ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 13, 2017, 06:10:22 pm »“สังฆราชา” พระผู้เคร่งครัด แต่เปี่ยมด้วยเมตตา
พระผู้ทรงเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ฝั้น, พระผู้ไม่มีรถส่วนตัวใช้, พระผู้ทรงฉันภัตตาหารในบาตรเหมือนพระวัดป่าทั่วๆ ไป, พระผู้ทรงถือพรรษา แต่ไม่ทรงถือสมณศักดิ์สูงใหญ่, พระผู้ทรงละทางโลก-ใฝ่ทางธรรม, พระผู้ทรงนำปัจจัยจากญาติโยมไปสร้างโรงเรียน-หนุนมูลนิธิ, พระผู้ทรงได้รับการสรรเสริญว่าเป็น “พระแท้-พระจริง” แห่งยุคสมัย
พระผู้ทรงเป็น “ราชาแห่งคณะสงฆ์” องค์ใหม่ “สมเด็จอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)” สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระผู้ทรงพร้อมนำความสงบร่มเย็นมาสู่ผืนแผ่นดินธรรม-ผืนแผ่นดินไทยโดยแท้...
พระสายวัดป่า ผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม
[สมเด็จพระสังฆราช เมื่อครั้งยังทรงเป็น “พระมหาอัมพร อมฺพโร” บิณฑบาตร่วมกับ “หลวงปู่ฝั้น” ณ วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร]
“เราได้มีสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีโอกาสกราบท่านอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง เวลาทำบุญให้น้องพุ่ม เพราะอัฐิของน้องพุ่มบรรจุอยู่ที่นั่น ท่านเมตตาใจดีมาก สาธุ”
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงโพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมส่วนพระองค์ @nichax ด้วยภาพของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ แนบสัญลักษณ์ “พนมมือไหว้” เพื่อร่วมแสดงความปลื้มปีติในวาระที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 โดยมีพระราชทินนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก”
[จากอินสตาแกรมของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ]
ผู้ได้เคยมีโอกาสนมัสการหรือนิมนต์สนทนาธรรมต่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงคุณสมบัติเรื่อง “ความสมถะ” ที่ปรากฏเด่นชัดของพระองค์ท่าน เนื่องด้วยสมเด็จพระอริยสงฆ์ผู้นี้ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หลายต่อหลายครั้งจึงต้องเดินทางด้วยแท็กซี่เพื่อไปรับกิจนิมนต์ บางครั้งเดินด้วยเท้าเปล่า และมักจะถือฉันในบาตรเหมือนพระกรรมฐานสายวัดป่าทั่วๆ ไป
เมื่อว่างเว้นจากภาระธุระทางธรรมคราใด พระองค์มักจะเสด็จไปเยือนวัดป่าสายกรรมฐานตามจังหวัดต่างๆ อยู่เสมอๆ ทั้งยังเป็นพระผู้ไม่เคยแบ่งแยกถือตัว สนทนาธรรมได้ทั้งพระสายธรรมยุติและมหานิกาย แม้ในคราวที่ได้ขึ้นเป็น “สมเด็จ” แล้ว ท่านก็ยังคงกราบพระเถระผู้ใหญ่ที่มีอายุพรรษามากกว่าท่านเสมอๆ ด้วยจิตใจที่นอบน้อม จึงเป็นที่มาของคำสรรเสริญที่ว่า พระสมเด็จผู้นี้คือพระผู้ถือพรรษา ไม่ถือสมณศักดิ์ ช่างน่าชื่นชม
“เจ้าพระคุณสมเด็จชอบสนทนาธรรมกับพระสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในวัยหนุ่ม ท่านเดินทางไปสักการะและสนทนาธรรมกับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่ดูล อตุโล, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ฯลฯ พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดังเป็นประจำ
[ทรงฉันในบาตร เดินตามทางธรรมพระวัดป่า พ.ศ.2508]
[ช่วงหยุดพัก ถวายน้ำปานะระหว่างทางเดินธุดงค์ จากวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ไปวัดถ้ำขาม จ.สกลนคร เพื่อภาวนากับ "หลวงปู่ฝั้น"]
มีเรื่องเล่าว่า เวลาท่านเดินทางไปภาคอีสาน ท่านจะฉันในบาตรเพียงมื้อเดียว เหมือนสายพระป่า และชอบปฏิบัติกัมมัฏฐาน ใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะ ท่านไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ทาง พศ. (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) จะจัดรถยนต์ถวายเวลาท่านเดินทาง เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย” พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) โฆษกและกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) บอกเล่าเอาไว้เช่นนั้น
[สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 (รูปที่ 1 จากซ้าย) ทรงถือ “หนังสือวินัยมุข” ไว้ในมือเพื่อใช้ตรวจสอบความถูกต้องในการสวดสมมติสีมา เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ "พระเทพเมธาภรณ์" ร่วมกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19]
เช่นเดียวกับ “หลวงปู่อุทัย สิริธโร” เจ้าอาวาสวัดเขาใหญ่ (เจริญธรรม) ญาณสัมปันโน ที่ย้อนรอยอดีตเอาไว้ ถึงเมื่อครั้งเคยธุดงค์ปฏิบัติธรรมร่วมกันกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระมหามุนีวงศ์” ว่า “ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หมั่นปฏิบัติธรรมเป็นนิจ มีนิสัยอ่อนโยน มีเมตตา ปฏิบัติตนเคร่งครัด”
ศิษย์หลวงปู่ฝั้น “ทำใจให้สบาย”
"...เราไม่มีแม้สักแดงเดียวนะ เราไม่สะสม แม้แต่เหรียญท่านอาจารย์ฝั้น สักเหรียญเรายังไม่มี รถเราก็ไม่มี..."
นี่คือส่วนหนึ่งจากโอวาทธรรมของสมเด็จพระสังฆราช ในช่วงที่ยังถูกเรียกว่า “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร)” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสมถะเรียบง่ายของพระองค์เป็นอย่างมาก ประชาชนสายธรรมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เหมาะสมแล้วที่เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” แห่งวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ซึ่งเป็นพระอริยสงฆ์ที่ประชาชนทั่วทั้งแผ่นดินเคารพศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติโดยแท้
ในฐานะหนึ่งในศิษย์ของหลวงปู่ฝั้น เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช เคยได้กล่าวถึงพระอาจารย์ใหญ่เอาไว้ ระหว่างแสดงพระธรรมเทศนาเนื่องในวันแสดงมุทิตาจิตแด่หลวงปู่อุทัย สิริธโร ณ วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน ต.โป่งตาลอง จ.นครราชสีมา เอาไว้ดังนี้
“...อาตมาได้เคยฟังธรรมจากท่านอาจารย์ใหญ่ฝั้น อาจาโร ตั้งแต่ครั้งที่ได้มากราบท่าน ท่านกล่าวว่า “ทำใจให้สบาย” ซึ่งยังปรากฏติดอยู่ในใจจนป่านนี้ คำว่าทำใจให้สบายในสำเนียงของท่าน รู้สึกว่าจับใจ ฟังแล้วทำให้ใจมันสบายตาม ซึ่งไม่ทราบว่าจะถ่ายทอดคำนี้ออกมาให้ท่านทั้งหลายทราบกันได้อย่างไร
ถ้าเราศึกษาค้นคว้า ปฏิบัติธรรม เราคงจะได้อย่างที่อาจารย์ใหญ่ท่านบอกให้ฟังว่า ทำใจให้สบายได้ ก็ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ คือความสบายใจ ทำใจให้สบาย”
ไม่ใช่เพียงคำบอกเล่าจากพระสงฆ์องค์เจ้าเท่านั้นที่คอยย้ำถึงคุณงามความดีของสมเด็จพระสังฆราชลำดับที่ 20 พระองค์นี้ แม้แต่ประชาชนผู้เคยมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับท่านยังบอกเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า พระองค์เหมาะสมกับคำว่า “พระแท้” มากเพียงใด เรื่องราวจาก “ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน” ที่บอกเล่าผ่านแฟนเพจเอาไว้ คืออีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องราวที่เล่าจากประสบการณ์ตรง เมื่อครั้งเคยบวชเณรใหม่ๆ และเคยมี “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” หรือชื่อเรียกในสมัยนั้นคือ “พระมหาอัมพร” มาเป็นพระพี่เลี้ยง
“ผมยังจำครั้งแรกที่ท่านมหาอัมพรพาออกบิณฑบาตได้ หลังจากบวช 2-3 วัน ท่านเห็นว่าเดินไกลๆ แล้วจีวรไม่หลุดลุ่ยแน่ จึงนำวนไปทางวัดสุทัศนฯ มีโยมรายหนึ่งตั้งโต๊ะใหญ่มากหน้าบ้าน พระเณรยืนล้อมวงอยู่ห่างๆ เพื่อผลัดกันเข้าไปรับบาตรทีละองค์
รอสักครู่หนึ่ง พอเมื่อยก็ถึงคิวท่านอัมพร รับบาตรเสร็จ ผมเห็นพี่สองคนรีรออยู่ กลัวจะชักช้าก็เลยก้าวออกไปรับบาตรต่อทันที เสร็จแล้วก็เดินไปสมทบกับท่าน
โดนท่านดุว่าเณรไปตัดคิวพระท่านทำไม พอผมได้สังเกตจึงเห็นว่า พระท่านยืนแยกสายกันตามใครมาซ้ายมาขวา แล้วสลับเข้ารับบาตรซ้ายทีขวาที ผมไปเบิลเป็นขวาๆ ท่านมหาอัมพรเลยต้องเดินไปขอโทษพระองค์นั้น ซึ่งท่านก็ไม่ว่าอะไร...
อ้างถึง
รำลึกถึงความจำดีๆแต่ครั้งอดีต
.
.
ผมเป็นเด็กข้างวัดมกุฎกษัตริยาราม เติบโตในบ้านคุณตาซึ่งเคยเป็นไวยาวัจกรของวัด ญาติพี่ๆน้องๆของผมที่เป็นหลานคุณตาคุณยายจึงล้วนใกล้ชิดพระสงฆ์องค์เจ้าโดยไม่เคอะเขิน แต่ผมพิเศษกว่าเขา เพราะท่านเจ้าคุณสาสนโสภณ (จวน อุฎฺฐายี) เจ้าอาวาสวัดมกุฏเป็นผู้ตั้งชื่อให้ผม ท่านเจ้าคุณสาฯได้เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และสมเด็จพระสังฆราชในที่สุด
.
แต่ด้วยเหตุบังเอิญที่ในฤดูร้อนปีหนึ่งครอบครัวเราไปเที่ยวหัวหินกัน ผมและพี่สองคนได้ขึ้นไปเที่ยวเขาไกรลาศโดยพ่อแม่ของเรามิได้ไปด้วย จึงได้พบท่านพระครูวิสิษฐ์ศีลาจารย์เจ้าอาวาส แล้วท่านให้ชวนพ่อแม่ของเราขึ้นไปเที่ยวบ้าง ครั้นไปแล้วจึงได้ทราบว่าวัดเขาไกรลาสนี้ เป็นสาขาของวัดราชบพิธ มีท่านเจ้าคุณจินดา รองเจ้าอาวาสเป็นผู้มาบุกเบิกก่อสร้าง
.
ท่านเจ้าคุณจินดากรมุนี (ทองเจือ) ท่านเป็นพระที่มีวาทะศิลป์ยอดเยี่ยม เมื่อพ่อแม่พาเราไปกราบท่านที่วัดราชบพิธ ท่านชักชวนให้เราเด็กๆทั้งสามคนบวชเณรในช่วงปิดเทอมใหญ่ พ่อแม่ก็สนับสนุนให้เราบวช ผมอายุสักสิบปีเท่านั้นเองเมื่อบวชครั้งแรก ที่ยอมก็เพราะวัดราชบพิธไม่มีงานเผาผี ถ้าวัดมกุฏขอบาย ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์(วาสน์) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเจ้าคุณจินดากรมุนีเป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วท่านมอบหมายให้พระมหาอัมพรเป็นพระพี่เลี้ยง
.
ผมยังจำครั้งแรกที่ท่านมหาอัมพรพาออกบิณฑบาตได้ หลังจากบวชสองสามวันท่านเห็นว่าเดินไกลๆแล้วจีวรไม่หลุดรุ่ยแน่ จึงนำวนไปทางวัดสุทัศน์ มีโยมรายหนึ่งตั้งโต๊ะใหญ่มากหน้าบ้าน พระเฌรยืนล้อมวงอยู่ห่างๆเพื่อผลัดกันเข้าไปรับบาตรทีละองค์ รอสักครู่หนึ่งพอเมื่อยก็ถึงคิวท่านอัมพร รับบาตรเสร็จ ผมเห็นพี่สองคนรีรออยู่ กลัวจะชักช้าก็เลยก้าวออกไปรับบาตรต่อทันที เสร็จแล้วก็เดินไปสมทบกับท่าน โดนท่านดุว่าเณรไปตัดคิวพระท่านทำไม พอผมได้สังเกตุจึงเห็นว่า พระท่านยืนแยกสายกันตามใครมาซ้ายมาขวา แล้วสลับเข้ารับบาตรซ้ายทีขวาที ผมไปเบิ้ลเป็นขวาๆ ท่านมหาอัมพรเลยต้องเดินไปขอโทษพระองค์นั้น ซึ่งท่านก็ไม่ว่าอะไร
.
อยู่วัดราชบพิธสักสัปดาห์เดียวก็ตามท่านเจ้าคุณจินดาไปวัดเขาไกรลาศเพื่ออยู่ต่อแล้วสึกที่นั่น ไม่กี่วันพวกเราก็มีเด็กหนองแกมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ พาเฌรเมืองกรุงเที่ยวผจญภัยไปทั่วย่าน วันหนึ่งไปไกลถึงหัวเขาตะเกียบด้านที่เป็นป่าสน แล้วลงเล่นน้ำทะเลที่นั่น สบงจีวรเปียกหมดทั้งตัว ขากลับนายพักตร์ลูกศิษย์หาไม้ไฝ่ให้คนละท่อน เอาจีวรผูกแล้วเดินชูตากแดดตากลม กะจะให้แห้งก่อนถึงวัด ถึงตีนเขาไกรลาศเดินขึ้นกระไดไปอีกร้อยกว่าขั้นเหนื่อยแทบแย่ เห็นท่านเจ้าคุณจินดาท่านยืนรออยู่แล้ว โดนหยิกที่ท้องแขนคนละทีทั้งเณรทั้งลูกศิษย์ก่อนนั่งฟังเทศนา ท่านบอกว่าไม่รักษาสมณสารูป ทำตัวเป็นลิงเป็นค่าง เอาจีวรมาทำธงเดินแห่กันมาเหมือนทหาร แลเห็นแต่ไกล
.
ก็ตามที่ท่านว่าแหละครับ ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่าบวชครั้งนั้นเป็นการไปตดรดผ้าเหลืองตามสำนวนโบราณแท้ๆ แต่แม่ผมก็เป็นปลื้มมากเพราะท่านจัดให้ลูกๆผลัดวันกันขึ้นไปเทศน์โปรดโยม พอโตขึ้นมาหน่อยก็เอาใหม่ ขอบวชเณรอีกครั้งแบบบวชเดี่ยวเลยที่วัดราชบพิธ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์เช่นเคย องค์นี้ต่อมาไม่นานท่านได้เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และเป็นสมเด็จพระสังฆราชในที่สุด
.
บวชเณรครั้งที่ ๒ นี้ อายุประมาณสิบห้าสิบหกแล้ว ท่านเจ้าคุณจินดาท่านมอบให้ท่านมหาอัมพร พระอุปัฏฐากของท่านเป็นผู้ดูแลสั่งสอนผมเช่นเคย ความใกล้ชิดครั้งนี้มีมาก จนสังเกตุได้ว่า แทบทุกเพลที่ท่านเจ้าคุณจินดาจะมาฉันเพลที่กุฏิปริยชาติของท่าน นอกจากญาติโยมสองสามคนจะเปลี่ยนหน้ามาถวายภัตตาหารแล้ว จะมีขาประจำ คือน้องชายของท่านมหาอัมพร และหญิงสาวสวยคนหนึ่งมานั่งสงบเสงี่ยมไม่พูดไม่จาอยู่ด้วย แต่เธอก็ทำตัวเรียบร้อย เวลานั่งก็จะมีผ้าพันคอผืนโตๆมาคลุมหัวเข่ามิดชิด ตอนแรกๆผมก็นึกว่าเป็นแฟนน้องชายท่าน แต่ไม่นานก็สังเกตุว่าชายหญิงทั้งสองมิได้มาด้วยกัน เวลาไปก็ไปกันคนละทาง
.
ผมละนึกเป็นห่วงเสียจริงๆ ท่านมหาอัมพรนั้นที่เป็นพระรูปงาม ราศีเปล่งปลั่ง ใครเห็นใครนิยมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เวลาโอภาปราศัยก็นุ่มนวล ยิ้มแย้มตลอดเวลา วันหนึ่งฉันเพลเสร็จเรียบร้อยใครๆไปกันหมดแล้ว ผมกำลังจะเดินกลับกุฎิของผม พอออกมาพ้นประตูกุฏิของท่านแลเห็นแม่หญิงคนนั้นเดินมาแต่ไกล เสียงท่านอัมพรตะโกนเรียกผมจากหน้าต่างขั้นบนว่า เณรๆ กลับมาก่อน ผมขึ้นมาหาท่านแล้วท่านก็บอกว่า อยู่เป็นเพื่อนกันหน่อย แล้วท่านก็ครองจีวรเรียบร้อยไปนั่งเตรียมตัวอยู่บนอาสนะของท่าน
.
แม่หญิงคนสวยคนนั้นก็ขึ้นมานั่งอยู่หัวกระไดแล้วกราบเบญจางคประดิษฐ์อย่างงดงาม ผมจำไม่ได้ว่าเธอพูดอะไรแล้วท่านตอบว่าอย่างไร แต่ท่านไม่แสดงสีหน้าว่าไม่พอใจที่จะรับแขก พูดไปคุยไปด้วยรอยยิ้มบนใบหน้าเหมือนกับเวลาพูดกับโยมทุกคน ผมก็ง่วงสิครับ ค่อยถอยตนเองเข้าไปในห้องนอนของท่าน ตอนแรกก็นั่งคาประตูอยู่ สักพักก็ล้มตัวลงนอนหลับตาแต่เงี่ยหูให้ได้ยินเสียงตลอด อยู่ๆเสียงสนทนาก็สะดุดลง แล้วเปลี่ยนเป็นเสียงของท่านที่พูดข้างหูผม “ เณรนี่ บอกให้นั่งเป็นเพื่อนกันหน่อยก็ไม่ได้”
.
ผมทะลึ่งพรวดขึ้นทันที ท่านก็เดินกลับไปนั่งที่อาสนะเดิมห่างจากโยมสาวห้าหกเมตร แต่ยังหันมาบอกผมว่า “ออกมานั่งข้างนอกนี่” ในจังหวะที่กระอักกระอ่วนนี้เอง แม่หญิงคนงามก็กราบลาท่านด้วยความรู้สึกอย่างไรผมก็ไม่อยากเดา แล้วเธอผู้นั้นก็เดินจากออกไปจากทางโคจรของท่านเมื่อไหร่อย่างไร ผมก็ไม่ทราบอีกเลย
.
ในช่วงเวลาเหล่านี้ ครอบครัวของผมรู้สึกถูกจริตกับปฏิปทาของพระวัดราชบพิธมาก ทุกองค์น่ารักน่าเคารพ ไม่มากไปน้อยไป แทบจะทุกคืนหลังอาหารเย็น จะขับรถไปซื้อน้ำอ้อยที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ แล้วนำไปถวายเป็นน้ำปาณะ สนทนากับพระพอสมควรแก่เวลาแล้วก็กราบลา
.
แล้วก็เลยมีเรื่องสำคัญผมอดที่จะเล่าไม่ได้
เริ่มจากญาติผู้ใหญ่ของผมคนหนึ่งได้ไปค้นพบรู้จักกับอาจารย์สมัย วงศาโรจน์ โหราจารย์ผู้โด่งดังแห่งยุค แต่ตอนนั้นเราเรียกว่าหมอหมัย หมอหมัยดูดวงแม่นมาก ปากคอสำบัดสำนวนก็ไม่เหมือนใคร เวลาฟันเปรี้ยงออกไปบางคนถึงกับผงะ หมอหมัยดูป้าของผมคนหนึ่งว่า ภายในช่วงวันนั้นวันนี้ให้ระวังอุบัติเหตุ ป้าเชื่อมากขนาดไม่ยอมออกไปไหนเลย เกือบจะพ้นช่วงนั้นอยู่แล้วก็ให้บังเอิญสะดุดขาตนเอง ตกกระไดลงมาแขนหักในบ้าน พวกเรายังล้อกันว่าป้าคงกลังว่าหมอดูจะไม่แม่น เลยโดดบันไดลงมาให้ต้องตามคำทำนาย กิตติศัพท์ของหมอหมัยไม่ทราบใครไปเล่าให้ท่านเจ้าคุณจินดาฟัง ท่านบอกว่า “เราอยากดู ช่วยพาเราไปบ้าง”
.
แม่และผมกับเพื่อนบ้านสนิทกันคนหนึ่ง เป็นผู้ขับรถพาท่านเจ้าคุณจินดาและท่านมหาอัมพรไปหาหมอหมัยที่บ้านซอยโปโลตามนัดในช่วงค่ำวันหนึ่ง โอภาปราศัยเสร็จแล้ว หมอหมัยก็ผูกดวงท่านเจ้าคุณ แล้วก็บอกว่า ดวงนี้อยู่ไม่สุข อยู่เฉยๆไม่เป็น ชอบหางานยากๆหนักๆมาให้ตัวเอง ท่านก็หัวเราะแล้วถามว่า แล้วมันจะสำเร็จไหม หมอหมัยบอกพอจะสำเร็จงานหนึ่งก็ไปจับงานใหม่เข้ามาอีกอย่างนี้เรื่อยไป แล้วพูดต่อว่า ดวงของท่านนี้ ต่อไปต้องได้เป็นสมเด็จแน่ ถ้าไม่ได้เป็นก็ให้เอาตีนหมามาเหยียบหน้าผมได้ นี่ครับ หมอหมัยของแท้ต้องสำนวนอย่างนี้ ว่าแล้วก็ส่งดวงให้ "ท่านเจ้าคุณ เก็บไว้เลย ดวงของท่านไม่จำเป็นต้องดูหมอ"
.
พอถึงตาท่านอัมพร ดูเหมือนท่านสนใจจะถามเรื่องการศึกษาที่ดูเหมือนท่านจะต้องไปเรียนต่อที่อินเดีย หมอหมัยผูกดวงแล้วก็นิ่งไปชั่วครู่ มีแถมเพ่งพินิจโหวงเฮ้งท่านด้วยก่อนจะพูดว่า “ดวงของท่านมหา สมเด็จผมก็ว่ายังน้อยไป ผมจะไม่ดูเรื่องอะไรเล็กๆน้อยๆละ ท่านเอาดวงนี้เก็บไปเลย”
.
พระทั้งสององค์หัวเราะอย่างไม่เชื่อถือ ก็มันตลกไหมล่ะนั่น อาจารย์กับลูกศิษย์มาด้วยกัน หมอดูบอกว่าจะเป็นสมเด็จด้วยกันทั้งคู่ อีกองค์หนึ่งสมเด็จก็ยังน้อยไปอีกด้วย
ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์คืนนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่มีแค่สมเด็จอัมพรกับผม ความจำของผมส่วนฝอยๆอาจจะเพี้ยนไปบ้าง แต่หลักๆแล้วไม่ผิดแน่ ตอนที่ท่านเจ้าคุณอัมพรได้เป็นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ผมได้เรียนถามว่ายังจำเรื่องนี้ได้หรือไม่ ท่านบอกว่าไหนๆเขาว่าอย่างไร พอผมกราบเรียนแล้วท่านก็หัวเราะ บอกว่า เหรอ ๆ คือผมว่าท่านไม่ได้สนใจอะไรกับคำทำนายนี้ตั้งแต่แรกแล้วละครับ เรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่ติดสมองท่านเลย ส่วนผมนั้น ถ้าไม่เล่าก็คงจะอกแตกตาย
.
เรื่องราวที่ท่านจำได้แม่นก็คือ คราวที่ผมเป็นสารถีขับรถพาท่านเจ้าคุณจินดาและท่านกับพระอีกสององค์ไปวัดป่าทางอิสานนั่นแหละ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วท่านเห็นรูปยังบอกว่า ท่านเคยไปวัดป่าบ้านตาดมาครั้งหนึ่งแล้ว ปีต่อมาก็ไปกับผมเป็นครั้งที่ ๒ ได้พบครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ แต่วัดถ้ำขามของท่านอาจารย์ฝั้นท่านไม่ได้พูดว่าท่านเคยไปมาก่อน เข้าใจจะเป็นตามที่ผมเคยทราบว่าท่านไปเป็นครั้งแรกและได้ฝากตนเป็นศิษย์กรรมฐานของท่านอาจารย์ฝั้นในครั้งนั้น เรื่องนี้ผมเขียนไปแล้วคงไม่ต้องเล่าซ้ำอีก
เมื่อบวชครั้งสำคัญในชีวิต ผมได้บวชนาคหลวงในพระอุโบสถวัดพระแก้ว สมเด็จพระสังฆราชวาสน์ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ไปจำพรรษาวัดบวรนิเวศวิหาร ท่านเจ้าคุณสา(เจริญ สุวฑฺฒโน) พระกรรมวาจาจารย์เป็นเจ้าอาวาส ในปีนั้นเองท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร และต่อมาเป็น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ในที่สุด
.
ออกพรรษาแล้ว ผมลาท่านไปอยู่วัดราชบพิธระยะหนึ่งก่อนลาสิกขา ได้มีโอกาสเข้าร่วมปาฏิโมกข์ ซึ่งสงฆ์จะมอบหมายให้พระองค์หนึ่งเป็นผู้สวดบาลีเป็นเวลาร่วมชั่วโมง โดยจะต้องไม่ผิดแม้แต่คำเดียว ซึ่งหน้าที่นี้เป็นของท่านอัมพรแต่ไหนแต่ไรมา ว่ากันว่าสมองและความจำของท่านเป็นเลิศกว่าพระทุกรูปในวัดราชบพิธ ผมรู้สึกเป็นบุญที่มีคุณสมบัติครบที่จะได้ร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของสงฆ์และได้ฟังท่านอัมพรหลับตาท่องรวดเดียวไม่มีพักยก ตั้งแต่ต้นจนจบ
.
นั่นเป็นโอกาสสุดท้ายท่านที่ผมได้ใกล้ชิดครูบาอาจารย์องค์ปฐม หลังจากสึกออกมาทำงานทำการแล้วก็จำเป็นต้องห่างเหิน แต่ทุกครั้งที่มีงานบุญ บ้านผมก็นิมนต์พระวัดราชบพิธทุกครั้ง ท่านเจ้าคุณจินดาได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ จนได้เป็นสมเด็จพุทธปาพจนบดี ส่วนท่านมหาอัมพร ครั้งสุดท้ายที่ไปกราบนั้น ท่านเป็นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ซึ่งทั้งสององค์ท่านได้ให้ความเมตตาสม่ำเสมอจนกระทั่งชั้นลูกชั้นหลาน สิ้นสมเด็จพุทธปา สมเด็จอัมพรท่านก็เป็นหลักในทางธรรมให้พวกเราได้ยึดเหนี่ยวต่อ เวลาเรากราบท่านทุกครั้ง เราสำนึกอยู่เสมอว่าเราโชคดีที่มีสงฆ์อย่างท่านเป็นเนื้อนาบุญ นำทางชีวิตให้ตั้งแต่เด็กจนแก่ ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมยังไม่เห็นจริยวัตรของท่านเปลี่ยน นอกจากจะงดงามขึ้น ท่านไม่เคยหลุดกิริยาวาจาอันใดเลยที่จะทำให้ใจเราสะดุดแม้แต่นิดเดียว ท่านเป็นพระที่สำนึกของเราบอกว่า พระแท้คือพระอย่างนี้
.
เล่าให้ใครฟังเขาก็มักจะบอกว่าผมโชคดีที่มีโอกาสใกล้ชิดพระผู้ใหญ่หลายองค์ แต่ขอเรียนว่า ทุกองค์ตั้งแต่ท่านได้เป็นสมเด็จ โอกาสที่จะผมจะได้ใกล้ชิดท่านก็ไม่เท่าเดิม สมเด็จอัมพรนั้น หากผมคิดถึงท่านก็จะต้องไปแต่เช้าตรู่ก่อนจะออกจากห้องเล็กๆที่ท่านจำวัด พอใกล้เวลาฉันเช้า โยมก็มานั่งกันหนาตาแล้ว เห็นอย่างนั้นทีไรก็สังเวช ไม่อยากเอาตัวไปเพิ่มความไร้สาระให้ท่านอีก ดังนั้น หลังๆนี้ถ้าไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ หรือท่านเรียกใช้มาก็จะไม่ไป
อยากจะถนอมสังขารของท่านให้ดำรงอยู่ นานที่สุดเท่าที่ท่านจะดำรงได้ เพื่อให้เป็นที่พึงทางใจให้ชาวพุทธคนไทย ไปอีกนานเท่านาน
จาก fb : ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1352204618176566&id=1174884455908584
จนมาเมื่อบวชครั้งสำคัญในชีวิต ผมได้บวชนาคหลวงในพระอุโบสถวัดพระแก้ว... ออกพรรษาแล้ว ผมลาท่านไปอยู่วัดราชบพิธฯ ระยะหนึ่งก่อนลาสิกขา ได้มีโอกาสเข้าร่วมปาติโมกข์ ซึ่งสงฆ์จะมอบหมายให้พระองค์หนึ่งเป็นผู้สวดบาลีเป็นเวลาร่วมชั่วโมง โดยจะต้องไม่ผิดแม้แต่คำเดียว ซึ่งหน้าที่นี้เป็นของ “ท่านอัมพร” แต่ไหนแต่ไรมา
ว่ากันว่าสมองและความจำของท่านเป็นเลิศกว่าพระทุกรูปในวัดราชบพิธ ผมรู้สึกเป็นบุญที่มีคุณสมบัติครบที่จะได้ร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของสงฆ์และได้ฟังท่านอัมพรหลับตาสวดรวดเดียวไม่มีพักยก ตั้งแต่ต้นจนจบ
ครั้งสุดท้ายที่ไปกราบ (ท่านมหาอัมพร) นั้น ท่านเป็นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ สมเด็จอัมพรท่านก็เป็นหลักในทางธรรมให้พวกเราได้ยึดเหนี่ยวต่อ เวลาเรากราบท่านทุกครั้ง เราสำนึกอยู่เสมอว่าเราโชคดีที่มีสงฆ์อย่างท่านเป็นเนื้อนาบุญ นำทางชีวิตให้ตั้งแต่เด็กจนแก่
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมยังไม่เห็นจริยวัตรของท่านเปลี่ยน นอกจากจะงดงามขึ้น ท่านไม่เคยหลุดกิริยาวาจาอันใดเลยที่จะทำให้ใจเราสะดุดแม้แต่นิดเดียว ท่านเป็นพระที่สำนึกของเราบอกว่า พระแท้คือพระอย่างนี้”
ไม่ต่างไปจากแฟนเพจ "พระอริยเจ้า" ที่เขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระสังฆราชพระองค์ใหม่เอาไว้ด้วยความเคารพจากใจ โดยตั้งชื่อบทความว่า “เมื่อครั้งคนบุญน้อยได้เข้าใกล้สมเด็จท่าน” บอกเล่าความประทับใจจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง กับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้ว เมื่อครั้งได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมในงานพระราชทานเพลิงสรีรสังขารหลวงปู่บุญมี โชติปาโล ณ วัดสระประสานสุข จ.อุบลราชธานี
อ้างถึง
:: เมื่อครั้งคนบุญน้อยได้เข้าใกล้สมเด็จท่าน ::
เรื่องนี้ เป็นประสบการณ์จริงของชีวิตแอดมิน ที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสอยู่ใกล้ๆกับสมเด็จท่าน
เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้ แอดมินประสพมาด้วยตนเอง หากภาษาบางภาษา ศัพท์บางศัพท์ใช้ไม่เหมาะกับสถานะเนื่องด้วยแอดมินเป็นคนเบาปัญญาก็ต้องกราบขออภัยทุกท่านมา ณ ที่นี้
เมื่อต้นปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ ผมได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมในงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่บุญมี โชติปาโล ณ วัดสระประสานสุข จ.อุบลราชธานี
ในวันงานนั้น อากาศหนาวมากครับ ผมเลยได้เข้าไปหลบอากาศหนาวใต้ฐานพระใหญ่บริเวณนั้น โดยผมก็หาที่นั่งเงียบๆอยู่มุมหนึ่งโดยใต้ฐานพระใหญ่ก็มีพ่อแม่ครูอาจารย์บางส่วนเข้ามานั่งหลบหนาวสนทนาธรรมกันตามประสาพระเถระที่ท่านเป็นสหธรรมิกกัน
จนเวลาล่วงไปถึงช่วงที่ประธานสงฆ์จะเดินทางมาร่วมในงาน ก็ได้มีพระเถระผู้เฒ่าหน้าตาแจ่มใสยิ้มแย้มองค์หนึ่งเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์แล้วเข้ามานั่งอยู่ตรงเก้าอี้ติดกับตรงที่ผมนั่งอยู่ ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสมากหากแต่มีระเบียบเคร่งครัด
และสิ่งที่แอดมินได้พบกับตนเองคือ พระองค์นี้ท่านมิรับของถวายใดๆเลย แล้วยังกล่าวกับคนที่มาถวายด้วยน้ำเสียงเปี่ยมเมตตาว่า "ที่วัดมีแล้ว ไม่เอาหรอก"
ผลคือท่านมิรับสิ่งใดเลยครับ ท่านเข้ามาท่านก็นั่งสนทนากับพระที่เข้ามากราบท่าน สนทนากับญาติโยมบริเวณนั้นอย่างเป็นกันเอง
และภาพที่ทุกคนในบริเวณนั้นรวมถึงแอดมินที่ได้นั่งอยู่เงียบๆใกล้ๆท่านได้เห็น ก็คือใบหน้าของพระองค์นี้จะยิ้มแย้มตลอด เคร่งครัดหากแต่เมตตา
และพระองค์ที่แอดมินกล่าวถึงนั้นแล คือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุณีวงศ์
ที่ในวันพรุ่งนี้จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เพจ พระอริยเจ้า https://www.facebook.com/Buddhistarhat/posts/1285964551483174:0
“เวลาล่วงไปถึงช่วงที่ประธานสงฆ์จะเดินทางมาร่วมในงาน ก็ได้มีพระเถระผู้เฒ่าหน้าตาแจ่มใสยิ้มแย้มองค์หนึ่งเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์แล้วเข้ามานั่งอยู่ตรงเก้าอี้ติดกับตรงที่ผมนั่งอยู่ ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสมาก หากแต่มีระเบียบเคร่งครัด และสิ่งที่แอดมินได้พบกับตนเองคือ พระองค์นี้ท่านมิรับของถวายใดๆ เลย แล้วยังกล่าวกับคนที่มาถวายด้วยน้ำเสียงเปี่ยมเมตตาว่า "ที่วัดมีแล้ว ไม่เอาหรอก"
ผลคือท่านมิรับสิ่งใดเลยครับ ท่านเข้ามาท่านก็นั่งสนทนากับพระที่เข้ามากราบท่าน สนทนากับญาติโยมบริเวณนั้นอย่างเป็นกันเอง และภาพที่ทุกคนในบริเวณนั้น รวมถึงแอดมินที่ได้นั่งอยู่เงียบๆ ใกล้ๆ ท่านได้เห็น ก็คือใบหน้าของพระองค์นี้จะยิ้มแย้มตลอด เคร่งครัดหากแต่เมตตา
และพระองค์ที่แอดมินกล่าวถึงนั้นแล คือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”
[สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล: แฟนเพจ “ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน”, fb.com/buddhistarhat, fb.com/luangtatang และ www.dhammajak.net
จาก http://astv.mobi/A5kglDs