ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 07, 2016, 07:35:19 am »ทำไมหนังการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องนี้จึงถูกกล่าวขานกันนัก แม้คุณไม่เคยดูแต่ก็มักจะได้ยินนักวิจารณ์เอ่ยอ้างถึงอยู่เสมอ ถ้าหากต้องเลือกหนังไซไฟ หุ่นยนตร์ และเอนิเมชันที่มีอิทธิพลต่อหนังยุคใหม่สักเรื่อง Ghost in the Shell มักเป็นหนึ่งที่ได้รับการเลือกเสมอ แม้อาจจะไม่เกี่ยวว่า Ghost in the Shell เป็นหนังต้นแบบภาพยนตร์เรื่อง The Matrix ที่ได้รับอิทธิพลมาเต็มๆ แม้ด้วยความแตกต่างทางเนื้อหา ถึงที่สุดแล้วไม่มีใครเป็นเจ้าของไอเดียใดไอเดียหนึ่งในชนิดที่ว่าหากคุณทำเรื่องความฝันแล้วไปแล้ว ห้ามใครทำตาม (ไม่อย่างนั้นโลกนี้คงไม่ต้องมีใครทำอะไรอีกต่อไป)
การนำไอเดียมาขยายต่อกลายเป็นการต่อยอดทางความคิด มันทำให้ฐานของความคิดมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่ออธิบายถึงอภิปรัชญาที่มีอยู่จริงต้องอาศัยการคิดต่อยอดหรือทำซ้ำ จึงไม่แปลกที่เรามักจะเห็นงานต่อยอดเหล่านี้ในหนังฝรั่ง หนังต่างชาติมากมาย แต่ในหนังไทยเราแทบจะมองหาการต่อยอดได้ยาก ยกเว้นเพียงการทำซ้ำที่แทบจะไม่แตะต้องแนวความคิดแบบเดิมๆ
หนังเรื่อง Ghost in the Shell เป็นหนังแนวไซไฟยุคใหม่ที่พูดถึงตัวตน การดำรงอยู่ของชีวิตหุ่นยนตร์ จิตวิญญาณ และการยึดครองร่างกายให้เป็นหนึ่งเดียว มีหนังหลายเรื่องพยายามจะอธิบายว่าสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นอันทรงภูมิปัญญา ที่สามารถมีความคิดสร้างสรรค์เองได้ หรือในภาษาอังกฤษใช้ว่า Artificial Intelligence (AI) เป็นที่ถกเถียงกันเสมอว่า เมื่อเทคโนโลยีถึงขั้นสูงสุด มนุษย์เป็นผู้ให้กำเนิดหุ่นยนตร์ทรงปัญญา หุ่นยนตร์เหล่านั้นจะพัฒนาตัวเองในด้านความรู้ ความทรงจำ ความรู้สึก มีทั้งความรัก ความรู้สึกห่วงหา ความทุกข์ ความรู้สึกอย่างที่มนุษย์มี ไม่ใช่หุ่นยนตร์ที่คิดตรรกะความถูกผิดตามมาตรา กฎหมาย หรือถือไม้บรรทัดของความดีเพียงผู้เดียว คำถามเหล่านี้เวียนวนอยู่ในหนังไซไฟยุคใหม่เสมอ และทุกครั้งมักจะทำให้คนดูอดคิดถึง หรือมองลึกเข้าไปในจิตวิญญาณที่แท้จริง
แรกเริ่ม Ghost in the Shell เป็นมังงะ สร้างสรรค์โดย มาซามูเน ชิโร ตีพิมพ์ในปี 1991 ส่วนภาพยนตร์กำกับโดย Mamoru Oshill ได้รับการสร้างขึ้นในปี 1995
Ghost in the Shell เล่าเรื่องของหุ่นยนตร์นักฆ่าสาว Motogo ที่ทำงานให้กับหน่วยงานลับซึ่งกำลังตามหาแฮคเกอร์ที่กำลังครอบงำระบบ พวกเขาพบว่าระบบถูกแฮกเป็นจุดๆ ตามสถานที่ต่างๆ เมื่อตามไปพบก็พบว่าคนที่แฮกระบบเป็นเพียงคนขับรถขยะที่ยากจน จากการสอบสวนพวกเขาถูกทำให้ลืม และสร้างความทรงจำใหม่เข้าไปแทน การทำหน้าที่ของมนุษย์ไร้ค่าลงไปเรื่อยๆ หรือแทบจะไม่มีความหมายต่อขบวนการทางสังคม พวกเขาคิดว่าพวกเขามีครอบครัวที่อบอุ่น ทั้งที่มันเป็นภาพลวงตา ขณะที่สังคมถูกควบคุมด้วยอำนาจนอกระบบ
หนังนำเสนอภาพเมืองใหญ่ในญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สาม ช่วงปี 2029 บ้านเมืองในอนาคตมิได้สวยสดงดงามเหมือนหนังไซไฟที่เต็มไปด้วยยานพาหนะเมทัลลิกแวววาว หรือตัวตึกทรงก้าวล้ำ ทว่าเมืองที่หนังนำเสนอเต็มไปด้วยความดำมืด (film noir) ทรุดโทรม บางจุดน้ำท่วมขัง ป้ายโฆษณาขายสินค้ามากมายแขวนอยู่ตามตัวตึก น้ำท่วมถนนจนต้องเปลี่ยนการจราจรจากรถเป็นเรือในบางช่วงของตัวเมือง ผู้คนว้าหว่ไม่เป็นมิตร คนบ้า คนเสียสติ ความวุ่นวาย อาชญากรรม แก๊งค์มาเฟีย โลกยุคหน้าไม่ต่างจากยุคนี้เสียเท่าไหร่ และอาจเป็นไปได้อย่างใกล้เคียงความจริงเสียยิ่งกว่าจริง
โมโตโกะคำนึงถึงจิตใจของเธอเอง เสียงสะท้อนของความหมายชีวิตดังก้องในหัวของเธอ เธอคิดเสมอว่าเธอมาจากไหน มาอย่างไร เป็นอะไร และเธอมีความรู้สึกแบบมนุษย์จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงโปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นให้มีความรู้สึก หุ่นยนตร์มีความสำนึกในตัวเอง มีความรู้สึก เธอถามหาความหมายของชีวิต ฉากที่เธอดำดิ่งลงไปในมหาสมุทร ฟังเสียงกังวานในสมองจักรกล ตัวตนของเธออยู่ที่ไหน มันเป็นจุดที่พีคมากสำหรับหนัง แม้ตัวเนื้อเรื่องหลักจะเป็นการไล่ล่า The Puppet Master (มือที่มองไม่เห็น) อันเป็นเบื้องหลังอาชญากรรมทั้งหลาย
สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นของหนังก็คือการมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางไซเบอร์เรียนนั้น เป็นหัวข้อที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่น้อยกว่าปัญหาการทุ จริตในโลกยุคใหม่ เรื่องเหล่านี้เป็นการก้าวย่างเกินกว่าอาณาจักรที่พระเจ้าสร้างขึ้น เป็นการคาดเดาต่อยุคอนาคตว่าเราต้องพบเจออะไรบ้างเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคหุ่นยนตร์จริงๆ การสถาปนาตัวตนของมนุษย์เป็นพระเจ้าจึงไม่ง่าย ไม่ง่ายเลยที่จะควบคุมโลกทั้งใบด้วยระบบเพียงระบบเดียว
การรวม (merge) กันระหว่าง โมโตโกะ กับ The Puppet Master เป็นจุดเปลี่ยนแปลงทางภาวะเพศสัมพันธ์ มันมิใช่การขืนใจระหว่างรหัสทางคณิตศาสตร์ แต่มันมีความซับซ้อนเชิงตรรกะ และการใช้แขนหุ่นยนตร์ของบาโตะปกป้องกระสุนไม่ให้ยิงโดนโมโตโกะ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าหุ่นยนตร์มิได้แสร้งมีชีวิตจิตใจ ทว่าพวกเขาและเธอพัฒนาไปสู่การเป็นตัวตนใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ
จาก https://porcupinebook.com/2014/04/28/ghost-in-the-shell- การตามหาตัวตนใหม่/
Ghost in the Shell | ผีในเปลือก?
Ghost in the Shell เป็นอะนิเมะที่เริ่มต้นมาจากการเป็นมังงะ ก่อนจะกลายเป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดย โอชิอิ มาโมรุ เรื่องราวของหน่วยพิเศษ 9 ที่มีทั้งไซบอร์กและมนุษย์ทำงานร่วมกัน
ในช่วงที่เรายังเฝ้าแต่คิดถึงโลกอนาคตที่มีทั้งคนและหุ่นยนต์อาศัยอยู่ร่วมกันนั้น อะนิเมะจากญี่ปุ่นพูดถึงหุ่นยนต์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เติบโตไปจนถึงขั้นแอนดรอยด์ และไซบอร์ก หลายเรื่องลงลึกไปถึงขั้นปรัชญาซึ่งค่อนข้างใช้เวลาในการทำความเข้าใจสูง การตั้งคำถามที่บางครั้ง มนุษย์ในปัจจุบันก็ยังฟันธงชี้ชัดๆ ลงไปไม่ได้ หลายเรื่องเติบโตจากการเป็นมังงะ ก่อนจะรุ่งเรืองด้วยภาพยนตร์อะนิเมะและภาพยนตร์การ์ตูนชุดทางทีวี และเรื่องนี้ก็เป็นเช่นนั้น
“Ghost in the Shell” มังงะชื่อดังผลงานของ ชิโระ มาซามูเนะ มันถูกตีพิมพ์ในยังแมกกาซีนในปี 1989 ก่อนจะมีภาคถัดๆ มา และก่อนจะกลายเป็นงานภาพยนตร์แอนิเมะที่กำกับโดย โอชิอิ มาโมรุ ทั้งสองภาค คือ Ghost in the Shell ในปี 1995 และ Ghost in the Shell 2: Innocence ในปี 2004 นอกจากนี้ มันยังมีเวอร์ชั่นที่เป็นภาพยนตร์ชุดทางทีวีอีกด้วย
ในส่วนของภาพยนตร์อะนิเมะนั้น เริ่มต้นเรื่องด้วยเหตุการณ์ในโลกอนาคตที่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วทั้งจักรวาล อย่างไรก็ตามก็ยังไม่พ้นมีปัญหาเดิมๆ อย่างเช่นปัญหาของชนกลุ่มน้อยและความขัดแย้งไม่ต่างกับปัจจุบัน มีตัวเอกอย่าง เมเจอร์ โมโตโกะ คุซานางิ (ซึ่งผมขอเรียกสั้นๆ ว่าเมเจอร์ก็แล้วกัน) เธอเป็นไซบอร์กระดับผู้พันของหน่วยพิเศษที่ 9 ที่เป็นหน่วยหนึ่งในการดูแลความสงบเรียบร้อยของญี่ปุ่น มีคู่หูร่างใหญ่อย่าง บาโตะ ที่เป็นไซบอร์กเช่นกัน และ โทงุสะ ผู้ช่วยอีกคนที่เป็นมนุษย์
ความพิเศษของตำรวจในหน่วยนี้ก็คือ การเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายที่ถูกเรียกว่า “เน็ต” ได้โดยตรง สามารถดักฟังการสนทนาของผู้ต้องสงสัยเพื่อสืบข้อมูล เริ่มต้นเรื่องมา ผู้กำกับฯ เลือกแสดงให้เราเห็นความสามารถในการดักฟังของเมเจอร์ก่อนเพื่อนพร้อมทั้งแสดงเงื่อนงำแรกๆ ก่อนที่จะดำเนินเรื่องให้เราค้นหาต่อไปจนจบเรื่อง
สิ่งที่เรารับรู้กันอยู่ในทางพุทธ ก็คือ เราประกอบไปด้วยร่างกาย ซึ่งก็เปรียบเสมือน “เปลือก (shell)” ที่เรามองกันได้ด้วยตา กับอีกส่วนที่เป็นจิตวิญญาณ เราอาจมองไม่เห็น แต่รับรู้กันว่ามันมี ซึ่งในเรื่อง มันถูกเรียกว่า “โกสต์ (ghost)” แม้เมเจอร์และบาโตะจะเป็นไซบอร์ก แต่เขาและเธอมีความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ มันคงมีโกสต์อยู่ตรงไหนสักแห่งในตัวของพวกเขา
…นั่นก็คงพอทำให้เข้าใจกันได้ว่า ทำไมอะนิเมะเรื่องนี้จึงมีชื่ออย่างที่เห็น
ด้วยความเป็นไซบอร์ก ร่างกายและความทรงจำบางส่วนไม่ได้เป็นของพวกเขาโดยถาวร พวกเขามีสิทธิที่จะลาออกได้ แต่ก็ต้องคืนร่างกายและความทรงจำอันนั้นให้กับทางการ ทำให้พวกเขาเองก็เริ่มไม่แน่ใจแล้ว ว่าแท้จริงตนเองเป็นใคร
เมื่อเกิดเหตุอาชญากรทางคอมพิวเตอร์แฮ็คและควบคุมไซบอร์กให้ทำตามคำสั่ง แถมยังใส่ข้อมูลประสบการณ์เสมือนจริงเข้าไปตามที่ต้องการอีก หน่วย 9 ต้องเข้ามาสืบสวนเหตุนี้ และก็ไม่พ้นมือดีอย่างเมเจอร์, บาโตะและโทงุสะที่ต้องรับหน้าที่ดังกล่าว พวกเขาต้องมาสัมผัสกับเหล่าหุ่นที่ไร้ซึ่งความทรงจำดั้งเดิม พวกเขาไม่รู้แม้กระทั่ง ชื่อตัวเองใบหน้าของผู้เป็นแม่ สถานที่ที่เติบโตมา แม้กระทั่งความทรงจำในวัยเด็ก บาโตะยังเอ่ยออกมาเลยว่า
“ไม่มีอะไรน่าเศร้าไปกว่าหุ่นที่ไม่มีโกสต์อีกแล้ว”
แต่เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปเรื่อยๆ ก็พบว่า แท้จริงแล้ว อาชญากรเป็นเพียงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งที่ท่องไปในทะเลข้อมูล แล้วพัฒนาตัวเองขึ้นไปจนถึงระดับปัญญาประดิษฐ์
Ghost in the Shell (1995) | Theatrical trailer
จาก http://www.patsonic.com/animation/ghost-in-the-shell/
หลังจากเขียนถึง Ghost in the Shell ในภาคแรกแล้ว จะไม่เขียนถึงภาคต่อๆ มาก็กระไรอยู่ คราวที่แล้ว ผมกล่าวถึงตอนจบของภาคแรก ที่อาจยังค้างคาใจหลายๆ คน วันนี้ เรามาดูว่า ภาคต่อมาจะเฉลยอย่างไร
กว่า “Ghost in the Shell 2: Innocence” จะมาถึง ก่อนหน้านั้น หลายคนคงได้ชม “Ghost in the Shell: Stand Alone Complex” ภาพยนตร์ชุดทางทีวีไปก่อนแล้ว สิ่งที่ไม่แตกต่างกัน คือ ช่วงเปิดเรื่องที่ขึ้นเครดิตทีมงาน เป็นภาพของกำเนิดหุ่นที่มีเพลงประกอบอันโดดเด่นเป็นพื้นหลัง แตกต่างกันอยู่บ้างตรงที่ภาคแรกเน้นภาพวาด 2 มิติ ขณะที่ Innocence ใช้ภาพ 3 มิติเป็นหลัก…
คงด้วยเพราะเทคโนโลยีการสร้างที่สูงขึ้นนั่นเอง
ในแง่ของงานโปรดักชั่น Innocence คือภาคต่อที่พัฒนาไปอีกขั้นในด้านเทคนิค มีการนำคอมพิวเตอร์กราฟิกมาใส่อย่างเต็มๆ ด้วยการจัดแสงเรืองๆ ทำให้ภาพสวยงามหมดจด ฉากของงานฉลองอะไรสักอย่างนั่น คือฉากอันโดดเด่นสวยงามที่สุดในภาคนี้ แต่ใช่ว่า ความโดดเด่นจะหยุดอยู่เพียงเท่านั้น ลูกล่อลูกชนในการเล่าเรื่องก็โดดเด่นไม่แพ้กัน การเล่าด้วยภาพฉากเดินต่างเหตุการณ์ ทำให้ผู้ชมต้องนั่งสำรวจตัวเองไม่น้อย เหมือนเรากำลังถูกควบคุมด้วยประสบการณ์เสมือนไปพร้อมๆ กับตัวละคร
นอกจากงานด้านภาพแล้ว ในเรื่องของแนวคิดบางส่วนก็ดูจะแตกต่างกัน จุดที่เห็นได้ชัดก็คงจะเห็นรถยนต์ที่ใช้กันในภาคนี้ มีหน้าตาเหมือนรถยุคโบราณที่มันมันเลื่อมสะท้อนแสงไฟในยามค่ำคืน ภาพดูสวยงามด้วยผลผลิตของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิก
Ghost in the Shell 2: Innocence HD
หลังจากภาคแรกตั้งคำถามถึงขอบเขตความหมายของชีวิต ที่โลกดำเนินไปจนถึงระดับที่แทบแยกความต่างระหว่างมนุษย์และจักรกลไม่ได้ ภาคนี้หันไปถามหาความแตกต่างระหว่างสัตว์เลี้ยงกับหุ่น
เมื่อมนุษย์ไม่พอใจหุ่นตัวเก่า ก็พร้อมจะทิ้งและหันไปหาหุ่นตัวใหม่มาทดแทน โดยละเลยที่จะใส่ใจว่าหุ่นจะรู้สึกเช่นไร ก็เหมือนกับสัตว์เลี้ยงหลายตัวที่ถูกทิ้งอย่างไม่ใยดีเมื่อเจ้าของเบื่อมันนั่นเอง
เมื่อเกิดเหตุหุ่นฆ่าเจ้าของและตำรวจ คู่หูคู่ใหม่อย่างบาโตะและโทงุสะจึงต้องมารับหน้าที่สืบคดีนี้ ไม่พอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสินค้าของผู้ผลิตหุ่นรายใหญ่ก็มาถูกฆาตรกรรมอีก แต่เรื่องฆ่ากันตายดูจะไม่สำคัญเท่ากับปมที่ว่าในย่อหน้าที่แล้ว หมอฮาราเวย์ที่ทั้งสองคนไปทั้งสืบสวนและขอคำปรึกษา เอ่ยถึงการแง่มุมของการมีหุ่นรับใช้ไว้ในครอบครอง เธอบอกว่า แท้จริงเด็กเล่นตุ๊กตาเพราะต้องการหุ่นสักตัวเท่านั้น จะว่าไปแล้ว นี่คงเป็นมุมมองของการมี “บางสิ่ง” ไว้ครอบครองที่ดูหนักอึ้งต่อการรับชม
หมอฮาราเวย์บอกว่า การเลี้ยงดูเด็กก็เป็นอีกวิธีที่จะตอบสนองความใฝ่ฝันของมนุษย์เกี่ยวกับชีวิตประดิษฐ์ แม้ว่าโทงุสะจะไม่เห็นด้วยเพราะรู้สึกว่าเด็กมิใช่ตุ๊กตา ส่วนบาโตะเองก็มีสัตว์เลี้ยงของตน แถมเป็นหมาโคลนอีกต่างหาก ทั้งที่หมาจริงๆ ก็มี แต่บาโตะเลือกจะเลี้ยงตัวที่เป็นโคลน โดยให้เหตุผลด้วยว่ามันเป็นรุ่นแรก ซึ่งมันดูไม่ต่างจากเด็กที่อยากเล็กตุ๊กตาเท่าใดนัก
เรื่องราวที่ดูหนักอึ้งในหัวยามรับชมเหล่านี้ ยังคงมีให้เห็นในแง่มุมอื่นๆ ในภาคภาพยนตร์ชุดทางทีวี ซึ่งเรียกได้ว่า ทำให้มันมีจุดโดดเด่นที่ส่งเสริมให้ Ghost in the Shell เป็นแอนิเมะที่ลือลั่นและได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างไม่มีหยุดหย่อน
นี่คือแอนิเมะอีกเรื่องที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงครับ ผมรับประกันได้เลย…
——————————
จาก http://www.patsonic.com/animation/ghost-in-the-shell-2-innocence/