ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
คนที่มีจิตใจอ่อนโยนส่วนใหญ่มัก คิดถึงสิ่งใดก่อนเสมอ  ( เลือกตอบแค่ ตัวเอง กับ คนอื่น ครับผม ):
คุณเชื่อในศรัทธาของความดีไหมครับ ( เลือกตอบแค่ เชื่อ กับ ไม่เชื่อ ครับผม):
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
คุณเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆแนวธรรมะในจิตใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ความดีนำทาง:
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
คุณพ่อคุณแม่เปรียบดั่งพระอรหันต์ในบ้าน พิมพ์คำว่า "คุณพ่อคุณแม่ฉันรักและเคารพท่านดุจพระอรหันต์":
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
สำนวนไทยที่ว่า แต่ละคนต่างมีรสนิยมแตกต่างกัน หรือไม่ตรงกัน  พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ลางเนื้อชอบลางยา):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: ธันวาคม 17, 2016, 09:56:45 am »

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
เนื้อหาบทที่ 3 ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

3.1   ประวัติความเป็นมา
3.2 ประวัติศาสดา
3.3 คัมภีร์ในศาสนา
3.4 หลักคำสอนที่สำคัญ
3.5 ตรีมูรติในศาสนาพราหมณŒ-ฮินดู
3.6 พระเจ้าสูงสุดของศาสนาพราหมณŒ-ฮินดู
3.7 หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุด
3.8   พิธีกรรมที่สำคัญ
3.9 นิกายในศาสนา
3.10 สัญลักษณ์ของศาสนา
3.11 ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน

แนวคิด
1.   ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เกิดในประเทศอินเดียเมื่อประมาณ 1000 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็นศาสนาที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก เจ้าลัทธิ หรือผู้แต่งตำรา มีทั้งหมด 19 ท่าน สิ่งเคารพสูงสุด 3 อย่างของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เรียกว่า ตรีมูรติ ได้แก่ มหาเทพ 3 องค์ คือ พระพรหม พระนารายณ์ และพระศิวะ

2.   คัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ศรุติ ได้แก่ คัมภีร์พระเวท ทั้ง 4 ได้แก่ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอถรรพเวท สมฤติ เป็นคัมภีร์ขั้นสอง เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดกันสืบมา มีการแต่งตำราประกอบขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนในการศึกษาคัมภีร์พระเวท เรียกว่า คัมภีร์เวทางคศาสตร์

3.   หลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่สำคัญมีอยู่ 4 ประการคือ หลักอาศรม 4 หลักการปฏิบัติระหว่างบุคคล หลักปรมาตมัน และหลักโมกษะ ซึ่งถือว่าเป็นหลักความดีสูงสุดในศาสนา และในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีจุดหมายสูงสุดของชีวิต คือ ความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระพรหมหรือปรมาตมัน

4.   ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีสัญลักษณ์ คือ เครื่องหมายอักษรเทวนาครี เรียกว่า โอม และมีนิกายอยู่มากมาย นิกายสำคัญและมีผู้นับถือเป็นจำนวนมากมีอยู่ 3 นิกาย คือ นิกาย ไวษณวะ นิกายไศวะ และนิกายศักติ

วัตถุประสงค์
1.   เพื่อให้นักศึกษามองเห็นภาพรวมประเด็นที่เป็นสาระสำคัญทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูได้อย่างสมบูรณ์

2.   เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจและสามารถอธิบายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของศาสนา ประวัติศาสดา คัมภีร์สำคัญ หลักคำสอนที่สำคัญ หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูได้อย่างถูกต้อง

3.   เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจและสามารถอธิบายเกี่ยวกับพิธีกรรม วันสำคัญ นิกาย สัญลักษณ์ และฐานะปัจจุบันของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูได้อย่างถูกต้อง

3.1 ประวัติความเป็นมา
ก่อนที่จะได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ศาสนาพราหมณ์และศาสนาฮินดูเป็นศาสนาเดียวกัน เพราะถ้าแยกเป็นคนละศาสนา คือ เป็นศาสนาพราหมณ์และศาสนาฮินดู ย่อมหมายความว่า ศาสนาพราหมณ์ได้ตายไปแล้ว และศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วศาสนาพราหมณ์มิได้ตาย และศาสนาฮินดูก็มิได้เกิดขึ้นมาใหม่ แต่ได้พัฒนามาจากศาสนาพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง ศาสนิกผู้นับถือศาสนาดังกล่าวตลอดจนผู้นำทางศาสนาก็ได้ให้คำอธิบาย และยอมรับว่าศาสนาพราหมณ์กับศาสนาฮินดูเป็นศาสนาเดียวกัน จึงเรียกรวมกันว่าศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับตั้งแต่ชนชาติอารยันเริ่มถิ่นฐานในประเทศอินเดีย จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทำให้มีชื่อนับตั้งแต่เริ่มแรก เรียกว่า ศาสนาสนาตนะ แปลว่า ศาสนาที่ดำรงอยู่นิจนิรันดร์ ไม่มีวันเสื่อม ต่อมาเกิดคัมภีร์พระเวท เรียกว่า ไวทิกธรรม แปลว่า ธรรมที่ได้จากพระเวท ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นอารยธรรม แปลว่า ธรรมอันดีงาม เมื่อพวกพราหมณ์มีอิทธิพลทางศาสนาจึงได้ชื่อว่า ศาสนาพราหมณ์ธรรม แปลว่า คำสอนของพราหมณาจารย์ จนกระทั่งได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางศาสนา จึงได้ชื่อใหม่ว่า หินทูธรรม หรือฮินดูธรรม แปลว่า ธรรมที่สอนลัทธิอหิงสา คำว่า อหิงสา แปลว่า การไม่เบียดเบียน

สืบเนื่องมาจากการที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลาอันยาวนาน ทำให้แนวความคิดทางศาสนาแตกต่างกันออกไปมาก ดังนั้นการที่จะศึกษาศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและการพัฒนาทางด้านแนวคิดทางศาสนาให้กระจ่างยิ่งขึ้นนั้น เราต้องศึกษาเกี่ยวกับการแบ่งยุคสมัยของศาสนากันก่อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนักปราชญ์ทางศาสนาได้แบ่งยุคของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูออกอย่างกว้างๆ เป็น 3 ยุคด้วยกัน คือ ยุคพระเวท (อยู่ในช่วงประมาณ 1,000-100 ปี ก่อนพุทธกาล) ยุคพราหมณ์ (ประมาณ 100 ปี ก่อนพุทธกาล ถึง พ.ศ. 700) และยุคฮินดู (ตั้งแต่ พ.ศ. 700 เป็นต้นมา) แต่สำหรับตำราเล่มนี้ เพื่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุดต่อนักศึกษา ในการที่จะได้เห็นถึงพัฒนาการในแง่ประวัติศาสนาได้อย่างชัดเจนและลุ่มลึกไปตามลำดับ จึงขอนำเสนอหลักการแบ่งตามแนวทางของท่านเสถียร โกเศศ และนาคะประทีป1) โดยแบ่งยุคสมัยออกเป็น 11 ยุค ดังนี้

1.   สมัยดึกดำบรรพ์   ระยะเวลาประมาณ 1,000 ปี ก่อนพุทธกาล
2.   สมัยพระเวท   ระยะเวลาประมาณ 957 - 475 ปีก่อนพุทธกาล
3.   สมัยพราหมณ์   ระยะเวลาประมาณ 257 ปีก่อน พ.ศ. - พ.ศ. 43
4   สมัยฮินดูเก่า (ฮินดูแท้) ระยะเวลาประมาณ 57 ปีก่อน พ.ศ. - ต้นพุทธกาล
5.   สมัยอุปนิษัท   ระยะเวลาประมาณ 57 ปีก่อน พ.ศ. - ต้นพุทธกาล

6.   สมัยสูตร   ระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 60 - พ.ศ. 360
7.   สมัยอวตาร   ระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 220 - พ.ศ. 660
8.   สมัยเสื่อม   ระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 861 - พ.ศ. 1190
9.   สมัยฟื้นฟู   ระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 1200 - พ.ศ. 1740
10.   สมัยภักดี   ระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 1740 - พ.ศ. 2300
11.   ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูปัจจุบัน   ระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 2300 - ปัจจุบัน

3.1.1   สมัยดึกดำบรรพ์
อินเดียในยุคโบราณ แต่เดิมเป็นที่อาศัยของชนพื้นเมืองเดิมที่เรียกว่า ทราวิฑ หรือดราวิเดียน (Dravidian) หรือมิลักขะ ซึ่งมีเผ่าย่อยๆ อีกหลายเผ่า แต่รูปร่างลักษณะคล้ายกัน คือ รูปร่างเล็ก ผิวดำ จมูกรั้น ต่อมาพวกอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European) หรืออารยัน ซึ่งมี ลักษณะผิวขาว จมูกโด่ง รูปร่างสูงใหญ่ ซึ่งเดิมอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโวลกา แม่น้ำอูราล ทะเลสาบแคสเปียน ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา และแม่น้ำยมุนา เมื่อมีกำลังคนมากขึ้น จึงได้แผ่ขยายอำนาจเข้ามายึดครองดินแดนของชนพื้นเมืองเดิม ซึ่งก็คือชาวทราวิฑหรือมิลักขะ และได้จัดการปกครองอย่างเป็นระบบ ตลอดจนพัฒนาความเชื่อ ทางศาสนา โดยยกย่องเทพของตนอยู่เหนือชนพื้นเมืองเดิม ซึ่งแต่เดิมชาวมิลักขะนับถือธรรมชาติ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ เชื่อว่าธรรมชาติทั้ง 4 เป็นเทพเจ้า มีตัวตน มีชีวิตจิตใจ ประทับอยู่บนสวรรค์ จึงมีพิธีบวงสรวงเทพเจ้าด้วยไฟ เพราะเชื่อว่าควันไฟที่ลอยขึ้นสู่เบื้องบน เป็นสื่อนำความประสงค์ของผู้สังเวยไปแจ้งให้เทพเจ้าทราบ และการที่ไฟไหม้เครื่องสังเวยหมดไป คือ การเสวยเครื่องสังเวยของเทพเจ้า

ส่วนศาสนาเดิมที่ชาวอารยันนับถือก่อนอพยพเข้าสู่อินเดียนั้น ได้แก่ การนับถือธรรมชาติและวิญญาณบรรพบุรุษ ธรรมชาติที่ชาวอารยันนับถือว่าเป็นเทพเจ้า คือ

1.   พระอินทร์   เป็นเทพผู้บันดาลสรรพสิ่งทั้งหลายให้เกิดขึ้นในโลก
2.   พระสาวิตรี   เป็นเทพแห่งแสงสว่างและความร้อน
3.   พระวรุณ   เป็นเทพแห่งความเย็น ความชุ่มชื้น
4.   พระยม   เป็นเทพแห่งความตาย

ชาวอารยันถือว่า เทพทั้ง 4 นี้เป็นเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ รักษาทิศทั้ง 4 ของโลก จึงเรียกว่า โลกบาล พิธีบูชาเทพเจ้าจะกระทำควบคู่กับพิธีบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ด้วยการนำอาหารไปวางที่พื้นดิน เรียกว่า พลี

หลังจากที่ชาวอารยันเข้ามาปกครองชาวมิลักขะแล้ว ได้ปรับเทพเจ้าที่ตนนับถือเข้ากับเทพเจ้าของชาวมิลักขะ โดยสร้างเทพเจ้าอัคนีขึ้นใหม่ เพราะเห็นว่าชาวมิลักขะนิยมบูชาไฟ แต่ให้อยู่ในฐานะเป็นเทพบริวารของพระสาวิตรี เพื่อให้ชาวมิลักขะสำนึกตนอยู่เสมอว่าอยู่ภายใต้ อำนาจการปกครองของอารยัน

3.1.2 สมัยพระเวท
ในช่วงเวลานี้ ชาวอารยันสร้างเทพเจ้าขึ้นใหม่หลายองค์ จัดแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1   เทพเจ้าแห่งสวรรค์ ได้แก่ วรุณ สูรยะหรือพระอาทิตย์ สาวิตรี วิษณุ อุษามิตระ อทิติ อรรยมัน และอัศวิน
กลุ่มที่ 2   เทพเจ้าในอากาศ ได้แก่ วาตะ อินทระ รุทระ ปรรชันยะ มารุต
กลุ่มที่ 3   เทพเจ้าบนพื้นโลก ได้แก่ อัคนี โสม และยม

นอกจากนี้ยังมีการฆ่าสัตว์บูชายัญรวมทั้งการถวายน้ำโสมประกอบกับการขับกล่อม พิธีกรรมในสมัยนี้จึงมีความซับซ้อนมากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมา คือ พราหมณ์ ซึ่งมีหน้าที่ประกอบพิธีกรรม พราหมณ์จึงมีอำนาจมากขึ้น และทำหน้าที่แตกต่างกันไปดังนี้

พวกที่ 1   ทำหน้าที่บูชาเทพ   เรียกว่า   พราหมณ์โหรตา
พวกที่ 2   ทำหน้าที่สวดขับกล่อม   เรียกว่า   พราหมณ์อุทคาดา
พวกที่ 3   ทำหน้าที่จัดพิธีกรรมตามลัทธิ   เรียกว่า   พราหมณ์อัธวรรยุ

พราหมณ์ทั้ง 3 พวกนี้ จะปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อเนื่องกันตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีพราหมณ์อีกพวกหนึ่งเรียกว่า พรหมาŽ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการประกอบพิธีกรรม ทำหน้าที่ควบคุมการบูชายัญให้ถูกต้องตามคัมภีร์พระเวท ในแต่ละครั้งที่ทำพิธีบูชาเทพเจ้าต้องมี การเชิญวิญญาณบรรพบุรุษมาร่วมพิธีด้วยเสมอ ในสมัยนี้พราหมณ์แข่งขันกันสร้างศรัทธา จึงมีการคิดค้นพิธีกรรมเพื่อสร้างความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์และสงวนรูปแบบเคล็ดลับเฉพาะกลุ่มของตนเท่านั้น สถานศึกษาของพราหมณ์จึงได้เกิดขึ้น

การที่ยุคนี้ได้ชื่อว่า ยุคพระเวท เพราะพราหมณ์ได้รวบรวมบทสวดขับต่างๆ ไว้เป็น หมวดหมู่ จึงเกิดเป็นคัมภีร์ทางศาสนาฉบับแรกขึ้น เรียกว่า ฤคเวท เป็นคำฉันท์สำหรับสวดอ้อนวอนและสรรเสริญพระเจ้า ตลอดจนเป็นบทสวดขับกล่อมสำหรับพิธีถวายน้ำโสมและโศลกผสมร้อยแก้วอธิบายวิธีประกอบพิธีกรรมบวงสรวงพระเจ้า คัมภีร์ฤคเวทนี้พราหมณ์เชื่อว่า เป็นศรุติ คือ เป็นเสียงทิพย์ที่ได้ยินมาจากพรหมซึ่งเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์และสร้างบรรพบุรุษของพราหมณ์

ต่อมาพราหมณาจารย์ได้คัดเลือกบทที่ผูกไว้เป็นมนต์ สวดขับในคัมภีร์ฤคเวทเอามา จัดใหม่เป็นอีกหมวดหนึ่ง เพื่อเป็นคู่มือของพราหมณ์อุทคาดาในการทำพิธี หมวดที่คัดออกมานี้ เรียกว่า สามเวท ใช้สวดในพิธีบูชาน้ำโสมแก่เทพเจ้า

นอกจากนี้ ยังมีคู่มืออีกหมวดหนึ่งคัดเอาแต่หมวดมนต์โศลก และหมวดคำร้อยแก้ว ซึ่งว่าด้วยพิธีทำพลีกรรมมารวมกัน สำหรับให้พวกพราหมณ์อัธวรรยุใช้ในพิธี เรียกหมวดนี้ว่า ยชุรเวท

ดังนั้น เมื่อรวมฤคเวทกับสามเวทในภายหลังแล้ว จึงเรียกว่า ไตรเพท ยุคพระเวทได้ สิ้นสุดลงเมื่อกำเนิดเทพเจ้าองค์ใหม่คือ พระพรหม

สิ่งที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งในสมัยพระเวท คือ การแบ่งบุคคลในสังคมออกเป็น 4 ประเภท เรียกว่า วรรณะ คำว่า วรรณะ แปลว่า สีผิว สันนิษฐานว่าการแบ่งชั้นคนในระยะแรกน่าจะถือตามสีผิว ซึ่งแต่เดิมมีเพียง 2 วรรณะ คือ พวกผิวดำ ได้แก่ พวกทราวิฑ (ดราวิเดียน) กับพวกผิวขาว ได้แก่ พวกอารยัน ซึ่งในเวลาต่อมาได้แบ่งออกเป็น 4 วรรณะ คือ

1.   วรรณะพราหมณ์ มีหน้าที่ติดต่อกับเทพเจ้า สั่งสอนศาสนาและประกอบพิธีกรรมแก่ประชาชนทุกวรรณะ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ศึกษา จดจำ และสืบต่อคัมภีร์พระเวท และเป็นปุโรหิตให้แก่กษัตริย์ พราหมณ์มักจะถือว่าตนเป็นวรรณะสูงสุดในสังคม เพราะเกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้าตามที่อ้างไว้ในคัมภีร์พระเวท

2.   วรรณะกษัตริย์ ได้แก่ นักรบ ทำหน้าที่ป้องกันชาติบ้านเมืองและทำศึกสงคราม ขยายเขตแดน ในคัมภีร์ฤคเวทกล่าวว่า วรรณะกษัตริย์เกิดจากพระพาหา (แขน) ของพระผู้เป็นเจ้า

3.   วรรณะแพศย์ เป็นวรรณะของคนส่วนใหญ่ในสังคม ได้แก่ ผู้ประกอบพาณิชยกรรม เกษตรกรรม และศิลปหัตถกรรมต่างๆ วรรณะแพศย์เกิดจากพระโสณี (ตะโพก) ของพระผู้เป็นเจ้า

4.   วรรณะศูทร เป็นวรรณะของพวกกรรมกร ผู้ทำงานรับจ้างที่ต้องใช้แรงงานแบกหาม หรือให้บริการแก่วรรณะอื่นๆ วรรณะศูทรถือเป็นวรรณะต่ำสุด เพราะเกิดจากพระบาท(เท้า) ของ พระผู้เป็นเจ้า

ในสมัยพระเวท คนในสังคมส่วนใหญ่จะอยู่ในวรรณะแพศย์ แต่ในปัจจุบันวรรณะศูทร มีจำนวนมากที่สุดคือ 61% ของประชากรอินเดียทั้งหมด และคนพวกนี้ได้แก่ คนชั้นกรรมาชีพ โสเภณี และกรรมกร

นอกจากนี้ ยังมีพวกนอกวรรณะซึ่งเกิดจากการแต่งงานข้ามวรรณะ เรียกว่า จัณฑาล พวกนี้เป็นที่รังเกียจของทุกวรรณะ การแบ่งวรรณะดังกล่าวคงเกิดจากการแบ่งแยกตาม เผ่าพันธุ์ด้วย นักปราชญ์ส่วนใหญ่สันนิษฐานว่า บรรดานักบวชและพ่อค้าเผ่าอารยันได้กลายเป็น วรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ ส่วนทาสของอารยันได้กลายมาเป็นวรรณะศูทร บรรดาเจ้าถิ่นชมพูทวีปแต่เดิมและชนเผ่าล้าหลังอื่นๆ เป็นพวกนอกวรรณะ และค่อยๆ ถูกจัดรวมเข้าในวรรณะต่ำ

ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์มีความหมายแสดงไว้ว่า วรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์เป็นอารยะ ส่วนวรรณะศูทรและนอกนั้นเป็นอนารยะ ซึ่งการแบ่งชั้นตามระบบวรรณะของสังคมฮินดูเป็นเครื่องมือสงวนและจำกัดสิทธิ์ในการประกอบอาชีพและกิจการทั้งหลาย

3.1.3 สมัยพราหมณ์
ในสมัยนี้ ชาวอารยันได้ยึดครองตอนเหนือของอินเดียทั้งหมด จึงเกิดเป็นแว่นแคว้นต่างๆ แต่ละแคว้นต่างมีอิสระไม่ขึ้นต่อกัน เช่น แคว้นปัญจาละ แคว้นอโยธนา แคว้นกุรุเกษตร เป็นต้น พระราชาและขุนนางผู้ใหญ่ต่างก็มีกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน จึงใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย ส่วนชนชั้นกลางที่ไม่มีที่ดินต่างไปประกอบอาชีพค้าขายจนร่ำรวย พวกพื้นเมืองเดิมที่อยู่ใต้อำนาจของอารยันซึ่งเรียกว่า ทัสยุ ได้กลายเป็นชนชั้นศูทร ซึ่งเป็นชนชั้นต่ำที่ชาติอารยันทุกชั้นจะร่วมสมาคมไม่ได้

เนื่องจากชาวอารยันเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า และการทำพิธีพลีบูชา เพราะเหตุว่า ถ้าการประกอบพิธีกรรมเป็นไปอย่างถูกต้องจนเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าแล้ว จะทรงเมตตาประทานพรให้สมปรารถนา และถ้าผู้ประกอบพิธีกรรมมีความมานะพากเพียรจนถึงที่สุดก็อาจเปลี่ยนสถานภาพจากมนุษย์ธรรมดาไปเป็นเทพเจ้าได้ ในยุคสมัยนี้พราหมณ์เป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดในจิตใจของประชาชน เพราะเป็นผู้ผูกขาดความรู้ในการประกอบพิธีกรรม และเป็นชนชั้นเดียวเท่านั้นที่สามารถติดต่อกับพระเจ้าได้ และผลจากการยกย่องสถานภาพของพราหมณ์ทำให้เกิดค่านิยมในการประพฤติพรหมจรรย์ และเชื่อกันว่าสามารถยกสถานะให้เท่าเทียมกับพระราชาได้ จึงเกิดการสละครอบครัวและทรัพย์สมบัติออกบวชกันเป็นจำนวนมาก ทำให้มีลัทธิใหม่ๆ เกิดขึ้น สมัยนี้จึงได้ชื่อว่าสมัยพราหมณะหรือพราหมณ์

หน้าที่ของพราหมณ์
พราหมณ์เป็นชนชั้นสำคัญของสังคม มีหน้าที่เฉพาะ ชนชั้นอื่นไม่สามารถทำหน้าที่แทนได้ หน้าที่ของพราหมณ์มีดังนี้

1.   เป็นผู้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งมีระบบแบบแผนที่ซับซ้อน เช่น พิธีกรรมใน การราชาภิเษกที่เรียกว่า ราชสูยะ พิธีปล่อยม้าอุปการ เรียกว่า อัศวเมธ และบุรุษเมธ ซึ่งเป็น การบูชายัญมนุษย์ พิธีเหล่านี้คนทั่วไปไม่อาจทำให้ถูกต้องได้โดยปราศจากพราหมณ์

2.   เป็นผู้อธิบายเทพเจ้าองค์ใหม่ที่เกิดขึ้น คือ พระพรหม เพราะแต่เดิมนั้น พราหมณ์ยกย่องพระอินทร์บ้าง พระรุทระบ้าง ต่อมาภายหลังความคิดได้เปลี่ยนแปลงไป โดยยกให้พระพรหมเป็นเทพสูงสุดเพียงองค์เดียว เพราะเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่ง ทรงสถิตอยู่ในทุกสิ่ง พราหมณ์จึงต้องมีหน้าที่อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ได้รู้ซึ้งถึงอันติมสัจจ์และมรรควิธีที่จะเข้าถึงด้วยการทำความดีและการบำเพ็ญตบะ

นอกจากพระพรหมแล้ว ยังมีเทพเจ้าที่เกิดใหม่อีก 2 องค์ คือ พระศิวะ ซึ่งแต่เดิมเป็นเทพแห่งภูเขา และพระวิษณุ ซึ่งแต่เดิมเป็นเทพแห่งทะเลและมหาสมุทร

3.   เป็นผู้สร้างคัมภีร์ใหม่ 2 คัมภีร์ คือ
คัมภีร์อรัณยกะ หรือบทเรียนในป่า เป็นคู่มือเบื้องต้นสำหรับผู้สละเรือน ประพฤติพรหมจรรย์ ไปใช้ชีวิตในป่า ที่เรียกว่า วานปรัสถ์ บุคคลเหล่านี้มีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังในบรรณศาลา หรืออาจอยู่รวมเป็นกลุ่มในอาศรม นุ่งห่มด้วยเปลือกไม้หรือหนังสัตว์ ขมวดผมมวยสูง ใช้ชีวิตในป่าโดยอาศัยผลไม้และบำเพ็ญตบะด้วยการทรมานร่างกายเพื่อชำระวิญญาณให้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นวิธีที่เชื่อกันว่าจะช่วยให้เข้าถึงพรหมและมีอิทธิฤทธิ์เหนือเทวดาและมนุษย์ ผู้ที่ประสงค์จะบวชเป็นฤาษีจำเป็นต้องศึกษาความรู้เบื้องต้นก่อน จึงเกิดคัมภีร์อรัณยกะขึ้นมา

คัมภีร์อาถรรพเวท ประกอบด้วยคาถาต่างๆ ใช้เสกเป่าทำความอัปมงคลและสร้าง สวัสดิมงคล ต่อมาคัมภีร์เล่มนี้ถูกจัดเป็นคัมภีร์เล่มที่ 4 ต่อจากไตรเพท จุดประสงค์ของการสร้าง คัมภีร์อาถรรพเวท ก็เพื่อปลูกฝังความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพราหมณ์ให้ลึกซึ้ง เพราะปลายยุคสมัยนี้ ศาสนาพราหมณ์ต้องเผชิญหน้ากับความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญ

การที่คนในสังคมทำหน้าที่แตกต่างกันทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นวรรณะ โดยพราหมณ์เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ และพราหมณ์ยังได้สร้างความเชื่อที่ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างมนุษย์ ตลอดจนกำหนดหน้าที่ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อสันติสุขในการอยู่ร่วมกัน โดยกำหนดว่า วรรณะกษัตริย์เป็นวรรณะที่สร้างจากพระพาหาของพระพรหม วรรณะพราหมณ์สร้างจากพระโอษฐ์ของพระพรหม วรรณะแพศย์สร้างจากพระโสณีของพระพรหม และวรรณะศูทรสร้างจากพระบาทของพระพรหม สำหรับผู้ที่เกิดนอกวรรณะทั้ง 4 ดังได้กล่าวมาแล้วนั้นเรียกว่า วรรณสังกร

3.1.4   สมัยฮินดูเก่า (ฮินดูแท้)
ในสมัยนี้ อินเดียตอนเหนือตกเป็นของชาติอารยันทั้งหมด ภาคเหนือของอินเดียจึง เจริญเติบโตและมั่งคั่ง อาณาจักรสำคัญของชาวอารยันในสมัยนี้มี 4 แห่ง คือ แคว้นอวันตี แคว้นวังสะ แคว้นโกศล และแคว้นมคธ สมัยนี้เป็นสมัยแรกที่กำเนิดปรัชญา ซึ่งถือได้ว่าเป็นแก่นแท้ของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งพราหมณาจารย์ทั้งหลายเป็นผู้คิดขึ้น และในช่วงระยะเวลานี้เอง ที่ลัทธิในศาสนาพราหมณ์ได้พัฒนามาเป็นศาสนาฮินดู พราหมณาจารย์ได้ช่วยกันปรับปรุงลัทธิของตนจนได้รับความนิยมแพร่หลาย สถานศึกษาของนักบวชพราหมณ์ได้พัฒนาให้เจริญมากขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาอยู่ที่เมืองตักสิลาเป็นที่ชุมนุมของบรรดา ทิศาปาโมกข์

อนึ่ง ในสมัยนี้ได้มีการกำหนดความสำคัญของเทพเจ้าขึ้นใหม่ตามความนิยมของสังคม พรหมาได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความแท้จริงองค์เดียว ซึ่งประทานความรู้ให้มนุษย์สามารถเห็นแจ้งได้ บรรดาทวยเทพทั้งหลายเป็นลักษณะที่ปรากฏขึ้นชั่วคราวของพระผู้ทรงความเป็นหนึ่ง แม้จะถือว่าพรหมาเป็นอันติมสัจจ์ แต่ประชาชนส่วนมากยังคงยอมรับนับถือทวยเทพเหมือนเดิม เพราะลักษณะของพรหมานั้นยากเกินกว่าที่จะเข้าใจได้

ความคิดในเรื่องการเกิดและการตายนั้น ในยุคนี้เชื่อว่า การที่มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสภาพต่างๆ กัน เพราะกรรมเก่า (ซึ่งหมายถึงการกระทำดีและชั่ว) พรหมาเป็นศูนย์รวมและเป็นต้นกำเนิดแห่งวิญญาณทั้งปวง สิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนถือกำเนิดมาจากพรหม วิญญาณทุกดวงที่แยกออกมาจากพรหมอาจเข้าสิงสถิตในร่างกายของเทวดา มนุษย์ สัตว์ หรือพืชก็ได้ ทุกครั้งที่ร่างเดิมแตกดับจากสภาพใดสภาพหนึ่งแล้วไปอุบัติในร่างใหม่ เรียกว่า ภพ หรือชาติ ตราบใดที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม คงต้องผจญกับ ความทุกข์เรื่อยไป เมื่อใดก็ตามที่วิญญาณหลุดพ้นจากภาวะเวียนว่ายตายเกิด เรียกว่า โมกษะ วิญญาณดวงนั้นจะกลับไปรวมกับพรหมเช่นเดิม การที่จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ก็ด้วยการยุติการกระทำกรรมทั้งดีและชั่ว

ในยุคนี้มีความคิดในเรื่องวันสิ้นโลกว่า โลกที่พรหมาสร้างมีกำหนดอายุขัย เมื่อครบกำหนดอายุขัยจะมีการล้างโลกแล้วสร้างโลกขึ้นใหม่ ระยะเวลานับตั้งแต่สร้างโลกจนถึงล้างโลก เรียกว่า กัลป์Ž ในหนึ่งกัลป์แบ่งเป็น 4 ยุค คือ กฤตยุค เตรตายุค ทวาปรยุค และกลียุค ยุคทั้ง 4 รวมกันเรียกว่า มหายุค ระยะเวลาในแต่ละยุคจะสั้นลงตามลำดับ พร้อมกันนั้น ความดีงามในโลกก็ลดลงตามลำดับเช่นกัน คือ

1.   กฤตยุค (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สัตยยุค) เป็นยุคแห่งสัจธรรมอันบริสุทธิ์ มีแต่พรหมัน เพียงพระองค์เดียว ไม่มีความโลภ โกรธ หลง ความคดโกงและความทุกข์ ผู้ใดปรารถนาสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น

2.   เตรตายุค ยุคนี้สัจธรรมเสื่อมลงจากกฤตยุค 1 ใน 4 ส่วน ในยุคนี้ไม่มีการประกอบพิธีกรรม มนุษย์ปฏิบัติธรรมเพื่อหวังอานิสงส์จากการปฏิบัติธรรมนั้น

3.   ทวาปรยุค สัจธรรมเสื่อมลงครึ่งหนึ่งของสมัยกฤตยุค มนุษย์เริ่มประสบภัยจากความเจ็บป่วย เกิดตัณหา นิยมทำความชั่ว และมีพิธีล้างความชั่ว พระเวททั้ง 4 เกิดในยุคนี้ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากมนุษย์

4.   กลียุค ซึ่งเป็นยุคสุดท้าย สัจธรรมเหลือเพียง 1 ใน 4 ของยุคแรก มนุษย์ไม่สนใจเรื่องศีลธรรม ตกเป็นทาสของราคะ โทสะ โมหะ

ประชาชนที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ และแพศย์ ทุกคนต้องส่งบุตรเข้ารับการศึกษา ในสถานศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งของพราหมณ์ ก่อนเริ่มการศึกษา นักบวชพราหมณ์จะทำพิธี เสกเป่ามนตร์และคล้องด้ายมงคลศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า สายธุรำ เฉวียงบ่า พิธีนี้เรียกว่า ยัชโญปวีต ผู้ผ่านการทำพิธีนี้แล้วจะถือว่าเป็นผู้เกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า ทวิชะ แปลว่า ผู้เกิดสองครั้ง

3.1.5   สมัยอุปนิษัท
ในสมัยนี้เป็นช่วงระยะเวลาของการพยายามค้นหาทางหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ทำให้เกิดเจ้าลัทธิที่มีความเห็นแตกต่างกันเป็น 4 พวก คือ

พวกที่ 1   เป็นพวกที่เชื่อในผลแห่งญาณ คือ ความรู้แจ้ง
พวกที่ 2   เป็นพวกที่เชื่อในผลแห่งการทำพลีบูชายัญ
พวกที่ 3   เป็นพวกที่เชื่อในผลของการบำเพ็ญตบะ ทรมานกาย-ใจ

พวกที่ 4   เป็นพวกที่เชื่อว่าการปฏิบัติให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดนั้น ต้องพึ่งตัวเอง มิใช่เกิดจากการสวดมนต์อ้อนวอน บูชาเทพเจ้า และสิ่งที่อยู่ในโลกนี้ล้วนเป็นมายา สกัดกั้นจิตไม่ให้เข้าถึงจุดหมายปลายทางซึ่งเป็นนามธรรม ดังนั้นการปฏิบัติอย่างเข้มงวด เพื่อละโลกิยวิสัย สามารถกระทำด้วยการบำเพ็ญตบะและการบำเพ็ญฌาน ซึ่งอาจจะปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทำไปพร้อมๆ กันทั้งสองอย่าง ทำให้เกิดนักบวช 3 พวก คือ ปริพาชกŽ แปลว่า ผู้เร่ร่อน ภิกขุŽ แปลว่า ผู้ขอ และ สันยาสีŽ แปลว่า ผู้สละ

สำหรับพวกที่เชื่อในผลแห่งญาณ (คือ เชื่อว่าปัญญาทำให้เกิดการรู้แจ้ง) ได้เกิดนักคิดที่มีชื่อเสียง 3 กลุ่ม คือ ปรัชญาอุปนิษัทของพราหมณ์ ศาสนาเชนของมหาวีระ และศาสนาพุทธของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรดาพราหมณ์ในลัทธิอุปนิษัทได้สร้างคัมภีร์อุปนิษัทว่าด้วย ปรมาตมันและการเข้าถึงโมกษะ คัมภีร์อุปนิษัทนี้ได้ใช้เป็นตำราเรียนภาคสุดท้ายต่อจาก พระเวท เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เวทานตะ แปลว่า ที่สุดแห่งพระเวท

แม้ว่าอุปนิษัทจะเป็นส่วนหนึ่งของพระเวท แต่ในทางปรัชญานั้น อุปนิษัทมีความแตกต่าง จากพระเวท ซึ่งปรัชญาในพระเวทนับถือพระเจ้าหลายองค์และเน้นยัญพิธี มีการฆ่าสัตว์เพื่อบวงสรวงพร้อมเครื่องสังเวยอื่นๆ ส่วนปรัชญาในอุปนิษัทโน้มเอียงมาทางเอกนิยม (Monism) ซึ่งเชื่อในหลักความจริงอันสูงสุดว่า เพียงหนึ่งเดียวคือ พรหมัน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของจักรวาลและสรรพสิ่งทั้งหลาย หน้าที่ของมนุษย์ก็คือการศึกษาและปฏิบัติให้เข้าถึงเอกภาวะนี้ จึงจะเรียกว่าได้บรรลุถึงโมกษะ อุปนิษัทนี้อาจนับได้ว่าเป็นรากฐานของปรัชญาในภควัทคีตา

นักบวชพราหมณ์ที่ประสงค์บำเพ็ญพรตเป็นดาบสนั้นจะต้องศึกษาคัมภีร์อรัณยกะ ส่วนผู้ที่จะเป็นปริพาชกหรือสัณยาสี ต้องศึกษาคัมภีร์อุปนิษัท (เวทานตะ) ซึ่งถือกันว่าเป็นศรุติหรือคำบอกเล่าจากพระเจ้าโดยตรง และจะเปิดเผยแก่บุคคลในวรรณะอื่นไม่ได้เด็ดขาด ผู้ใดฝ่าฝืนถือเป็นบาปอย่างมหันต์

นอกจากคัมภีร์ที่เป็นศรุติแล้ว ก็ยังมีคัมภีร์ที่ไม่ใช่ศรุติซึ่งเกิดขึ้นในสมัยนี้อีกหลายเล่ม เรียกว่า สมฤติ ใช้สำหรับระลึกทรงจำสืบเป็นหลักการย่อๆ และในตอนปลายยุคได้เกิดร้อยกรอง ที่ชื่อ รามายณะŽ ซึ่งแต่งโดยฤๅษีวาลมิกี มีทั้งหมด 5 กัณฑ์ พระรามซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องเป็นเพียงวีรบุรุษคนสำคัญเท่านั้น ยังไม่ใช่พระวิษณุอวตาร ซึ่งเข้าใจกันว่าอาจจะนำมาดัดแปลงเพิ่มเติมในภายหลัง

3.1.6   สมัยพระสูตร (สุตตะ)
เป็นระยะเวลาที่ชาวอารยันขยายลงไปทางใต้ของอินเดีย พร้อมกับนำความเชื่อแบบฮินดู ไปเผยแผ่ด้วย ยุคนี้มีศาสนาพุทธเป็นคู่แข่งสำคัญ เพราะเป็นสมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงฟื้นฟูศาสนาพุทธ ความเคลื่อนไหวที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในยุคนี้ ได้แก่

กระแสที่ 1   ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแผ่ขยายทั่วภาคใต้ของอินเดีย พราหมณ์จึงได้รับการยอมรับนับถือเช่นเดียวกับทางภาคเหนือ

กระแสที่ 2   วรรณกรรมเรื่องภารตะ ได้มีการต่อเติมจนกลายเป็น มหาภารตะŽ และได้รับความนิยม

กระแสที่ 3   พราหมณาจารย์ได้แต่งตำราเรียนสำหรับกุลบุตรพราหมณ์ เพื่อใช้ศึกษาในโรงเรียน ตำราดังกล่าวได้ผูกเป็นอรรถ ประมวลใจความให้สั้นที่สุดเพื่อทรงจำได้เร็ว ตัวอรรถ เรียกว่า สูตร ซึ่งถูกผูกขึ้นมาเป็นหัวข้อประมวลศิลปวิทยาทุกประเภท แบ่งเป็น 6 ประเภท รวมเรียกว่า เวทางค์ หรือองค์แห่งเวท ได้แก่

ศึกษาศาสตร์   เป็นวิชาที่ว่าด้วยการออกเสียง และวิธีอ่านพระเวทให้มีเสียงเสนาะ
ไวยากรณ์ศาสตร์   เป็นวิชาที่ว่าด้วยการออกเสียง การแปลและตีความ
นิรุกติศาสตร์   เป็นวิชาที่ว่าด้วยที่มาและความหมายของศัพท์ที่ใช้ในพระเวท
ฉันทศาสตร์   เป็นวิชาที่ว่าด้วยการประพันธ์บทร้อยกรอง ตลอดจนกฎของกวีนิพนธ์
โชยติสศาสตร์   เป็นวิชาที่ว่าด้วยดาราศาสตร์และโหราศาสตร์
กัลปศาสตร์   เป็นวิชาที่ว่าด้วยพิธีกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี

ทั้ง 6 ศาสตร์นี้ กัลปศาสตร์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เพราะประกอบด้วยสูตร 3 สูตร คือ เศราตสูตร เป็นสูตรที่เกี่ยวกับพิธีกรรม คฤหสูตร เป็นสูตรที่เกี่ยวกับพิธีประจำบ้าน และธรรมสูตร เป็นข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนทุกวรรณะ

3.1.7   สมัยอวตาร
ในสมัยนี้ เป็นช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์จลาจลในอินเดียต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เพราะชิงอำนาจกันเองภายในประเทศ อีกทั้งยังถูกศัตรูนอกประเทศรุกรานผลัดเปลี่ยนกันเข้าปกครอง ผู้ปกครองบางคนก็นิยมศาสนาพราหมณ์-ฮินดู บางคนก็ศรัทธาศาสนาเชน บางคนก็เลื่อมใสศาสนาพุทธ พวกใดเป็นใหญ่ก็จะฟื้นฟูศาสนาที่ตนนับถือขึ้นมา ซึ่งตอนปลายของยุคนี้อินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของพวกตาตง้วยจี (ตุรกีสาขาเดิม) ซึ่งมีภูมิลำเนาตอนกลางทวีปเอเชีย กษัตริย์ที่สำคัญของราชวงศ์นี้คือ พระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ พวกฮินดูจึงต้องพัฒนาลัทธิของตนเพื่อแข่งขันกับศาสนาพุทธ การแข่งขันนี้เป็นเหตุให้ต่างฝ่ายต่างรับเอาหลักธรรมของฝ่ายตรงข้ามเข้ามาในลัทธิของตน ประกอบกับพวกฮินดูได้แตกแยกเป็นนิกายใหม่ มีการสร้างเทพเจ้าใหม่ๆ ขึ้นมา

แต่เดิมนั้นชาวฮินดูนับถือพระรามและพระกฤษณะเพียงแค่เป็นวีรบุรุษเท่านั้น ต่อมาได้รับการยกขึ้นให้มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นพระวิษณุผู้อวตารลงมา ลัทธิฮินดูที่นับถือพระวิษณุก็เฟื่องฟูขึ้นมา คนสำคัญที่เป็นหัวหน้าในนิกายนี้เรียกว่า นิกายภาควัต แปลว่า บูชาพระภควาน พระผู้ควรบูชา

ส่วนพวกที่นับถือพระศิวะก็ได้ยกพระศิวะให้สำคัญยิ่งขึ้น โคซึ่งเป็นพาหนะถูกยอมรับนับถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ศิวลึงค์ถูกยกย่องว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การบูชา ในขณะเดียวกันได้เกิดลัทธิทั้งหกขึ้นในยุคนี้ พวกพราหมณ์ได้รับปรัชญาทั้งหกนี้เข้ามาไว้ในศาสนาของตนเรียก ษัฑทรรศนะŽ หรือทัศนะทั้งหก ซึ่งแต่ละลัทธิก็มีความต่อเนื่องกันเป็นคู่ๆ และจัดแบ่งออกเป็น 3 คู่ ดังนี้

คู่ที่หนึ่ง   ปรัชญานยายะ   เจ้าลัทธิ คือ ท่านโคตมะ
ปรัชญาไวเศษิกะ   เจ้าลัทธิ คือ ท่านกณาทะ
คู่ที่สอง   ปรัชญาสางขยะ   เจ้าลัทธิ คือ กปิละ
ปรัชญาโยคะ   เจ้าลัทธิ คือ ปตัญชลี
คู่ที่สาม   ปรัชญามิมางสา หรือปูรวมิมางสา เจ้าลัทธิ คือ ไชมินิ
ปรัชญาเวทานตะ หรืออุตตรมิมางสา เจ้าลัทธิ คือ พาทรายณะ หรือวยาส

คู่ที่หนึ่ง
นยายะ (Nyaya)

เป็นระบบปรัชญาที่ค้นหาความเป็นจริงโดยการวิเคราะห์และโต้แย้งเชิงตรรกวิทยา ผู้เป็นศาสดาของปรัชญาในระบบนี้คือ โคตมะ ผู้แต่ง นยายะสูตรŽ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าคัมภีร์เล่มนี้อาจจะแต่งขึ้นเมื่อประมาณศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล และเป็นคัมภีร์ที่พิสูจน์สิ่งต่างๆ ว่าเป็นจริงทางตรรกวิทยา จึงมีลักษณะเป็นปรัชญาประเภทสัจจปรมาณูนิยม (Atomistic realism)

ไวเศษิกะ (Vaisesika)

ศาสดาผู้ก่อตั้งลัทธินี้ก็คือ กณาทะ หรือกัสสยป ผู้เขียน ไวเศษิกะสูตรŽ ซึ่งเป็น คัมภีร์ที่เชื่อกันว่ามีลักษณะเป็นอเทวนิยม (non-theistic) เพราะไม่ได้อ้างถึงพระเจ้าเลย แต่กล่าวถึงความมีอยู่ของปรมาณูแห่งธาตุต่างๆ ซึ่งมีจำนวนนับไม่ถ้วน ทัศนะนี้จึงคล้ายกับปรัชญา นยายะแต่ต่างกันตรงที่ไวเศษิกะเน้นหนักไปในทางอภิปรัชญา ในขณะที่นยายะพัฒนาแนวคิดไปในทางตรรกวิทยาและญาณวิทยา ไวเศษิกะจึงเป็นแบบพหุนิยม (pluralistic)

นอกจากนี้ ไวเศษิกะยังมีทัศนะคล้ายกับนยายะในเรื่องของกฎแห่งสังสารวัฏ คือเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด โดยมีอวิชชาเป็นสาเหตุ การที่จะหลุดพ้นหรือเข้าสู่โมกษะได้นั้น จะต้องมีความรู้แจ้งในความเป็นจริง ไม่หลงติดในความสุขและหลบหลีกจากความทุกข์ โดยหยุดกระทำกรรมเพื่อว่าผลของกรรมใหม่จะได้ไม่เกิดขึ้น และผลของกรรมเก่าก็จะหมดไปในที่สุด เมื่อนั้นชีวาตมันซึ่งเป็นวิญญาณบริสุทธิ์ก็จะหลุดจากห่วงกรรมเข้าสู่โมกษะ (การหลุดพ้น)

คู่ที่สอง
สางขยะ (Sankhya)

ศาสดาผู้ก่อตั้งปรัชญานี้ก็คือ กปิละ ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าท่านได้เขียนคัมภีร์ ใดไว้ แต่อย่างไรก็ตามคัมภีร์ที่เหลือตกทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือ คัมภีร์สางขยะการิกา ของท่านอีศวรกฤษณะ แนวคิดทางปรัชญาในระบบนี้มีลักษณะเป็นทวินิยม (dualism) เพราะเชื่อว่าความเป็นจริงมี 2 อย่าง คือ ประกฤติ และปุรุษะ

ประกฤติ คือ ต้นกำเนิดของสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นสิ่งเกิดเองและมีอยู่เอง ส่วน สิ่งทั้งหลายในโลกเรานั้นมีอยู่ในประกฤติก่อนแล้ว และได้ปรากฏออกมาจากประกฤติจึงทำให้เกิด ภาวะที่เรียกว่าการเกิดขึ้น ส่วนการดับเป็นภาวะที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงกลับไปสู่ประกฤติตามเดิม

ปุรุษะ คือ วิญญาณบริสุทธิ์ เทียบได้กับชีวาตมันของปรัชญาอินเดียในระบบอื่นๆ ปุรุษะเป็นสิ่งเที่ยงแท้และอยู่ได้โดยลำพังเช่นเดียวกับประกฤติ และมีอยู่เป็นจำนวนมากมายมหาศาล นับประมาณมิได้

ปรัชญาสางขยะ เชื่อว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ มนุษย์ควรหาทางหลุดพ้นจาก ความทุกข์เข้าสู่โมกษะ การที่มนุษย์บางคนไม่สามารถหลุดพ้นได้ เพราะอวิชชาหรือการไม่รู้แจ้ง ในสัจธรรมเป็นตัวการสำคัญ นั่นคือปุรุษะหรือวิญญาณบริสุทธิ์นั้น ปกติแล้วเป็นอิสระโดยธรรมชาติ อยู่เหนือกาลเทศะ แต่เมื่อไปเข้าใจผิดคิดว่าร่างกายที่เกิดจากประกฤติเป็นตัวตนแท้จริง จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา ของเรา เป็นผู้กระทำกรรมและเสวยกรรม นับเป็นการ หลงผิดอย่างหนึ่งที่จะโน้มนำบุคคลให้กระทำสิ่งต่างๆ ไปตามความคิดเห็นของตนเอง ก่อให้เกิด การเวียนว่ายในวัฏฏะไม่จบสิ้น ดังนั้นการที่จะหลุดพ้นจากวังวนแห่งวัฏฏะนี้ได้ก็คือ การปฏิบัติให้เกิดความรู้ที่ถูกต้อง โดยทำให้ปุรุษะเห็นความแตกต่างระหว่างตนเองกับประกฤติว่าตัวตนที่แท้จริงนั้นคือปุรุษะเท่านั้น ไม่ใช่รูปกายที่เกิดจากประกฤติ

โยคะ (Yoga)
เป็นระบบที่เน้นวิธีการปฏิบัติให้เข้าถึงโมกษะ ศาสดาผู้ก่อตั้งคือ ปตัญชลี ซึ่งท่านได้รจนาสูตรที่สำคัญ คือ โยคะสูตรŽ คำว่า โยคะ ในทัศนะของปตัญชลี หมายถึง ความเพียร พยายามที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในความสมบูรณ์ ด้วยการบังคับควบคุมกายและควบคุมจิต

ปรัชญาโยคะและสางขยะ เป็นปรัชญาที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ทั้งนี้เพราะปรัชญา สางขยะจะเน้นในด้านอภิปรัชญาและจิตวิทยา นั่นคือมีลักษณะเป็นแบบทฤษฎี แต่สำหรับปรัชญาโยคะแล้วมุ่งในทางปฏิบัติมากกว่า เพื่อให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น (โมกษะ) ปรัชญาโยคะจึงมีลักษณะเป็นแบบเทวนิยม (theistic) มากกว่าสางขยะ เพราะยอมรับในความมีอยู่ ของพระผู้เป็นเจ้า และการที่จะหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้ก็ต่อเมื่อได้เข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า ผู้ซึ่งเป็นปุรุษะพิเศษที่อยู่ในสถานะโมกษะตลอดกาล และวิธีการที่จะเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้านั้นต้องปฏิบัติตามวิถี 8 ทาง คือ 1) ยมะ สำรวมความประพฤติ 2) นิยมะ การบำเพ็ญข้อวัตร ทางศาสนา 3) อาสนะ ท่านั่งที่ถูกต้อง 4) ปราณายามะ การบังคับลมหายใจไปในทางที่ต้องการ 5) ปรัตยาหาระ การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย 6) ธารณา การทำใจให้มั่นคง 7) ธนายะ การเพ่ง 8) สมาธิ การทำใจให้แน่วแน่ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งระบบปรัชญาโยคะจะเน้นการปฏิบัติในข้อที่ 8 คือสมาธิมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางของระบบที่จะได้รับภาวะอันบริสุทธิ์และอิสระ

คู่ที่สาม
มิมางสา (Mimamsa)

ศาสดาของระบบปรัชญานี้คือ ไชมินิ ผู้รจนา มิมางสาสูตรŽ ระบบปรัชญามิมางสา เป็นระบบปรัชญาที่มุ่งพิจารณาสอบสวนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งต่างๆ ที่กล่าวไว้ในพระเวท ถึงแม้จะมีหลักคำสอนสืบเนื่องจากพระเวท แต่ก็อธิบายคำสอนไปในรูปปรัชญาโดยมุ่งสู่การหลุดพ้นจากทุกข์โดยเด็ดขาด แทนที่จะมุ่งหวังเพียงสวรรค์เท่านั้น ผู้ปรารถนาในโมกษะจึงต้องเป็นผู้ที่ก้าวพ้นจากบุญ-บาป สวรรค์-นรก ด้วยการบำเพ็ญสมาธิ และปฏิบัติตามคำสอนในพระเวท

เวทานตะ (Vedanta)
ปรัชญามิมางสา และเวทานตะนั้น มีความใกล้ชิดสัมพันธ์กันมาก เพราะทั้ง 2 ระบบต่างก็กล่าวถึงคำสอนในพระเวท หากจะแตกต่างก็ตรงที่ปรัชญามิมางสาเป็นปรัชญาที่เกี่ยวกับ คำสอนในตอนต้นของพระเวท จึงมีชื่อเรียกว่า ปูรวมิมางสา ซึ่งในตอนต้นนี้จะเกี่ยวกับกรรมทัณฑ์ หรือตอนที่ว่าด้วยเรื่องการกระทำพิธีกรรมและบูชายัญ ส่วนในตอนปลายของพระเวทซึ่งเรียกว่า อุตตรมิมางสา จะเป็นคำสอนที่เกี่ยวกับญาณวิทยา หรือความรู้ในความเป็นจริง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาเวทานตะ และรามานุชะ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ในสมัยอวตารนี้ นักปราชญ์ฮินดูได้รวบรวมกฎและวินัย ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า ธรรม โดยผูกเป็นกาพย์ง่ายๆ สำหรับชาวฮินดูทั่วไปไว้ใช้ปฏิบัติเรียกว่า มานวธรรมศาสตร์ แปลว่า กฎข้อบังคับของพระมนู

นอกจากมานวธรรมศาสตร์แล้วยังมีหนังสืออีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ภควัทคีตาŽ ซึ่งเป็นส่วนที่เติมมาจากมหากาพย์มหาภารตะ ภควัทคีตานี้เป็นหนังสือที่อ่านได้ง่ายทุกวรรณะ ไม่หวงห้ามเหมือนพระเวทที่อ่านได้เฉพาะคนบางวรรณะ ดังนั้นจุดประสงค์ของหนังสือเรื่องนี้ก็เพื่อให้คนทุกชั้นได้รับรู้หลักธรรม โดยไม่จำเป็นต้องออกบวชกันทุกคน ใครจะบวชก็ได้ไม่บวช ก็ได้ เพียงรู้จักหน้าที่ของตนและปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ ให้ดีที่สุด โดยไม่หวังผลตอบแทนก็สามารถนำผู้นั้นไปสู่ความจริงอันสูงสุด ดังนั้นภควัทคีตาจึงเป็นหนังสือธรรมที่สอนมนุษย์ให้คำนึงถึง สังคม ไม่ใช่มุ่งความหลุดพ้นส่วนบุคคลเป็นสำคัญดังเช่นอุปนิษัท มนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อรักษาความมั่นคงของสังคม เพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

3.1.8 สมัยเสื่อม
เป็นสมัยที่ราชวงศ์คุปตะ ซึ่งเป็นเชื้อสายฮินดูแท้โค่นอำนาจกษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะสำเร็จ และฟื้นฟูศาสนาพราหมณ์-ฮินดูขึ้นใหม่ ราชวงศ์นี้ครองความรุ่งเรืองอยู่ได้ประมาณ 2 ศตวรรษ ก็เสียอำนาจให้แก่พวกฮั่นซึ่งรุกรานอินเดียเข้ามาทางแคว้นปัญจาบ และปกครองอินเดียอยู่ประมาณ 50 ปี ก็ถูกกษัตริย์อินเดียขับไล่ออกไปเมื่อปี พ.ศ. 1071 หลังจากนี้อินเดียแบ่งแยกออกเป็น 2 อาณาจักรใหญ่ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก แบ่งออกเป็นอาณาจักรชายทะเลฝั่งตะวันตก (ราชวงศ์จาลุกย์) กับอาณาจักรชายทะเลฝั่งตะวันออก (พวกปัลลวะ) ครั้งที่ 2 ในตอนปลาย ของยุคนี้ ปรากฏว่าเจ้าผู้ครองนครอินเดียภาคเหนือพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า หรรษาวัฒนาŽ สามารถรวบรวมดินแดนภาคเหนือไว้ในอำนาจได้ทั้งหมด จึงพยายามขยายตัวลงมาทางใต้ แต่ไม่สำเร็จเพราะระหว่างนี้พวกมิลักขะมีกำลังเข้มแข็งมาก อินเดียปลายยุคนี้จึงแยกเป็น 2 อาณาจักรอีกครั้งหนึ่ง คือ อาณาจักรเหนือ (ระหว่างภูเขาหิมาลัย-ลุ่มแม่น้ำนัมทา) กับอาณาจักรใต้ (ตลอดคาบสมุทรเดคคาน) ซึ่งพระเจ้าหรรษาวัฒนาทรงเลื่อมใสศาสนาพุทธนิกายมหายาน ทรงอุปถัมภ์นิกายนี้และทรงเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

สมัยนี้ได้ชื่อว่าเป็นยุคเสื่อมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะเป็นสมัยที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ มากมาย แต่ละนิกายมีข้อปฏิบัติเสื่อมทรามลงกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะนิกายใหญ่ที่สำคัญ 2 นิกาย คือ นิกายที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่เรียกว่า นิกายไศวะŽ กับนิกายที่นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่เรียกว่า นิกายไวษณพŽ (หรือนิกายไวษณวะ) ต่างสร้างประวัติยกย่องเทพเจ้าฝ่ายตนเลอเลิศและดูหมิ่นเหยียดหยามเทพเจ้าของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะมี ผู้พยายามแก้ปัญหาโดยยกให้เทพทั้งสาม คือ พระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุ มีศักดิ์สูง เท่าเทียมกัน เรียกว่า ตรีมูรติŽ ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน

สมัยนี้นับเป็นสมัยเสื่อมแห่งพระพรหม เพราะในบรรดาเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามองค์ พระศิวะกับพระวิษณุมีผู้นับถือและให้ความสำคัญมากที่สุด

มีสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคเสื่อมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอยู่ 2 สิ่ง คือ
1. เครื่องหมายอันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนานี้ ซึ่งมีที่มาจากกำเนิดของตรีมูรติ คือ เทพเจ้าทั้งสาม เครื่องหมายดังกล่าวได้แก่อักขระเทวนาครี ซึ่งมีคำอ่านว่า โอมŽ

2. ในตอนต้นของยุคนี้ คือ สมัยที่ราชวงศ์คุปตะปกครองอินเดีย ราชวงศ์นี้ได้ส่งเสริมงานด้านวรรณกรรมมาก ความเจริญด้านวรรณกรรมสมัยนี้มีทั้งบทละคร กาพย์ นิยาย และนิทาน ตลอดจนตำราต่างๆ วรรณกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเล่มหนึ่ง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอยู่มากได้แก่ วรรณกรรมชื่อ ปุราณะ แต่งด้วยฉันท์ภาษาสันสกฤต มีเนื้อหาสาระ 5 ประการ คือ

2.1   กล่าวถึงกำเนิดของโลกและการสร้างโลก
2.2   การทำลายล้างและการสร้างโลกใหม่
2.3   กำเนิดเทพเจ้าและมหาฤๅษีทั้งหลาย
2.4   กำเนิดพระมนู และเหตุการณ์ในสมัยพระมนู
2.5   ตำนานแห่งกษัตริย์ทั้งสุริยวงศ์ และจันทรวงศ์

วรรณกรรมดังกล่าว ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูทั้งนิยายไศวะและนิกายไวษณพ ได้นำมาแต่งเป็นคัมภีร์ในนิกายของตน ต่างฝ่ายต่างยกย่องเทพเจ้าที่ตนเคารพไว้สูงกว่าเทพอื่น จึงมีเรื่องราวที่ขัดแย้งกัน แต่อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ปุราณะฉบับที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากที่สุดคือ คัมภีร์ปุราณะของนิกายไวษณพ ซึ่งเรียกกันว่า วิษณุปุราณะŽ

3.1.9 สมัยฟื้นฟู
ในสมัยนี้เป็นช่วงเวลาที่อินเดียถูกศัตรูภายนอกรุกรานอีกครั้งหนึ่ง โดยพวกมุสลิมเชื้อสายตุรกีจากอัฟกานิสถาน ซึ่งพยายามบุกรุกเข้ามาทางชายแดนที่จะเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำสินธุ แต่กษัตริย์เชื้อสายฮินดูที่เข้มแข็งพระองค์หนึ่ง สามารถต้านทานไว้ได้ และสถาปนาราชวงศ์ราชบุตร ขึ้นปกครองอินเดียตั้งแต่ภาคตะวันตกมาจนถึงภาคกลาง เป็นเวลานานเกือบ 3 ศตวรรษ

ที่เรียกสมัยนี้ว่าสมัยฟื้นฟู เพราะเป็นสมัยที่ศาสนาพุทธซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเริ่มเสื่อมสูญจากอินเดีย แต่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกลับได้รับการอุปถัมภ์ บรรดาเจ้าลัทธิทั้งหลายในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูพยายามทุกวิถีทางที่จะสร้างความมั่นคงถาวรและเผยแพร่ลัทธิศาสนาของตนออกไปให้แพร่หลายมากที่สุด โดยเฉพาะในหมู่คน พื้นเมืองเดิม พร้อมกับพยายามกีดกันศาสนาพุทธและศาสนาเชนมิให้กลับมาเป็นคู่แข่งได้อีก

การปรับปรุงและความเปลี่ยนแปลงสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ ที่ควรทราบ ได้แก่
1.   นักปราชญ์และบัณฑิตจำนวนมากได้ร่วมมือกันทำการปรับปรุงแก้ไขคัมภีร์เก่าให้ชัดเจนเหมาะสม ทันสมัยและสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น อาทิเช่น
ท่านกุมาริล ผู้แต่งอรรถกถาแก้คัมภีร์กรรมมิมางสา หรือปูรวมิมางสาของไชมินิ
ท่านสังกราจารย์ ได้แต่งอรรถกถาแก้คัมภีร์เวทานตะสูตร และภควัทคีตา เป็นต้น

2.   เจ้าลัทธิสำคัญๆ แต่ละลัทธิมีคณาจารย์ที่เป็นกวีแต่งบทสวดอ้อนวอนด้วยคำประพันธ์ (ฉันท์หรือกาพย์) อันไพเราะ เป็นภาษาทมิฬซึ่งเป็นภาษาของคนพื้นเมืองเดิม และออกทำการเผยแพร่ลัทธิของตนแก่มหาชนอย่างกว้างขวาง

3. กำเนิดลัทธิความเชื่อใหม่ 2 ลัทธิ คือ ลัทธิศักติ และลัทธิภักติ
3.1 ลัทธิศักติ คือ การบูชาเทพเจ้าฝ่ายหญิงที่เป็นชายาของเทพเจ้าที่นับถือสูงสุด เช่น พระอุมาเทวี ซึ่งเป็นชายาพระศิวะ พระลักษมีเทวี ซึ่งเป็นชายาพระวิษณุ และพระสุรัสวดี ซึ่งเป็นชายาพระพรหม เพราะเชื่อว่าผู้เป็นชายาของเทพเจ้าเหล่านั้น ย่อมได้รับส่วนแบ่งอิทธิฤทธิ์ มาจากพระสวามี ซึ่งอาจบันดาลความสำเร็จในสิ่งที่ตนปรารถนาได้เช่นกัน พิธีบูชาชายา พระผู้เป็นเจ้าเรียกว่า บูชาศักติŽ มีคัมภีร์ที่กำหนดกฎเกณฑ์ในการทำพิธีเรียกว่า ตันตระŽ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอน 5 ประการ คือ เริ่มต้นด้วยการดื่มน้ำเมา (มัตยะ) บริโภคเนื้อสัตว์สดๆ (มังสะ) สาธยายมนตร์ปลุกกำหนัด (มนตร์) ร่ายนำด้วยลีลายั่วยวนเร่งเร้าความรู้สึกทางเพศ (มุทรา) และจบลงด้วยการร่วมเพศ (ไมถุน)

พิธีบูชาตามลัทธิศักติ ทำกันตามเทวาลัยที่นิยมบูชาเจ้าแม่ในเวลาเที่ยงคืน บางพวก นิยมทำในที่ลับ บางพวกนิยมทำในที่เปิดเผย โดยพิธีกรประจำเทวาลัย ฝ่ายชายเป็นนักบวช เรียกว่า สาธุŽ ฝ่ายหญิง เรียกว่า เทพทาสีŽ

ลัทธิศักติ เริ่มต้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (แถบแคว้นเบงกอล เนปาล และอัสสัม) ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรหลายชาติ เช่น มอญ เขมร พม่า ทิเบต และไทย อาศัยอยู่

3.2 ลัทธิภักติ คำว่า ภักติŽ ในที่นี้หมายถึงการบูชาพระภควาน คือ พระผู้ควรบูชา ลัทธินี้มีความเชื่อว่า พระเจ้าจะประทานพรแก่ผู้บูชาพระองค์ด้วยการถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์ด้วยความจริงใจเท่านั้น ดังนั้นพิธีกรรมใดๆ จึงไม่มีความสำคัญเท่าความภักดี ความภักดีนี้จะแสดงต่อเทพเจ้าองค์ใดที่ตนนับถือก็ได้ เช่น พระวิษณุ พระกฤษณะ พระราม และ พระศิวะ เป็นต้น กฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติมี 5 ประการ คือ

ศานติ คือ   ระลึกถึงพระเจ้าด้วยความสงบ
ทาสยะ   คือ   การมอบกายถวายชีวิตรวมทั้งจิตวิญญาณ
สาขุยะ   คือ   การใกล้ชิดกับพระเจ้าเหมือนใกล้ชิดเพื่อน
วาต์ศัลยะ   คือ   การมีความรักเหมือนอย่างเด็กรักมารดา
หาธูรยะ   คือ   การมีความรักต่อพระเจ้าเหมือนความรักของหญิงกับชาย

ลัทธิภักติทางใต้มีท่านมาณิกกะเป็นหัวหน้า บูชาพระศิวะซึ่งเรียกว่า ไศวะนิกาย ส่วนภาคเหนือของอินเดียมีท่านนิมพารกะเป็นหัวหน้า นับถือพระกฤษณะ และนางราธา ชายาของพระกฤษณะ

4.   มีการก่อสร้างเทวสถานใหญ่โต ประดับประดาอย่างวิจิตร เกิดขึ้นตามนครใหญ่ๆ ทั่วไป การนำเทวรูปออกแห่แหนด้วยกระบวนแห่เริ่มนิยมทำกันในสมัยนี้

อนึ่ง ตอนปลายของสมัยนี้ยังเกิดลัทธิค่านิยมทางสังคม คือ การเผาหญิงม่ายพร้อมศพสามี และยกย่องหญิงที่ทำตามประเพณีนี้ว่าเป็นผู้กล้าหาญ เรียกหญิงนั้นว่า สตีŽ หากหญิงใด ไม่ยอมทำตามประเพณีจะถูกญาติขอร้อง แต่ถ้าไม่ทำจะถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดีและหญิงนั้นต้องถือพรหมจรรย์ตลอดชีวิต

3.1.10 สมัยภักติ
เป็นสมัยที่พวกมองโกล ทายาทพระเจ้าเจงกิสข่านทรงพระนามว่า พระเจ้าไทมูร์ บุกเข้าโจมตีอินเดียได้เมืองเดลฮี และกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2065 อินเดียก็ถูกรุกรานโดยพวกมุสลิมเผ่ามองโกลอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้วัดวาอารามและเทวสถาน ตลอดจนรูปเคารพต่างๆ ในอินเดียภาคเหนือถูกทำลายพินาศสิ้น หรือมิฉะนั้นก็ถูกดัดแปลงเป็นมัสยิด ประชาชนถูกบังคับให้นับถือศาสนาอิสลาม มิฉะนั้นจะต้องเสียภาษีอย่างหนัก มีการห้ามบูชารูปเคารพต่างๆ เพื่อมิให้พวกฮินดูฟื้นฟูศาสนาขึ้นใหม่ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พฤติการณ์ดังกล่าวก็มีผลเพียงทำให้ศาสนาฮินดูตกต่ำลงเพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงกับเสื่อมสูญ ทั้งนี้ก็เพราะว่าศาสนาฮินดูได้วางรากฐานลงมั่นคงเสียแล้ว และในสมัยต่อมาพระเจ้า-อักบาร์มหาราช กษัตริย์องค์สำคัญแห่งราชวงศ์โมกุล ยังทรงเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวอินเดียเลือกนับถือศาสนาได้โดยเสรีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สมัยที่ราชวงศ์โมกุลปกครองอินเดีย ศาสนาอิสลามได้แผ่ขยายลงไปถึงตอนใต้ เป็นผลให้ชาวอินเดียส่วนหนึ่งได้กลายเป็นมุสลิมไป และยังเป็นเหตุให้เกิดลัทธิศาสนาใหม่ ซึ่งมีหลักธรรมของฮินดูและอิสลามผสมผสานกัน (คือศาสนาซิกซ์) และมีผู้นิยมนับถือจำนวนไม่น้อย

ประมาณ พ.ศ. 2100 เป็นระยะเวลาที่ชาติต่างๆ ในยุโรปตะวันตกเข้าไปติดต่อทำการค้ากับอินเดีย (คือ โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส และอังกฤษ) พร้อมกับนำศาสนาคริสต์เข้าไป เผยแพร่ในอินเดียด้วย และในที่สุดอินเดียก็สูญเสียเอกราชแก่อังกฤษในสมัยของพระเจ้าโอรังเซป กษัตริย์ราชวงศ์โมกุลองค์สุดท้าย หลังจากที่ราชวงศ์นี้ปกครองอินเดียได้ประมาณ 100 ปี

ในสมัยดังกล่าวนี้เอง ลัทธิภักติซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยฟื้นฟูได้เจริญขึ้นในอินเดียภาคเหนือ ลัทธิภักติที่สำคัญแบ่งออกได้เป็น 3 นิกาย ตามความแตกต่างของเทพเจ้าสูงสุดที่นิยมนับถือ คือ

นิกายที่ 1 นับถือพระราม มีผู้นำที่สำคัญ 3 คน คือ รามานน เป็นผู้ฟื้นฟูลัทธิ ตุลลิทาส เป็นผู้เผยแผ่ และนาภาทาส ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือภักตมาลา รวบรวมประวัติและผลงานของศาสดาจารย์ในลัทธิภักติ

นิกายที่ 2 นับถือพระกฤษณะ มีหัวหน้าชื่อ วัลลภาจารย์

นิกายที่ 3 นับถือพระราม แต่ไม่ยอมรับว่าเรื่องพระรามคืออวตารของพระวิษณุ มีการบูชารูปเคารพและการแบ่งชั้นวรรณะ มีหัวหน้าซึ่งนับถือศาสนาอิสลามมาก่อนชื่อ กพีร์ คำสอน ของท่านผู้นี้มีลักษณะกึ่งฮินดูกึ่งอิสลาม สานุศิษย์ส่วนใหญ่เป็นพวกวรรณะศูทร ซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาอิสลามมาก่อน

ลัทธิภักติเผยแผ่ลัทธิด้วยภาษาพื้นเมือง ยกย่องอาจารย์ผู้สอนว่าเป็นผู้ควรแก่การเคารพอย่างสูง เรียกว่า คุรุŽ พิธีกรรมในลัทธิมีการสวดมนต์ภาวนา เสกเป่า และกินข้าวเสก มีนักบวชและคฤหัสถ์ประจำลัทธิ แม้จะนับถือพระเจ้าต่างองค์กัน แต่ก็มีหลักการที่ตรงกันคือ มีพระเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียว เชื่อว่าพระเจ้าทรงประทานความเมตตากรุณาแก่ผู้ที่ภักดีและบูชาพระองค์ และเชื่อว่าวิญญาณมนุษย์เป็นส่วนที่แยกออกมาจากพระเจ้า เป็นสิ่งอมตะ ผู้ภักดีต่อพระเจ้าไม่ว่าจะอยู่ในวรรณะใด ย่อมได้รับความหลุดพ้น

3.1.11 ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ปัจจุบัน
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ปัจจุบัน2)

ปัจจุบันแม้จะมีผู้นับถือศาสนาหลายศาสนาที่เผยแผ่เข้าไปในอินเดียสมัยหลัง แต่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็ยังเป็นศาสนาที่มีประชาชนในประเทศอินเดียนับถือมากที่สุด (คือมากกว่าร้อยละ 80) รองลงมาได้แก่ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนาซิกข์ ตามลำดับ มีส่วนน้อย ที่นับถือศาสนาเชน ศาสนาพุทธ และศาสนาปาร์ซี

ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูปัจจุบันถือว่า ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นฮินดูแท้นั้นต้องประกอบด้วยคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการ คือ

1. ต้องสืบเชื้อสายมาจากวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ หรือศูทร เท่านั้น ชาวต่างชาติ หรือคนนอกวรรณะทั้ง 4 แม้จะนับถือลัทธิและปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์ของศาสนาพราหมณ์- ฮินดูทุกอย่าง ก็มิอาจเป็นฮินดูได้

2. ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ 2 ประการ คือ

2.1 ปฏิบัติตามขนบประเพณีของแต่ละวรรณะ
2.2 ปฏิบัติตามขนบประเพณีสำหรับทุกวรรณะ อันได้แก่
2.2.1 การแต่งงาน อาหารการกิน การประกอบอาชีพ และที่อยู่อาศัย
2.2.2 พิธีประจำบ้าน เรียกว่า สังสการ
2.2.3 พิธีศารทธ์
2.2.4 พิธีบูชาเทพเจ้า
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในปัจจุบันนี้ คนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษา ไม่ใคร่สนใจเลื่อมใสศรัทธา ส่วนผู้ที่ยังคงปฏิบัติตามลัทธิ พิธีกรรมอย่างเคร่งครัดได้แก่ นักบวชพราหมณ์ที่สืบ เชื้อสายตามนิกายที่นับถือในตระกูล

พวกที่นับถือพระราม หรือพระกฤษณะ ว่าเป็นอวตารของพระวิษณุ หรือพระศิวะ ตลอดจนเทพอื่นๆ ยังคงปฏิบัติพิธีกรรมเช่นเดิม สำหรับผู้อยู่ห่างไกลเมื่อมีโอกาสจะเดินทางไปนมัสการเทพเจ้าที่ตนนับถือ ณ เทวสถานศักดิ์สิทธิ์

ส่วนพวกพื้นเมืองเดิม ที่อยู่ในวรรณะต่ำ และพวกไร้การศึกษาหรือการศึกษาต่ำ นิยมนับถือเทพเจ้าชั้นต่ำศักดิ์ลงมา เช่น นับถือเจ้าแม่กาลี ซึ่งเป็นอวตารของพระอุมา นับถือหนุมาน พระพิฆเณศ โคนันทิ พญานาค ลิง เต่า ช้าง ต้นไม้ เป็นต้น

3.2 ประวัติศาสดา
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาที่เก่าแก่มาก ไม่มีศาสดาจริงจังเหมือนศาสนาอื่นๆ เพราะคำสอนต่างๆ กลุ่มพราหมณ์หรือพระฤๅษีผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้ยินหรือฟังมาจากเสียงทิพย์ หรือเสียงสวรรค์ (ศรุติ) ด้วยตนเอง แล้วมีการจดจำไว้และถ่ายทอดต่อกันทางความทรงจำ (สมฤติ) ซึ่งในเรื่องนี้มีหลักฐานยืนยันปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ในเตวิชชสูตร3) ว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์และปฐมาจารย์ ผู้สอนคัมภีร์พระเวทให้แก่พราหมณ์นั้นมี 10 ตน คือ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ และฤๅษีภคุ ซึ่งต่อมาก็ได้มีหัวหน้าลัทธิหรือผู้แต่งตำรา4) ที่ทำหน้าที่คล้ายศาสดาได้ช่วยกันเผยแพร่คำสอนต่างๆ เหล่านี้ ให้แพร่หลายยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้นในที่นี้จึงใคร่ขอเล่าถึงประวัติของหัวหน้าลัทธิ และผู้แต่งตำราที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

1. วยาสะ เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงคัมภีร์พระเวท คัมภีร์อิติหาสะ และคัมภีร์ปุราณะ อนึ่งผู้แต่งมหากาพย์มหาภารตะ ก็ใช้ชื่อวยาสะด้วยเช่นกัน จึงเป็นอันสรุปความได้อย่างหนึ่งว่า ท่านวยาสะเป็นฤๅษีคนสำคัญที่มีส่วนในการแต่งหรือรวบรวมเรียบเรียงคัมภีร์ของศาสนาฮินดูไว้มากที่สุด

2. วาลมีกิ เป็นฤๅษีผู้แต่งมหากาพย์รามายณะ สันนิษฐานว่าเกิดประมาณปลายศตวรรษที่ 4 และต้นศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ.

3.   โคตมะ หรือเคาตมะ ผู้ตั้งลัทธินยายะ เกิดประมาณ 550 ปีก่อน ค.ศ.

4. กณาทะ ผู้ตั้งลัทธิไวเศษิกะ เกิดประมาณศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ.

5. กปิละ ผู้ตั้งลัทธิสางขยะ เกิดในสมัยศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.

6. ปตัญชลี ผู้ตั้งลัทธิโยคะ เกิดในสมัยศตวรรษที่ 3 หรือ 4 ก่อน ค.ศ.

7. ไชมินิ ผู้ตั้งลัทธิมมิมางสา หรือปูรวมิมางสา เกิดระหว่างศตวรรษที่ 6-2 ก่อน ค.ศ.

8. มนู หรือมนุ ผู้แต่งคัมภีร์ธรรมศาสตร์ เกิดในศตวรรษที่ 5 ก่อน ค.ศ.

9. พาทรายณะ ผู้ตั้งลัทธิเวทานตะ หรืออุตตรมิมางสา เกิดระหว่างศตวรรษที่ 6-2 ก่อน ค.ศ.

10. จาราวากะ ผู้ตั้งลัทธิโลกายนะ หรือวัตถุนิยม ไม่มีประวัติแน่นอน

11. ศังกราจารย์ ผู้แต่งอรรถกถา หรือคำอธิบายลัทธิเวทานตะ เกิดระหว่างปี ค.ศ.788 ถึง 820 และเป็นผู้ตั้งลัทธิอไทวตะ หรือเอกนิยม คือนิยมพระเจ้าองค์เดียว

12. นาถมุนี เป็นผู้นำคนแรกของลัทธิไวษณวะ เกิดในช่วงระหว่าง ค.ศ. 824 - ค.ศ.924

13.   รามานุชาจารย์ ถือกันว่าเป็นคนสำคัญยิ่งของลัทธิไวษณพ และเจ้าของปรัชญา วิศิษฏาทไวตะ อันสืบเนื่องมาจากลัทธิเวทานตะ เกิดในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1027 - ค.ศ. 1137

14.   มัธวาจารย์ เป็นผู้นำท่านหนึ่งแห่งลัทธิไวษณพ และเจ้าของปรัชญาทไวตะ หรือ ทวินิยม เกิดในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1199 - ค.ศ. 1277

15.   ลกุลีศะ (สมัยของท่านยังไม่แน่นอน) เป็นอาจารย์ใหญ่แห่งนิยายไศวะ ฝ่ายใต้ ผู้ตั้งนิกายปศุปตะ

16.   วสุคุปตะ เป็นผู้ตั้งลัทธิไศวะฝ่ายเหนือ หรือที่เรียกว่า กาษปีรไศวะ เกิดในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 9 แห่ง ค.ศ.

17.   รามโมหัน รอย เป็นผู้ตั้งพรหมสมาช (สมาคม) เกิดในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1774 - ค.ศ. 1833

18.   สวามีทะยานัน สรัสวดี เป็นผู้ตั้งอารยสมาช เกิดในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1824 - ค.ศ. 1833

19.   รามกฤษณะ เป็นผู้นำทางความรู้และการปฏิบัติ เป็นผู้จัดให้มีขบวนการราม-กฤษณะมิชชัน แม้ท่านจะไม่ได้ตั้งขึ้นเอง แต่สวามีวิเวกานันทะ สรัสวดี ก็ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครื่องอนุสรณ์ถึงท่าน อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2379 - 2429

3.3 คัมภีร์ในศาสนา

คัมภีร์สำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู5) แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ

3.3.1 ศรุติ
ศรุติ ได้แก่ คัมภีร์พระเวททั้ง 4 ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาจากพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง ไม่มีผู้แต่ง แต่เป็นการค้นพบของฤๅษีทั้งหลาย เป็นของที่มีอยู่ชั่วนิรันดร เป็น ลมหายใจของพระผู้เป็นเจ้า เป็นสัจธรรมที่แสดงถึงประสบการณ์ทางวิญญาณของฤๅษีทั้งหลายในอดีตกาลที่ยาวนาน พระเวทแบ่งออกเป็น 4 คัมภีร์ คือ

1. ฤคเวท เป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุด เป็นบทเพลงสวดหรือมนตร์สรรเสริญอ้อนวอน พระผู้เป็นเจ้าและเทวี มีบทเพลงสวด 1,017 บท แสดงให้เห็นถึงการยกย่องอำนาจธรรมชาติในการต่อสู้ระหว่างแสงสว่างกับความมืด ความร้อนกับความหนาว อำนาจธรรมชาติถูกยกฐานะเป็นเทพเจ้า มีเทพเจ้าสำคัญๆ คือ อัคนี อินทร์ สูรยะ วรุณ อุษา อัศวิน ปฤฤวี มรุต รุทระ ยมะ ฯลฯ บทเพลงสวดจะมีชื่อฤๅษีกำกับอยู่ด้วย แสดงว่าบทเพลงสวดนั้นๆ เปิดเผย โดยฤๅษีที่มีชื่อนั้นๆ

2. ยชุรเวท เป็นคัมภีร์ที่เป็นคู่มือประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์ ซึ่งเป็นบท ร้อยแก้วที่อธิบายวิธีประกอบพิธีกรรม บวงสรวงและการทำพิธีบูชายัญ จัดตามลำดับเพลงสวด ซึ่งส่วนมากเอามาจากฤคเวท ถือว่าเป็นคัมภีร์ที่จะต้องศึกษาเป็นพิเศษ และมีสาขาแตกขยายไปเป็นจำนวนมาก

3. สามเวท เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทสวดมนต์ ซึ่งเป็นบทร้อยกรองมีทั้งหมดถึง 1,549 บท โดยนำมาจากฤคเวทเป็นส่วนมาก ที่แต่งขึ้นใหม่ มีประมาณ 78 บท จะใช้สำหรับสวดในพิธีถวายน้ำโสมและขับกล่อมเทพเจ้า

4. อถรรพเวท เป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นใหม่ในปลายสมัยพราหมณ์ เป็นคาถาอาคม มนต์ขลังศักดิ์สิทธิ์ สำหรับทำพิธีขับไล่เสนียดจัญไร และอัปมงคลให้กลับมาเป็นสวัสดิมงคล นำความชั่วร้ายไปบังเกิดแก่ศัตรู

เดิมทีเดียวคัมภีร์มีเพียงฤคเวทเท่านั้น ต่อมาได้มีการแยกออกไปเป็น 3 เล่ม จึงมีชื่อเรียกว่า ไตรเพท และหลังจากนี้ไปเป็นเวลาหลายร้อยปี พวกพราหมณ์ได้แต่งคัมภีร์ขึ้นมาอีกเล่มหนึ่งเรียกชื่อว่า อถรรพเวท หรืออาถรรพเวท รวมกับคัมภีร์เก่าเป็น 4 คัมภีร์ แต่คงเรียกรวมกันว่า ไตรเพท เหมือนเดิม

นอกจากนี้ แต่ละคัมภีร์ดังกล่าวยังแบ่งออกเป็นส่วนใหญ่อีก 4 หมวด ที่มีองค์ประกอบเหมือนกัน ดังต่อไปนี้ คือ

1. หมวดสังหิตา เป็นหมวดที่รวบรวมมนตร์ต่างๆ สำหรับเป็นบทบริกรรมและขับกล่อม อ้อนวอน สดุดีเทพเจ้า เนื่องในพิธีกรรมบวงสรวง ทำพิธีกรรมบูชา

2. หมวดพราหมณะ หมวดนี้เป็นบทร้อยแก้ว หรือเรียงความ อธิบายระเบียบการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ไว้อย่างละเอียด

3. หมวดอารัณยกะ เป็นบทร้อยแก้ว ใช้เป็นตำราคู่มือการปฏิบัติของพราหมณ์ ผู้ประสงค์ดำเนินตนเป็นวานปรัสถ์ ชฎิลหรือปริพาชก เพื่อหาความสุขสงบ ตัดความกังวลจากการอยู่ครองเรือน

4. หมวดอุปนิษัท เป็นคัมภีร์ที่มีแนวคิดทางปรัชญาอย่างลึกซึ้ง เป็นตอนสุดท้ายแห่งพระเวท เป็นบทสนทนาโต้ตอบ ได้อธิบายถึงธรรมชาติและจักรวาล วิญญาณของมนุษย์ การเวียนว่ายตายเกิด กฎแห่งกรรม และหลักปฏิบัติ ปรัชญาสังคม ซึ่งเป็นการอธิบายสาระสำคัญของคัมภีร์พระเวททั้งหมด ดังนี้

1) ปรมาตมัน คือวิญญาณดั้งเดิมหรือความจริงสูงสุดของโลกและชีวิต หรือจักรวาล ซึ่งเรียกว่า พรหมัน สรรพสิ่งมาจากพรหมัน และในที่สุดก็จะกลับคืนสู่ความเป็นเอกภาพกับ พรหมัน ปรมาตมันกับพรหมจึงเป็นสิ่งเดียวกัน
2) อาตมัน หรือชีวาตมัน เป็นส่วนอัตตาย่อย หรือวิญญาณย่อย ซึ่งปรากฏแยก ออกมาอยู่ในแต่ละคน ดังนั้นการที่อาตมัน หรือชีวาตมันย่อยนี้เข้าไปรวมกับพรหมัน หรือ ปรมาตมัน ได้จึงจะพ้นจากทุกข์ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
3) เรื่องกรรม การที่ชีวาตมันจะกลับคืนสู่พรหมันเป็นเอกภาพอมตะได้นั้น ผู้นั้น จะต้องบำเพ็ญเพียรทำกรรมดี และประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่เรียกว่า โยคะ คือกรรมโยคะ ทำกรรมดี ภักติโยคะ มีความภักดีในเทพเจ้า และชญานโยคะ การศึกษาจนเข้าใจพระเวท อย่างถูกต้อง
3.3.2 สมฤติ

สมฤติ เป็นคัมภีร์ขั้นสอง แปลตามศัพท์ว่า สิ่งที่จำไว้ได้ จึงเป็นสิ่งที่จดจำต่อๆ กันมา และถ่ายทอดกันสืบต่อมา เป็นคัมภีร์ที่ปราชญ์ทางศาสนาในเวลาต่อมาได้แต่งตำราประกอบขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนให้การศึกษาคัมภีร์พระเวทเป็นไปโดยถูกต้องและมีประสิทธิผล

ตำราที่ผู้เป็นปราชญ์ทางศาสนาแต่งขึ้นเป็นอุปการะสนับสนุนคัมภีร์พระเวทนั้นเรียกว่า คัมภีร์เวทางคศาสตร์ แปลว่า คัมภีร์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับองค์แห่งพระเวท มีเนื้อหาสรุปได้ คือ

1.   ศึกษา หรืออุจจารณวิลาส (สัทศาสตร์) ได้แก่ ตำราว่าด้วยการออกเสียงสอนให้เรารู้จักเสียงหนัก เสียงเบา เสียงยาว เสียงสั้น เสียงสูง เสียงต่ำ และให้รู้จักออกเสียงให้ไพเราะสละสลวย ความรู้เรื่องการออกเสียงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะบทมนตร์ต่างๆ ต้องจำให้ขึ้นใจ หรือแม่นยำ ถ้าออกเสียงผิดก็ใช้ไม่ได้

2.   ฉันท์ ได้แก่ ตำราเรียนรู้วิธีแต่งฉันท์ หรือโศลก เพราะมันตระหรือสังหิตาต่างๆ ล้วนแต่งเป็นฉันท์ เมื่อเป็นคณะฉันท์แล้วก็จะกำหนดจดจำได้ง่าย และออกเสียงไม่ผิดพลาด วิธีแต่งโศลกหรือคำฉันท์นั้น แต่งโดยการรวบรวมจากตำราของท่านยาสกะ

3.   ไวยากรณ์ ได้แก่ ตำราอธิบายกฎเกณฑ์ทางภาษา การแปลความและตีความในบทสังหิตาต่างๆ ตำราไวยากรณ์นี้ ปาณินีได้รวบรวมจากตำราเดิมมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ เมื่อประมาณปีที่ 240 ก่อนคริสต์ศักราช

4.   นิรุกติ ได้แก่ ตำราเกี่ยวกับการแปลศัพท์ให้ถูกต้องตามมูลธาตุเดิม หรือรากศัพท์เดิมของคำนั้นๆ ที่มีอยู่ในคัมภีร์พระเวท

5.   โชยติส ได้แก่ ตำราดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ เพื่อให้กุลบุตรรู้จักชื่อและลักษณะของดวงดาว และรู้ดิถีวัน คืน ขึ้น แรม รู้เดือนปี รู้นิมิตและชะตาดีหรือร้าย และฤกษ์อันเหมาะแก่การประกอบพิธีกรรมต่างๆ

6.   กัลปะ ได้แก่ ตำราเกี่ยวกับข้อกำหนด กฎเกณฑ์ในการประกอบพิธีกรรม และองค์ที่ 6 นี้มีความสำคัญมากเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในกิจพิธีของชีวิตชาวอารยัน จึงต้องมีคู่มือที่แต่งเป็นสูตร โดยแบ่งย่อยออกเป็น 3 หมวด ดังนี้

1)   เศราตสูตร ได้แก่ สูตรว่าด้วยพิธีบวงสรวงบูชา เป็นการย่อใจความในคัมภีร์พราหมณ์มาใช้
2)   คฤหยสูตร ได้แก่ สูตรว่าด้วยพิธีเกี่ยวกับครอบครัว เช่น การขึ้นบ้านใหม่ การแต่งงาน เป็นต้น
3)   ธรรมสูตร ได้แก่ สูตรว่าด้วยกฎหมาย และข้อบังคับเกี่ยวกับความประพฤติ ข้อวัตรปฏิบัติของชนชั้นต่างๆ และระยะวัยของบุคคลที่เรียกว่า อาศรมธรรม 4 คือ พรหมจารี คฤหัสถ์ วานปรัสถ์ และสันยาสี ธรรมสูตรนี้ได้มีการเขียนขึ้นประมาณปีที่ 600 ถึง 200 ก่อนคริสต์ศักราช
7. คัมภีร์ธรรมศาสตร์ ได้แก่ ตำราอธิบายลักษณะกฎหมายของบ้านเมือง เพื่อ วางระเบียบความประพฤติของประชาชน และสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความเจริญของสังคมฮินดู ดังนั้นชื่อของผู้ให้กำเนิดกฎหมาย คือ มนู ยาชญวัลกยะ และปราศระ เป็นชื่ออมตะ ในโลกของกฎหมาย

8. คัมภีร์นิติศาสตร์ ได้แก่ ตำราอธิบายลักษณะการกระทำ จรรยา ความประพฤติของบุคคลและที่เกี่ยวกับสังคม

9. คัมภีร์อิติหาส คือคัมภีร์ว่าด้วยวีรกรรมของวีรบุรุษ อันได้แก่ มหากาพย์ทั้งสอง คือ รามายณะ หรือรามเกียรติ์ กับมหาภารตะ ซึ่งเป็นตัวอย่างแสดงผลของการประพฤติธรรมตามแนวคัมภีร์ธรรมศาสตร์

10. คัมภีร์ปุราณะและคัมภีร์อุปปุราณะ เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยเทพองค์หนึ่งๆ โดยเฉพาะกลุ่มใดนับถือเทพองค์ใดเป็นพิเศษจะมีศรัทธาต่อเรื่องนั้นๆ เป็นพิเศษ ซึ่งจุดประสงค์ของคัมภีร์นี้ก็คือ การสอนศาสนาแก่ประชาชนโดยเล่าเรื่องเทพนิยาย นิทาน และพงศาวดารต่างๆ เป็นคัมภีร์ที่รู้จักกันดีที่สุดในกลุ่มชาวบ้านทั่วไป ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

คัมภีร์ปุราณะ 18 เรื่อง ได้แก่

1. พระพรหม   7. กฤษณะ   13.   ภวิษยัต
2. ดอกบัว   8. ศิวะ   14.   ปางปลาของพระวิษณุนารายณ์
3. อัณฑะของพรหม   9. ศิวลึงค์   15.   ปางสุกรของพระวิษณุนารายณ์
4. ไฟ   10. นารทิยะ   16.   ปางเต่าของพระวิษณุนารายณ์
5. วิษณุ   11.   คเณศวร   17.   ปางพราหมณ์เตี้ยของพระวิษณุนารายณ์
6. ครุฑ   12.   มารกันเทยะ   18.   ภาควัตหรือพระวิษณุนารายณ์อวตาร
คัมภีร์อุปปุราณะ 18 เรื่อง ได้แก่

1. อาทิ   7. นันทิเกศวร   13. มเหศวร
2. นรสิงหะ   8. อุศนัส   14.   ปัทมะ
3. วายุ   9. กบิล   15.   เทวะ
4. ศิวธรรม   10.   วรุณ   16.   ปราศระ
5. ทุรวาศา   11.   สามพะ   17.   มรีจะ
6. นารท   12.   กาลิกะ   18.   ภาศกร
11. คัมภีร์อุปเวท ได้แก่ ตำราเกี่ยวกับวิชาชีพดังต่อไปนี้

1. วิชาอายุรเวท เรียนเรื่องการนำพฤกษชาติพันธุ์ต่างๆ มาทำยารักษาโรค
2. วิชาคานธรรพเวท เรียนเรื่องดนตรีและนาฏศาสตร์
3. วิชาธนุรเวท เรียนวิธีรบ รุก ถอย วิธียิงธนู แผลงศร
4. วิชาสถาปัตยกรรม เรียนเรื่องการก่อสร้างสิ่งต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์อาตมะ ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญของแต่ละนิกาย ว่าด้วยการบูชาเทพเจ้า พร้อมทั้งข้อปฏิบัติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ 1) ไวษณวะ-อาคม มีพระวิษณุเป็นหลัก 2) ไศวะ-อาคม มีพระศิวะเป็นหลัก และ 3) ศักตะ-อาคม หรือตันตระ มีศักติ หรือเทวี เป็นหลัก แม้จะแตกต่างกันออกไปตามแนวนิกาย ทุกคัมภีร์ก็มีพระเวทเป็นหลักยึดทั้งสิ้น

3.4 หลักคำสอนที่สำคัญ

หลักคำสอนที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู6) มีอยู่ 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. หลักอาศรม 4
2. หลักการปฏิบัติระหว่างบุคคล
3. หลักปรมาตมัน
4. หลักโมกษะ

3.4.1 หลักอาศรม 4
หลักอาศรม 4 หมายถึง ขั้นตอนการดำเนินชีวิตของชาวฮินดู เฉพาะที่เป็นพราหมณ์วัยต่างๆ โดยกำหนดเกณฑ์อายุคนไว้ 100 ปี แบ่งช่วงของการใช้ชีวิตไว้ 4 ช่วง ช่วงละ 25 ปี ช่วงชีวิตแต่ละช่วงเรียกว่า อาศรม (วัย) อาศรมทั้ง 4 ช่วงมีดังนี้

อาศรมที่ 1 (ปฐมวัย) เรียกว่า พรหมจรรย์อาศรม เริ่มตั้งแต่อายุ 8-25 ปี ผู้เข้าสู่อาศรมนี้ เรียกว่า พรหมจารี ภายในช่วงระยะเวลา 25 ปีแรกนี้ พรหมจารีผู้อยู่ในพรหมจรรย์อาศรม มีหน้าที่ดังนี้

1)   ตั้งใจเรียนวิชาการในวรรณะของตน
2)   เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูอาจารย์
3)   ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศ
4)   ไม่คบกับเพศตรงกันข้าม
5)   เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วต้องทำพิธีเกศนตสันสกา (ตัดผม) และพิธีคุรุทักษิณา มอบสิ่งตอบแทนครูอาจารย์
ผู้ทำหน้าที่ครบทั้ง 5 ข้อนี้แล้วถือว่าเป็นพราหมณ์โดยสมบูรณ์ จากฐานะพรหมจารีจะมีสิทธิพิเศษ 5 ประการ ดังนี้

1)   ศึกษาคัมภีร์พระเวทได้
2)   สอนพระเวทแก่คนอื่นได้
3)   ทำพิธียัคนัม (เกี่ยวกับการบริจาค) ได้
4)   รับทานจากผู้ศรัทธาได้
5)   บริจาคทานแก่คนยากจน (ผู้อยู่ในวรรณะต่ำ) ได้
อาศรมที่ 2 (มัชณิมวัย) เรียกว่า คฤหัสถาศรม อยู่ในช่วงอายุ 25-50 ปี มีหน้าที่ดังนี้

1)   ช่วยพ่อแม่ทำงาน
2)   แต่งงานมีครอบครัว
3)   ประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว
อาศรมที่ 3 (ปัจฉิมวัย) เรียกว่า วานปรัสถาศรม อยู่ในช่วงอายุ 50-75 ปี มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติดังนี้

1)   มอบสมบัติให้บุตรธิดา
2)   บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม
3)   ออกบวชปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า วานปรัสถ์
4)   ทำประโยชน์แก่สังคมด้วยการเป็นครูอาจารย์
อาศรมที่ 4 คือ สันยัสตาศรม อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ปรารถนา ความหลุดพ้น (โมกษะ) จะออกบวชเป็นสันยาสี เมื่อบวชแล้วจะสึกไม่ได้ บำเพ็ญสมาธิแสวงหาความหลุดพ้นตามหลักกรรมโยคะต่อไป

3.4.2 หลักการปฏิบัติระหว่างบุคคล

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีหลักคำสอนที่คล้ายคลึงกับคำสอนเรื่องทิศ 6 ในศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่ว่าด้วยการปฏิบัติระหว่างบุคคลดังมีรายละเอียดดังนี้

1. ปิตฤธรรม คือ การปฏิบัติตามหน้าที่ของบิดาต่อบุตร โดยบิดาต้องมีหน้าที่ รับเลี้ยงดูบุตรจนบุตรมีอายุบรรลุนิติภาวะ ในการเลี้ยงดูบุตร บิดาจะต้องปฏิบัติดังนี้

- เมื่อบุตรมีอายุตั้งแต่เกิดจนถึง 5 ขวบ จงเลี้ยงดูด้วยความเมตตากรุณาและด้วย ความรัก

- ตั้งแต่บุตรบรรลุนิติภาวะแล้วถือว่าเป็นมิตรเป็นสหายคือเป็นเพื่อนกัน โดยให้บุตรทำหน้าที่เป็นผู้นำบิดาบ้าง ส่วนบิดาควรทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และบิดาควรหาคู่ครองที่เหมาะสมให้แก่บุตรในเวลาอันควร

2. มาตฤธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของมารดาต่อบุตร มารดาจะต้องรับหน้าที่เหมือนบิดาแต่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อสร้างอนาคตให้กับบุตรและต้องเป็นครูคนแรกของบุตร ดังนั้นมารดาจึงต้องระมัดระวังในการสร้างอุปนิสัยให้แก่บุตรในทางที่ดีเสมอ

3. อาจารยธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของครูอาจารย์ต่อศิษย์ ครูอาจารย์จะต้อง รับหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์อย่างถูกต้องและเป็นธรรม เลี้ยงดูศิษย์เหมือนบิดามารดาเลี้ยงดูบุตร พยายามสร้างและแก้ไขความประพฤติอุปนิสัยของศิษย์ร่วมกับบิดามารดาของศิษย์

ทั้งมารดา บิดา ครูอาจารย์ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีต่อบุตรและศิษย์ หากสั่งสอนด้วยวาจาเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว ก็นับว่าจะได้ผลน้อยมาก การสั่งสอน อะไรก็ตามจะต้องปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างด้วยจึงจะได้ผลเต็มที่

4. บุตรธรรมและศิษยธรรม คือ การปฏิบัติของบุตรต่อบิดามารดาและการปฏิบัติหน้าที่ของศิษย์ต่อครูอาจารย์ ซึ่งในคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูบัญญัติไว้ว่า

“   บุคคลที่ได้กระทำการเคารพบิดามารดาและครูอาจารย์ ผู้นั้นได้ชื่อว่าได้ปฏิบัติธรรม ทุกประการแล้ว แต่ผู้กระทำการดูถูกบุคคลดังกล่าว ผู้นั้นย่อมไม่ถึงซึ่งความสำเร็จ ไม่ว่าจะ กระทำกิจการมากมายเพียงใดก็ตาม จะเป็นด้วยเรี่ยวแรงหรือด้วยกำลัง ด้วยประการฉะนี้ ผู้ที่จะต้องการความสำเร็จและมีความสุขยิ่งในชีวิต หรือชีวิตก้าวหน้าก็ตามที จะต้องเคารพนับถือบิดามารดาและครูอาจารย์อย่างจริงใจ ต้องอยู่ในโอวาทเชื่อถ้อยฟังคำของท่านทั้งปวงและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านŽ”

“   บุคคลที่จงรักภักดีต่อบิดามารดาเป็นผู้ชนะแล้วในโลกนี้ จึงต้องจงรักภักดีต่อบิดา มารดา บุคคลเช่นนี้ย่อมชนะโลกสวรรค์ และบุคคลที่จงรักภักดีต่อครูอาจารย์ ผู้นั้นจะชนะโลก พระพรหมด้วยŽ”

5. ภราตฤธรรม คือ การปฏิบัติของพี่ที่มีต่อน้องและน้องต่อพี่ น้องต้องปฏิบัตินับถือพี่เหมือนพ่อเหมือนแม่ ครูอาจารย์จึงมีบัญญัติไว้ว่า จงถือว่าครูอาจารย์เป็นรูปปรมาตมัน บิดาเป็นรูปพระประชาบดี มารดาเป็นรูปพระแม่ธรณี และพี่เป็นรูปพระครู จงอย่าดูถูกทั้งบิดามารดา ครูอาจารย์และพี่ ไม่ว่าตัวเองจะอยู่ในฐานะอันใดก็ตาม หากเป็นพราหมณ์ก็ขอให้ปฏิบัติพิเศษขึ้นไปอีก เช่นเดียวกันพี่ก็ต้องเลี้ยงดูน้องแบบแม่เลี้ยงดูบุตร พี่ต้องอบรมสั่งสอนน้องเหมือนบิดามารดาสั่งสอนบุตร

6. ปติธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของสามีต่อภรรยา ผู้ชายต้องเลือกเจ้าสาวที่ เหมาะสมแก่ตระกูลของตน เหมาะสมกับสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ฉะนั้นเมื่อจะเลือกเจ้าสาวต้อง ได้รับการเห็นชอบจากผู้ใหญ่ก่อน เมื่อผ่านผู้ใหญ่หรือผู้ใหญ่ยินยอมแล้วจึงยอมรับเจ้าสาวนั่นมาเป็นภรรยา เมื่อเป็นภรรยาแล้วก็ต้องเลี้ยงดูกันไปตลอดชีวิต เอาใจใส่ต่อภรรยาอย่างจริงจัง อย่าริเป็นคนเจ้าชู้กับผู้หญิงอื่น ถือว่าผู้หญิงอื่นๆ เปรียบเสมือนพี่น้องหรือลูกหลานหรือมารดาของตน

7. ปัตนีธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของภรรยาต่อสามี ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อสามีอย่างบริสุทธิ์ใจต้องเอาใจใส่สามีอย่างจริงจัง ต้องถืออยู่ในตัวเองเสมอว่าผู้ชายทั้งหลาย เว้นสามีของตนเป็นเหมือนบิดา พี่น้อง บุตร หลาน เท่านั้น อย่าเป็นชู้กับชายอื่น ให้อยู่ในโอวาทและในความควบคุมของสามีเสมอ เพราะภรรยาเป็นคนสำคัญในครอบครัว จึงมีคำกล่าวไว้ว่า การคลอดบุตร การกุศล การรอรับใช้อย่างยอดเยี่ยม สวรรค์ของบุรุษ สิ่งเหล่านี้ย่อมอยู่ในกำมือ ของสตรีทั้งนั้น

ผู้เป็นสตรีต้องระมัดระวังในการรักษาความประพฤติ ความบริสุทธิ์ ความสาว ความงาม เมื่อเป็นเมียจงเป็นเมียของชายที่เป็นสามีของตนเท่านั้น ตำรามานวศาสตร์บัญญัติไว้ว่า สตรีใดเป็นชู้กับชายอื่น สตรีผู้นี้จะถูกติเตียนนินทาในสังคมโลกนี้และโลกหน้า เกิดมาเป็นหมาป่าหรือหมาจิ้งจอก นอกจากนี้แล้วยังได้รับความเจ็บปวดต่อโรคน่าเกลียดทั้งในชาตินี้และชาติหน้าอีกด้วยŽ

เมื่อเป็นสามีภรรยากันแล้ว จงอยู่อย่างเป็นสามีภรรยากันตลอดชีพ เพื่อรักษาชื่อเสียง วงศ์ตระกูล และเพื่ออนาคตของลูกหลานด้วย ดังคำที่ได้กล่าวไว้ว่า อย่าให้มีการหย่าร้างกันในระหว่างสามีภรรยา นี้เป็นจุดมุ่งหมายของการแต่งงานในศาสนานี้

8. สวามี-เสวกธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของสวามี (นายจ้าง) ต่อเสวก (ลูกจ้าง) และการปฏิบัติหน้าที่ของเสวกต่อสวามี

ผู้เป็นนายจ้างมีหน้าที่เลี้ยงดูลูกจ้างและครอบครัวของเขา จ่ายเงินเดือนหรือให้ ค่าตอบแทนประการใดก็ควรพิจารณาก่อนว่า ปัจจุบันที่มอบให้แก่ลูกจ้างนั้นมีเพียงพอต่อ การครองชีพหรือไม่ ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องเอาใจจดจ่อต่อความทุกข์สุขของเขา ใน มานวศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่าผู้เป็นนายจ้างต้องสังเกตดูว่า ลูกจ้างนั้นมีภาระประการใดหรืออย่างไร แล้วต้องจ่ายให้เพื่อให้เขาสามารถครองชีพอยู่ได้ไม่ลำบากหรือฝืดเคืองมากนัก

ทำนองเดียวกัน ผู้เป็นลูกจ้างก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตย์ต่อนายจ้างเสมอและทำทุกอย่างที่จะให้นายจ้างได้รับผลประโยชน์ให้มากที่สุด โดยการกระทำของตัวเอง อย่ากระทำให้เสียประโยชน์ของนายจ้างทั้งทางตรงและทางอ้อม ในคัมภีร์ได้บัญญัติไว้ว่า การกระทำที่ให้นายจ้างได้รับความดูถูกเสียหายทั้งกายและใจ ผู้เป็นลูกจ้างอย่าได้กระทำŽ

9. ราชธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ของพระราชาต่อประชาชน หรือการปฏิบัติของประชาชนต่อพระราชาผู้เป็นองค์ประมุขของชาติ จึงถือว่าประชาชนเป็นเสมือนบุตรหลานและเอาใจใส่ต่อความสุขความทุกข์ของประชาชนอย่างใกล้ชิด ในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูสอนไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์มีหน้าที่ยึดธรรมสูงสุด คือ ดูแลประชาชน อารักขาประชาชน ให้ความอบอุ่นแก่ประชาชน โดยถือหลักแห่งการอารักขาของพระมหากษัตริย์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในภายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในพระบรมโพธิสมภารนั้นก็จะต้องปฏิบัติทางธรรม ท่านกล่าวไว้ว่า พระราชาเป็นผู้ถือทัณฑ์คือกฎหมายไว้ หมายถึง ผู้ใดไม่ปฏิบัติทางธรรมผู้นั้นย่อมจะได้รับโทษจากพระองค์เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วประชาชนก็ต้องปฏิบัติธรรมโดยอาศัยพระราชบารมีธรรม จึงมีแต่เจริญก้าวหน้าในประเทศชาติ ประชาชนมีแต่ความสุข พระราชาพระองค์นั้นก็มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน

ในด้านประชาชนมีหน้าที่คือ ต้องถวายความเคารพนับถือพระราชาอย่างสูงสุด เพราะพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์มิใช่บุคคลธรรมดา พระราชาธิราชเจ้านั้นทรงเป็นเสมือนเทพเจ้า 8 องค์ คือ

1) พระอินทร์   2) พระยมราช
3) พระวายุ   4) พระสุริยะ
5) พระอัคนี   6) พระวรุณ
7) พระจันทร์   8) พระกุเวร

ในคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่า พระมหาพรหมธาดาได้ตั้งพระมหากษัตริย์โดยเอาพระเดชบารมีของพระเจ้า 8 องค์ ดังที่กล่าวมาแล้ว เพื่อปกป้องคุ้มครองรักษาประชาชนซึ่งในองค์พระราชามีเทพเจ้า 8 องค์ตลอดŽ และในคัมภีร์ภควัทคีตา พระกฤษณะได้ทรงอนุศาสน์ไว้ว่า เราเป็นพระราชาในมนุษยชาติŽ ด้วยเหตุนี้ทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงถวายความเคารพนับถือพระราชาเหมือนองค์พระนารายณ์ด้วย บุคคลใดเคารพนับถือพระราชา บุคคลนั้นยังนับถือศาสนาอยู่ แม้ในประเทศอินเดีย ประชาชนนั้นย่อมมีความจงรักภักดีและเคารพนับถือพระราชา พระมหาราชาเจ้าผู้ครองนครต่างๆ เหล่านั้นอยู่เสมอ

3.4.3 หลักปรมาตมัน
คำว่า ปรมาตมัน หมายถึง สิ่งยิ่งใหญ่อันเป็นที่รวมของทุกสิ่งทุกอย่างในสากลโลก ซึ่งเรียกชื่อสิ่งนี้ว่า “พรหมŽ” ปรมาตมันกับพรหมจึงเป็นสิ่งเดียวกัน และมีลักษณะดังต่อไปนี้

1)   เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง
2)   เป็นนามธรรม สิงสถิตอยู่ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเรียกว่าอาตมัน เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา
3)   เป็นศูนย์รวมแห่งวิญญาณทั้งปวง
4)   สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในสากลโลกล้วนเป็นส่วนย่อยที่แยกออกมาจากพรหม
5)   เป็นตัวความจริง (สัจธรรม) สิ่งเดียว (โลกและสิ่งอื่นๆ ล้วนเป็นมายา ภาพลวงที่มีอยู่ชั่วครั้งคราวเท่านั้น)
6)   เป็นผู้ประทานญาณ ความคิดและความสันติ
7)   เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในสภาพเดิมตลอดกาล

วิญญาณของสัตวโลกทั้งหลาย (อาตมัน) คือส่วนที่แยกออกมาจากวิญญาณรวมของพรหม (ปรมาตมัน) วิญญาณย่อยแต่ละดวงเหล่านี้เมื่อแยกออกมาแล้วย่อมเข้าสิงสถิตในสิ่งมีชีวิตรูปแบบต่างๆ กัน เช่น ในร่างกายมนุษย์ เทวดา สัตว์และพืช มีสภาพดีบ้าง เลวบ้าง สุดแต่ผลกรรมที่ทำไว้ ซึ่งถือว่าเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ตราบใดที่วิญญาณเหล่านี้ยังไม่สิ้นกรรม ย่อมต้องเวียนว่ายตายเกิดผจญทุกข์อยู่ตลอดไป


3.4.4 หลักโมกษะ
หลักโมกษะ เป็นหลักความดีสูงสุด ดังคำสอนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สอนว่า ”ผู้ใดรู้แจ้งในอาตมันของตนว่าเป็นหลักอาตมันของโลกพรหมแล้ว ผู้นั้นย่อมพ้นจากสังสารการเวียนว่ายตายเกิด และจะไม่ปฏิสนธิอีกŽ” หลักโมกษะประกอบด้วยสาระสำคัญ 2 ประการ คือ

1. การนำอาตมันเข้าสู่ปรมาตมัน ด้วยการปฏิบัติธรรมใดๆ เพื่อให้วิญญาณของตนเข้ารวมกับปฐมวิญญาณ เรียกว่า ”เข้าถึงโมกษะŽ” คือความหลุดพ้นจากวัฏสงสารแห่งชีวิต

2. วิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงโมกษะ ได้เสนอแนะหลักปฏิบัติที่สำคัญไว้ 3 ประการ คือ กรรมมรรค (กรรมโยคะ) ชยานมรรค (ชยานโยคะ) และภักติมรรค (ภักติโยคะ)

3.5   ตรีมูรติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ยุคพระเวทตอนปลายและยุคมหากาพย์ตอนต้น อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราชถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 พวกพราหมณ์มีบทบาทมากในสังคม ได้กลายเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ เป็นผู้วิเศษ และมีอิทธิพลมากในวงการต่างๆ ศาสนาในยุคพระเวทเรียกว่า ศาสนาพราหมณ์ ครั้นเวลาล่วงมาถึงยุคพระเวทตอนปลาย ศาสนาพราหมณ์ได้มีการปฏิรูปเกิดแนวความคิดด้านปรัชญามีเหตุมีผลมากขึ้น และเวลาต่อมา ศาสนาพราหมณ์เรียกว่า ศาสนาฮินดู

ศาสนาในยุคมหากาพย์ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เทพเจ้าที่สำคัญในยุคมหากาพย์ ได้แก่ พระพรหม พระศิวะ และพระนารายณ์ เทพเจ้าทั้ง 3 องค์นี้รวมเรียกว่า ตรีมูรติ7) และหน้าที่ของเทพเจ้าแต่ละองค์มีดังต่อไปนี้

3.5.1 พระพรหม
พระพรหมเป็นผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก รวมทั้งเทวดาทั้งหลายด้วย ลักษณะพระพรหมในระยะแรกไม่มีตัวตน แต่ครั้นเวลาต่อมา พวกพราหมณ์ ได้พบข้อบกพร่องว่า เมื่อพระพรหมไม่มีตัวตน ประชาชนเคารพบูชาไม่ได้ พวกพราหมณ์จึงได้กำหนดให้พระพรหมมีตัวตน มี 4 พักตร์ สามารถมองดูได้ทั่วทิศ ลักษณะของพระพรหมเป็นทั้งนามธรรมและรูปธรรม พระพรหมที่มีลักษณะเป็นนามธรรมนั้นหมายถึงจักรวาล เป็นวิญญาณของธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ท้องฟ้า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือร่างกายของ พระพรหม พระพรหมสิงสถิตในสิ่งเหล่านี้ พระพรหมเป็นอันติมสัจจะที่ไม่อาจอธิบายได้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจวัดได้ เป็นพื้นฐานความรู้ทั้งปวง ไม่หยาบ ไม่ละเอียด ไม่สั้นไม่ยาว ปราศจากกลิ่น แสง เสียง เทศะ เป็นต้น ส่วนพระพรหมที่เป็นรูปธรรมเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้าง พระพรหมมีพระชายาชื่อพระสรัสวดี ซึ่งเป็นเทพีแห่งวาจาและการศึกษาเล่าเรียน และเป็น ผู้อุปถัมภ์ศิลปวิทยาทั้งปวง

3.5.2 พระศิวะ
พระศิวะ เทพเจ้าแห่งการทำลายและเทพเจ้าแห่งการฟ้อนรำ มีหลายชื่อ เช่น อิศวร รุทระ และนาฏราช เป็นต้น พระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุดในไศวนิกาย ประทับอยู่ที่ภูเขาไกรลาส มีโคนันทีเป็นพาหนะ และมีศิวลึงค์เป็นเครื่องหมายของพลังแห่งการสร้างสรรค์

ลักษณะของพระศิวะเป็นรูปฤๅษี มี 4 กร นุ่งห่มหนังสัตว์ ประทับนั่งบนหนังเสือโคร่ง ถืออาวุธตรีศูล ธนู และคทาหัวกะโหลกมนุษย์ ห้อยพระศอด้วยประคำร้อยด้วยกะโหลก มีงูเป็นสังวาล พระศอมีสีดำสนิท กลางพระนลาฏมีพระเนตรดวงที่ 3 ซึ่งถ้าพระศิวะลืมพระเนตรดวงที่ 3 เมื่อใด ไฟจะไหม้โลกเมื่อนั้น เหนือพระเนตรดวงที่ 3 มีรูปพระจันทร์ครึ่งซีก

พระศิวะมีพระชายาชื่ออุมา ซึ่งมีหลายลักษณะเป็นต้นว่า ปารวตีเทวีผู้เป็นธิดาแห่งหิมวัตหรือหิมาลัย ทรุคาเทวีผู้เป็นเจ้าแม่แห่งสงคราม และกาลีเทวีผู้มีกายสีดำ

พระอุมาเทวี มี 3 ภาค ภาคหนึ่ง เป็นเทพีโสภา มเหสีผู้ซื่อสัตย์และภักดีต่อพระศิวะ มี 4 กร ภาคสอง อวตารลงมาเป็นทุรคาเทวี มี 10 กร ทรงอาวุธ ธนู ศร จักร งู โล่ ดาบ หอก ขวาน ลูกตุ้ม กระดิ่ง ประทับบนหลังเสือ เพื่อปราบมหิงษาสูรหรืออสูรในร่างกระบือผู้ก่อยุคเข็ญในมนุษยโลก ภาคสาม อวตารลงมาเป็นกาลีเทวี มีพระกายสีดำ มี 4 กร 2 กร ถือดาบและศีรษะมนุษย์ แลบพระชิวหาสีแดง สวมพวงมาลัยร้อยด้วยกะโหลกศีรษะมนุษย์ ที่เอวมีแขนมนุษย์ห้อยอยู่โดยรอบ ชอบเครื่องสังเวยด้วยชีวิตสัตว์

3.5.3 พระวิษณุหรือพระนารายณ์
พระวิษณุหรือพระนารายณ์ เทพเจ้าผู้รักษาและคุ้มครองโลกให้เป็นสุข ชาวฮินดูเชื่อว่า พระนารายณ์ทรงอวตารลงมาเป็นพระรามและพระกฤษณะ พระนารายณ์เป็นเทพเจ้าที่มีพลังทางทำนุบำรุงโลก เมื่อเวลาใดโลกเกิดยุคเข็ญ เมื่อเวลานั้น พระนารายณ์จะเสด็จไปช่วยบำบัดทุกข์ ปราบยุคเข็ญ เรียกว่า อวตาร

พระนารายณ์ประทับอยู่ในเกษียรสมุทร มีพระยาอนันตราชเป็นบัลลังก์ ทรงครุฑเป็นพาหนะ และได้ทรงอวตารมาแล้ว 9 ปาง อวตารของพระนารายณ์จะมีทั้งหมด 10 ปาง และปางที่ 10 จะอวตารหลังจากสิ้นกลียุคแล้ว ความเหมาะสมมีอยู่อย่างไรก็อวตารลงมาเกิดในรูปนั้น และอวตารของพระนารายณ์ครั้งสำคัญ 10 ครั้ง หรือนารายณ์สิบปางมีดังต่อไปนี้

1. มัตสยาวตาร อวตารลงมาเป็นปลา เพื่อช่วยมนุษย์ให้พ้นความตาย เมื่อเกิดน้ำท่วมโลก ฆ่ายักษ์ชื่อ หัยครีพ หรือหยครีวะ ผู้เป็นต้นเหตุให้มนุษย์มีความผิด

2. กูรมาวตาร อวตารลงมาเป็นเต่าในเกษียรสาคร ให้หลังรองรับภูเขาชื่อ มันทาระ ในคราวที่เทวดากวนน้ำในมหาสมุทรเพื่อให้เกิดน้ำอมฤต

3. วราหาวตาร อวตารลงมาเป็นหมูป่า เพื่อปราบหิรัณยักษ์ ผู้จับโลกกดลงไปใต้ทะเล โดยใช้เขี้ยวดุนให้โลกสูงขึ้นจนมนุษย์ได้อาศัยกระทั่งถึงทุกวันนี้

4. นรสิงหาวตาร อวตารลงมาเป็นคนครึ่งสิงห์ เพื่อปราบยักษ์ชื่อ หิรัณยกศิปุ ผู้ได้พรจากพระพรหมว่าจะไม่มีใครฆ่าตายได้ ถึงกับก่อความเดือดร้อนทั่วโลก

5. วามนาวตาร อวตารลงมาเป็นคนค่อม เพื่อปราบยักษ์ชื่อ พลิ มิให้มีอำนาจครองโลกทั้งสาม และได้ไล่ยักษ์พลิให้ไปอยู่ใต้บาดาล

6. ปรศุรามาวตาร อวตารลงมาเป็นปรศุรามถือขวาน เป็นบุตรพราหมณ์ชื่อ ยมทัคนี ผู้สืบสกุลมาจากภฤคุเพื่อป้องกันมิให้กษัตริย์ครอบครองอาณาจักรเหนือวรรณะพราหมณ์

7. รามาวตาร อวตารลงมาเป็นรามจันทร์ คือเป็นพระรามในมหากาพย์รามายณะ เพื่อปราบท้าวราพณ์หรือทศกัณฐ์

8. กฤษณาวตาร อวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ ผู้เป็นสารถีขับรถศึกให้อรชุนเพื่อปราบคนชั่วในมหากาพย์มหาภารตะ

9. พุทธาวตาร อวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า ประกาศหลักธรรมช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์ เหตุผลที่ฮินดูดึงเอาพระพุทธเจ้ามาเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์นั้น นับเป็นการกลืนพระพุทธศาสนาได้อย่างสนิทอีกวิธีหนึ่ง

10. กัลกยาวตาร อวตารลงมาเป็นกัลกี บุรุษขี่ม้าขาวถือดาบมีแสงแปลบปลาบดังดาวหาง เพื่อปราบคนชั่วและสถาปนาธรรมขึ้นใหม่ในโลก

พระนารายณ์มีพระชายาชื่อ ลักษมี ผู้เป็นเทพีแห่งความงาม ผู้อำนวยโชคลาภ ความมั่งคั่ง และผู้มีใจเมตตาปรานี เมื่อพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นวามนาม ปรศุราม และพระราม พระชายาลักษมีเคยเสด็จมาเป็นนางปทมา (กมลา) นางธรณี และนางสีดาตามลำดับ

ตรีมูรติ เป็นลักษณะเทวะที่แสดงออกมาในรูปของบุคลาธิษฐานให้รู้ภาวะทั้ง 3 ต่อไปนี้
1.   อุปาทะ โลกมีเกิดเป็นเบื้องต้น
2.   ฐิติ การรักษาให้ดำรงไว้
3.   ภังคะ มีการทำลายเพราะโลกขาดความดี และให้วิญญาณมนุษย์และสัตว์ได้ พักผ่อน

ชาวฮินดูเชื่อว่าโลกมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และสลายไปในที่สุด การบูชาเทพเจ้าทั้ง 3 องค์เหล่านี้เป็นลักษณะของบุคลาธิษฐาน คือถือบุคคลเป็นใหญ่ เป็นการบูชาให้รู้สึกถึงสภาวธรรม 3 ประการ นั่นคือโลกเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และสลายไป

3.6 พระเจ้าสูงสุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีระยะเวลาแห่งการพัฒนาตนเองมายาวนานมาก ความเชื่อในพระเจ้าสูงสุดผู้สร้างโลกได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยเริ่มแรกสมัยที่เป็นศาสนาสนาตนะมีความเชื่อในพระเจ้าตามแบบศาสนาดั้งเดิมของชาวพื้นเมือง และนับถืออำนาจลึกลับทุกชนิดที่แฝงในธรรมชาติ ต่อมาเมื่อเกิดคัมภีร์พระเวท พระเจ้าได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลา โดยเริ่มจากพระพรหมจนในที่สุดได้เปลี่ยนมาเป็นพระศิวะบ้าง และ พระวิษณุบ้าง ต่อเมื่อได้มีการพัฒนาจากศาสนาพราหมณ์มาเป็นฮินดูหรือพราหมณ์ใหม่ คำสอนในเรื่องพระเจ้าได้ปรากฏอยู่ในรูปของปรมาตมัน พระเจ้าผู้ไม่มีรูปกายแต่ทรงสำแดงองค์ออกมาเป็น 3 รูป ได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ ดังนั้นจุดหมายสุดท้ายของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในปัจจุบัน คือ การเข้าสู่ โมกษะ ซึ่งผู้ที่จะเข้าถึงได้ต้องสามารถหลุดพ้นจากกองกิเลสและกองทุกข์ เมื่อหลุดพ้นแล้วจะเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมัน ซึ่งไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

3.7 หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุด
หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุด8)

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเชื่อว่าพระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด ทรงเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งตลอดทั้งกำหนดโชคชะตาของคนและสัตว์ เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตของแต่ละคนจึงเป็นไปตามพรหมลิขิต แต่คนก็อาจเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ หากทำให้พระพรหมเห็นใจและโปรดปราน โดยการบวงสรวงอ้อนวอนและกระทำความดีต่อพระองค์ ผู้ที่พระองค์ทรงโปรดหากตายไปก็จะไปเกิดในสุคติภูมิ และถ้าหากโปรดเป็นที่สุด ก็จะได้ไปอยู่กับพระองค์ชั่วนิรันดร แต่ถ้าไม่ทรงโปรดก็จะไปเกิดในทุคติภูมิ ได้รับทุกข์เวทนาแสนสาหัส ชาวฮินดูเชื่อว่าวิญญาณเป็นอมตะจึงไม่ตายตามร่างกาย ที่ว่าตายนั้นเป็นเพียงวิญญาณออกจากร่างกาย เพราะร่างกายทรุดโทรมจนอาศัยอยู่ไม่ได้เท่านั้น วิญญาณก็จะไปถือเอาร่างใหม่ หรือที่เรียกว่า เกิดใหม่ ดุจคนสวมเสื้อผ้าเมื่อใช้นานไปก็เก่าคร่ำคร่า ก็ไปหาชุดใหม่สวมก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นวิญญาณจึงไม่มีเกิดมีตาย การเกิดตายเป็นเพียงเรื่องร่างกายเท่านั้นเอง วิญญาณจะไปถือเอาร่างใหม่หรือที่เรียกว่าสังสารวัฏ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไปตราบที่ยังไม่บรรลุโมกษะ ชาวฮินดูเชื่อว่า โมกษะเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต ผู้เข้าถึงโมกษะจะไปอยู่กับพระพรหมชั่วนิรันดร ไม่ต้องมาเวียนว่าย ตายเกิดอีกต่อไป ส่วนการปฏิบัติเพื่อบรรลุโมกษะนั้น จะต้องปฏิบัติตามหลักการ 4 ประการ คือ

1. กรรมมรรค (กรรมโยคะ) การปฏิบัติด้วยการประกอบการงานตามหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็ง แต่ทำงานด้วยจิตใจสงบ ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ผู้ปฏิบัติเรียก กรรมโยคิน

2. ชยานมรรค (ชยานโยคะ) การปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาว่า ปรมาตมันเป็นสิ่งเดียวที่มีอยู่ วิญญาณส่วนบุคคล (อาตมัน) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ ปรมาตมันหรือวิญญาณสากล การสร้างญาณดังกล่าวให้เกิดขึ้นอาจทำได้โดยการดำเนินตามมรรค 4 ประการด้วยกัน คือ

1) แยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นจริงและสิ่งที่ไม่เป็นความจริงที่เรียกว่า วิเวกะ
2) บำเพ็ญเนกขัมมะ คือ สละโลกิยสุขทั้งมวล ที่เรียกว่า ไวราคยะ
3) ปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ คือ ควบคุมกายและประสาททั้ง 5 ควบคุมใจยับยั้งมิให้ประสาททั้ง 5 ที่ควบคุมได้แล้วกลับตกไปเป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ อีก อดกลั้นอารมณ์ต่างๆ อดกลั้นทนทาน ทำจิตให้เป็นสมาธิอย่างสมบูรณ์ และมีความจงรักภักดีที่เรียกว่า สลัมปัต
4) ใฝ่ฝันถึงความหลุดพ้น(โมกษะ)ที่เรียกว่า มุมุกษุตวะ ผู้ปฏิบัติเรียกว่า ชยานโยคิน
3. ภักติมรรค (ภักติโยคะ) การปฏิบัติ คือการปลูกศรัทธาและความจงรักภักดีต่อ เทพเจ้าที่ตนเคารพนับถือ ผู้ปฏิบัติเรียกว่า ภักติโยคิน

4. ราชมรรค (ราชโยคะ) เป็นทางปฏิบัติเกี่ยวกับการฝึกทางใจ มุ่งบังคับใจให้อยู่ในอำนาจด้วยการบำเพ็ญโยคะกิริยา ผู้ปฏิบัติเรียกว่า ราชโยคิน

3.8 พิธีกรรมที่สำคัญ
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาที่มีพิธีกรรมเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของศาสนา เพราะชาวฮินดูทุกวรรณะย่อมมีขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งส่วนเฉพาะและส่วนรวม ที่ต้องประพฤติตามกฎประเพณีที่กำหนดไว้สำหรับวรรณะของตน และกฎประเพณีส่วนรวมที่จำต้องประพฤติปฏิบัติทุกชั้นวรรณะ ข้อปฏิบัติและพิธีกรรมของชาวฮินดู9) แบ่งเป็น 4 หมวด ดังนี้

3.8.1 ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวรรณะ
มีกฎสำหรับวรรณะให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้

1.   การแต่งงาน ผู้ที่จะแต่งงานกันได้จะต้องอยู่ในวรรณะเดียวกัน จะแต่งงานข้ามวรรณะไม่ได้ แม้ในวรรณะเดียวกันก็ยังจำกัดด้วยตระกูลและโคตรอีกชั้นหนึ่งด้วย ผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษถูกประณามหรือถูกตัดขาดจากโคตร จากวรรณะ ผู้นั้นจะไม่มีใครคบสมาคมด้วย แม้ญาติมิตร บุตร และภรรยาก็รังเกียจไม่ยอมคบหาสมาคมด้วย

2.   อาหารการกิน ได้มีกฎกำหนดว่าอะไรกินได้ หรือไม่ได้ สำหรับวรรณะนั้นๆ ไม่กินอาหารร่วมกับคนต่างวรรณะ คนวรรณะสูงไม่กินอาหารที่คนวรรณะต่ำกว่าปรุง แต่ของที่ จำต้องใช้ร่วมกัน เช่น ใช้น้ำในสระเดียวกัน ก็ให้แบ่งเขตกันใช้ หรือปันระยะที่จะต้องอยู่ห่างกัน เช่นวรรณะนั้นห่างจากวรรณะนี้ 96 ก้าว 40 ก้าว 15 ก้าว 12 ก้าว เป็นต้น

3.   การทำมาหากิน พวกพราหมณ์จะมีอาชีพเป็นนักบวช หรือครูอาจารย์ หรือประกอบพิธีกรรม พวกกษัตริย์เป็นนักปกครอง ดูแลความสงบสุขบ้านเมือง พวกแพศย์เป็นพวกค้าขายและประกอบกสิกรรม ส่วนพวกศูทรเป็นกรรมกร

4.   เคหสถานที่อยู่ ตามกฎดั้งเดิม ห้ามไปตั้งถิ่นฐานนอกประเทศอินเดียและห้ามโดยสารไปทางทะเล แต่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยถือกันแล้ว

ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวรรณะทั้ง 4 ดังกล่าวข้างต้นนี้ แต่เดิมมาชาวฮินดูปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาก แต่ในปัจจุบันคนชั้นสูงหรือผู้ได้รับการศึกษาแผนปัจจุบันไม่ค่อยถือมากนัก

3.8.2 พิธีประจำบ้าน
ในคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ได้กำหนดพิธีสังสการ ซึ่งเป็นพิธีประจำบ้านไว้ 12 ประการที่คนในวรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์และวรรณะแพศย์จะต้องทำโดยมีการปฏิบัติตามลำดับขั้นดังนี้ คือ

ขั้นที่ 1 ครรภาธาน เป็นพิธีที่จัดขึ้นเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ถัดจากวันวิวาห์
ขั้นที่ 2 ปุงสวัน เป็นพิธีปฏิบัติต่อเด็กในครรภ์ที่เข้าใจว่าเป็นเพศชาย
ขั้นที่ 3 สีมันโตนยัน เป็นพิธีตัดผมหญิงมีครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์ได้ 4, 6 หรือ 8 เดือน
ขั้นที่ 4 ชาตกรรม พิธีคลอดบุตร
ขั้นที่ 5 นามกรรม พิธีตั้งชื่อเด็ก ในวันที่ 12 หรือ 14 ถัดจากวันคลอด

ขั้นที่ 6   นิษกรมณ์ พิธีนำเด็กออกไปดูแสงอาทิตย์ยามเช้า เมื่ออายุได้ 4 เดือน
ขั้นที่ 7   อันนปราศัน พิธีป้อนข้าวเด็ก เมื่ออายุได้ 5 เดือนหรือ 6 เดือน
ขั้นที่ 8   จูฑากรรม พิธีโกนผมไว้จุก เมื่ออายุได้ 3 ขวบ
ขั้นที่ 9   เกศานตกรรม พิธีตัดผม ถ้าเป็นวรรณะพราหมณ์ตัดเมื่ออายุ 16 ปี ถ้าวรรณะกษัตริย์ ตัดเมื่ออายุ 22 ปี ถ้าวรรณะแพศย์ ตัดเมื่ออายุ 24 ปี

ขั้นที่ 10   อุปานยัน พิธีเข้ารับการศึกษา พวกวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ จะต้องทำพิธีเข้ารับการศึกษา และเมื่ออาจารย์ในสำนักนั้นๆ รับเด็กไว้แล้วก็จะสวมสายธุรำหรือยัชโญปวีต ผู้ที่ได้สวมสายนี้แล้วก็เรียกว่า ทวิช หรือทิชาชาติ เกิด 2 ครั้ง คือครั้งแรกเกิดจากครรภ์มารดา และครั้งที่ 2 เกิดจากการสวมสายยัชโญปวีต ส่วนพวกศูทรและจัณฑาลเป็นเอกชาติ คือ เกิดครั้งเดียวไม่อาจเป็นทิชาชาติได้

ขั้นที่ 11   สมาวรรตน์ พิธีกลับบ้าน จัดขึ้นเมื่อเด็กหนุ่มสำเร็จการศึกษาและ เตรียมตัวกลับบ้าน
ขั้นที่ 12   วิวาหะ พิธีแต่งงาน
พิธีสังสการทั้ง 12 ประการดังกล่าวนี้ ถ้าเป็นหญิงห้ามทำพิธีอุปานยันอย่างเดียว นอกนั้นทำได้หมด และห้ามสวดคัมภีร์พระเวท เพราะเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สงวนเฉพาะผู้ชาย และคนบางวรรณะเท่านั้น ในปัจจุบันนี้ชาวฮินดูผู้เป็นทวิชาติคงปฏิบัติอยู่ใน 4 พิธีเท่านั้น คือ พิธีนามกรรม พิธีอันนปราศัน พิธีอุปานยัน และพิธีวิวาหะ ที่เหลือนอกนั้นไม่ใคร่ปฏิบัติกันแล้ว ยกเว้นผู้ที่เคร่งครัดจริงๆ เท่านั้น

3.8.3 พิธีศราทธ์

พิธีทำบุญอุทิศให้มารดาบิดา หรือบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ใน เดือน 10 ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 15 ค่ำ โดยมีลักษณะและขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.   การบูชากระทำด้วยข้าวบิณฑ์ คือก้อนข้าวสุก โดยให้บุตรชายของผู้ตายเป็น ผู้กระทำพิธีบวงสรวงบูชา เพราะมีความเชื่อว่าบุตรชายช่วยให้ผู้ที่ล่วงลับพ้นจากนรกขุม ปุตตะŽ โดยกระทำก่อนวันนำศพไปเผา และกระทำตลอดไป 10 วัน หรือ 11 วัน และวันที่ 11 นั้นเป็นการรวมญาติ โดยญาติฝ่ายบิดาและญาติฝ่ายมารดาซึ่งนับขึ้นไป 3 ชั่วคน และนับลงมา 3 ชั่วคน เข้าร่วมพิธีด้วย เรียกว่า สปิณฑะ แปลว่า ร่วมทำพิธีข้าวบิณฑ์

2.   การทำบุญอุทิศให้มารดาบิดา หรือบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ต้องทำไปเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อยตลอดปี

3.8.4 พิธีบูชาเทวดา

ชาวฮินดูมีเทพเจ้าที่เคารพมากมายหลายองค์ ผู้ที่เกิดในวรรณะสูงสมัยก่อนได้บูชาพระศิวะและพระวิษณุ เป็นต้น เวลาต่อมาเกิดลัทธิอวตารขึ้น มีการบูชาพระกฤษณะและพระรามขึ้นอีก แต่บุคคลในวรรณะต่ำมักถูกกีดกันมิให้ร่วมบูชาเทพเจ้าของบุคคลในวรรณะสูง ดังนั้น บุคคลในวรรณะต่ำจึงต้องสร้างเทพเจ้าของตนเองขึ้น เช่น เจ้าแม่กาลี เทพลิง เทพงู เทพเต่า รุกขเทพ เทพช้าง เป็นต้น

พิธีบูชาแตกต่างกันออกไปตามวรรณะ แต่บุคคลในวรรณะสูงมีพิธีในการบูชาดังนี้

1.   สวดมนต์ภาวนา สนานกาย ชำระและสังเวยเทวดาทุกวัน สำหรับผู้เคร่งครัดในศาสนาต้องทำเป็นกิจวัตร ส่วนพวกที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่มักไม่ค่อยปฏิบัติกัน

2.   พิธีสมโภช ถือศีล และวันศักดิ์สิทธิ์ เช่น ลักษมีบูชา วันบูชาเจ้าแม่ลักษมี สรัสวดีบูชา วันบูชาเจ้าแม่สรัสวดี ทุรคาบูชา วันบูชาเจ้าแม่ทุรคา เป็นต้น ซึ่งอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละนิกายและท้องถิ่น

3.   การไปนมัสการบำเพ็ญกุศลตามเทวาลัยต่างๆ เพื่อแสดงความเคารพเทพเจ้าที่ตนนับถือ

3.8.5 วันสำคัญทางศาสนา

เดือน 5

เดือน 5 นี้ จัดว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 และในขณะเดียวกัน วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 นี้จนกระทั่งถึงขึ้น 9 ค่ำ จะตรงกับนวราตรี ผู้ที่เคารพบูชาพระแม่อุมาจะทำการบูชาเจ้าแม่ทั้ง 9 ปาง ในแต่ละคืน เมื่อเสร็จแล้วจึงจะพาไปบูชาไฟและเชิญเด็กหญิงไม่เกิน 10 ขวบทั้ง 9 คน โดยเริ่มตั้งแต่ 2 ขวบ เรื่อยไปตามลำดับจนครบ 9 ปางมาร่วมพิธี ผู้ชุมนุมในงานจะมอบสิ่งของให้แก่เด็กทั้ง 9 คน

เดือน 6

ในเดือนนี้จะมีการบูชาพระวิษณุในวันขึ้น 3 ค่ำ และวันขึ้น 14 ค่ำ ส่วนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวันศูนย์กลางของสงกรานต์ เป็นวันเพ็ญแรกของปีนับว่ามีความสำคัญมาก ประชาชนจึงทำพิธีบูชาไฟและทำบุญตามประเพณีของตระกูล

เดือน 7

วันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 เป็นวันบูชาพระวิษณุ มีการอดอาหารและน้ำ 1 วัน

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 เป็นวันเริ่มแห่งการเข้าพรรษา นักบวชผู้เป็นสันยาสีจะต้องอยู่ประจำที่ 4 เดือน เพราะเป็นฤดูฝน นอกจากเดินทางไม่สะดวกแล้ว ยังมีแมลงเกิดขึ้นมากมายอาจเหยียบย่ำสัตว์เหล่านี้ ทำให้เป็นบาปติดตัว

เดือน 8

วันขึ้น 2 ค่ำ จะมีการแห่รูปพระวิษณุ โดยเฉพาะที่แคว้นอัสสัมมีการฉลองพิธีนี้อย่างใหญ่โต วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันไหว้ครู

เดือน 9

วันขึ้น 5 ค่ำ เรียกวันนาคปัญจมี จะทำการบูชาพญานาคด้วยน้ำนม ถ้างูกินของผู้ใด ผู้นั้นจะไม่ได้รับอันตรายจากงูเป็นเวลา 1 ปี

แรม 4 ค่ำ เป็นวันบูชาพระพิฆเนศ ซึ่งต้องอดอาหารตลอดวันจนพิธีเสร็จ และพระจันทร์ปรากฏขึ้นเมื่อใดจึงจะรับประทานอาหารได้

แรม 6 ค่ำ เป็นวันบูชาพระสุริยเทพ ส่วนแรม 8 ค่ำ บูชาพระกฤษณะด้วยการอดอาหารจนถึงเที่ยงคืนจึงจะรับประทานอาหาร

เดือน 10

วันขึ้น 3 ค่ำ เป็นวันสำคัญของพระแม่อุมาและพระศิวะ เชื่อกันว่าสตรีใดบำเพ็ญตบะในวันนี้ จะได้สามีที่ดี และจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะเป็นวันที่พระแม่อุมาทรงบำเพ็ญตบะวิงวอนขอแต่งงานกับพระศิวะ และพระศิวะได้ตกลงรับสัญญาพร้อมทั้งให้พรสตรีที่บำเพ็ญตบะในวันนี้

วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่ศาสนิกชนทำพิธีบูชาสักการะดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และจะเชิญพวกสันยาสีมาฉันอาหารที่บ้าน

เดือน 11

ในเดือนนี้ตลอดวันขึ้น 1 ค่ำถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เป็นวันนวราตรี จะมีการทำพิธีบูชาตลอด 9 วัน เช่นเดียวกับเดือน 5 ส่วนวันขึ้น 10 ค่ำ เป็นวันบูชาพระแม่อุมา โดยเฉพาะพวกวรรณะกษัตริย์จะต้องบูชาเป็นพิเศษ เชื่อกันว่าใครบูชาพระนางในวันนี้จะได้รับชัยชนะตลอดปี

วันขึ้น 15 ค่ำ ในตอนกลางคืนพวกพราหมณ์และผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู จะบูชา พระวิษณุด้วยสิ่งของสีขาวล้วน

แรม 13 ค่ำ เป็นวันที่ผู้นับถือศาสนาทำพิธีบูชาพระแม่ลักษมี พระพิฆเนศ พระกุเวร พระสรัสวดี พระอินทร์ เมื่อบูชาแล้วต้องไปซื้อเสื้อผ้าและของใช้ใหม่ๆ จะได้เกิดสิริมงคล

แรม 14 ค่ำ พวกพราหมณ์จะบูชาพระยายมในตอนกลางคืน มีการจุดประทีปตามไฟเป็นการถวายพระยายม เมื่อตายไปจะไม่ไปนรก แต่ถ้าหากทำกรรมหนักขนาดลงนรกก็จะมีไฟนำทางอันเป็นผลมาจากการจุดประทีปถวายพระยายมนั่นเอง

อนึ่งในวันนี้ เป็นวันเกิดของหนุมาน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นปางหนึ่งของพระศิวะ

แรม 15 ค่ำ เป็นวันบูชาเทพทั้ง 5 พระองค์ และเป็นวันบูชาพระลักษมี

เดือน 12

ขึ้น 1 ค่ำ เป็นวันถวายอาหารเทพเจ้าทั้งหมด 56 อย่าง

ขึ้น 2 ค่ำ เป็นวันที่พี่ชายหรือน้องชายต้องไปกินอาหารบ้านพี่สาวหรือน้องสาว และจะต้องนำของขวัญไปให้ด้วย จากนั้นพี่สาวหรือน้องสาวจะเจิมหน้าผากให้เพื่อความเป็นสิริมงคล

ขึ้น 12 ค่ำ เป็นวันบูชาพระวามนะ ปางหนึ่งของพระวิษณุ

ขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันบูชาพระวิษณุ

เดือนยี่

วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันบูชาพระวิษณุ และถวายประทีปแก่เทพเจ้าในเทวาลัย

วันขึ้น 6 ค่ำ ถึงแรม 6 ค่ำ รวม 15 วัน เป็นวันพระราชพิธีตรียัมปวาย เป็นพิธีเริ่มการเพาะปลูกโดยบูชาพระอิศวรและพระนารายณ์

เดือน 3

วันขึ้น 5 ค่ำ บูชาพระสรัสวดีจะทำให้สติปัญญาดีขึ้น นอกจากนี้ในวันเดียวกันยังบูชาพระกามเทพ และพระวิษณุ ประชาชนจะพากันไปล้างบาปที่แม่น้ำ

วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันบูชาเทพเจ้า แล้วแต่ใครศรัทธาองค์ใดก็บูชาองค์นั้น

แรม 14 ค่ำ เป็นวันศิวราตรี พวกพราหมณ์บูชาพระศิวะตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยการ อดอาหารและอดนอน

เดือน 4

วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันเผาของสกปรก

แรม 1 ค่ำ เรียกวันโฮลี มีการเล่นสาดสีใส่กัน เพื่อให้เชื้อโรคสิ้นไป วันนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นวันตรุษของแขก เป็นวันสนุกสนานของคนทุกวรรณะ โดยเฉพาะพวกวรรณะศูทรถือว่าเป็นวันสำคัญมากในชีวิตของพวกเขา

แรม 15 ค่ำ เดือน 4 ถือว่าเป็นวันสิ้นปีของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

3.9 นิกายในศาสนา

นิกายในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีอยู่มากมายด้วยกันหลายนิกาย แต่ที่จะได้กล่าวถึงในที่นี้จะพูดเฉพาะนิกายใหญ่ๆ ที่มีผู้นับถืออยู่เป็นจำนวนมากเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ 3 นิกายคือ นิกาย ไวษณวะ (Vaisnavism) นิกายไศวะ (Saivism) และนิกายศักติ (Saktism) ดังมีรายละเอียดพอเป็นสังเขป ดังนี้

3.9.1 นิกายไวษณวะ

นิกายไวษณวะ หรือไวษณพ เชื่อในการอวตารของพระนารายณ์ว่า พระนารายณ์อวตาร 24 ครั้ง เพื่อช่วยมนุษยโลกในคราวทุกข์เข็ญ นิกายนี้เคารพบูชาพระราม พระกฤษณะ หนุมาน และพระพุทธเจ้า โดยอ้างว่าเป็นอวตารปางที่ 5 ของพระนารายณ์ นิกายนี้ไม่เน้นพิธีกรรม เรียกตนเองว่า เป็นศาสนาฮินดู เคารพบูชาเทพเจ้าต่างๆ และคตินิยมสร้างเทวรูปไว้บูชาแบบพหุนิยม

นิกายไวษณวะนี้จะมีรอยเจิมหน้าผากเป็น 3 จุด เป็นเครื่องหมายแสดงความเคารพ พระวิษณุ นิกายนี้มีอิทธิพลมากที่สุดในอินเดียภาคเหนือ และบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกของนครบอมเบย์ การเคารพพระวิษณุมีแนวปฏิบัติตามลัทธิภักดี (การเสียสละ) มากกว่าการเข้าฌาน

คัมภีร์สำคัญของนิกายไวษณวะ ได้แก่ คัมภีร์สังหิตา (ประมวลบทสวดสดุดีเทพเจ้าในพิธีบูชายัญ) คัมภีร์รามายณะและภควัทคีตา

คัมภีร์ภควัทคีตา มีสาระสำคัญ 2 ประการ ดังนี้

1. สดุดีพระกฤษณะ ในฐานะทรงเป็นองค์บรมพราหมณ์ เป็นผู้ที่ฤาษีทั้งปวงมุ่งเจริญภาวนาเพื่อเข้าถึงพระองค์ สำหรับประชาชนอาจเข้าถึงพระองค์ได้ด้วยการบูชาและสวดอ้อนวอน

2. หลักกรรมโยคะ คือสอนให้มนุษย์ซึ่งมีความประสงค์จะเป็นฆราวาส ประกอบความเพียร กำจัดความปรารถนาดิ้นรนอันเป็นต้นเหตุของกรรม ก็จะสามารถบรรลุความหลุดพ้นได้เช่นกัน

คณาจารย์ที่สำคัญที่ทำให้มีนิกายไวษณวะมั่นคง และรุ่งเรืองในภาคใต้ของอินเดีย ได้แก่

1) นาถมุนี ผู้นำคนแรกของนิกายไวษณวะ

2) อาลวาร คือ คณาจารย์ 12 คน ผู้ให้กำเนิดคัมภีร์พระเวทภาษาทมิฬ

3) รามานุช ศิษย์คนหนึ่งของคณาจารย์อาลวาร

นิกายไวษณวะ ภายหลังได้แตกแยกออกเป็น 2 นิกาย คือ นิกายฝ่ายเหนือ เรียกว่า วัทคไล และนิกายฝ่ายใต้ เรียกว่า เตนคไล

3.9.2 นิกายไศวะ

นิกายไศวะ หรือนิกายที่นับถือพระศิวะ นิยมใช้มูลเถ้าสีขาวหรือสีเทา เขียนเป็นเส้นนอนตรงซ้อนกัน 3 เส้นที่หน้าผาก จุดหมายสูงสุดของผู้นับถือนิกายไศวะ คือ โมกษะ หรือ การบรรลุความหลุดพ้นโดยการเข้าถึงความเป็นเอกภาพกับพระศิวะ นิกายนี้ประพฤติตนตามแบบอัตตกิลมถานุโยค ซึ่งพระพุทธเจ้าก็เคยทดลองปฏิบัติมาแล้ว

พระศิวะ เป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย และเทพเจ้าแห่งการสืบพันธุ์ด้วยรูปศิวลึงค์ เป็นรูปอวัยวะเพศของผู้ชาย เป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิด มีรูปศิวลึงค์ทำด้วยหินตั้งอยู่ในโบสถ์เป็นที่นิยมเคารพสักการะ มีเรื่องกล่าวว่าจากรูปร่างเช่นลึงค์นี้เอง องค์พระศิวะจึงปรากฏออกมาพร้อมกับพระพรหม และพระวิษณุ เทพเจ้าทั้ง 3 องค์ออกมาจากสภาพสูงสุด คือ พระพรหม หรือปรมาตมัน

นิกายไศวะ ยังแบ่งออกไปอีก เป็นนิกายย่อยๆ เช่น นิกายตรีทันหิน (นิกายนี้ยังแบ่งย่อยออกไปอีกถึง 10 นิกาย) และนิกายทศมาน พวกนับถือนิกายนี้ล้วนเป็นนักพรต

คัมภีร์สำคัญของนิกายไศวะ มีดังนี้

1) คัมภีร์อาตมะ (บทสวดเป็นคาถาอาคม บทโต้ตอบระหว่างพระศิวะกับพระอุมา)

2) คัมภีร์โตลกาปปิลัม (ภาษาทมิฬ)

3) คัมภีร์มหาภารตะ และเศวตัศวตา อุปนิษัท (ภาษาสันสกฤต)

นิกายไศวะนี้ ภายหลังแตกแยกออกเป็นนิกายใหญ่ 2 นิกาย ดังนี้

1)   นิกายฝ่ายเหนือ เรียกว่า กัษมีไศวะ ผู้นำชื่อ วสุคุปตะ นิกายนี้เชื่อว่าพระศิวะเป็น เทพเจ้าสูงสุดองค์เดียว และทรงแฝงอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

2)   นิกายฝ่ายใต้ เรียกชื่อว่า สิงคายัต ผู้นำชื่อ ลกุลีตะ นิกายนี้นับถืออวตารของพระศิวะ เชื่อว่าผู้นำของเขา คือ อวตารของพระศิวะ

3.9.3 นิกายศักติ

นิกายศักติ นิกายนี้นับถือมเหสีของจอมเทพ 3 องค์ คือ พระนางสุรัสวดี มเหสีของพระพรหม พระนางอุมา มเหสีของพระศิวะ และพระนางลักษมี มเหสีของพระวิษณุ คำว่าศักติ แปลว่า อำนาจ หรือสมรรถนะ หรือ พลัง หมายถึงพลังที่จะนำความสำเร็จดังประสงค์มาให้ผู้ที่นับถือศักติ ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อว่าทุกสิ่งในโลกล้วนแต่มีของคู่กัน เช่น มีร้อนก็มีหนาว มืด-สว่าง สุข-ทุกข์ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีเทพฝ่ายชายก็จะต้องมีเทพฝ่ายหญิงเป็นของคู่กัน เทพฝ่ายชายจะเก่งกล้าสามารถ หรือสูงส่งเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับมเหสีของเทพองค์นั้นสนับสนุนด้วย อีกประการหนึ่งการที่จะอ้อนวอนเทพฝ่ายชายให้ช่วยเหลือดังความปรารถนาของตนนั้นสำเร็จได้ยาก เพราะโดยทั่วไปผู้ชายมักจะใจแข็งมากกว่าผู้หญิง จึงควรเข้าทางมเหสีของเทพองค์นั้นๆ จะดีกว่า ง่ายกว่า เรียกว่ามีความหวังมากกว่า จึงเป็นเหตุให้เกิดนิกายศักติขึ้นมา แต่ผู้ที่นับถือนิกายนี้ก็ไม่จำต้องนับถือมเหสีของเทพทุกองค์พร้อมกันไป จะนับถือมเหสีของเทพองค์ใดก็ได้ตามที่ตนนับถือ เช่น นิกายไศวะก็นับถือพระนางอุมาเป็นศักติ นิกายไวษณวะ ก็ยกพระนางลักษมีเป็นศักติ เป็นต้น แต่โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะนับถือพระนางอุมายิ่งกว่าเทพีองค์อื่นๆ เพราะพระนางเป็นมเหสีของพระศิวะ เทพเจ้าที่คนกลัวเกรงดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นพระนางอุมาจึงมีพระนามหลายอย่าง คู่กับพระศิวะ เช่น มหาเทวี คู่กับมหาเทพ โยคินี คู่กับมหาโยคี ชคันมาตรี (มารดาของโลก) คู่กับอิศวร ทุรคา หรือไภรวี คู่กับไภรวะ (ผู้น่ากลัว) กาลี (ผู้ทำลาย) คู่กับมหากาล เป็นต้น

การบูชาของนิกายศักติ ก็แปลกกว่าการบูชานิกายอื่นๆ เช่น ตัดคอแพะบูชาเจ้าแม่กาลี หรือการประกอบพิธีกรรมด้วยปัญจมการ หรือ มŽ 5 ประการ คือ มัทยะ หรือมฑิรา น้ำเมา มางสะ เนื้อสัตว์ ตลอดทั้งมัตสยะ เนื้อปลา มันตระพร่ำบทที่จะทำให้เกิดความกำหนัด มุทระแสดงท่ายั่วยวน และไมถุน เสพเมถุน ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อกันว่าเจ้าแม่กาลีทรงโปรดการบูชายัญและการเสพเมถุน ดังนั้นการประกอบกิจดังกล่าวจึงทำให้พระนางพอพระทัย และอีกจุดประสงค์หนึ่งก็เพื่อให้เบื่อหน่ายในกาม โดยสนองความต้องการให้เต็มที่ก็จะมาถึงจุดเบื่อหน่าย แบบหนามยอกเอาหนามบ่ง ส่วนผู้ที่นับถือเจ้าแม่องค์อื่นก็นำไปปฏิบัติเช่นกัน จะได้ไม่น้อยหน้า พวกที่ปฏิบัติแบบลามกเรียกว่า พวกวามาจารี ส่วนพวกปฏิบัติอย่างสุภาพไม่ลามกก็เรียกว่า พวกทักษิณาจารี

3.10 สัญลักษณ์ของศาสนา

สัญลักษณ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่สำคัญและเป็นกลางๆ ที่ทุกนิกายยอมรับก็คือ เครื่องหมายอันเป็นอักษรเทวนาครี ที่อ่านว่า โอมŽ คำว่า “ โอม” เป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อันหมายถึงพระเจ้าทั้ง 3 คือ ”อ”Ž อักษร ได้แก่ พระวิษณุหรือพระนารายณ์ ”อุŽ” อักษรได้แก่ พระศิวะหรือพระอิศวร ”มŽ” อักษรได้แก่พระพรหม เพราะฉะนั้น อ+อุ+ม เท่ากับ ”โอมŽ” สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้บางครั้งเรียกว่า ”สวัสติŽ” หรือสวัสติกะ
เครื่องหมาย ”โอม”Ž สัญลักษณ์แห่งพลังทั้ง 3 อัน หมายถึง พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ

3.11 ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน
ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน10)

นับตั้งแต่อินเดียถูกจักรพรรดิอิสลามปกครอง ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงไม่ได้รับการอุปถัมภ์ และขาดการปรับปรุงพัฒนา จนเกือบจะล่มสลาย สาเหตุหลักเนื่องจากคนวรรณะพราหมณ์ ลุ่มหลงในอำนาจและผลประโยชน์ และต่อมาอินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี ค.ศ. 1857 เป็นเวลา 200 ปี ยิ่งทำให้ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูขาดเอกภาพ เพราะถูกผู้ปกครองกดขี่ ดูไปแล้วศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแทบจะไม่มีบทบาทเหมือนเดิม ทำการปรับปรุงจุดบกพร่องต่างๆ จนเกิดมีขบวนการปฏิรูปศาสนาขึ้นมา โดยประยุกต์คำสอนในคัมภีร์พระเวทให้ใช้ได้กับชีวิตประจำวันอย่างกลมกลืน ขบวนการต่อสู้นำไปสู่ทางการเมือง เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ขบวนการปฏิรูปศาสนาเหล่านี้ ได้แก่

3.11.1 ขบวนการพรหมสมาช

สมาคมนี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 โดย รามโมหัน รอย เป็นผู้ก่อตั้ง ณ เมืองกัลกัตตา หลักการใหญ่ของสมาคมพรหมสมาช คือ

1.   เป็นเอกเทวนิยม ถือว่าเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่มีองค์เดียวคือ พระพรหม พระองค์ทรงมีตัวตนและไม่เคยอวตารลงมาเป็นอะไรเลย

2.   เชื่อว่าอาตมัน ไม่ตาย

3.   เชื่อว่าในความหลุดพ้น โดยการสำนึกผิดและทำความดี

4.   ปฏิเสธคำสอนเรื่องสังสาร ประเพณีกุมารสมรสและระบบวรรณะ

5.   สนับสนุนให้หญิงหม้ายแต่งงานได้ และออกกฎหมายห้ามชายมีภรรยาหลายคน และห้ามทำพิธีสตี (พิธีหญิงหม้ายต้องกระโดดเข้ากองไฟตายตามสามี)

ในปี พ.ศ. 2408 สมาคมนี้ได้แตกแยกเป็น 2 สาย คือ อาทิพรหมสมาช โดยมี ระพินทร์นาถตะกอร์ เป็นผู้นำ สาขานี้มุ่งรักษาหลักการดั้งเดิมของสมาคมไว้และอีกสาขาหนึ่งคือ สาธารณ-พรหมสมาช ภายใต้การนำของเกษับจันทรเสน สาขานี้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้าง อย่างเช่น เกษับจันทรเสนได้ประดิษฐ์สัญลักษณ์ของนิกายนี้ขึ้นมาใหม่ เป็นรูปตรีศูล ไม้กางเขนและ ดวงจันทร์เสี้ยว เป็นเชิงรวม 3 ศาสนา คือ พราหมณ์-ฮินดู คริสต์ อิสลาม เข้าด้วยกัน และบางครั้ง เกษับจันทรเสนก็แสดงตนว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเยซูคริสต์ แต่เมื่อถึงแก่กรรมได้ ออกพระนามพระเจ้าจนวาระสุดท้าย

3.11.2 ขบวนการอารยสมาช

สวามีทะยานัน สรัสวดีเป็นผู้ตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2418 ณ เมืองบอมเบย์ หลักการใหญ่ของสมาคมนี้ ถือคำสอนในคัมภีร์พระเวทเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ ได้นำเอาพระเวทขึ้นมาศึกษาอย่างจริงจัง และได้นำศาสนาขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ของชาติ เทพเจ้ามีลักษณะเป็นเอกนิยม ให้ความเคารพพระพรหม ปฏิเสธระบบวรรณะ ทฤษฎีอวตาร และกุมารสมรส อนุญาตให้หญิงหม้ายแต่งงานใหม่ได้

3.11.3 ขบวนการกฤษณะมิชชั่น

สมาคมนี้มีศรีรามกฤษณะ สวามีวิเวกานันทะ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 ยึดหลักการประนีประนอม ยอมรับคำสอนของทุกศาสนาที่มีผู้นับถือในอินเดียว่าไม่มีความขัดแย้งกัน เป็นศาสนาแห่งความนิรันดร เน้นการเข้าถึงคัมภีร์อุปนิษัท หรือเวทานตะ และเน้นหลักอธิบายพระเวท โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีในชาติ ความเสมอภาคทางสังคม เศรษฐกิจ การบริการสังคม และเพื่อเข้าถึงพระเจ้า

3.11.4 ขบวนการสรโวทัย

นำโดย มหาตมะ คานธี ได้นำหลักอหิงสามาเป็นอุดมการณ์ ให้ปรากฏในบุคคลและสังคม ขบวนการเหล่านี้นอกจากปฏิรูปศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแล้ว ยังได้นำการต่อสู้เพื่อเรียกร้อง เอกราชกลับคืนมาจนสำเร็จ ทำให้ประเทศอินเดียได้รัฐบาลที่มาจากคนในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นผู้บริหารประเทศ แต่เนื่องจากคำสอนอุดมคติและรูปแบบการดำเนินชีวิต รวมทั้งความเชื่อถือแตกต่างกันของศาสนาต่างๆ ที่มีอยู่ในอินเดีย เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาอิสลาม ศาสนาซิกข์ เป็นต้น จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งลุกลามเป็นการปะทะกันอย่างกว้างขวางอยู่เสมอ เช่น กรณีมัสยิดปาปรี ระหว่างอิสลามกับพราหมณ์-ฮินดู กรณีการบุกรุกวิหารทองคำ เมืองอมฤตสระ ระหว่างซิกข์กับพราหมณ์-ฮินดู เป็นต้น

ในด้านการเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูไปยังนานาประเทศนั้น สมาคมพระเวท คีตาอาศรม และสมาคมหะเสกฤษณะ เป็นต้น ได้ทำกิจกรรมและมีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ปัจจุบันศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีศาสนิกอยู่ประมาณ 790 ล้านคน ประชากรอินเดียมากกว่า 80% นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และยังมีชาวฮินดูในประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน บังกลาเทศ เป็นต้น
**************************
1) อนุมานราชธน, พระยา และสารประเสริฐ, พระ. ลัทธิของเพื่อน โดย เสถียร โกเศศ และนาคะประทีป(นามแฝง), 2500 หน้า 79-168.
2) มนต์ ทองชัช. 4 ศาสนาสำคัญของโลกปัจจุบัน, 2530 หน้า 24.
3) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค, 2539 หน้า 233.
4) ประทีป สาวาโย. สิบเอ็ดศาสนาของโลก, 2545 หน้า 99-100.
5) Four Authors. A Simple History of Ancient India, 1971 p.90-95.
6) Hopfe Lewis M. Religions of The World, 1994 p. 90-94.
7) ดนัย ไชยโยธา. ประวัติศาสตร์เอเชียใต้ยุคโบราณ, 2527 หน้า 19.
8) ฟื้น ดอกบัว. ศาสนาเปรียบเทียบ. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2549 หน้า 38.
9) วนิดา ขำเขียว. ศาสนาเปรียบเทียบ, 2543 หน้า 68-72.
10) สุชีพ ปุญญานุภาพ. ประวัติศาสนา, 2511 หน้า 489-496.

http://book.dou.us/doku.php?id=df404:3
ข้อความโดย: แก้วจ๋าหน้าร้อน
« เมื่อ: กันยายน 30, 2010, 10:09:32 pm »

 :45: อนุโมทนาครับพี่แป๋ม^^
ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กันยายน 30, 2010, 05:40:15 pm »



ศรี อุปนิษัท

ศรี อุปนิษัท เป็นหนึ่งในคัมภีร์พระเวท ซึ่งเป็นอีกเล่มหนึ่งที่มีความสำคัญ
คัมภีร์พระเวท เป็นหลักคำสอนที่บอกให้เราใช้ชีวิตและทำตัวอย่างไร บนโลกวัตถุ
(โลกในยุคปัจจุบัน)
เช่น เรื่องการทำธุรกิจ การแต่งงาน การครองเรือน
ซึ่งข้อมูลส่วนมากของคัมภีร์จะเน้นเรื่องของการใช้ชีวิตบนโลก
อุปนิษัท เป็นที่รู้จักกันมากในแวดวงวิชาการ ซึ่งที่จริงแล้ว อุปนิษัทในโลกนี้
มีมากกว่า 100 เล่ม แต่เล่มที่สำคัญๆ จะมีอยู่ประมาณ 10 เล่ม

สมาคมนานาชาติเพื่อคริชณะจิตสำนึก
( International Society for Krishna Consciousness )
เป็นสมาคมที่มีสมาชิกและวัดอยู่ทั่วโลก และเป็นที่ยอมรับทางด้านปรัชญา
ได้ร่วมศึกษาปรัชญาอุปนิษัทมาเป็นเวลานาน
อุปนิษัท เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตทิพย์ สำหรับความหมายของคำนี้ ก่อนอื่นให้เรา
ทำความเข้าใจโลกใบนี้เสียก่อน และมองโลกอย่างที่เป็นอยู่

และหากเราเริ่มตั้งคำถามว่า มีอะไรเหนือไปกว่าความสุขบนโลกใบนี้
คำตอบนั้นคือ ชีวิตทิพย์
สมาคมนานาชาติเพื่่อคริชณะจิตสำนึก มีหนังสือสำคัญ 2 เล่ม เป็นหลักในการสอน
ให้กับสมาชิกของสมาคมที่มีอยู่ทั่วโลก คือ

ภควัทคีตา
ชรีมัด บากะวะทัม


คัมภีร์พระเวทที่มีอยู่ในจำนวนหลายเล่มนั้น ได้เน้นไปที่การช่วยให้เรามีชีวิต
อยู่อย่างเป็นสุข 
ซึ่งเท่ากับว่า เราจะมีความสุขในโลกที่เต็มไปด้วยวัตถุใบนี้
แต่โดยภาพรวมแล้ว อุปนิษัททุกเล่มเป็นหนังสือแห่งปวงปรัชญา ซึ่งอาจยาก
ต่อการทำความเข้าใจ

ในปัจจุบัน คนจำนวนมากจะอ่าน ภควัทคีตา และ ชรีมัด บากะวะทัม
สาเหตุหลัก เพราะ อาจารย์ที่ยึดหลักคำสอนตามพระคัมภีร์ในเวลาปัจจุบัน รู้สึกว่า
ตนเองตกต่ำลง และจะหาคนที่มาเป็นครูผู้สอนเรื่องเหล่านี้ได้ยากมาก
เพราะผู้ที่จะสอนได้ ต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์จริงๆ

ซึ่งต้องมีจิตใจมั่นคง ควบคุมตนเองได้ และในปัจจุบัน เราหาพราหมณ์ที่มี
ความพร้อมในทุกด้าน เช่นในสมัยโบราณไม่ได้
และไม่มีคนที่เป็นตัวอย่าง ที่สามารถทำได้ถูกต้องตามคัมภีร์
คนในปัจจุบันจึงลดความเคารพในคัมภีร์ลง

อุปนิษัทอาจไม่ใช่คัมภีร์ของไวชะณะวะโดยตรง แต่ในคัมภีร์บอกไว้ว่า
ผู้ที่สมบูรณ์สูงสุด มีทุกอย่าง นอกเหนือไปจากประสบการณ์ของเรา ซึ่งก็คือ
พระผู้เป็นเจ้าต้องมีบุคลิกภาพ และมีความสมบูรณ์สูงสุด

คำสอนของศาสนาหลักๆในโลกนี้ส่วนมากจะไม่เน้นความเชื่อในรูปลักษณ์
ซึ่งอาจยกตัวอย่างได้จากในประเทศอินเดีย
จะมีกลุ่มผู้ที่นับถือในแนวทางไร้รูปลักษณ์ของพระเจ้า เช่นนี้ เป็นจำนวนมาก
และทางโลกตะวันตก ก็มีอยู่จำนวนมากเช่นกัน
ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่โลกเปลี่ยนไป ผู้คนหันไปสนใจวัตถุนิยมกันมากขึ้น
เรามุ่งเน้นไปที่การกินดี อยู่ดี มีเสื้อผ้าสิ่งของ เครื่องใช้ บ้าน รถยนต์
และเลือกมีความสุขในช่วงเวลาของชีวิต

ผู้คนจึงจิตใจตกต่ำลง และหันหลังให้กับพระเจ้า
มีผู้ไม่เชื่อในรูปลักษณ์จำนวนมากกล่าวไว้ว่า พระเจ้าไม่มีรูปลักษณ์
ซึ่งในความเป็นจริง เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกได้
แต่ในความเป็นจริง ยังมีความจริงอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้ที่ไม่เชื่อและเคารพ
ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า ในท้ายที่สุด จะเริ่มเบื่อหน่ายพระเจ้าที่ไม่มีรูปลักษณ์
และกลับไปหาโลกวัตถุอย่างถาวร

ส่วนคัมภีร์ที่กล่าวมาตั้งแต่เริ่มต้นของบทความนี้ จะเน้นไปที่
" ไม่มีอะไรสูงไปกว่าทิพย์ "
เพราะหากรูปลักษณ์ของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้เรา
เพื่อบรรลุถึงสัจธรรมที่สมบูรณ์ได้
ผู้เบาปัญญา จะต่อว่าพระเจ้าว่า ทำให้เขาได้รับความทุกข์
และไม่จัดสรรอะไรให้พวกเรา

แต่ในความเป็นจริง เรามีทุกข์ เพราะเรานำสิ่งที่พระเจ้าจัดสรรให้
มาใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง
และเราไม่สามารถมองเห็นพระเจ้าได้ เพราะพระเจ้าอยู่เหนือสามระดับ
แห่งธรรมชาติวัตถุ และเรายังอยู่ในสามระดับนั้น

ผู้ที่ไม่เชื่อในรูปลักษณ์มักจะกล่าวว่า พระเจ้าคือทุกอย่าง และทุกที่
จนกระทั่งในที่สุด ก็มีคนกล่าวว่า เราคือพระเจ้า และตั้งตัวเป็นพระเจ้าเสียเอง
อุปนิษัทกล่าวว่า พระเจ้าคือทุกอย่าง ทุกแห่งหน พระองค์มีบุคลิกภาพ

และพระองค์มีความสมบูรณ์สูงสุด ทรงอยู่เหนือโลกวัตถุ
ไม่ได้อยู่ใต้กฏเกณฑ์ของธรรมชาติวัตถุ
ไม่ว่าจะอย่างไร พระเจ้าก็จะไม่สูญเสียความเป็นพระองค์เอง
เช่นเดียวกับการที่เราเอาส่วนที่สมบูรณ์ออก ส่วนที่เหลือก็ยังคงสมบูรณ์



เรียบเรียง : Ya Prabhuji : edit and rearrange
   
   
เขียนโดย ISKCONBangkok
http://iskconbkk.blogspot.com/
http://fws.cc/leavesofeden/index.php?topic=1512.0     
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ