ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 01, 2016, 02:55:38 am »ธรรมะในหลวงทรงสอน การควบคุม"จิต"ให้ผ่องใส ทำอะไรก็ได้ดี!!
จิตคือศูนย์กลางของการปฏิบัติธรรม [1]
... คราวนี้ก็ยังไม่ได้พูดถึงว่า พุทธศาสนานี้ปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติอย่างไร เพราะว่าคนที่ศึกษาพระพุทธศาสนา หรือมาตั้งเป็นพุทธสมาคม หรือเป็นกลุ่มศึกษาพุทธศาสนา บางทีก็ยังไม่ทราบว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเริ่มที่ไหน
เพราะที่พูดถึงวิธีการที่จะเริ่มปฏิบัติได้นั้นก็ไม่ได้บอกว่าเริ่มปฏิบัติที่ตรงไหน นอกจากมาเปรียบเทียบว่าเข้าไปหาสวิตช์ไฟเพื่อจะเปิดให้มีความสว่าง และเมื่อมีความสว่างแล้วก็ดูทางได้ และไปดูทางที่จะทำให้สว่างยิ่งขึ้น สวิตช์ไฟนั้นอยู่ที่ไหน คือสวิตช์ไฟนั้น เราเอาแสงไฟเท่าที่เรามีริบหรี่นั้นไปฉาย แล้วก็ไปเปิดสวิตช์ไฟ สวิตช์ไฟนี้คืออะไร
เพราะท่านพูดอยู่เสมอว่า พระพุทธศาสนานั้น เมื่อได้ปัญญาก็มีความสว่าง เมื่อปฏิบัติธรรมก็ได้ปัญญา ได้แสงสว่าง ปัญญานั้นก็ดูจะเป็นสวิตช์ไฟ
แต่ถ้าดูๆ ไป ปัญญานี้ปัญญาในอะไร ก็ปัญญาในธรรมนี่ ปัญญาในธรรมไม่ใช่สวิตช์ไฟ ปัญญาในธรรมนั้นคือแสงสว่างสำหรับเปิดไฟให้สว่าง คือให้ได้ถึงปัญญานั้นก็จะต้องมีสวิตช์ไฟ สวิตช์ไฟนั้นคืออะไร หรือสวิตช์ไฟนั้นจะพบอย่างไร
แต่การที่จะบอกว่าสวิตช์ไฟคืออะไรนั้น ก็คือใจเรา ใจหรือจิต จิตหรือใจก็ได้ แล้วบางที ท่านก็เรียกว่าจิต บางท่านก็เรียกว่าใจ บางท่านก็บอกว่าจิตคือใจ บางท่านก็บอกว่าใจคือจิต บางท่านก็บอกว่าจิตไม่ใช่ใจ หรือบางท่านก็บอกว่าจิตคือเป็นอาการของใจ อาการของใจนี้แปลว่าอะไร
ใจเป็นสิ่งที่เรามีทุกคน เป็นสิ่งที่เราไม่เห็น เป็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น แต่ว่าใจนี้จะเป็นผู้บงการการกระทำของเราทั้งหลาย จึงต้องพยายามดู
แต่ใจนี้ เราไม่ได้ดูก็ไม่เห็น ถ้าดูด้วยตา ด้วยตาที่มองดูภูมิประเทศ ดูใครต่อใคร ดูตึกอาคารนั้น ตานั้นจะไม่เห็น ท่านก็เรียกว่า ‘ตาใจ’ คือความรู้ ตาใจนั้นก็คือเป็นสิ่งที่จะใช้สำหรับได้ปัญญา ได้เห็นแสงสว่างของปัญญา ...
จิตเป็นนามธรรมที่สามารถสังเกตเห็นได้ [2]
... คนเราทุกคนมีที่เรียกว่า “จิต” บางทีก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก จิตคืออะไร ก็คือไม่เห็น คือเขาบอกว่า เขาเรียกว่า “จิตใจ” บางคนก็นึกว่าอยู่ที่หัวใจบ้าง หรือคนสมัยใหม่ก็อาจจะบอกอยู่ที่สมอง เป็นจิต เป็นตัวเรา ที่อยู่ที่ไหนก็ตาม
จิตนี้เราจะมองเห็นได้ ถ้าเราทำจิตใจนี้ให้ผ่องใส เมื่อทำจิตใจให้ผ่องใสก็เห็น เห็นจิต ตามธรรมดานั้นพูดถึงว่า จิตนี่ก็เป็นสิ่งที่จะดูยาก ที่จิตดูยากเพราะว่า จิตที่อยู่นิ่งๆ ก็จะไม่เห็น
อย่างเราดูอากาศหรือดูน้ำมันไม่ค่อยเห็น อย่างในห้องนี้ เราดูอากาศเห็นหรือเปล่า ก็ไม่เห็น แต่ว่าถ้าเราดูไปทางหน้าต่างเห็นสีฟ้า มันก็เป็นลักษณะอากาศ อากาศมีสีฟ้าก็เห็น แต่เห็นยาก จิตนี้ก็เหมือนกัน เห็นยาก
แต่ถ้าดูฟ้าหรือดูข้างนอก เราเห็นเมฆ เมฆมันลอยไป เมฆมันลอยไปทำไม ก็เพราะว่าอากาศมันเคลื่อน แต่เราเห็นเมฆนั้น มันเป็นเมฆ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่อากาศ
จิตเหมือนกัน ถ้าเราอยู่เฉยๆ มันไม่เห็น แต่ถ้าสมมติว่า เรามองเห็น ดูอะไรเราชอบใจ จะเห็นว่าจิตผ่องใส อันนี้เป็นวิธีที่จะดูจิต อันนี้เป็นวิธีที่จะทำให้สามารถรู้จักจิต ...
------------------------------------------------------------------------------------------------------
[1] พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันเสาร์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓.
[2] พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตโร และคณะ เฝ้าถวายต้นเทียนพรรษาและเงิน เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐.
จิตเป็นสิ่งที่มนุษย์ควบคุมได้ [3]
... จิตใจที่อิ่มใจนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะทำอย่างไรให้จิตใจอิ่มใจ ก็ต้องทำอย่างที่ว่า ต้องพยายามที่จะมองดูให้เห็นจิตของตน ถ้ามองอะไรด้วยตา เห็นอะไรก็เอามา จิตเรารู้เท่านั้นเอง เราจะเห็นจิต เห็นอะไรที่น่าพอใจ แล้วก็เห็นว่าจิตนี้ฟู ฟูขึ้นมา ดีใจขึ้นมา จะเห็นจิตว่าดีใจ
จิตนั้นนะคล้ายๆ เต้นได้ ถ้ามีอะไรเข้ามาไม่พอใจ จิตนั้นก็จะเต้นได้เหมือนกัน เต้นเร่าๆ รู้สึก แล้วบางทีเมื่อจิตเราเจออะไรที่น่าดีใจ บางทีก็กระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ หรืออย่างน้อยก็มีการยิ้มหรือหัวร่อ ถ้าหากว่าเจออะไรที่ไม่พอใจ หน้าจะบึ้ง แล้วก็จะแสดงออกมาเป็นคำว่าเขาหรืออะไรทันที
ทำไมเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่า สิ่งที่เข้ามากระทบจิตของเรา จิตของเรานั้นต้องมีปฏิกิริยา และจะเห็นได้ถ้าหากว่าเราตั้งใจจริง แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจจริงก็จะไม่เห็น เมื่อไม่เห็นแล้วก็ผ่านไป ผ่านไปโดยที่ไร้ประโยชน์
แต่ถ้าเราเห็นว่าจิตเรามีอาการอย่างไร ก็จะทราบ จะควบคุมได้ เมื่อควบคุมได้แล้ว จะทำอะไรสักอย่างจะมีผลที่สำเร็จดีแน่มากขึ้น มากกว่าเดิม เพราะว่าจะไม่ประสบอันตราย จะมีความปลอดภัยมากกว่า เราเรียกว่าไม่ประมาท ถ้าประมาท มันก็อาจจะเกิดอันตราย
เช่น อย่างที่ว่าขึ้นมานี้ ถ้าเราไม่มีจิตตรง ไม่ระมัดระวัง เราก็เดินชนฝา นี่ก็แปลก เคยเดิน เดินไปไม่มีสติ เดินไปชนประตูชนฝา ก็เจ็บ แล้วก็เสียหาย แต่ถ้าเดินถูกที่แล้วก็ไม่เจ็บ ก็ได้ผลตามจุดประสงค์ของเราที่จะเดินไปที่ที่เหมาะสมที่เราต้องการเดิน ก็ถึงจุดประสงค์
อันนี้เป็นในขั้นปฏิบัติธรรมดา ในขั้นปฏิบัติสูงในด้านปฏิบัติที่เรียกว่า “ปฏิบัติธรรมะ” ก็จะบรรลุผลที่ดี จิตใจจะมีความสุขที่ยั่งยืน ...
-------------------------------------------------------------------------------------------------
[3] พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตโร และคณะ เฝ้าถวายต้นเทียนพรรษาและเงิน เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐.
จิตเป็นตัวนำ การกระทำเป็นตัวตาม [4]
... เมื่อรู้จักจิตแล้วควบคุมจิตให้ทำดีชอบ จะดีชอบในด้านไหนก็ได้ ทำงานทำการก็ต้องทำให้ดีชอบ ทำมาหากินโดยสุจริต ก็หมายความว่าไม่ทุจริต ก็ต้องดูจิตว่า เรามีความทุจริตหรือไม่
แม้จะอ่านหนังสือหรือดูหนังสือเพื่ออ่านเล่นหรืออ่านให้ได้ความรู้ก็ดี ให้จิตนี้ต้องอ่าน ถ้าจิตมันฟุ้งซ่านไปที่ไหนที่ไหน อ่านไม่รู้เรื่อง ไม่ดี อย่างพวกที่อ่านหนังสือสำหรับสอบ ไปเรียนหนังสือแล้วก็ไปสอบ ถ้าอ่านหนังสือโดยที่จิตไม่ใสก็อ่านไม่รู้เรื่อง จำอะไรก็ไม่ได้ ก็สอบไม่ได้ ไม่สำเร็จ
ทำงานทำการมีงานก็เช่นกัน จิตเราไม่ผ่องใส งานนั้นไม่สำเร็จ เพราะว่าคิดไม่ออก ฉะนั้น ก่อนที่จะทำงานการใดก็ต้องมีจิตที่ผ่องใส จิตที่ผ่องใสนี่หมายความว่า ให้ตัวจิตเองหรือตัวเราเองรู้ว่าเราคิดอะไร รู้ว่าเรามีงานอะไรจะต้องทำ
แม้ในสิ่งที่ง่ายๆ อย่างเช่น ท่านทั้งหลายมาที่นี่ต้องเดินขึ้นมา นั่งรถมา แล้วก็เดินขึ้นอาคารนี้ ขึ้นมาทางบันไดแล้วก็เดินเข้ามาในห้องนี้ ถ้าจิตไม่อยู่ที่จิต ไม่รู้เรื่อง เดินก็ไม่เห็นอะไร ไม่เห็นว่าอะไรเป็นประตู อะไรเป็นฝา เดินไปก็ชนฝา อันนี้เป็นความจริง
ฉะนั้น เรามีตาที่จะเห็น มีเท้าที่จะเดิน เราเห็นตรงนี้เป็นช่องประตูที่ควรจะเดินเข้าก็เดินเข้ามา ก็เข้ามาโดยสวัสดิภาพ มานั่งที่ที่เหมาะสมที่หาไว้
อันนี้ก็เป็นงานอย่างหนึ่ง เป็นงานอย่างง่ายๆ แต่ว่าถ้าไม่มีจิตหรือไม่ควบคุมจิต จิตไม่ผ่องใสพอสมควร ก็จะไม่สำเร็จ เดินขึ้นมาก็ไม่ถึงที่นี่ ถ้าใครมาบอกว่า ขึ้นไปตรงนั้นแล้วก็เลี้ยวขวา เลี้ยวซ้าย ไม่ทำตาม หรือจิตไม่อยู่กับหลัก ฟังเขาพูดแล้วไม่ได้ยิน หมายความว่า จะเห็นอะไรหรือฟังอะไรต้องใช้จิตที่ผ่องใส ที่มีความที่เรียกว่าสงบพอสมควรที่จะรับสิ่งใดหรือทำอะไร
อันนี้ เวลาไปเรียนรู้ไปฟังธรรมที่วัด ท่านก็บอกว่าต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีศีลนี่ก็หมายความว่าปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่มีสมาธินี่ก็คือจิตที่เราตั้งให้ผ่องใส แล้วปัญญาก็คงจะเกิด ก็จะรู้ว่าทำอะไร ขั้นต่างๆ ต้องมีในระดับต่างๆ ในระดับชีวิตประจำวัน ในระดับที่เรียกว่าปฏิบัติธรรมะ ...
-------------------------------------------------------------------------------------------------
[4] พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตโร และคณะ เฝ้าถวายต้นเทียนพรรษาและเงิน เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐.
เรียบเรียงโดย ณัฐวุฒิ แจ๊สสูงเนิน จากหนังสือ ธรรมะจากพระโอษฐ์