ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: ธันวาคม 08, 2017, 08:32:01 pm »การแพร่เข้าไปของพระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันเป็นไปอย่างกว้างขวาง แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่แยกระบบการปกครอง(รัฐ)ออกจากศาสนา(secular state) หรือ ศาสนาไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลโดยรัฐ หากการนับถือศาสนาเป็นไปตามความนิยมเชิงปัจเจก ตามแบบอย่างจารีตอเมริกัน ซึ่งเน้นเสรีภาพในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อเมริกันเป็นที่ตั้ง โดยที่การปกครองไม่อิงหรือผูกพันกับการนับถือศาสนาใดๆ
ภายใต้ระบบการเปิดเสรีอเมริกันดังกล่าว ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างมากมายของกิจกรรมเชิงลัทธิหรือศาสนาต่างๆใน สหรัฐฯ ซึ่งนอกเหนือไปจากพลเมืองอเมริกันแล้ว ในช่วงที่ผ่านมายังมีนักการเมืองอเมริกันที่อ้างตนเองอย่างเป็นทางการว่า นับถือศาสนาพุทธรวมอยู่ในนั้นด้วย ได้แก่ สมาชิกวุฒิสมาชิก(สว.)หญิง Mazie Keiko Hirono แห่งรัฐฮาวายที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ,สมาชิกสภาคองเกรส(สส.) Hank Johnson แห่งรัฐจอร์เจีย และสส.หญิง Colleen Hanabusa แห่งรัฐฮาวาย ทั้งหมดสังกัดพรรคเดโมแครต พรรคเดียวกับนายบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ
ขณะที่ก่อนหน้านี้นักการเมืองอเมริกันหลายคนได้พบกับผู้นำชาวพุทธ ได้แก่ ทะไลลามะ ที่เดินทางไปสหรัฐฯบ่อยครั้ง และพบกับผู้นำทางการเมืองของอเมริกันก่อนหน้านี้ ดังมีนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประธานาธิบดีบารัก โอบามา เป็นต้น นอกเหนือไปจากที่ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของชาวทิเบตยังเคยพบสมาชิกวุฒิสภา(สว.)John McCain อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ,สส.หญิง Nancy Pelosi ผู้นำในสภาล่าง(คองเกรส)ของพรรคเดโมแครตที่ถึงขนาดเดินทางไปหาพระองค์ถึงธรรมศาลา รัฐหิมาจัลประเทศ อินเดีย และในส่วนของสส. John Boehner ผู้นำเสียข้างมากในสภาคองเกรส(Speaker of House) แห่งพรรครีพับลิกัน ก็ได้มีการพบปะกับทะไลลามะมาแล้วเช่นเดียวกัน
ไม่รวมถึงคนมีชื่อเสียงของอเมริกันอีกจำนวนมากที่หันมานับถือพระพุทธศาสนา เช่น Brad Pitt , Angelina Jolie , Jennifer Lopez , Ron Reagan , Keanu Reeves , Richard Gere ,Steve Jobs หรือแม้กระทั่ง Steve Wynn เจ้าของคาสิโนและโรงแรม Wynn แห่งเมืองลาสเวกัสที่หากถือตามหลักการของหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาแล้ว ถือว่าเป็นธุรกิจบาป
แม้แต่คนในครอบครัวของนายโอบามา Maya Soetoro-Ng ซึ่งเกิดที่อินโดนีเซีย และเป็นน้องสาวต่างบิดาของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ก็แสดงตนเองว่ายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาในเชิงการยอมรับในหลักการเชิงปรัชญา(philosophically Buddhist) เช่นเดียวกัน โดยขณะนี้ Soetoro-Ng พำนักอยู่ในรัฐฮาวาย สหรัฐฯ
การหันมาให้ความสนใจและนับถือพระพุทธศาสนาของ Soetoro-Ng เป็นเพราะเธอได้รับอิทธิพลจากความเป็นคนเอเชีย เมื่อวัยเด็กที่เคยอาศัยในอินโดนีเซียและบรรยากาศของชุมชนคนเอเชียในรัฐฮาวาย ซึ่งที่มีคนเชื้อสายญี่ปุ่นที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามทั้งหมดเกี่ยวข้องกับความกับความสนใจของตัวเธอเองด้วย ทั้งนี้หากมองจากฐานของความสนใจในพระพุทธศาสนาของ Soetoro-Ng ซึ่งเป็นน้องสาวของบารักโอบามาที่เธออ้างตอนทำแคมเปญเลือกตั้งช่วยพี่ชายทั้ง 2 ครั้งว่า “โตมาด้วยกันและมีความสัมพันธ์ฉันท์น้องพี่ที่ดีมาตลอด”แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามา น่าจะได้รับอิทธิพลเชิงความรู้และความสนใจด้านพระพุทธศาสนาอยู่ไม่น้อย ซึ่งสามารถเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งต่อการเยี่ยมชมพุทธศาสนสถาน เนื่องในโอกาสเยือนไทยระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2555 โดยที่ตัวของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเองในเวลานั้น ก็ให้ความสนใจพระพุทธศาสนาและศาตร์ตะวันออกอยู่ไม่น้อย ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงบริบทแห่ง“โอกาสอันเหมาะสม”ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและโอกาสในการถ่ายทอดวัฒนธรรมด้านอื่นๆจากฝั่งไทยไปยังฝั่งอเมริกาก็ย่อมมีทางเป็นไปได้มาก
ข้อมูลของ U-T San Diego ระบุว่า เมื่อปี 2555 ชาวอเมริกันที่เป็นชาวพุทธและให้ความสนใจเรื่องการปฏิบัติตามหลักการของศาสนาพุทธ มีประมาณ 1.2 ล้านคน โดยมีสัดส่วนเอเชียน-อเมริกันจำนวนมากกว่าคนเชื้อสายอื่น และในจำนวนนี้ ร้อยละ 40 อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียภาคใต้ ความสนใจในพุทธศาสนานี้ แบ่งออกเป็น ความสนใจทั้งในฝ่ายนิกายมหายานและเถรวาท ซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดีอย่างยิ่งในการเชื่อมโยงโลกทั้ง 2 ซีกเข้าด้วยกัน เพราะยิ่งสังคมอเมริกัน เดินหน้าไปหาวัตถุมากขึ้นเท่าใด ส่วนของผู้ที่เล็งเห็นทุกขสัจจ์ ก็ย่อมมีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย คนอเมริกันกำลังมองหนทางที่จะแก้ปัญหาเช่นเดียวกัน เพียงแต่หลักความเชื่อ ซึ่งมีแรงส่งมาจากรากเหง้าทางด้านวัฒนธรรม ไม่เหมือนกับการมองหรือวิสัยทัศน์แบบไทยๆ ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความสนใจต่อพุทธศาสนาของคนอเมริกัน ดังนี้
1.เพื่อบำบัดความกระหายใคร่รู้ หรือมีความสนใจเฉพาะบุคคลนั้นๆ เป็นความสนใจส่วนตัว
2.เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน อเมริกาเจริญด้วยวัตถุ แต่มีข้อบกพร่องทางด้านจิต หรือการจัดการต่อกระบวนการภายใน ซึ่งปัญหานี้คนอเมริกันได้ให้ความสนใจอย่างถึงรากเหง้าหรือแก่นของคำ สอน(พุทธธรรม) วัฒนธรรมบางอย่างของอเมริกันมีส่วนต่อความเบี่ยงแบนในการตีความหลักพุทธธรรม แต่น่าจะน้อยกว่าการตีความที่อิงวัฒนธรรมของคนไทย ที่มักยึดโยงกับประเพณีและค่านิยมบางประการเข้าไว้ด้วย แม้อิทธิพลด้านวัฒนธรรมอเมริกันและความสนใจเชิงความรู้พุทธปรัชญาส่งผลต่อ ท่าทีการนับถือพระพุทธศาสนาของคนอเมริกัน แต่คนอเมริกันกลับใส่ใจ ในแง่การบำบัดภายในหรือในแง่ของปฏิบัติทางจิตโดยตรง หลักปฏิบัติในเรื่องการฝึกสมาธิและสติจึงได้รับความนิยมในหมู่อเมริกันจำนวนหนึ่ง
3.เป็นไปตามกระแสการเติบโตของศาตร์บูรพา ในอเมริกา เหมือนกับที่ศาตร์ตะวันออกอย่างเช่น โยคะ ได้รับความสนใจอย่างมากจากคนอเมริกันชนในเวลานี้ พร้อมๆกับการประยุกต์ศาตร์เหล่านี้ให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมของอเมริกันเอง ในแง่ของพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน
4.เป็นไปตามกระแสของสื่อตะวันออกที่เข้ามาเผยแพร่ในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ทั่วไป สารคดี หนังสือและสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะจากฟากจีนและอินเดีย ที่เป็นสดมภ์หลักของแหล่งผลิต สื่อตะวันออก
5.ความสนใจในเชิงสิทธิมนุษยชน ปกติคนอเมริกันอ่อนไหวง่ายในเรื่องสิทธิมนุษยนชนอยู่แล้ว ได้แก่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวพุทธทิเบต เรื่องนี้มีกลุ่มนักการเมืองและนักสิทธิมนุษยชนในอเมริกาให้ความสนใจอย่างมาก พร้อมกับออกมาคัดค้านและประท้วงรัฐบาลจีนตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเมื่อองค์ทะไลลามะเดินทางไปยังอเมริกา ก็ได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากบรรดาผู้สนใจพระพุทธศาสนา นักสิทธิมนุษยชน และสื่อต่างๆ
6.ความสนใจในอารยธรรมพุทธศาสนา พุทธศาสนาได้ก่อกำเนิดอารยธรรมที่น่าสนใจในหลายๆที่ที่แผ่อิทธิพลไปถึง เป็นความสนใจในแง่ประวัติศาตร์และอารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งก็นับเป็นส่วนหนึ่งของความสนใจของคนอเมริกัน
7.ความสนใจเชิงวิชาการ หลายสถาบันการศึกษาอันดับต้นๆของอเมริกา เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส(UCLA) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์คเล่ย์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยชิคาโก ฯลฯ ได้มีการก่อตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนา (Center for Buddhist studies) ขึ้นมา หากเป็นการให้ความรู้วิชาการเชิงปรัชญาและทำการวิจัยเชิงการปฏิบัติ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนับว่าน่าสนใจเพราะหากองค์กรพุทธฝ่ายไทยสามารถเชื่อมกับองค์กรด้านการศึกษาของอเมริกันได้ ก็จะทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากฝั่งไทยไปยังฝั่งอเมริกามีความเป็นระเบียบแบบแผนมากขึ้น ทั้งยังสามารถทำงานเชิงลึกด้านการวิจัยพระพุทธศาสนา
คงไม่อาจปฏิเสธว่า อเมริกันและคนตะวันตกส่วนหนึ่งสนใจในเรื่องหลักการของการปฏิบัติ ซึ่งย่อมต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับหลักคำสอนในแง่การปฏิบัติ แต่งานด้านวิชาการนั้น เป็นงานที่มีหลักมีเกณฑ์ มีบรรทัดฐาน การวิจัยและวิเคราะห์ การทำงานด้านวิจัยเชิงความร่วมมือด้านพระพุทธศาสนาจะช่วยให้การหยั่งรากของพระศาสนาในสหรัฐฯลงลึกมากขึ้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนในโลกตะวันตกขณะเดียวกันสามารถเสริมจุดอ่อนของระบบพระพุทธศาสนาในเมืองไทยให้เข้มแข็งมากขึ้นท่ามกลางสังคมร่วมสมัย
พุทธศาสนาเถรวาทในอเมริกานั้น นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2514 ที่วัดไทยแห่งแรกถือกำเนิดในสหรัฐฯ ที่g,nv’ลอสแองเจลิส (แอล.เอ.) รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยชื่อเมื่อแรกตั้งว่า ศูนย์พุทธศาสนเถรวาท (The Theravada Buddhist Center, Inc.) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไทยลอสแองเจลิส (Wat Thai of Los Angeles) เมื่อ 11 มิถุนายน 2522 นั้น การขยายตัวของฝ่ายพุทธศาสนาเถรวาทไทยในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยังอยู่แต่ในวงแคบๆ เฉพาะในกลุ่มของชาวพุทธไทยลาว หรือชาวพุทธเถรวาทเอเชียชาติอื่นๆ โดยยังคงมีลักษณะของความแปลกแยกกับชาวพุทธอเมริกันทั่วไปอยู่มาก เนื่องจากชาวพุทธไทยและลาว หรือชาวพุทธเชื้อสายเอเชียมีจำนวนมากพอที่จะสมาคมกันเองมากกว่าที่สมาคมกับคนอเมริกันโดยทั่วไป ต่างจากชาวพุทธทิเบต (ทั้งลามะและฆราวาส) ที่มีจำนวนน้อยกว่า ทำให้ต้องหันไปสมาคมหรือติดต่อกับคนอเมริกันทั่วไปมากขึ้น และเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนานิกายตันตระยานหรือวัชรยาน ถูกเผยแผ่ไปได้กว้างไกลในหมู่คนอเมริกันมากกว่าพุทธศาสนาแบบเถรวาท ประเด็นดังกล่าวถือเป็นการปรับตัวที่สำคัญมากของพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน ทำให้นิกายของทิเบตนิกายเดียวกันนี้มีอิทธิพลต่อนับถือพุทธศาสนาของคนอเมริกันค่อนข้างมากในปัจจุบัน
อดีตพระโรเบิร์ต สนฺติกโร ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน เคยกล่าวเอาไว้ว่า “พระเอเชียส่วนใหญ่ในอเมริกันไม่เหมือนพระอเมริกัน คำว่าพระที่ผมใช้นี้รวมถึงภิกษุณีด้วย พวกเราที่เป็นคนอเมริกันกับพระเอเชียจำนวนหนึ่งไม่มากนัก ได้กลับอเมริกาหรือไปอยู่อเมริกาเพื่อเผยแผ่กับคนอเมริกัน โดยตั้งใจจะนำพุทธศาสนาให้เข้าถึงวัฒนธรรมอเมริกัน ไม่เหมือนกับพระไทย พระจีน พระญวนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ซึ่งไม่ได้ตั้งใจแบบนั้น พระไทยไปเพื่อบริการคนไทย พระจีนก็ไปเพื่อบริการคนจีน ที่จะต่างกันก็คือพระชาวทิเบตเพราะว่าผู้อพยพชาวทิเบตในอเมริกามีน้อย แต่คนอเมริกันที่สนใจพุทธแบบทิเบตมีเยอะ ส่วนใหญ่พระเอเชียก็จะอยู่แต่กับคนเชื้อชาติเดียวกับตน”
วัดไทยฝ่ายเถรวาทถูกสร้างขึ้นในสหรัฐฯในเวลาต่อมา เช่น วัดไทยกรุงวอชิงตันดี.ซี. ซึ่งเริ่มมีพระสงฆ์รับนิมนต์ไปประจำเมื่อ 5 กรกฎาคม 2517 ,วัดวชิรธรรมปทีป ที่เมืองนิวยอร์ค ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอเมริกันเมื่อ 22 กรกฎาคม 2518 มีต้นกำเนิดจาก Buddhist study center ซึ่งตั้งขึ้นเป็นสมาคมเมื่อปี 2508 , วัดพุทธวราราม ที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายอเมริกัน เมื่อ 25 มีนาคม 2519 , วัดธัมมาราม แห่งเมืองชิคาโก มีชื่อตามที่ทางการอนุญาตเมื่อ 17 พฤษภาคม 2519 ว่า The Thai Buddhist temple หลังจากนั้นก็เกิดมีวัดไทยในสหรัฐฯขึ้นมาจำนวนมากมาย ส่วนใหญ่ด้วยเงินบริจาคและการสนับสนุนหลักจากชุมชนไทย และเพื่อสนองตอบต่อเจตนารมณ์เชิงสังคม(วัฒนธรรมประเพณี)ของคนไทยในสหรัฐฯเสียเป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า การสร้างวัดไทยในสหรัฐฯ ยังเกี่ยวพันกับการปฏิบัติข้อกฎหมายของสหรัฐฯอีกด้วย รวมถึงยังเกี่ยวข้องกับ “การดูแลควบคุมวินัยประพฤติของพระสงฆ์” เพื่อความเรียบร้อยงดงามเชิงวัตรปฏิบัติ ซึ่งอำนาจของมหาเถรสมาคม(มส.)แห่งประเทศไทยเอื้อมไปไม่ถึงแม้ว่า จะมีสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา (The Council of Thai Bhikkhus in the U.S.A.) เป็นองค์กรดูแลรับผิดชอบพระสงฆ์อยู่แล้วก็ตาม แต่กฎหมายของสหรัฐฯเป็นคนละระบบกับกฎหมายไทย จึงก่อให้เกิดปัญหาด้านการควบคุมวินัยสำหรับพระสงฆ์ที่ฝ่าฝืน อย่างเช่น แม้สมัชชาสงฆ์ หรือชาวพุทธไทยรู้ว่าพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งละเมิดวินัยสงฆ์ถึงขั้นปาราชิก แต่ก็ไม่สามารถจับสึกได้ หากไม่ขัดกับหลักกฎหมายของอเมริกัน โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ได้รับสถานะเป็นผู้มีถิ่นฐานถาวรในสหรัฐฯ(Green card holder) และพระสงฆ์ที่เป็นพลเมืองอเมริกัน (US citizen) ยิ่งไม่สามารถทำการลงโทษใดๆทางวินัย กับพระสงฆ์ที่ละเมิดวินัย(แต่ไม่ผิดกฎหมายอเมริกัน)เหล่านั้นได้เลย
ผู้เขียนมองว่าความสัมพันธ์เชิงศาสนา ระหว่างคนไทยกับคนอเมริกัน โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมนั้นสามารถที่จะทำให้สัมพันธภาพระหว่างสองประเทศ พัฒนาไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นและเป็นประโยชน์ในแง่การเกิดสันติภาพภายในและภายนอกของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยที่สันติภาพภายในที่หมายถึงการปฏิบัติทางใจนั้น ส่งผลต่อสันติภาพภายนอก ที่หมายถึงการกระทำของมนุษย์ทั้งหลาย ทางออกของปัญหาสัมพันธภาพระหว่างไทยและสหรัฐฯโดยอาศัยพระพุทธศาสนา มีดังนี้
1.เสริมสร้างความรู้ความใจ ให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของพระพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นกับบรรดาพุทธศาสนิกของทั้งสองประเทศ
2.ขวนขวายเรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกัน (หมายถึงวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมอเมริกัน) โดยไม่จำกัดเพียงบริบทวัฒนธรรมด้านภาษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมวัฒนธรรมด้านอื่นด้วย
3.ฝ่ายไทย ซึ่งเป็นฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนาควรศึกษาระบบกฎหมายอเมริกันให้เข้าใจชัดเจน
4.ฝ่ายการเมือง (รัฐบาล+รัฐสภา) ควรส่งเสริมด้านนโนบายและงบประมาณต่อฝ่ายศาสนา
5.ในแง่ของการส่งพระธรรมทูตไปจากเมืองไทย ต้องมีกระบวนการทดสอบ คัดกรองที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น
6.การติดตามและวิเคราะห์ กระแสสถานการณ์ความเป็นไปของคนอเมริกันและของโลกอย่าได้ขาดหาย หรือต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง
7.เปิดเวทีสำหรับการแปลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นด้านศาสนา(โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นพระพุทธศาสนาเพียงศาสนาเดียว) ระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายอเมริกัน
หากการเยือนวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) ของนายบารัก โอบามา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน2555 โดยมีคำพูดของประธานาธิบดีถึงพระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ) คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ตอนนำชมวัดโพธิ์ ทำนองขอให้ช่วยสวดภาวนา (อธิษฐาน) ขอให้เขาผ่านพ้นปัญหาการเผชิญหน้าประเด็นผาการคลัง (Fiscal cliff) เมื่อปลายปี 2555 ('We're working on this budget. We're going to need a lot of prayer for that’; Barack Obama) ไปให้ได้ รวมถึงความสนใจเยี่ยมชมวัดไทยอันเก่าแก่ในกรุงเทพแห่งเดียวกันนี้นั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงการเตรียมตัวที่ดี การให้ความสำคัญกับความเชื่อ และศิลปวัฒนธรรมของไทย โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญสูงสุดของวัฒนธรรมไทย ทำให้เห็นคุณูปการที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ หากมีการสานต่อเชิงความสัมพันธ์ทางด้านศาสนาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับ สถานการณ์ เพราะในสหรัฐฯเองมีขั้วชาวพุทธและไม่ใช่ชาวพุทธ ทั้งนักการเมืองและบุคคลสำคัญ รวมทั้งตัวประธานาธิบดีเองที่มีภูมิหลังของตัวเองและครอบครัวในเชิงการเปิด กว้างทางความคิดด้านศาสนา รอต่อเชื่อมกับชาวพุทธที่เมืองไทย ขึ้นกับความสามารถของชาวพุทธไทยเราที่จะสืบสานความสัมพันธ์เพื่อเอื้อ ประโยชน์ด้านสันติภาพทั้งภายนอกและภายในให้ได้มากที่สุดโดยไม่จำกัดพรมแดน ได้หรือไม่เท่านั้น
จาก http://www.siamrath.co.th/web/?q= อเมริกันปัญญาพุทธ