ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 13, 2016, 01:49:18 am »สั่งจิตให้ “เจอกันในความฝัน” ปรากฎการณ์ที่อธิบายได้ทางวิทยาศาสตร์
เชื่อไหมการนัด เจอกันในความฝัน มีอยู่จริง!
การที่คนเราฝันถึงเรื่องเดียวกัน หรือ เจอกันในความฝัน เป็นปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลก กระทั่งคนส่วนหนึ่งพยายามค้นหาว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้
ระหว่างปี ค.ศ. 1958 – 1960 ซีเลีย กรีน (Celia Green) นักจิตวิทยาแห่งทรินีตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้สัมภาษณ์ผู้คนจำนวนมากเพื่อหาคำตอบในแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวกับความฝัน เช่นค้นคว้าว่าตอนฝันคนเรามีสติหรือไม่ (ต่อมามีการพิมพ์หนังสือเรื่อง Lucid Dreams ในปี 1968)
หนึ่งในผู้ให้ข้อมูลคือ โอลิเวอร์ ฟอกซ์ นักศึกษาหนุ่ม ซึ่งเล่าให้เธอฟังว่า เย็นวันหนึ่ง ตัวเขาและเพื่อนสนิทอีกสองคนชื่อว่า สเลด และ เอลคิงตัน ตกลงกันว่า คืนนั้นจะไปเจอกันในความฝัน สถานที่นัดหมายคือ เซาแทมป์ตันคอมมอน ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเซาแทมป์ตัน
โอลิเวอร์เล่าว่า “คืนนั้นผมได้เจอกับเอลคิงตันที่คอมมอนจริงๆ เหมือนที่เรานัดกันไว้ แต่สเลดไม่ได้มา เราอยู่ด้วยกันในฝันไม่นาน จะว่าไปมันเป็นความฝันสั้นๆ เท่านั้น วันต่อมาเมื่อผมได้เจอเอลคิงตัน ผมถามเขาทันทีว่า เขาฝันหรือเปล่า เขาตอบว่า ‘ฝันสิ ฉันพบนายที่คอมมอน และฉันยังรู้ตัวด้วยว่าฉันกำลังฝันอยู่ แต่สเลดกลับไม่ได้มาตามนัด’”
ซีเลียได้สัมภาษณ์สเลดด้วย เขาบอกว่า คืนนั้นเขาหลับไปโดยไม่ฝัน (ที่จริงคนเราฝันกันทุกคืน แต่อาจจำไม่ได้) ซีเลียจึงสรุปว่า เพราะอย่างนี้เอง สเลดจึงไม่ได้ไปตามนัด
ต่อมาในปี 1962 นายแพทย์มอนตากิว อูลแมน (Montague Ullman) แห่งภาควิชาจิตวิทยา สถาบันการแพทย์ไมโมนิเดส (Maimonides Medical Center) สหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการสื่อสารทางโทรจิตผ่านความฝัน โดยให้ผู้ส่งสาร เลือกภาพถ่ายหรือภาพเขียนใบหนึ่งจากหลายๆ ภาพที่เตรียมไว้ จากนั้นให้พยายามตั้งจิตบอกให้ผู้รับสาร รู้ว่าเขาเลือกภาพอะไร ซึ่งขณะนั้นผู้รับสารกำลังนอนหลับอยู่
ในการทดลองครั้งหนึ่ง นายแพทย์โรเบิร์ต แวน เดอคาสเซิล(Robert Van de Castle) ซึ่งถูกเลือกให้เป็นผู้รับสาร ฝันว่า เขามองเห็นม้วนฟูกมัดหนึ่ง แล้วภาพนั้นก็ค่อยๆ หายไป ต่อมาเขาพบว่าตัวเองกำลังเดินผ่านประตูบานหนึ่ง หลังประตูมีชายสามคนยืนอยู่ ทั้งสามยืนเว้นระยะห่างเท่ากันพอดี ทุกคนใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีน้ำเงิน สวมหมวกเบเร่ต์ และมีหน้าตาดุร้ายมาก ซึ่งในการทดลองนี้ ภาพที่ผู้ส่งสารเลือกก็คือ Man with Arrows and Companion วาดโดย Bichiter เป็นภาพของชายสามคน มีลักษณะเหมือนกับที่นายแพทย์โรเบิร์ตอธิบายไว้ในตอนต้น และที่เท้าของชายคนหนึ่งมีม้วนผ้ากองอยู่ใกล้ๆ ด้วย
จากการทดลองของดอกเตอร์มอนตากิว เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์สามารถสื่อสารกันทางความฝันได้จริงๆ
ล่วงมาถึงปัจจุบัน การพยายามควบคุมความฝันไม่ได้มีอยู่แต่ในห้องทดลองเท่านั้น มีคนจำนวนไม่น้อยรวมตัวกันเพื่อนัดเจอกันในความฝัน
เจนนิเฟอร์ ดัมเพิร์ท (Jennifer Dumpert) นักเขียนชาวอเมริกัน หัวหน้ากลุ่ม Oneironauticum ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนที่ต้องการแชร์ความฝันร่วมกันเล่าว่า พวกเธอพบเจอกันในความฝันได้ด้วยการแบ่งปันความฝันที่ต่างคนต่างตั้งใจสร้างขึ้นมา เธอเรียกความฝันนี้ว่า Oneirogen (คำว่า Oneiro เป็นภาษากรีก แปลว่า ความฝัน ส่วน gen แปลว่า การสร้าง)
เจนนิเฟอร์มีนัดทำกิจกรรม “พบกันในความฝัน” กับเพื่อนๆในกลุ่มทุกคืนวันเสาร์สุดท้ายของเดือน เมื่อถึงวันนั้น เธอจะหอบผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่ม และอุปกรณ์การนอนทั้งหลายขึ้นรถ เพื่อขับไปยังสถานที่นัดพบ ซึ่งอาจเป็นบ้านของสมาชิกคนใดคนหนึ่ง ในคืนที่ว่า พวกเขาจะมานอนหลับในสถานที่เดียวกัน และก่อนนอนจะใช้ตัวช่วยบางอย่างที่พวกเขา “เชื่อว่า” จะช่วยบังคับความฝันได้ง่ายขึ้น
ตัวช่วยที่ว่าได้แก่ การฟังเพลงที่มีจังหวะล้อกันกับคลื่นสมองที่เปลี่ยนไปขณะนอนหลับ (การนอนหลับของคนเราเป็นวัฏจักรที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนครบรอบ แล้วจึงวนกลับมาใหม่ กระทั่งตื่น) หรือใช้กลิ่นจากสมุนไพรหรือดอกไม้อบแห้งบางชนิดเพื่อช่วยให้จิตใจสงบ และกระตุ้นให้ตระหนักถึงรูป รส กลิ่น เสียงได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาบางชนิดช่วยด้วย ยาที่พวกเขาใช้ส่วนใหญ่เป็นยาที่สกัดจากพืช และสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งยาแต่ละชนิดจะมีสรรพคุณที่แตกต่างกันออกไป เช่น ยาบางตัวทำให้การนอนหลับช่วง REM ยาวนานขึ้น (REM – Rapid Eye Movement คือช่วงที่เราหลับลึกและฝัน) ยาบางตัวช่วยให้พวกเขาฝันถึงสถานที่เดียวกัน และยาบางตัวช่วยให้จำความฝันได้ดีขึ้น ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ตัวช่วยทั้งหมดที่ว่ามานี้แต่ละคนได้รับผลไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ถ้าฝันถึงน้ำตก บางคนจะได้ยินเสียงของน้ำที่เกิดขึ้นในความฝันดีกว่าคนอื่น ทั้งๆ ที่ทุกคนฟังเพลงเดียวกัน แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใด เจนนิเฟอร์ยืนยันว่า แม้จะไม่ได้ฝันเรื่องเดียวกันทุกครั้ง แต่จากการสอบถามกันเมื่อตื่นขึ้นก็พบว่า บ่อยครั้งพวกเขาฝันถึงสถานที่เดียวกันและคุยกันในความฝันได้จริงๆ
เภสัชกรพงศ์ปกรณ์ พิชิตฉัตรธนา ผู้เชี่ยวชาญด้านการสั่งจิตใต้สำนึก อธิบายให้ฟังว่า “จิตใต้สำนึกของคนที่เกี่ยวข้องกัน เช่น เป็นเพื่อน เป็นญาติ หรือมีความสนิทสนมกัน จะเปิดเชื่อมโยงถึงกันได้ ถ้าเราฝึกสั่งจิตของเราจนคุ้นเคย ก่อนนอน ถ้าเราสั่งอะไรพอนอนไปแล้ว จิตใต้สำนึกก็จะทำตาม ยิ่งถ้ามีนัดหมายกันไว้ล่วงหน้า เรียกว่ามีพันธสัญญาต่อกัน เมื่อนอนหลับ จิตใต้สำนึกอาจจะผลักดันให้เราได้เจอกับคนที่เรานัดหมายในความฝันได้
“ส่วนที่บอกว่ามีกระบวนการบำบัดหรือการปลดล็อกอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในความฝัน เป็นเพราะว่า ช่วงที่เรานอนหลับเป็นช่วงที่จิตใต้สำนึกทำงานอย่างอิสระ ดังนั้นข้อมูลหรือปมบางอย่างที่เก็บอยู่ในจิตใต้สำนึกก็อาจแสดงตัวออกมาได้ แต่ในชีวิตประจำวัน เราไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลส่วนนี้ เพราะเป็นข้อมูลที่เก็บอยู่ในส่วนของจิตใต้สำนึกซึ่งเป็นจิตส่วนที่ลึกมาก และถูกจิตสำนึกบดบังอยู่ ในขณะที่เราใช้ชีวิตประจำวัน จิตสำนึกจะคอยกระตุ้นให้เราทำงาน แก้ปัญหานั่นนู่นนี่ มีความกดดัน ฯลฯ เราจึงไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลเหล่านี้”
อย่างไรก็ดี อาจารย์พงศ์ปกรณ์ทิ้งท้ายไว้ว่า การสั่งจิตใต้สำนึกอย่างได้ผล ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตระหว่างที่เราตื่นเป็นสำคัญ ถ้าเราหมั่นเจริญสติและสมาธิเป็นประจำ เราจะบังคับจิตใจของตัวเองได้ดีขึ้น
ดังนั้น หากยังไม่สามารถสั่งจิตได้ตามปรารถนา แต่อยากให้ชีวิตไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ สิ่งที่ควรทำในเบื้องต้นก็คือ คิดดี พูดดีทำดี และมีสติรู้ตัวอยู่เสมอนั่นเอง
จาก http://www.goodlifeupdate.com/38946/healthy-mind/dream/