เราต้องทำความรู้อยู่เฉพาะในปัจจุบันอย่างเดียว
ทำความรู้เท่าทันในอารมณ์ที่เกิดดับ
ปล่อยวางทั้งดีและชั่ว ไม่ยึดถือ
จิตที่เพ่งเฉพาะอยู่แต่ในอารมณ์อันเดียวนี้
จะเกิดเป็นสมาธิจนเป็นญาณจักขุขึ้น
มีหูทิพย์ ตาทิพย์ มองเห็นเหตุการณ์
อดีต อนาคตทั้งใกล้และไกล
มีบุพเพนิวาสญาณ รู้กรรมในอดีตชาติ
รู้การเกิดการตายการมาการไป
ของตัวเองและบุคคลอื่น สัตว์อื่น
ว่าเกิดมาแต่กรรมดีกรรมชั่วอย่างใด
เป็นเหตุให้เราเกิดความสลดสังเวช
เบื่อหน่ายในชาติภพและตัดกรรม
ที่จะไม่ให้เราคิดกระทำความชั่วได้อีก
"ความเบื่อหน่าย" อันนี้เป็นของมีคุณ
ไม่ใช่ของมีโทษเหมือน "เบื่อเมา"
"เบื่อเมา" นั้นมีลักษณะ
เหมือนกับคนที่กินข้าวอิ่มแล้ววันนี้
ก็รู้สึกเบื่อไม่อยากกินอีก
แต่พอวันรุ่งขึ้นก็หายเบื่อและกลับกินอีกได้
ส่วนการ "เบื่อหน่าย" นั้น
เป็นการเบื่อที่เราจะไม่กลับยินดีทำในสิ่งนั้นอีก
เช่น เราเห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นทุกข์
เราก็ไม่อยากทำปัจจัยที่จะทำให้เรา
ต้องกลับมาเกิด แก่ เจ็บ ตายอีก..ดังนี้เป็นต้น
..
..
ต้องทำ "จิตตวิเวก" ให้ห่างจาก "นิวรณ์ธรรม" จึงเป็นประโยชน์แก่ตัว
จิตตวิเวก คือ ปฐมฌาน (เอกัคคตา)
จิตเที่ยวอยู่ในขอบเขตบ้าน ไม่หนีจากปัจจุบัน ไม่เที่ยวไปในอดีต
ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ได้แก่ ลมหายใจ "วิตก" คือ สังเกตตัวลม
"วิจาร" คือ รู้ลมเข้าออกสั้นยาว รู้จักเข้าใจ ขยับขยาย รู้ลักษณะของลม
"ปีติ" คือ ความอิ่มกาย อิ่มใจ ระงับเวทนาของกาย เป็น "สุข"
ปัจจุบันของรูปเป็นเอกัคคตา คือ "กายสังขาร" (ลมหายใจ)
ปัจจุบันของนาม คือ ตัว "สติ"
หายใจเข้าเป็น "ประการธรรม" หายใจออกเป็น "นามสกุล" เป็น "อุปการธรรม"
จิตเป็น "ชื่อ" สติเป็น "นามสกุล"
ความรู้ความคิดเห็นต่างๆ เป็น "คนใช้" ของเรา อย่าไปยึดถือมัน
กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก ไม่ยึดทั้งเหตุทั้งผล
ปล่อยไปตามสภาพของความเป็นเอง
..
..
วิถีของจิตใจนั้น มันไม่มีเรื่องอะไรหรอก แต่มันชอบออกไปหาเรื่อง
กายกำเริบ คือ ปวดเมื่อย
ใจกำเริบ คือ ฟุ้งซ่าน
๑) อวิชชาวิสมโลภะ คือ ใจที่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์
อดีต อนาคต ยกจิตไปไว้ในอารมณ์อื่น
๒) พยาปาทะ, ใจก็ไม่ชอบ หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน
๓) มิจฉาทิฏฐิ, ไปก็ไม่รู้มาก็ไม่รู้ มาว่าไป ไปว่ามา
ลมออกว่าเข้า ลมเข้าว่าออก จิตเผลอเป็นคนไม่รู้เรื่องรู้ราว
๓ อย่างนี้ เป็น "มโนทุจริต" ทั้งสิ้น
จิตของเราเหมือนอาหารที่อยู่ในชาม
สติเสมือนฝาชาม ถ้าเราขาดสติเท่ากับเปิดฝาชามไว้
แมลงวัน (กิเลส) ย่อมจะบินมาเกาะ
เมื่อเกาะแล้วมันก็กินอาหาร แล้วก็ขี้ใส่บ้าง นำเชื้อโรคมาใส่ให้บ้าง
ทำให้อาหารนั้นเป็นเป็นโทษ เป็นพิษ
เมื่อเราบริโภคอาหารที่เป็นพิษเราก็ย่อมได้รับทุกข์ประสบอันตราย
ฉะนั้นเราจะต้องคอยระวังปิดฝาชามไว้เสมอ
อย่าให้แมลงวันมาเกาะได้
จิตของเราก็จะบริสุทธิ์สะอาด เกิดปัญญาเป็นวิชชา ความรู้
พระอาจารย์ลี ธัมมธโร
วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
F/B ธรรมะคำสอนครูบาอาจารย์/Dhamma Articles