ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: ธันวาคม 25, 2016, 02:55:58 am »จาก https://www.youtube.com/channel/UCE31zOkP8X6Z0k7hoLkBHDg/videos
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ – พระโพธิสัตว์เหวินซู
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ - พระโพธิสัตว์เหวินซู
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ มีชื่อเรียกที่หลากหลาย อาทิเช่น พระโพธิสัตว์เหวินซู พระมัญชุนาถ พระวาคีศวรม บุ้นซู้พู่สะ ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีปัญญาสูงสุด
พระโพธิสัตว์เหวินซู หรือ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ มีประวัติความเป็นมาหลากหลายตำนาน เช่น
พระองค์กำเนิดจากพระนลาฎของ พระศากยมุนีพุทธเจ้าด้วยลำแสงที่พุ่งออกไปนั้น ตัดต้นไม้ต้นหนึ่งที่ภูเขาอู่ไถ่ แล้วบังเกิดดอกบัวมารองรับ พระมัญชุศรี ขึ้นมา ดังนั้น พระโพธิสัตว์พระองค์นี้ จึงไม่แปดเปื้อนครรภ์มลทิน แต่อย่างไร
อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า คหบดีจีนท่านหนึ่ง ต้องการเลี้ยงพระทั้งวัดบนภูเขาอู่ไถ่ พระท่านจึงชักชวนคนยากจนมารับทานด้วย เพราะพระโพธิสัตว์มัญชุศรี มักจะสอนเน้นให้คนทั้งหลายมีความเสมอกัน ไม่แบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจน ไม่แบ่งแยกระหว่างพระกับฆราวาส ด้วยเหตุนี้พระองค์ จึงใคร่อยากรู้ใจมนุษย์ จึงจำแลงร่าง เป็นหญิงขอทาน ที่กำลังตั้งครรภ์ คหบดีรำคาญใจมาก ที่เห็นชาวบ้านพวกนี้ เพราะตั้งใจมาทำบุญเลี้ยงพระ เพียงอย่างเดียว ครั้นมาถึงคิวหญิงขอทาน นางบอกว่า ต้องการข้าว 2 จาน จานหนึ่งสำหรับตนเอง อีกจานหนึ่งสำหรับลูกในท้อง เจ้าของงานไม่ยอม นางจึงไม่ยอมกินอาหารนั้น และเดินออกจากวิหารไปกลายเป็นพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ เหาะขึ้นท้องฟ้าพร้อมด้วยเทพบริวารตระการตา เป็นเหตุให้ เจ้าของงานและทุกคนที่อยู่สถานที่นั้น ก้มกราบขมาลาโทษ ต่อพระโพธิสัตว์ กันถ้วนหน้า ตั้งแต่นั้นมาถือเป็นนโยบายของเขาอู่ไถ่ว่า หากต้องการเลี้ยงพระ ก็ต้องทำทานต่อผู้ยากไร้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีอีกว่า เคยเป็นอาจารย์ของพระพุทธเจ้า หรือเป็นบุตร องค์ที่สาม ของพระอมิตาภะพุทธเจ้า แต่ที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ ในสมัยพุทธกาล พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ถือกำเนิด ในแคว้น แห่งหนึ่งของอินเดีย กำเนิดในวรรณะพราหมณ์ ภายหลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ก็บวชเป็นสาวก (ในศาสนาพุทธนิกายหินยาน จะถือพระสารีบุตรเป็นผู้มีสติปัญญาสูงสุด แต่ใน ศาสนาพุทธนิกายมหายาน จะถือพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ เป็นผู้มีสติปัญญาสูงสุด) ผู้บูชากราบไหว้พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ มักขอพร ให้มีความฉลาด มีสติปัญญาหลักแหลมอยู่เสมอ ในประเทศจีนเชื่อกันว่าพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ สถิตอยู่ ณ เทือกเขา อู่ไถซาน
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์
พระองค์มี ชื่อเรียกมากมาย อาทิ พระมัญชุโฆษ (ผู้มีเสียงเพราะ) , พระมัญชุนาถ , พระวาคีศวร คนจีนเรียกบุ้นซู้พู่สะ เป็น พระโพธิสัตว์ แห่งมหาปัญญา ในประเทศธิเบต ให้ความเคารพต่อพระโพธิสัตว์องค์นี้มาก ฉายาของพระองค์ เรียกแตกต่างกันไป อาทิ ไต้ตี่ (มหามติ – มีปัญญาใหญ่) , ไทจือ (ราชกุมาร) , เชยปี่ก๊าจู๊ (ธรรมราชผู้มีแขนหนึ่งพัน) ทรงประสูติเมื่อวันที่ 4 เดือน 4 ทางจันทรคติแบบจีน พระนามเต็มของพระองค์ คือ พระมัญชุศรีกุมารภูติโพธิสัตว์ ทรงประทับบนหลังราชสีห์ อันราชสีห์นั้นเป็นราชาแห่งสัตว์ทั้งหลาย ไม่หวาดหวั่น ครั่นคร้ามต่อสัตว์ใดๆ เปรียบเช่น พระพุทธเจ้าและโพธิสัตว์ ไม่หวาดหวั่น ท้อถอย ต่อการประกาศสัจธรรม และเมื่อราชสีห์คำราม บรรดาสรรพสัตว์น้อยใหญ่ ต่างก็หลีกไป เฉกเช่น พุทธองค์ ประกาศธรรม ทำให้คำสอน ของเดียรถีย์ทั้งหลาย ด้อยรัศมีไปฉันนั้น ราชสีห์นี้บางครั้งเรียก “สิงหอาสน์”
บุ้นซู้ ผ่อสัก หรือ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ เป็นพระมหาโพธิสัตว์ ที่มักได้รับการเอ่ยถึงในพระสูตร และตั้งองค์พระปฏิมาให้อยู่คู่กับ “โผวเฮี้ยงพู่สะ” หรือ “โผวเฮี้ยงผ่อสัก” หรือ “พระสมัตภัทรมหาโพธิสัตว์” ทรงได้รับการยกย่อง ให้เป็นหัวหน้า ของบรรดาพระโพธิสัตว์ นับร้อยนับพันที่มาเฝ้าชุมนุมพระศากยมุนีพุทธเจ้า ทรงเป็น “พระฌานิโพธิสัตว์” ที่ถือกำเนิด ก่อนสมัยพุทธกาล ทรงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความสามารถในการแสดงธรรม ทรงมุ่งมั่นให้สัตว์โลกได้พ้นทุกข์ และบรรลุธรรมอย่างไม่ทรงเกรงกลัวต่อความยากลำบาก
พระมัญชุศรีกุมาร ภูติโพธิสัตว์ ถือเป็นปัญญาคุณ ของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงมีพระวรกายเป็นหนุ่มน้อยวัย 16 ปี (ไม่แก่หรืออายุมากไปกว่านี้) พระหัตถ์ขวาทรงวัชรศัสตรา หรือ พระแสงขรรค์ หรือ ดาบอันคมกริบ ไว้คอย ตัดอวิชชา และนิวรณ์ทั้ง 5 อันได้แก่ กามฉันทะ (พอใจในกาม) พยาบาท (คิดร้าย) ถีนมิทธะ (หดหู่เซื่องซึม) อุทธัจจกุกกุจจะ (ฟุ้งซ่านและความกระวนกระวายใจ) เพื่อให้ธรรมแห่งพุทธองค์มีความแจ่มชัด พระหัตถ์ซ้าย ทรงพระคัมภีร์ปรัชญา ปารมิตาสูตร หรือ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่ามุทราก็มี ในส่วนของพระเศียร ทรงมาลา เป็นรูปใบไม้เรียงกัน 5 ใบ โดยมี พระอักโษภยะพุทธเจ้า อยู่เหนือมงกุฎนั้น
พระมัญชุศรี พระเศียร ทรงมาลา เป็นรูปใบไม้เรียงกัน 5 ใบ
หลังจากที่ พระศากยมุนีพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 250 ปี พระมัญชุศรี ไปประกาศ พระศาสนา ที่แคว้นเนปาล ได้กำจัดสัตว์ร้าย ในสระน้ำที่แคว้นนั้นจนหมดสิ้น เพราะหน้าที่ของพระองค์คือ การกำจัดอวิชชา กำจัดความโง่เขลา และ ช่วยเหลือพระศาสนาให้แพร่หลาย
นอกจากนี้ยังเชื่อว่า พระองค์คือ องค์อุปถัมภ์ในด้าน กวีวัจนะ ในทางวาทศิลป์ รวมถึงภาษาศาตร์ต่างอีกด้วย ดังนั้น ที่ประเทศเนปาล จึงมีผู้คนกราบไหว้บูชาท่าน เพื่อให้เกิดความเฉลียวฉลาด และมีความจำดี พูดและเขียนเก่ง ซึ่งประเพณีนี้ดูละม้าย การบูชาพระนางสรัสวดี (ชายาของพระพรหม) ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ซึ่งเด็กๆ นิยมบูชานาง ในฐานะเทพเจ้าแห่งวาทศิลป์ ดนตรี และวิทยาศาสตร์ ในวันวสันตะปัญจมี
ในประเทศธิเบต ยังมีการสร้างภาคดุร้ายของพระมัญชุศรีด้วย ปางนั้นคือ ยมานตกะ โดยสร้างตำนานขึ้นตามตำนานที่กล่าวว่า พระมัญชุศรี ลงไปยังยมโลก พระยายมมีศีรษะเป็นกระบือ พระมัญชุศรีจึงต้องแปลงร่างเป็นเช่นนั้น เพื่อให้พระยายมกลัว ทั้งที่พระยายม เป็นเจ้าแห่งความตาย แต่ยังเกรงในพระบารมี จนแลเห็นความไม่สิ้นสุดของพระโพธิสัตว์์พระองค์นี้ ชาวธิเบต นิยมเพ่งรูปยมานตกะเพื่อเอาชนะความตาย
ยมานตกะ มีศีรษะเป็นวัว กายสีน้ำเงินเข้ม
ลักษณะของ ยมานตกะ มีศีรษะเป็นวัว กายสีน้ำเงินเข้ม มีหลายแบบ ประจำอยู่ทิศใต้ของพุทธมณฑล ผมสีน้ำตาล ตกแต่งร่างกาย ด้วยพวงมาลัยหัวกะโหลก ถือหัวกะโหลกบรรจุเลือดและไม้เท้าที่เสียบศีรษะอยู่ เท้าเหยียบ บนร่างของมนุษย์ อสูร และ ยักษ์ รูปลักษณ์อื่น ของยมานตกะมีอีกหลายแบบ ตัวอย่างเช่น วัชรไภรวะ (สายฟ้าผู้น่ากลัว) ซึ่งมีเก้าหัว สามสิบสี่แขนและสิบหกเท้า ลักษณะดังกล่าวนี้คล้ายคลึงกับ ยิดัม (เทพผู้พิทักษ์ ของทางทิเบต ลามะชั้นสูงบางรูปอาจมียิดัมคอยอารักษ์) อีก 2 องค์คือ เหรุกะ และมหากาฬ
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ - พระโพธิสัตว์เหวินซู
มหาบุรุษโพธิสัตว์ ที่ชาวธิเบตให้การยกย่องนั้นมี อวโลกิเตศวร , มัญชุศรี และ วัชรปาณี ด้วยเหตุที่เป็นสัญลักษณ์ ของ กรุณา ปัญญา และ พละ ตามรูปศัพท์แล้ว มัญชุศรี แปลว่า ผู้มีเสียงไพเราะ และ มีความสามารถพิเศษ ในการเทศนา ให้คนเกิดปัญญาได้ ตาม คติในฝ่ายมหายานนั้น ยกย่องให้พระองค์ เป็นพระโพธิสัตว์แห่งปัญญา และคุ้มครองนักปราชญ์ ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์ และการแสวงหาสัจจะทั้งปวง ด้วยเหตุนี้ การบูชาพระโพธิสัตว์์ พระองค์นี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความชาญฉลาด มีความจำดี และสามารถ จดจำคัมภีร์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ
พระโพธิสัตว์มัญชุศรี ได้รับการยกย่อง และนับถือกันมากใน เมืองสารนาถ แคว้นมคธ เบงกอล เนปาล และ ธิเบต คัมภีร์ซึ่งทรงถือนั้นคือ ปรัชญาปารมิตา ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่จะมาตรัสรู้
พระนาม ของพระองค์ปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์อมิตยุสสูตร เพราะพระองค์เป็นหัวหน้ากลุ่มพระโพธิสัตว์บนเขาคิชฌกูฎ และ ในคัมภีร์คัณฑวยุหสูตร กล่าวว่า ความยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้นเทียบเท่ากับพระอวโลกิเตศวร ผู้ใดที่จะบรรลุ พระสัมมาสัมพุทธะ ต้องได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์เสียก่อน
ใน คัมภีร์สัทธรรมปุณฑรีกสูตรนั้น พระศากยมุนีพุทธเจ้า ได้ตรัสถึงฐานะของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ว่าเป็นผู้รักษาพระสูตรนี้ และเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนาในช่วง 500 ปีสุดท้าย
จาก http://variety.phuketindex.com/faith/ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์-347.html