ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 16, 2016, 12:38:38 am »เมื่อตัวกู ชูคอ
เรื่อง พระไพศาล วิสาโล
“ตัวกู” ของกู ยิ่งยึด ยิ่งเป็นทุกข์ เรื่องราวสอดแทรกธรรมะ จาก พระไพศาล วิสาโล
โดยวิชาชีพเขาเป็นหมอ แต่ในอีกฐานะหนึ่งเขาเป็นวิทยากรที่มีความสามารถ ได้รับเชิญไปบรรยายทั่วประเทศ จึงมีภารกิจต้องเดินทางไปที่ต่าง ๆ อยู่เสมอแต่เนื่องจากเขาไม่ค่อยพิถีพิถันเรื่องการแต่งตัวโดยเฉพาะการหวีผม ภรรยาจึงมักทักท้วงเขาเสมอก่อนออกไปทำงาน
เช้าวันหนึ่งเขามีธุระต้องไปบรรยายเช่นเคย พอภรรยาเห็นหน้าก็บอกเขาให้หวีผมให้เรียบร้อยก่อน ได้ยินเพียงเท่านั้นเขาอารมณ์เสียทันที คิดในใจว่า “พูดอย่างนี้กับกูได้ไง ไม่รู้หรือว่ากูเป็นวิทยากรระดับชาติ” เดชะบุญเขามีสติรู้ทัน ไม่พูดออกไป หาไม่คงเกิดเรื่องกับภรรยาอย่างแน่นอน
ชายผู้นี้โกรธเพราะตัวตนถูกกระทบ รู้สึกว่า “ตัวกู” ถูกกระแทก ทั้งที่คำท้วงติงของภรรยานั้นน่าจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้เป็นสามี แต่ตอนนั้นเขาคงลืมตัวว่าเป็นสามี เพราะกำลังสำคัญตนว่าเป็นวิทยากรระดับชาติ ตอนที่เขาอยู่ในสถานะนั้นมีแต่ผู้คนเคารพนับถือ เชื่อฟังเขา จึงเพลินและหลงติดในสถานะดังกล่าว กระทั่งกลับมาบ้านแล้วก็ยังเอาความเป็นวิทยากรระดับชาติติดมาด้วย พูดอีกอย่างคือติดใจใน “หัวโขน” จึงไม่ยอมวางหัวโขนแม้อยู่กับภรรยาก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นวิทยากรระดับชาติอยู่นั่นเอง จึงไม่พอใจเมื่อถูกภรรยาทักท้วง
อันที่จริงความเป็นสามีก็เป็นหัวโขนเหมือนกัน แต่สำหรับปุถุชน ความเป็นวิทยากรระดับชาติเป็นหัวโขนที่มีเสน่ห์กว่า จึงฉวยมาเป็น “ตัวกู” ก่อนอย่างอื่นและยึดเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อยวางง่าย ๆ ครั้นมีความสำคัญมั่นหมายว่า “กูเป็นวิทยากรระดับชาติ” ตัวกูก็จะมีอาการพองโต ไปไหนก็รู้สึกมั่นใจ แต่เป็นธรรมดาอยู่เอง อะไรที่ใหญ่โตก็ถูกกระทบง่าย และยิ่งพองมากเท่าไหร่ แค่ถูกกระทบเบา ๆ ก็อาจจะแตกได้ง่าย ไม่ต่างอะไรกับลูกโป่งใบใหญ่ ที่แค่โดนใบหญ้าบาง ๆ ทิ่มก็ระเบิดโพละทันที
นอกจากความเป็นวิทยากรระดับชาติแล้ว ยังมีสถานะอื่น ๆ อีกมากมายที่ผู้คนชอบยึดมาเป็นตัวกูเพราะให้ความรู้สึกที่เหนือกว่า เก่งกว่า หรือดีกว่า เช่น ความเป็นนักธุรกิจนักวิชาการ ดอกเตอร์ ศาสตราจารย์ นายพล ผู้จัดการพระครู พระราชาคณะ หรือแม้แต่ความเป็นข้าราชการ
ข้าราชการวัยใกล้ 40 ผู้หนึ่งมาบวชปฏิบัติที่วัดป่าแห่งหนึ่งในพรรษานั้นมีพระหนุ่มลูกชาวบ้านมาบวชด้วยกันหลายรูปแต่ปฏิบัติตัวไม่ค่อยเรียบร้อยจึงถูกพระรูปนั้นตำหนิ พระหนุ่มไม่พอใจ โต้เถียงกลับไป พระรูปนั้นโกรธขึ้นมาทันที นึกในใจว่า “รู้ไหมว่ากูเป็นใคร กูเป็นข้าราชการชั้นเอกนะเว้ย”
ตัวกูที่ยึดติดกับความเป็นข้าราชการชั้นเอก ทำให้พระรูปนั้นลืมไปว่าท่านกำลังเป็นพระอยู่ มิได้เป็นข้าราชการแล้วแต่เนื่องจากสำคัญมั่นหมายว่ากูเป็นข้าราชการ จึงทำใจไม่ได้เมื่อลูกชาวบ้านโต้เถียงตน
ที่จริงแม้กระทั่งความเป็นพ่อแม่ หากยึดมาเป็นตัวกูเมื่อใด ก็ทำให้เป็นทุกข์ได้ง่ายมาก หลายคนเมื่อพบว่าลูกไม่เชื่อฟังตน ความคิดอย่างแรกที่ผุดขึ้นมาก็คือ “ฉันเป็นพ่อ (แม่) แกนะ มาเถียงฉันได้ยังไง” ผลก็คือ โกรธลูกและอาจต่อว่าลูกด้วยถ้อยคำแรง ๆ ที่ทำให้เสียใจในภายหลังทั้ง ๆ ที่มีความรักความเมตตาต่อลูก แต่ในยามนั้นตัวกูที่ผุดขึ้นมาได้ขัดขวางมิให้ความรักความเมตตาแสดงตัวออกมาแต่กลับปลุกเร้าความโกรธให้เกิดขึ้น
คำพูดใด ๆ ก็ตาม แม้เป็นคำด่าว่าก็ไม่ทำให้เราเจ็บปวดได้เลย หากไม่ชูตัวกูขึ้นมารับคำด่านั้น หรือปล่อยให้ตัวกูออกโรงเพียงแค่รู้สึกว่า “กูถูกด่า” เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความทุกข์แก่เรา ในทางตรงข้าม หากเราเอาสติหรือปัญญานำหน้า เมื่อถูกคนทักท้วงต่อว่า ก็หันมาพิจารณาว่าที่เขาพูดนั้นจริงไหม ถูกต้องไหม มีประโยชน์ไหม ทำอย่างนี้นอกจากจะไม่ทุกข์แล้ว ยังได้ประโยชน์อีกด้วย
ปุถุชนแม้ยังละทิ้งความสำคัญมั่นหมายในตัวกูไม่ได้แต่สามารถมีสติรู้ทันเมื่อมันโผล่หรือชูคอขึ้นมา ทำให้มันครอบงำใจไม่ได้ แต่หากเผลอให้มันครอบงำใจ อย่าว่าแต่คำตำหนิติเตียนเลย แค่คนอื่นไม่เรียกเราว่าดอกเตอร์ศาสตราจารย์ ผู้จัดการ ผู้กำกับ นายพล หรือพระอาจารย์
เท่านี้ก็ทำให้ขุ่นเคืองใจแล้ว
จาก http://www.goodlifeupdate.com/30551/healthy-mind/ego/