ไดอะล็อก: พลังจากการคิดร่วมกัน ตอนนี้กำลังสนใจเรื่อง Dialogue (มีผู้แปลเป็นไทยว่า สานเสวนา หรือ สุนทรียสนทนา) เพราะเคยมีประสบการณ์การได้เข้าร่วม dialogue วงย่อยๆกับกลุ่มขวัญเมือง, เชียงราย (พี่ใหญ่ วิศิษฐ์ วังวิญญู, หมอวิธาน, พี่ณัฐฬส ฯลฯ) รู้สึกประทับใจและเห็นได้ว่า Dialogue นี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนได้เติบโตและเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด คิดว่าหากเป็นไปได้ก็อยากจะทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนนี้ในเมืองไทยก็มีกลุ่มที่นำ Dialogue ไปใช้ในการพัฒนาองค์กร และพัฒนาสังคมหลายกลุ่ม เท่าที่เรารู้ๆแน่ๆ ตอนนี้คือ กลุ่มขวัญเมือง ก็หนึ่งล่ะ อีกกลุ่มหนึ่งก็ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหิดล (มี อ.ปาริชาด รองผอ.ศูนย์ฯเป็นกระบวนกรหลัก) แล้วก็มีกลุ่มจิตปัญญาศึกษา อีกหนึ่ง ทางใต้เองก็มีกลุ่มที่มอ.และรพ.ฉวางที่เคยมาร่วมอบรมกับกลุ่มขวัญเมืองแล้วคาดว่าคงจะนำไปพัฒนาต่อ ปรากฏการณ์ Dialogue ในเมืองไทยนับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าติดตามไม่น้อยทีเดียว (ถ้าใครสนใจเรื่องการจัดการความรู้ และการวิวัฒน์ทางจิตวิญญาณคาดว่าน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง) เชื่อว่าในไม่ช้ามันจะกลายเป็นกระแสสำคัญอีกกระแสหนึ่งที่สร้างการเรียนรู้และการแปรเปลี่ยนสังคมได้
บ่ายวันนี้อ่านหนังสือ “รหัสอภิมนุษย์” (Synchronicity) เขียนโดย โจเซฟ จาวอร์สกี แปลโดย สุรพงษ์ สุวจิตตานนท์ ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์คบไฟ ผู้เขียนคือ โจเซฟ นี้ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ค้นพบชะตากรรมของตนเองในชีวิตช่วงหนึ่ง (หลังจากผ่านมรสุมชีวิตอย่างหนัก) เขาพบว่าตนต้องการทำอะไร ต้องการเป็นอย่างไร มีความสัมพันธ์อย่างไรต่อโลก เขาไปเจอและสนทนากับ เดวิด โบห์ม เจ้าพ่อ Dialogue มาด้วย มีบทหนึ่งที่เขาได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ Dialogue เอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
ไดอะล็อก: พลังจากการคิดร่วมกันในบางโอกาส ผู้คนจากเผ่าต่างๆมานั่งล้อมวงกัน พวกเขาได้แต่พูด พูด และก็พูด โดยไม่มีจุดมุ่งหมายที่แน่ชัด พวกเขาไม่มีเรื่องใดๆให้ตัดสินใจ ไม่มีทั้งผู้นำ แต่ทุกๆคนสามารถเข้ามาร่วมได้ อาจมีทั้งคนฉลาด ทั้งชายหญิงที่คอยฟังผู้อาวุโส แต่ทุกคนก็มีสิทธิพูดได้ การชุมนุมดำเนินไปจนกระทั่งยุติลงในที่สุดโดยปราศจากสาเหตุใดๆ แล้วต่างคนต่างแยกย้ายกันไป แต่หลังจากนั้น ดูเหมือนว่า แต่ละคนต่างรู้ว่าตัวเองควรจะทำอะไร เพราะพวกเขาเข้าใจซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี พวกเขาอาจกลับมาชุมนุมกันใหม่ในกลุ่มที่เล็กลงเพื่อทำกิจกรรมหรือตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ
เดวิด โบห์ม ในหนังสือ On Dialogueคำว่า “ไดอะล็อก (Dialogue)” ที่โบห์มใช้ มีที่มาจากคำกรีก 2 คำคือ ไดอะ (Dia) และโลกอส (Logos) ซึ่งรวมแล้วหมายถึง “การไหลผ่านของความหมาย (meaning flowing through)” คำๆนี้ต่างจากคำว่า โต้วาที (debate) ซึ่งหมายถึง “การชำแหละ (beat down)” หรือแม้กระทั่ง “การอภิปราย (discussion)” ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกับ “การตีกระทบ percussion” และ “การสั่นคลอน (concussion)”
โบห์มชี้แจงว่า เรื่องราวต่างๆที่อยู่ในข่ายที่เรียกว่าอภิปรายนั้น จริงๆแล้วยังเข้าไม่ถึงระดับรากในแง่ที่ว่า ยังมีสิ่งที่ต่อรองหรือเจรจากันไม่ได้แอบแฝงอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือยังมี “บางเรื่องที่พูดคุยหรืออภิปรายไม่ได้ (undiscussable)” ไม่มีใครอยากจะหยิบยกเรื่องที่พูดไม่ได้ขึ้นมา แต่มันมีอยู่ในระดับลึกลงไปภายใต้เปลือกนอก อีกทั้งยังเป็นกำแพงกั้นการสื่อถึงกันในระดับลึกในเรื่องของความซื่อสัตยและความจริงใจ...
แต่หากคนเราสามารถคิดร่วมกันตามแนวทางที่ประสานเข้ากันได้อย่างลงตัว ผลที่ตามมาคือพลังมหาศาล ถ้าหากมีโอกาสได้ดำเนินการสนทนาแบบไดอะล็อกนานพอ อาจเกิดการขับเคลื่อนทางความคิดที่นำไปสู่ความความคล้องจองลงตัว ที่ไม่เพียงแต่ในระดับที่เรารับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสโดยปกติ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ถึงระดับเหนือคำบรรยาย ไดอะล็อกไม่ได้ต้องการให้ทุกคนมีความเห็นเป็นแบบเดียวกัน แต่จะส่งเสริมให้คนเข้ามามีส่วนร่วมโดยนำเอาความหมายมาแบ่งปันกัน ซึ่งจะนำไปสู่การการกระทำอย่างสมานฉันท์ ตามข้อยืนยันจากไอแซ็คส์และกลุ่มผู้วิจัยของเขาที่เอ็มไอที จากความหมายใหม่ที่เกิดจากไดอะล็อคนี้ คนเราจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิผลโดยไม่จำเป็นจะต้องเห็นด้วยกันกับเหตุผลในการกระทำของแต่ละคน
“ในการสนทนาแบบไดอะล็อก เป้าหมายของการสนทนาคือการสร้างบรรยากาศพิเศษที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ชนิดที่ต่างไปจากเดิม เป็นความสัมพันธ์ที่มีทั้งพลังและเปี่ยมไปด้วยเชาว์ปัญญา”