ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 25, 2016, 07:14:54 am »พระไทย วัดไทย ที่เซนต์-ปีเตอร์สเบร์ก (รัสเซีย-ท่องแดนหมีขาว 2)
พระพุทธศาสนา และวัดเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะไปด้วยกันได้ สำหรับประเทศรัสเซีย หรืออดีตสหภาพโซเวียต เดินแดนที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์นาน 76 ปี (ค.ศ.1917-1993) นับแต่เปลียนแปลงการปกครองจากระบบราชาธิปไตย มาสู่ระบบสังคมนิยม การรับรู้ของคนทั่วไปว่ารัสเซียปกครองด้วย “คอมมิวนิสต์” ตามแนวคิดของมาร์กที่ว่า “ศาสนาคือยาเสพติดของประชาชน” (Religion is the Opium of the People ) และเลนิน ก็นำแนวคิดนี้มาใช้ในการปฏิวัติรัสเซีย สตาลินก็นำมาสานตออย่างสุดลิ่ม จึงเป็นเหตุที่ว่ารัสเซียกับศาสนาไม่น่าจะไปด้วยกัน ระบบปกครองดังกล่าวแผ่ไปถึงจีน ลาว เขมร เวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้ก็จะมีภาพของศาสนาและการเมืองที่ขัดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเขมร (กัมพูชา) บ้านใกล้เรือนเคียงไทยเรา เมื่อนำระบบคอมมิวนิสต์ไปใช้ปกครองประเทศ ใน พ.ศ.2518 พระสงฆ์กว่าหกรูปหมื่นทั่วประเทศสึกหายหมดเกลี้ยงประเทศ โบสถ์วิหาร พระพุทธรูปถูกทุบทำลาย ตำราทางศาสนาถูกเผา ตามแต่สติปัญญาของผู้ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์จะนำไปใช้ได้ ส่วนศาสนาอื่นถูกทารุณกรรม ฆ่า และศาสนิกไม่กล้าแม้กระทั่งกระทำพิธีกรรมทางศาสนา แล้วรัสเซียล่ะจะเป็นอย่างไรหนอ….ไม่อยากจะหลับตานึก.!
อาจมีคนท้วงพาเที่ยวไปรัสเซีย ไปเลาะตะเข็บชายแดนเขมรอีกนั่นแหละ เอาน่าเกริ่นหน่อย
หากมองย้อนกลับในประวัติศาสตร์ของรัสเซีย ก็ต้องบอกว่าพระพุทธศาสนาในรัสเซียเคยมี ยังมี และมีต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน
เนื่องด้วยแผ่นดินที่กว้างใหญ่ของรัสเซียสัมพันธ์กับทวีปยุโรป และสองในสามของแผ่นดินรัสเซียอยู่ในทวีปเอเซีย ศาสนาใหญ่ของโลกเกิดจากแผ่นดินทวีปเอเซียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม การข้ามผ่านของศาสนาจากดินเดนหนึ่งไปสู่ดินแดนหนึ่งจึงเกิดขึ้น ศาสนาพุทธเกิดขึ้นที่อินเดีย เข้าเอเซียกลางต่อไปจีน กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งดินแดนทางเหนือของรัสเซียด้วย แต่ระหว่างการปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ก็มีผลกระทบในเชิงการปฏิบัติ แต่ศาสนาสัมพันธ์กับ “จิตวิญญาณ” ถึงแสดงออกไม่ได้ แต่ภายในก็ยังเคารพอยู่
เมื่อระบบการปกครองผ่อนคลาย ศาสนาในใจ ก็มาเป็นศาสนาที่สามารถปฏิบัติทางกาย และการปฏิบัติในชีวิต
หลักฐานเกี่ยวกับการนับถือพระพุทธศาสนาในรัสเซีย สัมพันธ์ไปถึงการส่งสมณทูต 9 สาย ที่พระเจ้าอโศกมหาราชแหงอินเดียส่งไปเผยแผ่แผ่ศาสนายังดินแดนต่าง ๆ ที่รวมทั้งธิเบต มองโกเลีย และไซบีเรีย ดังนั้นชาวพุทธในรัสเซียจึงประกอบไปด้วย 4 ชนชาติ หลัก ๆ ชาวตูวา (Tuva) อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของไซบีเรีย อยู่ระหว่างไซบีเรียกับมองโกเลีย ชนชาติชาติที่สองคือชาวบูเรียตเทีย(Buryatia) ชาวคามึยเคีย(Kalmykia) และชาวจิต้า(Chita)
จากข้อมูลที่พระ ดร.ชาตรี เหมพันธุ์ เจ้าอาวาสวัดอภิธรรมวิหาร เซนต์-ปีเตอร์สเบร์ก ให้กับหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 88 มีนาคม 2551 ไว้ว่า “สาธารณรัฐที่นับถือพระพุทธศาสนามา เป็นเวลาร่วม 500 ปีแล้ว แต่พระพุทธศาสนาเข้าไปฟื้นฟูใน รัสเซียเมื่อประมาณ 250 ปีที่ผ่านมา ยิ่งสมัยก่อนการปฏิวัติก็ได้มีการอนุญาตโดยเฉพาะสมัยของพระนางแคทเธอรีน มหาราชินี เมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้วโดยเป็นการอนุญาตให้ชาวรัสเซียที่นับถือพระพุทธศาสนาสามารถสร้างวัดได้”
ความเลื่อมใสพระพุทธศาสนาของชาวรัสเซียนั้นมีไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยมีหลักฐานปรากฎว่า ประเทศบูเรียตเทีย ก็ได้มีการสร้างวัดในขณะนั้นประมาณ 34 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการสร้างโรงพิมพ์ทางพระพุทธศาสนา สร้างวิทยาลัยสงฆ์ รวมถึงสถาบันการศึกษาขึ้นมา 19 แห่ง หลังจากนั้นใน 4 สาธารณรัฐที่นับถือพระพุทธศาสนา พระนางแคทเธอรีนก็อนุญาตให้มีสมเด็จพระสังฆราชของตัวเอง ซึ่งไม่ได้ขึ้นกับมองโกเลีย และทิเบต
แต่ท้ายที่สุดเมื่อประมาณปี 2480 โดยการนำของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์คนที่สองของรัสเซียก็ได้เข้าไปทำลายวัดวาอาราม 200 แห่ง ที่ตั้งอยู่กระจัดกระจายในสี่สาธารณรัฐ รวมทั้งมีการจับสึกพระสงฆ์หลายหมื่น รูป และบางส่วนก็ถูกฆ่า และห้ามไม่ให้คนนับถือศาสนา เพราะถือว่าศาสนาเป็นยาพิษ ศาสนาเป็นตัวบ่อนทำลายความเจริญทางวัฒนธรรม”
จนกระทั่งเมื่อการปกครองในระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง ใน ค.ศ.1993 ได้มีการผ่อนคลายในเรื่องการนับถือศาสนา และตราไว้ในรัฐธรรมนูญว่าให้มีการนับถือศาสนาได้เสรี พระพุทธศาสนาจึงค่อย ๆ ได้รับการค้นคว้าและศึกษาเพิ่มมากขึ้นจนกระทังปัจจุบัน
พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ด้านขวามือสุด ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ณ วัดธิ เบต กลางกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก
พระพุทธศาสนาในรัสเซียส่วนใหญ่เป็นแบบวัชรยาน นิกายเกลุกปะ แบบธิเบต ในเซนต์-ปีเตอร์สเบร์กมีวัดลามะมหายานอยู่ชื่อว่าวัดกุนเซซอยเน (Gunzechoyney datsan http://dazan.spb.ru/main/ ) ถ้าเห็นคำว่า “ดัทซาน”(Datsan) ให้รู้ได้ทันทีว่านั่นแปลว่า “วัด” โดยวัดนี้ ก่อตั้งนับแต่ พ.ศ.2446 (ค.ศ.1903) ซึ่งถือว่าเป็นวัดแห่งแรกในยุโรป คราวเปิดวัดอย่างเป็นทางการ ใน พ.ศ.2457 (ค.ศ.1914) รัชกาลที่ 6 ของแผนดินสยามก็ทรงส่งพระพุทธรูปร่วมแสดงความยินดีด้วย มีปางนั่งสมาธิและปางอุ้มบาตร สรุปแล้วพระพุทธรูปสัญญาติไทย เดินทางมาอยู่วัดธิเบต ในยุโรป เซนต์-ปีเตอร์สเบร์ก รัสเซีย เมื่อเกือบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ไม่รู้จะหนาวไหม หลวงพ่อ....!!!
ชาวรัสเซียกับการนับถือพุทธศาสนาในปัจจุบันจึงอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ (1) พระพุทธศาสนาในแบบชาติพันธุ์ที่นับถือกันอยู่ก่อนแล้ว (2) และศาสนาพุทธในฐานะเป็นศาสตร์ของความรู้ ทำไมผู้เขียนบอกอย่างนั้น เดี๋ยวจะได้เล่าต่อไป
ย้อนกลับมาเล่าเรื่องต่อเมื่อ คุณ Igor ได้ไปรับที่สนามบินแล้ว ปลายทางคือ วัดอภิธรรมพุทธวิหาร ซึ่งอยูไม่ไกลประมาณ 17 กม.จากสนามบินพุลโคโว (Pulkovo) จึงได้มาพบวัดพุทธแบบเถรวาท (ตามแบบไทย พม่า ศรีลังกา ลาว เขมร) ซึ่งก่อตั้งโดยพระธรรมทูตไทย ที่เป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัย St.Petersburg ซึ่งในอดีตท่านเคยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เรียนจบปริญญาตรี โท เอก และปริญญาเอกอีกสองสาขา จากมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกัน เมื่อเรียนเสร็จก็ได้รับการนิมนต์ให้สอนหนังสืออยู่มหาลัยแห่งนี้ จนกระทั่งมีตำแหน่ง “รองศาสตราจารย์” อันเป็นตำแหน่งทางวิชาการในสายการสอนทางของท่าน
พระดร.ชาตรี นำชาวรัสเซียปฏิบัติธรรม
เกี่ยวอะไรกับวัดไทย วัดเถรวาท และวัดอภิธรรมพุทธวิหาร เซนต์-ปีเตอร์สเบร์ก
เมื่อ พระ ดร.ชาตรี อยู่มานาน 10 กว่าปี ก็เห็นช่องทางว่าจะตั้งวัดและเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ จึงเกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยที่ท่านเรียนอยู่ และสอนอยู่ กลายเป็นวัดแบบเถรวาทในรัสเซีย ดำเนินงานและเป็นเจ้าอาวาสโดยคนไทย โดยจัดซื้ออาคารทำเป็นวัดและเปิดเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ.2549 เมื่อเปรียบเทียบกับวัดไทยในประเทศอื่น ๆ ในยุโรป หรืออเมริกา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทย แต่รัสเซียหาคนไทยแทบจะไม่มี เพราะวันที่มาถึงก็เป็นเสาร์ต่อวันอาทิตย์ ได้เห็นคนรัสเซียวัยหนุ่มสาว และคนที่มีการศึกษามาสวดมนต์ ตักบาตรถวายอาหารพระสงฆ์ และปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ
จากคำบอกเลาของท่านพระอุดร สิทฺธิเมธี พระนักศึกษาหนุ่มจากจังหวัดนครศรีธรรมราช พระทิวทัศน์ บุญชิต จากจังหวัดเลย บวชในคณะอัญนัมนิกาย ที่พกพาความอดทนมาอยู่ยังดินแดนที่ชื่อว่าความหนาวเป็นอาวุธกว่า 1 ปีแล้ว เล่าให้ฟังว่าทุกวันอาทิตย์ชาวรัสเซียมากบ้างน้อยบ้าง จะมาร่วมกันสวดมนต์ปฏิบัติ ตามโอกาสและวาระ โดยเป้าหมายเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา และส่วนใหญ่เป็นปัญญาชน ที่มีความรู้และศึกษาพระพุทธศาสนาผ่านการอ่าน หนังสือและตำรา อย่างเข้าใจและสนใจมาศึกษาพระพุทธศาสนา จากการฝึกฝนปฏิบัติด้วยเอง ซึ่งเป็นภาพแห่งความน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งกับอนาคตของพระธรรมทูตไทย วัดไทย และพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในดินแดนม่านเหล็ก ประเทศที่ได้ชื่อว่าแผ่นดินกว้างใหญ่ที่สุดในโลก สัญลักษณ์นกสองหัว ที่ส่องทั้งยุโรป และเอเซีย ส่วนเจ้า “นกสองหัว” ตามสำนวนไทยจะคบได้หรือไม่ได้ก็โปรดติดตามตอนต่อไป
วัดเปิดวัดอย่างเป็นทางการ พ.ศ.2549
ปัจจุบันวัดอภิธรรมพุทธวิหาร เซนต์-ปีเตอร์สเบร์ก ซึ่งก่อตั้งโดยพระภิกษุชาวไทย รู้จักในชื่อว่า Buddhavihar Saint-Petersburg ที่ตั้ง Dom 182, Ulitza Dashnaya Posyolok Gorelovo Krasnoselskiy Raion Saint-Petersburg 198323 Russia tel.7-812 4210724 ปัจจุบันมีพระธรรมทูตประจำอยู่ 4 รูป คือ ดร.พระชาตรี เหมพันธุ์ ที่เป็นเจ้าอาวาส เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงพระไทยอีก 2 รูป ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโทในคณะ School of International Relations ของมหาวิทยาลัย Saint-Petersburg State University รวมทั้งมีพระรัสเซียอีกรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวรัสเซียที่สนใจพระพุทธศาสนา ท่านไปบวชที่เมืองไทยและเป็นกำลังหลักที่ช่วย ท่านพระดร.ชาตรี เผยแผ่ศาสนากับชาวรัสเซียโดยตรง
พระธรรมทูตนำพาชาวรัสเซียปฏิบัติธรรม
ตกลงมาถึงวัด ก็เล่าเรื่องวัด มาเป็นคนวัด นอนวัด เพื่อวัดใจตัวเองในฤดูหนาว ท่างกลางหิมะโปรยปราย อุณภูมิต่ำว่า -0 สวนลบเท่าไหรก็สุดแท้แต่วัน ปกติเขาจะพาท่องยุโรปหน้าร้อน เพราะมันสวยแบบหน้าร้อน แต่เรางบน้อยเหตุผลจำกัด ก็ต้องพาท่องในฤดูหนาวแล้วกันเป็นบรรยากาศของความเย็น เย็น แล้วก็เย็น บรื๋อ ๆ สะท้านทรวงใน....ไม่รู้จะแพ้ความหนาว จนต้องหาสาวมากอดเหมือนเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ และนายพุ่ม สาคร ไหมหนอ....!!!!
แล้วจะเล่าเรื่องเสน่ห์เวนิชแห่งยุโรปตะวันออก (โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข้อมูลวัดไทยในรัสเซีย
http://buddhavihara.ru/ (วัดไทยในรัสเซีย เป็นภาษารัสเซียอ่านเอาเองนะจ๊ะไม่รู้เหมือนกัน)
จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/khondenthang/2009/01/23/entry-1