ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
ระหว่างความดีกับความไม่ดี เราจะเลือกทำสิ่งใดจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้จริง ( เลือกตอบแค่ ความดี กับ ความไม่ดี ครับผม):
คนที่มีจิตใจอ่อนโยนส่วนใหญ่มัก คิดถึงสิ่งใดก่อนเสมอ  ( เลือกตอบแค่ ตัวเอง กับ คนอื่น ครับผม ):
กัน-ละ-ยา-นะ-มิด เขียนเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องว่าอย่างไรครับ:
คิดว่าความดีทำยากไหม( เลือกตอบแค่ ยาก กับ ไม่ยาก ครับผม):
ถ้าเราโกรธใคร ธรรมะจะเป็นหนทางผ่อนคลายความโกรธนั้นลงได้ใช่ไหม ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม ):
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
คุณเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆแนวธรรมะในจิตใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วยกมือขึ้น (สาธุ) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ  สาธุ:
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
คุณพ่อคุณแม่เปรียบดั่งพระอรหันต์ในบ้าน พิมพ์คำว่า "คุณพ่อคุณแม่ฉันรักและเคารพท่านดุจพระอรหันต์":
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
สำนวนไทยที่ว่า แต่ละคนต่างมีรสนิยมแตกต่างกัน หรือไม่ตรงกัน  พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ลางเนื้อชอบลางยา):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: มกราคม 13, 2017, 01:56:03 am »



ภิกษุณี 72 รูป เรียกร้องตรวจสอบเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ กรณีห้ามเข้าวัง

ภิกษุณีและสามเณรี ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าวังเพื่อเจริญเมตตาถวายพระราชกุศลในหลวง รัชกาลที่ 9 ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์คัดกรองภิกษุสามเณร กรณีเลือกปฏิบัติระหว่างเพศต่อภิกษุณี

วันนี้ (12 ม.ค.2560) น.ส.กาญจนา สุทธิกุล ผู้รับมอบอำนาจจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าภิกษุณีสงฆ์เถรวาทไทย 72 รูป เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศหรือคณะกรรมการ วลพ. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์คัดกรองภิกษุสามเณร กรณีเลือกปฏิบัติระหว่างเพศต่อกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าภิกษุณีสงฆ์เถรวาทไทย ที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปเจริญเมตตาจิตถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มภิกษุณีสงฆ์ทำผิดกฎหมายคณะสงฆ์ ปี 2505 ไม่ได้รับรองให้ภิกษุณีเป็นคณะสงฆ์ ตามความหมายของคณะสงฆ์ไทย ซึ่งทางกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าภิกษุณีสงฆ์ เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราวปี 2557 จึงขอให้ยกเลิกการห้ามภิกษุณีสงฆ์ เข้าไปเจริญเมตตาจิตถวายเป็นพระราชกุศล

นางพนิดา หันสวาสดิ์ เจ้าหน้าที่กลุ่มคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กล่าวว่า เมื่อตรวจสอบองค์ประกอบคำร้อง หากเป็นไปตามกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปี 2550 จะนำเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติพิจารณาต่อไป

จาก https://news.thaipbs.or.th/content/259466

<a href="https://www.youtube.com/v/MaVmWAfnHF4" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/MaVmWAfnHF4</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/axpCPS-3Yj0" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/axpCPS-3Yj0</a>

เพิ่มเติม https://www.youtube.com/channel/UCzDfUsBOcO3DC3bVw2-rczQ/videos

https://www.youtube.com/channel/UCl04OJCJEjtnvap6dYTI8YQ/videos
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: มกราคม 12, 2017, 11:32:22 am »



ห้ามพระภิกษุณีและสามเณรีเข้าวัง

ที่มา   สัพเพเหระคดี: ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มกราคม 2560
ผู้เขียน   วสิษฐ เดชกุญชร
เผยแพร่   วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ.2560

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ยังมีประชาชนจากทุกสารทิศเดินทางไปถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นจำนวนมากและอย่างต่อเนื่อง

แต่เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ ธันวาคม มีเหตุการณ์ที่น่าสลดใจเกิดขึ้น เมื่อพระภิกษุณีและสามเณรีจำนวนหนึ่ง ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพ โดยผู้คัดกรอง (เข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง) อ้างว่าพระภิกษุณีและสามเณรีเหล่านั้นแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ซึ่งเป็นการผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นพระภิกษุณีธัมมนันทา เจ้าอาวาสวัตร (วัด) ทรงธรรมกัลยาณี ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครปฐม ได้ติดต่อและได้รับอนุญาตจากสำนักพระราชวังแล้ว จนถึงกับนัดเวลาให้ไปถึงพระบรมมหาราชวังในเวลา ๑๕.๓๐ น. ของวันที่ ๙ ธันวาคม

พระภิกษุณีธัมมนันทาชี้แจงว่าพระภิกษุณีและสามเณรีเหล่านั้นไม่ได้สังกัดคณะสงฆ์ไทย แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ฟัง มิหนำซ้ำยังย้อนถามว่ารู้หรือเปล่าว่าทำผิดกฎหมาย และบอกด้วยว่าถ้าต้องการจะเข้าไปถวายบังคมพระบรมศพก็ต้องไปเข้าแถวอย่างผู้อื่น แต่จะต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นสีดำ

สำนักพระราชวังเป็นหน่วยราชการ หน้าที่อย่างหนึ่งคือจัดงานและปฏิบัติงานพระราชพิธี รัฐพิธี การพระราชกุศลต่างๆ ตลอดจนงานเสด็จพระราชดำเนิน การคัดกรองบุคคลที่จะเข้าไปถวายบังคมพระบรมศพนั้น เป็นหน้าที่ของสำนักพระราชวังอย่างแน่นอน แต่หากเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังมีความรู้รอบตัวพอสมควร ก็คงจะรู้ว่าพระภิกษุณีและสามเณรีในประเทศไทยเวลานี้มีจำนวนไม่น้อยกระจายกันอยู่ในหลายจังหวัด และแม้การอุปสมบท (บวชพระภิกษุณี) และบรรพชา (บวชสามเณรี) จะยังมิได้รับการรับรองจากคณะสงฆ์ไทย แต่การอุปสมบทและบรรพชาก็กระทำถูกต้องตามพระธรรมวินัย และพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก (รวมทั้งผมผู้เขียนเรื่องนี้ด้วย) ก็เคารพสักการะพระภิกษุณีและสามเณรีเหล่านั้นไม่น้อยกว่าพระภิกษุสงฆ์ พระภิกษุณีและสามเณรีเหล่านั้นมิได้เข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เพื่อกระทำสังฆกรรม แต่จะเข้าไปเพื่อแสดงความอาลัยและถวายบังคมพระบรมศพ การหวงห้ามมิให้พระภิกษุณีและสามเณรีไทยเข้าไปถวายบังคมพระบรมศพ แต่กลับอนุญาตให้นักบวชต่างประเทศนิกายอื่นเข้าไปได้ ย่อมทำความเสียใจและสะเทือนใจให้แก่ชาวพุทธทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศอย่างแน่นอน

สำนักพระราชวังไม่มีอำนาจที่จะตัดสินหรือชี้ขาดว่าการอุปสมบทพระภิกษุณีและบรรพชาสามเณรีถูกหรือผิดกฎหมาย อำนาจนั้นเป็นของมหาเถรสมาคมตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในขณะที่มหาเถรสมาคมยังไม่มีข้อยุติเกี่ยวกับการอุปสมบทพระภิกษุณีและบรรพชาสามเณรี สำนักพระราชวังควรเพียงแต่พิจารณาว่าผู้ที่จะเข้าไปถวายบังคมพระบรมศพนั้น แต่งกายเรียบร้อยหรือไม่ และมีท่าทีว่าจะเป็นอันตรายหรือทำให้ผู้อื่นไม่ได้รับความสะดวกอย่างไรหรือไม่

หากสำนักพระราชวังยังใช้วิจารณญาณแบบคิดเอาเองเช่นนี้ ปัญหาการห้ามพระภิกษุณีและสามเณรีเข้าไปถวายบังคมพระบรมศพอาจลุกลามออกไปจนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งในวงการศาสนาและระหว่างพุทธศาสนิกชนในที่สุดได้


จาก https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_5459
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: มกราคม 12, 2017, 07:02:26 am »




ฉัตรสุมาลย์ : ภิกษุณีห้ามเข้า ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ช่วงนี้มีเรื่องแปลกๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ที่ว่าแปลก คือวิธีคิดค่ะ คนเราจะต่างกันก็ตรงวิธีคิดนี้แหละ เพราะจากวิธีคิด จะนำไปสู่การพูดและการกระทำที่ต่างกัน บางครั้งจนสุดขั้ว

เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ ก็จะนำไปสู่สัมมาวาจา และอื่นๆ มรรคมีองค์ 8 ไปต่อไม่ได้ ถ้าจิ๊กซอว์ตัวแรกของสัมมาทิฏฐิไม่เกิด

มีภิกษุณีสงฆ์ คือหมายรวมทั้งภิกษุณีและสามเณรี 22 รูป จะเข้าไปเจริญเมตตาธรรมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.9) ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เหตุเกิดเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2559

ตอนแรกคณะนี้ก็ตั้งใจโดยความบริสุทธิ์ใจว่าเป็นชาวไทย ทุกคนมีบัตรประจำตัวไทย มารอที่เต็นท์ของประชาชนตั้งแต่ตี 1 ทหารเรือที่ดูแลก็เห็นท่านเป็นสงฆ์ ก็ส่งไปที่เต็นท์ที่ดูแลสงฆ์ เต็นท์ที่ว่านี้ ตั้งอยู่นอกกำแพงวังหลวงทางท่าราชวรดิฐ

เหตุเกิดตรงนี้แหละ เต็นท์นี้ก็เขียนชัดเจนว่า ดูแลภิกษุสามเณร เจ้าหน้าที่ระดับล่างที่เป็นผู้คัดกรองก็ยืนยันว่า ภิกษุณีจะใช้ช่องทางนั้นไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย

ก้าวล่วงไปถึงว่า แต่งกายเลียนแบบสงฆ์ไปโน่น ภิกษุณีคณะนี้ เดินทางมา 12 ชั่วโมง มานั่งรอตั้งแต่ตีหนึ่ง

ในที่สุด เข้าไม่ได้ กลับไปโดยดีตอนบ่าย 2 โมง

 

อีกคณะหนึ่ง 70 รูป ได้รับอนุญาตจากกรมวังแล้วทางโทรศัพท์ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน นัดหมายจนทราบว่า ให้เข้ามารอในประตูวิมานเทเวศร์ เพื่อจะมีเจ้าหน้าที่นำเข้าไป ผ่านประตูด้านในอีกประตูหนึ่ง ก็ถึงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

วันที่ได้รับคิวจากกรมวัง คือวันที่ 9 ธันวาคม เวลา 15.30 น.

ท่านธัมมนันทาทราบเรื่องของภิกษุณีสงฆ์ชุด 22 รูปแล้ว ชัดเจนว่า ถ้าไปทางเต็นท์คัดกรองก็จะได้คำตอบเดียวกัน จึงรอจนได้กำหนดเวลาดังกล่าว

คณะภิกษุณีสงฆ์เช่ารถตู้วิ่งตามกันไป 6 คัน เพราะถนนบริเวณรอบพระบรมมหาราชวังนั้น ห้ามรถใหญ่เข้า ภิกษุณีสามเณรีที่มาก็มาจากทั้งนครปฐม อุทัยธานี ฉะเชิงเทรา ยโสธร ฯลฯ

ถามท่านธัมมนันทา ท่านก็ว่า ท่านมีความแน่ใจว่าน่าจะเข้าได้ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยความเข้าใจว่า กรมวังเป็นเจ้าของสถานที่ เราได้พูดคุยและได้เวลานัดหมายจากเจ้าหน้าที่แล้ว ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ก็ทราบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภิกษุณีกลุ่มแรกก็อาจจะเกิดขึ้นได้ หากทางการมอบหมายให้กรมการศาสนา สำนักพุทธศาสนา และเลขาธิการ มส. เป็นผู้คัดกรอง

พอฉันเพลเสร็จท่านก็รวมตัวกันออกเดินทางจากนครปฐม เมื่อมาถึง ท่านก็เข้าไปรอในมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อรอเวลานัดหมาย

ขอบคุณเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ที่อนุญาตให้เข้าไปนั่งรอในสวนนอกอาคารที่มีความร่มรื่นพอสมควร

ครั้นใกล้เวลา ภิกษุณีสงฆ์จัดแถวเรียงสองเดินผ่านเจ้าหน้าที่ที่ตรวจค้นเพื่อความปลอดภัยจากฝั่งมหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วข้ามถนนไปที่พระบรมมหาราชวังผ่านประตูวิมานเทเวศร์ โดยเจ้าหน้าที่ให้เดินเข้าไปรอในกำแพงพระบรมมหาราชวัง

ตรงนี้เองที่ท่านพบปัญหา เมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่ออกมารับคณะภิกษุณีสงฆ์ เพื่อนำเข้าประตูด้านในอีกชั้นหนึ่ง ตามที่ได้รับคำบอกเล่าไว้

ภิกษุณีสงฆ์ 70 รูป ตั้งแถวยืนรอเป็นสองแถวอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง ตรงซุ้มประตูวิมานเทเวศร์ เป็นภาพที่งดงามมาก

ยืนอย่างนั้นอยู่ 2 ชั่วโมง ก็ยังงดงามนะ

เจ้าหน้าที่จากในวังอีกคนหนึ่ง ก็มานำท่านธัมมนันทาไปที่เต็นท์คัดกรองของภิกษุสามเณรที่อยู่ด้านนอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง ทางท่าราชวรดิฐ

พอไปถึงที่เต็นท์นั้น ท่านธัมมนันทาก็ทราบทันทีว่า ไม่ได้เข้าแน่นอน เพราะทราบท่าทีของเจ้าหน้าที่ประจำเต็นท์อยู่แล้ว

 

เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่คนเดิมที่จัดการภิกษุณีชุดแรก 22 รูป ก็ยืนยันเหมือนเดิม ว่า ภิกษุณีทำผิดกฎหมาย ท่านธัมมนันทาก็ยังพาซื่อว่า ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ

เจ้าหน้าที่คนนี้ ชี้มือมาที่ท่าน แล้วว่า นั่นไง ก็ผิดกฎหมายนั่นแหละ

คงต้องถามนักกฎหมายว่า ไม่มีกฎหมายรองรับ กับผิดกฎหมายนี้ มีความต่างกันอย่างไร ท่านก็เลยบอกเจ้าหน้าที่คนนี้ไปว่า คุณโยมเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อเห็นคนทำผิดกฎหมายต้องแจ้งความให้ตำรวจจับนะ

เจ้าหน้าที่คนเดิม ยกมือขึ้นพนมแล้วว่า ผมไม่อยากทำบาปทำกรรม

เออ ก็เป็นวิธีคิดอีกนั่นแหละ

เจ้าหน้าที่คนนี้ดูเป็นกังวลเรื่องที่ภิกษุณีสงฆ์ยืนรออยู่ 70 รูปในกำแพงพระบรมมหาราชวัง

มารู้ทีหลังว่า ถนนนั้น เป็นทางเข้าของรถเจ้านาย องคมนตรีที่จะเข้าไปที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

เรียกว่า ถ้าปล่อยให้ยืนอยู่นั้น สะดุดตาผู้ใหญ่ อาจจะถูกถามได้

 

เจ้าหน้าที่คนเดียวกันพูดกับท่านธัมมนันทาที่เต็นท์คัดกรองภิกษุสามเณรว่า ให้นำภิกษุณีสงฆ์ทั้ง 70 รูปมาที่เต็นท์คัดกรอง ท่านธัมมนันทาก็ถามว่า ถ้ามาแล้วท่านจะได้เข้าวังหรือ เจ้าหน้าที่คนนี้ก็บอกว่า ไม่ได้เข้า อ้าว ไม่ได้เข้าแล้วจะให้ท่านเดินมาตั้งไกลทำไม ก็ให้ท่านยืนอยู่รอตรงนั้นแหละ

เจ้าหน้าที่คนนี้เดินไปที่ภิกษุณีสงฆ์ทั้ง 70 รูป พยายามที่จะให้ออกไปยืนข้างนอกประตูวัง อาสาสมัครที่ดูแลภิกษุณีสงฆ์ ก็บอกว่า เจ้าหน้าที่ที่ประตูเองนั่นแหละที่ให้ท่านเข้ามายืนรอข้างใน ทางอาสาสมัครก็ตัดสินใจไม่ได้ บอกให้ไปพูดกับท่านธัมมนันทาเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในวังที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่เห็นภิกษุณีสงฆ์คณะใหญ่มายืนอย่างนั้น ก็ไม่สบายใจ ตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ให้ท่านเข้าไป

แต่วิธีคิดของคนที่ดูแลเต็นท์คณะสงฆ์ เขามีเฉพาะภิกษุสงฆ์ ไม่มีภิกษุณีสงฆ์ และเขาก็ยืนยันว่า ได้พูดกับอธิบดีกรมการศาสนา และสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติแล้ว ยืนยันว่า ไม่มีภิกษุณีสงฆ์ในสายเถรวาท

ก็ที่มายืนอยู่นั้น เขาก็บวชมาอย่างถูกต้องจากพระภิกษุสงฆ์สายเถรวาทนั่นแหละ เพียงแต่ไม่ใช่เถรวาทไทย ก็ภิกษุสงฆ์ไทยไม่ให้บวชไง เขาจึงต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปบวชที่ศรีลังกา

มิหนำซ้ำ สามเณรี 44 รูปบวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลด้วย แต่ไม่ให้เข้า เพราะภิกษุณีทั้งโขยงผิดกฎหมาย

ความจริงภิกษุณีท่านก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาถกเถียงหรือเรียกร้องให้ยอมรับสถานภาพการบวชของท่าน เพราะรู้อยู่แล้วว่า คณะสงฆ์ไทยโดย มส. ยังไม่รับ

เป็นคนละประเด็นกัน

ท่านก็เป็นประชาชนคนไทยที่ตั้งใจที่จะมาคารวะพระบรมศพเท่านั้น

ตกลงทางการคงต้องพิจารณาจัดวางท่านไว้ที่ใดที่หนึ่ง จะบอกว่า ไม่รับ ไม่มี ไม่น่าจะถูกต้อง

ถ้าจะไล่ท่านไปเข้าทางฆราวาส ทางทหารก็นิมนต์ท่านมาที่เต็นท์พระสงฆ์ บังเอิญพระสงฆ์ไทยหมายถึงภิกษุสงฆ์เท่านั้น ในความหมายของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่ดูแลเต็นท์

ภิกษุณีสงฆ์ 92 รูป ที่ตั้งใจไปคารวะพระบรมศพ บางคนบวชเพื่อเป็นพระราชกุศล ตกลงได้อยู่เพียงนอกวัง หรืออย่างดีที่สุดในกรณีกลุ่มที่สอง ได้เข้าประตูวัง แต่ก็ไม่ได้เข้าไปที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทที่ประดิษฐานพระบรมศพ

มิหนำซ้ำ เจ้าหน้าที่ผู้นี้ ยังบอกด้วยว่า ถ้าจะเข้าทางประตูที่ฆราวาสเข้าก็ต้องไปใส่ชุดดำมา

คราวนี้เรียกว่าจับภิกษุณีสึกเลย

ละเมิดสิทธิในการนับถือศาสนา ผิดกฎหมายนะ

นอกจากนั้น ยังอยากรู้ว่า เสื้อแขนยาวตัวในที่ภิกษุณีใส่นั้น เป็นอย่างไร ให้ภิกษุณีถอดจีวรให้ดู

อันนี้ก็เข้าข่ายอนาจารไหม ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะคนนั้น เป็นนักบวชในพุทธศาสนาเอง

 

ความคิดต่าง จึงนำมาซึ่งการกระทำที่ต่างไปจากตัวบทกฎหมาย

จะไม่รู้สึกมากหากเป็นประชาชนเป็นผู้ละเมิด แต่นี่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กำลังปฏิบัติการต่อประชาชน ในโอกาสที่ประชาชนต้องการจะทำความดีด้วยซ้ำ

ลงท้ายด้วยการเรียกตำรวจวังมาช่วยไล่ภิกษุณีสงฆ์หลายครั้ง

ภิกษุณีสงฆ์ไม่แตกแถวเลย มั่นคงในสามัคคีธรรม และตั้งมั่นอยู่ในความสงบ เมื่อมีภิกษุสงฆ์ที่เดินแถวเข้าวัง ผ่านคณะภิกษุณี ท่านก็ยกมือไหว้ภิกษุสงฆ์ที่เดินผ่านด้วยดี

ท่านธัมมนันทา พาคณะภิกษุณีทั้งหมดน้อมใจถวายกุศลที่ตั้งใจถวายพระองค์ท่าน เช่นที่เคยทำในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ทุกปีจะไปลงนามที่โรงพยาบาลศิริราช ได้รับการต้อนรับจากตำรวจวังอย่างดี แต่ปีนี้ ได้แต่ส่งใจมาจากนอกวัง

เมืองไทยเป็นเมืองพุทธที่เราอวดอ้างกับชาวต่างประเทศว่า เป็นประเทศที่มีประชากรนับถือพุทธศาสนาสูงสุดในโลกนะ

แต่เหตุการณ์นี้ ทำให้เรารู้สึกวังเวงนะ

จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_20947