ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 15, 2016, 05:44:41 pm »ยิ่งรู้ก็ยิ่งรัก! ฟัง อ.ยักษ์ เล่าเรื่องในหลวง พระองค์ผู้ทรงงานแบบคนจน
"สิ่งที่ผมประทับใจ แต่คนไทยไม่ค่อยเชื่อ และไม่ค่อยเห็นก็คือ วิธีทรงงานแบบคนจน ท่านตรัสย้ำเลยว่าเราเป็นคนจน เรากินข้าวกล้อง การทำงานนี่คือ ไม่ได้ทำแบบคนรวย"
..............................................
ด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทรงพระราชทานให้กับคนไทย ตลอด 70 ปี ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้นำพาความร่มเย็น และ ความสุข กลับมาให้กับประชาชน ได้ฟื้นตัว และ ลืมตาอ้าปาก ด้วยโครงการต่างๆ ซึ่งด้วยความวิริยะอุตสาหะของพระองค์ท่าน ที่ต้องการให้คนไทยทุกหมู่เหล่า มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็ออกผลให้โครงการต่างๆ นำไปใช้ได้จริง และประชาชนได้อานิสงฆ์นี้ในที่สุด
ในขณะเดียวกัน อย่างที่ทราบกันดีว่า พระองค์ท่านก็ทรงเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของความประหยัดและความพอเพียง ให้กับคนไทยเป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกใจเลยว่า ประชาชนจำนวนหนึ่ง ได้น้อมรับตามปณิธานของพระองค์ท่าน มาปรับใช้กับชีวิตของตนเอง ซึ่งการนำปรัชญาดังกล่าวมาใช้นั้น ก็ส่งผลให้กับแต่ละคนมีความสุขง่ายๆ แบบเพียงพอ ตามอัตภาพของตนเองได้อย่างไม่ต้องไปเดือดร้อนใคร
และด้วยทั้งหมดที่กล่าวมานี้เอง ได้เป็นแรงบันดาลใจแก่ “ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรือ "อ.ยักษ์" ข้าราชการผู้ซึ่งเคยติดตามการเสด็จของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช ไปในพื้นที่ทุรกันดารต่างๆ ในประเทศไทย จนทำให้เขา ได้เดินรอยตามพ่อ ไปสู่หลักชีวิตที่พอเพียง และกลายเป็นอีกคนหนึ่ง ที่ส่งต่อแรงบันดาลใจดังกล่าวให้กับอีกหลายคน ได้ค้นพบกับความประหยัดและความสุขนี้ไปพร้อมกันด้วยเช่นกัน
ทรงให้เกียรติกับเป็นกันเองแก่ข้าราชบริพาร
“ผมทำงานถวายพระองค์ท่าน ก็ประมาณปี 2524-2525 เข้าเฝ้ารับพระราชทานพระราชดำริ ตอนที่พระองค์ท่านทรงหายประชวรใหม่ๆ ซึ่งถ้าพูดถึงช่วงนั้นคือ พระองค์ท่านก็ยังไม่ค่อยแข็งแรง พอหายประชวรใหม่ๆ ก็เสด็จพระราชดำเนินในป่าเลย พื้นที่ที่ไปอยู่ระหว่างหุบเขา ซึ่งจะทำเป็นอ่างเก็บน้ำ ซึ่งโดยบุคลิกภาพนี่คือ มีความมุ่งมั่นมาก คือตอนที่เราเห็นพระองค์ท่านครั้งแรก เราก็กลัวไง เพราะด้วยความที่เรายังเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย รู้สึกกลัวไม่กล้าเข้าไปใกล้ เป็นแค่ข้าราชการซี 4 ทำงานมาได้ 2 ปีเศษๆ อายุประมาณ 27-28 ตามเสด็จครั้งแรกนี่คือ ผมจดบันทึกใหญ่เลย ตื่นเต้นมาก ก็ยังไม่สามารถเก็บประเด็นอะไรได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการสังเกตก็ยังตื่นเต้นเป็นหลัก ยังไม่ค่อยลึกซึ้งเท่าไหร่ แต่ว่าที่สำคัญคือ พอตามเสด็จครั้งที่ 2 ผมรู้สึกสบายใจมากเลย ไม่กลัว ไม่ตื่นเต้น ไม่ประหม่าอะไรเลย แล้วพอตามเสด็จพระราชดำเนิน ก็รู้สึกผ่อนคลายขึ้น พระองค์ท่านเป็นคนสบายๆ ที่จริงแล้วตลกเงียบ ถ้าเรียกภาษาชาวบ้านคือ ตลกหน้าตาย จะชอบแหย่ ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ
“ในขณะเดียวกัน ข้าราชการก็มีสิทธิ์ให้ความเห็นด้วยได้ เราทำแผนแล้วไปกราบบังคมทูล ขอพระบรมราชวินิจฉัย คือขั้นตอนแผนในตอนนั้น 12 ขั้นตอน แต่ถ้าเป็นตอนนี้คือ 4 ขั้นตอน PDCA คือ Plan Do Check และ Act แต่ว่ายุคผมนี่คือทำกันละเอียด ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ คือผมอยู่สภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งการทำแผนชาติ มันใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งโลก มันก็จะใช้ศัพท์เดียวกันทั้งโลก กับภาษาอังกฤษจะใช้นิยามคำเดียวกันแต่มาแปลเป็นภาษาไทย ก็ประชุมทุกหน่วยงานที่เป็นหน่วยวางแผนของประเทศ ทั้งภาครัฐ ทั้งราชการ ทั้งรัฐวิสาหกิจ ก็ใช้คำๆ เดียวกัน ตีความเหมือนกัน เพื่อสื่อสารกันได้ แต่ระดับโลก เขาจะใช้คำๆ เดียวกัน เพื่อที่จะสื่อสารกันให้ได้ เราก็ทำโดยอาศัยแนวคิดสากล ไปตีความพระราชดำริ ซึ่งเป็นแนวคิดพิเศษเฉพาะเหมาะกับภูมิศาสตร์ไทย มันทำให้เราตีความผิดหมด
“พอไปถวายรายงานขอตรวจสอบที่ท่านพระราชทานพระดำริกับเรา เพื่อที่จะทำแผนสนองพระราชดำริ ว่าไปด้วยกันหรือเปล่า ท่านก็ไม่ตรวจสอบ แล้วท่านก็รื้อหมด จากที่เราทำทั้งหมด เพราะว่า ต่างคนต่างดำริกันเอง บนความเชื่อ ทฤษฎี ตำรับตำราที่ทุกคนเรียนมา ก็ผมเรียนแบบนี้มา ทีมงานที่จบจากแบบต่างๆ ครูบาอาจารย์ผมมาจากอังกฤษ อเมริกา เยอรมัน แต่วิธีคิดของท่านคืออิสระ ท่านเกิดที่อเมริกา แล้วโตที่สวิสก็จริง แต่ว่าท่านรู้จักทั่วโลก เสด็จพระราชดำเนินทั่วโลก ท่านมีเพื่อนทั่วโลก ในขณะเดียวกัน พอมาครองราชย์ตอนอายุ 19 ท่านก็เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยม มีพระสหายทั่วประเทศไทย พูดง่ายๆ คือ ท่านมีเพื่อนสนิทที่เข้าใจวัฒนธรรมไทย กับวัฒนธรรมทั่วโลกมันต่างกัน ท่านคิดบนวัฒนธรรมไทย ฉะนั้นเวลาเราตีความจึงผิด จะต้องมานั่งปรับรื้อแก้กันหมด
“แล้วสิ่งที่เราภาคภูมิใจที่สุด คือ เวลาเราถวายเถียง แซวกันเล่นๆ ในหมู่พวกเรา เวลาถวายรายงาน เราก็ทำข้อมูลเรามาอย่างดี เหมือนเราต่อสู้วิทยานิพนธ์เรา เราก็ปกป้องแผนเราให้ไม่อยากให้แก้ เราพยายามจะอธิบายท่าน มันก็เหมือนเถียงกันแหละ ท่านก็ตั้งใจฟังมาก ผมยังคิดว่า ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของเราเอง ยังไม่ขนาดนี้ เผลอๆ โดนด่าอีกต่างหาก แต่พระองค์ท่านนั่งฟังเงียบกริบจนจบ แล้วท่านก็อธิบายต่อ ท่านให้เกียรติมาก คือนึกไม่ถึงว่าคนเป็นกษัตริย์จะต้องมานั่งฟังเราซึ่งถูกให้ไปรับใช้ท่าน
”บุคลิกของพระองค์ท่านที่ชัดที่สุด คือ ท่านเคารพกฎของประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญ อนุญาตให้ท่านได้ 3 เรื่อง ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา หรือตักเตือน เช่น เราจะออกกฎหมายซักฉบับหนึ่ง ซึ่งถ้าจะไปกระทบคนทุกข์ยาก กระทบกระเทือนเผ่าต่างๆ ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ท่านก็มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ดึงเรื่องไว้ 90 วัน เพื่อให้มีการเตือน ท่านก็ใช้ตามที่เขียนไว้ แล้วก็คำแนะนำที่พระราชทานนั้น ท่านก็รับสั่งชัดเลย เราเป็นที่ปรึกษาทั่วไปเฉยๆ รัฐบาลมีอำนาจตัดสินใจ จะทำตามหรือไม่ก็ได้ ถ้าเขาเห็นว่าสมควรทำดีก็ทำ ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องทำ นี่คือสิ่งที่ท่านพระราชทาน ย้ำให้เราเสมอว่า เราต้องทำบทบาทให้ถูกต้อง ซึ่งหน่วยนี้ตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริ แล้วก็มีเงิน 400 ล้านบาท ในสมัยนั้น โดยบุคลิก ผมว่าท่านเป็นนักประชาธิปไตยสุดๆ คือฟังความคิดเห็น ฟังทุกกลุ่มเท่าเทียมกัน ไม่มีแบบยกเว้นว่า เป็นใครมาจากไหน ท่านฟังหมด และที่แปลกคือฟังเหมือนกัน ฟังเท่ากัน แล้วถ้าฟังอันไหนถูกต้อง ท่านดำริ ก็ทำตามนั้น นี่คือแนวทาง
บรรพบุรุษทำไว้ดีแล้ว
อะไรควรหรือไม่ควร
“ในความทรงจำของผม พระองค์ท่านนอกจากประหยัดโดยส่วนพระองค์อย่างที่ทุกคนเห็น สูทก็ใส่อยู่ชุดเดียว เสื้อก็ใส่ชุดนั้นเป็นหลักอย่างที่คนเห็นอยู่แล้ว แล้วที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน แต่เราได้เห็นคือ ยาสีฟัน ผมว่าทุกคนเห็นตรงกันหมด ไม่ต่างกันหมด แต่สิ่งที่ผมประทับใจ แต่คนไทยไม่ค่อยเชื่อ และไม่ค่อยเห็นก็คือ วิธีทรงงานแบบคนจน ท่านตรัสย้ำเลยว่าเราเป็นคนจน เรากินข้าวกล้อง การทำงานนี่คือ ไม่ได้ทำแบบคนรวย คือถ้าเราไปเรียนรู้วิชาวิศวกรรมชลประทาน มาจากที่ต่างๆ เวลาเขาออกแบบก็เหมือนฐานะประเทศเขา เพราะเขามีเงิน ก็จะแก้ปัญหาประมาณว่า ถ้ามีน้ำท่วม ก็ปิดอ่าวไทย
“ซึ่งประเทศเหล่านี้ GDP มันสูงทั้งนั้น ภายในประเทศเขาเยอะ แต่ของเรายังไม่ถึงเศษเสี้ยวของเขาเลย แล้วเราจะไปทำแบบเขา ผมฟังปุ๊บนี่คือแทงใจมากเลย ผมคิดถึงคำสอนของบรรพบุรุษ ซึ่งพระองค์ท่านยกเอามาเสมอว่า บรรพบุรุษท่านทำไว้ดีแล้ว ท่านรู้ฐานะและกำลัง อะไรควรหรือไม่ควร เมื่อไหร่ควรหรือไม่ควรทำอะไร ตรงไหนควรทำหรือไม่ควรทำ ซึ่งพวกเขารู้ดี เราอย่าอวดดีกว่าบรรพบุรุษ เขาสร้างบ้านเมืองมาเป็นพันๆ ปี แล้วเราลอกแบบฝรั่งมา 50 ปี ก็เจ๊งแล้ว ท่านเลยบอกว่าให้ทำแบบคนจน แต่ประเทศเราก็ไม่จนนะ ท่านว่า ซึ่งถ้าวัดเงินมันอาจจะไม่รวย แต่ถ้าวัดแบบ GDP เราก็เป็นลำดับประมาณ 30 ของโลกเลยนะ วัดพื้นที่เราอาจจะเล็กหน่อย ซึ่งมีที่ดินอย่างจำกัด แต่พื้นที่เราสมบูรณ์นะ แล้วความเป็นที่ราบลุ่มของเราตั้ง 90 กว่าล้าน ปลูกข้าวนี่คือแทบไม่ต้องทำอะไรเลย หว่านเมล็ดแล้วก็ไปเลย ก็กลับมาเกี่ยว อันนี้คือความสมบูรณ์ แล้วต้นทุนการผลิตข้าว ไร่หนึ่งเป็นร้อย ผมจำได้เลยตอนเด็กๆ ไม่เห็นต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรเลย จะมีแค่ค่ากังหัน ซึ่งจะมีแค่ค่าไม้ ทำเองหมดเลย วิดน้ำเข้านา อาจจะมีบ้างที่ลมไม่ค่อยดี ซื้อน้ำมัน นอกนั้นปุ๋ยอะไรไม่ต้องซื้อเลย มันไม่มีต้นทุน ฉะนั้น ข้าวเกวียนละพันกว่าบาท 2-3 พัน ก็มีเงินฝากธนาคารทุกปี ชาวนารวยในยุคนั้น ถ้าทำนาเป็นนะ ก็ไม่ได้รวยมากมาย แต่มีเงินฝากธนาคาร
“ฉะนั้น การทำนาแบบคนจนคือ ให้เหมาะกับฐานะและกำลังของเรา ผมก็นึกถึงคนโบราณที่สอนว่า ช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง อันนี้คือมันประทับใจผมอย่างแรง แบบไม่ติดตำรา เพราะถ้าติดตำรา แบบเศรษฐกิจการค้าเสรี ถ้าคุณจะพัฒนาประเทศให้ร่ำรวยเหมือนเขา คุณต้องทำ 5 ขั้นตอน หรือ เรียกว่า State of Gross ซึ่งก็เปรียบเหมือนเครื่องบิน อย่างเครื่องบินจอดนิ่งๆ ก็ค่อยๆ สะสมพลัง คือติดเครื่องก็เผาน้ำมัน พอใบพัดแรงก็เผาเคลื่อนตัว นี่ขั้นที่ 2 เสร็จแล้วก็เผาน้ำมันอีก นี่เร่งความเร็ว แล้วทะยานขึ้น แล้วติดเพดานในขั้นสุดท้าย แล้วหมด หนังสือหรือตำราก็ไม่ได้อธิบายต่อ แต่มันต้องเดินต่อไป สุดท้ายหัวก็ปักลง เพราะว่าหน้าสุดท้ายแล้วปิดตำรา แล้วไม่รู้ทำไง แต่ชีวิตต้องเดินต่อ ก็ปักหัวลงตอนปี 2540 เลย คือเราพุ่งไป 6-7 แผนนี่พังหมด แล้วก็ต้องมาเปิดหน้า 1 ใหม่ ถอยหลังเข้าคลองอย่างน่ากลัว ท่านตรัสแบบนั้น สิ่งนี้คือประทับใจมาตลอด
“ลองสังเกตดูว่า ตอนนี้ โลกก็หันมาทำถนน ทำรถไฟฟ้า มาเริ่มกันใหม่หมด มาสะสมพลังงานใหม่ แล้วก็ชักชวนทั่วโลกมาลงทุนในบ้านเรา ยกเว้นภาษีให้ ชักชวน สารพัดเลย ชวนให้เขามาลงทุนในบ้านเรา เพราะเราอยากรวย อยากเก็บภาษีเยอะๆ ก็ชวนมาลงทุน นี่คือวิถีทุนนิยม แต่วิถีสังคมนิยมไม่ทำอย่างงื้ ที่สำคัญที่สุดวิถีพอเพียงที่ท่านรับสั่ง ท่านไม่เอา แบบจะให้ขนเงินมา จนเอารวยแล้วเศรษฐกิจภายในประเทศพัง มันเก็บเงินจากไม่กี่บริษัท แล้วมาเข้ากระเป๋ารัฐบาล แต่เศรษฐกิจพื้นฐานของชาวบ้านพังหมด ทรัพยากรหมด ภัยธรรมชาติมา วิถีชีวิตดั้งเดิมพังหมด ไม่เอา ท่านต้องให้รักษาราก ถนอมราก ยิ่งลองไปอ่านหนังสือพระมหาชนก ยิ่งชัดเจนมาก ให้เพาะเมล็ด ให้ถนอมราก เริ่มฟื้นฟู ในวิถีใหม่ ซึ่งเราเป็นเลิศมั่งคั่งในอดีตนะ ใครคิดถึงผ้าแพร เวชสำอาง หรือต่างๆ ก็ต้องมาประเทศนี้ ในความหมายของพระเจ้าแผ่นดิน ประเทศของเรามั่งคั่ง แต่ความมั่งคั่งในความเข้าใจของเราคือ เงิน ซึ่งมันเป็นเศษกระดาษที่เป็นของสมมุติ แต่ความมั่งคั่งของท่านคือของแท้ เช่นมีไม้ที่สวยที่สุด มีไม้ที่เหมาะที่สุด คือป่าเราอภิมหาสมบูรณ์ ทั่วโลกเขาจึงอยากได้กัน ต่างชาติอยากได้ของๆ เราทั้งนั้น ท่านจึงต้องไปคบเพื่อนทั่วโลก เพื่อไม่ให้ใครยึดไปหมด อย่างน้อยก็ขอให้เราได้มาก แต่เราก็โดนอยู่ดี แต่เราก็ถือว่ายังเหนือ
ยิ่งแบ่งปันมากเท่าไหร่
ยิ่งรวยมากเท่านั้น
“คือผมว่าทั้งพระราชชนกและพระราชชนนี สมเด็จย่าเป็นคนสามัญชน ส่วนพระราชบิดาก็เป็นคนเก่งและประหยัด คุณก็รู้ บุคลิกทหารเรือคือบุคลิกพระบิดา คุณว่าในบรรดาทั้งหมด ใครประหยัดที่สุด ก็ต้องเป็นทหารเรือ คือท่านดำรงจนถึงยศเรือเอกแล้ว จึงถูกขอร้องให้ไปเรียนแพทย์ เพื่อจะกลับมาพัฒนาการแพทย์ พอกลับมา มาตั้งโรงเรียนแพทย์สารพัด คนก็เคารพนับถือ ท่านเป็นบิดาแห่งวงการแพทย์ แต่ที่จริงเป็นทหารเรือ บุคลิกเหมือนหมอ เรียบง่าย ซึ่งก็เป็นแบบบุคลิกทหารเรือเช่นกัน ประหยัด มีวินัยมาก ส่วนสมเด็จย่าก็เช่นกัน สอนให้ลูกประหยัด เรียบง่าย ทำอะไรพึ่งตนเอง อยากได้อะไรก็พึ่งตนเอง ไม่ใช่บำเรอ เก็บเงินเอง ผมว่าบุคลิกประมาณนี้คนไทยน่าจะเอาอย่าง บุคลิกแบบนี้ต้องเรียกว่าต้นแบบ”
“พอเราใช้ชีวิตเรียบง่าย มันมีความสุขมาก มันหาความสุขง่าย มันก็รวยสิ ถ้า กินง่าย อยู่ง่าย นอนง่าย ขยันทำงาน และไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มันไม่มีทางเลือก มันต้องรวย ยิ่งเก่งด้วย รวยต้องแบ่งปันคนอื่น ไม่ต้องเก็บเอาไว้ ต้องรวย ความรวยมันวัดที่ว่า มีอะไรให้คนอื่นหรือเปล่า ไม่ได้วัดว่า มีเงินแสนล้านแล้วบอกว่ารวย ซึ่งคำว่าเศรษฐีโดยสัจจะแปลว่า คุณแบ่งปันมากเท่าไหร่ คุณรวยมากเท่านั้น นี่คือศัพท์ที่แท้จริงเป็นอย่างนี้ ซึ่งคนปัจจุบันตีความมั่วไปหมด กลายเป็นคหบดีกลายเป็นคนรวยไป ซึ่งมันไม่ใช่ มันผิดเพี้ยนไปหมด ท่านรวยจริงๆ สมบัติส่วนตัวไม่สะสม มีแต่ของให้คนอื่นหมด มีแต่คนมาถวายให้ท่าน ท่านก็คิดว่าจะเอาไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์ให้กับชาวบ้านดี ผมก็ไปดูไปออกแบบ ว่าแปลงนี้จะทำอะไรดี ชาวบ้านจะใช้ประโยชน์อย่างไร เกิดเป็นโครงการเต็มไปหมด ศูนย์ศึกษาพัฒนาทั้ง 6 แห่ง คนเอามาถวาย ทั้งที่ราชการ ที่ส่วนตัว ที่ส่วนพระองค์ ที่ชาวบ้าน นำมาถวายให้ท่านทำงาน ซึ่งพูดแบบหยาบก็คือ ใช้ท่านทำงานนั่นแหละ (หัวเราะเบาๆ)
ทรงให้พึ่งพาตนเอง
ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
“คุณเห็นแผนที่กับดินสอยางลบหรือเปล่า นี่คืออุปกรณ์ทำงาน แต่ว่าปากกาคนรับใช้อื่นๆ เป็นแบบนี้ครับ (ยกปากกาขึ้นมาประกอบ) คือไม่รู้เท่าไหร่ ทำแจกข้าราชการ แต่ว่านี่คือของท่าน (ยกดินสอขึ้นมาประกอบ) ไม่ต้องอธิบายเลย ซึ่งปากกานี่คือทำใหญ่โตเลย ไม่รู้เท่าไหร่ เรารับราชการ แต่ท่านทำราชการด้วยดินสอ ใช้จนกุด กุดแล้วทำไง เอากระดาษมาม้วน ทำให้เขียนง่ายต่อ นี่คือคนประหยัด ทำไมต้องประหยัดขนาดนั้น ไม่มีเงินซื้อเหรอ เปล่า นั่นมันทรัพยากร
“คุณรู้หรือไม่ อิทธิพลนี้มาจากอะไร มาจากสวิส จากสมเด็จย่า ซึ่งคนสวิส หรือ คนเยอรมัน คุณซื้อของแล้วทิ้งๆ ขว้างๆ เขาแจ้งจับเลยนะ คุณมีสิทธิ์ซื้อ หรือ อาหารมาทิ้งๆ ขว้างๆ เงินของคุณ คุณมีสิทธิ แต่ประชาชนก็มีสิทธิ์จะปรับคุณ เพราะว่าคุณไม่มีสิทธิ์ที่จะผลาญทรัพยากรของทุกคน คุณมีสิทธิ์ทำได้ แต่ถ้าเกินกว่าเหตุ คนอื่นก็มีสิทธิ์ฟ้องคุณเช่นกัน แล้วทางรัฐก็ปรับคุณด้วยครับ นี่คือสังคมที่เจริญแล้ว ท่านฉลาด ท่านรู้วัฒนธรรมเล่านี้ แล้วท่านก็พาทหารเรือไปฝึกที่เยอรมัน เอามาต่อเรือเอง เรามีเรือรบ แต่ซ่อมไม่เป็น เอามาต่อก็ไม่เป็น ซ่อมบำรุงก็ไม่เป็น ดัดแปลงก็ไม่เป็น แล้วจะมีไปทำไม นี่คือดำริของพระองค์ท่าน ท่านก็พาทหารเรือไปดูอู่ต่อเรือ และอู่ซ่อมเรือที่นั่น แล้วก็มาพัฒนากรมอู่ทหารเรือ ตั้งโรงเรียนสอนช่าง แล้วก็ต่อเรือเอง เรือตรวจการ เอาง่ายๆ เรือตรวจยามฝั่ง ความเร็วซัก 40 น็อต ทำเอง มีโต๊ะทำงานเล็กกว่านี้อีก ออกแบบเอง ออกแบบใบพัดว่าทำยังไงถึงจะได้สเป็ก ทำเอง หลักเศรษฐกิจพอเพียง คนเอาไปท่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ผมแปลให้ชาวบ้านฟังง่ายๆ “เฮ็ดเอง พึ่งตัวเก่า” ซึ่งเป็นภาษาเหนือ ส่วนภาษาอีสาน แปลว่า “พึ่งเจ้าของ” พึงตัวเอง นี่ขั้นพื้นฐาน ส่วนขั้นก้าวหน้านี่คือแบ่งปัน ทำบุญทำทาน ก็จะมีเพื่อน พอสังคมเจริญก็จะมีน้ำใจ จึงตรัสเป็นภาษาฝรั่งว่า are lost is again, our lost is our again นั่นคือขั้นตอนความเจริญ แต่ก่อนที่คุณจะไปให้ใคร คุณต้องเหลือกินเหลือใช้ก่อน
“ผมคิดว่ามาจากพระทัยที่เป็นห่วง ท่านรับสั่งกับพวกเราแรงมาก สอนด้วยคำที่ผมถือว่ารุนแรงแต่สุภาพ เวลาเราติดงานหรือทำอะไรไม่ได้ เช่นรับสั่งเนี่ย ชาวบ้านเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ เราก็ต้องไปจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่น่าทำได้ เพราะเราเรียนคนละสาขามา ซึ่งสิ่งที่ท่านให้ทำเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเรียนมา แล้วท่านก็ถามว่า แล้วฉันจบอะไร ทรงงานไม่มีวันหยุด ทำไมไม่หยุด เพราะทุกข์ของชาวบ้านไม่มีวันหยุด จะมาแบบอดข้าวซัก 2 วัน แล้วค่อยเอาไปให้กินนะ มันไม่ใช่ นี่คือทุกข์ของชาวบ้าน แล้วพระองค์ท่านรักชาวบ้าน เรียกว่าลูก เรียกคนรวยว่าลูกคนโต เรียกคนจนว่าลูกคนเล็ก ลูกคนโตชอบรังแกลูกคนเล็ก ต้องลงโทษลูกคนโต เพื่อที่จะไปช่วยลูกคนเล็ก ดูงานพระองค์ท่าน มีช่วยไม่มาก เช่น แก้มลิง และโครงการบึงมักกะสัน แหลมผักเบี้ย เพื่อช่วยกรุงเทพ ช่วยคนเมือง ซึ่งพระองค์ท่านก็ช่วยทั้งหมดในเมือง แต่คนชนบท เกือบ 5000 โครงการ อยู่ในชนบททั่วประเทศ เพราะคนทั้งหมดเขาอยู่บ้านนอก ท่านจึงตะลอนๆ อยู่บ้านนอก นี่คือภารกิจ
“เขาบอกว่าประมุขให้ทำแค่พิธีกรรม แต่ท่านเป็นประมุขประเทศที่ไม่ปกติ คือประเทศที่มีคนยากไร้เยอะแยะ เราไม่เจริญ ปัญหาของ UN ตั้งมาพร้อมๆ กับ ท่านตั้งเป็นกษัตริย์ ยูเอ็นถูกตั้งมาเพื่อความเหลื่อมล้ำของสังคม ท่านก็ถูกตั้งมาเป็นกษัตริย์ ท่านไม่ได้ตั้งเอง ท่านไม่ได้อยากเป็น แต่ท่านถูกตั้งให้เป็น ทั้งๆ ที่ไม่ได้เต็มใจจะเป็น เมื่อเป็นแล้วก็ต้องสู้ ท้อไม่ได้ เพราะว่าเดิมพันสูงมาก คนทุกข์ยากเต็มประเทศไปหมด ท่านไม่ได้อยากทำเพื่ออยากดังนะ ท่านทำเพราะห่วงใย ท่านรักลูกท่าน ถ้าคุณมีลูกก็จะเข้าใจหัวอกพ่อหัวอกแม่ รับสั่งบางเรื่อง ก็ต้องใช้เวลาปีนึง แต่พอผ่านไป 3 วัน ท่านทรงถามแล้วว่า ไปถึงไหน แปลว่าท่านเป็นห่วงใช่หรือเปล่า
ความขาดแคลนไม่เป็นปัญหา
ถ้ามีปัญญาและความอดทน
“ท่านสอนว่าความขาดแคลนหรืออุปสรรค เมื่อจะทำงาน อย่าอ้างความขาดแคลน คุณไปถามข้าราชการ เมื่อทำงานไม่สำเร็จ คาถา 3 อย่างของเขา ไม่มีงบประมาณ ไม่มีกำลังพล เวลาไม่พอ เขาจะตอบอยู่แค่นี้ นี่คือคาถาป้องกันตัวเขา แล้วก็สุดท้าย เขาจึงทำงานไม่สำเร็จ แต่พระองค์ท่านบอกว่า อย่ามาอ้าง ท่านรู้ล่วงหน้าประมาณ 47-48 วัน ถ้าจำไม่ผิด พายุกำลังก่อตัว เล็งแล้วว่ามันจะเข้าชุมพร ประมาณช่วงปี 2541 แต่ผมประทับใจสาระของมัน ท่านก็คำนวณเล็งแล้วว่า เข้าย่านนั้นแน่ แล้วมันเคยท่วมมาแล้ว ท่วมหนักจนอพยพคนเยอะมาก เดือดร้อนไปทั้งภาคใต้เลย ผมก็ไปติดที่ชุมพร คือท่วมทั้งเมืองเลย แล้วพายุจะเข้าลูกใหม่ ท่านก็เรียกนายช่างปราโมทย์ (ไม้กลัด) เรียกกรมชลประทาน บอกว่า มีเวลา 40 กว่าวัน ขุดระบบแก้มลิงหนองใหญ่ให้สำเร็จให้ได้ ซึ่งข้าราชการตอบกลับมาว่า ไม่ทัน ต้อง 1 ปี ท่านก็รับสั่งว่า ต้องทัน ท่านจะทำเอง ไม่เป็นไรฉันให้เงินยืม ไม่มีอะไรต่างๆ ไม่เป็นไรระดมมา สุดท้ายก็ทำจนเสร็จ
“ในตอนแรกชาวบ้านไม่ยอมให้ที่ ติดขุดทางระบาย พระองค์ท่านก็ให้คนของท่านไปติดต่อขอซื้อ เดี๋ยวฉันจะยกให้เอง ขอซื้อที่แปลงนี้ พอชาวบ้านรู้ว่าในหลวงจะซื้อ ก็ถวายเงินส่วนหนึ่ง ขอซื้อส่วนหนึ่ง เพื่อที่จะเอาไปซื้อที่ใหม่ เอาคลองผ่าที่เขาเลย แล้วก็ถวายส่วนหนึ่งเลย ทำงาน 24 ชั่วโมง ระดมเครื่องจักรมาทั้งจังหวัด มารุมกันขุด ใช้เงินเท่าไหร่ไม่เป็นไร พอคนเห็นในหลวงมาเสียสละ ทุกคนก็มาเสียสละ หมดไปประมาณ 20 กว่าล้าน ท่านบอกให้ยืมก่อน แต่เอามาใช้หนี้เรานะ กี่สิบปีก็ไม่รู้ กว่าจะใช้หนี้ท่าน ก็สำเร็จ ความขาดแคลนไม่มีปัญหา ผมก็แปลงคาถาให้ลูกศิษย์ท่องกันทั้งประเทศ “ความขาดแคลนไม่เป็นปัญหา ถ้ามีปัญญาและความอดทน” ความขาดแคลนมันมีปัญหา แต่มันต้องไม่เป็นปัญหากับเรา เลยเอาวิธีคิดแบบนี้มาเป็นคาถาเต็มไปหมดเลย ท่องเป็นคาถาติดตัวฝึกกันไป
“แต่ละปัญหาที่พระองค์ท่านพบเจอแต่ละท้องที่ เหมือนเป็นการแก้ปัญหาแต่ละโจทย์ ท่านก็พยายามให้หลักภูมิสังคม คือมันต้องสอดคล้องกับภูมิศาสตร์ หลักการปฎิบัติ ภูมิศาสตร์แต่ละที่มันไม่เหมือนกัน คุณจะไปทำสูตรสำเร็จเหมือนกันหมด มันเป็นไปไม่ได้ ในแต่ละที่ สังคมคนเมือง สังคมกึ่งเมือง สังคมชนบท สังคมมุสลิม สังคมพุทธ วัฒนธรรมผี สังคมชาวเขาแต่ละเผ่า ไม่เหมือนกัน ภูมิศาสตร์ต่าง สังคมต่าง วิธีปฎิบัติก็ต่าง สะท้อนให้เห็นว่าท่านเคารพ เรียกว่ากาลเทศะ โบราณสอนไว้แล้ว แต่มหาลัยยุคนี้เขาไม่ได้สอน คนยุคนี้จึงไม่สนใจ และไม่เรียนเรื่องกาลเทศะ การณ์นี้ เวลานี้ ควรไม่ควรทำอะไร
“สมัยก่อนรุ่นพ่อเขาจะห้ามเลยว่า วันนี้ห้ามปลูกข้าว วันนี้ห้ามปลูกพริก กาละเทศะนี้ห้ามเลย เดี๋ยวนี้มันมีที่ไหนล่ะ เอาเงินฟาดไปแล้วได้หมด ติดอะไรกูสร้างหมด ไม่สนอะไรทั้งสิ้น ไม่เคยเคารพธรรมชาติเลย นี่คือศาสตร์แบบอหังการของมนุษย์ แต่พระองค์ท่านไม่ได้ประทานศาสตร์ที่เป็นอหังการแบบนี้ ให้เกียรติธรรมชาติ ยกย่องแม้กระทั่งไส้เดือน แม้กระทั่งจุรินทรีย์ คุณว่าถ้าไม่มีไส้เดือน คุณจะสามารถปลูกข้าวงามได้หรือเปล่า ไม่มีทางเลย มนุษย์จะอยู่เหนือธรรมชาติได้เหรอ ไม่มีทาง ไม่มีอากาสหายใจ มึงเอาอากาศอื่นหายใจได้หรือเปล่าล่ะ คุณมีเครื่องมือผลิตออกซิเจนเองได้เปล่า ก็ต้องพึ่งต้นไม้อยู่ดี พลังงานล่ะ เอาหัวมารับพลังงานเองทำได้ที่ไหนล่ะ ต้นไม้ทำหน้าที่แทงใบที่รับพลังแสงอาทิตย์ไป มาเปลี่ยนเป็นต่างๆ ให้มนุษย์กิน แล้วให้มีพลังงานในร่างกาย แล้วจึงมีอุณหภูมิ 37 องศา ก็ได้มาจากดวงอาทิตย์ เราไปหาเองได้ที่ไหนล่ะ พระองค์ท่าจึงเอาจริงเอาจังกับเรื่องพืชพรรณ ธัญญาหาร ไม่อย่างนั้น คงอยู่ไม่รอด
ปฎิบัติให้เห็น ลบคำปรามาศว่าทำไม่ได้
“ผมมองการทำงานของพระองค์ท่าน เหมือนพ่อเป็นห่วงลูก ผมเห็นท่านทุ่มเททำ พอป่วยก็ยังทำ ทรงพระประชวรครั้งแรก ตอน 2524-25 ที่ผ่าตัดบายพาสหัวใจ ยังไม่หายประชวรดี หมอยังไม่อนุญาตให้ทรงงานเลย ลุกขึ้นมาทรงงานแล้ว เรือบิน เฮลิคอปเตอร์ ช่วงนั้นเป็นช่วงวิกฤตรบราฆ่าฟันกันทั้งโลก เฮลิคอปเตอร์ติดต่อกับฐานไม่ได้ เรียกกันอยู่นาน ท่านก็ทนไม่ไหว คว้าวิทยุมา ทำตัวเป็นโอเปเรเตอร์ เรียกเครื่องบินที เรียกฐานที ก็สื่อสารจนนัดติดต่อกันได้เรียบร้อย แล้วท่านก็โดนราชองครักษ์พิเศษ เขียนจดหมายน้อยขึ้นไปประท้วงท่านเลย ว่าหมอเขาห้ามแล้ว ประชาชนเป็นทุกข์เป็นห่วงกัน เขาสวดมนต์ อ้อนวอนกันทั้งประเทศ ให้พระองค์ท่านหายประชวร น่าจะได้ ทำไมท่านยังดื้อ ซึ่งนี่คือ พล.ต.อ. วสิษฐ์ (เดชกุญชร) นี่แหละเป็นคนประท้วง ซึ่งพระองค์ท่านคิดว่าพอทำได้ ไม่ได้ดื้อหมออะไรมากมาย ก็เห็นก็สงสาร ท่านมีทศพิศราชธรรม 10 ข้อนี้มีจริงๆ ไม่ใช่แค่ท่องมา ท่านประพฤติจริง ท่านก็เขียนตอบว่า ก็ไม่ได้เหนื่อยอะไร ก็ทำได้
“ที่สำคัญคือ ท่านอดกลั้นได้อย่างไร สิ่งที่ทรงทำ ท่านก็รู้นะ ท่านรับสั่งกับพวกผมว่าที่ให้ทำไม่เชื่อหรือเปล่า เหมือนเดาใจเราออก อาการมันฟ้องว่าไม่เชื่อ หน่วยงานราชการไม่เชื่อหรอก แต่เรามีหน้าที่ให้สนองตามพระราชดำริ เราก็สนองตามพระราชดำริ แต่ในใจลึกๆ ก็สงสัยว่าจะทำได้จริงหรือเปล่า ในขณะเดียวกันนักวิชาการก็บอกเลยว่าทำไม่ได้หรอก แต่เราก็ต้องทำ ในบางแห่ง ผมก็บอกเลยว่า เมื่อทำไม่ได้ ผมจะประมวลเรื่องกราบบังคมทูลตรงไปตรงมาเลย ว่าเรื่องนี้ไม่ควรทำ ทำไม่ได้ อีกฝั่งบอกเลยว่า ทำๆๆ แต่ทำไร่เดียว เช่น หยุดใช้ปุ๋ยเคมี หยุดฆ่าหญ้า หยุดใช้ยาห่าแมลง ทำเกษตรธรรมชาติ เขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้เลย หน่วยงานราชการบอกเป็นไปไม่ได้ ผมจะกราบบังคมทูล เขาก็ไม่ยอม บอกว่าทำได้ไร่เดียว ไม่ส่งเสริมให้ทำทั้งประเทศ นี่คือความเชื่อเขาไม่มี
“ในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินไปเนี่ย หน่วยงานต่างๆ เขาก็ยืนยันว่าทำไม่ได้ ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ฉีดยา ไม่มีทางได้กินหรอก คือเขาไม่เชื่อพระองค์ท่าน ไปเจอดินดานลูกรัง จนเขาขุดลุกรังขายแล้ว ท่านจะไปฟื้นฟู เราก็คิดในใจว่าจะไปคุ้มยังไง แต่ท่านให้ทำ ถ้าไม่เชื่อ มาดู คอยดู ไม่เกิน 5 ปี พิสูจน์ให้ดู ท่านท้า ท่านก็รู้อาการทุกคนที่ตามเสด็จว่าไม่เชื่อท่าน สุดท้ายก็จำนน ดินดานก็สำเร็จ ดินเค็มก็สำเร็จ ดินเปรี้ยวก็สำเร็จ คือท่านก็รู้ว่าไม่มีคนเชื่อ และท่านก็ไม่มาเขียนตำรา เขียนคนก็ไม่อ่าน เพราะคนไม่เชื่อ เหมือนเริ่มต้นก็ไม่เชื่ออยู่แล้ว เหมือนทำนา ถ้าหยุดปุ๋ย หยุดยาทันที ผลผลิตต่ำลงแน่นอน อย่างน้อยก็ 3-4-5 ปี กว่าดินจะฟื้นตัวใหม่ ต้องตกแน่นอน ผมบอกว่าไม่ตก เพราะคุณทำนาไม่เป็น ถ้าทำนาเป็นเหมือนพ่อผม ไม่มีทางที่ผลผลิตจะตก มีแต่จะเพิ่ม เขาก็ไม่ทางเชื่อ ผมเลยบอกว่า คุณอยากรู้จริงหรือเปล่า คุณไปเอาชาวนามาให้พวกผมสิ เดี๋ยวทำให้ดู เอาแนวคิดพระองค์ท่านมาอบรม พาทำให้ดู แล้วทำทฤษฎีขึ้น ผมก็สร้าง ปรัชญาท่านเป็นบันได 9 ขั้น แบบพอเพียง บันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง แต่เป็นบันไดสู่ความมั่งคั่ง และที่สำคัญคือมันยั่งยืนด้วย เราก็สร้างทฤษฎีดังกล่าวขึ้น
“เกิดเป็นมนุษย์ ต้องหาความรู้ตลอดเวลา”
“ผมว่าเงื่อนไข 2 ตัว ที่ท่านย้ำแล้วย้ำอีก คือ เกิดเป็นมนุษย์ชาตินึงคุณต้องหาความรู้ตลอด อย่าหยุด คิดว่าตัวเองรู้แล้วเมื่อไหร่ เจ๊ง สอง คุณต้องเป็นคนพัฒนาตัวเองให้สูงขึ้น ยิ่งมีตำแหน่งใหญ่เมื่อไหร่ คุณธรรมยิ่งต้องสูงเท่านั้น ตำแหน่งน้อยทำร้ายคนได้ยาก ตำแหน่งน้อย คุณธรรมน้อยไม่เป็นไร แต่ยิ่งอำนาจมากเท่าไหร่ คุณธรรมยิ่งมากตาม อำนาจมากแต่คุณธรรมต่ำ ประเทศไม่รอด ประชาชนทุกข์เข็ญเดือดร้อน เพราะฉะนั้น สองสิ่งนี้มันเป็นคู่กัน ความรู้และคุณธรรมเป็นสิ่งคู่กันนำชีวิตให้พอเพียง นำสังคม นำโลกให้พอเพียง โดยเฉพาะพระราชทานเศรษฐกิจพอเพียงพระราชทานทุกอาชีพ ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะนักวิชาการและนักบริหาร ย้ำนะ ต้องเข้าใจเรื่องความพอเพียง เพราะถ้าที่ว่ามาไม่เข้าใจ ก็จะนำสังคมที่ไม่พอเพียง เพราะฉะนั้นเขาเป็นคนสำคัญ
“นักวิชาการและนักบริหารก็เป็นคนสำคัญ เขาต้องรู้เรื่องความพอเพียง ไม่ใช่ว่าพูดถึงเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องของชาวนา พวกนักบริหารต้องรู้ ยิ่งเป็นนักวิชาการ ยิ่งต้องรู้มากกว่าเขา เพราะไม่เข้าใจความพอเพียง เนื่องจากเป็นนักวิชาการชั้นสูงแล้วไร้คุณธรรมด้วย ไร้ความรู้ด้วย คุณจะพาไปรอดได้ไง เป็นผู้มีตำแหน่งใหญ่โตแต่ขี้เกียจที่จะหาความรู้ใหม่ๆ ยึดติดกับความรู้เดิมๆ ยิ่งเป็นนักปราชญ์หรือราชบัณฑิต ยิ่งต้องรู้ข้อมูลใหม่ๆ โลกจะเกิดอะไรขึ้นก็รู้ ไม่ใช่มายึดติดอยู่กับตำราเดิมๆ แบบนี้บ้านเมืองก็ไปไม่รอด คุณรู้ปรัชญา หรือ ทฤษฎีพอเพียงแค่ไหน คุณรู้วิธีปฎิบัติ ทำเป็นหรือเปล่า และคุณรู้ที่ท่านทรงคิด สร้าง และทำ ถ้าคุณไม่รู้เรื่องเลย ก็อย่ามาอ้าง ทำตัวเป็นอะไรก็พอเพียงๆ มั่วไปเรื่อย ยิ่งนักบริหารหรือที่ว่ามา ยิ่งน่ากลัวถ้าเข้าใจผิดนะ จะนำพาประเทศไปลงเหวด้วย และยิ่งสถานการณ์แบบนี้ด้วย พลิกวิกฤตเป็นโอกาสเลย ต้องรีบทำ เพราะบ้านเมืองไปสู่หายนะไม่รู้กี่เรื่อง คนอดอยากขายข้าวไม่ได้ ชาวนาขายข้าวไม่ได้ ระวังโกลาหลนะ เพราะไม่มีอะไรจะกิน ขายข้าวขาดทุน ระวังขโมยขโจรเต็มเมือง คนจะอพยพเข้าเมือง เมืองจะมีงานรองรับเหรอ เรื่องใหญ่นะ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
“จากสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงให้มา ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องกำลังใจ คือใจสำคัญสุดนะ ตอนนี้คนคิดอะไรไม่ได้ นึกถึงท่านจุดธูป คือเอารูปของพระองค์ท่านแปะข้างฝาแล้วก็กราบ แล้วก็ได้รับความเชื่อ คือกำลังใจมาสำคัญเป็นที่หนึ่ง ‘มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา” ซึงแปลว่า ใจเป็นประธานของทั้งปวง เป็นสิ่งที่ท่านพระราชทานให้ ยิ่งใหญ่กว่าอะไร คือ กำลังใจ อันที่สอง คือ ปรัชญา แต่คนยังเข้าไม่ถึง ยังไม่เข้าใจถึงปรัชญา ยังไปมั่วอยู่ ยังไม่ได้ศึกษาให้ลึกซึ้งว่าปรัชญาเบื้องหลังคืออะไร ยังเข้าไม่ถึงทฤษฎี จากปรัชญามันต้องถูกพัฒนาไปสู่ทฤษฎี จากทฤษฎีต้องนำเข้าสู่ปฎิบัติ ต้องพัฒนาไปสู่ปฎิบัติ จึงจะเห็นผล เหมือนคุณรู้ว่าแกงนี้อร่อย ทำตัวเหมือนทัพพี แช่อยู่ในหม้อแกง ไม่เคยเอามาชิม มันจะไปรู้รสหม้อแกงได้ไง อย่าทำตัวเป็นทัพพีที่ไม่เคยรู้รสแกง คุณต้องมาทำตามพ่อ แล้วคุณจะรู้ว่าอร่อยอย่างไร ซึ่งมันจะอร่อยหรือไม่อร่อย ต้องปฎิบัติตาม และสุดท้าย เมื่อพัฒนาเทคนิค เกิดนวัตกรรมมา เพราะ พระองค์ท่านพระราชทานมาเป็นนวัตกรรม เกิดเรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องเก่าๆ ที่ไหน เป็นเรื่องใหม่ๆ
“ฉะนั้น แต่ละเรื่องนี้ต้องรู้ให้ลึก ไม่ใช่ไปทำเหมือนเดิม คุณปลูกข้าว หยุดใช้ปุ๋ยเคมี แล้วให้ใช้ปุ๋ยสั่งตัด แต่ต้องเป็นเลิกใช้ไปเลย เลิกแล้วผลผลิตต้องได้ไร่เป็นตัน เทคโนโลยีใหม่ ไม่ใช่ไปวนเวียนแต่เดิมๆ แต่ที่สำคัญทรงทำให้ดู ปรัชญา ทฤษฎี ปฎิบัติ เคล็ดวิชาต่างๆ ทรงมี สอนแล้ว นี่คือพระราชทานให้ หนึ่งคือจิตวิญญาณแห่งความพอเพียง ปรัชญา แนวคิด ทฤษฎี ปฎิบัติการ และเทคนิคต่างๆ พระราชทานไว้เยอะแยะ คุณไปดูรางวัลที่โลกยกย่องให้เต็มไปหมดเลย ผมถูกมอบหมายจากประธาน สปท. ให้เป็น บรรณาธิการหนังสือเทิดพระเกียรติ 70 ปี พยายามให้ทีมงาน ซึ่งยังเก็บมาไม่หมดเลย เพราะพระองค์ท่านเสด็จไปทั่วโลก แล้วเราไม่รู้อีกหลายพื้นที่ ท่านไปทำอะไรไว้เยอะเลย แต่เรายังไม่รู้อีกเยอะ”
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : วชิร สายจำปา
จาก http://astv.mobi/AzDFqBE
เพิ่มเติม
คม-ชัด-ลึก ตามรอยพ่อ : ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร(อ.ยักษ์) ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
http://www.tairomdham.net/index.php?topic=12564.0
http://www.sookjai.com/index.php?topic=182277.0
“ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” ผู้สืบสาน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ยึดคำ “พ่อ” สอน
http://www.tairomdham.net/index.php/topic,12431.0.html
http://www.sookjai.com/index.php?topic=181740.0