ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2016, 04:14:46 pm »พระคเณศในอินเดียมีบทบาทใหญ่เป็นเทพแห่งอุปสรรค (ซึ่งรวมการขจัดอุปสรรคและความสำเร็จไปด้วย) และเพราะการปลอดอุปสรรคเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ต้องการ พระองค์จึงกลายเป็น “เทพแห่งการเริ่มต้น” (god of beginning) ของทุกกิจกรรมในชีวิต
จะเริ่มเรียน แต่งงาน ขึ้นบ้าน ประพันธ์หนังสือ ออกรถ เดินทาง ค้าขาย ฯลฯ ใครๆ ก็ต้องบูชาพระองค์ทั้งนั้น
ตามคติอินเดีย พระคเณศมิได้เป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยานะครับ ในคัมภีร์ต่างๆ ไม่เคยระบุบทบาทนี้ของพระองค์เลย
เทพแห่งศิลปวิทยา อักษรศาสตร์และความรู้ทั้งหลายเป็นบทบาทของพระเทวี “สรัสวตี” หรือสุรัสวดี
พระเทวีองค์นี้มีเทวลักษณะเป็นหญิงสาวสวย ทรงพิณ คัมภีร์ ประคำ หรือบางครั้งมีเหล็กจาร สวมอาภรณ์เรียบๆ สีขาว ครบถ้วนสัญลักษณ์แห่งความรู้ทั้งวิชาการ ศาสนาและศิลปะ
ในขณะที่พระคเณศเคยมีบทบาททางอักษรศาสตร์เพียงแค่ทรงทำหน้าที่จดจารเรื่องราวมหาภารตะจากฤษีวยาส ตามตำนานในมหาภารตะเท่านั้น
ไม่ได้ทรงประพันธ์นะครับ แค่ทรงจดตามคำท่านฤษีบอก
แต่ด้วยความที่พระองค์ทรงเป็นเทพแห่งการเริ่มต้น จะร่ำเรียนก็ต้องบูชาพระองค์ (พร้อมๆ กับพระสุรัสวดี) คนอินเดียในปัจจุบันก็เลยถือว่าพระองค์เกี่ยวข้องกับการเรียนไปด้วยกลายๆ
ส่วนในทางศิลปะ ทางอินเดียเขาก็ยังถือว่าพระสุรัสวดีเป็นเทพแห่งศิลปะสืบมาแต่โบราณ
แม้พระคเณศจะมีปาง “นฤตยะ” หรือปางร่ายรำ แต่มิได้ทรงเป็น “นาฏราช” ผู้คิดค้นถ่ายทอดนาฏยศาสตร์แก่ปวงมนุษย์อย่างพระศิวะหรือพระอิศวร อันมนุษย์ควรถือว่าเป็น “บรมครูรำ”
พระคเณศจึงไม่ใช่ครูรำ แต่พระคเณศรำทำไมใครจะทราบได้ เพราะไม่มีตำนานบอก ชะรอยช่างผู้คิดเทวปางคงอยากให้เป็นเหมือนพระศิวะผู้บิดา (ตามปุราณะ) หรือไม่ก็แสดงความสุขร่าเริงอันเป็นลักษณะประจำของพระองค์
ในคติโบราณของเราเอง พระคเณศก็ไม่มีบทบาททางศิลปวิทยา และที่จริงพระองค์มีบทบาทอื่นๆ น้อยมาก (นอกจากเรื่องหมอช้าง)
เราไม่เคยขึ้นต้นคำประพันธ์ต่างๆ (ประณามพจน์) ด้วยการสรรเสริญพระคเณศอย่างอินเดีย
แต่ตำราเรียน “จินดามณี” ของเรากลับมีคำไหว้พระสุรัสวดี และในคำไหว้ครูละครของครูเกษพระรามในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังมีมนตร์สันสกฤตที่สวดถึงพระสุรัสวดี แม้จะไม่มีหน้าโขนหรือรูปเคารพพระองค์ (แต่สุดท้ายเทวีทั้งหลายจะหายไปจากพิธีทั้งหมดในสมัยรัชกาลที่ 6)
พิธีไหว้ครูทั้งโขนละครและดนตรี (โดยเฉพาะของสายหลวง) มีการเชิญเทวรูปหรือหน้าโขนของพระคเณศเข้าพิธี แต่ไม่มีการกล่าวอัญเชิญ ไม่มีคำไหว้ ไม่เรียกเพลง และปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนี้ (เว้นเสียแต่ครูท่านจะปรับตำราให้เข้ากับความรู้ใหม่ๆ ของทางอินเดีย ซึ่งเริ่มมีกันบ้างแล้ว)
ครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ครูผู้ใหญ่ทางดนตรี เคยกล่าวว่า พระคเณศนั้นทางนาฏศิลป์ดนตรีถือว่า “ครูแรง” ผมหาคำอธิบายเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะพระคเณศท่านบทบาทน้อยเหลือเกิน จนกระทั่งกลับมาทบทวนเรื่องพระคเณศกับความเป็นพื้นเมืองใหม่
คือพูดง่ายๆ ว่าตั้งแต่โบราณมาเราไม่ได้ถือพระคเณศอย่างที่อินเดียถือนะครับ เรานำพระคเณศของแขกมาผสมกับ “ผี” ของเรา “พระเทวกรรม” หรือ “ผีครูหมอช้าง” ของเราจึงเข้าไปสวมทับลงในเทวลักษณะพระคเณศที่มาจากเมืองแขก
ผีไหนจะแรงเท่าผีหมอช้างล่ะครับ พระคเณศจึงทรงมหิทธานุภาพ ทั้งๆ ที่ยังคลุมเครือในบทบาท แต่เราก็นับถือท่านในแบบคลุมเครืออย่างนี้มาตลอด
การที่เรานำหน้าโขนหรือเทวรูปพระคเณศเข้าในพิธีไหว้ครูทั้งๆ ที่ไม่มีตำราใดระบุว่าพระองค์มีบทบาททางนาฏศิลป์และดนตรี ไม่มีโองการเชิญหรือคำไหว้ ก็เพราะพระองค์ คือ ผีศักดิ์สิทธิ์ที่จะขาดไปไม่ได้ในพิธีไหว้ครู ถ้านับว่าการไหว้ครูที่จริงแล้วมีพัฒนาการมาจากการไหว้ผี (ของวิชาชีพและศิลปะต่างๆ)
ผมเคยเห็นพิธีไหว้ครูของศิลปะพื้นบ้านต่างๆ เช่น ช่างซอหรือช่างฟ้อน หรือโนรา ก็เห็นได้เลยว่า พิธีไหว้ครูทางดนตรีนาฏศิลป์นั้นมีพัฒนาการมาอย่างไร
มีข้อสังเกตที่น่าสนใจครับ สมัยเมื่อครูอาคม สายาคม ผู้ประกอบพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์เพียงท่านเดียวได้เสียชีวิตลงโดยไม่มีผู้สืบทอด ทางการได้จัดพิธีไหว้ครูและพระราชทานครอบโขนละคร ในปี 2547 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งเป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวเสด็จมาเป็นองค์ประธาน
การตั้งแต่งมณฑลพิธีกระทำโดยเจ้าหน้าที่ในสำนักพระราชวัง ท่านให้เชิญพระพุทธรูปพิเศษเข้าในพิธีถึงสามองค์ เช่น พระชัยนวโลหะและพระ “นิรันตราย”
ที่สำคัญ มีการจัดมณฑลพิธีไม่เหมือนอย่างงานไหว้ครูโขนละครทั่วไป เพราะท่านให้ ตั้งแท่นสำหรับหัวโขนพระพิฆเนศวร์ อยู่ด้านหน้า แยกออกมาจากแท่นหน้าโขนอื่นๆ ทั้งหมด
ที่สำคัญข้างแท่นพระคเณศ มีพานขนาดใหญ่ ตั้ง “บ่วงบาศก์” (คือเชือกปะกำที่ใช้คล้องช้าง) และ “ขอสับช้าง” ไว้ด้วย
ปะกำและขอช้างไม่ใช่ “เครื่องโรง” (เครื่องใช้ในการแสดงโขนละคร) แต่เป็นของที่ศักดิ์สิทธิ์มากๆ ในความเชื่อของหมอช้าง และถือกันว่า “แรง” มาก จึงชัดเจนว่าพระคเณศที่ประดิษฐานอยู่นั้น ทรงมาในฐานะ “ครู” ช้างที่ทรงมหิทธานุภาพ เพื่อปัดเป่าพิฆนจัญไรตามความเชื่อเก่าเกี่ยวกับพระคเณศ ไม่ใช่เทพของทางนาฏศิลป์ (โดยตรง)
แล้วพระคเณศกลายมาเป็นเทพแห่งศิลปวิทยา รวมไปถึงระบำรำฟ้อนในบ้านเราได้อย่างไร?
พระคเณศกลายมาเป็นเทพแห่งศิลปวิทยา ก็โดยพระราชนิยมในรัชกาลที่ 6 ซึ่งในสมัยนั้น เริ่มมีการค้นคว้าความรู้ใหม่ๆ ทางภารตวิทยา
เทพฮินดูที่ถูกเคารพนับถืออย่างไทยๆ จึงถูกทำให้กลับไปเป็นอย่างแขกอีกครั้ง
รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดพระคเณศมาก อาจด้วยทรงเป็นนักประพันธ์ จึงพระราชนิพนธ์บทสรรเสริญพระคเณศไว้ต้นบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ เสมอ
ในบทละครมัทธนะพาธา ทรงประพันธ์ประณามพจน์ว่าพระคเณศเป็นเทพแห่งศิลปะ “เป็นเจ้าสิปปะประสิทธิ์วิวิธะวรรณ วิทฺยาวิเศษสรรพสอน”
ที่สำคัญทรงนำพระคเณศมาเป็นตรา “วรรณคดีสโมสร” ในปี พ.ศ.2457 และพัฒนามาเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมศิลปากรซึ่งขยายขอบเขตของงานศิลปะนอกจากการประพันธ์แล้ว ยังมีอีกเจ็ดแขนง รวมทั้งนาฏศิลป์และวิจิตรศิลป์ด้วย
ตรากรมศิลปากรนี้ยังเชื่อมโยงไปยังตราของมหาวิทยาลัยศิลปากร และที่สุดพระคเณศได้กลายมาเป็นเทพเจ้าประจำของมหาวิทยาลัย
จากพระราชนิยมให้พระคเณศเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ (ซึ่งในรัชสมัยนั้นเน้นวรรณศิลป์) ค่อยๆ คลี่คลายมาสู่การเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาทุกแขนงผ่านความสัมพันธ์กับกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากร
พร้อมๆ กับการค่อยๆ ลืมเลือนพระสุรัสวดีเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาที่แท้จริงตามคติอินเดีย
เหตุไฉน เทวนารีของอินเดีย ซึ่งเดิมมีบทบาทน้อยอยู่แล้ว กลับยิ่งน้อยลงไปอีกในสังคมไทย อันนี้น่าพิเคราะห์อย่างยิ่ง
และการทำให้พระคเณศกลายเป็นทั้งครูหมอช้างและเทพแห่งศิลปวิทยา เป็น “บรมครู” ของศิษยานุศิษย์ เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยแท้
ถูกตอกย้ำให้ชัดเจนขึ้นผ่านสื่อ วงการบันเทิง และวงการวัตถุมงคลที่ยิ่งดูจะพยายามขยายบทบาทของพระองค์ออกไปไม่สิ้นสุด
ทั้งนี้ ความเชื่อดังกล่าวแม้จะไม่เหมือนกับอินเดียก็ไม่ได้แปลว่าผิด กาลเวลาอาจทำให้ความหมายของสิ่งต่างๆ แปรเปลี่ยนไปได้
แต่ทั้งนี้ เราก็ควรรู้ว่า พระคเณศที่เรารักนับถือนั้นมีเส้นทางความเป็นมาของพระองค์อย่างไร
จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_2496