ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: ตุลาคม 22, 2016, 05:34:21 pm »ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ ทรงประทับอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต อันเป็นที่ประทับเดียว กับ พระศรีอาริยเมตไตรย!!
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ พระอริยสงฆ์ที่ทุกท่านนับถือ เคยกล่าวว่าถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ว่า “พระองค์ทรงมีกระแสจิตแรงมาก ฉันเองยังสู้ท่านไม่ได้ เรื่องปรารถนาพุทธภูมินี่ พระองค์ (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) ปรารถนามานาน แต่เวลานี้บารมีเป็น “ปรมัตถบารมี” เหลืออีก ๕ ชาติ และที่พระองค์ปฏิบัติมามันเลยแล้ว ไม่ใช่ไม่สำเร็จ พุทธภูมินี่ต้องบำเพ็ญกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์เป็น “วิริยาธิกะ” ต้องบำเพ็ญถึง ๑๖ อสงไขยกำไรแสนกัป นี่เกิน ๑๖ อสงไขยแล้ว “แสนกัป” อาจยังไม่ครบ จึงต้องเกิดอีก ๕ ชาติ" ซึ่งในหลังจากที่พระองค์(ในหลวง รัชกาลที่๙) เสด็จสวรรคต คงจะเสด็จไปประทับในที่เดียวกับพระศรีอาริยเมตไตรย ดังเช่นที่เคยเทศสอนไว้ในหนังสือชุด “ตายแล้วไปไหน จากคำสอนของพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ)” คุณคณิตพร บุณยเกียรติ (เปี๊ยก) และคณะได้รวบรวมและจัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2544 ดังนี้
“..พระศรีอาริยเมตไตรย ในสมัยพระพุทธเจ้าท่านบวชเป็นพระมีนามว่า อชิตะภิกขุ เดิมทีท่านเป็นลูกศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ท่านไปบวชเพื่อสร้างเสริมบารมี ต่อมาเมื่อ พระนางกีสา โคตมีได้ทอจีวรด้วยมือของตนเองปรารถนาจะถวายพระพุทธเจ้า เมื่อเวลาพระนางไปถวาย พระพุทธเจ้าเรียกพระมาหมด นั่งเรียงแถวกันตามลำดับอาวุโสและคุณสมบัติ เมื่อพระนางกีสาโคตมีถวายผ้าแก่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ส่งให้พระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรก็ส่งให้พระโมคคัลลาน์ ท่านพระโมคคัลลาน์ก็ส่งต่อๆ กันไปหมดจนถึงองค์สุดท้ายคือท่านอชิตะภิกขุ ท่านไม่รู้จะส่งให้ใครเพราะนั่งอยู่ท้ายสุด เป็นอันว่าท่านก็รับไว้ พระนางกีสา โคตมีก็เสียใจว่าอุตสาห์ทำเองเลือกด้ายชั้นดีมาทอกับมือเองเพื่อถวายพระพุทธเจ้า แต่พระองค์ไม่รับกลับไปให้กับพระที่ไม่ได้แม้แต่ฌานสมาบัติมากมายอะไรนัก คือว่ายังเป็นพระปุถุชนคนธรรมดา องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบอัธยาศัยจึงเทศนาโปรดว่า พระองค์สุดท้ายไม่ใช่พระธรรมดา ท่านอชิตะภิกขุผู้นี้ต่อไปข้างหน้าจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง มีพระนามว่า “สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรย” หลวงพ่อเทศไว้
ปัจจุบันนี้ท่านมาเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดุสิต วิมานท่านสวยสดงดงามมาก ท่านมีรัศมีกายสว่างมาก หน้าตาผ่องใสยิ้มระรื่นน่าชื่นใจ ท่านได้บอกกับอาตมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ ว่า นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป อีก ๑ ล้านกับ ๒ ปี ท่านจะลงมาเกิดในเมืองมนุษย์แล้วเป็นปุโรหิต หลังจากนั้นเกิดความเบื่อหน่ายก็ออกแสวงหาพระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า และหลวงพ่อยังย้ำไว้ว่า ผู้ที่มีสิทธิไปเกิดอยู่ชั้นดุสิตได้ ๓ พวกคือ
๑) พุทธบิดาพุทธมารดาของพระพุทธเจ้า
๒) พระโพธิสัตว์ที่มีบารมีเข้มแข็งแล้ว
๓) พระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจึงจะอยู่ชั้นนี้ได้
จาก http://panyayan.tnews.co.th/contents/209739/
ประสบการณ์จริงจากการเวียนว่ายตายเกิดของ "หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ"!! "พระโพธิสัตว์บนสวรรค์ชั้นดุสิต" ยังคงทำหน้าที่เพื่อสรรพสัตว์อย่างแข็งขันไม่ว่างเว้น...เฉกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งบำเพ็ญบารมีในโลกมนุษย์!!
จากการที่มีครูบาอาจารย์พระอริยสงฆ์หลายท่านได้กล่าวถึง "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" ว่าทรงเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ และตามคติของพระพุทธศาสนาที่เชื่อกันว่า เมื่อผู้บำเพ็ญบารมีธรรมของพระโพธิสัตว์ละจากโลกมนุษย์แล้วจะไปเกิดเป็นมหาเทวดาบนสวรรค์ชั้นดุสิตอันเป็นสถานที่พำนักของเหล่าพระโพธิสัตว์เพื่อสั่งสมบารมีธรรมสำหรับการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปนั้น เรื่องนี้อาจจะทำให้ใครหลายคนสงสัยว่า ระหว่างที่พำนักอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญอะไรหรือมีกิจหน้าที่ใดที่จะต้องปฏิบัติบ้าง และกิจนั้นมีลักษณะเหมือนเมื่อครั้งที่บำเพ็ญอยู่ในโลกมนุษย์หรือไม่?
"หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ" วัดท่าซุง ได้เคยตอบคำถามในเรื่องนี้ไว้เมื่อมีคนไปถามท่าน ดังหลักฐานที่บันทึกไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งว่า ...
ผู้ถาม : พระโพธิสัตว์ที่อยู่ชั้นดุสิตเมื่อยังไม่ตรัสรู้... อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า ท่านมีหน้าที่การงานอย่างไรบ้างหรือเปล่าครับ?
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : ฉันยังไม่เคยอยู่ชั้นนี้เลย ... ความจริงพระโพธิสัตว์นี่หาเวลาว่างยาก บนสวรรค์ ๖ ชั้น พระโพธิสัตว์ก็เหมือนกับพระ...ก็มีหน้าที่สงเคราะห์พวกพรหมและเทวดาด้วยการเทศน์ อย่างพระอินทร์ เวลาถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ หรือวันโกนสิ้นเดือน เทวดาต้องไปประชุมกันที่เทวสภา แล้วตามปกติพระอินทร์ท่านจะไปเชิญพระโพธิสัตว์มาเทศน์ บางคราวก็หาพระโพธิสัตว์ว่างไม่ได้ พระอินทร์ต้องเทศน์เอง พระโพธิสัตว์ท่านไม่มีเวลาว่าง ถ้าไม่ได้ไปไหนก็ไม่ว่าง
ผู้ถาม : ทำอะไรครับ...หลวงพ่อ?
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : ต้องนั่งสิ!
ผู้ถาม : แล้วไม่ได้หลับไม่ได้นอนหรือครับ?
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : เอ... นอนหรือเปล่า... ไม่เคยเห็นนอนสักที
ผู้ถาม : ลืมตาแจ๋ว...เป็นเหน็บชาแย่
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : เทวดาไม่มีประสาทปวดนะ แล้วก็ประการที่สอง สวรรค์ก็ดี พรหมก็ดี นิพพานก็ดี ไม่มีกลางคืน ไม่มีกลางวัน และไม่มีพระอาทิตย์ ในแดนนรกก็ไม่มีกลางวันและกลางคืน ไม่มีพระอาทิตย์เหมือนกัน ฉะนั้นก็ไม่มีคำว่าหยุด ไม่มีคำว่าพัก เพราะไม่มีคำว่าเหนื่อย สภาวะของท่านไม่เหนื่อยเลย หนักก็ดี กลุ้มก็ดี ไม่มีสำหรับเทวดา
ผู้ถาม : อย่างนั้นเขาก็มีความสบายอย่างเดียวสิครับ?
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : นั่นเขารับส่วนสบายฝ่ายเดียว คำว่าเหนื่อยหรือเพลียไม่มีสำหรับที่นั้น เพราะท่านมีสภาวะเป็นทิพย์ ไม่มีสภาพหนัก มนุษย์นี่มีธาตุดินจึงทำให้หนัก ของท่านไม่มีทั้งสี่ธาตุ
ผู้ถาม : แล้วถ้าธาตุไม่มีนี่จะพูดจากันรู้เรื่องหรือครับ?
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : ก็พูดกันอย่างประสาไม่มีธาตุ เป็นนามธรรมที่เรียกว่า "รูปในนาม" ไม่มีของหนักอย่างเรา ก็มีสภาพคล้ายอากาศ เบา ๆ ทุกอย่าง ... ฉันตอบได้เพราะว่าฉันเคยตายมาหลายอสงไขยกัป
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ
จาก http://panyayan.tnews.co.th/contents/209703/
คำยืนยันจากหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ!! "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ที่ใช้ "ความเพียร" เป็นคุณธรรมนำ ... จึงยอมเหน็ดเหนื่อย และ พยายามอย่างหนักเพื่อรื้อขนสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์!!
จากบทสนทนาธรรมระหว่างหลวงพ่อฤๅษีลิงดำกับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่หลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้กล่าวไว้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงปรารถนา "พุทธภูมิ" มานานแล้ว และเวลานี้ก็สั่งสมบารมีถึงขั้น "ปรมัตถบารมี" แต่เนื่องจากการปรารถนาพุทธภูมิเพื่อเป็นพระพุทธเจ้านั้นต้องบำเพ็ญกันมาก และการที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็น "วิริยาธิกะ" ซึ่งต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงไขย กับแสนกัปนั้น แม้จะทรงบำเพ็ญมาเกิน ๑๖ อสงไขยแล้ว แต่แสนกัปอาจยังไม่ครบ จึงต้องทรงเกิดอีก ๕ ชาติ
ระยะเวลาในการบำเพ็ญบารมีที่ยาวนานเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิต้องเป็นผู้ที่มีความเสียสละและความพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์
ความเสียสละและความพยายามนั้นมีมากมายขนาดไหน อาจพิจารณาได้จากคำกล่าวของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำดังต่อไปนี้ ...
"ปรารถนาพุทธภูมินี่เหนื่อย!
ฉันเคยเป็นพุทธภูมิมาก่อน ฉันรู้ว่าพุทธภูมิสู้ทุกอย่าง งานทุกอย่าง ถ้าลาพุทธภูมิปั๊บ อารมณ์ตัด ถ้าตัดก็ไม่ได้ทิ้งงานนะ แต่อารมณ์ต่างกัน คือเสริมขึ้น อารมณ์มุ่งตรงเข้าตัดกิเลส เพราะพุทธภูมิไม่ตัดกิเลส พุทธภูมิทรงฌานมากกว่า หนักไปในเรื่องฌาน พอใช้วิปัสสนาญาณมากเข้า อารมณ์มันเบาลง ... มันต่างกัน
พระโพธิสัตว์นี่...พระอรหันต์ไม่ยอมนั่งหน้านะ...ถ้ารู้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์จริง ๆ ถ้าอารมณ์เข้มปั๊บ พระอรหันต์ไม่นั่งหน้า แม้พวกนั้นบวชหนึ่งวัน พระอรหันต์บวชร้อยวัน เขาไม่นั่งหน้าพระโพธิสัตว์ เขารู้ค่า
คนที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องปฏิบัติเลยอรหันต์ พระสาวกปกติบำเพ็ญบารมี ๑ อสงไขย กับแสนกัปเท่านั้น พระพุทธเจ้าปัญญาธิกะ (ใช้ปัญญาเป็นตัวนำ) ๔ อสงไขย กับแสนกัป ถ้าจิตของเขาถึงปรมัตถบารมี เขาเลยอสงไขย-สองอสงไขยมาแล้ว ต้องเป็นอสงไขยที่ ๔ จึงจะเป็นปรมัตถบารมี
พระโพธิสัตว์เหมือนพวกเรียนวิชาครู เรียนมาเพื่อเป็นครู จะต้องเข้มแข็ง ถ้าไปโดนสัทธาธิกะ (ใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ) ต้องหวด ๘ อสงไขย ถ้าวิริยาธิกะ (ใช้ความเพียรเป็นตัวนำ) ๑๖ อสงไขย
ฉันนี่วิริยาธิกะ ทำงานทุกอย่าง สบายไม่มี สาวกภูมิก็พุ่งจริตอย่างเดียว แต่สาวกภูมิสำหรับพวกฉันนี่เป็นวิริยาธิกะหมด พวกตามเป็นวิริยาธิกะ เฉพาะลูกแปดหมื่นกว่าแล้ว พวกไม่คิดเป็นกองทัพใหญ่เลย ถ้ายกมารวมกันนี่หลายแสนกองทัพนะ
พระโพธิสัตว์จริง ๆ เวลานี้มีเกือบแสนที่เต็มอัตรา เต็มอย่างพระศรีอาริย์น่ะ เต็มคอยคิว นั่งอยู่ชั้นดุสิต ปรารถนาพุทธภูมิ ยังไม่พบพระพุทธเจ้าพยากรณ์ ยังไม่ถือว่ามีคติแน่นอน ต้องพบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์น่ะ มีคติแน่นอน ถ้าเป็นปัญญาธิกะต้องบำเพ็ญบารมีต่อไป ๔ อสงไขย กับแสนกัป สัทธาธิกะ ๘ อสงไขย กับแสนกัป วิริยาธิกะ ๑๖ อสงไขย กับแสนกัป
สบายมาก... อยากเป็นไหม...?
เป็นสาวกภูมิก็พอแล้ว... รีบไปดีกว่า แต่อย่าไปขัดคอกันนะ ถ้าคนที่เขามีวิสัยพุทธภูมิอยู่ก็พูดกันไม่รู้เรื่องเหมือนกัน!
รูปปั้นพระโพธิสัตว์
ผู้ปรารถนาพุทธภูมิไม่มีความเป็นพระอริยะ มีแต่ฌานโลกีย์เพื่อคุ้มครอง จะเป็นพระพุทธเจ้าต้องพิสูจน์ทุกอย่าง ตั้งแต่อเวจีขึ้นมาต้องรู้หมด หมายความว่า ถ้าบารมียังต่ำขั้นฌานโลกีย์ ยังคุมไม่ถึงฌานขั้นต้น ฌานก็ไม่มั่นคง ยังมีโอกาสพลาดลงอบายภูมิ ถ้ามีบารมีเป็นอุปบารมีก็ปลอดบ้าง-ไม่ปลอดบ้าง ถ้าเป็นปรมัตถบารมีนี่ปลอดหมด
กว่าจะเลื้อยแต่ละบารมีนี่...โอ้โฮ! ฉันลองดูแล้ว
สำหรับท่านที่บำเพ็ญตน ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ปรารถนาพุทธภูมิ ต้องสร้างกำลังใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้น การก้าวเข้าสู่ฐานะพุทธภูมิจะไม่มีผล
การปรารถนาพุทธภูมิเป็นของดี แต่จะต้องทำความรู้สึกไว้เสมอว่า เราปฏิบัตินี้เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เราต้องการรื้อสัตว์ขนสัตว์ที่มีความทุกข์ให้มีความสุข จิตจะต้องคิดอยู่เสมอว่า ทุกข์ของตนไม่มีความหมาย แต่ทุกข์ของชาวประชาทั้งหลายเป็นภาระของเรา
เขาทำกำลังใจกันแบบนี้ ..."
จาก http://panyayan.tnews.co.th/contents/209748/