ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2016, 01:53:35 am »ธรรมปฏิบัติ : “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ทรงสอน พุทธศาสนานี้ ปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติอย่างไร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะอันแน่วแน่มั่นคงในบวรพุทธศาสนา โดยได้เสด็จออกทรงพระผนวช ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ในระหว่างนั้นได้ทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ดังที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงเล่าถึงพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระผนวชว่า
“...พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงพระผนวชตามราชประเพณีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธา ที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้เป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่า “หัวใหม่” ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา ฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า “บวชด้วยศรัทธา” เพราะทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธา ประกอบด้วยพระปัญญา และได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด...”
และสมเด็จพระสังฆราช ยังได้ทรงกล่าวถึงพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในทางพุทธศาสนา ว่า
“...ในด้านหน้าที่ราชการนั้น ก็ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางพระพุทธศาสนา ตามราชประเพณีโดยมิได้ขาดตกบกพร่อง เช่น พระราชกรณียกิจเนื่องในเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และในหัวเมือง พระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์แด่พระสงฆ์ในการเอื้ออำนวยแก่การปกครองคณะสงฆ์และเชิดชูผู้ทรงศีลทรงธรรมให้เป็นที่ปรากฏ ตลอดถึงพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ การสั่งสอนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในด้านที่เป็นการส่วนพระองค์นั้น ก็ทรงปฏิบัติพระองค์ยึดมั่นอยู่ในคุณธรรมของพระพุทธศาสนา มีราชธรรม เป็นต้นดังกล่าวแล้ว ทรงศึกษาพระพุทธศาสนา และทรงนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการส่วนพระองค์ในโอกาสต่างๆ และบำรุงพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นจำนวนมากมิได้ขาด...”
นอกจากการทรงสนทนาธรรมกับสมเด็จพระสังฆราชแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนและสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระหลายรูป อาทิ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) วัดราชผาติการาม กทม., หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร, หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู, หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย, หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา, พระอาจารย์แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี, หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสงฆ์สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง, หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่, หลวงปู่ครูบาชัยวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน, หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย, หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี, พระอาจารย์วัน อุตตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จ.สกลนคร, หลวงปู่นำ ชินวโร วัดดอนศาลา จ.พัทลุง, หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี, หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา ฯลฯ
พระองค์ทรงรอบรู้ธรรมะอย่างแตกฉาน ลุ่มลึก ทรงบำเพ็ญสมาธิวิปัสสนาภาวนาอย่างสม่ำเสมอ ดังพระราชดำรัสในโอกาสที่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตาลัย วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2523 ซึ่งมีความบางตอนที่ได้ทรงอรรถาธิบายถึงเรื่องการปฏิบัติในพุทธศาสนา ดังนี้
“...เนื่องจากที่ได้กล่าวว่า ท่านทั้งหลายหวังในบารมี ให้ปกเกล้าบ้านเมืองนั้น ก็เป็นอย่างหนึ่งที่น่าคิด เพราะว่าบ้านเมือง ประกอบด้วยบุคคล และแต่ละบุคคล จะต้องทำด้วยตนเอง ตามหลักของพระพุทธศาสนา แต่ละคนจะต้องการอะไร ก็ต้องการความสุขคือความสงบ และความสุขและความสงบนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยตนเอง
ฉะนั้น ที่จะให้คนอื่นมาปกป้องรักษา ก็เป็นสิ่งที่ยากถ้าตัวเองไม่ทำ อันนี้เป็นข้อที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา และผู้ถือตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนต้องพึ่งตัวเอง มิใช่พึ่งคนอื่น แต่การที่จะอาศัยคนอื่นก็อาศัยได้ โดยดูผู้อื่นที่ปฏิบัติดีชอบ และคอยฟังสิ่งที่ผู้อื่นที่เราเห็นว่าปฏิบัติดีชอบ ได้พูดได้แนะนำ ดังนี้ ก็เป็นสิ่งที่อาศัยผู้อื่นได้ ฉะนั้น ก็จะต้องมีการพิจารณาของตัวเองว่า ผู้นั้นควรเป็นผู้ที่น่าจะดูการปฏิบัติ หรือฟังข้อแนะนำในการปฏิบัติและทำตามหรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้บุคคล ได้บรรลุถึงความสำเร็จความสุขได้...
• การปฏิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เริ่มสนใจก็เริ่มทำได้แล้ว
มาถึงปัญหาของพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งลำบากที่สุด ที่จะเห็นพระพุทธศาสนา และที่จะเห็นประโยชน์ของพระพุทธศาสนา เพราะแต่ละคนก็มีกายและใจของตัว แต่ละคนมีความรู้ หรือปฏิปทาของตัว แล้วแต่ภูมิแต่ขั้น การที่จะปฏิบัติตามพระพุทธศาสนานั้น ย่อมจะเป็นแล้วแต่บุคคล แล้วแต่สภาพของตัว ฐานะนี้ไม่ได้หมายถึงฐานะทางการเงินการทอง หรือความเป็นอยู่ แต่หมายถึงฐานะของจิตของแต่ละคน
ฉะนั้น ถ้าว่าไป พุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ลุ่มลึก ที่ลำบากที่จะสั่งสอน หรือที่จะเรียน เพราะว่าแต่ละคนจะต้องทำตามฐานะของตัว หรือจะว่าได้ว่าพุทธศาสนามีหลายชนิด แต่ละคนก็มีพุทธศาสนาของตัว ฉะนั้น การที่จะสั่งสอน การที่จะชี้แจง การที่จะฟัง การที่จะเรียนพุทธศาสนานั้น จะต้องพยายามที่จะทำด้วยตนเอง
...การปฏิบัตินั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยมากพูดถึงปฏิบัติก็กลัวกัน เพราะว่าปฏิบัตินั้นมีวิธีต่างๆ แล้วก็โดยมากวิธีต่างๆนั้น บรรยายกันมาว่า ต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ ต้องทรมาน ต้องเหนื่อย ต้องเสียเวลามาก ไม่สามารถที่จะปลีกตัวออกมาปฏิบัติ
ความจริงปฏิบัติพระพุทธศาสนาตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่ของยาก แต่ละคนทำได้ทั้งนั้น แต่ว่าก็จะต้องมีความตั้งใจ
เมื่อเราอยากที่จะปฏิบัติธรรม มีความอยากแล้วก็หมายความว่าเรายินดี เราอยากที่จะปฏิบัติ มีข้อนี้เป็นต้น ถ้าเราสนใจพระพุทธศาสนา และปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนา เริ่มสนใจก็เริ่มทำได้แล้ว เพราะว่าคนเราไม่อยากปฏิบัติ ขี้เกียจปฏิบัติ หรือไม่คิดอ่านที่จะปฏิบัติ ก็ย่อมไม่ได้ปฏิบัติ เมื่อไม่ได้ปฏิบัติแล้วความมืดก็ครอบคลุม เพราะว่าไม่ได้เปิดไฟ
• ทรงเปรียบการปฏิบัติเหมือนการเปิดไฟ เมื่อไฟสว่างก็พอใจสบายใจ เรียกว่า “ฉันทะ”
แต่ถ้าเราอยากขึ้นมา อยากและก็เห็นว่าศาสนานี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ก็ย่อมเป็นการเปิดไฟ แม้จะริบหรี่ก็เป็นความสว่างให้เห็น อย่างเช่น เราเข้าไปในห้องที่มืดแล้ว เราก็ไม่รู้จักห้องนั้น ไม่ทราบว่าสวิทช์ไฟอยู่ที่ไหน เรามีไฟฉาย แล้วก็เปิดไฟฉายอันริบหรี่นั้น หรือไม้ขีดไฟที่เป็นแสงสว่าง ไปหาสวิทช์ไฟ ถ้าเราไม่ไปหาสวิทช์ไฟ เราก็ไม่สามารถที่จะเปิดไฟที่อยู่ในห้องนั้น คือ มีหลอดไฟ มีสายไฟ มีสวิทช์ครบถ้วนในห้องนั้น เราไม่สามารถจะพบนอกจากบังเอิญ โดยบังเอิญเราไปแตะสวิทช์ไฟแล้วก็เปิดขึ้นมา แต่ว่าโดยมากก็ต้องทำ
เมื่อหาได้แล้วด้วยไฟริบหรี่เรามีอยู่กับตัว ก็สามารถไปเปิดไฟได้ ไฟริบหรี่นี้คือ การสนใจเบื้องต้น เมื่อเราไปเปิดไฟได้แล้ว ก็จะสว่างขึ้นมา มันสว่าง ไฟที่อยู่ในห้องนั้นอาจจะไม่สว่างเต็มที่ อาจจะมีหลายแห่ง ก็เปิดไฟอันนั้น ก็มีความปีติยินดีแล้ว ก็เป็นอันว่า เราพอใจในการปฏิบัติเช่นนั้น คือเปิดสวิทช์ไฟมันมีความสว่างดี เปิดสว่างดีก็ย่อมมีความพอใจ สบายใจ มีความร่าเริงใจ ความร่าเริงใจนี้ ความสบายใจเบื้องต้นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญของการปฏิบัติพุทธศาสนา ท่านเรียกว่า “ฉันทะ” คือ ความพอใจในการปฏิบัติ มีความพอใจในการค้นคว้า
• ความเพียร ความอดทน ความเอาใจใส่ และทบทวน ทำให้การปฏิบัติก้าวหน้า
เมื่อมีความพอใจในการค้นคว้า เราก็ต้องค้นคว้าต่อไป ไม่ใช่พอใจเพียงแค่นั้น เพราะว่าความสว่าง ความดี ความสุข ความพอใจในการปฏิบัตินั้น ยังมีอีกมาก ก็ต้องเพียรที่จะปฏิบัติงานของพุทธศาสนา อันนี้ก็จะต้องมี “วิริยะ”
วิริยะ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อเริ่มต้นแล้วต้องมีวิริยะ หมายความว่า ต้องเพียร ต้องมีความขยัน “วิริยะ” นี้คู่กับ “ขันติ” คือ ความอดทน บางทีเวลาเราทำงานอะไรก็ตามในทางโลกทางธรรม เราทำงานแล้วเหนื่อย เมื่อเหนื่อยก็ต้องมีความอดทน ในความเหนื่อยนั้นก็ต้องมีความเพียรที่จะปฏิบัติต่อไป
ฉะนั้น พูดไปก็ต้องเห็นว่า ความเพียร กับ ความอดทน นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้งานใดๆ บรรลุผลได้ เมื่อมีความเพียรมีความอดทนแล้ว สิ่งอื่นก็มา แต่ในความเพียร ในความอดทนนี้ ก็ต้องมีการเอาใจใส่ เอาใจใส่นั้นคือ ติดตามอยู่ตลอดเวลาว่า งานของเราไปถึงไหน แล้วก็ไม่ควรจะเผลอ ต้องให้มีการดูติดตาม ไม่ฟุ้งซ่าน
เมื่อปฏิบัติเช่นนั้น ก็ยิ่งก้าวหน้าไปใหญ่ งานต่างๆ ก็จะมีความสำเร็จได้ ไม่ใช่งานทางพุทธศาสนาเท่านั้น งานอื่นๆ งานใดในโลก งานในหน้าที่ หรืองานในทางส่วนตัว งานทุกอย่างนั้น จะก้าวหน้าไปได้โดยดี จะไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะว่าราบรื่นได้ เพราะว่าแม้จะมีอุปสรรค อุปสรรคเหล่านั้นไม่ใช่อุปสรรคที่จะข้ามไม่ได้ ถ้ามีความเพียร ความอดทน ความเอาใจใส่
การปฏิบัติงานจะต้องทบทวนอยู่เสมอ ดูให้ชัดว่างานที่เราทำไปมันไปถึงไหน งานนั้นไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะบางทีถ้ามีความอดทน มีความเพียร และมีความเอาใจใส่ อาจจะเอาใจใส่อย่างไม่ถูกต้องนัก คือ เช่นเดียวกับการเดินทางไปที่ไหน สมัยนี้ต้องแล่นรถ เราก็แล่นรถไปตามทาง มีทางแยกไหน เราก็เห็นว่าทางนี้ถูกต้องแล้ว แต่ว่าแท้จริงเราเลี้ยวผิด อาจจะเป็นได้ เพราะว่าดูทางเป็นเช่นนั้น ก็จะต้องทบทวนอยู่ว่าทางนั้นถูกต้องหรือไม่
...ที่กล่าวมานี้ ก็เป็นทางที่จะให้ได้ปฏิบัติงานของธรรม หรือปฏิบัติพุทธศาสนาในทางที่เรียกว่า “ปฏิบัติ” เริ่มต้นตรงนี้อย่างนี้ และที่ว่านี้ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการปฏิบัติงานทุกอย่าง ไม่ใช่งานของการปฏิบัติธรรม เป็นประโยชน์สำหรับการปฏิบัติงานของตัว ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิง ทั้งผู้ชาย มีประโยชน์ทั้งนั้น ใครมีหน้าที่อะไร มีงานอะไร ถ้าทำตามหลักนี้ ก็มีความสำเร็จแน่ๆ บอกว่าแน่ ไม่ใช่อาจจะ เป็นสิ่งที่แน่ เพราะว่า จิตใจของเราจะได้ปฏิบัติในทางที่ถูก
• เริ่มต้นปฏิบัติด้วยการ “ดูใจ” เพื่อให้เกิดความสงบคือสมาธิ
คราวนี้ก็ยังไม่ได้พูดถึงว่า พุทธศาสนานี้ ปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติอย่างไร เพราะว่าคนที่ศึกษาพระพุทธศาสนา หรือมาตั้งเป็นพุทธสมาคม หรือเป็นกลุ่มศึกษาพุทธศาสนา บางทีก็ยังไม่ทราบว่า การปฏิบัตินั้นเริ่มที่ไหน เพราะที่พูดถึงวิธีการที่จะปฏิบัติได้นั้น ก็ไม่ได้บอกว่าเริ่มปฏิบัติตรงไหน นอกจากมาเปรียบเทียบว่า เข้าไปหาสวิทช์ไฟ เพื่อจะเปิดให้ความสว่าง และเมื่อมีความสว่างแล้ว ก็ดูทางได้ และไปดูทางที่จะทำให้สว่างยิ่งขึ้น และสวิทช์ไฟนั้นอยู่ที่ไหน คือ สวิทช์ไฟนั้น เราเอาแสงไฟเท่าที่ริบหรี่นั้นไปฉาย แล้วก็ไปเปิดสวิทช์ไฟ สวิทช์ไฟนี้คืออะไร เพราะว่า ท่านพูดอยู่เสมอว่า พระพุทธศาสนานั้น เมื่อได้ปัญญาก็มีความสว่าง เมื่อปฏิบัติธรรมก็ได้ปัญญา ได้แสงสว่าง ปัญญานั้นก็ดูจะเป็นสวิทช์ไฟ
แต่ถ้าดูๆไป ปัญญานี้ปัญญาอะไร ก็ปัญญาในธรรมนี้ ปัญญาในธรรมไม่ใช่สวิทช์ไฟนั้นจะพบอย่างไร แต่การที่จะบอกว่า สวิทช์ไฟคืออะไรนั้น ก็คือใจเรา ใจหรือจิต จิตหรือใจก็ได้ แล้วบางทีท่านก็เรียกว่าจิต บางท่านก็เรียกว่าใจ บางท่านก็บอกว่าจิตคือใจ บางท่านก็บอกว่าใจคือจิต บางท่านก็บอกว่าจิตไม่ใช่ใจ หรือบางท่านก็บอกว่าจิตคือเป็นอาการของใจ
อาการของใจนี้แปลว่าอะไร ใจเป็นสิ่งที่เรามีทุกคน เป็นสิ่งที่เราไม่เห็น เป็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น แต่ว่าใจนี้จะเป็นผู้บงการการกระทำของเราทั้งหลาย จึงต้องพยายามดู แต่ถ้าใจนี้เราไม่ดูก็ไม่เห็น ถ้าดูด้วยตา ด้วยตาที่มองดูภูมิประเทศดูใครต่อใครนั้น ดูตึกดูอาคารนั้น ตานั้นจะไม่เห็น ท่านก็เรียกว่าตาใจ คือความรู้ ตาใจนั้นก็คือ เป็นสิ่งที่จะใช้สำหรับได้ปัญญา ได้เห็นแสงสว่าง ปัญญา
คราวนี้เราก็เจอแล้วว่า ส่วนหนึ่งของสวิทช์ไฟ หรือส่วนหนึ่งของกลไก ที่จะทำให้มีความสว่างคือใจ ใจนี้เมื่ออยากทราบ ก็จะต้องปฏิบัติหลายอย่าง ตอนแรกเราจะไม่สนใจ เพราะว่าเมื่อเราดูไป เราก็เกิดความฟุ้งซ่าน เราเกิดความรู้สึกโลภ รู้สึกอาจจะโกรธด้วยซ้ำ จึงทำให้มีสิ่งที่มาปิดคือ ปิดในสิ่งที่ท่านเรียกว่า “โมหะ” คือ ความโง่ ความไม่รู้ หรือรู้ไม่จริง มันปิดบังใจ และปิดบังความจริง
ฉะนั้น จะต้องหาทางที่จะเปิด เปิดม่านนั้น เมื่อเปิดม่านนั้น ก็จะต้องพยายามที่จะทำให้ใจนี้สงบ อันนี้ก็มาถึงเรียกว่า สมถะ หรือ สมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้น่ากลัวเท่าที่ว่า บางคนก็บอกว่า การนั่งสมาธินี้ ระวังดีๆ อาจจะเป็นบ้าก็ได้ อาจจะแย่ ลำบาก ไม่มีทางที่จะทำ น่ากลัว
แต่ว่าสมาธินี้ก็ต้องเริ่มอย่างเบาๆก่อน คือว่าจะต้องมีความตั้งใจ ให้จิตใจนี้ไม่ไปเกาะเกี่ยวกับอะไรก็ตาม หมายความว่า จะต้องเริ่มต้นด้วยการปัดกวาดสิ่งที่เป็นม่าน หรือจะเป็นสิ่งที่คลุม ไม่ทำให้สงบได้ ไม่ทำให้เกิดความนิ่งแน่ได้
การที่จะให้เกิดความสงบคือสมาธินี้ จึงต้องพยายามดูให้เห็นว่า อะไรมาปิดบัง เมื่อถอนสิ่งที่ปิดบังนั้น ทันใดก็ได้สมาธิ
โดยมากเราจะทำอะไร เราก็คิดถึงอะไรสารพัดไม่แน่ คือหมายความว่า เราไปติดเรื่องอื่น อย่างสมมติว่าเราจะเดินไปไหน ถ้าสมมติว่าเราลุกขึ้นยืน แล้วก็เราอยากออกจากห้องโถงนี้ เราไม่เห็นประตู เราไม่เห็นอะไร เราจะต้องถอนสิ่งที่อยู่ข้างหน้าตาเราก่อน หันไปในทางที่จะเป็นสิ่งที่เหมาะสม ในการกระทำคือ ประตู
สมมติว่าเราดูฝาผนัง หรือดูม่าน หรือดูเพดาน สิ่งเหล่านั้นมันปิดบัง มันไม่เห็นประตู เราก็จะต้องเอาจิตใจของเรา เอาออกไปจากฝาผนัง หรือออกจากเพดาน หรือออกจากม่าน เอาไปไว้ที่ประตู หมายความว่า ขั้นแรกเราต้องการประตู เราก็จะต้องทิ้งฝาผนัง หรือเพดาน หรือม่านที่เรากำลังดู หมายความว่า สิ่งที่กีดขวางไม่ให้สามารถที่จะได้เห็นสิ่งที่เราต้องการ
ถ้าเราบอกว่าเราดูฝาผนัง ดูเพดานบ้าง ดูม่านบ้าง แล้วก็เราไม่มีทางที่จะดูประตู แต่ว่าถ้าเราตัดสินใจปั๊บว่า ตอนนี้ไม่ใช่ภาระของเราที่จะดูเพดาน ดูฝาผนัง หรือดูอะไร เป็นภาระที่จะไปหาประตู เราก็จะถอนออกมาจากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ที่กำลังฟุ้งซ่านอยู่
ส่วนมากเราก็มีความชอบอะไร ก็เรียกว่า “กามราคะ” มี “โทสะ” คือ พยาบาท หรือบางทีก็ไม่ใช่โทสะ หรือราคะอะไร มีความฟุ้งซ่านแกว่งไกว ไปที่นั่นที่นี่ เดี๋ยวอันนี้ก็ไม่เอา อันโน้นก็ไม่เอา มันไม่มีทางที่จะมีความสงบ หรือบางทีเราก็พยายามหาความสงบ เราไม่มีความเพียรพอ เรามันง่วง เรามันหาว บางทีเราก็เกิดมีสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถ มันย่อหย่อน บางทีก็ไม่เชื่อว่ามีประตูด้วยซ้ำ ต้องปัดกวาดความลังเลสงสัยอะไรต่างๆ เหล่านี้
สิ่งที่ไม่ดีคือ สิ่งที่ทำให้ฟุ้งซ่าน ทำให้เราไม่สามารถที่จะทำใจให้นิ่งๆ เพราะว่ามีสิ่งที่มาปิดบังดังนี้ แต่ถ้าเราพยายามที่จะดูว่ามีสิ่งที่ปิด และก็บอกว่า เอา..ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่อง ไม่ใช่เวลาที่จะเอาสิ่งมาปิดบัง ถอนปิดบัง เหล่านี้ เราก็ได้สมาธิ ได้ทันทีเลย นี่เรียกว่า สมาธิ
• จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม อยู่ที่ตัวสมาธินี้ ซึ่งเรามีทุกคน
สมาธินั้นเราอาจจะได้เป็นเวลาเพียงครึ่งวินาที มันก็เป็นสมาธิแล้ว แต่ว่าเป็นสมาธิที่อ่อนมาก แต่ก็เป็นสมาธิข้อสำคัญที่จะต้องได้ อันนี้ให้เห็นว่าสมาธิคืออะไร
โดยมากคนเราเมื่อเป็นเด็ก เป็นนักเรียน ท่านก็สอน คือหมายความว่า ครูบาอาจารย์หรือพ่อแม่ก็สอนให้ตั้งจิตตั้งใจเรียน ก็หมายความว่า ทำสมาธินั้นเอง แล้วเราก็เรียนว่า ถ้าเราตั้งใจในสิ่งนั้นๆ ให้ดีมันก็ทำได้ เรียกว่ามีสมาธิ เพราะว่าจิตเราไปเพ่งอยู่อันเดียว
แต่คนเราถ้าไม่มีสมาธิเสียเลย หมายความว่า เป็นคนฟุ้งซ่านจริงๆ เป็นคนที่ไม่ได้เรื่อง จะเรียนอะไรไม่ได้ จะพูดก็ไม่ได้ ไม่มีทางอะไรเลย คือว่าขึ้นชื่อว่าเป็นคนไม่มีสมาธิ ไม่ใช่ว่าคนเรา เราเสียใจเหลือเกินว่า เรามันขาดสมาธิ ถ้าคิดว่าเราขาดสมาธิ เท่ากับเรามีสมาธิอยู่แล้ว เพราะรู้ว่ามีคำว่าสมาธิ เราได้เรียนรู้แล้ว ถ้าไม่มีสมาธิในตัวเลยหมายความว่า ไม่มีความดีเลยในตัว ก็ไม่สามารถที่แม้จะคิด จะมีคำว่าสมาธิ
ฉะนั้น จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่ตัวสมาธินี้ ซึ่งเรามีทุกคน มีแต่ว่าให้เห็นว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม คือ จากสมาธิที่เรามีธรรมดาๆ ที่เมื่อเด็กๆ ครูบาอาจารย์พ่อแม่ได้สั่งสอนบอกว่าต้องตั้งใจ แต่นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของสมาธิ เพราะเหตุว่า การที่จะปัดกวาดสิ่งที่ปิดกั้นสมาธิที่ท่านเรียกว่า “นิวรณ์” การปิดกั้นนี้ เราจะเอาออก มันต้องมีสมาธิเพื่อให้มีสมาธิ อันนี้พวกเราที่อยากจะศึกษาสมาธิ และศึกษาการปฏิบัติธรรมติดอยู่ตรงนี้
เพราะเราไปหาอาจารย์ ท่านบอกว่าต้องทำสมาธิ มีนิวรณ์ 5 อย่างนั้นๆ มีสิ่งที่ปิดกั้น การที่จะทำให้สิ่งที่ปิดกั้นนั้นออก จะต้องตั้งใจ ต้องมีสมาธิเพื่อจะเอาเครื่องปิดกั้นนั้นออก เราก็งง โดยมากไม่มีที่ไหนที่จะสอนให้ทำสมาธิโดยได้บอกว่า ให้เอาเครื่องปิดกั้นนี้ออก บอกว่าต้องระงับนิวรณ์ทั้งสิ้น ก็หมายความว่า การระงับนิวรณ์นี้ต้องใช้อะไร ก็ต้องใช้สมาธิ จะทำอย่างไร ไก่มาก่อนไข่หรือไข่มาก่อนไก่
ความจริงใช้สมาธิระงับนิวรณ์ จริงๆท่านไม่ได้พูดผิด แต่ว่าเราไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจว่าเราต้องการสมาธิ แล้วเราต้องใช้สมาธิ เพื่อระงับนิวรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปิดกั้นสมาธิ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่ว่าถ้าเข้าใจแล้วว่า สมาธิเรามีอยู่ทุกคน มิฉะนั้น เราไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
ถ้าเราไม่มีสมาธิ หรือไม่มีทุนเดิม เราไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีความฉลาดมากหรือน้อยก็แล้วแต่ แต่ว่ามีความฉลาด มีความดี มีวาสนา ทุกคนมีมากหรือน้อย เท่านั้นเอง หรือดี หรือชั่ว เท่านั้นเอง
แต่เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งแล้ว เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราทำสมาธิได้ เพราะเหตุว่าเราได้ทำมาแล้ว เราทำมา ถึงเกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ก็มีความดีอยู่ในตัว ความชั่วมี แล้วก็โดยมากใครๆก็ว่า มนุษย์มีกิเลส มีความชั่วเลวทรามต่างๆ ต้องขัดเกลา เราก็หัวหดเลย แต่ว่าความจริงไม่เป็นเช่นนั้น คือความจริงทั้งหมดที่ครบถ้วนไม่เป็นเช่นนั้น
ความจริงเรามีความเลวทรามชั่วในตัวทุกคน มากหรือน้อย โดยมากก็มาก และเรามีความดีทุกคนมากหรือน้อย แต่โดยมากก็น้อย อย่างไรก็ตาม มีน้อยๆ นี่มันเป็นทุนเดิมทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าเราไม่มี ทุกคนสามารถที่จะปฏิบัติงานของธรรมนี้ได้ทุกๆคน ไม่เว้นสักคน แต่ว่าจะต้องหาหรือขุดความดีที่เรามีเป็นทุนเดิมนี้ มาทำให้เกิดความดีเพิ่มขึ้น ฉะนั้น ก็ใช้สมาธิที่มีอยู่เดิม อาจจะสมาธิแย่ๆก็ได้ แต่ว่าเป็นสมาธิ
สมาธิมากระตุ้นทำให้เกิดสมาธิที่ดีขึ้น ฉะนั้น สมาธิที่ดีขึ้นนั้นก็มีได้ทุกคน ก็อาศัยความเพียร ความอดทน ที่อาจมีสมาธินี้ ก็เปรียบเทียบได้กับไฟฉายเล็กๆ หรือไม้ขีดไฟริบหรี่ ไฟริบหรี่นั้นก็สามารถที่จะใช้อันนี้สำหรับไปทำให้สมาธิใหญ่ขึ้น ดีขึ้น อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้สมาธิ
• เราทำสมาธิให้นิ่ง จิตใจให้นิ่ง ก็จะมาเห็นใจของเรา ใจจะไม่เป็นสิ่งที่ลึกลับ
สมาธินี้ถ้าเราเอามาใช้ คือสร้างสมาธิให้ดีขึ้นหน่อย แล้วเอามาใช้ ไม่ต้องทำสมาธิให้หนักแน่นมากนัก แต่ว่าเป็นสมาธิที่ควบคุมได้ เราจะมาเห็นใจ เราทำสมาธิให้นิ่ง จิตใจให้นิ่ง ก็จะมาเห็นใจของเรา ใจจะไม่เป็นสิ่งที่ลึกลับ ใจจะเป็นสิ่งที่เปิดเผย คือเราเปิดเผยตัวเราเอง
ถ้ากลัวว่าคนอื่นจะมาเห็นใจเรา จะมาทะลุทะลวงเข้ามาในใจเรา ไม่ต้องกลัว เราทะลุทะลวงเข้าในใจของตัวเราเอง ดูใจนี้ก็จะเห็นได้ ต่อเมื่อใจนั้นได้รับ ที่เรียกว่า “อารมณ์” คือ สิ่งที่เราเห็นได้ด้วยตา ได้ฟังด้วยหู เป็นต้น เวลาเข้ามาแล้วเราจะเห็นว่าใจนี้ อันนี้พูดอย่างลับ ใจนี้จะมีความรู้สึกอย่างไร คือ ตัวใจนี้เป็นรูปร่างอย่างไร ใจนี้จะชอบ ชอบใจหรือไม่ชอบใจ อันนี้ใช้สมาธิที่ทำให้ใจนี้นิ่งก่อน แล้วก็เมื่อมีอารมณ์ ซึ่งอารมณ์เข้ามาทุกเมื่อตลอดเวลา อารมณ์เข้ามา เรากั้นอารมณ์นั้นไว้ เท่าที่ความสามารถด้วยการระงับนิวรณ์ ใจนั้นจะกระเพื่อม ถ้าเปรียบเทียบได้ จะเห็น จะเห็นในใจแต่ละคน
ถ้าคิดจริงๆ ดูว่า ใจนี้เป็นน้ำนิ่ง สมมติว่าเราเอาน้ำมาใส่ ไม่ต้องมาก เอาน้ำมาใส่ชามอ่างก็ได้ กลับบ้านไปหาชามอ่าง เอาน้ำมาใส่ให้เต็ม เอาชามอ่างนั้นมาวางไว้แห่งหนึ่ง แล้วน้ำนั้นจะนิ่ง ทิ้งไว้ให้นิ่งสักครู่ คราวนี้เปรียบเทียบกับใจ ใจหรือน้ำนิ่งนั้นแล้วเราก็ไปหาอะไรอย่างหนึ่ง จะเป็นก้อนกรวด หรือจะเป็นอะไรก็ตาม โยนลงไป น้ำนั้นเป็นอย่างไร น้ำนั้นจะกระเพื่อม หรือชามอ่างนั้นวางไว้ เราไปผลัก น้ำจะเป็นอย่างไร น้ำจะกระเพื่อม เราจะเห็นน้ำกระเพื่อม กระเพื่อมอย่างไร เราก็เห็น
ถ้าเราโยนอะไรเล็กๆลงไป น้ำจะกระเพื่อมเหมือนเป็นคลื่นเล็กๆ เสร็จแล้วถ้าเราผลักเอา มันจะกระเพื่อมๆไปอีกอย่าง ถ้าเราเอาน้ำใส่เต็มอ่าง ชามอ่าง นั้นอาจจะทำให้น้ำกระฉอกออกมา หรือถ้าโยนอะไรที่ใหญ่ เราโยนลงไปน้ำต้องกระเซ็นออกมา ทำให้โต๊ะหรืออะไรที่เราวางไว้เปียกหมด ถ้าเราผลักน้ำก็อาจจะต้องหก นี่แหละใจ
เราจะเห็นได้ว่า ใจของเรา เมื่อได้รับการกระทบอย่างไรก็ตาม ด้วยอารมณ์ใดก็ตาม ใจนั้นจะกระเพื่อม คือ ใจนั้นจะเหมือนน้ำ ใจนั้นจะมีคลื่น ใจนั้นจะทำให้มีความเคลื่อนไหว เราก็เห็นได้ ถ้าใจนั้นโดนอย่างแรง ก็อาจจะหกอาจจะออกมา หมายความว่า สมมติว่าเราอยู่เฉยๆ ใครเข้ามาตีหัว หรือต่อย เราก็โกรธ แล้วก็ต่อยตอบไปเลย นี่ใจมันหกออกมา เราก็ดู
ในการดูใจนี้ ก็เป็นการดูปฏิกิริยาของใจ คราวนี้ก็ได้ถึงเห็นใจแล้ว ใจที่เคลื่อนไหว เคลื่อนไหวต่างๆ และก็ใจนี้ ทำให้เรามีความสุข มีความทุกข์ ใจนี้เอง เมื่อมีความสุข บางทีก็ลิงโลด ดีใจมาก อาจจะทำให้เสียก็ได้ กระโดดโลดเต้น หกคะเมนลง ขาหักได้ เป็นสิ่งธรรมดา คือ หมายความว่า แม้แต่มีความสุข ก็ทำให้มีความทุกข์ ต่อไปได้
• การศึกษาพุทธศาสนา คือการศึกษาอริยสัจ
พุทธศาสนาศึกษาอะไร ก็ศึกษาความทุกข์นี่เอง ความทุกข์เป็นสิ่งที่คนไม่ชอบ จึงต้องการพ้นทุกข์ พ้นทุกข์สำหรับตัวเองแต่ละคนๆ แต่ว่าการให้พ้นทุกข์นี้ยากมาก เพราะว่ามีความรู้สึกว่า ไม่เป็นทุกข์ มีความรู้สึกว่าเป็นสุข อยากได้ อยากมีความสุข แล้วก็ใครมาทำให้เราเป็นทุกข์ หรือแม้แต่มีความสุข แต่หากน้อยลงไป ก็ทำให้เราโกรธ ทำให้เราไม่พอใจ แล้วก็เดือดร้อน ฟุ้งซ่าน แล้วก็ไม่มีความสุข แล้วก็มีความทุกข์
ฉะนั้น การศึกษาพระพุทธศาสนา ก็คือการศึกษาว่า ทุกข์นี้มาจากไหน ทำไมเราไม่ชอบความทุกข์ เราเป็นทุกข์ในทุกข์ เราก็จะต้องดูทุกข์นี้เป็นอะไร ให้เข้าใจว่าเป็นอะไร แล้วเราก็จะต้องเห็นว่า ทุกข์นี้มีเหตุผล มีต้นเหตุ เมื่อมีต้นเหตุแล้ว ก็ต้องดูว่า เราระงับทุกข์ได้ตรงไหน บอกว่ามีทุกข์ ต้องบรรเทาทุกข์ ความจริงทุกข์นั้นบรรเทาไม่ได้ ต้องปล่อยให้ไปตามเรื่องของมัน แล้วก็เสร็จ แล้วมันก็หายไป เพราะว่ามีทุกข์ มันก็ไม่มี มันก็หมดไปได้ สุขมี สุขก็หมดไปได้
เหตุนี้ การที่พระพุทธศาสนา หรือพระพุทธเจ้าให้เราศึกษา ก็คือศึกษาให้เห็นว่า ทุกข์นั้นมันมาจากไหน ให้รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร เป็นอะไร แล้วก็ทุกข์มาจากไหน จะเห็นว่าทุกข์ ก็ต้องมีการไม่ทุกข์ก็ได้ เมื่อมีการไม่ทุกข์ ก็มีการหมดทุกข์ได้ มีการหมดทุกข์ได้แล้ว ก็เห็นได้ว่ามีทางจะหมดทุกข์ อันนี้ท่านก็เรียกว่า “อริยสัจ”
ฉะนั้น การศึกษาพุทธศาสนา ก็คือ การศึกษาอริยสัจนั้นเอง แต่ก่อนที่จะศึกษาอริยสัจ หรือได้ทราบอริยสัจ ก็ย่อมต้องดูกลไกของการศึกษาพระพุทธศาสนา เข้าใจว่าจะต้องเริ่มจากที่ได้กล่าวเมื่อตะกี้นี้ คือ จุดเริ่มต้น คือ ดูใจด้วยเครื่องมือที่มี คือ สมาธิ แล้วก็ในการนี้ ในตอนต้นนั้น ก็ต้องมีความพอใจในการที่จะปฏิบัติ คือ ชอบใจ มีฉันทะ แล้วก็ความเพียรในการทำ มีความจดจ่อในการทำ มีความสำรวจในการทำ คือ ได้ศึกษาอริยสัจ และเข้าใจในอริยสัจ
• การศึกษาพระพุทธศาสนา ต้องทำด้วยความสุจริต
การศึกษาพระพุทธศาสนานี้ เป็นสิ่งที่ไม่ยาก ถ้าจิตใจจดจ่อ ถ้ามีความตั้งใจจริง และมีความซึ่งเรียกกันทุกคนว่า “ความสุจริต” ทุกคนต้องสุจริต ถ้าทุจริตแล้วไม่มีทาง เพราะว่าไปในทางที่ผิดทุกครั้ง ไปในทางที่คิดว่าดี คิดว่าสะดวก แต่ว่ามืดมนไปในทางที่ผิดทั้งนั้น
ฉะนั้น ต้องมีความสุจริต เวลาให้โอวาทกับใคร หรือท่านผู้ใหญ่ให้โอวาทกับผู้อื่น ก็ต้องพูดว่าขอให้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต วางตัวด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทุจริต อันนี้ก็เพื่อให้งานของส่วนราชการ หรือส่วนงานนั้นดำเนินไปด้วยดี เพราะว่าถ้าทุจริตแล้วก็พัง แต่ว่าการงานของพระพุทธศาสนา เป็นการงานของแต่ละคน เป็นส่วนตัวแท้ๆ ก็ต้องทำด้วยความสุจริตเหมือนกัน ถ้าไม่ทำด้วยความสุจริตแล้ว ตัวเองก็เท่ากับเอาก้อนหินมาถ่วงที่คอ แล้วโยนลงไปในนรก
...พูดมานานก็เพราะว่า พุทธศาสนานี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องสนใจ เป็นสิ่งที่ทุกคนจะได้ประโยชน์ ถ้าเข้าในทางที่ถูก และเป็นสิ่งที่ไม่ยากที่จะปฏิบัติ
พูดว่าไม่ยากในการปฏิบัติ ไม่น่าที่จะพูดนาน ถ้าเป็นสิ่งที่ง่ายๆ แต่ว่าจะง่ายถ้าตั้งจิตให้ถูกที่ถูกทาง ด้วยความเพียร และด้วยความจดจ่อ ด้วยความรู้รอบคอบ คือ การสำรวจให้ดี ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่ยาก ถ้าได้พูดให้ยาวก็เพราะว่า สิ่งที่ง่ายนี้ ทุกคนอาจจะยังไม่เห็นหรือเห็นยาก เห็นยากในสิ่งที่ง่ายจึงต้องพูดยาว แต่ถ้าทุกคนเห็นสิ่งที่ง่ายแล้วก็ไม่ต้องพูดยาว
ถ้าสมมติว่า ทุกคนเห็นว่าง่ายจริงๆ หมายความว่า เห็นส่วนที่ง่าย จะพูดได้สั้นมาก คือ ท่านทั้งหลายขอให้มีความเพียรในการปฏิบัติจิตที่ถูกต้องที่ดี อันนี้ก็หมด พูดแค่นี้ก็พอ ไม่ต้องพูดอื่น หรือแม้จะบอกว่า ถ้าพูดอย่างนี้ก็ยังยาว ถ้าท่านทั้งหลายมาแล้วก็รู้ว่า ทุกคนรู้ว่าง่ายแล้วรู้จริง ไม่ใช่รู้เก๋ๆเฉยๆ รู้จริงว่าง่าย ซึ่งง่าย บอกว่าสวัสดีเท่านั้นเองก็พอ ไม่ต้องมานั่ง มายืนให้เมื่อย ไม่ต้องมาพูดให้คอแห้งเปล่าๆ ก็เพียงสวัสดี เพียงว่าปฏิบัติดีชอบก็พอ แต่มันยากที่ว่าไม่เห็นว่าง่าย
ฉะนั้น ในที่นี้ ก็พูดเกินไป พูดมากไป ก็จะเป็นอันตรายเหมือนกัน เพราะว่า อาจจะมีคนคัดค้านก็ได้ในคำพูดที่พูดออกไป ซึ่งอาจจะดูเหมือนว่าเป็นทฤษฎี ความจริงไม่ใช่ทฤษฎีแหวกแนวอะไร เป็นส่วนหนึ่งของการสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแท้ๆ ไม่ใช่สิ่งที่คิดค้นขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐาน
• ขอให้ได้ไปปฏิบัติแต่ละคน ในจิตใจของแต่ละคน
ถ้าท่านทั้งหลายมาวันนี้มาให้พร คือ ตามที่บอกว่าเป็นทางการว่า มาให้พร ในโอกาสวันเกิดที่ผ่านมาแล้วเมื่อเร็วๆนี้ ท่านมาที่นี่ แล้วท่านก็ต้องนั่งอยู่นาน แต่ก็ขอขอบใจที่ท่านมาด้วยความปรารถนาดี และดีใจมากถ้าทุกคนที่อยู่ในกลุ่มสมาคม หรือชมรม หรือชุมนุม ที่จะศึกษาพุทธศาสนา จะไปคิดทบทวนหน้าที่ของกลุ่มต่างๆ ดังกล่าวมานี้ และหน้าที่ของแต่ละคนที่ว่า ไม่ใช่ว่าจะบอกว่าจะเผยแพร่พระพุทธศาสนา สั่งสอนพระพุทธศาสนา ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ขอให้ได้ไปปฏิบัติแต่ละคน ในจิตใจของแต่ละคนและทุกคน จะเป็นศาสนาใดก็ตามในประเทศไทย ก็จะได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติของท่าน คือว่าเป็นประโยชน์ผู้อื่น ในการปฏิบัติประโยชน์ของตน
ฉะนั้น ถ้าทุกคนได้ปฏิบัติประโยชน์ของตนอย่างแท้จริง อย่างจริงๆ ไม่ใช่เบี่ยงบ่ายไปในทางทุจริต ทำจริงๆในประโยชน์ของตน ของธรรมของตัว หรือของโลกของตัว เป็นอันว่าได้ประโยชน์แล้ว สำหรับทุกคนในโลก ...เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นทั้งหมด เพราะว่าแผ่ความดี แผ่รัศมี เช่นเดียวกับที่เราว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ท่านตรัสรู้แล้วก็แผ่รัศมีออกมา เราได้รับทั้งนั้น แม้จะเป็นคนที่ไม่ใช่พุทธศาสนา ก็ได้รับประโยชน์ของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า...”
(หมายเหตุ : เรื่องนี้เคยลงตีพิมพ์ในนิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 85 เดือนธันวาคม 2550 เป็นเวลา 9 ปีมาแล้ว แต่กองงบรรณาธิการเห็นว่า พระบรมราโชวาทนี้จะเป็นประโยชน์อันสูงสุดที่พุทธศาสนิกชนพึงได้รับ และปฏิบัติตามโดยทั่วกัน เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 191 พฤศจิกายน 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
จาก http://astv.mobi/A5rIiTf