาษาเม็งเรียกแม่น้ำปิงว่า “แม่ระมิง” (มาจากคำว่า รเมญ ในภาษามอญโบราณ และกร่อนมาเหลือ เมญ หรือ เม็ง ในภาษาล้านนา) หรือแม่น้ำเม็ง หมายถึงแม่น้ำที่ชาวเม็งอาศัยอยู่

ความเจริญด้านต่างๆ จากหริภุญชัยได้แพร่หลายไปสู่เมืองที่เกิดขึ้นในระยะต่อมาเช่นล้านนา กล่าวคือ ตัวอักษรธรรมล้านนามีที่มาจากอักษรมอญหรือหริภุญชัย ด้านศิลปกรรมก็ยอมรับศิลปะหริภุญชัยอย่างเด่นชัด เช่นรูปทรงเจดีย์ แม้แต่กฎหมาย “มังรายศาสตร์” อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากกฏหมายของมอญที่หริภุญชัย

ส่วนเมืองสุโขทัยซึ่งครอบครองดินแดนที่เคยเป็นของมอญในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และดินแดนบริเวณเหนือแม่น้ำโขงสืบแทนพวกเขมรประชากรส่วนใหญ่ของสุโขทัยก็คงจะเป็นชาวมอญและเขมร ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงคงได้ดัดแปลงตัวอักษรจากทั้ง 2 ชาติ เป็นภาษาทางการซึ่งประชากรในอาณาจักรสุโขทัยที่พูดภาษามอญและเขมรจะสามารถใช้ร่วมกัน

มอญในดินแดนพม่ามีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ค่อนไปทางตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี และมีอาณาเขตแผ่ลงไปถึงทวาย ชนชาติมอญมีวัฒนธรรมในระดับสูง เป็นผู้ริเริ่มการปลูกข้าวและถั่วในดินแดนพม่าปัจจุบัน และเป็นผู้คิดทำการชลประทานขึ้น

ขณะที่อาณาจักรทวารวดีกำลังเจริญรุ่งเรืองนั้น ได้มีเมืองสำคัญอยู่ในเขตพม่าตอนล่างแล้ว ได้แก่ เมืองสะเทิม (Thaton) หรือ สุธรรมวดี (Sudhammavati) เมืองเมาะตะมะ (Martaban) และเมืองพะโค (Pegu) หรือหงสาวดี (Hansavati) เมืองทั้ง 3 นี้อาจก่อรูปขึ้นและมีความเจริญไล่เลี่ยกับอาณาจักรทวารวดี ศูนย์กลางความเจริญในระยะแรกว่ามีหลายแห่งด้วยกันคือ สะเทิม, ทะละ (Dala), (ปัจจุบันคือ ตวันเต Twante), และพะโค (Pegu) ซึ่งต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน