ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
คุณเชื่อในศรัทธาของความดีไหมครับ ( เลือกตอบแค่ เชื่อ กับ ไม่เชื่อ ครับผม):
คุณเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆแนวธรรมะในจิตใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ความดีนำทาง:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ใต้ร่มธรรม:
การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ นิยมใช้คำว่า (อนุโมทนา) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ อนุโมทนา:
เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วยกมือขึ้น (สาธุ) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ  สาธุ:
คุณพ่อคุณแม่เปรียบดั่งพระอรหันต์ในบ้าน พิมพ์คำว่า "คุณพ่อคุณแม่ฉันรักและเคารพท่านดุจพระอรหันต์":
เมื่อให้ท่านเลือก ระหว่าง (หนังสือเก่าๆเล่มหนึ่งที่เรารัก) กับ (มิตรแท้ที่รักเรา) คุณจะะเลือก:
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
สำนวนไทยที่ว่า แต่ละคนต่างมีรสนิยมแตกต่างกัน หรือไม่ตรงกัน  พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ลางเนื้อชอบลางยา):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: ตุลาคม 03, 2016, 07:00:17 pm »



ปริเฉทที่ 3 เทวทูตทัสนกถา
(พระมหาบุรุษเห็นเทวทูต)


สมเด็จ พระ พุทธเจ้าของเรา ประทับอยู่ในพระราชสถานเกษมสันต์นี้ ด้วยพระชนมชีพอันสันติสุข และด้วยความปฏิพัทธ์ ไม่ทรงทราบเลยซึ่งความเศร้าโศก ความขัดสน ความกลัดกลุ้ม ความชราภาพ และความมรณะ

ถึงกระนั้นก็ดี ในยามบรรทมหลับก็ทรงพระสุบินว่า พระวิญญาณได้เร่ร่อนไปตามทะเลแห่งความมืด และไปบรรลุถึงฝั่งอันสว่างได้เมื่ออ่อนเพลียแล้ว โดยนำความจำอันแปลกประหลาดในการเดินทางอันขมุกขมัวนั้นมาด้วย และทั้งมีอยู่อีกว่า ครั้งหนึ่ง ขณะที่พระองค์เกยพระเศียรหลับอยู่บนพระอุระอันวิไลลักษณ์ของพระนางยโสธรา ซึ่งหัตถ์ทั้งคู่เป็นเครื่องกระทำให้ซาบซ่าน ค่อยๆ ประเล้าประโลมให้พระเนตรของพระองค์หลับไป จนพระองค์ทรงละเมอโดยมีพระอุทานออกมาว่า "โลกของฉัน! โอ! โลก! ฉันได้ยิน! ฉันรู้! ฉันจึงมา!"

นางจึงทูลถามด้วยดวงเนตรอันโพลงเพราะความตื่นตกพระทัยว่า "เป็นอะไรไปนะเพคะ ทูลกระหม่อม" เพราะในวาระนั้น พระวิริยภาพซึ่งปรากฏจากแววพระเนตรของพระองค์ซึ่งทอดมาแสดงให้เกิดความกลัว และพระพักตร์ของพระองค์ก็แม้นเหมือนเทพเจ้าพระองค์หนึ่ง ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงยิ้มไปใหม่ เพื่อบรรเทาความโหยไห้ของพระเทวี แล้วทรงขอให้นักดนตรีดีดพิณ

แต่ครั้งหนึ่ง มีผู้นำเครื่องดนตรีรูปอย่างผลน้ำเต้ามีสาย(ซอ)มาวางที่ธรณีประตู ณ ที่ซึ่งลมอาจพัดให้มีเสียงเป็นเพลงและบรรเลงไปโดยลำพัง เพราะลมสามารถทำให้สายเงินเหล่านั้นเป็นเพลงอย่างน่าพิศวงได้

บรรดาผู้ซึ่งอยู่รอบๆ นั้น ได้ยินแต่เพียงเสียงเท่านั้น แต่พระสิทธัตถะทรงได้ยินหมู่เทวาบรรเลงเพลงและขับร้องเป็นลำนำมาสู่พระโสต ของพระองค์ว่าดังนี้ "เราเป็นเสียงของลมโชยซึ่งจะโบกพัดแสวงหาความสงบอารมณ์ แต่ก็ไม่ได้พบความสงบอารมณ์นั้นเลย จงดูเถิด ลมเป็นฉันใด ชีวิตที่ต้องตายก็เป็นฉันนั้น คือมีความสลดใจ ความอัดอั้น ความกังวลและความดิ้นรน"

"เราไม่อาจรู้เหตุผลแห่งความเป็นอยู่ของเราและกำเนิดแห่งความเป็นอยู่ของเรา ต้นกำเนิดของชีวิต และผลที่สุดของชีวิตได้ เราก็เป็นเหมือนที่ท่านเป็น คือภาพแห่งความเวิ้งว้าง เราจะมีความสนุกอะไรในความเศร้าโศกซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่มีที่สุด?"

"ความสำราญอะไรที่ท่านมีอยู่ในความสนุกไม่รู้สร่าง อา! หากความเสน่หายืนยง ความเสน่หาอาจบังเกิดความสุขได้อย่างล้นพ้น แต่ชีวิตเป็นเหมือนลม ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นแต่เพียงเสียงซึ่งไม่ถาวร ที่กังวานมาจากสายที่ดังนั้น"

"โอ! โอรสของมายาเอ๋ย เป็นเพราะเราเร่ร่อนอยู่ ณ พื้นปฐพีนั้นเอง เราจึงมีเสียงคร่ำครวญอยู่ที่สาย เราไม่ขับร้องเรื่องปลาบปลื้ม เพราะเราเห็นความทุกข์โศกมากมายในประเทศทั้งหลาย มีแต่ดวงตาที่ร้องไห้และบิดมือด้วยความสิ้นหวัง"

"ตลอดเวลาที่เราพัดเรื่อยไป เราเห็นเป็นที่น่าขบขันเพราะถ้ามนุษย์อาจรู้ว่า ชีวิตที่มีอยู่นั้นเป็นแต่สภาพที่ไม่เป็นแก่นสารแล้ว ถึงจะมีอำนาจบังคับเมฆ หรือกระแสน้ำให้นิ่งได้ก็ดี ก็ยังคงมีชีพที่ไม่เป็นแก่นสารดุจกัน"

"แต่พระองค์ต้องเป็นผู้โปรดสัตว์ เวลาของพระองค์ใกล้เข้ามาแล้ว โลกอันน่าอนาถคอยพระองค์ด้วยความแร้นแค้น โลกอันมืดมนอนธการกำลังหมุนเคว้งคว้างอยู่ในวงแห่งความเศร้าโศก! จงลุกขึ้นเถิด! พระโอรสของมายา! จงรำพึงถึงพระองค์เถิด จงเลิกพักผ่อนพระองค์เสียเถิด"

"เราเป็นเสียงของลมซึ่งโชยไป จงเห็นตามข้าพเจ้าเถิดเจ้าข้า เพื่อพระองค์จะได้พบการพักผ่อนของพระองค์ จงสละความเสน่หาของพระองค์เสีย เพื่อความเมตตาแก่สัตว์ทั้งปวงที่ควรรัก จงมีความเอ็นดูต่อผู้เศร้าโศกทรมาน และทิ้งพระราชอิสริยยศเพื่อบรรเทาทุกข์ และบำเพ็ญความช่วยเหลือ"

"ซึ่งเราโชยมาสัมผัสบนสายเงินดังนี้ ก็เพราะสำหรับพระองค์ที่ยังไม่ทรงทราบสิ่งทั้งปวงแห่งโลก ซึ่งเรากล่าวดังนี้แหละ เราเยาะเย้ยตามสภาพ ซึ่งพระองค์ทรงเพลิดเพลินอยู่ ณ บัดนี้"

ครั้งหนึ่ง ช้านานต่อมาเป็นเวลาเย็น ขณะพระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางแห่งพระราชสำนักอันงามวิจิตรของพระองค์ พลางถือพระหัตถ์พระนางศรียโสธราไว้ สตรีสาวคนหนึ่งขับร้องเพลงดึกดำบรรพ์เรื่องหนึ่ง เพื่อยั่วกามในยามสำราญอย่างอิ่มเอิบ กับมีดนตรีคอยรับ ในเมื่อเสียงอันไพเราะของคนร้องหยุดร้องเป็นบทๆ คือเป็นเสภาเรื่องความรัก ว่าด้วยปัญหาแห่งม้าวิเศษตัวหนึ่งและนครอันน่าพิศวงแห่งหนึ่ง อยู่ไกลซึ่งชนชาวชาติผิวซีดอาศัยอยู่ และซึ่งดวงอาทิตย์เมื่อจวนค่ำก็จมดิ่งลงไปในทะเล

พระองค์จึงตรัสว่า "จิต ทำให้เรานึกถึงการขับร้องของลมตามสายซอซึ่งมีเรื่องราวอันน่าฟัง จงให้ไข่มุกของเธอไปยโสธราเพื่อขอบใจเขา แต่ส่วนเธอ เธอผู้เป็นไข่มุกของฉัน จงว่าให้ฟังทีเถิด! ว่ามีโลกกว้างใหญ่ยิ่งกว่านี้ไปอีกไหม? มีประเทศใดที่เห็นดวงอาทิตย์ใหญ่หมุนอยู่ในคลื่นบ้างหรือ?

ณ ที่นั้น มีใจใครเหมือนใจเราบ้าง มีคนมากมายสุดคณนา ที่ไม่รู้จัก บางทีตกทุกข์ได้ยากด้วยซ้ำซึ่งเราอาจช่วยได้ ถ้าเรารู้จักเขาเหล่านั้น! เมื่อดวงอาทิตย์กำลังโผล่มาจากทิศตะวันออก แหวกราชวิถีสีทอง ฉันนึกถามตนเองด้วยความประหลาดใจบ่อยๆ ว่า ณ ปลายที่สุดของโลกนั้น เด็กในจำพวกเด็กทางทิศตะวันออกคนใดเป็นคนที่แรกซึ่งได้กระทำความเคารพรัศมี ของดวงอาทิตย์ จนแม้แต่ในขณะกำลังอยู่ในวงแขนของเธอและเหนืออุระของเธอ อือ! แม่เทวีผู้งามประโลมของฉัน ดวงหทัยของฉันเต้นอย่างร้ายแรงในยามอัสดงคตแห่งดวงอาทิตย์บ่อยๆ ด้วยความต้องการอยากตามดวงอาทิตย์ไปสู่ทิศอัสดงค์ซึ่งมีสีแดงเข้มเพื่อเห็น ชาวชนแห่งทิศตะวันตก ที่นั่นคงต้องมีมนุษย์ใจดีซึ่งเราต้องรักเป็นแน่ คงจะไม่มีอย่างอื่นอยู่ที่นั่นเป็นแน่มิใช่หรือ!"

ในขณะนั้นเอง ฉันมีความกลัดกลุ้มใจ จนแม้แต่จุมพิตริมพระโอษฐ์อันละมุนละไมของเธอก็ไม่สามารถจะบรรเทาถอนได้ เออ! นางสาวธิดา เออ! จิต! เจ้าที่รู้จักเมืองวิเศษ อาชาไนยในนิทานของเจ้านั้นเขาผูกไว้ที่ไหนหนอ! ข้าจักไม่อาจเอาเวียงวังของข้าใส่หลังอาชาไนยนั้นได้สักวันหนึ่ง แล้วเหาะไปเหาะไปเพื่อดูความกว้างแห่งพื้นพิภพทีเดียวหรือ?

หรือมิฉะนั้น ถ้าข้าได้ปีกของแร้งหนุ่มเจ้าซากศพตัวนั้นที่เล็งเห็นสมบัติราชอาณาจักรอื่น ใหญ่ยิ่งกว่าอาณาจักรของข้า ข้าจะบินไปสู่ยอดเขาหิมาลัยซึ่งแวววับไปด้วยหิมะซึ่งมีสีแม้นกุหลาบ เพื่อทอดตาค้นหาประเทศที่อยู่โดยรอบ "แต่นี่ช่างกระไรเลย ข้าไม่เคยได้เห็นเลย และไม่เคยพยายามให้ข้าได้เห็นเลย! จงบอกข้าบ้างเถิดว่า นอกออกไปจากประตูสำริดของเรานั้นมีอะไรบ้าง?"

ดังนั้นจึงมีผู้ทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเกษมสันต์ มีพระนคร มีวัดวาอาราม สวนและป่าละเมาะ มีทุ่ง บางทุ่งก็มีลำราง ลำห้วย สนามหญ้า มีป่าทึบ และทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่สุดสายตามากหลาย แล้วก็คือพระราชอาณาจักรของพระเจ้าพิมพิสาร และในที่สุดก็ทุ่งอันกว้างแห่งโลกซึ่งมนุษย์มากต่อมากอาศัยอยู่..." ดีแล้ว พระสิทธัตถะตรัส "จงบอกนายฉันนะให้เตรียมเทียมรถของเรา พรุ่งนี้เที่ยงเราจะไปดูสิ่งซึ่งมีอยู่ภายนอกพระราชวัง" ดังนี้ จึงมีผู้ไปทูลพระราชบิดาว่า "ข้าแต่พระองค์ พระราชโอรสของพระองค์มีพระประสงค์อยากให้ราชรถได้เทียมพรุ่งนี้เวลาเที่ยง เพื่อจะได้เสด็จออกและทอดพระเนตรมนุษยชาติ"

"เออ" พระผู้ทรงธรรมรับสั่ง "ถึงเวลาที่เขาจะเห็นได้แล้ว แต่จงจัดการให้มีผู้ไปป่าวร้องแก่บรรดาประชาราษฎรทั้งปวงให้ตกแต่งพระนคร จนกระทั่งอย่าให้ได้พบเห็นสภาพอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งกระทำให้บังเกิดความ เศร้าใจ อย่าให้คนตาบอดหรือเท้าด้วนคนใด คนเจ็บคนใด คนที่มีอายุมากคนใด คนที่เป็นโรคเรื้อนคนใด คนพิการคนใด ทั้งหลายเหล่านี้ออกมาให้ปรากฏเป็นอันขาด"

เพราะฉะนั้นก็มีการกวาดถนน ผู้หาบน้ำด้วยครุซึ่งไหลพล่านก็รดถนนทุกๆ แห่ง เหล่าพวกนางแม่บ้านก็โปรยโรยผงแดง ณ ธรณีประตูบ้านของตน ประดับพวงระย้าใหม่ และตั้งพุ่มต้นกะเพรา (ตุลสี-ต้นไม้ ชนิดหนึ่ง ชาวฮินดูเรียกว่าตุลสี มักจะมีไว้ในบ้านเป็นเครื่องรางลัทธิพิเศษอย่างหนึ่ง เวลาที่ชาวฮินดูจะสาบานตนให้การในศาล พราหมณ์ต้องสั่งให้กินใบกะเพราเสียใบหนึ่งก่อน) ข้างหน้าประตู รูปสีตามบรรดาฝาก็มีการระบายป้ายสีซ่อมแซมใหม่ บรรดาต้นไม้ก็มีธงประดับอยู่เต็ม รูปที่เคารพทั้งปวงก็ปิดทองเสียใหม่

ณ สี่แยกสุริยเทวาและเทวรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ก็สุกปลั่งสถิตอยู่เหนือแท่นโดย ประการดังนี้ พระนครก็เป็นเสมือนหนึ่งว่าเป็นพระนครแห่งพระราชอาณาจักรเกษมสันต์ ผู้ร้องประกาศก็ป่าวร้องทั่วทุกถนนกับตีกลองและฆ้อง พลางร้องอย่างดังๆ ว่า "จงฟัง! ทวยชนทั้งหลาย! พระราชามีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งว่า วันนี้อย่าให้สภาพความเศร้าโศกได้ปรากฏออกมาเป็นอันขาด อย่าปล่อยให้คนตาบอด คนขาด้วน คนเจ็บ คนแก่ คนเป็นโรคเรื้อนและคนพิการใดๆ ออกมาให้เห็นเป็นอันขาด กับห้ามมิให้ผู้ใดเผาศพหรือเอาศพออกจนกระทั่งถึงเวลาค่ำ ทั้งนี้เป็นพระบรมราชโองการของพระเจ้าสุทโธทนะ"

เมื่อเป็นดังนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่เจริญเพลินจักษุประสาท และบรรดาเคหะสถานบ้านเรือนทั้งปวงก็ตกแต่งทั่งทั้งพระนครกบิลพัสดุ์ คราวเมื่อพระสิทธัตถราชโอรสเสด็จประพาสโดยรถทรงอันแพรวพรรณรายเทียมด้วยโค คู่ขาวดุจหิมะซึ่งโคลงคอและถูโหนกกับแอกสลักและลงรัก ความร่าเริงของทวยชนซึ่งโห่ร้องรับรองพระราชโอรสกระทำให้เป็นที่น่าทัศนา อย่างยิ่ง พระสิทธัตถะจึงทรงเบิกบานพระทัยที่ได้ทอดพระเนตรเห็นปวงประชาอันซื่อสัตย์ ของพระองค์สวมเครื่องแต่งกายสำหรับงานฉลองและบันเทิงร่าเริงประหนึ่งว่าการ มีชีวิตอยู่เป็นสิ่งที่ดี

"โลกเรานี้ดีงาม"

พระองค์รับสั่ง "เราชอบ และบรรดาทวยชนเหล่านี้ซึ่งไม่ได้เป็นพระราชาล้วนแต่สวยงามและน่ารัก และน่าเอ็นดูก็คือเหล่าภคินีซึ่งทำงานและอยู่เฝ้าบ้าน เราได้ทำประโยชน์อะไรให้เขาเหล่านี้ เขาจึงร่าเริง? เด็กๆ เหล่านี้รู้ได้อย่างไรว่าเรารักเขา ได้กรุณาเถิด จงเอาศากิยะหนุ่มน้อยซึ่งโยนดอกไม้มาให้เรานั้นขึ้นมาบนรถเราด้วยเถิด ช่างดีนี่กระไรทีได้เถลิงถวัลยราชย์ ณ ราชธานีนี้ เป็นความสุขอันบริสุทธิ์นี่กระไร

หากว่าทวยประชาเหล่านี้มีความยินดี เพราะเหตุที่เรามาอยู่ในท่ามกลางของพวกเขา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงช่างไร้ประโยชน์แก่เราเสียนี่กระไร หากว่าบรรดาเรือนเล็กๆ เหล่านี้จุความร่าเริงพอที่จะบำเพ็ญเพิ่มพูนพระนครของเรา ให้เปี่ยมไปด้วยความแย้มสรวลได้ "ไปให้เร็วเข้าหน่อยเถิดนายฉันนะ! ออกประตูไปเพื่อเราจะได้เห็นโลกงามซึ่งเราไม่รู้ว่ามีมากขึ้นอีก" ดังนั้นแล้วนายฉันนะผู้เป็นสารถีก็ขับราชรถพาพระราชโอรสผ่านประตูไปในท่าม กลางหมู่ชนซึ่งร่าเริง กำลังตะลีตะลาน หลีกจากวิถีทางล้อแห่งรถทรง บางคนวิ่งไปข้างหน้าโค พลางโยนพวงมาลาให้ บางคนก็ลูบคลำสีข้างอันละมุนละไมของโค บ้างก็นำข้าวและขนมมา แล้วทุกๆคนเปล่งอุทานว่า "ไชโย! ไชโย! สำหรับพระราชโอรสผู้มีวิริยภาพของเรา"

ในขณะที่ทั่วทุกถนนกำลังเต็มไปด้วยหน้าตาที่ร่าเริงและสภาพแห่งความชื่นชม ตามพระราชโองการของพระราชานั้น มียาจกเข็ญใจกระร่องกระแร่ง ตาตื่นและโสมมเต็มไปด้วยเหงื่อไคลคนหนึ่งเดินโซเซออกมาจากหลุมที่ซ่อนตนอยู่ แล้วก็พยุงตัวเองไปสู่กลางถนน ยาจกนี้ทุพพลภาพ ชรามาก และหนังอันยู่ย่นโดยอำนาจแห่งดวงอาทิตย์ก็ติดกระดูกสนิท เฉกเช่นหนังสัตว์ที่หุ้มอยู่กับกระดูกหลังก็โกงโดยน้ำหนักแห่งกาลอันอเนก อนันต์วัน กระบอกตาก็มีสีแดงช้ำซึ่งถูกเซาะด้วยน้ำอัสสุชลอันโหยไห้ เมื่อกาลนานมาแล้ว ตาก็ตื่นและขากรรไกร ปราศจากฟันก็สั่นเทาด้วยพยาธิและความกลัวที่มาเห็นหมู่ชน และความร่าเริงอันอักโขดังนี้ มือซึ่งผอมข้างหนึ่งจับไม้เท้าอันสึกหรอเพื่อประคองเท้าอันซวนเซทั้งสองข้าง และมืออีกข้างหนึ่งบีบซี่โครงซึ่งผายลมหายใจออกมาได้โดยยาก "โปรดทำทานเถิดเจ้าประคุณเจ้าข้า"

ยาจกชราครวญครางว่า "เพราะกระผมจะตายในวันนี้หรือพรุ่งนี้แล้ว" ว่าแล้วก็ไอและแบมือออกยื่นต่อไป พลางหรี่ตาและสั่นเทาด้วยอำนาจแห่งความกระตุกของเส้นประสาทแล้วร้องว่า "ทำทาน!" ดังนั้นบรรดาผู้ซึ่งห้อมล้อมตามเสด็จก็ช่วยกันลากโดยแรงไปให้พ้นเสียจากถนน พลางว่า "พระราชโอรสเสด็จแลไม่เห็นหรือ? จงกลับไปยังที่อยู่ของแกเสียเถิด?"

แต่พระสิทธัตถะทรงรับสั่งว่า "ปล่อยแกเสีย! ปล่อยแกเสีย! นายฉันนะ นั่นสัตว์โลกอะไรที่แม้นเหมือนมนุษย์ แต่ผิดกันก็เพียงที่แกมีอาการหลังโกงแร้นแค้น น่าอนาถและมีอาการตื่นกลัว มีมนุษย์ใดที่พอเกิดก็เป็นเช่นนี้ทีเดียวหรือ? คำที่แกกล่าวว่ากระผม จะตายในวันนี้หรือพรุ่งนี้แล้วนั้นหมายความว่ากระไร? แกคงไม่ได้ประสพอาหารกระมัง กระดูกจึงแหลมๆ ออกมาดังนั้น? อกุศลกรรมอะไรหนอที่มาพ้องพานสัตว์อันเวทนานี้"

ดังนี้นายสารถีรถทรงจึงทูลสนองว่า "พระองค์ผู้ทรงคุณธรรม นั่นเป็นแต่เพียงคนชราเท่านั้น เมื่อสัก 80 ปีมานี้หลังของแกยังตรงอยู่ ตาก็ยังสว่างและกายก็ยังบริสุทธิ์ บัดนี้อำนาจแห่ความมีอายุมากได้ทำให้เลือดซึ่งหล่อเลี้ยงร่างกายของแกสิ้นไป และคร่าเอากำลังวังชาของแกสิ้นไปและทำให้สติสัมปชัญญะบกพร่องไปด้วย น้ำมันตะเกียงของแกได้หมดเสียแล้ว ไส้เหี่ยวแห้ง สิ่งซึ่งยังเหลือเป็นชีวิตของแกอยู่ก็เพียงแต่แสงมัวสลัวๆ ซึ่งอันธการก่อนที่จะดับลงตามธรรมดาของผลที่สุดแห่งอายุ พระองค์จะไปทรงใฝ่พระทัยทำไม?"

พระราชโอรสจึงรับสั่งว่า "คนอื่นๆ หรือคนทุกคนย่อมเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน หรือน้อยนักที่จะเป็นแก่คนใดดุจยาจกคนนั้น?" "พระองค์ผู้ทรงปรีชาอันสุขุม" นายฉันนะรีบทูลสนอง "คนทุกคนซึ่งปรากฏอยู่นี้ต่อไปต้องเป็นเหมือนแกทั้งสิ้น หากคนเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่นาน" พระราชโอรสจึงตรัสถามว่า "แต่ถ้าข้านี้มีชีวิตยืนนานเข้าก็คงเป็นเช่นนี้ดุจกัน และหากว่ายโสธรามีชีวิตอยู่จนกระทั่งถึง 80 ปีความชราภาพก็กระทำให้เธอได้รับผลที่สุดเช่นเดียวกันอย่างนั้นหรือ! ข้าได้เห็นสิ่งซึ่งไม่ได้นึกว่าจะได้เห็นนั้นแล้ว"

โดยเหตุที่ทรงรำพึงถึงสิ่งที่ได้ทรงประจักษ์มาดังนั้น พระสิทธัตถะซึ่งทรงมีพระอาการซึมเซาจึงเสด็จเข้าสู่พระราชสำนักอันงามวิจิตร ของพระองค์ด้วยพระอาการและพระวรพักตร์อันโศกเศร้า และพระองค์ไม่เสวยขนมขาว (ขนมหิมะแห่งหิมาลัย หรือไอสครีม) และผลไม้ซึ่งใช้เป็นพระกระยาหารเวลาเย็น และพระองค์ไม่ทรงโปรดเหลือบแลดูนางละครตัวที่งามเยี่ยมๆ แห่งพระราชวังซึ่งพยายามทำให้พระองค์ทรงกระสัน พระองค์ไม่ทรงเผยพระโอษฐ์ หากว่าไม่ใช่สำหรับมีรับสั่งอันละห้อยละเหี่ยกับพระนางยโสธราผู้รันทดสลด พระทัย กราบลงยังเบื้องบาทยุคลวิงวอนทูลถามว่า "พระองค์ไม่มีความสุขในข้าพระองค์นี้หรือ?" "โอ! แม่เทพีผู้สุดสวาท" พระองค์ตรัส

"ความสุขสำราญเช่นนั้นเป็นความสุขซึ่งดวงวิญญาณของฉันได้รับความทรมาน เมื่อนึกเห็นว่าจะหมดสิ้น และเราทั้งสองต่างก็จะต้องถึงความชราภาพ ยโสธราเอ๋ย แล้วก็สิ้นตัณหากลับกลายเป็นน่าเกลียด อ่อนแอ และหลังโกงลงไป จริงทีเดียวถึงแม้ว่าริมโอษฐ์ของเราได้ร่วมประสานซึ่งกันและกัน และความปฏิพัทธ์ของเราร่วมกันอย่างสนิทยิ่งซึ่งประหนึ่งว่าลมหายใจของเราแทบ จะระคนกันอยู่ทุกคืนวัน กาลเวลาก็ย่อมเขยื้อนเคลื่อนไปในระหว่างเรา สำหรับช่วงชิงเอาราคะ ตัณหาของฉันและความปรานีของเธอไปด้วย เหมือนราตรีกาลอันดำมืดมาลบล้างรัศมีกุหลาบซึ่งส่องสว่างเหนือภูเขาเหล่า นั้น โดยค่อยๆ กำบังด้วยฉากแห่งความขมุกขมัว นี่แหละสิ่งซึ่งฉันได้ค้นพบ และดวงใจของฉันทั้งมวลก็ทับถมไปด้วยความหวาดหวั่นโดยความอันรำพึงอันนี้ และดวงใจของฉันทั้งมวลก็คิดถึงแต่สิ่งที่จะป้องกันความรักให้พ้นจากความ พ้องพานของกาลเวลาที่จะมาพิฆาตซึ่งความชราภาพให้แก่มนุษย์"

 

เมื่อดังนี้แล้วพระสิทธัตถะก็ประทับนิ่งอยู่ตลอดราตรีโดยไม่สามารถที่จะ บรรทมให้หลับและทรงระงับความกระวนกระวายลงได้

อนึ่งในระหว่างราตรีกาลนั้น ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะก็ทรงถูกรบเร้าด้วยพระสุบินอันทำให้ปั่นป่วนพระทัย

ข้อแรกพระองค์ทรงนิมิตเห็นธงชักขึ้นเป็นสง่าผ่าเผยธงหนึ่ง ซึ่งพระอาทิตย์แจ่มจรัสเป็นสีทอง คือ รัศมีของพรอินทร์ฉายมา แต่ภายหลังก็มีลมพัดมาจนธงอันศักดิ์สิทธิ์นั้นขาดเป็นชิ้นๆ แล้วก็โบกพัดให้ตกลงในธุลี ต่อมาก็มีเทวดาเหาะลงมาเก็บธงที่เป็นอันตรายนั้นขึ้น แล้วก็นำมาวางที่ทิศตะวันออกแห่งทวารของพระราชธานี

ครั้นแล้วพระสุบินข้อที่ 2 ว่า พระองค์ทอดพระเนตรเห็นคชสาร 10 เชือก งาเป็นเงินซึ่งทำให้พื้นธรณีสนั่นด้วยการดำเนินอันหนัก ช้างเหล่านั้นเดินมาจากทางทิศใต้ ผู้ซึ่งขี่อยู่เหนือคอคชสารตัวที่หนึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์ ตัวอื่นๆ เดินตามหลัง

พระสุบินข้อที่ 3 ว่ามีรถอันแพรวพราวด้วยรัศมีอันรุ่งโรจน์เทียมด้วยพาชี 4 ตัว ซึ่งพ่นควันขาวออกมาจากจมูก และเคี้ยวฟองซึ่งเป็นไฟ พระสิทธัตถะประทับอยู่เหนือพระราชรถนั้น

พระสุบินข้อที่ 4 ว่า มีล้อซึ่งหมุน หมุนมิได้หยุด ดุมเป็นทองสลับด้วยรัศมีแห่งมณีรัตน์ซึ่งประดับไว้ และมีสิ่งแปลกประหลาดที่เขียนไว้ ณ กรอบลูกล้อ และล้ออันนี้ ขณะที่กำลังหมุนอยู่ก็ประหนึ่งว่าเกิดเป็นไฟและดนตรี

พระสุบินข้อที่ 5 ว่า มีกลองอันมหึมาตั้งอยู่กลางทางในระหว่างพระราชธานีกับภูเขาซึ่งพระราชโอรส ทรงตีด้วยท่อนเหล็ก จนมีเสียงสนั่นเหมือนความระเบิดแห่งฟ้าร้อง เสียงก้องกระหึ่มไปสู่ระยะไกลในเวหาและที่ว่างเวิ้ง

พระสุบินข้อที่ 6 ว่ามีหอคอยซึ่งสูงขึ้น สูงขึ้นเสมอจนแลเห็นได้ทั่วทั้งพระราชธานี จนกระทั่งยอดอันสูงตระหง่านประหนึ่งว่าห่อหุ้มด้วยก้อนเมฆ และบนยอดหอคอยนั้นพระราชโอรสประทับอยู่ พลางหว่านพรรณอันรุ่งโรจน์เต็มๆ พระหัตถ์ไปทั่วทิศานุทิศดังนี้จนเสมือนหนึ่งว่าเป็นพระพิรุณบุปผชาติ (ตาม ต้นฉบับ เรียกว่าดอกยาซิงท์ เป็นดอกไม้ที่ยังไม่มีชื่อในภาษาไทย ภาษาอังกฤษเรียกไฮซินท์ (Hyacinth) ต้นและใบคล้ายต้นซ่อนกลิ่น แต่ขนาดต่ำกว่า มีดอกสีขาว) และพลอยทับทิม และปวงชนทั้งหลายก็มาเบียดเสียดกันเพื่อเก็บทรัพย์อันมีค่าซึ่งตกลงมาทุกหนทุกแห่งนี้

และเหตุการณ์ในพระสุบินลำดับที่ 7 ของพระองค์คือ ได้ยินอื้ออึงไปด้วยศัพท์สำเนียงเสียงครวญคราง และทอดพระเนตรเห็นคน 6 คน ร้องไห้ และกัดฟันกับเอามือปิดปาก โศกเศร้าด้วยความสิ้นหวัง

นี่แหละคือพระสุบินทั้ง 7 ข้อ อันน่าหวาดหวั่นซึ่งพระองค์ทรงนิมิต แต่จะได้มีโหราฉลาดคนใดกล้าทำนายถวายได้นั้นก็หาไม่ เพราะฉะนั้นพระราชาผู้ทรงเร่าร้อนในพระทัยจึงทรงเปล่งพระอุทานว่า "คงมีทุกข์อะไรมาพ้องพานวังของเราแน่แล้ว และในบรรดาพวกท่านเหล่านี้ ไม่มีใครเลยจนคนเดียวที่มีความรู้ลึกซึ้งพอที่จะช่วยพิเคราะห์ดูให้รู้สิ่ง ซึ่งเหล่าเทพเจ้าผู้ทรงอานุภาพทั้งหลายมานิมิตให้ปรากฏแก่เราโดยทางสุบิน ทั้งสิ้นนี้เลย" เมื่อเป็นดังนี้พระราชธานีก็มีแต่โศกเศร้า

เหตุที่พระราชาทรงพระสุบินอันร้ายซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถทำนายถวายได้ แต่ทีนี้ก็มีชายชราคนหนึ่ง นุ่งหนังสัตว์ ประหนึ่งว่าฤษีซึ่งไม่มีผู้ใดรู้จักมาที่หน้าพระทวารและร้องว่า "จงพาเราไปเฝ้าพระราชา เพราะเราอาจสามารถทำนายพระสุบินนิมิตของพระองค์ได้"

ครั้นเมื่อฤษีรูปนั้นได้เข้าไปเฝ้าฟังรับสั่งในเรื่องพระสุบินอันอัศจรรย์ ทั้ง 7 ข้อนั้นแล้ว ก็น้อมกายลงด้วยความเคารพและทูลว่า "โอ มหาราช! ข้าพเจ้าขอเคารพพระราชตระกูลซึ่งจะได้ประสพสวัสดิโชคซึ่งจะมีรัศมีอร่าม เรืองยิ่งกว่าดวงพระอาทิตย์! ขอพระองค์ได้ทรงทราบเถิดว่า พระสุบินอันทำให้พระองค์ทรงหวาดหวั่นนี้เป็นพระสุบินซึ่งล้วนแต่เป็นมงคล ทั้งสิ้น

ที่จริงอันว่าธงซึ่งปลิวไสว สง่าผ่าเผย เป็นเครื่องหมายแสดงว่าเป็นพระอินทร์ ที่ทอดพระเนตรเห็นว่าธงนั้นขาดและปลิวลงมานั้น หมายความถึงวาระที่สุดแห่งความเชื่อถือลัทธิประเพณีเก่า และจักเผดิมเริ่มมีลัทธิประเพณีใหม่ เพราะเทพเจ้าทั้งหลายย่อมไม่เปลี่ยนแปลงน้อยไปกว่ามนุษยโลก และกัลป์หลายกัลป์ย่อมผ่านพ้นมาดุจเดียวกันกับทิวาราตรีที่ล่วงไปสิ้นไป

คชสารทั้ง 10 ทำให้พื้นธรณีสนั่นนั้น หมายความว่า มหาบารมีแห่งธรรมวิเศษทั้ง 10 ซึ่งโดยอำนาจแห่งธรรมวิเศษทั้ง 10 นี้ พระราชโอรสจะสละพระราชธานีของพระองค์ และทรงทำให้โลกสนั่นหวั่นไหวโดยทรงนำให้โลกได้บรรลุถึงซึ่งการรู้จักผลแห่ง ความเที่ยงแท้

อัศดรทั้ง 4 ที่เทียมรถพ่นลมหายใจออกมาเป็นไฟก็คือบุญญาธิการอันเชี่ยวชาญคืออริยสัจจะ ทั้ง 4 ซึ่งนำพาให้พระราชโอรสของพระองค์พ้นจากความกังขา และความมืดไปสู่แสงสว่างแห่งบุญบารมี ล้อซึ่งหมุนด้วยกำกงสุวรรณประดับด้วยจินดาและกุดั่นเป็นล้อวิเศษยิ่งแห่งพระ วินัยอันบริสุทธิ์ซึ่งจะหมุนให้ประจักษ์แก่โลกทั้งมวล

กลองซึ่งพระราชโอรสตีจนเสียงดังสนั่นไปทั่วทุกประเทศ หมายความว่าความก้องกังวานดุจฟ้าร้องแห่งพระธรรมโอวาทซึ่งพระราชโอรสจะทรง สั่งสอน หอคอยซึ่งสูงจนกระทั่งจดฟ้าแปลว่าความเยี่ยมแห่งพระคัมภีร์ของพระพุทธเจ้า และเครื่องเพชรพลอยซึ่งโปรยลงมาจากหอคอยนั้นคือสมบัติอันเกินค่าแห่งพระธรรม วินัยนี้ ซึ่งเป็นที่รักของปวงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และทุกๆ คนก็ต้องการ นี่แหละเป็นคำทำนายเรื่องหอคอยนั้น

ส่วนคน 6 คนซึ่งครวญครางพลางปิดปากคือศาสดาจารย์ตัวสำคัญทั้ง 6 ซึ่งพระราชโอรสจะทรงกระทำให้รู้สำนึกตัวในความเหลวไหลของเขาโดยพระบารมีแห่ง ความเที่ยงธรรม และพระธรรมเทศนาซึ่งไม่มีข้อเถียงได้ "โอ! พระราชา พระองค์จงสำราญพระทัยเถิด พระคุณสมบัติของพระราชโอรสมีค่าเกินกว่าพระราชอาณาจักรทั้งหมด ผ้า (สบง จีวร) ขาดกะรุ่งกะริ่งของฤษี (พระ) มีค่ายิ่งกว่าผ้าซึ่งทอด้วยทองคำ พระสุบินนิมิตของพระองค์แปลความได้ดังนี้แล และภายใน 7 ทิวา และใน 7 ราตรี สิ่งทั้งปวงนี้มาอุบัติขึ้น" เมื่อบุรุษนักบุญพูดแล้วก็กราบลงอย่างต่ำ 8 ครั้ง พลางแตะพื้นธรณี 3 ครั้ง กลับหลังหันแล้วก็ออกไป แต่เมื่อพระราชาทรงโปรดให้หาตัวเพื่อพระราชทานสิ่งของอันมีค่า ผู้รับพระราชโองการกลับมาทูลว่า "ข้าพระองค์ตามไปจนกระทั่งถึงวิหารจันทราซึ่งเห็นเธอเข้าไป แต่เมื่อไปถึงในนั้น ก็เห็นมีแต่นกฮูกสีเทาตัวหนึ่งบินไปจากแท่น บางครั้งเทพเจ้าก็จำแลงตัวมาเช่นนั้นแหละ"

พระราชาผู้ทรงเศร้าพระทัย เมื่อทรงทราบคำทำนายฝันนั้นแล้วก็ตกพระทัย และทรงโปรดให้จัดการแวดล้อมพระสิทธัตถะโดยความบันทิงร่าเริงใหม่ เพื่อเหนี่ยวรั้งพระทัยให้หมกมุ่นในพระราชสถานอันเกษมสันต์ นอกจากนี้ยังทรงโปรดให้ทวีกองรักษาพระทวารขึ้นอีกด้วย

แต่ใครเล่าอาจสามารถที่จะห้ามมิให้เป็นไปตามโชคชะตาได้?

อันที่จริงพระราชโอรสก็มีประสงค์จะทอดพระเนตรทวยชนและความเป็นไปของชีวิต มนุษย์อีก ซึ่งคงจะเป็นสิ่งที่น่าดูน่าชม หากว่าความเป็นไปของมนุษย์เหล่านั้นไม่ไปสู่ความวิบาก คือความมรณะอันเป็นที่สุดของเวลา

"ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาเถิด จงได้โปรดให้ข้าพระองค์ออกชมดูธานีของเราตามสภาพเป็นอย่างธรรมดา" พระราชโอรสทูลแก่พระเจ้าสุทโธทนะ "ครั้งก่อนนั้น โดยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ พระองค์ได้ทรงห้ามมิให้สัตว์โลกซึ่งทรมานและสภาพอันเป็นอย่างธรรมดาได้ปรากฏ แต่ให้ทุกๆ คนและสภาพทุกอย่างแสดงอาการร่าเริง เพื่อให้เป็นที่สำราญแก่ข้าพระองค์ กับทั้งทุกถนนหนทางให้มีแต่ความสนุกครึกครื้น ถึงกระนั้นข้าพระองค์ก็ทรงทราบเกล้าแล้วว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นหาใช่เป็นไปโดยความเป็นไปซึ่งมีอยู่ทุกวันไม่

และโดยเหตุที่ข้าพระองค์เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับพระองค์และราชอาณาจักรยิ่งกว่า ใครๆ ข้าพระองค์จะใคร่อยากรู้จักอาณาประชาราษฎรและถนนหนทางตามสภาพธรรมดาของสภาพ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น กิจการงานอันเป็นธรรมดาอยู่ทุกวันและอาชีพซึ่งประกอบโดยทวยชนทั้งหลายที่ไม่ ใช่เป็นพระราชา พระองค์ผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐจงทรงอนุญาตให้ข้าพระองค์ออกไปจากพระราช อุทยานอันสำราญของข้าพระองค์โดยไม่ให้มีกิตติศัพท์ ข้าพระองค์จะกลับมาพร้อมด้วยความปราโมทย์ สู่ความร่มรื่นแห่งอุทยาน หรือหากไม่ปราโมทย์ยินดีก็คงได้ความรู้มาสู่ตนด้วย จงได้โปรดให้ข้าพระองค์ออกไปสู่ถนนต่างๆ พรุ่งนี้แต่โดยลำพังของข้าพระองค์กับคนใช้เถิด"

เมื่อพระราชโอรสได้กราบทูลดังนั้นแล้ว พระราชาจึงตรัสในท่ามกลางเสนามุขมนตรีของพระองค์ว่า "บางทีการออกไปคราวนี้อาจแก้ความรู้สึกแห่งการที่ออกไปคราวก่อนนี้ได้ เห็นไหม นี่แหละคือเหยี่ยวซึ่งใฝ่ฝันด้วยสิ่งทั้งหลายที่ตนเห็น ภายหลังที่ได้หลงแล้วในเสน่ห์ จงปล่อยให้ลูกเราได้เห็นทุกสิ่งทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วจงนำข่าวแห่งลักษณะอาการความรู้สึกของเขามาแจ้งแก่เราด้วย"

ฉะนั้น พอรุ่งขึ้น ราวเที่ยงวัน พระราชโอรสกับนายฉันนะก็ออกไปจากประตูซึ่งเปิดออก เมื่อคนยามได้เห็นพระราชลัญจกร แต่ผู้ซึ่งเปิดประตูนั้นหาได้รู้ว่าผู้ที่แต่งกายเป็นนายพาณิชออกจากประตูไป นั้นเป็นพระราชโอรสไม่ ทั้งนายสารถีเล่าก็แต่งกายปลอมเหมือนคนธรรมดา เจ้ากับนายสารถีทั้งสองคนเดินไปตามทางหลวง ปนเปไปกับหมู่ศากิยะทั้งปวง พลางทอดพระเนตรเห็นสิ่งที่สนุก และสิ่งที่ทุกข์ทั้งปวงในพระนคร บรรดาถนนอันงามทั้งปวงก็ปรากฏแต่สรรพสำเนียงเสียงระเบงเซ็งแซ่ของทวยชนซึ่ง ประกอบอาชีพอยู่อย่างนิจนิรันดร์

พวกพ่อค้านั่งยองๆ อยู่ในท่ามกลางแห่งเครื่องเทศและเมล็ดพันธุ์ต่างๆ พวกผู้ซื้อก็มีเงินอยู่ในไถ้ของตนไว้ซื้อของบ้าง ก็เถียงกันในเรื่องซื้อขาย บ้างก็ร้องบอกให้หลีกทาง หลีกที่มีทั้งเกวียนที่มีล้อเป็นหินหนัก ลากด้วยโคแข็งแรง ก้าวอย่างช้าๆ และบรรทุกของที่หนัก มีคนหามแคร่ซึ่งร้องเพลง

พวกกุลีขนของมีคอกว้างกำยำ โซมไปด้วยเหงื่อ เพราะตากแดด หญิงแม่เรือนทูนศีรษะด้วยหม้อดิน หรือทองเหลืองใส่น้ำซึ่งตักมาจากบ่อ ทั้งอุ้มลูกตาดำๆ ที่สะเอวของตนด้วย ร้านจำหน่ายตังเมลูกกวาดก็มีแมลงวันตอมเต็มอยู่

ช่างทอผ้าก็ทำงานของตนโดยเคาะกระสวย ลูกโม่กำลังหมุนเพื่อบดข้าวสาลี สุนัขก็วิ่งพล่านไปเพื่อเที่ยวหาเศษอาหาร ช่างทำอาวุธกำลังทำเสื้อเกราะด้วยปากคีบและค้อน ช่างเหล็กก็กำลังเผาจอบและหอกให้แดงอยู่ในเตา ณ โรงเรียนเหล่าดรุณศากิยะซึ่งเป็นศิษย์ก็นั่งอยู่โดยรอบครูของตนพลางบ้างอ่าน มนต์ บ้างศึกษาตำนานพระผู้เป็นเจ้าและเจ้าทั้งหลาย พวกย้อมผ้าตากผ้าสีส้ม สีกุหลาบ หรือสีใบไม้ ซึ่งพึ่งเอาขึ้นจากถังกำลังเปียกๆ มีทหารซึ่งกำลังเดินมีเสียงดาบกระทบกับโล่ ควาญอูฐนั่งโคลงเคลงอยู่เหนือโหนกของอูฐ ทรงประจักษ์ทั้งพราหมณ์ (ตาม กฎของพระมนูแบ่งพลเมืองอินเดียเป็น 4 ประเภทคือ 1.พราหมณ์ คือพวกปฏิบัติกิจ 2. กษัตริย์ คือนักรบที่เป็นพระราชา 3. ไวศย คือพวกพ่อค้าพานิชและพวกทำการเพาะปลูก 4. ศูทร คือพวกกรรมกร ทั้ง 4 ประเภทนี้แยกตามกำเนิดในตระกูลของบุคคล) ผู้มีธรรม ขัตติยะนักรบซึ่งสง่าองอาจ ชนสามัญคือกรรมกร ณ ที่แห่งหนึ่ง มีคนหมู่เบียดเสียดยัดเยียดกันเพื่อดูหมองูซึ่งพูดพลางก็เอางูพันแขนตนอย่าง เครื่องประดับอันมีชีวิต หรือมิฉะนั้นก็บังคับให้อสรพิษตัวร้ายนั้นรำ พลางชูคอแผ่แม่เบี้ย ทำท่าตามจังหวะกลองซึ่งประดับด้วยเศษแก้วต่างๆ

บางแห่งก็มีขบวนแห่และแตรงอน มีม้าประดับเครื่องอันหรูหราและกลดแพรเพื่อแห่เจ้าสาวไปสู่เรือนหอ บางแห่งก็มีสตรีถวายขนมและพวงมาลัยแก่พระเจ้า เพื่อบนบานให้สามีของตนกลับจากการเดินทาง หรือมิฉะนั้นก็ขอให้ได้บุตรสักคนหนึ่ง

ไกลออกไปอีกมีช่างทำภาชนะกายดำๆ ตีทองแดงดังลั่นเพื่อทำตะเกียงและหม้อ พ้นจากที่นั้นมา พระโอรสกับนายฉันนะเดินเลียบมาตามกำแพงโบสถ์และใกล้ประตูใหญ่แล้วก็บรรลุถึง แม่น้ำและสะพานซึ่งอยู่ใต้กำแพงพระราชธานี

แต่พอเสด็จข้ามสะพานพ้นมา ทันใดนั้นก็มีเสียงครวญครางปรากฏขึ้นที่ริมถนนพร่ำว่า "พระคุณเจ้าขา จงช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด จงช่วยพยุงข้าพเจ้าด้วย โอ! ช่วยข้าพเจ้าด้วย มิฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นจะตายก่อนถึงบ้าน"

ผู้นี้คือผู้ตกยากเข็ญใจร้องครวญครางเพราะเป็นไข้ทรพิษซึ่งร้ายกาจถึงตาย และกำลังดิ้นรนอยู่กับธุลี เต็มไปด้วยน้ำหนองและเลือดสีแดงสดๆ เสโทอันเย็นไหลออกตามหน้าผากเป็นเม็ดๆ ปากก็สั่นรัวไปด้วยความเจ็บปวด ส่วนตาอันเหลือกลานก็ตกอยู่ในความทรมานแห่งยมทูต ให้ดิ้นรน กระวนกระวาย มือดึงต้นหญ้าซึ่งมีอยู่ตามทางเพื่อลุกขึ้น เมื่อเผยอศีรษะขึ้นแล้วก็ล้มลงไปอีก พลางสั่นเทิ้มไปทั่วสรรพางค์กาย พร้อมด้วยร้องอย่างเอน็จอนาถว่า "อา! ปวดเหลือเกิน! ท่านผู้มีใจกรุณาได้โปรดช่วยด้วย"

ในทันใดนั้น พระสิทธัตถะก็วิ่งไปประคองผู้ตกทุกข์คนนั้นขึ้นด้วยพระหัตถ์อันปรานี พลางค่อยๆ วางศีรษะคนเจ็บนั้นบนพระชุ ทรงลูบคลำเพื่อให้บรรเทาความเจ็บลงแล้วจึงตรัสถามว่า "พี่! ความทรมานของพี่คืออะไร? ทุกข์อะไรได้มาพ้องพานพี่? ทำไมจึงลุกไม่ไหว ทำไมนายฉันนะ พี่คนนี้แกจึงหอบและครวญคราง พูดไม่ออก แสดงอาการอย่างน่าอนาถใจดังนี้?"

นายสารถีกราบทูลว่า "คนนี้แหละ เป็นคนไข้ทรพิษชนิดหนึ่ง ธาตุทั้งปวงกำลังจะดับ โลหิตอันเป็นประโยชน์สำหรับไหลฉีดไปตามเส้นต่างๆ เพื่อเลี้ยงร่างกายของแกนั้น บัดนี้ได้ปั่นป่วนและเดือดดาลเหมือนห้วงเพลิง หัวใจที่เคยเต้นสม่ำเสมอเป็นปกติ บัดนี้บางทีก็เต้นเร็ว บางทีก็เต้นช้าเหมือนกลองซึ่งมีคนตีโดยปราศจากจังหวะ กล้ามเนื้อทุกส่วนชืดชาเหมือนสายธนูที่หย่อน กำลังวังชาได้สิ้นไปจากน่องเอวและคอของแกเสียแล้ว อันความสง่าและความรื่นเริงของแกตามธรรมดาของมนุษย์ทั้งมวลก็ได้หนีห่างจาก ไปแล้ว นี่เรียกว่าคนเจ็บ และเดี๋ยวนี้โรคกำลังกำเริบ

พระองค์ดูเถิดนั้นแกช่วยตัวของแกเอง เพื่อหมายถอนพิษความเจ็บปวดของแกออก ดูแกกลิ้งเกลือกเสือกไส มีดวงตาคลอหล่อไปด้วยเลือด ลมหายใจของแกก็ประหนึ่งว่าถูกรมควันให้สำลัก ดูเถิด! แกคงอยากจะตายๆ ไปเสีย แต่แกก็ไม่ตายก่อนที่โรคของแกได้กระทำให้แก่ทรมานจนถึงขนาดแล้ว โดยพิฆาตฆ่าบรรดาเส้นประสาททั้งปวงซึ่งตายก่อนชีวิต และเมื่อบรรดากล้ามเนื้อทั้งปวงสลายลงด้วยอำนาจของตรีโทษ กับเมื่ออวัยวะทั้งปวงสิ้นความรู้สึกในความเจ็บปวด โรคจะพรากไปจากแกแล้วก็ไปผลาญที่อื่นอีกต่อไป โอ! พระองค์ เป็นการมิบังควรเลยที่จะมาประคองแกไว้ดังนี้ โรคนี้อาจเป็นโรคติดต่อและอาจติดถึงพระองค์ได้"

แต่พระราชโอรสตรัสพลางช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของเจ้าคนนั้นต่อไป "มีเป็นแต่แกคนนี้คนเดียว หรือมีมากหลายด้วยกันที่เป็นเช่นนี้? แลตัวฉันเองอาจเป็นเช่นนี้ได้เหมือนกันหรือ?"

"พระเจ้าข้า" นายสารถีทูลสนอง "ความเจ็บปวดย่อมเป็นแก่ทุกคนโดยมีลักษณะต่างๆ มากมาย ความป่วยไข้และความเจ็บ พยาธิ ขี้กลาก โรคอัมพาต ขี้เรื้อน โรคบิดลงท้องและโรคฝีต่างๆ ย่อมจักเป็นแก่สรรพสัตว์ที่เกิดมาในโลกทุกอย่างและลามไปได้ทั่วทุกแห่ง"

"ก็โรคทั้งปวงจะจับใครๆ โดยไม่สามารถจะแลเห็นมันได้อย่างนั้นหรือ?" พระราชโอรสทรงถามและนายฉันนะทูลตอบว่า "มันมาเหมือนอสรพิษร้ายซึ่งขบกัดโดยไม่ให้เห็นตัวมัน เหมือนพยัคฆ์ร้ายซึ่งแอบแฝงอยู่ในพุ่มต้นหนามพรหม (Karounda ตรงกับภาษาละติน Garissa Carandas = ต้นหนามพรหม) ใกล้ๆ ทางแห่งป่าใหญ่สำหรับจ้องคอยเวลาอันเหมาะแก่การที่จะกระโดดตะครุบ หรือเหมือนอสุนีบาตซึ่งพิฆาตแต่บางคน และไม่พิฆาตบางคน สุดแต่โชคชะตาอยู่เรื่อยไป"

"ก็ถ้าเช่นนั้นมนุษย์ทุกคนก็ดำรงชีพอยู่ด้วยความหวาดเสียวอย่างนั้นหรือ?"
"มนุษย์ดำรงชีพอยู่อย่างนั้นแหละ พระเจ้าข้า"
"เออ! ก็ไม่มีใครเลยที่จะรองรับได้ว่า คืนนั้นฉันนอนสบายและเป็นสุขเมื่อตื่นขึ้น แล้วก็จะสบายแลเป็นสุขเหมือนกัน ดังนี้ใช่ไหม?"
"ไม่มีใครรับรองได้เลยพระเจ้าข้า" "และที่สุดของความทรมานทั้งหลายเหล่านี้ซึ่งเมื่อจะมาพ้องพานก็โดยมิทันให้ เห็นให้รู้ตัว และมีผลเช่นว่า ให้กายคดงอ วิญญาณทุพพลภาพ แล้วก็แก่ชราลง ดังนั้นหรือ?"
"อย่างนั้นแหละ พระเจ้าข้า ถ้าหากใครมีชีวิตยืนนาน" "ก็หากว่าเราไม่สามารถทนทานอำนาจแห่งพิษของมันได้ และหากเราไม่อยากทนมัน และอยากให้มันหมดไป หรือหากเราต้องทนแล้ว หรือหากเราเป็นเช่นนี้จนอ่อนแอและรู้แต่ครวญครางอย่างเดียว แต่เรายังมีชีวิตอยู่อีก แล้วก็ชราลง ชราลงทุกๆ ทีดังนี้จะมีที่สิ้นสุดอย่างไร?"

"ก็ตายเท่านั้นแหละ พระเจ้าข้า"
"คนเราตายด้วยหรือ?"
"ถูกแล้วพระเจ้าข้า ในที่สุดก็ถึงซึ่งความตายโดยไม่เลือกว่า ณ ที่ใด ในเวลาไหน คนบางคนที่แก่ลง บางคนต้องทรมานและล้มเจ็บลง แต่ทุกๆ คนจะต้องตาย จงทอดพระเนตรเถิด นั่นแหละความตายที่ผ่านไป"

ดังนั้นพระสิทธัตถะเงยพระพักตร์ขึ้น แล้วก็ทอดพระเนตรเห็นกระบวนแห่กระบวนหนึ่งซึ่งมีคนร้องไห้เดินเป็นแถวอย่าง ช้าๆ ทางข้างลำแม่น้ำ ข้างหน้ากระบวนมีคนแกว่งหม้อดินซึ่งเต็มไปด้วยถ่านไฟ ข้างหลังมีพวกญาติเดินตาม ศีรษะโกนเกลี้ยง แต่งกายเต็มไปด้วยเครื่องไว้ทุกข์ เสื้อผ้าไม่สมประกอบและร้องด้วยเสียงอันดังว่า "โอ! รามา รามา โปรดฟัง! พี่น้องทั้งหลายของฉัน จงช่วยกันอ้อนวอนรามา" ถัดจากนั้นก็มีที่ใส่ศพทำด้วยไม้รวก 4 อัน และสานด้วยไม้ไผ่ แล้ววางศพอันปราศจากความรู้สึกในจักษุประสาท สีข้างทั้งสองโบ๋ แยกเขี้ยวยิงฟัน ไว้บนนั้นแลโรยเต็มไปด้วยผงแดงๆ และเหลือง พอถึง 4 แยก พวกคนหามก็หันเอาหัวศพไปไว้ข้างหน้า

แล้วร้องว่า "รามา! รามา!" ครั้นแล้วก็นำศพไปที่ริมตลิ่งซึ่งมีกองฟืนตั้งอยู่และจัดนำศพไปวางบนที่รับ ศพแล้วนั้นก็เอาฟืนทับลงอีก ผู้ใดที่นอนเหนือที่นอนเช่นนี้ย่อมนอนหลับสนิทอย่างลึกซึ้ง ความหนาวไม่ทำให้เขาตื่นได้เลย แม้ถูกเขาตั้งเปลือยๆ อยู่กลางลมจัดดังนี้ก็ดี ครั้นแล้วต่างก็พากันจุดไฟที่มุมทั้ง 4 ด้าน ไฟซึ่งค่อยๆ ติด ก็ลามแลบเอากองฟืนลุกเป็นเปลวขึ้นทันใดจนถึงซากศพ ไหม้ตัวศพนั้นด้วยไฟซึ่งลุกกระพือเป็นเปลวและแตกดังเปรี๊ยะเปรี๊ยะเป็นเสียง เย้ยหยัน ครั้นแล้วหนังซึ่งแห้งก็แยกแยะออก ข้อกระดูกทั้งปวงก็ขาดสะบั้น ในที่สุดควันอันหนาก็จางลง และขี้เถ้าซึ่งมีสีแดงและเทาก็ทรุดลง ปล่อยให้กระดูกอันขาวเป็นเศษซากของมนุษย์ปรากฏอยู่เกลื่อนกลาด

เมื่อปรากฏดังนี้แล้ว พระราชโอรสจึงตรัสว่า "นี่หรือคือวาระที่สุดซึ่งรอคอยทุกผู้ทุกคนซึ่งมีชีวิตอยู่"

"เป็นวาระที่สุด ซึ่งสงวนไว้ให้แก่ทุกๆ คนแหละพระเจ้าข้า" นายฉันนะทูลสนอง "ผู้ซึ่งอยู่บนกองฟืนเมื่อกี้นั้นและซึ่งมีเศษซากน้อยจนแต่กาหิวก็ยังร้อง บินไปไม่ใยดีจะอยากได้เป็นอาหาร แต่เดิมคนนั้นก็กิน ดื่ม หัวเราะ รัก มีชีวิตรักและชีวิตเหมือนกัน แต่ภายหลังกลับเป็นอย่างไร? จะมีใครรู้ได้? พายุแห่งป่าทึบ ก้าวเท้าพลาดบนทางเดิน ความสกปรกในบ่อ งูเงี้ยวขบกัด เหล็กมีพิษตำ ความหนาว ก้างปลา หรือกระเบื้องตก"

เหล่านี้อาจทำให้ชีวิตให้ทำลายลงได้ แล้วมนุษย์ก็ถึงซึ่งความตาย ทีนี้ก็เป็นอันสิ้นความรู้ในรส ในความสนุกรื่นเริง และในความเจ็บปวด ใครจะจุมพิตริมฝีปากของเขา ถึงเปลวไฟจะลามไหม้เขาก็ตาม เขาหาได้เกิดความรู้สึกอย่างใดไม่ เขาไม่รู้สึกในการที่เนื้อของเขาถูกเผาและในกลิ่นของกำยานและไม้หอมซึ่งเผา ระเหย ปากของเขาสิ้นแล้วซึ่งรส หูก็สิ้นแล้วซึ่งการได้ยิน ตาก็ไม่เห็นอะไร คนที่รักของผู้ตายก็ได้แต่ร่ำร้องไห้ครวญครางข้างเดียว เพราะต้องทำลายซากศพนั้นเพื่อไม่ให้กายเป็นอาหารอันน่าอนาถของหนอน

กายซึ่งดำรงอยู่ได้ก็โดยชีวิต ชีวิตซึ่งเป็นตะเกียงภายในนี่แหละ คือโชคอันเป็นธรรมดาสำหรับเลือดเนื้อของมนุษย์ แม้ว่าใครจะมีอานุภาพหรือยากจนข้นแค้นก็ตาม ดีหรือชั่วก็ตามก็ต้องตายกันทั้งสิ้น และตามที่ปรากฏตามคำที่สอนกันมา ก็ว่าเมื่อตายแล้วก็ไปเกิดใหม่อีก ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าไปเกิดที่ไหนและเกิดอย่างไร เมื่อเกิดแล้วก็ต้องเผดิมเริ่มด้วยความหวาดเสียวและในวาระที่สุดก็เข้าสู่ กองไฟเผากายเช่นเดียวกัน นี่แหละคือวัฏสงสารของมนุษย์

เมื่อได้สดับดังนั้น พระสิทธัตถะจึงเงยพระพักตร์มีพระเนตรอันคลอหล่อไปด้วยอัสสุชลอัน ศักดิ์สิทธิ์ ทอดดูฟ้าแล้วก็มองดูดิน เต็มตื้นไปด้วยธรรมเมตตา พระองค์ทอดพระเนตรดูฟ้าบ้าง ดูดินบ้าง ประดุจว่า พระทัยของพระองค์กำลังเพ่งเล็งค้นคว้าหาความเห็นอะไรอย่างหนึ่งอันลึกซึ้ง และซึ่งเกี่ยวเนื่องติดต่อระหว่างฟ้าและดิน คือความเห็นซึ่งล้ำความเห็นและมองไม่ได้ด้วยตา แต่เมื่อค้นคว้าหาแล้วก็อาจพบเห็นและรู้จักได้

ครั้นแล้วโดยพระอาการอันสง่าซึ่งปั่นป่วนโดยอำนาจแห่งความดิ้นรนอย่างเดือด ดาล ด้วยความเมตตาอย่างเหลือล้นพ้นประมาณ และความเชื่อแน่ในความหวังอันหาที่สุดและสิ้นสูญมิได้ พระองค์จึงเปล่งพระอุทานว่า

"โอ! โลกซึ่งทรมาน! โอ! พี่น้องที่รู้จักและไม่รู้จักทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่ติดอยู่ในข่ายแห่งความทุกข์ยากและความตาย ตายแล้วก็เกิดใหม่อีกเพราะถูกหน่วงเหนี่ยวโดยวิญญาณ! เราเห็น เรารู้สึกแล้วในเหตุแห่งความวุ่นวายทรมานของโลก ความเย่อหย่งในความสำราญ ความเย้ายั่วในความสุข ความหวาดเสียวในความป่วยเจ็บของโลก ความสนุกรื่นเริงนั้นสิ้นสุดลง เมื่อประจวบเข้ากับความแร้นแค้น ความหนุ่มย่อมสิ้นลง เมื่อประจวบเข้ากับความชราภาพ ความรักทำให้เกิดทุกข์ เมื่อสิ่งที่ตนรักได้หายไป เป็นแล้วก็มีความตายมาตอบแทน และเมื่อตายแล้วก็ไปเกิดเป็นอะไรที่รู้ไม่ได้เข้าอีกซึ่งกระทำให้มนุษย์ได้ รับความเป็นไปใหม่อีกตามวัฏสงสาร สำหรับให้หมุนในวงแห่งความเบิกบานที่ไม่เที่ยง และในความทรมานอันแท้จริง เราเองก็เหมือนกันย่อมถูกหลอกด้วยเหยื่อเช่นเดียวกันนี้ และชีวิตก็ดูเหมือนว่าเป็นของรักของเรา และแม้นเหมือนกับกระแสน้ำกลางแดด ซึ่งไหลโดยสันติสุขปราศจากขุ่นมัวชั่วนิรันดร

แต่แท้จริง แม่น้ำอันปราศจากเดียงสา ถึงจะได้ไหลหลั่งผ่านสนามอันเต็มไปด้วยบุปผชาติก็ดี ในที่สุดน้ำซึ่งใสดุจแก้วเจียระไนก็ไหลอย่างรวดเร็วลงไปสู่ทะเลซึ่งเค็ม ไม่บริสุทธิ์เท่านั้น นี่แหละสิ่งซึ่งทำให้เรามืดมัวได้ประจักษ์แจ้งแก่เรา แล้วเราก็เป็นอย่างมนุษย์ทั้งหลายซึ่งอ้อนวอนพระเจ้าโดยพระเจ้าไม่เห็นฟัง

แต่อย่างไรก็ดี ต้องมีทางหนึ่งทางใดที่จะช่วยเหลือเขา และช่วยเรา และใครๆ ทั้งมวลที่ต้องการความช่วยเหลือ สำหรับท่านเองก็ว่าไม่ได้และไฉนหนอท่านจึงอ่อนแอนัก อ่อนจนไม่สามารถช่วยเหลือปวงชนที่ร่ำร้องวิงวอนถึง เราไม่ประสงค์จะปล่อยให้ผู้ที่เราสามารถเกื้อกูลต้องตกอยู่ในความร่ำไห้ ทำไมพรหมเทพจึงได้สร้างโลกขึ้นแล้วสละละทิ้งไว้ในห้วงแห่งภัยร้าย ถ้าท่านมีฤทธานุภาพเปี่ยมแท้ แต่ปล่อยให้โลกคงอยู่ในสภาพด้วยลักษณะฉะนี้แล้ว ท่านก็ไม่นับว่าดีตามทำนองธรรม ท่านก็คงมิใช่พระผู้เป็นเจ้าอย่างแน่นอน "แน่ะ! นายฉันนะ กลับวังเถอะ พอแล้ว ฉันได้ประสบพบเห็นเหตุต่างๆ พอแล้ว"

ครั้นสมเด็จพระราชบิดาได้ตระหนักในกรณีที่เกิดขึ้นโดยประการดังกล่าวมาแล้ว นั้น พระองค์จึงให้เพิ่มหมวดรักษาการประจำตามทวารต่างๆ ขึ้นสามเท่าจำนวนเดิม ทั้งมีพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าออกได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเวลากลางวันหรือกลางคืน ทั้งนี้จนกว่าจะล่วงพ้นกำหนดจำนวนวันที่ได้ทรงทราบไว้ในพระสุบิน

จาก http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/light_of_asia/03.html

http://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm