ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: ตุลาคม 03, 2016, 06:19:06 pm »“Need or Greed?: คำถามสำคัญจากองค์ดาไลลามะ”
ในเดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้จัดกิจกรรมให้คนไทยสนทนาธรรมกับองค์ดาไลลามะ ที่กรุงนิวเดลี โดยมีพระภิกษุที่เป็นผู้นำจากสำนักต่างๆ เกือบ 60 รูป และพุทธศาสนิกชนชาวไทยอีกกว่า 250 คน ไปร่วมงาน องค์ดาไลลามะทรงเมตตาจัดสรรเวลาให้ถึงสองวันเต็ม นับเป็นโอกาสพิเศษยิ่งที่ชาวพุทธไทยได้แลกเปลี่ยนความรู้ทางพุทธศาสนากับองค์ดาไลลามะ และพระภิกษุชั้นครูของทิเบตอีกหลายรูป สมดั่งเจตนารมณ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่ได้ทรงดำริเรื่องการจัดงานเช่นนี้ไว้ตั้งแต่ครั้งเมื่อองค์ดาไลลามะเสด็จเยือนประเทศไทยในปี 2536
ตลอดสองวัน องค์ดาไลลามะได้ทรงแสดงให้เห็นถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนาที่เป็นสากล ไม่ขึ้นอยู่กับนิกาย หรือสังคมที่อาจจะมีวิถีทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หลักธรรมของพุทธศาสนาเป็นหลักความจริงของชีวิต และเป็นหลักที่จะทำให้ชีวิตทั้งในระดับบุคคลและสังคมสมบูรณ์ขึ้นและมีทุกข์น้อยลง องค์ดาไลลามะได้ทรงย้ำหลายครั้งถึงความจำเป็นที่พุทธศาสนาจะต้องประยุกต์เข้ากับความจริงของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต้องเท่าทันพัฒนาการของโลก โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อที่พุทธศาสนาจะเป็นทางออกของปัญหาที่มนุษย์และสังคมโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ในบรรดาหลักธรรมหลายข้อที่องค์ดาไลลามะทรงอธิบายให้ฟังนั้น ผมคิดว่ามีหนึ่งคำถามที่สะท้อนต้นเหตุของความทุกข์และปัญหาสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คำถามนั้นคือ ให้เราพิจารณาว่าสิ่งที่กำลังทำ สิ่งที่กำลังอยากได้ หรือสิ่งที่กำลังเป็นทุกข์กับมันอยู่เป็น need (ความจำเป็น) หรือ greed (ความโลภ) ผมเชื่อว่าถ้าเราไตร่ตรองดีๆ แล้วจะพบว่า หลายอย่างที่เราพยายามหาให้ได้นั้นเป็นความโลภมากกว่าความจำเป็น และหลายอย่างที่เราคิดว่าเป็นความจำเป็นนั้นแท้ที่จริงแล้วกลับเป็นความโลภ
ในระดับบุคคล องค์ดาไลลามะทรงไม่ปฏิเสธว่าทุกคนมีความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการดำรงชีพ ที่ต้องจัดหามาให้ได้ ก่อนที่จะเริ่มคิดถึงความพอเพียงและหยุดความโลภที่เกินควร ในระดับสังคม คำถามเรื่องความจำเป็นหรือความโลภนี้อธิบายถึงต้นเหตุของปัญหาสำคัญของโลกได้เกือบทุกปัญหา โดยเฉพาะ (1) ปัญหาความรุนแรง (2) ปัญหาโลกร้อนและความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ (3) ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน และ (4) ปัญหาคอร์รัปชันที่กำลังระบาดรุนแรงทั่วโลก องค์ดาไลลามะ ได้ทรงย้ำหลายครั้งถึงอันตรายของทั้งสี่ปัญหาที่ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้คนเบียดเบียนตัวเองและเบียดเบียนคนอื่นมากขึ้น เป็นทุกข์มากขึ้น สังคมเปราะบาง ทั้งสี่ปัญหานี้ต่างมีต้นตอมาจากความโลภที่เกินความจำเป็น
ถ้าเราทุกคนพิจารณาถึงสิ่งที่กำลังทำและความทุกข์ที่กำลังเผชิญอยู่ ว่ามีสาเหตุมาจากความจำเป็นหรือความโลภแล้ว ปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับบุคคล ระดับประเทศ และระดับโลกจะลดลงได้มาก แต่โจทย์ที่ยากกว่าคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้คนทั่วไปเห็นความแตกต่างระหว่างความจำเป็นและความโลภ และหันมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ องค์ดาไลลามะทรงย้ำกับคนไทยที่ไปร่วมฟังธรรมหลายครั้งว่า เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสงบและสันติในใจ เพราะจะช่วยให้สามารถบรรเทาความทุกข์ในโลกได้อย่างยั่งยืน ต่างจากการแก้ปัญหาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกิเลส ความโกรธ ความเกลียดชัง และความกลัว
องค์ดาไลลามะทรงให้แนวทางที่จะช่วยให้เราสามารถแยกแยะความจำเป็นออกจากความโลภ และสามารถสร้างความสงบและสันติในใจได้ โดยจะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ประการ
ประการแรก องค์ดาไลลามะทรงย้ำถึงความสำคัญของการฝึกสมาธิภาวนา เพื่อให้แต่ละคนมีสติและสัมปชัญญะที่เท่าทันต่อจิต อารมณ์ และกิเลส ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมาก สมาธิจะทำให้เกิดปัญญาที่จะสามารถช่วยให้แยกแยะความโลภออกจากความจำเป็นได้ ทำให้รู้จักที่จะพอประมาณ และลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในรูปแบบต่างๆ และที่สำคัญ สมาธิจะช่วยให้เกิดความสงบและสันติในใจ ลดอารมณ์ที่เป็นบวกและลบ ลดความกลัว โดยเฉพาะความกลัวที่จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ซึ่งมักส่งผลให้คนต้องดิ้นรน เบียดเบียนตนเองและเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่ตนเอง
ประการที่สอง องค์ดาไลลามะทรงให้ความสำคัญต่อเมตตาและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น (compassion) เพื่อช่วยให้คนอื่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมตตาและความปรารถนาดีนี้ต้องตั้งอยู่บนความเข้าใจว่าทุกคนและทุกสิ่งในโลกนี้เกี่ยวเนื่องกัน (interconnected) เมตตาและความปรารถนาดีจะต้องไม่จำกัดอยู่เฉพาะคนในครอบครัว เพื่อนฝูง คนที่เป็นพวกเดียวกัน หรือคนเชื้อชาติเดียวกันเท่านั้น แต่จะต้องเป็นเมตตาและความปรารถนาดีสำหรับทุกคนที่อยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ แม้ว่าจะเป็นศัตรูกันก็ต้องละวางความโกรธให้ได้ เพราะปัญหาต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่เป็นปัญหาร่วมกัน ไม่มีพรมแดน ความทุกข์และความรุนแรงจะลดลงไปมากถ้าเราพยายามเข้าใจความจำเป็นของคนอื่น และไปช่วยตอบโจทย์ความจำเป็นของคนที่ขาดแคลน ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราใช้ชีวิตร่วมกันด้วยวิถีที่เบียดเบียนกันมากขึ้นแล้ว ไม่มีทางที่จะลดความรุนแรงและแก้ปัญหาต่างๆ ได้ แต่ถ้าเราใช้ชีวิตอยู่ด้วยหลักของเมตตาและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีวินัยที่จะลดการเบียดเบียนแล้ว สังคมโลกมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ความรุนแรงและความทุกข์มีโอกาสที่จะลดลง
ประการที่สาม การที่เราจะสามารถแยกแยะความจำเป็นออกจากความโลภ และมีหลักของการใช้ชีวิตที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มจากการจัดระบบการศึกษาให้ถูกต้อง เพราะหลักของชีวิตต้องใช้เวลานานกว่าจะตกตะกอน ต้องผ่านการบ่มเพาะพฤติกรรมตั้งแต่เด็ก ระบบการศึกษาจะต้องไม่เน้นเฉพาะการศึกษาความรู้โลกภายนอกเท่านั้น แต่จะต้องเป็นระบบการศึกษาที่เน้นการสร้างความเข้าใจเรื่องจิตใจภายในควบคู่กันไปด้วย จะต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ รู้จักความพอเพียงและพอประมาณ และจะต้องสอนให้เด็กสามารถเชื่อมโยงความเกี่ยวเนื่องกับคนอื่นๆ ในสังคมและในโลกนี้ได้ องค์ดาไลลามะทรงเน้นเรื่องระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญต่อจริยธรรมพื้นฐานของมนุษย์ที่ไม่ขึ้นอยู่กับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง (secular ethics) เด็กรุ่นใหม่จำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานจริยธรรมสูง และยึดมั่นในหลักจริยธรรมที่จะไม่โกหก ไม่ขโมย และไม่เบียดเบียนผู้อื่น สังคมโลกจึงจะเป็นสังคมที่ลดความรุนแรง ลดปัญหาคอร์รัปชัน และปัญหาต่างๆ ที่โลกเผชิญอยู่ได้
นอกจากนี้ องค์ดาไลลามะได้ทรงตั้งข้อสังเกตว่า พัฒนาการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Internet, Facebook หรือ Twitter อาจจะไม่เอื้อต่อการพัฒนาการศึกษาด้านจิตใจภายใน เพราะการศึกษาด้านจิตใจจะต้องมีเวลาพิจารณาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจิตอย่างลึกซึ้ง และค่อยเป็นค่อยไป จึงจะเกิดผลให้เด็กมีทัศนคติและพฤติกรรมที่ถูกที่ควร
ตลอดสองวันเต็มของการสนทนาธรรม องค์ดาไลลามะทรงแสดงให้เห็นความเป็นสากลและอกาลิโกของแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา และทรงให้ข้อคิดที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมาก ผมเชื่อว่า ถ้าปีใหม่นี้คนไทยส่วนใหญ่หันมาพิจารณาว่าสิ่งที่กำลังคิด กำลังทำอยู่เป็นความจำเป็นหรือความโลภ ปัญหาความรุนแรง คอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่จะบรรเทาลงมาก และสังคมไทยอาจจะมีโอกาสที่จะก้าวไปสู่สังคมที่มีความสงบและสันติอย่างแท้จริง
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 9 มกราคม 2556
จาก http://thaipublica.org/2013/01/need-or-greed/
ในเดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้จัดกิจกรรมให้คนไทยสนทนาธรรมกับองค์ดาไลลามะ ที่กรุงนิวเดลี โดยมีพระภิกษุที่เป็นผู้นำจากสำนักต่างๆ เกือบ 60 รูป และพุทธศาสนิกชนชาวไทยอีกกว่า 250 คน ไปร่วมงาน องค์ดาไลลามะทรงเมตตาจัดสรรเวลาให้ถึงสองวันเต็ม นับเป็นโอกาสพิเศษยิ่งที่ชาวพุทธไทยได้แลกเปลี่ยนความรู้ทางพุทธศาสนากับองค์ดาไลลามะ และพระภิกษุชั้นครูของทิเบตอีกหลายรูป สมดั่งเจตนารมณ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่ได้ทรงดำริเรื่องการจัดงานเช่นนี้ไว้ตั้งแต่ครั้งเมื่อองค์ดาไลลามะเสด็จเยือนประเทศไทยในปี 2536
ตลอดสองวัน องค์ดาไลลามะได้ทรงแสดงให้เห็นถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนาที่เป็นสากล ไม่ขึ้นอยู่กับนิกาย หรือสังคมที่อาจจะมีวิถีทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หลักธรรมของพุทธศาสนาเป็นหลักความจริงของชีวิต และเป็นหลักที่จะทำให้ชีวิตทั้งในระดับบุคคลและสังคมสมบูรณ์ขึ้นและมีทุกข์น้อยลง องค์ดาไลลามะได้ทรงย้ำหลายครั้งถึงความจำเป็นที่พุทธศาสนาจะต้องประยุกต์เข้ากับความจริงของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต้องเท่าทันพัฒนาการของโลก โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อที่พุทธศาสนาจะเป็นทางออกของปัญหาที่มนุษย์และสังคมโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ในบรรดาหลักธรรมหลายข้อที่องค์ดาไลลามะทรงอธิบายให้ฟังนั้น ผมคิดว่ามีหนึ่งคำถามที่สะท้อนต้นเหตุของความทุกข์และปัญหาสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คำถามนั้นคือ ให้เราพิจารณาว่าสิ่งที่กำลังทำ สิ่งที่กำลังอยากได้ หรือสิ่งที่กำลังเป็นทุกข์กับมันอยู่เป็น need (ความจำเป็น) หรือ greed (ความโลภ) ผมเชื่อว่าถ้าเราไตร่ตรองดีๆ แล้วจะพบว่า หลายอย่างที่เราพยายามหาให้ได้นั้นเป็นความโลภมากกว่าความจำเป็น และหลายอย่างที่เราคิดว่าเป็นความจำเป็นนั้นแท้ที่จริงแล้วกลับเป็นความโลภ
ในระดับบุคคล องค์ดาไลลามะทรงไม่ปฏิเสธว่าทุกคนมีความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการดำรงชีพ ที่ต้องจัดหามาให้ได้ ก่อนที่จะเริ่มคิดถึงความพอเพียงและหยุดความโลภที่เกินควร ในระดับสังคม คำถามเรื่องความจำเป็นหรือความโลภนี้อธิบายถึงต้นเหตุของปัญหาสำคัญของโลกได้เกือบทุกปัญหา โดยเฉพาะ (1) ปัญหาความรุนแรง (2) ปัญหาโลกร้อนและความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ (3) ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน และ (4) ปัญหาคอร์รัปชันที่กำลังระบาดรุนแรงทั่วโลก องค์ดาไลลามะ ได้ทรงย้ำหลายครั้งถึงอันตรายของทั้งสี่ปัญหาที่ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้คนเบียดเบียนตัวเองและเบียดเบียนคนอื่นมากขึ้น เป็นทุกข์มากขึ้น สังคมเปราะบาง ทั้งสี่ปัญหานี้ต่างมีต้นตอมาจากความโลภที่เกินความจำเป็น
ถ้าเราทุกคนพิจารณาถึงสิ่งที่กำลังทำและความทุกข์ที่กำลังเผชิญอยู่ ว่ามีสาเหตุมาจากความจำเป็นหรือความโลภแล้ว ปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับบุคคล ระดับประเทศ และระดับโลกจะลดลงได้มาก แต่โจทย์ที่ยากกว่าคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้คนทั่วไปเห็นความแตกต่างระหว่างความจำเป็นและความโลภ และหันมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ องค์ดาไลลามะทรงย้ำกับคนไทยที่ไปร่วมฟังธรรมหลายครั้งว่า เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสงบและสันติในใจ เพราะจะช่วยให้สามารถบรรเทาความทุกข์ในโลกได้อย่างยั่งยืน ต่างจากการแก้ปัญหาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกิเลส ความโกรธ ความเกลียดชัง และความกลัว
องค์ดาไลลามะทรงให้แนวทางที่จะช่วยให้เราสามารถแยกแยะความจำเป็นออกจากความโลภ และสามารถสร้างความสงบและสันติในใจได้ โดยจะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ประการ
ประการแรก องค์ดาไลลามะทรงย้ำถึงความสำคัญของการฝึกสมาธิภาวนา เพื่อให้แต่ละคนมีสติและสัมปชัญญะที่เท่าทันต่อจิต อารมณ์ และกิเลส ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมาก สมาธิจะทำให้เกิดปัญญาที่จะสามารถช่วยให้แยกแยะความโลภออกจากความจำเป็นได้ ทำให้รู้จักที่จะพอประมาณ และลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในรูปแบบต่างๆ และที่สำคัญ สมาธิจะช่วยให้เกิดความสงบและสันติในใจ ลดอารมณ์ที่เป็นบวกและลบ ลดความกลัว โดยเฉพาะความกลัวที่จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ซึ่งมักส่งผลให้คนต้องดิ้นรน เบียดเบียนตนเองและเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่ตนเอง
ประการที่สอง องค์ดาไลลามะทรงให้ความสำคัญต่อเมตตาและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น (compassion) เพื่อช่วยให้คนอื่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมตตาและความปรารถนาดีนี้ต้องตั้งอยู่บนความเข้าใจว่าทุกคนและทุกสิ่งในโลกนี้เกี่ยวเนื่องกัน (interconnected) เมตตาและความปรารถนาดีจะต้องไม่จำกัดอยู่เฉพาะคนในครอบครัว เพื่อนฝูง คนที่เป็นพวกเดียวกัน หรือคนเชื้อชาติเดียวกันเท่านั้น แต่จะต้องเป็นเมตตาและความปรารถนาดีสำหรับทุกคนที่อยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ แม้ว่าจะเป็นศัตรูกันก็ต้องละวางความโกรธให้ได้ เพราะปัญหาต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่เป็นปัญหาร่วมกัน ไม่มีพรมแดน ความทุกข์และความรุนแรงจะลดลงไปมากถ้าเราพยายามเข้าใจความจำเป็นของคนอื่น และไปช่วยตอบโจทย์ความจำเป็นของคนที่ขาดแคลน ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราใช้ชีวิตร่วมกันด้วยวิถีที่เบียดเบียนกันมากขึ้นแล้ว ไม่มีทางที่จะลดความรุนแรงและแก้ปัญหาต่างๆ ได้ แต่ถ้าเราใช้ชีวิตอยู่ด้วยหลักของเมตตาและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีวินัยที่จะลดการเบียดเบียนแล้ว สังคมโลกมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ความรุนแรงและความทุกข์มีโอกาสที่จะลดลง
ประการที่สาม การที่เราจะสามารถแยกแยะความจำเป็นออกจากความโลภ และมีหลักของการใช้ชีวิตที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มจากการจัดระบบการศึกษาให้ถูกต้อง เพราะหลักของชีวิตต้องใช้เวลานานกว่าจะตกตะกอน ต้องผ่านการบ่มเพาะพฤติกรรมตั้งแต่เด็ก ระบบการศึกษาจะต้องไม่เน้นเฉพาะการศึกษาความรู้โลกภายนอกเท่านั้น แต่จะต้องเป็นระบบการศึกษาที่เน้นการสร้างความเข้าใจเรื่องจิตใจภายในควบคู่กันไปด้วย จะต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ รู้จักความพอเพียงและพอประมาณ และจะต้องสอนให้เด็กสามารถเชื่อมโยงความเกี่ยวเนื่องกับคนอื่นๆ ในสังคมและในโลกนี้ได้ องค์ดาไลลามะทรงเน้นเรื่องระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญต่อจริยธรรมพื้นฐานของมนุษย์ที่ไม่ขึ้นอยู่กับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง (secular ethics) เด็กรุ่นใหม่จำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานจริยธรรมสูง และยึดมั่นในหลักจริยธรรมที่จะไม่โกหก ไม่ขโมย และไม่เบียดเบียนผู้อื่น สังคมโลกจึงจะเป็นสังคมที่ลดความรุนแรง ลดปัญหาคอร์รัปชัน และปัญหาต่างๆ ที่โลกเผชิญอยู่ได้
นอกจากนี้ องค์ดาไลลามะได้ทรงตั้งข้อสังเกตว่า พัฒนาการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Internet, Facebook หรือ Twitter อาจจะไม่เอื้อต่อการพัฒนาการศึกษาด้านจิตใจภายใน เพราะการศึกษาด้านจิตใจจะต้องมีเวลาพิจารณาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจิตอย่างลึกซึ้ง และค่อยเป็นค่อยไป จึงจะเกิดผลให้เด็กมีทัศนคติและพฤติกรรมที่ถูกที่ควร
ตลอดสองวันเต็มของการสนทนาธรรม องค์ดาไลลามะทรงแสดงให้เห็นความเป็นสากลและอกาลิโกของแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา และทรงให้ข้อคิดที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมาก ผมเชื่อว่า ถ้าปีใหม่นี้คนไทยส่วนใหญ่หันมาพิจารณาว่าสิ่งที่กำลังคิด กำลังทำอยู่เป็นความจำเป็นหรือความโลภ ปัญหาความรุนแรง คอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่จะบรรเทาลงมาก และสังคมไทยอาจจะมีโอกาสที่จะก้าวไปสู่สังคมที่มีความสงบและสันติอย่างแท้จริง
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 9 มกราคม 2556
จาก http://thaipublica.org/2013/01/need-or-greed/