ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 11, 2016, 04:13:47 am »นาทีประวัติศาสตร์ 6 ผู้นำอเมริกา สานสัมพันธ์องค์ราชัน
มาสู่ยุคเปลี่ยนผ่านของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในพันธมิตร ต้องเตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และหากเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ลึกลงไปก็จะทราบว่า ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศแน่นแฟ้นมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา นำมาซึ่งมิตรภาพที่ดีระหว่าง 2 ประเทศจวบจนถึงปัจจุบัน...
พระราชกรณียกิจบนแผ่นดินอเมริกา
จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการนั้น เกิดขึ้นนับตั้งแต่สมัยต้นราชวงศ์จักรีแล้ว ที่ทางสหรัฐอเมริกา ได้มีการส่งเอกอัครราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมทั้งนำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงได้มีการร่วมลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce)
ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ เป็นไปอย่างราบรื่นมาโดยตลอด จนดำเนินมาถึงในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยิ่งสร้างความพิเศษมากขึ้นไปอีก เพราะพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวบนโลกที่เสด็จพระราชสมภพบนแผ่นดินอเมริกา และประทับอยู่จนมีพระชนมายุ 2 พรรษา จึงเสด็จฯนิวัจประเทศไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะเสด็จฯไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
[ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ]
ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว หนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญพระองค์ คือการเจริญสัมพันธไมตรีด้านการทูตกับประเทศต่างๆ ทั่วทั้งโลก ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป รวมถึงทวีปอเมริกา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ทางการทูต และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนอเมริกาถึง 2 ครั้งด้วยกัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2503 เป็นครั้งแรกที่พระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ,พระราชโอรสและพระราชธิดา รวมทั้งผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง เสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ในสมัยของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ชาวนิวยอร์กกว่า 750,000 คน ที่ได้มีโอกาสต้อนรับพระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ อย่างยิ่งใหญ่ด้วยการปรบมือและโปรยกระดาษสายรุ้งจำนวนมาก ไปตลอดเส้นทางของถนนสายบรอดเวย์ รวมทั้งทรงให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนชาวอเมริกันอย่างเป็นกันเอง
ในการเสด็จฯเยือนอเมริกาครั้งนั้น ได้เสด็จฯเยือนสถานที่พระราชสมภพ “โรงพยาบาลเม้าท์ออเบิร์น” (Mount Auburn Hospital) ณ เมืองบอสตัน รัฐแมสซาซูเซตส์ ทรงพบกับพระสหายคนแรกคือ ดอกเตอร์ ดับบลิว.สจ๊วต วิตเมอร์ นายแพทย์ที่ทำคลอดและคณะพยาบาลอีก 4 คน คือ มิสซิส เลสลี่ เลตัน , มิส เจนีเวียฟ เวลด้อน , มิสซิสมาร์กาเร็ท เฟย์ และ มิสรูธ แฮริงตัน พร้อมทั้งพระราชทานสิ่งของเป็นหีบบุหรี่ถมทองแก่นายแพทย์ผู้ทำคลอดและตลับแป้งถมทองแก่นางพยาบาลทั้ง 4 คนอีกด้วย
[ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับแพทย์และคณะพยาบาล ]
[ วอลท์ ดิสนีย์ ถวายธงมิคกี้เม้าส์ แด่เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ และเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ]
จนมาถึงปี พ.ศ.2010 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่ 2 เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดศาลาไทย ซึ่งศาลาไทยหลังดังกล่าวได้พระราชทานเป็นของขวัญให้แก่สถาบัน East-West Center มลรัฐฮาวาย เมื่อปี 2507 ถือเป็นสัญลักษณ์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกาในระดับท้องถิ่น
การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาของพระองค์ทั้ง 2 ครั้งนั้น นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและแผ่นดินสหรัฐอเมริกาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังจากข่าวการเสด็จสวรรคตของพระองค์เผยแพร่ออกไป ทั่วทั้งโลกต่างแสดงความเสียใจ ประชาชนชาวอเมริกัน รวมถึงชาวไทยในสหรัฐอเมริกา ต่างเดินทางและนำดอกไม้ไปวาง ณ บริเวณจัตุรัสภูมิพลอดุลยเดช (King Bhumibol Adulyadej of Thailand Square) ที่ตั้งอยู่หน้าโรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระองค์ เพื่อร่วมแสดงความอาลัยฯและน้อมถวายบังคมแด่การเสด็จสวรรคต
[ ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ ]
แต่ในความโศกเศร้านั้น ก็ยังมีเรื่องที่น่ายินดีและภูมิใจแก่ชาวไทย คือการที่ ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ นักการเมืองและอดีตทหาร เชื้อสายไทย - อเมริกัน จากพรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้ง ทำให้เธอได้รับตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐอิลลินอยส์ และก่อนหน้านี้ เธอมีโอกาสได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ชาวต่างประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) ในฐานะเป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา
มหาอำนาจเยือนไทย
ประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาช้านาน นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาแล้ว ทางประเทศไทยเองก็ได้มีการต้อนรับประธานาธิบดีจากสหรัฐอเมริกาอีกหลายคนเช่นกัน
ประธานาธิบดีคนแรกที่เดินทางมาเยือนราชอาณาจักรไทยคือ ลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 36 เดินทางมาพร้อมกับ เลดี เบิร์ด จอห์นสัน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ด้วยเฮลิคอปเตอร์ของทั้ง 2 คน ที่ลงจอดหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม
[ สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงต้อนรับประธานาธิบดี จอห์นสัน และ นางเลดี เบิร์ด จอห์นสัน :
จากยูทิวป์ British Pathé ]
จากข้อมูล Office of the Historian ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ในประวัติศาสตร์มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทย อย่างเป็นทางการ รวมทั้งสิ้น 7 ครั้งด้วยกัน ประกอบด้วย ลินดอน บี. จอห์นสัน, ริชาร์ด นิกสัน , วิลเลียม เจฟเฟอร์สัน (บิล) คลินตัน , จอร์จ บุช และสุดท้าย บารัค โอบามา ซึ่ง ลินดอน บี. จอห์นสัน และ จอร์จ บุช ต่างเคยเดินทางมาเยือนประเทศไทยถึง 2 ครั้งด้วยกัน
[ พระราชทานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแด่ ริชาร์ด นิกสัน ]
[ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประธานาธิบดี บิล คลินตัน ]
นอกจากนี้ ยังมีอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ที่เคยเดินทางมาเยือนไทย และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อครั้งที่เขายังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีสหรัฐฯในขณะนั้น ให้เดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย
[ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ จอร์จ บุช อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เฝ้าฯ ]
[ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ โรนัลด์ เรแกน เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เฝ้าฯ ]
หลังจากที่ข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเผยแพร่ออกไป สาส์นจากผู้นำโลกต่างถูกส่งมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นมาจาก ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ประเทศหนึ่งซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อราชอาณาจักรไทยมาอย่างยาวนาน
[ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ]
“การเสด็จ สวรรคตของพระองค์ไม่เพียงเป็นความสูญเสียสำหรับประเทศไทยและคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นความสูญเสียสำหรับมิตรประเทศทั่วโลก... พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงอุทิศพระองค์เพื่อความเป็นเอกภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความสุขของปวงชนชาวไทย ความเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพ และการอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมืองอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยด้วยพระราชจริยวัตรที่งดงาม จะอยู่ในความทรงจำของประชาชนคนไทยตลอดไป”
ในขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ก็ได้มีผู้นำประเทศคนใหม่คือ โดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 หลังจากเอาชนะ ฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ไปเป็นที่เรียบร้อย
แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 50 ปี นับตั้งแต่การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาทั้ง 2 ครั้งนั้น แต่ชาวอเมริกันรวมถึงชาวโลกทุกคน จะจดจำและระลึกถึงพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนี้ตลอดไป...
ขอบคุณข้อมูล : www.uswatch.mfa.go.th
จาก http://astv.mobi/ApLztyW