ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: ตุลาคม 17, 2016, 06:56:17 pm »พระภิกษุณีธัมมนันทา ภิกษุณีสายเถรวาทรูปแรกของเมืองไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ยังหาความหมายของชีวิตมาโดยตลอดแม้จะประสบความสำเร็จในชีวิตการงานและครอบครัว เธอตั้งคำถามกับตัวเองเป็นการรวบรวมข้อมูลจากวัตรทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอารามว่า "ในช่วงแรกอาตมาพยายามต้านกระแสการเรียกร้องให้บวช แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งของชีวิตก็พบว่า แม้ชีวิตอาตมาเดินทางมาถึงความสำเร็จตามประสาที่ชาวโลกแสวงหากันตามวิสัยปุถุชน แต่ก็ยังไม่ค้นพบสาระที่แท้จริงของชีวิต ขณะเดียวกันอาตมาก็เกิดความเบื่อหน่ายชีวิตทางโลกที่ต้องแต่งหน้าทาปากออกไปทำมาหากินเลี้ยงชีพทุกวัน อาตมาจึงตัดสินใจออกบวชเพื่อถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา"
ในเดือนมีนาคม 2544 รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ ตัดสินใจเข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรจากคณะภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์สายสยามวงศ์จากวัดตโปทานรามยะ ประเทศศรีลังกา ได้รับฉายาว่า "ธัมมนันทา" และอุปสมบทเป็นภิกษุณีเมื่อเดือนกุมาภาพันธ์ 2546 ที่ประเทศศรีลังกา นับเป็นภิกษุณีเถรวาทสายสยามวงศ์รูปแรกในเมืองไทย และเมื่ออุปสมบทแล้วท่านจึงได้นิมนต์ปวัตตินี (ภิกษุณีอุปัชฌาย์) มาอบรมสั่งสอนติดต่อกับ 2 พรรษา ตามเงื่อนไขในพระวินัยด้วย หลวงแม่ธัมมนันทาจึงเป็นปฐมภิกษุณีสายเถรวาทรูปแรก และเป็นผู้วางอิฐก้อนแรกสำหรับสตรีไทยที่จะได้มีโอกาสก้าวย่างออกมาสู่ชีวิตภิกษุณี
หลวงแม่ธัมมนันทาบรรยายหัวข้อ ภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย ในชั้นเรียนนักศึกษาปริญญาโท มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (วัดมหาธาตุ) เมื่อวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2556 บอกเล่าถึงตัวเองได้อย่างน่าสนใจว่า "หลวงแม่ถือว่าตนเองเป็นเพียงนักวิชาการอยู่บนหอคอยงาช้างแล้วได้รับเชิญให้ร่วมประชุมทางวิชาการ ค.ศ.1983 ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรื่องWomen, Religion and Social Changes พูดถึงบทบาทของผู้หญิงในศาสนาและการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคม จึงเกิดความคิดว่าเป็นผู้รู้คนเดียวเกี่ยวกับภิกษุณีแต่ไม่ได้ทำอะไรเลย รู้สึกผิดมากเลยนับจากจุดนั้น พ.ศ.2526 จุดที่พลิกผันของหลวงแม่ที่ปรับจากการเป็นนักวิชาการเท่านั้น มาสู่ความเป็นนักวิชาการและนักเคลื่อนไหว กลายเป็นfeministเต็มรูปแบบ เพราะโดนกระแทกจากการประชุม เรียกว่า เป็นการประชุมที่มีอิทธิพลมากที่สามารถเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งได้ และจากการประชุมที่ Harvard University ครั้งนั้น 20 ปีต่อมา เขานิมนต์หลวงแม่ซ้ำ แล้วก็บรรดาผู้หญิงที่เป็นผู้นำของประเทศต่างๆก็มาเจอกันอีกครั้งเพื่อที่จะดูว่าเพราะเรามาประชุมกันเมื่อ 20 ปีที่แล้วหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง มันเป็นการประชุมที่มีพลังมากทีเดียว เติมเต็มพุทธบริษัท 4 จากนั้นความคิดเรื่องบวชเริ่มต้นจากจุดนั้น แต่ใช้เวลานานมากกว่าจะเป็นรูปธรรม
ด้วยพื้นฐานที่หลวงแม่เป็นอาจารย์สอนทางด้านศาสนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นปูมหลังทางด้านวิชาการที่ช่วยในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ภายหลังจากที่ท่านออกบวชแล้ว หลวงแม่ธัมมนันทา เป็นบรรณาธิการจดหมายข่าวสตรีชาวพุทธนานาชาติ มีสมาชิกใน 38 ประเทศทั่วโลก เพื่อรับทราบความเคลื่อนไหวของภิกษุณีในต่างประเทศมากกว่า 30 ปี ทำให้เกิดความมั่นใจว่าการรื้อฟื้นภิกษุณีเป็นเรื่องที่ถูกต้องในพระธรรมและวินัย ด้วยเหตุผลที่ว่าพระภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล โดยพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้อนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี
ภิกษุณีสงฆ์จึงเป็นองค์ประกอบของพุทธบริษัท 4 ที่พระพุทธองค์ประดิษฐานไว้ ด้วยพระพุทธองค์ทรงยืนยันว่าผู้หญิงสามารถบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับผู้ชาย ทั้งยังกล่าวเสมอว่าคฤหัสถ์ทั้งชายและหญิงสามารถปฏิบัติจนถึงซึ่งความหลุดพ้นได้เช่นเดียวกัน หากแต่ชีวิตการบวชนั้นเป็นชีวิตที่ประเสริฐ เพราะเป็นทางลัดตัดตรง ช่วยให้ผู้บวชได้ละวางความยึดติดในทางโลกให้ลดน้อยลง ทั้งนี้เพราะวิถีการบวชนั้นเป็นการทำให้ชีวิตเรียบง่ายขึ้น อีกทั้งเอื้อประโยชน์ในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดียิ่ง ด้วยเหตุนี้ อาตมาจึงได้ออกบวชด้วยความศรัทธาจากหัวใจ พร้อมปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นและตั้งอกตั้งใจอย่างดีที่สุดด้วยความกตัญญูต่อพระพุทธเจ้า เพราะอาตมาได้ศึกษาแล้วว่าภิกษุสงฆ์นั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ให้แก่ลูกผู้หญิงและพระศาสนา ซึ่งพระองค์ทรงมอบหมายให้พุทธบริษัท 4 ช่วยกันดูแลและสืบสานพระพุทธศาสนาร่วมกัน
ตราบจนวันนี้ผ่านมาแล้ว 13 ปี ที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ตัดสินใจสละเพศฆราวาสครองวิถีนักบวชอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์นับแต่วันที่ตัดสินใจถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา พระภิกษุณีธัมมนันทาไม่ได้เพียงค้นพบเส้นทางลัดที่จำพาชีวิตไปสู่ความดับทุกข์เฉพาะตนเท่านั้น ท่านยังได้ใช้วิชาความรู้ในทางพุทธศาสนาเพื่อยังประโยชน์แก่ญาติโยมทั้งหลายด้วย
ในการนำประสบการณ์การเผยแพร่พุทธศาสนานานาชาติมาสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งสำหรับผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก ด้วยหัวใจแห่งโพธิสัตว์และแนวทางโพธิสัตว์ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีฯยึดถือปฏิบัติมานานกว่า 50 ปี อันเป็นอุดมการของพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Social Engaged Buddhism)โดยแท้ด้วยหลักคิดและแบบแผนในวิถีโพธิสัตว์นี้ย่อมเกื้อกูลสังคมมิใช่เพียงความปรารถนาที่จะพากเพียรไปถึงพระนิพพานแต่เพียงเฉพาะตนเท่านั้น หากแต่ยังปรารถนาเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดด้วย
หลวงแม่ธัมมนันทากล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงทางสังคม ด้วยการจัดให้มีการบรรพชาหมู่สามเณรีภาคฤดูร้อนขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ วัตรทรงธรรมกัลยาณีฯ ในจังหวัดนครปฐม ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสและจากการบรรพชาในครั้งนั้น (พ.ศ.2552) จนถึงปัจจุบัน ท่านได้เป็นอุปัชฌาย์ให้การบรรพชาสามเณรี ทั้งที่จังหวัดนครปฐม พะเยา สงขลา สุราษฎร์ธานี ได้มีผู้หญิงกว่า 400 ชีวิต ได้ตัดสินใจร่วมเดินตามรอยการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมเติมเต็มพุทธบริษัททั้ง 4 ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย ขณะเดียวกันในปี 2556 ท่านยังได้ริเริ่มเครือข่ายภิกษุณีสงฆ์ไทยขึ้นเพื่อความเป็นกลุ่มก้อนของภิกษุณีไทยที่กระจายอยู่ใน 20 จังหวัด ให้มีทิศทางการปฏิบัติชัดเจนในพระธรรมวินัย เพื่อสืบทอดพุทธศาสนาตามพุทธดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
สามเณรีที่บวชส่วนใหญ่ 9 วัน วันที่ 6 เมษายน และ 5 ธันวาคม บวชแล้วก็ลาสิกขากลับไปทำงานต่อ สามเณรีที่มาบวช 9 วัน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นปริญญาโท ปริญญาเอก ครึ่งหนึ่งต้องระดับปริญญาตรี ยังมีนายพลที่เกษียณแล้วมาบวช 2 คน สถิติค่อนข้างจะเป็นผู้หญิงที่มีการศึกษาที่ทิพยสถานธรรม ที่อำเภอเกาะยอ
ในการบวชสิกขมานาในพระไตรปิฎก หมายความถึงการบวชสามเณรีแบบเข้มข้น ในช่วง 2 ปีสุดท้ายก่อนที่จะบวชเป็นภิกษุณี ต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี เป็นสิกขมานา 2 ปี ถึงจะบวชเป็นภิกษุณี ต้องเป็นคณะหลวงแม่ต้องนิมนต์พระภิกษุณีมา 5 รูป แล้วก็บวชในพระอุโบสถ การบวชภิกษุณีในประเทศไทย เมื่อปี 2556 มีการบวชที่พะเยา อุปัชฌาย์ผู้หญิงซึ่งเป็นภิกษุ ภิกษุณีมาจากศรีลังกา โดยมีคณะสงฆ์ไทยเข้าร่วมด้วย ภิกษุณีสงฆ์ไทย 10 รูปร่วมเป็นพระอันดับ ในปีนี้วันที่ 29 พฤศจิกายน จะมีการนิมนต์พระอุปัชฌาย์จากศรีลังกา คณะสงฆ์จากไทยจะมีการบวชเป็นการอุปสมบทภิกษุณีครั้งใหญ่ในเมืองไทย มีชาวต่างชาติที่เป็นสามเณรีค้างอยู่สมัครเข้ามาบวชพร้อมกัน
การตั้งมั่นของพระศาสนา พระพุทธเจ้าฝากไว้กับพุทธบริษัท 4 ซึ่งมีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาพี่น้อง 4 กลุ่มนี้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน พระศาสนาไม่สามารถล่มสลายได้โดยปัจจัยจากภายนอก ถ้าไม่มีปัจจัยจากภายในสนับสนุน ปัญหาความเสื่อมศรัทธาเกิดขึ้นจากคนข้างในทั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากคนข้างนอก ไม่ต้องไปกลัวว่าเดี๋ยวศาสนาไหนเขาจะมาโจมตี ตราบเท่าที่เราศึกษาพระธรรมวินัยปฏิบัติตามพระธรรมวินัยสามารถที่จะปกป้องพระศาสนาได้
การบวชของภิกษุณีมี พระนางมหาปชาบดี (พระราชธิดาในพระเจ้าอัญชนาธิปราชแห่งกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ และเป็นพระขนิษฐภคินี (น้องสาว) ของพระนางสิริมหามายาผู้เป็นพระพุทธมารดาเป็นพระมาตุจฉาของพระสมณโคดมพุทธเจ้า) ทรงเป็นภิกษุณีองค์แรกนั้นมีอายุยืนยาวประมาณ 500 ปี แล้วก็หายสาบสูญไปเมื่อกาลเวลาล่วงมา ไม่ปรากฏมีภิกษุณีในศรีลังกา ทั้งภิกษุณีอินเดีย และภิกษุณีศรีลังกาเป็นที่รู้กันว่าภิกษุสงฆ์สายเถรวาทยึดมติการสังคายานาครั้งที่ 1 กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าภิกษุณีสงฆ์เถรวาททั้งในประเทศอินเดียและศรีลังกา ได้เสื่อมสูญลงแล้ว ถึงแม้จะมีการพยายามฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ก็ไม่จัดเป็นภิกษุณีเถรวาทเพราะขาดภิกษุณีผู้เป็นปวัตตินี พร้อมทั้งขาดคณะภิกษุณีฝ่ายเถรวาท
เราต้องภาคภูมิใจว่าเมืองไทยสามารถสร้างภิกษุณีสังฆะได้ ในขณะที่เมืองนอกเขาบวชกันมาตั้งแต่ ค.ศ.1973 ทั้งอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี สายของทิเบต แต่เขาสร้างสังฆะไม่ได้ มาสร้างสังฆะได้ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีฯ เราจะรักษาคุณภาพของภิกษุณีให้ก้าวย่างไปได้ ที่อื่นเขาไม่ได้พูดถึงเรื่องการยอมรับ ไม่ยอมรับเพราะเขาไม่มีคนต่อต้านเพราะมันเป็นสิ่งที่ดี ผู้หญิงบวชเป็นสิ่งที่ดี ผู้ชายบวชเป็นสิ่งที่ดี ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการยอมรับหรือไม่ยอมรับ แต่ที่จะเป็นสังฆะนี้เพราะลูกถามเพราะว่าถ้าเราจะมาคิดจริงๆ เราเพิ่งสร้างสังฆะได้เป็นครั้งแรกที่เมืองไทย แล้วถัดไปคือที่เวียดนาม เวียดนามคนแรกของเวียดนามบวชก่อนหลวงแม่ แต่เขาเพิ่งสร้างสังฆะได้เมื่อปี 2555 ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบงานของภิกษุณีเมืองไทยเป็นไปด้วยดี โดยเฉพาะการขับเคลื่อนที่เราพยายามสร้างสังฆะให้เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่งดงาม ภิกษุณีที่จะเป็นอุปัชฌาย์ได้อย่างน้อยต้องบวช 12 พรรษา แล้วต้องรู้ในพระธรรมวินัยเป็นครูบาอาจารย์ได้
ในประเทศอินโดนีเซียมีการบวชภิกษุณีครั้งแรก ในปี 2000 คือ ปี 2543 มีสายเถรวาทบวช 4 รูป เมื่อกลับไปยังประเทศแล้วถูกพระสายเถรวาทด้วยกันปฏิเสธ ตกใจลาสิกขาไป 2 รูป เหลือ 2 รูป อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากร 300 ล้าน แต่เป็นมุสลิม มีชาวพุทธ1% คือ 3 ล้านคน มีภิกษุมีแค่ 2 รูป จึงสร้างสังฆะไม่ได้ ทั้งๆที่บวชมาก่อนไทย
ส่วนประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีภิกษุมากที่สุดในโลก แต่เป็นสายมหายานภิกษุณีมี 22,000 รูป ภิกษุ 12,000 รูป คือสายมหายาน ภิกษุณีมากกว่าภิกษุ ส่วนสายเถรวาทมี 4 รูป ไม่ได้อยู่ในเวียดนาม ไปอยู่ในอเมริกา 1 รูป อยู่ในออสเตรเลีย 1 รูป ตกลงอยู่ที่เวียดนามเองแค่ 2 รูป ในปี 2555 มีการบวชภิกษุณีที่เวสาลี เป็นเมืองที่เกิดภิกษุณีรูปแรก เมื่อพระแม่น้านางขอบวชที่เวสาลี เหมือนกับเป็นการทำประวัติศาสตร์ซ้ำตรงจุดที่เคยเกิดขึ้นของภิกษุณี มีภิกษุณีไทยไปบวชด้วย หลวงแม่ไปเป็นพระอันดับให้เขา เวียดนามได้ภิกษุณีเพิ่มอีก 6 รูป กับเดิม 2 รูป ตอนนี้เขามีภิกษุณี 8รูป เวียดนามเพิ่งมีสังฆะ เมื่อปี 2555 แต่เพิ่งเข้าพรรษาในเวียดนาม ปี 2556 เป็นพรรษาแรก
ในเมืองไทยเราบวชหลังทั้งอินโดนีเซียและเวียดนาม แต่สามารถสร้างสังฆะได้ก่อนเขา ตอนนี้มาถึงจุดที่บรรดาภิกษุณีผู้นำมาอบรมที่วัตรฯเรา เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนพระธรรมวินัยโดยเฉพาะเรื่องการสวด เรากำลังสร้างตำราคำขอบวชให้เป็นRomanize จากภาษาบาลี แต่อักษรตัวสะกดเป็นภาษาอังกฤษ แล้วแปลเป็นไทย แปลเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย เพื่อให้แต่ละประเทศถือเป็นตำราเดียวกัน ถือคัมภีร์เล่มเดียวกัน ทำเสร็จแล้ว
หลวงแม่ธัมมนันทาให้ข้อคิดอยู่เสมอว่าผู้คนชอบอธิษฐานกันว่าขอให้ได้เกิดชาติใหม่ในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย ก็คือพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต ยุคที่ท่านจะมาอุบัตินั้นจะมีความอุดมสมบูรณ์ มีกิน มีใช้เหลือเฟือเท่านั้นเอง ทั้งนี้เราควรปฏิบัติอย่างดีที่สุดในชาติที่เราเกิดมาแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปสร้างความหลังหรืออธิษฐานเพื่อรอคอยให้เกิดในภพภูมิยุคพระศรีอาริยเมตไตรย เพราะไม่แน่ว่าเราจะได้เกิดในยุคนั้นหรือไม่ แต่ทั้งนี้ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีฯ พระภิกษุณี วรมัย กบิลสิงห์ หรือหลวงย่า ก็ได้มีการสร้างพระศรีอาริยเมตไตรย ที่มีลักษณะคล้ายพระสังกังจาย หรือแป๊ะยิ้มไว้กลางลานวัตร เพื่อให้ผู้คนที่แวะเวียนผ่านไปมาได้เกิดความสงบสุขภายในจิตใจ
การเลือกสร้างแบบจีนเพื่อให้พลังของความเมตตา มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา บางครั้งก็ยังมีเด็กๆห้อมล้อมท่านด้วย ภายในย่ามมีช้อน มีลูกประคำ มีชาม เด็กหยิบจับดูจนพอใจแล้วก็เก็บของใส่ย่าม แบกใส่บ่าเดินออกไป ด้วยหลักธรรมที่ลึกซึ้งได้ถ่ายทอดไว้ด้วยว่า ผู้ที่บรรลุธรรมแล้วนั้นถึงแม้จะอยู่ในโลก แต่หาได้แบกเอาภาระในโลกไว้ รู้ธรรมชาติของสิ่งต่างๆในโลกนี้แล้วแบกใส่บ่า ที่ยังอยู่ภายในโลกทำทุกอย่างเหมือนปุถุชน กิน ขับถ่าย นอนที่ไม่เหมือนก็คือปราศจากความยึดติดนั่นเอง
เด็กห้อมล้อมเป็นค่านิยมวัฒนธรรมจีนที่ถือกันว่า ชีวิตที่สำเร็จได้นั้นจะต้องมีลูกหลานสืบแซ่สืบตระกูลกันตลอดไป การมีลูกหลานเป็นเรื่องของมงคลในวัฒนธรรมจีนที่สานต่อเชื่อมเข้ากับพุทธศาสนาที่เผยแผ่ในประเทศจีน คนจีนให้ความสำคัญกับการทำบุญวันเกิดครบ 60 เนื่องจากมีกิจกรรมในครอบครัวรวบรวมลูกหลานเข้ามาสังสันทน์กันเต็มบ้านเต็มช่อง
บริเวณฐานของพระศรีอาริยเมตไตรย ทำเป็นห้องมีช่องลมด้านบน หลายคนใช้ตรงนี้เป็นสถานที่ทำสมาธิบริเวณฐานด้านหนึ่งเขียนข้อความว่า "มุมสงบหลบในใต้ฐานพ่อ ใจหายฝ่อไม่ระย่อท้อเกรงขาม จะเข้าฌานพุทธะพยายาม หลวงพ่อตามคุมจิตสนิทดี" บริเวณผนังด้านหลังของหลวงพ่อยังบันทึกข้อความว่า "ความเมตตา อารี มีน้ำจิต ทุกคนคิดเหมือนกันมั่นหมาย ก็จะมีความสุขทั้งหญิงชาย ไม่มีเรื่องร้ายๆให้ทุกข์เอย" บริเวณผนังทางด้านขวามือขององค์พระเขียนข้อความว่า "ในถุงย่ามหลวงพ่อมีเงินมาก แม้ลูกหลาน แม้ลูกหลานออกปากมาวอนขอ หลวงพ่อท่านจะให้ไปจนพอ ท่านพะนอรักลูกผูกดวงใจ แต่ว่าลูกต้องดีมีสัจจะ มุ่งธรรมะปรานีมีใจใส อย่าฆ่าฟันมนุษย์สัตว์ให้ตายไป เป็นคนไร้ศีลธรรมประจำตัว"
หลวงแม่ธัมมนันทามี 108 ข้อคิดเพื่อชีวิตที่มีสุข โดยทั่วไปแล้วรักของแม่นั้นต้องเรียกว่าไม่มีขอบเขต ไม่มีเงื่อนไข แต่แปลกที่เราจะรักลูกมากกว่าแม่ เส้นทางของความรักนั้นมันไหลลง นั่นคือไหลลงจากตัวเราไปสู่ลูกของเรา แม้จะย้อนขึ้นไปให้กับแม่ กระแสก็ไม่แรงเท่าลูก ในตัวเราที่เป็นทั้งลูกและแม่จะเห็นชัดว่าความข้อนี้เป็นจริงเพียงใด แม่บางคนก็ยังติดยึดในวัตถุ แม้แก่เฒ่ากลับยิ่งแสวงหาความอบอุ่นในจากภายนอก บางคนมีความสุขเมื่อลูกให้เงิน เช่นนี้เป็นต้น การที่ลูกสามารถดึงแม่เข้าวัด ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมต้องถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งเพราะเป็นการเตรียมการเดินทางไปสู่สัมปรายภพให้ท่านอย่างดีที่สุด เพราะถึงเวลานั้นเราไม่ได้ไปด้วย ท่านต้องไปเอง
จาก http://www.sakulthaionline.com/magazine/reader/14175/124