ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2016, 04:14:29 pm »ลองจินนาการดูว่า จะต้องใช้จิตที่ละเอียด ความศรัทธา ความเพียรพยายาม และสมาธิแน่วแน่ขนาดไหนจึงจะสร้างงานศิลปะที่เต็มไปด้วยความละเอียดสูงขนาดนี้ได้สักชิ้น แต่นักบวชทิเบตจากวัดเดรปุง (Drepung Loseling Monastery) ในประเทศอินเดียกลุ่มหนึ่งที่กำลังเปิดการแสดงอยู่ที่ The Crow Collection of Asian Art ที่ดัลดัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้ประจักษ์แล้วว่าความเพียรพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จจักอยู่ที่นั่น
เพื่อเป็นการส่งเสริมความสงบและสันติสุขซึ่งจะช่วยเยียวยาโลกใบนี้ นักบวชกลุ่มนี้จึงทุ่มเทแรงกายแรงใจบริกรรมเจริญภาวนาทุกขณะจิตทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน—วันแล้ววันเล่า สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า เริ่มต้นจากการขึ้นแบบร่างบนแท่นวาง แล้วจึงบรรจงเทเม็ดทรายหลากหลายสีผ่านกรวยโลหะแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า chakpur ที่ค่อย ๆ วิ่งไหลลงไปบนแบบที่ร่างไว้กระทั่งออกมาเป็นงานอันวิจิตรบรรจงและมีคุณค่าอย่างสูงในเชิงพุทธศิลป์ที่เราเห็นกันอยู่นี้
คำว่า “มันดาลา” มาจากภาษาสันสกฤต “มันดา (manda)” แปลเป็นภาษาทิเบตคือ “kyil-khor” มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า “ซึ่งล้อมรอบจุดศูนย์กลาง” โดยใช้ความหมายควบคู่ไปกับคำว่า”โพธิ” หรือการตื่น การบรรลุธรรม ซึ้งชี้ถึงสถานที่นั่งภายใต้ต้นโพธิ์ที่ซึ่งการตรัสรู้อย่างสมบูรณ์ได้เกิดขึ้น ส่วนคำว่า “ลา (la)” หมายถึง “วงล้อที่หลอมรวมแก่น” ดังนั้น “มันดาลา” จึงแปลรวมกันว่า “ที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ ในขณะรู้แจ้ง” นั่นเอง ชาวทิเบตเชื่อว่า มันดาลาคือ จักรวาลอันบริสุทธิ์ ที่ซึ่งสิ่งประเสริฐทั้งมวลถูกรวมไว้อยู่ภายในวงกลมศักดิ์สิทธิ์เพื่อถวายเป็นพุธบูชาและถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลยิ่ง เป็นการแสดงออกแห่งภาวะของการรู้แจ้งอย่างถ่องแท้ และบ่อยครั้งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการทำสมาธิ การสร้างมันดาลาถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพุทธศาสนานิกายมหายาน โดยมีการสร้างไว้ในหลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นที่ถือเป็นสุดยอดของการสร้างมันดาลาก็คือ มันดาลาทราย ซึ่งเป็นการสร้างด้วยศิลปะการเพนท์ทรายโดยคณะชี นักบวช หรือลามะผู้ชำนาญและได้รับการฝึกฝนเฉพาะทางมาเป็นเวลานาน เพราะการสร้างมันดาลาชนิดนี้จำต้องอาศัยทักษะและฝีมือเชิงหัตถศิลป์ชั้นสูง และผู้ที่ทำมันดาลาฝีมืดีที่สุดก็คือนักบวชจากอินเดีย เนปาล และทิเบต
เชื่อกันว่ามันดาลาสามารถปลุกจิตวิญญาณภายในซึ่งซ่อนเร้นอยู่ในตัวมนุษย์ได้ การเพ่งไปที่ภาพวาดมันดาลาจะช่วยเปิดจิตที่หยั่งรู้ภายในให้ส่วนดีที่สุดในตัวเราแสดงออกมา หยั่งราก และเจริญงอกงาม และธรรมเนียมของการสร้างมันดาลาทรายของพุทธศาสนามหายานก็คือ เมื่อสร้างแล้วก็ต้องการทำลายทิ้ง ซึ่งเป็นการกระทำเชิงสัญญลักษณ์ที่สื่อถืงความไร้แก่นสาร และความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต ดั่งปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในมันดาลาทรายนี้ คือ “ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรยั่งยืน สังขารไม่เที่ยง” หลังการทำลายทรายจะถูกรวบรวมไว้ ส่วนหนึ่งจะแจกจ่ายให้แก่ผู้ร่วมงานเมื่อจบพิธี และอีกส่วนที่เหลือจะถูกนำไปทิ้งลงสู่แหล่งน้ำเพื่อเป็นการกระจายพรแห่งการบำบัดรักษาออกไปสู่ผู้อื่น
Read More: http://www.portfolios.net/profiles/blogs/incredible-mandalas-created-by-tibetan-monks-3#ixzz4RFRu3uTB
เพิ่มเติม