ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2016, 03:01:53 am »เจาะประเด็น Special : วง อ.ส.วันศุกร์ สร้างสุขสู่พสกนิกร
นอกจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระปรีชาสามารถในการแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับพสกนิกรแล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังกึกก้องอยู่ในใจชาวไทยทุกคน คือ เสียงเพลงพระราชนิพนธ์ ที่แสดงถึงพระอัจริยภาพทางดนตรีของพระองค์ท่าน
เจาะประเด็นสเปเชียลวันนี้ เราจะไปย้อนรอยวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงดนตรีที่ในหลวงทรงร่วมก่อตั้งขึ้น และได้รวบรวมนักดนตรีสุดยอดฝีมือไว้ สิ่งที่สร้างความปลื้มปิติให้กับนักดนตรีวงนี้ คือ การที่ได้มีโอกาสร่วมบรรเลงดนตรีกับพระองค์ท่าน ถือเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต และนี่คืออีกความสุข สู่พสกนิกรชาวไทย
วงดนตรี อส.วันศุกร์ หรือ อัมพรสถานวันศุกร์ เป็นวงดนตรีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดตั้งขึ้นหลังจากที่พระองค์เสด็จนิวัติประเทศไทยในปี 2494 แล้วไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ในครั้งนั้น พระองค์ทรงรวบรวมพระประยูรญาติ และคนสนิทมาเล่นดนตรีขับขาน จึงทรงประทานชื่อว่า"วงลายคราม" แต่ภายหลังนักดนตรีได้ชราภาพ และเสียชีวิตลง จึงรับสั่งให้นายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ซึ่งปัจจุบันเป็นศิลปินแห่งชาติ จัดหานักดนตรีมาเพิ่มเติม พระราชทานชื่อวงใหม่เป็น "วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์"
เจาะประเด็นสเปเชียลลงพื้นที่ไปยังบ้านเลขที่ 51 ย่านลาดพร้าว ไปพบกับลูกชายของนายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ชื่อ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ ซึ่งเป็นนักดนตรีที่อายุน้อยที่สุด
อาจารย์ภาธร เล่าย้อนความประทับใจว่า ตนเองได้ติดตามพ่อไปซ้อมดนตรีในทุกๆวันศุกร์ ซึ่งตอนนั้นอายุราว 6 ขวบ ในสมัยเป็นเด็กยังไม่เข้าใจว่า พระองค์ท่านคือใคร แต่รู้ว่าพระองค์ท่านต้องเป็นผู้ที่พิเศษมากๆเหนือสิ่งอื่นใด เพราะพ่อมักจะสอนให้ตนซ้อมกราบพระบาทอยู่บ่อยๆจนอายุราว 10 ขวบ ตนจึงเริ่มเล่นอิเล็กโทน เป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก
หลังจากนั้นมีอยู่วันนึงได้เห็นพระองค์ท่านทรงเครื่องดนตรีแซกโซโฟน ทันทีที่ได้ยินเสียงเพลงก็รู้สึกว่าทำไมช่างมีความไพเราะขนาดนี้ จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้ตนหันมาหัดเล่นแซกโซโฟนเป็นเครื่องดนตรีหลักและหมั่นฝึกฝนฝีมือมาตลอด โดยเฉพาะเพลงพระราชนิพนธ์
อาจารย์ภาธร เล่าต่อว่า หลังจากนั้นก็ได้ฝึกฝนเล่นแซกโซโฟนมาตลอด พอพ่อเห็นว่ามีแวว เล่นได้ดีจึงพาไปถวายตัวเพื่อรับใช้ในหลวง ตอนนั้นรู้สึกดีใจมากๆที่ได้เข้าเฝ้า ไปเป่าแซกโซโฟนถวายพระองค์ท่าน พอเล่นจบท่านก็ทรงตรัสให้ร่วมเล่นในวง เพื่อทดแทนนักดนตรีรุ่นเก่าที่มีอายุมากแล้ว ตนจึงได้เป็นสมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ ตั้งแต่อายุได้ 14 ปี ถือเป็นนักดนตรีอายุน้อยที่สุด
อาจารย์ภาธร ยังเล่าความประทับใจต่ออีกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี ไม่แพ้นักดนตรีระดับโลก ทรงเครื่องดนตรีได้หลายประเภท แต่ที่ทรงโปรดปรานมากที่สุดคือ "แซกโซโฟน" เป็นบทเพลงในแนวแจ๊ส หวานทุ้ม นุ่มนวล ทุกครั้งที่ทรงดนตรีจะสังเกตเห็นว่า พระพักตร์ของท่านเปี่ยมไปด้วยความสุขและความสุขนี้ก็ถูกส่งไปยังเหล่าพสกนิกรด้วยเช่นกัน มาถึงวันนี้ ยากที่จะทำใจกับความพลิกผันที่เกิดขึ้น แต่ตนก็จะพยายามสานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ท่านต่อไป
คุณผู้ชมคะ อีกหนึ่งนักดนตรีที่เคยได้ถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ นายอนิรุทธิ์ ทินกร ณ อยุธยา ซึ่งตอนนี้ ท่านอายุได้ 67 ปี เล่าว่า มีโอกาสเข้าร่วมวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ มาตั้งแต่ปี 2515 รับหน้าที่เป็นมือกีต้าร์ ได้มาร่วมวงดนตรีนี้ เพราะตามพ่อและพี่ชายมา
ก่อนหน้านี้คุณพ่อคือ นายอุทิตต์ ทินกร ณ อยุธยา และพี่ชาย คือ นายธรรมรักษ์ ทินกร ณ อยุธยา เคยเป็นสมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ หรือวงลายคราม ก่อนหน้านี้คุณพ่อได้พาตนไปเข้าเฝ้าพระองค์ท่าน เพื่อขอถวายงานด้านดนตรี โชคดีที่ตนได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในวง เล่นเครื่องดนตรีทรอมโบน
ภาพซึ่งเป็นที่จดจำของพระองค์ท่าน คือ พระอัจฉริยภาพด้านดนตรีที่ยากจะหาผู้ใดเทียบเท่า ทรงสอนตนเล่นกีต้าร์เป็นการส่วนพระองค์แบบไม่ถือตัว ทั้งดนตรีแนวแจ๊ส แนวคลาสสิคและทั่วไป และในทุกครั้งที่เข้าถวายงานท่านที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน พระองค์ท่านจะทรงร่วมเล่นดนตรีด้วย โดยจะทรงแย้มพระสรวลตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้ว่าพระองค์ท่านทรงห่วงใยคนไทยทั้งประเทศ คือ ในช่วงเวลาพักจากการเล่นดนตรี พระองค์จะไม่เคยหยุดพัก แต่จะนำแผนงานที่ได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชนมาถ่ายทอดให้สมาชิกในวงรับฟัง ด้วยพระพักตร์ที่จริงจัง มุ่งมั่น และจะตรัสเสมอว่า ต้องหาวิธีที่ทำให้ประชาชนของท่านอยู่อย่างร่มเย็น เป็นสุข เพราะทุกข์ของประชาชน ก็คือทุกข์ของพระองค์ท่านด้วยเช่นกัน
สิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกคนต่างซาบซึ้ง ล้วนภูมิใจที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ "พระมหากษัตริย์ ที่ทรงงานหนัก ตรากตรำเพื่อประชาชน" ครั้งหนึ่งในชีวิต ตนเคยป่วยเป็นโรคหัวใจต้องทำบอลลูน ปลาบปลื้มสูงสุดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่าน ให้เข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ก่อนจะเข้าไปรักษาตัวได้มีโอกาสเข้าเฝ้า พระองค์ท่านตรงตรัสว่า "กลัวไหม ไม่ต้องกลัวนะ เคยทำมาแล้วนี่ สบายมาก" จากนั้น น้ำตาแห่งความตื้นตัน ก็ไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว พรประเสริฐในวันนั้นทำให้ตนมีกำลังใจและมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้
ถึงแม้วันนี้พระองค์ท่านจะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว นำมาซึ่งความโศกเศร้า..."เสียใจได้แต่ต้องไม่ลืมหน้าที่" "ชีวิต ยังต้องเดินหน้าด้วยความหวัง" สมาชิกในวงทุกคนจะน้อมนำคำสอนของพระองค์ท่าน ไปถ่ายทอดปลูกฝังสู่ลูกหลาน
ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านการดนตรี โดยมีจุดเริ่มต้นจากวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ที่ได้สร้างความสุขสู่เหล่าพสกนิกร ที่มาของบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ยังคงความไพเราะเป็นอมตะ เฉกเช่นพระองค์ท่าน ที่ยังคงสถิตย์ในจิตใจของปวงชนชาวไทยตราบชั่วนิรันดร์
จาก http://www.ch7.com/watch/198288/
เพิ่มเติม https://www.youtube.com/user/saisawanchannel/videos
https://www.youtube.com/user/nineentertain9/videos
ตัวอย่าง เพลง อ ส วันศุกร์
วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ https://www.youtube.com/playlist?list=PLl7FL9hv9pvOPnqTPLoSXaJxcOnpEb_mu