ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2016, 11:17:33 pm »สถานะของกษัตริย์ในสังคมไทย จากพ่อขุนสู่สมมติเทพ มาเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรัชกาลที่ ๙ !!!
พระมหากษัตริย์มีความผูกพันกับสังคมไทยมาตั้งแต่สร้างประเทศ ทรงนำประชาชนรวมตัวกันสร้างบ้านเมือง ขยายอาณาเขตแว่นแคว้น สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงจนเป็นประเทศ ทรงปกป้องดินแดนและอาณาประชาราษฎร์จากการรุกรานของศัตรู ปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขและรุ่งเรืองก้าวหน้า พระมหากษัตริย์จึงอยู่ในสถานะผู้นำสูงสุดของสังคม เป็นที่รักเคารพ และเทิดทูนของอาณาประชาราษฎร์ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อม
แต่พระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้เป็นที่เคารพรักของคนในชาติทุกพระองค์ ในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา มีกษัตริย์บางพระองค์เสวยสุขจนห่างไกลอาณาประชาราษฎร์ บางพระองค์ไม่ใส่พระราชหฤทัยในการดูแลปกป้องบ้านเมืองเท่าที่ควร ทำให้พ่ายแพ้ต่อข้าศึก อาณาประชาราษฎร์ต้องเดือดร้อนระส่ำระสาย ก็จะทรงได้รับคำตำหนิติเตียนแทนการสรรเสริญ บางพระองค์ก็โหดร้ายอำมหิตกับพสกนิกรของพระองค์เอง สร้างความเกรงกลัวและเกลียดชังไว้ในประวัติศาสตร์
สถานะของพระมหากษัตริย์จึงเสมือนตำแหน่งหนึ่งในสังคม ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งมีความซื่อตรงต่อหน้าที่ มีความจริงใจต่อประชาชน ก็จะได้รับความเคารพรักและเทิดทูน กษัตริย์หลายพระองค์ที่ทรงทุ่มเทพระพระราชหฤทัยเพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์ ปกป้องประเทศชาติให้ผ่านพ้นภยันตรายในยามวิกฤติ คนไทยซึ่งมีความกตัญญูกตเวทีอยู่ในจิตใจจนเป็นวัฒนธรรม ต่างก็สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แม้เวลาจะผ่านพ้นมาเป็นเวลาร้อยๆ ปี ก็ยังคงกราบไหว้บูชากันไม่เสื่อมคลาย
สถานะและการปกครองของกษัตริย์แตกต่างกันไปตามยุคสมัย เมื่อแรกเริ่มในสมัยสุโขทัย กษัตริย์ทรงอยู่ในสถานะ “พ่อขุน” เป็น “ปิตุราชา” เสมือนบิดาของประชาชน ปกครองแบบพ่อปกครองลูก เพราะสังคมยังแคบ ชุมชนยังไม่กว้างขวาง กษัตริย์ทรงดูแลได้ทั่วถึงและใกล้ชิด ทรงรับฟังความเห็นของราษฎร แต่ก็มีกษัตริย์ที่อยู่ในสถานะนี้เพียง ๓ พระองค์เท่านั้น คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนบานเมือง และพ่อขุนรามคำแหง จากนั้นเมื่อบ้านเมืองร่มเย็นผาสุกจึงมีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่ร่วมด้วยมาก สังคมขยายกว้างและมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้ปกครองจึงต้องใช้อำนาจในการปกครองที่เข้มงวด คติการปกครองของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งถือว่ากษัตริย์เป็นเทวดาอวตารลงมา และขอมที่มีอิทธิพลในย่านนี้มาก่อนนำมาใช้ จึงมีอิทธิพลขึ้น พระนามของกษัตริย์ได้เปลี่ยนจากพ่อขุนเป็น “พระยา” คือ พระยาเลอไท และ พระยางั่วนำถม
แม้พระมหากษัตริย์จะทรงพระราชอำนาจมากขึ้น แต่เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่เข้ามา หลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ได้กำหนดขอบเขตการใช้พระราชอำนาจให้อยู่ในครรลองของความชอบธรรม เป็น “ธรรมราชา”ที่ใช้ธรรมในการปกครอง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการปกครองที่จะทำให้ราษฎรร่มเย็นเป็นสุข บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์รุ่งเรืองก้าวหน้า แนวคิดนี้ถูกเผยแพร่โดย พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) กษัตริย์พระองค์ที่ ๖ ของกรุงสุโขทัย พระนามของกษัตริย์อีก ๓ พระองค์ต่อมา จึงเป็น พระมหาธรรมราชาที่ ๒ พระมหาธรรมราชาที่ ๓ (ไสยลือไท) และพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล)
พระมหาธรรมราชาลิไท ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีที่สำคัญเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” ขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๘๘ ขณะครองเมืองศรีสัชนาลัยในฐานะพระมหาอุปราช ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์ทรงเลื่อมใสแนวความคิดในพระพุทธศาสนา จึงเผยแพร่แนวคิดนี้ ชักชวนให้กษัตริย์ทั้งหลายปกครองตามคติธรรมในพระพุทธศาสนา เป็น “ธรรมราชา” ซึ่งจะทำให้ประชาชนนิยมชมชอบ ครองอำนาจได้ยาวนาน ดังศิลาจารึกหลักที่ ๓ นครชุม จารึกไว้ว่า
“...ขุนผู้ใดกระทำชอบด้วยธรรมดังอัน ขุนผู้นั้นกินเมืองเหิงนานแก่กม ผู้ใดกระทำบ่ชอบด้วยธรรมดังอัน ขุนผู้นั้นบ่มิยันเยิงนานเลย...”
แต่กระนั้น เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทขึ้นครองราชย์ ความเป็นเทวราชาก็ยังอยู่ พระมหากษัตริย์ยังคงสถานะสมมติเทพ เหมือนยึดไว้เพื่อรักษาธรรมเนียมประเพณี ถ้อยคำที่ใช้กับพระมหากษัตริย์จึงแตกต่างจากคนธรรมดาสามัญ เช่นในศิลาจารึกหลักที่ ๔ วัดป่ามะม่วง กล่าวถึงตอนที่พระมหาธรรมราชาลิไท ยกพลจากกรุงศรีสัชนาลัยไปยึดกรุงสุโขทัยใน พ.ศ.๑๘๙๐ ไว้ว่า
“...เสด็จนำพยุหเสนาทั้งหลายออกจากเมืองศรีสัชนาลัยมา...ให้ไพร่พลเสนาทั้งหลายล้อมประตู (เอา) ขวานประหารศัตรูทั้งหลาย บัดนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินเข้าเสวยราชย์ไอศูรยาธิปัตย์ในเมืองสุโขทัยแทนพระบิดา...”
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาบ้านเมืองกว้างใหญ่ไพศาล และมีศัตรูรอบประเทศที่จ้องรุกราน พระมหากษัตริย์จึงต้องเป็นจอมทัพที่เข้มแข็ง ทรงมีพระราชอำนาจเป็นเจ้าชีวิตของทุกคนในประเทศ สามารถจะสั่งประหารชีวิตใครก็ได้ มีความสัมพันธ์กับราษฎรในฐานะ “เจ้า” กับ “ข้า” ไม่ใช่ “พ่อ” กับ “ลูก” และเป็น “พระเจ้าแผ่นดิน” คือเป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งประเทศ จะพระราชทานแผ่นดินให้ใคร หรือเอาคืนเมื่อใดก็ได้ เอกสารที่ดินที่ออกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน คนที่ถือโฉนดอยู่จึงมิใช่เจ้าของที่ดิน แต่เป็นผู้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินเท่านั้น
สถานะของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงเน้นที่ทรงเป็นเทวราชามากกว่าธรรมราชา มีพระบรมราชโองการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดจะขัดขืน คัดค้าน หรือออกความเห็นใดๆไม่ได้ การปกครองของกรุงศรีอยุธยาจึงขึ้นกับพระราชอัธยาศัยของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ซึ่งพระนามของกษัตริย์ได้ใช้คำนำหน้าเป็น “สมเด็จพระ” มาตั้งแต่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา
การสืบราชสันตติวงศ์ กฎมณเฑียรบาลกำหนดให้สืบทอดตามสายโลหิต แต่เนื่องด้วยพระมหากษัตริย์จำต้องทรงเป็นผู้เข้มแข็ง หากผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์ตามกฎมณเฑียรบาลเป็นผู้อ่อนแอ ก็จะถูกชิงราชบัลลังก์โดยผู้ที่เข้มแข็งกว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงเกิดการใช้กำลังแย่งชิงอำนาจกันเป็นประจำ และกำจัดฝ่ายตรงข้ามเพื่อป้องกันการกลับมาทวงราชบัลลังก์คืน เกิดการเข่นฆ่ากันจนประเทศชาติอ่อนแอและเสียทีแก่ข้าศึก
ในสมัยกรุงธนบุรีซึ่งมีระยะเวลาเพียง ๑๕ ปี มีพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว สถานะของพระมหากษัตริย์ยังเป็นเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นความโชคดีของคนไทย ที่กษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ทรงยึดมั่นในความเป็นธรรมราชา ทรงมีพระเมตตาคุณต่ออาณาประชาราษฎร์ ทรงทุ่มเทพระราชหฤทัย พระวรกาย ตลอดจนพระราชทรัพย์เพื่อปลดเปลื้องทุกข์และยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้สูงขึ้น ที่สำคัญไม่เคยมีพระองค์ใดลุ่มหลงในพระราชอำนาจ ตลอดระยะเวลา ๒๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีการแย่งชิงราชสมบัติแม้แต่ครั้งเดียว การถ่ายทอดอำนาจเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล แม้บางรัชกาลจะทรงมอบสิทธิ์ในการเลือกผู้สืบทอดราชบัลลังก์ ให้บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการปรึกษาหารือกันเอง ก็ยังคงยึดกฎมณเฑียรบาลถ่ายทอดทางสายโลหิตตลอดมา จนมาในสมัยประชาธิปไตยที่รัฐสภามีหน้าที่เลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ ก็ยังยึดกฎมณเฑียรบาลตามเดิม
ในยุครัตนโกสินทร์ กษัตริย์ ๓ พระองค์แรกทรงมุ่งที่จะสร้างบ้านเมืองให้ใหญ่โตสง่างามเทียบเท่ากรุงศรีอยุธยา และนำรูปแบบการปกครองของกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมาใช้ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง ทรงเน้นคติธรรมทางพุทธศาสนาและรูปแบบของธรรมราชาเป็นหลัก ลดแนวคิดเรื่องเทวราชาลงไป ความเป็นสมมติเทพคงปรากฏอยู่แต่ในรูปแบบของพระราชพิธีและขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนักเท่านั้น เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งนี้เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระนามาภิไธยก็ต่างจากกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ใช้คำว่า “พระบาทสมเด็จพระ” นำหน้า
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระราชภาระที่สำคัญยิ่งในการสร้างราชธานี ขณะเดียวกันศัตรูก็จ้องทำลายไม่ให้ไทยตั้งตัวได้ แต่เพราะความเข้มแข็งของพระองค์ จึงทรงปกป้องประเทศชาติและความสงบสุขร่มเย็นของอาณาประชาราษฎร์ไว้ได้ ทั้งยังขยายพระราชอาณาจักรออกไปอย่างกว้างใหญ่
ด้วยเหตุที่ทรงมุ่งมั่นในพระศาสนา ทรงศึกษาพระไตรปิฎกอย่างลึกซึ้ง จึงทรงเข้าพระราชหฤทัยในอุดมคติของพระพุทธศาสนาในด้านการปกครอง ทำให้คติในเรื่องเทวราชาหมดอิทธิพลลง ขณะเดียวกันความเป็นปิตุราชา หรือการปกครองแบบพ่อปกครองลูกในสมัยตอนต้นกรุงสุโขทัย ก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงเห็นว่า กษัตริย์ในสมัยก่อนๆ ทรงตีราคาตัวเองสูงเกินไป ตั้งประเพณีให้เยินยอพระเกียรติของพระองค์เอง มีพิธีบูชาพระบรมรูปของกษัตริย์ ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นการไม่เคารพต่อพระศาสนา เพราะไม่มีสิ่งใดจะสูงส่งน่าเคารพยิ่งกว่าพระรัตนไตร อันได้แก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงทรงออกพระราชบัญญัติในปี พ.ศ.๒๓๒๘ ให้เปลี่ยนแปลงพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ให้ขุนนางข้าราชการบูชาพระพุทธรูปแทนพระบรมรูปของกษัตริย์
การเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะของกษัตริย์ไปด้วย จากทรงเป็นสมมติเทพ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีบทพระอัยการกำหนดเป็นธรรมเนียมมาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคหรือชลมารค จะมีพลธนูนำหน้าและคุมท้ายขบวน พร้อมกับขบวนองครักษ์ถือหวายไปด้วย เพื่อกันไม่ให้ราษฎรแอบดูกษัตริย์ ถ้าขบวนพระราชดำเนินผ่านมา ราษฎรก็ต้องก้มหน้าไว้ ห้ามแอบดูเป็นอันขาด
ครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จกลับจากพระราชทานกฐินที่วัดหนังและวัดนางนอง แขวงบางค้อ เขตจอมทอง ทรงได้ยินเสียงผู้หญิงร้องทุกข์ถวายความว่า เจ้าพนักงานในเรือดั้งเอากระสุนยิงลูกตา จึงทรงหยุดเรือพระที่นั่งแล้วดำรัสสั่งให้หลวงทิพยเนตร เจ้ากรมหมอสำหรับจักษุโรค ซึ่งอยู่ในเรือพระที่นั่งด้วย ไปดูอาการ หลวงทิพยเนตรกลับมาทูลถวายรายงานว่า กระสุนยิงถูกดวงจักษุแตกเสียแล้ว จึงพระราชทานเงินตราและผ้านุ่งห่มทำขวัญแก่หญิงที่เสียตานั้น
การที่ราษฎรสามารถหยุดเรือพระที่นั่งร้องทุกข์ได้เช่นนี้ แสดงว่าพระมหากษัตริย์ในยุครัตนโกสินทร์ได้ลดสถานะจากสมมติเทพลงเป็นบุคคลธรรมดา มีความใกล้ชิดกับราษฎร และราษฎรก็ไม่ได้เกรงกลัวพระมหากษัตริย์เหมือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา
จากนั้นโปรดเกล้าฯให้มีพระราชบัญญัติประกาศว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ห้ามเจ้าพนักงานประจำขบวนเรือเสด็จฯ เอากระสุนยิงราษฎรอีก ให้แต่เงื้อพอให้กลัวเท่านั้น ซึ่งเพียงยึดประเพณีเดิมไว้ ไม่ยึดถืออย่างจริงจัง
ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทย จากการคุกคามของมหาอำนาจอันได้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส แข่งขันกันล่าอาณานิคมในย่านนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ เปลี่ยนยุทธวิธีในการป้องกันประเทศจากทรงเป็นจอมทัพ มาใช้วิธีทางการทูต เปิดสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ส่วนภายในก็ทรงวางรากฐานสู่ความเป็นอารยะ ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน ปรับเปลี่ยนธรรมเนียมประเพณีบางอย่างให้ทันสมัย หนึ่งในจำนวนนี้คือประกาศเลิกธรรมเนียมห้ามแอบดูขบวนเสด็จโดยเด็ดขาด ทั้งยังให้ราษฎรออกมารับเสด็จให้เห็นหน้าเห็นตา ถ้าทรงรู้จักก็จะได้ทักทายปราศรัยด้วย
ในการถวายฎีการ้องทุกข์ก็เช่นกัน การร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์โดยตรงอย่างในสมัยกรุงสุโขทัย ได้ถูกยกเลิกไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราษฎรต้องร้องทุกข์ผ่านกรมกองที่ตัวสังกัดเท่านั้น ฉะนั้นการร้องทุกข์ในเรื่องที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากข้าราชการ จึงถูกกีดกันไม่อาจทำได้ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรื้อฟื้นการร้องทุกข์แบบพ่อขุนรามคำแหงขึ้นมาใหม่ ให้คนที่มีความเดือดเนื้อร้อนใจมาตีกลองร้องทุกข์ที่หน้าพระราชวังได้ ทำให้ขุนนางข้าราชการที่ข่มเหงรังแกราษฎรต้องได้รับโทษ พอถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกลองร้องทุกข์ไว้ที่พระที่นั่งพุทไธยสวรรค์ และกำหนดวันรับฎีการ้องทุกข์ของราษฎรด้วยพระองค์เอง ๔ ครั้งต่อเดือน จนในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในแต่ละเดือนมีผู้ยื่นถวายฎีการ้องทุกข์ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯถึง ๑๒๐-๑๓๐ ฉบับ แสดงว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่พึ่งของราษฎรได้อย่างแท้จริง
เป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา สังคมไทยไม่มีคนชั้นกลาง คงมีแต่คนชั้นสูงได้แก่ขุนนางข้าราชการ กับไพร่ซึ่งเป็นคนชั้นล่างเท่านั้น เพราะชายไทยเมื่อมีอายุ ๑๘ ปี ต้องไปขึ้นทะเบียนว่าจะสังกัดกรมกองใด แล้วสักไว้ที่ท้องแขนเป็นเครื่องหมาย เรียกว่า “ไพร่สม” ให้มูลนายฝึกหัดใช้สอยไปก่อน จนอายุ ๒๐ จึงเป็น “ไพร่หลวง” ต้องไปทำงานให้หลวงปีละ ๖ เดือน โดยเข้าเดือนออกเดือน ราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศจึงไม่มีเวลาทำมาหากินสร้างฐานะตัวเอง จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงผ่อนปรนให้เหลือเข้าเวรปีละ ๔ เดือน คือเข้าหนึ่งออกสอง ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงให้ลดลงอีก เหลือเข้าเวรเพียงปีละ ๓ เดือน คือเข้าหนึ่งออกสาม มีเวลาทำมาหากินของตัวเองถึง ๙ เดือนในปี มีโอกาสสร้างฐานะ จนเป็นจุดกำเนิดของชนชั้นกลาง
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องการค้า ทรงรับภาระนี้มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ แล้ว ในรัชกาลนี้จึงมีสำเภาหลวง สำเภาของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางถึง ๗๐๐ ลำ นำสินค้าไปขายเมืองจีน ญวน เขมร มลายู และสิงคโปร์ ทำให้การค้าขายภายในประเทศเพิ่มขึ้นตาม มีการผลิตสินค้าเกษตรและหาของป่ากันมาก จนถึงขั้นเกิดมีอุตสาหกรรม เช่นอุตสาหกรรมทำน้ำตาลจากอ้อย ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในยุโรปและมีราคาสูง ราษฎรจึงมีโอกาสยกฐานะขึ้นมากในรัชกาลนี้
กำไรอันมหาศาลจากการค้าสำเภาหลวง นอกจากนำมาใช้ในการทะนุบำรุงประเทศแล้ว ยังทรงเก็บส่วนหนึ่งเป็นเงินสำรองไว้ในท้องพระคลัง เรียกกันว่า“เงินถุงแดง” และรับสั่งเป็นลางไว้ว่า “เอาไว้ไถ่ประเทศ” ซึ่งก็ได้ใช้ไถ่จริงๆ ในคราวที่ฝรั่งเศสนำเรือรบฝ่าแนวป้องกันเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาสมัยรัชกาลที่ ๕ และเรียกค่าเสียหายจากทหารเรือฝรั่งเศสเสียชีวิตเป็นเงินถึง ๔ ล้านบาท ก็ได้ใช้ “เงินถุงแดง”นี้ไถ่ประเทศ ทรงคิดถึงอนาคตประเทศชาติ มิใช่ประโยชน์สุขส่วนพระองค์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระราชนิยมในยุครัตนโกสินทร์ทุกพระองค์
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ยังตราพระราชกำหนดให้ไพร่หลวงที่มีความรู้ความสามารถ มีความประพฤติดี เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กได้ ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติที่มีมาแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ระบุให้คนจะเป็นมหาดเล็กต้องมีคุณสมบัติ ๙ ประการ ซึ่งประการแรกต้องสืบตระกูลมาจากเสนาบดี แค่ข้อแรกนี้ราษฎรสามัญทั้งหลายก็หมดสิทธิ์แล้ว พระราชกำหนดใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่มีฐานันดรต่ำสุดในสังคม สามารถก้าวขึ้นไปสู่ฐานันดรสูงได้โดยไม่มีขีดจำกัด นับเป็นการสร้างความเสมอภาคเป็นก้าวแรกขึ้นในสังคมไทย
ในด้านพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ไทยในแนวทางประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลกปัจจุบันนั้น กล่าวกันว่าประเทศไทยมีการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงแล้ว ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ผู้ปกครองมีความใกล้ชิดผู้ใต้ปกครอง กษัตริย์ทรงรับฟังความเห็นของราษฎร เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า
“...ผิใช่วันสวดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ขึ้นนั่งเหนือขะดารหิน ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมืองกัน...”
ถือได้ว่าเป็นการเปิดประชุมสภา
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แม้ความคิดในแนวทางของตะวันตกยังไม่แพร่เข้ามาในเมืองไทย ด้วยความเป็นธรรมราชาของกษัตริย์ ๓ พระองค์แรก ก็ทรงคำนึงถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ของแผ่นดิน ทรงยกฐานะของสามัญชนให้มีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้น
จนในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงปรับเปลี่ยนสถานะของกษัตริย์ ละจากความเป็นสมมติเทพลงสิ้น ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น เกิดมีสื่อมวลชนขึ้นเป็นครั้งแรก โดยหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน ได้ออกหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกขึ้น ในชื่อ “บางกอกรีคอร์เดอร์” เผยแพร่แนวความคิดตะวันตก และวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยโดยใช้วัฒนธรรมตะวันตกเป็นบรรทัดฐาน กล้าวิจารณ์แม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงให้สังคมไทยพอควร แต่ก็ไม่ทรงถือเป็นโทษ
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกจากระบบการศึกษาจะเปิดกว้างสู่สามัญชนมากแล้ว ในเดือนมกราคม ๒๔๒๗ พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางที่ศึกษาอยู่ในยุโรป รวมทั้งคณะทูตไทยประจำกรุงปารีสและลอนดอน ได้ร่วมกันเข้าชื่อถวายข้อเสนอต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ในคำกราบบังคมทูลของกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๐๓” ได้คัดค้านนโยบายต่างประเทศที่ใช้วิธีผ่อนปรนกับนักล่าอาณานิคม ว่าไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพียงผ่อนสั้นเป็นยาวเท่านั้น การใช้กำลังต่อสู้ก็ไม่ได้ผล เพราะไทยยังด้อยกว่ามหาอำนาจในเรื่องอาวุธ ครั้นจะหวังพึ่งกฎหมายระหว่างประเทศให้ช่วยรักษาเอกราช ก็ไม่ได้ผลเช่นกัน เพราะสยามยังไม่เจริญพอให้เป็นที่ยอมรับเข้าร่วมสังคมระหว่างประเทศ การจะให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการยึดครองของมหาอำนาจนักล่าอาณานิคม ซึ่งมักจะใช้ข้ออ้างว่าประเทศที่เข้าครอบครองเป็นประเทศด้อยพัฒนานั้น จะต้องปรับปรุงการบริหารประเทศเสียใหม่ การเลิกทาสและเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน ก็ยังไม่พอทำให้สยามเจริญทัดเทียมยุโรปได้ จะต้องใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลักในการบริหารประเทศ กระจายพระราชอำนาจให้คณะรัฐมนตรี โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประธานคณะรัฐมนตรี แต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
นอกจากเรียกร้องรัฐธรรมนูญแล้ว ในตอนหนึ่งของคำกราบบังคมทูล ยังมีข้อความว่า
“...ถ้ามิได้กราบบังคมทูลพระกรุณาตามที่ได้รู้ได้เห็นแล้ว ก็เป็นขาดความกตัญญูและน้ำพิพัฒน์ ทั้งความรักใคร่ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และทั้งพระราชอาณาเขตซึ่งเป็นของข้าพระพุทธเจ้าชาวสยามทั้งหมด...”
การกล่าวว่า “พระราชอาณาเขตซึ่งเป็นของข้าพระพุทธเจ้าชาวสยามทั้งหมด” ก็เท่ากับแสดงความคิดเห็นว่า ประเทศเป็นของราษฎรทุกคน ไม่ใช่ของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ซึ่งขัดกับหลักของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ก็ไม่ได้ทรงถือเป็นโทษแต่อย่างใด ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาพระราชทานคำอธิบายตอบให้เข้าใจ ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๕ คณะผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๐๓ นี้ก็ถูกดึงเข้ามาร่วมด้วย
ในรัชกาลที่ ๖ หนังสือพิมพ์ได้เฟื่องฟูขึ้นสุดขีด ทรงร่วมแสดงความคิดเห็นในหลายนามปากกา และมีผู้กล้าเขียนตอบโต้ ทั้งที่รู้กันดีว่าเป็นนามปากกาของใคร อีกทั้งยังทรงตั้งเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ขึ้น เพื่อปลูกฝังให้รู้จักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับรู้กระแสประชาธิปไตยที่รุนแรงยิ่งขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ จึงทรงพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ราษฎรในวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ อันเป็นวันครบ ๑๕๐ ปีของราชวงศ์จักรี ทรงมอบให้กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ จัดร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถูกคัดค้านโดยพวกหัวเก่าที่มีพระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลอง และนายเรมอนด์ บี สตีเวนส์ ที่ปรึกษา เป็นผู้นำ ว่าเสียงเรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นของคนเพียงกลุ่มเดียว ไม่ใช่สียงของคนส่วนใหญ่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงแท้งไป
ในที่สุดประเทศไทยก็มีระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นจนได้ในอีก ๓ เดือนเศษต่อมา เมื่อคณะราษฎรซึ่งเริ่มก่อตัวในฝรั่งเศส เมื่อกลับมาเผยแพร่แนวความคิดในประเทศไทย มีนายทหารหัวก้าวหน้าเข้าร่วมด้วย จนยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ
แรกมีประชาธิปไตยในสยาม จึงไม่ใช่คณะราษฎรทำให้เกิดขึ้นในทันทีทันใด หรือเป็นผู้นำรูปแบบสำเร็จรูปจากต่างประเทศมาให้ แต่ได้มีการตื่นตัวและพัฒนาความคิดในกลุ่มปัญญาชน รวมทั้งพระมหากษัตริย์เองมาหลายรัชกาลแล้ว ก่อนจะมาเป็นจริงได้ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
ในระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ยังทรงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ แต่ก็ถูกลดพระราชอำนาจลงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่สามารถใช้อำนาจทางการปกครองด้วยพระองค์เอง รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาล พระมหากษัตริย์จึงทรงอยู่เหนือการเมือง มีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษา ถ้าผู้ใช้อำนาจทั้ง ๓ นั้นต้องการคำปรึกษา
รัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ ได้บัญญัติเกี่ยวกับสถานะของพระมหากษัตริย์เหมือนๆ กันว่า
พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้
ผู้ใดจะฟ้องร้องหรือกล่าวหาพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นศาสนูปภัมภก
พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
ในรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์สูงสุดของประชาชน ซึ่งท่านพุททาสภิกขุ หรือพระธรรมโกศาจารย์ ได้แสดงปาฐกถาธรรมทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เรื่อง “การตามรอยพระยุคลบาทโดยทศพิธราชธรรม” เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๓๐ เวลา ๐๘.๐๐-๐๘.๓๐ น. มีความตอนหนึ่งว่า
“...เรามีหลักเกณฑ์ว่า ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือมีการเป็นผู้นำ แต่แล้วมันก็กระทบความรู้สึกอยู่อย่างหนึ่ง คือว่ารัฐธรรมนูญมิได้ถวายพระราชอำนาจในการเป็นผู้นำโดยประการทั้งปวง ยังควบคุมอยู่บางอย่าง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สูญเสียการเป็นผู้นำ เพราะว่ามีการนำได้อีกหลายทาง หลายอย่างหลายประการ แม้จะไม่มีอำนาจทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีโอกาสที่จะนำในทางเศรษฐกิจ ในทางพัฒนา ในทางวัฒนธรรม ในทางการศึกษา อะไรๆ ซึ่งดีไปกว่าการเมืองซึ่งเป็นเรื่องหลอกลวง เรียกว่าเป็นผู้นำในทางวิญญาณ เป็นผู้นำในทางวิญญาณ ฟังดูให้ดีๆ ว่าการทำให้เกิดความถูกต้องในทางจิตใจในการดำเนินชีวิต นี่เป็นการนำในทางวิญญาณ เราทั้งหลายสามารถที่จะถวายโอกาส หรือทำให้เกิดโอกาส จนพระประมุขแห่งชาติสามารถจะนำได้อย่างเต็มที่ ครบถ้วนทุกอย่างที่จะทำให้เกิดความสุข ความเจริญ เราทั้งหลายสามารถทำให้เกิดโอกาสแก่การนำโอกาสนั้น ถวายแก่สมเด็จบรมบพิธพระราชสมภารแห่งประเทศไทย จะได้ทรงนำได้ตามพระราชประสงค์ พระราชประสงค์ใดล้วนแต่เป็นพระประสงค์ที่ดี ที่ถูกต้อง เราก็ถวายโอกาสแห่งการนำอันถูกต้อง และเราก็ถือโอกาสประพฤติตามอย่างถูกต้อง คือประพฤติตามพระองค์ในการบำเพ็ญทศพิธราชธรรม”
เป็นที่ประจักษ์แจ้งกันแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นที่รักเคารพและเทิดทูนสูงสุดของชาวไทย ทรงปฏิบัติธรรมซึ่งพุทธศาสนากำหนดไว้ว่า เป็นธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์โดยครบถ้วน อย่างจริงจังและสม่ำเสมอ เป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างให้พสกนิกรประพฤติตาม ทรงเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด ในการเสด็จออกเยี่ยมเยียนประชาชนนั้น นอกจากไม่เหลือลักษณะของสมมติเทพแล้ว ทั้งพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถยังอ่อนน้อมไม่ถือพระองค์กับพสกนิกร ทรงให้ราษฎร “จับมือถือแขน” หลายคนดีใจที่มีวาสนาได้พบก็ขอจับหรือจูบพระหัตถ์ ทั้งสองพระองค์ก็ทรงยื่นพระหัตถ์ให้ และ “นับญาติ” ตามธรรมเนียมไทย ทรงทักทานผู้สูงอายุว่า ลุง ป้า ตา ยาย จนเกิดสถานะใหม่ของพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือไม่เหลือช่องว่างระหว่างกษัตริย์กับประชาชน เป็นความใกล้ชิดที่ผูกพันด้วยความรักภักดี เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์แห่งพระราชหฤทัย และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันประมาณมิได้
จึงมีคำพูดกันว่า คนไทยโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่คำพูดของคนไทยเราเท่านั้น ยังเป็นคำพูดของชาวโลกด้วย
จาก http://astv.mobi/A5rIiTD