ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: ตุลาคม 28, 2016, 12:05:36 am »หลวงปู่ชาบอกดีมาก ไปไหนก็ใช้ได้
หลวงปู่ชาบอกว่า ก็เหมือนห้องหนึ่ง
ห้องนี้มีเพียงเก้าอี้เดียว เราต้องนั่งอยู่ที่นั่น
เจ้าของต้องนั่งอยู่ที่นั่น เมื่อเจ้าของนั่งอยู่ที่นั่นแล้ว
ทุกอย่างที่มา สุขมา ทุกข์มา ก็จะผ่านไป ก็จะไม่มีที่นั่ง
เพราะว่าเรานั่งอยู่ที่เก้าอี้อันนั้น เก้าอี้อันนั้นก็คือสติ
สุข ทุกข์ไม่มีที่ยืนอีกต่อไป ก็จะผ่านไปไวมาก"
"เดี๋ยวนี้ยังถือกล้องอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ถือกล้องแล้วไม่เหมือนแต่ก่อน
ถือกล้องไว้แต่ไม่มีความอยากถ่ายเพื่อความสวย
ไม่มีความอยากจะไปถ่ายเลย
แต่ว่าถ้าเห็นแล้ว เอ้ย อันนี้สอนคนได้นะ
อันนี้มีธรรมะ มีอนิจจัง มีธรรมะอยู่ในรูปภาพนี้
เออ ก็เอามาทำประโยชน์สิ"
พระอาจารย์ชาคิโนภิกขุ
พระชาคิโน ภิกขุ
THE SOLITARY PATH
วิถีวิเวก
พระชาคิโน ภิกขุ เป็นอดีตช่างภาพชื่อดังของประเทศมาเลเซียแม้จะมีทั้งชื่อเสียงและเงินทองมากมายท่านกลับเกิดความทุกข์ขึ้นในใจว่าสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมดไม่สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างที่ปรารถนา ในที่สุดจึงตัดสินใจสละทุกอย่างที่มีในชีวิตเพื่อออกบวช จนได้มาบวชเรียนในสายปฏิบัติของหลวงพ่อชา สุภัทโท ทำให้ท่านค้นพบการปฏิบัติให้เห็นจิตของตน
“การดูจิตทำให้เห็นว่าทุกสิ่งเป็นอนิจจัง เห็นว่าทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลง จะอยู่ได้แค่ปัจจุบันเท่านั้นเอง ทุกปัจจุบันเป็นของแท้ อดีตไม่ใช่ อนาคตก็ไม่ใช่ อยู่กับปัจจุบัน นี่คือทางสายกลาง”
ท่านมีคำถามสำคัญที่พยายามถามตนเองตลอดมาคือโลกนี้มีสิ่งใดบ้างที่เป็นสิ่งแน่นอน สุดท้ายท่านก็ได้พบว่าทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง แต่มีสิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือทุกชีวิตล้วนมุ่งหน้าไปสู่ความตาย นอกจากการปฏิบัติอย่างเข้มข้นแล้ว ท่านยังออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปทั่วประเทศมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลเมตร
“ระหว่างการเดินทุกอย่างจะออกมา ทั้งนิสัยเก่า ความคิดเก่า ความสุขความทุกข์ เหล่านี้จะออกมาหมด ทั้งหมดนี้อยู่ที่เราว่าภาวนาได้หรือไม่ ถ้าเราภาวนาให้ความคิดเปลี่ยนไม่ได้เราก็จะอยากกลับบ้าน เพราะเป็นห่วงคนทางบ้าน ทั้งที่แท้จริงแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นความคิดของเราเองทั้งสิ้น”
ท่านได้ก่อตั้งมูลนิธิธัมมคีรี เพื่อช่วยเหลืออุปการะเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส โดยไม่ทิ้งหนทางแห่งความสงบตามวิถีวิเวกของท่านเอง
จาก http://www.mqdc.com/nhnw2/index.php/person-50.html
ทึ่ง! พระธุดงค์ สายเลือดมาเลเซีย “ชาคิโนภิกขุ”
ศรัทธาพระธุดงค์-ศาสนาและเมืองไทย
สุดซึ้งกับมูลนิธิธัมมคีรีช่วยเด็กดอยที่แม่ฮ่องสอน
“เมืองไทยเป็น เมืองพุทธ” คำๆ นี้ หรือวลีนี้ยังคงความศักดิ์สิทธิ์และมีมนต์ขลัง ที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู้ ความเป็นมหาอำนาจทางพระพุทธศาสนาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไม่รู้ลืม และในโอกาสที่ประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นในปี 2558 หรืออีกแค่ 2 ปีข้างหน้า ก็จะยิ่งช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจทางพระพุทธศาสนาอย่างกว้างใหญ่ไพศาลก้าวสู่ระดับสากล ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
นั่น! จึงย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนไทย จำนวนกว่า 65 ล้านคน รวมถึงประชากรอาเซียนกว่า 600 ล้านคน แล้วว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่ดำรงไว้ซึ่งทุกสถาบันอันเป็นองค์ประกอบของชาติ ประเทศ
อันเป็นองค์ประกอบแห่งโลกธาตุรวมถึงจิตวิญญาณอย่างมั่นคงถาวร มั่นคงจนไม่อาจมีอำนาจใดๆ มาหล่อหลอมจนหลุดพ้นจากวิถีชีวิตไปได้เลย
ปัจจุบัน! ประชากรไทยจำนวนร้อยละ 99 ล้าน ยึดถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักประจำชาติ ด้วยสำนึกเสมอว่า เป็นศาสนาที่สอนให้ทุกคนมีเหตุผล รู้จักดับทุกข์ดับกิเลส อันเป็นที่มาแห่งทุกข์
ฉะนั้น! ประเทศไทยจึงได้กลายเป็นมหาอำนาจทางพระพุทธศาสนาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติจากทั่วโลกต่างหลั่งไหลเดินทางเข้ามาศึกษาแก่นแท้แห่งพระพุทธศาสนาจำนวนนับแสนราย จนเกิดเป็นสำนักสงฆ์หรือสถาบันทางพระพุทธศาสนานานาชาติจำนวนวนมากมาย ครอบคลุมไปทั่วทุกภูมิภาคของไทย
อย่างในกรณีของพระอาจารย์ชาคิโนภิกขุ ซึ่งเป็นชาวมาเลเซียโดยกำเนิดน่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นแก่นแท้แห่งธรรมะ และการเข้าถึงชีวิตอย่างแท้จริงไม่ว่าในปัจจุบัน อนาคต โดยไม่ต้องไปแสวงหาถึงชมพูทวีป
แต่หากเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าแล้ว สามารถแสวงหาที่ตัวเองโดยมีเมืองไทยเป็นฐานรองรับอย่างแรงกล้าก็เพียงพอแล้ว
…(อามิตตาพุทธ)…..
“ชาคิโนภิกขุ” ศรัทธาพระธุดงค์ศาสนาและเมืองไทยสุดซึ้งตั้งมูลนิธิธัมมคีรีช่วยเด็กดอยที่แม่ฮ่องสอน
พระอาจารย์ชาคิโนภิกขุ..คือใคร
พระอาจารย์ชาคิโนภิกขุ มีชื่อจริงว่า หยุ่งฝางหลา เป็นชาวมาเลเซียโดยกำเนิน เกิดใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ก่อนที่จะตัดสินใจบวชนั้น เคยเป็นช่างภาพมือหนึ่งของมาเลเซีย และเคยได้รับรางวัลสูงสุดในระดับเอเชียมาแล้ว แต่ด้วยความเป็นคนที่สุขุม ชอบอยู่อย่างโดดเดี่ยว มีความคิดเป็นของตัวเองสูงตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก จึงไม่ได้ให้ความสนใจต่อลาภยศสรรเสริญที่ได้รับเท่าใดนัก จึงตัดสินใจบวชโดยมีความตั้งใจที่จะค้นหาความสุขที่แท้จริงว่าคืออะไรกันแน่ (บวชในลัทธิมหายานมาก่อน)
ในประเทศมาเลเซียได้หมั่นศึกษาธรรมะอย่างเคร่งครัด แต่ก็ไม่สามารถค้นหาตัวตนของตัวเองอย่างแท้จริงได้ จึงตัดสินใจเข้าเดินทางเข้ามาในประเทศไทย แล้วบวชจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดแพร่รวมระยะเวลา 5 พรรษา ทั้งหมั่นศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง (อีกครั้ง) ก็ยังไม่เห็นธรรม ก็ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส จึงตัดสินใจลาสิกขาบทในเวลาต่อมา เส้นทางเดินของพระอาจารย์ชาคิโนภิกขุ ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น โอกาสต่อมาจึงต้องกลายเป็นชายสามโบสถ์โดยบวชเป็นภิกขุ
อีกรอบแล้วตัดสินใจเดินทางเข้าสู่วัดป่านานาชาติสาขาหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี และจำพรรษาอยู่นานถึง 5 ปี มีโอกาสศึกษาธรรมะอย่างแท้จริง เริ่มเรียนรู้วินัย เรียนรู้ถึงที่มาแห่งเหตุและผลเรียนรู้ถึง ความดับทุกข์ โดยเรียนรู้ถึงแก่นแท้ของการธุดงค์คืออะไร
ด้านการธุดงค์นั้นจัดเป็นพระภิกษุอีกรูปหนึ่งที่มีความแก่กล้าด้านนี้มาก เพราะได้เดินทางธุดงค์มาแล้วกว่า 4,000 กิโลเมตร จากอำเภอหาดใหญ่-ถึงจังหวัดแพร่ เข้าสู่จังหวัดน่าน เชียงราย ท้ายที่สุดแล้วก็มาประจำอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา
ข้าวช้อนเดียว เปลี่ยนทั้งชีวิต
หากจะจัดลำดับพระต่างชาติที่มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาและเมืองไทยแล้ว พระอาจารย์ชาคิในภิกขุย่อมมีความโดดเด่นในระดับต้นๆ และสิ่งที่จะกล่าวว่าจากนี้ไปคือ จุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพระอาจารย์ชาคิในภิกขุ รวมไปถึงเด็กชาวเขาเด็กชาวดอยผู้ด้อยโอกาสทางสังคมของไทยทั้งหลาย
พระอาจารย์ชาคิในภิกขุ เล่าว่า ตอนที่อาตมาเดินธุดงค์จากจังหวัดแพร่ มาจำพรรษาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน บริเวณบ้านห้วยหกนั้น วันแรกได้ออกบิณฑบาตจากถ้ำประมาณ 1 กิโลเมตร เดินตรงไปที่บ้านไม้ไผ่สภาพทรุดโทรมมาก ดูเหมือนว่าคนไม่สามรถอยู่ได้เลย แต่ปรากฏว่ามีแม่บ้านแต่งตัวมอมแมมหน้าตาเศร้าหมองกรุณานำเอาชามที่มีสภาพไม่ต่างกับชามใส่อาหารให้สุนัข บรรจงตักข้าวที่หุงใหม่ๆ ใส่จานแล้วก้าวลงมาจากบ้านพร้อมที่จะนำมาตักบาตร แต่ระหว่างนั้น ก็มีเด็กตัวเล็กๆ แต่งตัวมอมแมมเสื้อผ้าไม่มีจะใส่ ขี้มูกเกรอะกรังพยายามกอดชายผ้าถุงของแม่พร้อมมองไปที่ชามข้าวเหมือนกับจะบอกว่า “แม่จ๋าอย่านำข้าวไปให้พระเลย
เพราะหากแม่เอาไปให้แล้วหนูจะเอาข้าวที่ไหนกิน”
ซึ่งมันเป็นภาพที่อาตมาจดจำมาจนถึงวันนี้และก่อนจะฉันข้าวช้อนนั้นรู้สึกโกรธตัวเอง ว่าทำไมต้องไปแย้งข้าวเด็กกินมันเสียศักดิ์ศรีความเป็นคนจนไม่รู้จะพูดอย่างไร พระอาจารย์คาชิโนภิกขุ กล่าวด้วยน้ำเสียงปนสะอื้นจนทำให้ผู้ฟังหลายคนถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ก่อนจะเล่าต่อไปว่าอาตมาตัดสินใจ
ฉันข้าวช้อนนั้นหลังจากฉันข้าวเสร็จก็ได้อธิษฐานว่า ขอให้บุญที่โยมตักบาตรให้ในวันนี้จงสนองกลับคืนไป และขอให้ผู้อุปการะอาตมาคือ น้องสาวแท้ๆ จงร่ำรวยจะได้นำปัจจัยมาช่วยเหลือครอบครัวนี้ ซึ่งดูเหมือนมีปาฏิหาริย์ เพราะหลังจากนั้น 1 ปี น้องสาวโทรมาบอกว่าจะนำเงินมาช่วยเหลือเดือนละ 100,000 บาท จากที่เคยช่วยเหลือเดือนละ 7,000 บาท เมื่อสอบถามกลับไปจึงทราบว่าน้องสาวสามารถขายที่ดินได้เงิน 1,000,000 บาท รับคอมมิชชั่น 100,000 บาท จึงส่งเงินมาช่วยเหลือและได้ช่วยเหลือมาแล้วกว่า 6 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ได้มาอาตมานำไปซื้อข้าวของต่างๆ เช่น อิฐ ปูน ตะปูสังกะสีและอาหารโดยครั้งแรกเดินทางไปมอบให้กับครอบครัวที่ตักบาตรรวมไปถึงครอบครัวอื่นๆ โดยบริจาคไปแล้วรวม 3 ครั้ง (สาธุ สาธุ สาธุ)
มูลนิธิธัมมคีรี ช่วยชาวดอยอย่างแท้จริง
จากข้าว 1 ช้อน และความเมตตาอันเกิดจากแก่นแท้แห่งธรรมะจึงเป็นแรงบันดาลอย่างสูงยิ่งทำให้ พระอาจารย์ชาคิโนภิกขุมารู้จักกับอาจารย์จินตนา ทองทะจิตร์ ซึ่งเป็นครูนักปฏิบัติธรรมอันดับแถวหน้าของแม่ฮ่องสอน มีเป้าหมายนำนักเรียนชาวเขาชาวม้ง ชาวดอย เข้าอบรมปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาร่วมกัน จัดอบรมธรรมมาอย่างต่อเนื่องรวมแล้ว 6 ครั้ง มีผู้ผ่านการอบรมไปแล้วจำนวนนับพันราย ขยายเครือข่ายครอบคลุมไปสู่หลายอำเภอในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ซึ่งข่าวการฝึกปฏิบัติธรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งในระดับจังหวัด ระดับรัฐบาลด้วย ซึ่งเห็นว่าเป็นงานทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ต่อมาพระอาจารย์ชาคิในภิกขุ ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อการศึกษา โดยเน้นเด็กกำพร้าเด็กด้อยโอกาสที่เป็นชาวเขา ชาวดอย ทั้งสิ้น รวมทั้งบริจาคปัจจัยเพื่อการศึกษาอบรมครั้งละประมาณ 70,000 บาท ต่อการอบรม 7 วัน
ขณะเดียวกัน ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิธัมมคีรี ขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ณ.วัดป่าบ้านใหม่ ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินฝึกอบรมปฏิบัติธรรม เพื่อมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน และเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าชาวเขาชาวดอย ที่ผ่านมา มีการบริจาคทุนการศึกษาไปแล้วจำนวนเงิน 330,000 บาท เลี้ยงเด็กกำพร้าและด้อยโอกาสเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1 ล้านบาท ให้การอุปถัมภ์เด็กนักเรียนที่กำลังศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 12 คน ระดับประถม 10 คน ระดับมัธยมต้น-มัธยมปลาย 12 คน ซึ่งทั้งหมดล้วนได้รับทุนชาคิโนภิกขุ ทั้งสิ้น
ปัจจุบัน! งบประมาณดำเนินการลดน้อยลงไปมาก เนื่องจากโยมอุปฐากคือน้องสาวที่มาเลเซียไม่มีกำลังบริจาคแล้ว แต่มูลนิธิธัมมคีรีจะต้องดำเนินต่อไปอย่างมุ่งมั่น เพราะได้รับการสนับสนุนจากพระอาจารย์ชื่อดังสายธุดงค์ทั่วประเทศ โดยมีนักธุรกิจผู้ใจบุญชาวมาเลเซียร่วมบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างสถานที่ทำการแห่งใหม่วงเงิน 5 ล้านบาท (สำหรับจัดซื้อที่ดินจำนวน 5 ไร่ในเบื้องต้น) โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 30 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับในการให้ความช่วยเหลือชาวดอยผู้ด้อยโอกาสต่อไป ถึงตรงนี้! ก็ย่อมเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พระพุทธศาสนานั้นมิได้มีการปิดกั้นพลังแห่งศรัทธาแต่อย่างใดแม้ว่าผู้คน เชื้อชาติจะอยู่บนสถานที่แห่งใดในโลก
ในกรณีของพระอาจารย์ชาคิโนภิกขุ ซึ่งได้ชื่อเป็นผู้สละแล้วจากกิเลสทั้งมวลชนก็เช่นเดียวกัน แม้จะต้องข้ามน้ำข้ามทะเลฝ่าขุนเขาหลายหมื่นโยชน์ แต่ที่สุดแล้ว ก็สามารถค้นหาสัจธรรมให้กับตัวเอง แล้วมอบให้กับผู้คนอีกหลายหมื่นหลายพันชีวิตได้หลุดพันจากบ่วงทุกข์ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ มูลนิธิธัมมคีรีได้ที่ วัดป่าบ้านใหม่ ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือ โทร.08-5777-3112
คนเดินทาง/รายงาน
จาก http://www.banmuang.co.th/oldweb/2013/01/ ทึ่งพระธุดงค์สายเลือดม/
"หลวงพ่อช่างภาพ" กับ “วิถีวิเวก” ภาพถ่ายเปลี่ยนชีวิต จากเส้นทางท่องเที่ยวสู่เส้นทางธรรม
ภาพถ่ายโดยพระอาจารย์ชาคิโนบางส่วนในงาน ”นิทรรศการวิถีวิเวก”
การเดินทางคือการเรียนรู้โลกกว้าง ยิ่งได้เดินทางท่องเที่ยวมากเท่าไร ก็จะยิ่งได้รู้จักโลกมากขึ้นเท่านั้น และบางครั้งก็ทำให้เห็นโลกใบใหม่ที่เป็นความสุขสงบอันแท้จริง เหมือนอย่าง “พระอาจารย์ชาคิโน” ช่างภาพมือรางวัลของมาเลเซีย ที่ได้เดินทางท่องเที่ยวถ่ายภาพไปทั่วโลก ได้รับรางวัลและชื่อเสียงจากการประกวดภาพถ่ายมากมาย แต่สุดท้ายท่านก็กลับเลือกที่จะเดินทางต่อในโลกแห่งธรรม ละทิ้งชื่อเสียงและเงินทองไว้เบื้องหลัง
“พระอาจารย์ชาคิโน” หรือชื่อเดิม หยุ่งฝางหลา เป็นพระสงฆ์ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ชีวิตในทางโลกท่านเรียนจบปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต จากสถาบันศิลปะมาเลเซีย (Malaysian Institute of Art) ก่อนจะยึดอาชีพช่างภาพตามที่ได้ร่ำเรียนมา ฝีมือและมุมมองที่เฉียบคมทำให้ท่านได้รับรางวัลจากการประกวดภาพถ่ายมากมายทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียนรวมแล้วกว่า 40 ชิ้น โดยรางวัลใหญ่และน่าภาคภูมิใจที่สุดก็คือ รางวัลชนะเลิศการแข่งขันภาพถ่ายอาเซียนในปี 2533 และด้วยความที่ไม่มีภาระด้านครอบครัว เงินรางวัลที่ได้มาส่วนใหญ่จึงนำไปถวายทำบุญให้วัดต่างๆ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นก้าวเล็กๆ ที่ทำให้ชีวิตเริ่มหันเหมาสู่เส้นทางธรรมก็เป็นได้
แต่การเริ่มต้นในวิถีสมณเพศที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อพระอาจารย์อายุได้ 29 ปี แม้จะได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อถ่ายภาพ ได้มีทั้งชื่อเสียงและเงินทอง แต่พระอาจารย์กลับเกิดความคิดว่า “ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใด การมีเงินทำให้ตัวเราเองมีความสุขได้จริงหรือ?” คำถามที่เกิดขึ้นในใจได้เปลี่ยนแปลงชีวิตพระอาจารย์ให้หันหน้าเข้าสู่เส้นทางแห่งธรรม ละทิ้งวิถีทางโลกและเริ่มต้นเรียนรู้หลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาพุทธ
พระสงฆ์ให้ความสนใจชมภาพของพระอาจารย์ชาคิโน
ในช่วงแรกพระอาจารย์ชาคิโนได้บวชเป็นพระสงฆ์นิกายมหายานที่วัด อัง ฮก สี ที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย เป็นเวลาราว 1 ปีครึ่ง และได้มีโอกาสเดินทางไปจาริกในประเทศไทยและประเทศนิวซีแลนด์เพื่อแสวงหาธรรมะและเรียนรู้หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา แต่ยังไม่สามารถค้นพบตัวตนอย่างแท้จริงจึงเดินทางมายังเมืองไทยอีกครั้ง และอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์กับพระอาจารย์กัณหา ที่วัดแพร่ธรรมมาราม จ.แพร่ โดยได้อยู่ศึกษาและเรียนรู้ธรรมมะอยู่ 5 พรรษา แต่จิตยังไม่มีที่พึ่ง จึงตัดสินใจลาสิกขาบท ก่อนจะกลับมาบวชอีกครั้งในปี 2548 โดยได้มาบวชเรียนในสายปฏิบัติของหลวงพ่อชา สุภัทโท โดยมีพระราชภาวนาวิกรม (พระอาจารย์เลี่ยม ฐิตธมฺโม) เป็นพระอุปัชฌาย์ รับการฝึกปฏิบัติที่วัดป่านานาชาติและวัดป่าหนองพง จ.อุบลราชธานี
พระอาจารย์ชาคิโน เล่าถึงชีวิตช่วงที่บวชว่า “ระหว่างครองสมณเพศได้ออกเดินธุดงค์ไปในถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศไทย เหมือนการไปท่องเที่ยวทั่วไปแต่เป็นการท่องเที่ยวในทางธรรม รวมเวลากว่าทศวรรษ และในช่วง 2-3 ปีหลัง ได้พักอาศัยจำวัดในถ้ำที่ห่างไกลของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งในช่วงนี้เองได้เข้าไปคลุกคลีกับชาวเขาและชนกลุ่มน้อย ได้เห็นเด็กกำพร้าและยากจน จึงเกิดความคิดที่จะช่วยเด็กๆ เหล่านั้นให้มีชีวิตที่ดีขึ้น”
เหตุการณ์ที่ทำให้พระอาจารย์มีความคิดที่จะช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ก็เพราะเมื่อได้ออกบิณฑบาตในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนั้นซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขายากจน ขณะปลงใจคิดว่าคงไม่ได้อะไร ก็มีหญิงชาวเขาคนหนึ่งเอาข้าวที่เพิ่งหุงใหม่ๆ ออกมาใส่บาตร มีลูกตัวเล็กๆ หน้าตามอมแมมมองข้าวที่แม่ใส่บาตรด้วยตาละห้อย มองจนน้ำลายไหล ทำให้พระอาจารย์ซาบซึ้งในความศรัทธาของหญิงชาวเขาที่แม้บ้านจะยากจน ข้าวก้อนหนึ่งสำหรับพวกเขาก็คงมีความสำคัญมากแต่ก็ยังนำมาใส่บาตร วันนั้นท่านแทบฉันข้าวก้อนนั้นไม่ลง รำพึงกับตัวเองว่า เราก็เคยทำงานรายได้เดือนละเป็นหมื่นเป็นแสน แต่กลับต้องมาแย่งข้าวเด็กกิน ตั้งแต่นั้นท่านก็ตั้งใจภาวนาและคิดหาทางตอบแทนบุญคุณของชาวเขาในหมู่บ้านนั้นตลอดมา
พระอาจารย์ชาคิโนและเหล่าลูกศิษย์
หลังจากนั้นพระอาจารย์จึงได้ก่อตั้ง “มูลนิธิธัมมคีรี” ขึ้น โดยจุดประสงค์หลักนอกจากจะส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังมีจุดมุ่งหมายในการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านทุนการศึกษา ทุนอุปการะเด็กกำพร้า และเด็กด้อยโอกาส โดยพระอาจารย์ชาคิโนหวังที่จะให้เด็กเหล่านี้ได้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไปในอนาคต มูลนิธิได้มีการจัดตั้งโครงการดีๆ ขึ้นมา อาทิ โครงการปฏิบัติธรรมนำชีวิต และสร้างเสริมนักเรียนหัวใจเพชรเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ซึ่งในปัจจุบันก็มีจำนวนถึง 25 รุ่นแล้ว ในช่วงเริ่มแรกผู้อุปถัมภ์หลักของมูลนิธิก็คือน้องสาวของพระอาจารย์ชาคิโน แต่ต่อมาเมื่อเด็กๆ ที่มาขอรับความเมตตาจากพระอาจารย์มีมากขึ้นเงินสนับสนุนที่ได้จากน้องสาวของพระอาจารย์จึงไม่เพียงพอ
ในขณะเดียวกัน เมื่อพระอาจารย์ชาคิโนอยู่ในสมณเพศ แต่ก็ไม่ลืมความรู้เดิมคือการถ่ายภาพซึ่งเป็นกิจกรรมที่ท่านรัก พระอาจารย์จึงได้กราบขออนุญาตจากพระอุปัชฌาย์ว่าจะขอพกกล้องเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน พระอุปัชฌาย์อนุญาตแต่ให้ใช้อย่างสำรวม พระอาจารย์ชาคิโนจึงถ่ายภาพเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งในเวลาต่อมารูปภาพที่ถูกบันทึกไว้เหล่านั้นก็ได้เกิดประโยชน์ เมื่อทางมูลนิธิและคณะลูกศิษย์ของทางพระอาจารย์ชาคิโนได้ร่วมจัด “นิทรรศการภาพถ่ายวิถีวิเวก” ซึ่งจัดแสดงภาพถ่ายของพระอาจารย์ชาคิโนที่บันทึกไว้ระหว่างออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ภาพถ่ายเหล่านี้นอกจากจะงดงามด้วยฝีมือของอดีตช่างภาพมือทองแล้ว ยังเป็นภาพที่คนทั่วไปไม่เคยได้สัมผัสเพราะเป็นภาพกิจวัตรของสงฆ์ที่ดำเนินไปในระหว่างที่ท่องธุดงค์ในป่า ภาพถ่ายเหล่านี้ได้ถูกคัดเลือกมาจัดแสดงในงานจำนวน 98 ภาพ และจะนำออกประมูลเพื่อหารายได้เข้ามูลนิธิธัมมคีรีต่อไป
ห้องเรียนของมูลนิธิธัมมคีรี
“อาตมาคือพระภิกษุซึ่งไม่มีอะไรติดตัวมา การออกบิณฑบาตแต่ละครั้งถึงแม้เขาเหล่านั้นจะยากจนเพียงไรแต่ก็ไม่ได้แล้งน้ำใจที่จะช่วยเหลือ อาตมาจึงอยากทดแทนคุณของพวกเขา จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิธัมมคีรีขึ้นมา และในการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ก็เนื่องด้วยความจำเป็นในการหาเงินมาสนับสนุนมูลนิธิ จึงได้เกิดงานนิทรรศการภาพถ่ายวิถีวิเวกนี้ขึ้น” พระอาจารย์ชาคิโน กล่าว
ในมุมมองของช่างภาพ การกดชัตเตอร์ถ่ายแต่ละภาพนอกจากจะต้องครบในองค์ประกอบและแสงเงาที่ลงตัวแล้ว ยังต้องมีความหมายหรือก่อให้เกิดความรู้สึกกระทบใจคนชม แต่สำหรับช่างภาพที่อยู่ในสมณเพศเช่นพระอาจารย์ชาคิโนแล้ว ความสวยงามไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด หากแต่ความหมายที่ยกระดับจิตใจต้องเด่นชัดขึ้น ดังที่พระอาจารย์กล่าวว่า
“แต่ก่อน ความสวยงามของรูปถ่ายสำคัญสำหรับข้าพเจ้ามาก ข้าพเจ้าจะพยายามจัดแต่งภาพถ่ายให้สวยที่สุด ทุกวันนี้เมื่อนัยน์ตาของข้าพเจ้ามองผ่านเลนส์ไปที่เงา ตัวของข้าพเจ้ากลับมุ่งมองไปที่ใจอันเป็นประตูจะนำไปสู่แสงสว่างแห่งการตื่นรู้ ถ้าการ “ถ่ายรูป” เป็นการปรุงแต่งและการแสดงตัวตน การ “ถ่ายใจ” ก็เป็นการลดการปรุงแต่งและตัวตนลง ทำให้มันนุ่มนวลและพร้อมที่จะน้อมลงสัมผัสกับธรรมชาติอันไม่ปรุงแต่ง อันสงบ ประสานสมบูรณ์ และงดงามได้...”
จาก http://astv.mobi/AnZCeeQ