ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กันยายน 05, 2017, 01:51:36 pm »ความคิดเห็นที่ 8 เมื่อ 19 ม.ค. 13, 12:07
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเว็บไซต์เรือนไทยที่เคารพทุกท่านครับ
ในที่สุด คุณน้าผู้รักหลาน (เช่นเดียวกับที่หลานรักน้า) ก็บอกผมจดนิทานเรื่อง “ญ่า” ของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นอักษรเบรลล์จบบริบูรณ์แล้วครับ ผมพิมพ์เสร็จเมื่อเช้าวันนี้เอง ขออนุญาตนำมาลงในกระทู้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาสืบไปครับ
เรื่อง “ญ่า” มีองค์ประกอบต่างๆ เช่นภาษาเป็นอาทิ เข้าลักษณะ “แกะสลักลายซ้อนลาย” วิจิตรบรรจงยิ่ง
ผมอ่านแล้ว เกิดอารมณ์หลายๆลักษณะปะปนกันระหว่างบันทัดครับ น่ารักสำหรับบรรดาพืชพันธุ์ในไร่ยามเจรจากับ ญ่า ปลาบปลื้มปิติเวลาย่าดีใจ สงสารตอนญ่าล้มเจ็บหนัก ท้ายสุด เศร้าสะเทือนจิต คราญ่าดับสูญลมหายใจ
น่าสังเกตว่า ท่านอังคารฯ ใช้คำซ้อน ตลอดจนวลีที่เป็นสำนวนเยอะมาก เช่น
“สีหมอกดอกเลา” “ไร้ญาติขาดมิตร” “เก็บผักหักฟืน” “ออดๆแอดๆ” “อดมื้อกินมื้อ” “สนทนาปราศรัย” “พิศวงงงงวย” “เข้าไต้เข้าไฟ” ฯลฯ
เอาแค่การเลือกสรรถ้อย คนอ่านอย่างผมก็ตื่นเต้นแล้วครับ ขอเชิญทุกๆท่าน ท่องโลกจินตนาการไปกับ “ญ่า” บทนิพนธ์ล้ำค่าของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ได้ ณ บัดนี้ครับผม
ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ
ญ่า
ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ นิพนธ์
,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,
สายัณห์หนึ่งในวสันตฤดู ฝนหายพรายเมฆขาวสะอาด สุมทุมพุ่มไม้เขียวฉอุ่มลออสดใส ดวงตะวันยอแสงรุ้งลงกินน้ำ เบื้องหลังภูเขาสูงลมโชยแมกไม้ยูงยางสลัดน้ำฝนลงแพรวพราย เป็นชนบทเปล่าเปลี่ยวห่างไกลจากตัวเมือง
หญิงชราร่างหง่อม อาศัยกระท่อมเก่าๆ กลางไร่ร้าง นางมีผมเหมือนสีหมอกดอกเลา ใบหน้านั้นย่นและแห้งเหี่ยว เว้นแต่แววตายังวาวแต่ก็ราวกะเวลาโพล้เพล้ อายุขัยแปดสิบเศษ หลังนั้นค่อมลงมากแล้ว
นางอยู่ในวัยของ ญ่า ไร้ญาติขาดมิตร เก็บผักหักฟืนขายเลี้ยงชีพมาช้านาน เวลานี้ร่างกายผ่ายผอมลง และเจ็บป่วยออดๆแอดๆ อดมื้อกินมื้อ อยู่มาวันหนึ่งเพิ่งหายไข้ อยากจะกินข้าวกะแกงเลียงยอดผักหญ้า จึงออกจากกระท่อมเที่ยวเก็บผัก เห็นยอดตำลึงไหวๆฉะอ้อนกระแสลม พอจะเอื้อมเด็ด
เถาตำลึงหนึ่งร้องว่า
ญ่าเก็บฉันก่อนเถอะ เถานั้นเป็นน้องสาว รอไว้พรุ่งนี้ บางทีเธออาจจะมีเรื่องสนทนาปราศรัยกะญ่าบ้างก็ได้ นางให้พิศวงงงงวยเป็นที่สุด แต่ก็แข็งใจตอบไปว่า แน่แท้หรอกเจ้า ฝูงคนทั้งแผ่นดินนั้นมีพรุ่งนี้ แต่เฉพาะญ่าแล้ว วันนี้เป็นวันสุดท้ายเสมอ ไม่แน่นอนนักพอไก่ขันล่วงสามยามปลายญ่าอาจจะสิ้นลมก็ได้ เกือบตายมาหลายหนแล้ว วันนี้จึงอยากจะขอกินแกงเลียงให้ชื่นใจสักหน่อยเถอะ
ยอดกระถินถามนางบ้างว่า ญ่ามีข้าวสารหรือเปล่า เออ พอมีบ้างซื้อไว้สี่ห้าทะนานหลายวันแล้ว เหลืออยู่สักทะนานกว่าๆแต่ข้าวเป็นมอดต้องเก็บมอดทิ้ง กะว่าจะได้หุงก็ตอนเข้าไต้เข้าไฟโพล้เพล้นี่แหละ
พอหญิงชราพูดขาดคำ มะละกอสุกงอมเหลืองอร่าม ร้องบอกเสียงสั่นเครือว่า ญ่าเอาผลอันสุกงอมของฉันไปกินก่อนเถอะ นางยังไม่วายพิศวง กล่าวขอบอกขอบใจในพืชพันธุ์เหล่านั้นเป็นล้นพ้น
มะละกอบอกซ้ำว่า ญ่าเอาผลของฉันไปกินก่อนเถอะ แรงโอสถบางอย่างจะล้างลำไส้ของญ่าให้สะอาด แล้วให้ญ่าทำใจให้สบาย ลืมวิตกกังวลจนสิ้นเชิง รื่นอารมณ์ชมชื่นในแสงรุ้งตะวันทั้งเจ็ดสี ตื่นแต่เช้าหายใจอากาศสดบริสุทธิ์ ไว้ต้อนรับอุษาเทพเจ้า อ่อนไท้จะประทานประกายปีติทิพย์มาให้ญ่า จะยืดอายุขัยออกไปอีก ญ่าจะมีวันพรุ่งนี้สืบเนื่องไปตามแรงปรารถนาของหัวใจ
นางถามว่า ทำไม ต้นไม้จึงพูดได้เล่า วันก่อนๆก็เห็นนิ่งเป็นใบ้อยู่ทั้งสิ้นหรือชะรอยเจ้าจะมีน้ำใจ ซ่อนเร้นอยู่อย่างลี้ลับลึกซึ้งดูเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีเมตตาธรรมกว้างขวางหนักหนา ทำให้ญ่าดีอกดีใจจนเกิดปีติเป็นแรงทิพย์มีกำลังวังชาสดชื่นขึ้น
บัดดลนั้น พฤกษชาติในไร่เปรยๆ ประสานเสียงขึ้นพร้อมกันว่า ถึงแม้เราจะอยู่ร่วมโลกกับมนุษย์ แต่อุปนิสัยใจคออันคับแคบตระหนี่ถี่เหนียวของมนุษย์มิได้มีอิทธิพลเหนือเราเลย เราไม่เอาอย่างจริต มารยาสาไถย ของมนุษย์เป็นอันขาด เว้นจากญ่าแล้วเราก็มิได้พูดด้วย เราเห็นญ่าถูกทอดทิ้ง ขาดน้ำใจจากสังคมมนุษย์ จึงสุดที่จะสมเพชเวทนาอดวาจาไว้มิได้
ที่จริง เทพเจ้า ก็ได้ประทานดวงวิญญาณแก่สรรพสิ่งทั้งหลาย แต่เรารักจะเป็นใบ้ ถึงจะมีภาษาก็เสมือนหามีไม่ ซึ่งบางครั้งเราก็สนทนากันบ้าง แต่ภาษานั้น ลี้ลับลึกซึ้งจนเกินหูสามัญมนุษย์จะล่วงรู้ถึง ครั้งแรกเราหลงว่าญ่าจะสิ้นลมในคืนนี้ แต่โชคดีเหลือเกินที่รู้ว่า ญ่าเกิดแรงยินดีมีปีติเป็นทิพย์เท่ากับยาอายุวัฒนะ ทำให้ญ่ายืดอายุขัยออกไปอีกนานทีเดียว นางนิ่งฟังวังเวงใจ ทันใดยอดผักบุ้งในสระหลังกระท่อมพูดขึ้นบ้างว่า
ญ่าจ๋าฉันจะแตกยอดให้ญ่าเก็บไปขายที่ตลาดทุกๆวัน ภายหน้าผู้คนจะมากมายขึ้น ฉันจะมีราคาแพงขึ้นบ้างละ แล้วญ่าช่วยตีฆ้องร้องป่าวไปด้วยว่า ผักบุ้งเป็นโอสถวิเศษ กินแล้วช่วยให้สายตาดีขึ้นมากด้วย
หญิงชราตื้นตันใจ จนน้ำตาพร่าพรายลงอาบแก้ม ก้มกราบกับแผ่นดิน ขอบใจในบุญคุณพระแม่ธรณี และผักหญ้าพฤกษชาติเป็นล้นพ้น แล้วออกปากว่า ญ่าให้รู้สึกเกรงอกเกรงใจเต็มที
เวลาเก็บเจ้าไปขายนั้นนะ เจ้าไม่เจ็บปวดบ้างเลยหรือ ยอดผักบุ้งไหวๆหัวเราะแล้วตอบว่า เทพเจ้าเท่านั้นที่มีน้ำพระทัยประเสริฐเลิศล้ำ ญ่าคิดหรือว่า ถ้าพระสร้างประสาทมาในผักหญ้านานาพันธุ์ไม้ไว้รู้สึก แผ่นดินนี้จะระงมไปด้วยเสียงคร่ำครวญ บาดเจ็บ สาหัส จากผลการกระทำของมนุษย์ทุกคืนวัน ที่ฉันพูดได้ รู้สึกระลึกได้ เหตุด้วยแรงจากดวงวิญญาณอันน่ามหัศจรรย์
โชคดีมาก ต้นไม้ทั้งหลายไม่มีประสาทไว้รู้สึกเจ็บปวด ถ้าสู้ความทุกข์ระทมขมขื่นไม่ได้ก็ตายไปเลย ขอให้ญ่าเก็บฉันไปขายเถอะ ฉันยินดีจะงอกงามขึ้นใหม่เสมอ
หลังจากวันนั้น ผักบุ้งในสระก็ทอดยอดงดงาม หญิงชราเก็บไปขายที่ตลาดพอได้เงินซื้อข้าวซื้อกับกิน ครองชีวิตในกระท่อมเก่าๆจากบางตับผุขาดจนเห็นแสงดาวระยับย้อยมาตามช่องโหว่นั้น ดาวไถก็คล้อยฟ้าไปแล้ว กบเขียดร้องเสียงใสเป็นเวลาดึกสงัด
ขณะนี้หญิงชราล้มเจ็บป่วยเป็นมาเลเรียมาหลายวันแล้วพิษไข้ขึ้นสูง ให้หูอื้อ ตาลาย ละเมอ
เพ้อเจ้อ อากาศแปรปรวน อบอ้าว เมฆสีหม่นหมองมาบดบังจันทร์ กระแสลมเริ่มพัดจนรุนแรงจัดขึ้นเป็นวายุกล้า หวั่นไหวไกวเมือง หมู่ไม้เสมือนชิงช้ากลางสายฝน สายฟ้าแลบแปลบปลาบ แล้วฟาดเปรี้ยงสนั่นลั่นโลก หญิงชราตกใจสลบไปร่างกายเปียกโชกด้วยน้ำฝน ล่วงไปหลายนาฬิกาฝนก็ซาหาย ฟ้าจวนสางแสงเงินแสงทอง เสียงโประดก นกหกร้องร่าเริงอยู่แจ้วๆ
นางฟื้นขึ้นแล้ว พิษไข้กลับย้อนซ้ำอีก อนิจจา ละเมอเพ้อสิ้นสติ หลงใหลลงเก็บผักบุ้ง ยอดผักบุ้งร้องบอกว่า ญ่าอย่าลงมาๆมีงูร้ายอยู่ริมสระ มันกำลังร่านคู่ประสมพันธุ์กัน แต่นางไม่ได้ยินเสียงอันหวังดีนั้น ดุ่มเดินลงไป
บังเอิญ ถึงคราวเคราะห์ร้ายเหยียบปลายหางงูเห่าฉกรรจ์งูตกใจฉกกัดเอาเต็มที่ ฝังสองเขี้ยวพิษไว้เต็มแรง นางรู้สึกเสียวปลาบที่หลังเท้า ก็เอามือลูบคลำ งูกัดซ้ำเข้าที่มือจึงรู้สึกตัวว่าถูกงูกัด ก็พลันตกใจสิ้นสติ เป็นลมล้มลงขอบสระนั้น มินานนักฤทธิ์อันร้ายแรงของอสรพิษก็ทวนกระแสโลหิตในวัยชราอันมีกำลังต้านทานน้อยเหลือเกินเร่งฝ่ากระแสโลหิตเข้าสู่ห้องหัวใจ ดับแรงเต้นของชีพจรให้วอดวายลง หญิงชราก็สิ้นลม แต่ตานั้นลืมโพลงราวจะเป็นห่วงถึงผักหญ้าพฤกษาลดามาลย์ เสมือนมิตรสหายอันยากจะหาใครมาเทียบเทียมได้ เสี้ยวจันทร์เจ้าข้างแรมทอแสงหรุบหรู่ ลับทิวไม้ไปแล้ว ฟ้าสาง สายฝนก็หายนานอากาศสงบยะเยือกเย็นลง จนวิเวกวังเวง น้ำค้างเผาะๆบนใบไม้เหลือแต่ดาวดวงหนึ่งระยับระย้าอยู่ในห้วงสวรรค์อันบริสุทธิ์
ถ้าแม้ใครมีหูทิพย์ ก็จะได้ยินเสียงสะอึกสะอื้นจากพฤกษาลดามาลย์ในไร่นั้น ยอดผักบุ้ง มะละกอ กระถิน และเถาตำลึงก็ครวญคร่ำร่ำไห้
ดอกไม้เล็กๆ เสียงสั่นว่า พี่พฤกษชาติทั้งหลายเอย ฉันเสียใจหมายมั่นไว้ว่าจะบานแย้ม ดอกสีม่วงใสในเช้านี้ ถ้าญ่าได้เห็นสีอันสวยสดงดงาม จะทำให้บรรเทาความเจ็บป่วยลงบ้าง น่าเสียดายเหลือเกิน ตำลึงว่าดูเถอะนั่น ฝูงมดคันไฟกำลังรุมแทะกินลูกตาดำๆของญ่า มันรุมกินกันเป็นกลุ่มๆจนเป็นก้อน ไม่กี่วันอสุภซากนั้นจะเน่าพอง แร้งกาจะมาจิกกิน กระดูกจะเรี่ยรายกลิ้งกระจายกลางทรายดิน นึกน่าสมเพชเวทนานักหนาแล้ว
ขาดคำรำพึงรำพัน เถาตำลึงก็ซ้ำร่ำไห้ สะอึกสะอื้นจนเกิดน้ำตาขึ้นกลางเกษรของดอกสีขาวนวลละออง น้ำนั้นละลายปนกับน้ำค้าง หยดหยาดระรินลงราวกับกระแสทุกข์โศกาดูร หลั่งไหลไว้อาลัย
หญิงชราผู้ลาโลก จากลับแล้วชั่วนิจนิรันดร
หมายเหตุ
ข้อความทั้งหมด คัดลอกจากหนังสือ “กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์”
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ “กินรินทร์” เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๘ ตัวสะกดของคำบางคำซึ่งอาจผิดแผกจากในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ผมพิมพ์ตามหนังสือดังกล่าว มิได้ปรับแปรแก้ไข ด้วยเข้าใจในหลัก
“กวียานุโลม” ของท่านมหาจินตกวีผู้รจนาครับ
..
..
อังคาร กัลยาณพงศ์อธิบายเหตุผลที่เลือกใช้คำว่า "ญ่า" ไว้ใน โคลงบทหนึ่ง
>>เพ็ญชมพู
:www.reurnthai.com
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเว็บไซต์เรือนไทยที่เคารพทุกท่านครับ
ในที่สุด คุณน้าผู้รักหลาน (เช่นเดียวกับที่หลานรักน้า) ก็บอกผมจดนิทานเรื่อง “ญ่า” ของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นอักษรเบรลล์จบบริบูรณ์แล้วครับ ผมพิมพ์เสร็จเมื่อเช้าวันนี้เอง ขออนุญาตนำมาลงในกระทู้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาสืบไปครับ
เรื่อง “ญ่า” มีองค์ประกอบต่างๆ เช่นภาษาเป็นอาทิ เข้าลักษณะ “แกะสลักลายซ้อนลาย” วิจิตรบรรจงยิ่ง
ผมอ่านแล้ว เกิดอารมณ์หลายๆลักษณะปะปนกันระหว่างบันทัดครับ น่ารักสำหรับบรรดาพืชพันธุ์ในไร่ยามเจรจากับ ญ่า ปลาบปลื้มปิติเวลาย่าดีใจ สงสารตอนญ่าล้มเจ็บหนัก ท้ายสุด เศร้าสะเทือนจิต คราญ่าดับสูญลมหายใจ
น่าสังเกตว่า ท่านอังคารฯ ใช้คำซ้อน ตลอดจนวลีที่เป็นสำนวนเยอะมาก เช่น
“สีหมอกดอกเลา” “ไร้ญาติขาดมิตร” “เก็บผักหักฟืน” “ออดๆแอดๆ” “อดมื้อกินมื้อ” “สนทนาปราศรัย” “พิศวงงงงวย” “เข้าไต้เข้าไฟ” ฯลฯ
เอาแค่การเลือกสรรถ้อย คนอ่านอย่างผมก็ตื่นเต้นแล้วครับ ขอเชิญทุกๆท่าน ท่องโลกจินตนาการไปกับ “ญ่า” บทนิพนธ์ล้ำค่าของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ได้ ณ บัดนี้ครับผม
ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ
ญ่า
ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ นิพนธ์
,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,
สายัณห์หนึ่งในวสันตฤดู ฝนหายพรายเมฆขาวสะอาด สุมทุมพุ่มไม้เขียวฉอุ่มลออสดใส ดวงตะวันยอแสงรุ้งลงกินน้ำ เบื้องหลังภูเขาสูงลมโชยแมกไม้ยูงยางสลัดน้ำฝนลงแพรวพราย เป็นชนบทเปล่าเปลี่ยวห่างไกลจากตัวเมือง
หญิงชราร่างหง่อม อาศัยกระท่อมเก่าๆ กลางไร่ร้าง นางมีผมเหมือนสีหมอกดอกเลา ใบหน้านั้นย่นและแห้งเหี่ยว เว้นแต่แววตายังวาวแต่ก็ราวกะเวลาโพล้เพล้ อายุขัยแปดสิบเศษ หลังนั้นค่อมลงมากแล้ว
นางอยู่ในวัยของ ญ่า ไร้ญาติขาดมิตร เก็บผักหักฟืนขายเลี้ยงชีพมาช้านาน เวลานี้ร่างกายผ่ายผอมลง และเจ็บป่วยออดๆแอดๆ อดมื้อกินมื้อ อยู่มาวันหนึ่งเพิ่งหายไข้ อยากจะกินข้าวกะแกงเลียงยอดผักหญ้า จึงออกจากกระท่อมเที่ยวเก็บผัก เห็นยอดตำลึงไหวๆฉะอ้อนกระแสลม พอจะเอื้อมเด็ด
เถาตำลึงหนึ่งร้องว่า
ญ่าเก็บฉันก่อนเถอะ เถานั้นเป็นน้องสาว รอไว้พรุ่งนี้ บางทีเธออาจจะมีเรื่องสนทนาปราศรัยกะญ่าบ้างก็ได้ นางให้พิศวงงงงวยเป็นที่สุด แต่ก็แข็งใจตอบไปว่า แน่แท้หรอกเจ้า ฝูงคนทั้งแผ่นดินนั้นมีพรุ่งนี้ แต่เฉพาะญ่าแล้ว วันนี้เป็นวันสุดท้ายเสมอ ไม่แน่นอนนักพอไก่ขันล่วงสามยามปลายญ่าอาจจะสิ้นลมก็ได้ เกือบตายมาหลายหนแล้ว วันนี้จึงอยากจะขอกินแกงเลียงให้ชื่นใจสักหน่อยเถอะ
ยอดกระถินถามนางบ้างว่า ญ่ามีข้าวสารหรือเปล่า เออ พอมีบ้างซื้อไว้สี่ห้าทะนานหลายวันแล้ว เหลืออยู่สักทะนานกว่าๆแต่ข้าวเป็นมอดต้องเก็บมอดทิ้ง กะว่าจะได้หุงก็ตอนเข้าไต้เข้าไฟโพล้เพล้นี่แหละ
พอหญิงชราพูดขาดคำ มะละกอสุกงอมเหลืองอร่าม ร้องบอกเสียงสั่นเครือว่า ญ่าเอาผลอันสุกงอมของฉันไปกินก่อนเถอะ นางยังไม่วายพิศวง กล่าวขอบอกขอบใจในพืชพันธุ์เหล่านั้นเป็นล้นพ้น
มะละกอบอกซ้ำว่า ญ่าเอาผลของฉันไปกินก่อนเถอะ แรงโอสถบางอย่างจะล้างลำไส้ของญ่าให้สะอาด แล้วให้ญ่าทำใจให้สบาย ลืมวิตกกังวลจนสิ้นเชิง รื่นอารมณ์ชมชื่นในแสงรุ้งตะวันทั้งเจ็ดสี ตื่นแต่เช้าหายใจอากาศสดบริสุทธิ์ ไว้ต้อนรับอุษาเทพเจ้า อ่อนไท้จะประทานประกายปีติทิพย์มาให้ญ่า จะยืดอายุขัยออกไปอีก ญ่าจะมีวันพรุ่งนี้สืบเนื่องไปตามแรงปรารถนาของหัวใจ
นางถามว่า ทำไม ต้นไม้จึงพูดได้เล่า วันก่อนๆก็เห็นนิ่งเป็นใบ้อยู่ทั้งสิ้นหรือชะรอยเจ้าจะมีน้ำใจ ซ่อนเร้นอยู่อย่างลี้ลับลึกซึ้งดูเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีเมตตาธรรมกว้างขวางหนักหนา ทำให้ญ่าดีอกดีใจจนเกิดปีติเป็นแรงทิพย์มีกำลังวังชาสดชื่นขึ้น
บัดดลนั้น พฤกษชาติในไร่เปรยๆ ประสานเสียงขึ้นพร้อมกันว่า ถึงแม้เราจะอยู่ร่วมโลกกับมนุษย์ แต่อุปนิสัยใจคออันคับแคบตระหนี่ถี่เหนียวของมนุษย์มิได้มีอิทธิพลเหนือเราเลย เราไม่เอาอย่างจริต มารยาสาไถย ของมนุษย์เป็นอันขาด เว้นจากญ่าแล้วเราก็มิได้พูดด้วย เราเห็นญ่าถูกทอดทิ้ง ขาดน้ำใจจากสังคมมนุษย์ จึงสุดที่จะสมเพชเวทนาอดวาจาไว้มิได้
ที่จริง เทพเจ้า ก็ได้ประทานดวงวิญญาณแก่สรรพสิ่งทั้งหลาย แต่เรารักจะเป็นใบ้ ถึงจะมีภาษาก็เสมือนหามีไม่ ซึ่งบางครั้งเราก็สนทนากันบ้าง แต่ภาษานั้น ลี้ลับลึกซึ้งจนเกินหูสามัญมนุษย์จะล่วงรู้ถึง ครั้งแรกเราหลงว่าญ่าจะสิ้นลมในคืนนี้ แต่โชคดีเหลือเกินที่รู้ว่า ญ่าเกิดแรงยินดีมีปีติเป็นทิพย์เท่ากับยาอายุวัฒนะ ทำให้ญ่ายืดอายุขัยออกไปอีกนานทีเดียว นางนิ่งฟังวังเวงใจ ทันใดยอดผักบุ้งในสระหลังกระท่อมพูดขึ้นบ้างว่า
ญ่าจ๋าฉันจะแตกยอดให้ญ่าเก็บไปขายที่ตลาดทุกๆวัน ภายหน้าผู้คนจะมากมายขึ้น ฉันจะมีราคาแพงขึ้นบ้างละ แล้วญ่าช่วยตีฆ้องร้องป่าวไปด้วยว่า ผักบุ้งเป็นโอสถวิเศษ กินแล้วช่วยให้สายตาดีขึ้นมากด้วย
หญิงชราตื้นตันใจ จนน้ำตาพร่าพรายลงอาบแก้ม ก้มกราบกับแผ่นดิน ขอบใจในบุญคุณพระแม่ธรณี และผักหญ้าพฤกษชาติเป็นล้นพ้น แล้วออกปากว่า ญ่าให้รู้สึกเกรงอกเกรงใจเต็มที
เวลาเก็บเจ้าไปขายนั้นนะ เจ้าไม่เจ็บปวดบ้างเลยหรือ ยอดผักบุ้งไหวๆหัวเราะแล้วตอบว่า เทพเจ้าเท่านั้นที่มีน้ำพระทัยประเสริฐเลิศล้ำ ญ่าคิดหรือว่า ถ้าพระสร้างประสาทมาในผักหญ้านานาพันธุ์ไม้ไว้รู้สึก แผ่นดินนี้จะระงมไปด้วยเสียงคร่ำครวญ บาดเจ็บ สาหัส จากผลการกระทำของมนุษย์ทุกคืนวัน ที่ฉันพูดได้ รู้สึกระลึกได้ เหตุด้วยแรงจากดวงวิญญาณอันน่ามหัศจรรย์
โชคดีมาก ต้นไม้ทั้งหลายไม่มีประสาทไว้รู้สึกเจ็บปวด ถ้าสู้ความทุกข์ระทมขมขื่นไม่ได้ก็ตายไปเลย ขอให้ญ่าเก็บฉันไปขายเถอะ ฉันยินดีจะงอกงามขึ้นใหม่เสมอ
หลังจากวันนั้น ผักบุ้งในสระก็ทอดยอดงดงาม หญิงชราเก็บไปขายที่ตลาดพอได้เงินซื้อข้าวซื้อกับกิน ครองชีวิตในกระท่อมเก่าๆจากบางตับผุขาดจนเห็นแสงดาวระยับย้อยมาตามช่องโหว่นั้น ดาวไถก็คล้อยฟ้าไปแล้ว กบเขียดร้องเสียงใสเป็นเวลาดึกสงัด
ขณะนี้หญิงชราล้มเจ็บป่วยเป็นมาเลเรียมาหลายวันแล้วพิษไข้ขึ้นสูง ให้หูอื้อ ตาลาย ละเมอ
เพ้อเจ้อ อากาศแปรปรวน อบอ้าว เมฆสีหม่นหมองมาบดบังจันทร์ กระแสลมเริ่มพัดจนรุนแรงจัดขึ้นเป็นวายุกล้า หวั่นไหวไกวเมือง หมู่ไม้เสมือนชิงช้ากลางสายฝน สายฟ้าแลบแปลบปลาบ แล้วฟาดเปรี้ยงสนั่นลั่นโลก หญิงชราตกใจสลบไปร่างกายเปียกโชกด้วยน้ำฝน ล่วงไปหลายนาฬิกาฝนก็ซาหาย ฟ้าจวนสางแสงเงินแสงทอง เสียงโประดก นกหกร้องร่าเริงอยู่แจ้วๆ
นางฟื้นขึ้นแล้ว พิษไข้กลับย้อนซ้ำอีก อนิจจา ละเมอเพ้อสิ้นสติ หลงใหลลงเก็บผักบุ้ง ยอดผักบุ้งร้องบอกว่า ญ่าอย่าลงมาๆมีงูร้ายอยู่ริมสระ มันกำลังร่านคู่ประสมพันธุ์กัน แต่นางไม่ได้ยินเสียงอันหวังดีนั้น ดุ่มเดินลงไป
บังเอิญ ถึงคราวเคราะห์ร้ายเหยียบปลายหางงูเห่าฉกรรจ์งูตกใจฉกกัดเอาเต็มที่ ฝังสองเขี้ยวพิษไว้เต็มแรง นางรู้สึกเสียวปลาบที่หลังเท้า ก็เอามือลูบคลำ งูกัดซ้ำเข้าที่มือจึงรู้สึกตัวว่าถูกงูกัด ก็พลันตกใจสิ้นสติ เป็นลมล้มลงขอบสระนั้น มินานนักฤทธิ์อันร้ายแรงของอสรพิษก็ทวนกระแสโลหิตในวัยชราอันมีกำลังต้านทานน้อยเหลือเกินเร่งฝ่ากระแสโลหิตเข้าสู่ห้องหัวใจ ดับแรงเต้นของชีพจรให้วอดวายลง หญิงชราก็สิ้นลม แต่ตานั้นลืมโพลงราวจะเป็นห่วงถึงผักหญ้าพฤกษาลดามาลย์ เสมือนมิตรสหายอันยากจะหาใครมาเทียบเทียมได้ เสี้ยวจันทร์เจ้าข้างแรมทอแสงหรุบหรู่ ลับทิวไม้ไปแล้ว ฟ้าสาง สายฝนก็หายนานอากาศสงบยะเยือกเย็นลง จนวิเวกวังเวง น้ำค้างเผาะๆบนใบไม้เหลือแต่ดาวดวงหนึ่งระยับระย้าอยู่ในห้วงสวรรค์อันบริสุทธิ์
ถ้าแม้ใครมีหูทิพย์ ก็จะได้ยินเสียงสะอึกสะอื้นจากพฤกษาลดามาลย์ในไร่นั้น ยอดผักบุ้ง มะละกอ กระถิน และเถาตำลึงก็ครวญคร่ำร่ำไห้
ดอกไม้เล็กๆ เสียงสั่นว่า พี่พฤกษชาติทั้งหลายเอย ฉันเสียใจหมายมั่นไว้ว่าจะบานแย้ม ดอกสีม่วงใสในเช้านี้ ถ้าญ่าได้เห็นสีอันสวยสดงดงาม จะทำให้บรรเทาความเจ็บป่วยลงบ้าง น่าเสียดายเหลือเกิน ตำลึงว่าดูเถอะนั่น ฝูงมดคันไฟกำลังรุมแทะกินลูกตาดำๆของญ่า มันรุมกินกันเป็นกลุ่มๆจนเป็นก้อน ไม่กี่วันอสุภซากนั้นจะเน่าพอง แร้งกาจะมาจิกกิน กระดูกจะเรี่ยรายกลิ้งกระจายกลางทรายดิน นึกน่าสมเพชเวทนานักหนาแล้ว
ขาดคำรำพึงรำพัน เถาตำลึงก็ซ้ำร่ำไห้ สะอึกสะอื้นจนเกิดน้ำตาขึ้นกลางเกษรของดอกสีขาวนวลละออง น้ำนั้นละลายปนกับน้ำค้าง หยดหยาดระรินลงราวกับกระแสทุกข์โศกาดูร หลั่งไหลไว้อาลัย
หญิงชราผู้ลาโลก จากลับแล้วชั่วนิจนิรันดร
หมายเหตุ
ข้อความทั้งหมด คัดลอกจากหนังสือ “กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์”
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ “กินรินทร์” เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๘ ตัวสะกดของคำบางคำซึ่งอาจผิดแผกจากในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ผมพิมพ์ตามหนังสือดังกล่าว มิได้ปรับแปรแก้ไข ด้วยเข้าใจในหลัก
“กวียานุโลม” ของท่านมหาจินตกวีผู้รจนาครับ
..
..
อังคาร กัลยาณพงศ์อธิบายเหตุผลที่เลือกใช้คำว่า "ญ่า" ไว้ใน โคลงบทหนึ่ง
>>เพ็ญชมพู
:www.reurnthai.com